"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
นับเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชนชาวไทย จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจฟองสบู่แตกดังโพล๊ะ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย
บางคนนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง บางคนนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน บางคนพูดไปตามกระแส บางคนมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นดังสายลมที่พัดผ่าน บางคนไม่เชื่อในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพราะชีวิตนี้เขามีแต่ทุนนิยมเท่านั้น ในขณะที่บางคนโหนกระแสด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปหาเสียง
แต่ไม่ว่าใครจะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติอย่างไร สำหรับเมืองไทยหนึ่งในรูปธรรมที่เห็นเด่นชัดเกี่ยวกับแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ พื้นที่อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริต่างๆที่สร้างคุณประโยชน์มากมายต่อพี่น้องเกษตรกรไทย
เท่านั้นยังไม่พอ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ก็ได้มาศึกษาดูงานและนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับโครงการพัฒนาชนบทแห่งหนึ่งในเมืองเวียงจันทน์ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาชนบทอื่นๆตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ สปป.ลาวต่อไป
*ศูนย์พัฒนาฯ หลัก 22 โครงการพระราชดำริประวัติศาสตร์
"ปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ.2535) ท่านไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศลาว ได้ไปเมืองไทยอย่างเป็นทางการ(ในวันที่ 10 ม.ค. 35) แล้วมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ ห้วยฮ่องไคร้ ที่เชียงใหม่ แล้วมีความประสงค์ที่จะจัดศูนย์สร้างแบบนี้บ้าง พอกลับมา ท่านไกสอนจึงส่งหนังสือ(สาส์น)ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทางการเกษตรขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประเทศลาว"
"หลังจากนั้น ในหลวงท่านก็ได้มีดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาด้านการเกษตรขึ้นในปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) เพื่อสัมพันธไมตรีและมิตรภาพอันดีระหว่าง 2 ประเทศ โดยทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและลาวได้ร่วมมือกันคัดเลือกพื้นที่ ก่อนจะตกลงเลือกเอาบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 22 เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้วขึ้น"
ท้าวอะนุโลม ตุนาลม หัวหน้าศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรหลัก 22 (หรือที่คนลาวนิยมเรียกว่า ศูนย์พัฒนาฯห้วยซอน-ห้วยซั้ว) คนปัจจุบันเท้าความถึงความเป็นมาของศูนย์แห่งนี้
ในขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้พูดถึงโครงการนี้ว่า โครงการนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เพราะเป็นโครงการพระราชดำริในต่างประเทศครั้งแรก ซึ่งการทำงานในขั้นต้นนั้นออกมาอย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว โดยทางลาวได้จัดที่มาให้อย่างดีถือเป็นที่ที่ไม่กันดารนัก และเป็นที่ที่สอดคล้องกับภูมิประเทศในโครงการ
สำหรับโครงการศูนย์พัฒนาฯ หลัก 22 นำแนวทางของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มาเป็นต้นแบบ เพราะมีลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกัน โดยได้ดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่นๆในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต" อีกทั้งยังเป็นสถานที่สาธิตกิจกรรมด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ และเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) ที่เกษตรกรสามารถเข้ามาเรียนรู้ และขอสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อนำกลับไปพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตน
*แผนพัฒนา 7 ประการ
"อันที่จริงคนลาวใช้ชีวิตพอเพียงมานานแล้ว แต่ว่าเมื่อก่อนคนลาวทำการเกษตรตามธรรมชาติ พอมีโครงการเข้ามาก็ได้เรียนรู้การจัดการทรัพยากรที่เรามีอยู่ นับเป็นโครงการของในหลวงแห่งแรกในลาว แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อคนลาวทั้งประเทศ"
ท้าวอะนุโลม กล่าว ก่อนอธิบายถึงแนวทางการพัฒนาในศูนย์ฯแห่งนี้ว่า มีแนวทางหลัก อยู่ 7 ประการคือ
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างถนน อาคาร ประปา และเส้นทางสัญจรต่างๆ
พัฒนาแหล่งน้ำ ในหลวงให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยซอนที่เก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้รองรับการเกษตรในพื้นที่แถบนั้น
พัฒนาที่ดิน ส่งเสริมการปลูกพืชคลุมดิน การทำปุ๋ยหมัก การปลูกหญ้าแฝกคลุมดิน เพื่อบำรุงดินให้มีสภาพดีขึ้น
พัฒนาพืช ส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ พืชไร่ ไม้ผล ผักสวนครัว ไม้ประดับ การขยายพันธุ์เห็ดโดยเน้นรูปแบบของการเกษตรอินทรีย์
พัฒนาปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงหมู วัว เป็ด ไก่ และหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับเกษตรกร
พัฒนาการประมง เพาะและขยายพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ด้านการประมงแก่เกษตรกร
พัฒนาวิชาการและถ่ายทอดความรู้ ศูนย์ฯได้สนับสนุนและอบรมชาวบ้านในโครงการและผู้ที่มาศึกษาดูงาน
"พอโครงการนี้เข้ามา เห็นได้ชัดว่าชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งชีวิต ความเป็นอยู่ และรายได้ เพราะแนวทางพระราชดำริของในหลวง ได้สอนให้คนอย่ามัวแต่หลงลืมไปกับความเจริญของวัตถุ จนลืมธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และรากเหง้าตัวเอง ซึ่งชาวบ้านในโครงการและข้าพเจ้าต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่มีต่อโครงการนี้มาก และในอนาคตจะมีการขยายผลไปในโครงการอื่นๆต่อไป"
ท้าวอะนุโลม กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างภาคภูมิใจไม่แตกต่างไปจากคนไทยผู้จงรักภักดี
*ครอบครัวตัวแบบ แบบอย่างแห่งความพอเพียง
หนึ่งในกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรที่สำคัญภายในศูนย์พัฒนาฯ หลัก 22 ก็คือ การจัดตั้งครอบครัวตัวแบบ(ตัวอย่าง) ซึ่งทางศูนย์ได้คัดเลือกเกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ โดยทางศูนย์ได้จัดสรรที่ดินให้ประมาณ 10 กว่าไร่ขึ้นไป เพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ตลอดจนนำความรู้ที่ได้อบรมมาประยุกต์ใช้ เมื่อประสบความสำเร็จก็จะทำหน้าที่เผยแพร่สู่เกษตรกรอื่นๆให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ท้าววงแก้ว สุพาลัก หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการมาได้ 5 ปี เล่าว่า เป็นคนบ้านนาทราย เวียงจันทน์ เดิมยากจนเพราะปลูกข้าวไปตามมีตามเกิด แต่พอมาเข้าร่วมโครงการก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งไทยและลาวมาสอนให้รู้จักกับการจัดแบ่งพื้นที่ทำกิน
ทั้งนี้ท้าววงแก้วได้แบ่งพื้นที่ทั้งหมด 11.79 ไร่ (มีป้ายติดไว้ที่บ้านของแต่ละครอบครัวตัวแบบอย่างชัดเจน) ออกเป็น ที่พัก 1 ไร่ (รวมเล้าเป็ดไก่ ลานบ้านและต้นไม้ต่างๆ) นาข้าว 3 ไร่ สวนผัก 2.79 ไร่ สวนไม้ผล 3 ไร่ และบ่อปลา 0.5 ไร่
ปัจจุบันท้าววงแก้วกับครอบครัวยังคงมีความสุขกับการดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามแนวทางทฤษฎีใหม่ โดยเขาได้ทำนา ปลูกข้าว ปลูกกล้วย ปลูกผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เป็ด และประกอบอาชีพเสริมคือ ขุดหน่อไม้และต้มหน่อไม้ขาย
สำหรับอีกหนึ่งในครอบครัวตัวแบบที่บ้านอยู่ถัดจากบ้านของท้าววงแก้วไปก็คือ ท้าวแก้ว พิมพิสวย อายุ 57 ปี คนบ้านโพไซ แขวงสะหวันนะเขต ที่เดิมทำนาและรับจ้างทำเป็นลูกมือก่อสร้างตามที่ต่างๆ
ท้าวแก้วเล่าว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวแบบใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากจะให้ผลผลิตไม่ดีแล้ว ยังต้องเสียเงินซื้อยาฆ่าแมลงอีก ส่วนร่างกายสมัยที่ใช้ยาก็อ่อนเพลีย เรี่ยวแรงไม่ค่อยดี จนในปี พ.ศ. 2543 มีคนแนะนำให้เข้าร่วมโครงการ ก็เลยลองมาสมัครดู โดยตอนนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรคือเศรษฐกิจพอเพียง อะไรคือทฤษฎีใหม่
"พอมาเข้าโครงการนอกจากทำนาแล้ว ทางศูนย์ก็มาแนะนำให้ปลูกผัก ผลไม้ ผสมผสานกันไปตามแนวทางทฤษฎีใหม่ รวมถึงยังเลี้ยงสัตว์พวก เป็ด ไก่ ปลา ด้วย แล้วเราก็ทำมาเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าเจ้ามหาชีวิตของไทย(ในหลวง) ท่านบอกว่าให้ทำเอาไว้ พอกิน พอใช้ก่อน แล้วถ้ามีเหลือกินเหลือใช้ก็ค่อยขาย"
ท้าวแก้ว รำลึกความหลังครั้งเข้าร่วมโครงการใหม่ๆ ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงก่อนเข้าโครงการเขามีรายได้น้อยมาก ถ้าไม่มีงานรับจ้างหรือขายข้าวไม่ได้(ปีละครั้ง) ก็แทบจะไม่มีรายได้เลย แต่พอมาเข้าร่วมโครงการ ช่วงแรกๆปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา ขาย ได้เงินประมาณวันละ 45,000 กีบ (250 กีบ ประมาณ 1 บาท) จากนั้นหันมาทำกิ่งชำขายทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก ตกวันหนึ่งๆมีรายได้ทั้งจากขายกิ่งชำและขายผลผลิตอื่นๆวันละประมาณ 70,000-80,000 กีบ (ประมาณ 280-320 บาท/วัน) ซึ่งนับเป็นเงินค่อนข้างมากสำหรับชาวลาว
นอกจากจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีกินมีใช้แล้ว ปัจจุบันนี้ท้าวแก้วยังมีรายได้อย่างต่อเนื่องจากการขายผลผลิตต่างๆ จนสามารถเก็บหอมรอมริบเงินที่สะสมได้หลังจากเข้าร่วมโครงการไปซื้อที่บริเวณใกล้ๆกับศูนย์พัฒนาฯหลัก 22 ซึ่งเขามีโครงการว่าจะย้ายออกจากโครงการไปปลูกบ้านอยู่และทำมาหากินเล็กๆน้อยๆตามแนวทางทฤษฎีใหม่กับครอบครัวอย่างมีความสุขตามอัตภาพ โดยเปิดโอกาสให้คนอื่นมาเข้าโครงการครอบครัวตัวแบบแทน
แต่กระนั้นท้าวแก้วก็ยังคงจะกลับมาที่ศูนย์อยู่เรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้เขาคือวิทยากรคนสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆของทฤษฎีใหม่รวมถึงแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ผู้สนใจคนอื่นๆต่อไป
นอกจากครอบครัวตัวแบบแล้ว ทางศูนย์พัฒนาฯ หลัก 22 ยังได้เข้าไปส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จันดวงดี วันนะสุก เกษตรกรบ้านหัวช้าง เวียงจันทน์ อายุ 53 ปี ที่เข้าร่วมโครงการมา 4 ปี เล่าว่า หลังเข้าร่วมโครงการก็ได้มาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ผลไม้ มะม่วง ลำไย เลี้ยงเป็ด ไก่ หมู ปลา รวมเพาะเห็ดขาย ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีข้าว มีผัก มีอาหารกิน หนี้สินต่างๆที่เคยมีก็ลดลง พอหมดหนี้ก็มีเงินเก็บแทน ทำให้ชีวิตดีขึ้นมาก มีเวลาและมีความมั่นคงขึ้น
ด้าน คำพูน วิเสดวิน ที่เข้าร่วมโครงการมา 4 ปี เช่นกัน กล่าวว่า แต่ก่อนทำนาแบบไม่มีหลักการ แต่พอเข้าโครงการก็มีเจ้าหน้าที่มาสอนให้รู้จักจัดการแหล่งน้ำ จัดการที่ดิน รู้จักปลูกพืชหลากหลายในสวนเดียวกัน และสอนให้เลี้ยง หมู เป็ด ไก่ ปลา แล้วนำขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ มาทำปุ๋ยธรรมชาติ
"เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของเจ้ามหาชีวิตไทย(ในหลวง) ทำให้เราไม่จน ไม่อด เพราะมีข้าว มีผักกิน อยากกินปลา กินเป็ด ไก่ ก็มีกิน เพราะเราเลี้ยงไว้ แต่ละวันใช้จ่ายน้อยมาก แทบไม่ต้องซื้ออะไรเลย การใช้ชีวิตแบบนี้สอนให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ และที่สำคัญคือทำให้ชีวิตเราดีขึ้น" คำพูน กล่าวถึงชีวิตแบบพอเพียงด้วยความอิ่มเอิบใจ
..................................
"...ตามที่โครงการต่างๆที่กล่าวไว้ก็เพื่อที่จะให้ประชาชนอยู่เย็น เป็นสุข คือ ประชาชนนี้ไม่ได้เน้นว่าเป็นประชาชนไทยหรือลาว เพราะว่าถ้าประชาชนที่ไหนก็ตาม ประเทศไหนก็ตามมีความอยู่เย็น เป็นสุข สันติสุข หรือความสงบก็จะเกิดขึ้น ไม่เจาะจงว่าเป็นประเทศไทยหรือลาว หากว่าประชาชนในประเทศใดมีความสุข มีความอยู่เย็น เป็นสุข หรือมีความเป็นอยู่ที่สบายก็หมายความว่าประเทศนั้นมีความมั่นคง..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2537 ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยในเวียงจันทน์ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดอาคารและทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์พัฒนาฯ หลัก 22 ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537(ก่อนมีพระราชดำรัส 1 วัน)
ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรหลัก 22 (ห้วยซอน-ห้วยซั้ว) ตั้งอยู่ที่ หลักกิโลเมตรที่ 22 บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มีเนื้อที่ทั้งหมด 325 ไร่ ในระยะแรกมีหมู่บ้านเป้าหมาย 5 หมู่บ้านคือ บ้านนายาง บ้านนาซอน บ้านหัวขัว บ้านน้ำเกี้ยงเหนือ และบ้านน้ำเกี้ยงใต้ ต่อมาได้เพิ่มเติมอีก 4 หมู่บ้านคือ บ้านด่านสี่ บ้านหัวช้าง บ้านนาซับ และบ้านหนองคันคู มีประชากรในพื้นที่ประมาณ 10,000 คน และจำนวนครัวเรือนกว่า 1,600 ครัวเรือน
*******************
เรื่อง - ทีมข่าวท่องเที่ยว