มหกรรมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายประจำปี 2006 ที่เยอรมนีเพิ่งปิดฉากไปหมาดๆ แต่ในเดือนสิงหาคมนี้ ศึกลูกหนังของลีกชั้นนำในยุโรปไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ชิป อังกฤษ, บุนเดสลีกา เยอรมนี, กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี รวมถึง ลา ลีกา สเปน กำลังจะเปิดฉากฤดูกาลใหม่ (2006- 07) อย่างเป็นทางการ แน่นอนว่ากระแสความคลั่งไคล้คนชอบกีฬาลูกกลมๆ จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
นอกเหนือจากเกมการแข่งขันที่จะกลับมาระเบิดความมันในสังเวียนแข้งให้ได้ชมกัน อีกหนึ่งสีสันของการติดตามชมเกมฟุตบอลเห็นจะหนีไม่พ้นการที่แฟนๆ จะได้ยลโฉม "ชุดแข่ง" ใหม่ของแต่ละสโมสรที่เริ่มทยอยเปิดตัวกันแล้วหลายสโมสร หลังจากตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเสื้อแข่งของทั้ง 32 ชาติซึ่งผ่านเข้าสู้ศึกฟุตบอลโลกกลายเป็นแฟชั่นสุดฮิตของมวลชนทั่วโลก แน่นอนว่าแฟนลูกหนังชาวไทยที่ตามกระแสแฟชั่นย่อมหาซื้อหรือเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึกบ้างตามกำลังทรัพย์
นอกจากนี้เสื้อแข่งของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งแฟชั่นสุดฮิตของแฟนบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสินค้าเลียนแบบขนาดใหญ่ในเมืองไทย ทำให้แฟนลูกหนังแดนสยามสามารถหาซื้อเสื้อฟุตบอลมาครองได้ในสนนราคาที่ไม่สูงนัก
แต่ปัจจุบันในอีกมุมหนึ่งของสังคม (ลูกหนัง) ได้เกิดแฟชั่นหรืออาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมการสะสมใหม่ ซึ่งคอบอลตัวยงบางกลุ่มกลายเป็นนักนิยมสะสมเสื้อแข่งแท้ๆ ของทีมฟุตบอลจากต่างประเทศ แม้เสื้อดังกล่าวอาจเป็นของใช้แล้ว แต่ถ้าสภาพยังดีหรือเป็นรุ่นสุดฮิตหรือพิมพ์นิยม เป็นเสื้อที่มีความหมายสำหรับทีมหรือนักเตะคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ จะซื้อหากันด้วยราคาแพงเป็นทวีคูณ เชื่อหรือไม่ว่าบางตัวสูงกว่าเสื้อแข่งของแท้ใหม่เอี่ยมด้วยซ้ำ ทั้งนี้และทั้งนั้นลักษณะการ "เล่น" หรือ "สะสม" ของเหล่านี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณและรสนิยมของแต่ละคนด้วย
1.
ไก๋ เจริญกรุง เกจิฟันธงศึกฟุตบอลโลก 2006 แห่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในวงการสะสมเสื้อฟุตบอลต่างประเทศเปิดใจถึงการสะสมเสื้อฟุตบอลของแท้มือสองว่า
"ด้วยความที่เป็นแฟนลูกหนังตัวยง ติดตามเกมมาตั้งแต่อายุยังไม่ทำบัตรประชาชน จนเวลาจะได้ทำรอบสองแล้วเสื้อแข่งของสโมสร หรือทีมชาติที่เราคอยติดตามผลงานแทบจะเป็นเสื้อผ้าประจำตัวไปเลยก็ว่าได้ จำได้ว่าเสื้อฟุตบอลที่ซื้อหามาเป็นเจ้าของตัวแรกเป็นเสื้อเลียนแบบที่ทำได้เหมือนของจริงมากต่างกันเพียงแต่เนื้อผ้า จากวันนั้นก็สะสมเสื้อฟุตบอลของแต่ละสโมสรมาเรื่อยๆ ทั้งในพรีเมียร์ชิป กัลโช่ เซเรีย อา หรือ ลาลีกา สเปน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อที่ทำเลียนแบบในเมืองไทย
"จนวันหนึ่งมีโอกาสไปเดินหาเสื้อฟุตบอลละแวกสะพานพุทธเผอิญไปเจอร้านที่ขายเสื้อฟุตบอลของแท้ จึงแวะเข้าแต่เป็นมือสอง เรียกว่าโดนใจมากเพราะบางตัวสภาพยังดีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเจ้าของร้านยังพูดคุยได้ถูกคอท้ายที่สุดร้านนี้เลยกลายเป็นร้านประจำในการซื้อเสื้อทีมไปเลย"
ถ้าเสื้อที่ทำเลียนแบบมีคุณภาพในการลอกลายได้เหมือนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ราคาถูกกว่า กับเสื้อของแท้มือสอง ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกซื้อแบบไหน
"แน่นอนว่าเสื้อที่เป็นของแท้แม้จะเป็นมือสองก็ยังคงมีสนนราคาที่สูงกว่าเสื้อที่ลอกเลียนแบบ แต่เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้าและกำลังซื้อ สำหรับผมที่ให้ความสนใจสะสมเสื้อทีมฟุตบอลมือสองก็เพราะสามารถหาเงินได้เองและเป็นความสุขส่วนตัวของเรา อย่างเสื้อที่ยอมทุ่มทุนซื้อมากที่สุดเห็นจะเป็น เสื้อทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปี 1994/95 ซึ่งปักชื่อของ เดวิด เบ็คแฮม พร้อมกับหมายเลข 24 เบอร์แรกที่ "เบ็คส์" ใส่ลงสนามในฐานะนักฟุตบอลที่เล่นชุดใหญ่ให้แมนฯ ยูไนเต็ดบนเสื้อตัวนี้ยังยังมีอาร์มแชมป์พรีเมียร์ชิปสีทอง ทั้งหมดอยู่ในสภาพสมบูรณ์เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แฟนแมนฯยูไนเต็ดอย่างผมยอมควักกระเป๋าจ่ายโดยไม่ลังเล"
ความแตกต่างระหว่างเสื้อฟุตบอลที่เลียนแบบกับของแท้
"หากใครได้ลองสัมผัสกับเสื้อของแท้ เรียกได้ว่าอาจจะลืมเสื้อพวกงานเลียนแบบไปเลยก็ว่าได้ แม้ว่าสภาพภายนอกรวมๆ งานที่ทำเลียนแบบมีทุกอย่างที่ใกล้เคียงกับของแท้ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ, ตราสโมสร, ตัวสปอนเซอร์ หรือแม้แต่เบอร์และชื่อซึ่งปัจจุบันสามารถจัดทำได้ แต่ในเรื่องของเนื้อผ้ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในรายละเอียด อีกทั้งของแท้จะมีตราประทับด้านในซึ่งคนที่สะสมเสื้อทีมฟุตบอลจะรู้กันว่าเสื้อตัวนี้เป็นของแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนจับดูเนื้อผ้าก็รู้แล้ว"
ถ้าอยากได้เสื้อของแท้ แต่มือสองมาใส่บ้างจะหาซื้อได้ที่ไหน ?
"ตลาดใหญ่ของเสื้อประเภทนี้มีไม่กี่แห่งที่ผมไปประจำจะเป็นสะพานพุทธ ฝั่งเชิงสะพานปกเกล้า เท่าที่เดินมามีร้านขายเสื้อฟุตบอลของแท้อยู่ร้านเดียวเท่านั้น อีกที่คือ จุฬาซอย 6 ถนนบรรทัดทอง ชื่อร้านว่า "USED SPORT" ซึ่งร้านนี้ก็เป็นเจ้าของเดียวกับร้านที่สะพานพุทธ หรือไม่จะลองไปเดินดูตลาดนัดสวนจตุจักรก็ถือว่าเป็นแหล่งเหมือนกัน ส่วนเรื่องคุณภาพของเสื้อนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้า"
2.
เมื่อได้รับทราบข้อมูลจาก "ไก๋ เจริญกรุง" ทีมงานฝ่ายข่าวกีฬาผู้จัดการรายวัน ดิ่งตรงไปที่จุฬาซอย 6 ถนนบรรทัดทอง เพื่อไปแวะชมเสื้อฟุตบอลของแท้และก็ได้พบกับ "มะซูกี เจ๊ะแซะ" ซึ่งเพื่อนๆ และคนในวงการเรียกสั้นๆ ว่า "กี" เจ้าของร้าน "USED SPORT"
ตลาดเสื้อฟุตบอลของแท้ (มือสอง) เข้ามาสู่ตลาดเมืองไทยนานหรือยัง ?
"วัฒนธรรมการสะสมเสื้อฟุตบอลมือสองของแท้ในเมืองไทย เพิ่งจะมานิยมกันเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อนผมเริ่มขายก่อนและก็มีการแนะนำให้มาช่วยกันขายดู สำหรับกลุ่มลูกค้าจะเป็นพวกพนักงานบริษัทมีรายได้อยู่ในระดับปานกลาง แรกๆ จะเน้นหาสโมสรดังๆ เป็นหลักอันได้แก่ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งทีมเหล่านี้จะขายได้ง่ายหน่อย แต่ก็มีลูกค้าบางคนที่ไม่สนใจสโมสรแต่ดูสภาพเสื้อถ้าสมบูรณ์หรือว่าแบบสวยลูกค้ากลุ่มนี้ก็ซื้อไปเก็บไว้"
"ลูกค้าที่เข้ามาดูของในร้านก็จะหลากหลายกันไปจากประสบการณ์ที่เคยพบเจอมา บางคนถ้าดูสภาพเสื้อแล้วเห็นว่าสมบูรณ์ก็พอใจที่จะเลือกซื้อไปเก็บ บางคนก็ชอบสไตล์ของเสื้อตัวนั้นๆ บางรายจะเน้นเสื้อหายาก ปีเก่าๆ พวกเสื้อฟุตบอลตั้งแต่ปี 80 ลงไป บางทีลูกค้าพวกญี่ปุ่น สิงคโปร์ เข้ามาดูแล้วชอบเขาก็ขอเหมาไปเลยตัวละ 5 พันบาท ส่วนลูกค้าที่เป็นคนไทยผมเคยเจอคนหนึ่ง เดินเข้ามาดูของในร้านและก็ซื้อไปทีเดียวถึง 34 ตัว คิดเงินกันเบ็ดเสร็จผมได้เงินเข้ากระเป๋าไปทั้งสิ้น 54,000 บาท ส่วนเสื้อที่ผมเคยขายได้แพงที่สุดคือ เสื้อนาโปลี สโมสรในอิตาลีปี 1982 ซึ่งมีเบอร์ 10 ของ ดีเอโก้ มาราโดน่า อยู่ที่ราคา 18,000 บาท"
เมื่อความต้องการของลูกค้าดูจะเพิ่มขึ้น "กี" หาเสื้อฟุตบอลของแท้มาจากไหนมากมาย
"อยู่ในวงการนี้ ผมก็มีเพื่อนฝูงมากมายไม่ว่าจะเป็นที่ตลาดนัดจตุจักร หรือว่า สวนลุมไนท์บาซาร์ หรือบางทีก็จะหาเวลาเดินทางข้ามไปฝั่งเขมร รวมถึงลงไปปัตตานี บ้านเกิด เพื่อไปคัดของและด้วยความที่เราขายสินค้าประเภทนี้มาหลายปีทำให้คุ้นเคยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องการหาสินค้ามาป้อนร้านในกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถนัก
"อย่างช่วงแรกที่ไปรับมาจะเป็นการเหมาแบบกระสอบคิดราคารวมแบบทุกตัวเท่ากันหมด แต่บางทีแกะกระสอบมาพบว่ามีเสื้อฟุตบอลของแท้แค่ 20 ตัว นอกนั้นอีก 50 ตัวเป็นงานเลียนแบบ หลังๆ เมื่อได้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีความชื่นชอบเสื้อฟุตบอลแบบไหน ผมก็เลยคิดว่าเราน่าจะคัดของแท้ สภาพตั้งแต่ 85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปมาขาย โดยยอมจะเสียต้นทุนสัก 500 บาทต่อตัว ซึ่งก็พบว่ามันคุ้มกว่าเพราะส่วนใหญ่เอาไปก็ขายได้เกือบหมด"
ทุกวันนี้แฟนบอลในเมืองไทยนิยมสะสมเสื้อฟุตบอลประเภทไหนบ้าง
"เสื้อประจำฤดูกาลของทุกสโมสรยังคงเป็นสินค้าที่ขายได้ตลอดแต่สำหรับลูกค้าที่ชอบสะสมเสื้อฟุตบอลพวกนี้จะชอบของแปลกหรือของหายาก ประเภทเสื้อแข่งในอดีตจะขายได้ราคาดีที่สุด ยิ่งสภาพดีด้วยลูกค้าพร้อมจะสู้เพื่อนำไปเก็บสะสม ส่วนแบบมีชื่อมีเบอร์ มีอาร์มพวกพรีเมียร์ลีก กัลโช่ เซเรีย อา หรือ แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ขายได้เช่นกันราคาดีเช่นกันเพราะจะหาในตลาดทั่วไปไม่ค่อยได้มากนักเพราะเป็นเบอร์ซึ่งติดมากับเสื้อเลย จริงๆ แล้วผมสามารถเอาเสื้อไปทำเบอร์ทำชื่อได้ แต่ไม่ทำเพราะรู้สึกไม่จริงใจ ที่สำคัญไม่อยากให้เสียชื่อเราด้วย อยากให้ลูกค้าซื้อไปแล้วสบายใจ และผมเองก็รู้สึกสบายใจไปด้วย"
3.
หลังจากได้พูดคุยกับเซียนบอลที่สะสมเสื้อฟุตบอล เจ้าของร้านจำหน่ายเสื้อฟุตบอลมือสอง ทีมข่าวกีฬาผู้จัดการรายวัน มีโอกาสได้พูดคุยกับแฟนบอลต่างชาติที่สะสมเสื้อฟุตบอลของแท้มือสองตัวยงอย่าง "ฮิเดะ คาซามิ" หรือ "ฮิเดะ"
"ผมเกิดและโตที่กรุงโตเกียว ปัจจุบันมาอยู่เมืองไทยได้ 3 ปีแล้วการสะสมเสื้อฟุตบอลของแท้มือสองนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยอยู่ญี่ปุ่น ตอนแรกก็ซื้อมาตัวสองตัว จากนั้นก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมีเสื้อฟุตบอลอยู่ 300 กว่าตัว จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของทีมใด แต่ถ้าเห็นตัวไหนสวยก็จะซื้อมาเก็บไว้ โดยเฉพาะ อูราวะ เรด ไดมอนด์ ในเจ-ลีก ซึ่งแบบจะสวยมาก"
"ในบรรดาเสื้อฟุตบอลที่สะสมอยู่มีอยู่ตัวหนึ่งรักมากที่สุดคือเสื้อทีมชาติญี่ปุ่น เสื้อตัวนี้มีราคาสูงถึง 8 พันบาท เป็นเสื้อทีมชาติญี่ปุ่นปี 1998 มีลายไฟตรงแขนเสื้อรุ่นนี้ค่อนข้างหายาก และเสื้อตัวไหนที่รักมากๆจะถูกเก็บรักษาและดูแลเป็นพิเศษ ใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า และจะซักเองด้วยมือทั้งหมด"
สะสมเสื้อฟุตบอลของแท้มือสอง เป็นการลงทุนด้วยหรือไม่
"หน้าที่การงานของผมนั้นเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ประกอบกับเสื้อที่สะสมเอาไว้มีเป็นจำนวนมากทำให้เราสามารถนำมาเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายได้ เสื้อที่น่าจะมีราคาบางตัวผมจะเอาออกมาประมูลขายที่เว็บไซต์ Yahoo.JAPAN เป็นงานอดิเรกที่ทำเงินให้เป็นจำนวนไม่น้อย ยิ่งมาอยู่เมืองไทยเสื้อของแท้มือสองหาซื้อได้ง่ายและต้นทุนก็ต่ำกว่าที่ญี่ปุ่น ทำให้ปัจจุบันหันมาเอาดีกับการส่งเสื้อฟุตบอลของแท้มือสองกลับญี่ปุ่นโดยเฉพาะเสื้อของสโมสรในเจ-ลีก ถ้ามีสินค้าเข้ามาผมจะคัดส่งไปญี่ปุ่นหมดเพราะจะได้ราคาที่สูงเอามากๆ ส่วนสินค้าเลียนแบบในญี่ปุ่นไม่มีคนสนใจสักเท่าไรนัก"
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของตลาดเสื้อฟุตบอลของแท้มือสองในเมืองไทย ที่มีกระแสเงินหมุนเวียนสะพัดอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพียงแต่เป็นรสนิยมความชอบของคนเฉพาะกลุ่มที่น่าจะมีอนาคตเติบโตได้ดีกว่าตลาดของเลียนแบบที่ทุกวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์กำลังบีบให้พวกเขาเข้าสู่เส้นทางที่ตีบตันลงทุกที
เสื้อกีฬาประเภทอื่นที่จำหน่ายในร้านเสื้อฟุตบอลมือสอง
- เสื้อบาสเกตบอล เน้นขายเฉพาะเสื้อของผู้เล่นหรือทีมดังเท่านั้น
- เสื้อเบสบอล ราคาค่อนข้างสูง ราคาสูงกว่าเสื้อบอล 3-4 เท่าตัวแต่เน้นขายลูกค้าต่างชาติอย่างเดียวเนื่องจากเนื้อผ้าหนาไม่เหมาะสมกับคนไทย
- เสื้อจักรยาน ขายได้เฉพาะกลุ่มหรือพวกชมรมน่องเหล็กทั้งหลาย ถ้าหากว่ามีสปอนเซอร์แปะบนตัวเยอะๆ จะยิ่งหายากราคาก็จะสูงตามไปด้วย
- เสื้อนักกรีฑา ขายได้เฉพาะกลุ่มหรือพวกชมรมปอดเหล็กทั้งหลายมีลักษณะคล้ายเสื้อจักรยานถ้ามีสปอนเซอร์เยอะจะขายดีหายาก
- เสื้อแบดมินตัน ขายได้เฉพาะกลุ่มยี่ห้อ YONEX จะขายดีมา
**************
เรื่อง - สรเดช เพชรแสงใสกุล / ดิษฐพงษ์ ภูศิริวรพันธุ์