"กระท้อน" ผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองนนท์ ลูกเหลืองนวลกลมเกลี้ยง เสน่ห์อยู่ที่เมื่อผ่าเนื้อในออกมาจะเห็นเนื้อขาวอมชมพู ปุยของเม็ดจะฟูให้รสหวานฉ่ำติดใจ ขนาดพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 4 ยังโปรดเสวยมาก แต่ชะตากรรมของกระท้อนดูไม่ต่างไปจากทุเรียนเมืองนนท์ เพราะนับวันพื้นที่เพาะปลูกจะเริ่มหดหายจนชาวสวนเมืองนนท์เริ่มถอดใจกันแล้ว
กำเนิด "กระท้อน" เมืองนนท์
"กระท้อน" เป็นผลไม้เมืองร้อนซึ่งเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดน่าจะอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีหรือเมืองนนท์มากว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งเมืองนนท์นั้นเป็นแหล่งที่ได้ชื่อว่าปลูกผลไม้รสชาติอร่อยล้ำ ทั้งนี้เพราะเมืองนนทบุรีตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำท่วมถึง ซึ่งมีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ดินเป็นดินตะกอนที่เกิดจากการพัดพามาของน้ำ ผืนดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ ชาวเมืองนนท์จึงมีอาชีพการทำสวนผลไม้มาเป็นระยะเวลายาวนานสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความตอนหนึ่งว่า "สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง ๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้บ้านเมืองเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันมาก" ซึ่ง "ตลาดขวัญ" ก็คือจังหวัดนนทบุรีนั่นเอง
มีเรื่องเล่ากันต่อ ๆ กันมาว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเสวยกระท้อนพันธุ์นิ่มนวล จากสวนในคลองอ้อมเมืองนนทบุรี ทรงโปรดมากถึงกับให้ยกเว้นการเก็บอากรสวนกระท้อนพันธุ์นิ่มนวล และในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นสวนกระท้อนของนายบุตร ในคลองอ้อม ตำบลบางกร่าง ทรงพอพระราชหฤทัย และชมเชยว่าเป็นกระท้อนที่มีรสชาติดี
กระท้อนที่มีชื่อเสียงจึงต้องมาจากสองแหล่งคือ ในคลองอ้อม ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง เรียกว่า กระท้อนบ้านกร่าง และที่ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย
จากช่วงเวลาอันยาวนานนับจากกำเนิดพันธุ์กระท้อนดั้งเดิม ชาวสวนเมืองนนท์ได้พยายามขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่าง ๆ จนทำให้เกิดการกลายพันธุ์ไปจากเดิม และมีการตั้งชื่อขึ้นใหม่อีกมากมายกว่าร้อยพันธุ์ อาทิ ขันทอง อีล่า ตาอยู่ นิ่มนวล เทพสำราญ ทับทิม เทพสำราญไกรทอง ปุยฝ้าย ตระกูลทองก็มี ทองใบใหญ่ ทองหยอด ผอบทอง ตระกูล " อี " เช่น อีล่า อีเมฆ อีท้ายครัว อีแป้น อีจืด เป็นต้น
จาก "อีล่า" ถึง "ปุยฝ้าย"
เมื่อปี 2538 สวนทุเรียนของ อัมพร ขำเมือง ลูกชาวเมืองนนท์แต่กำเนิดถูกน้ำท่วมตายทั้งสวน ซึ่งก็เหมือนกับสวนอื่น ๆ ที่กั้นน้ำเหนือที่ไหล่บ่ามาไม่ทัน ตอนนี้ลุงอัมพรจึงเหลือแต่สวนกระท้อนไว้เก็บกินเพื่อเลี้ยงครอบครัว
ลุงอัมพร ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มเกษตรกร อำเภอเมือง เล่าว่าเมื่อก่อนเมืองนนท์จะดังเรื่องทุเรียนเป็นหลักเท่านั้น จนในปี 2523 ในงานประกวดผลไม้ประจำปีของเมืองนนท์ คณะกรรมการจัดงานที่ลุงอัมพรซึ่งเป็นหนึ่งในนั้นได้ดำริที่จะส่งเสริมกระท้อนให้เป็นผลไม้ที่เชิดหน้าชูตาของเมืองนนท์ด้วย จึงเปลี่ยนเกณฑ์ในการประกวดกระท้อนให้แยกพันธุ์ประกวด โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ปุยฝ้าย , อีล่า ,ทับทิมและพันธุ์อื่น ๆ
การแยกประเภทประกวดนั้นทำให้กระท้อนเมืองนนท์เริ่มคึกคักขึ้น เนื่องจากบรรดาเจ้าของสวนกระท้อนเมืองนนท์ทั้งหลายต่างหันมาทำนุบำรุงพันธุ์กันเป็นการใหญ่ แม้ว่ารางวัลชนะเลิศจะได้เงินเพียง 300 บาทเท่านั้น แต่เป็นที่รู้กันว่ากระท้อนของสวนใดที่ชนะเลิศจะสามารถขายกิ่งตอนได้ราคาสูงถึงกิ่งละ 500 บาททีเดียว
กระท้อนพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองนนท์นั้นมีอาทิ อีเมฆ อีท้ายครัว อีแตงกวา อีขันทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้จากการปลูกเมล็ด แต่กระท้อนที่เริ่มสร้างสีสันให้แก่วงการเห็นจะเป็น " อีล่า" นั่นเอง
ผู้ที่สามารถเพาะกระท้อนพันธุ์อีล่าเป็นคนแรกคือ นายกุล แย้มแพร ชาวสวนตำบลบางขุนกอง โดยนำเมล็ดกระท้อนพันธุ์อีไหวมาปลูกตั้งแต่ปี 2471 หลังจากที่กระท้อนออกดอกติดผลแล้ว ปรากฏว่าพันธุ์ที่ได้ใหม่นี้ให้ผลดีกว่าพันธุ์แม่ คือผลค่อนข้างใหญ่ ให้ผลดก ในต้นอายุ 4 ปีจะให้ผลได้มากถึง 150 - 200 ผล เนื้อปุยหวานน่ารับประทาน แต่กระท้อนพันธุ์ใหม่นี้จะออกผลช้ากว่ากว่ากระท้อนพันธุ์อื่น ๆ จึงได้ชื่อว่า " อีล่า"
หลังจากที่นายกุลเพาะพันธุ์อีล่าได้สำเร็จก็นำพันธุ์มาให้นายเลื่อมมาแพร่พันธุ์ ปรากฏว่ากลายเป็นที่นิยมของชาวสวนอย่างรวดเร็ว สวนไหนที่ปลูกอีล่าพากันรวยเป็นแถว
"เมื่อก่อนคนปลูกอีล่ารวยกันทั้งนั้น เพราะห่อหมื่นได้เงินสี่หมื่น ( หมายถึงติดลูกเยอะไม่ค่อยร่วง) แต่ก่อนอีล่าลูกใหญ่มาก แต่มาลดความนิยมเมื่อปี 2538 เพราะดินฟ้าอากาศไม่ค่อยดีและน้ำท่วม " ลุงอัมพรกล่าว
แต่กระท้อนที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการเห็นจะต้องยกให้พันธุ์ "ปุยฝ้าย" ซึ่งเคยมีการบันทึกไว้ว่ากระท้อนพันธุ์นี้กำเนิดมาจากพันธุ์ทองหยิบ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ลักษณะประจำคือผลกลมแป้นขนาดใหญ่ มีจุก ผิวเนียนละเอียด รสหวานจัด เนื้อในปุยขาวคล้ายปุยของดอกฝ้าย
จากการสอบถามชาวเมืองนนท์แท้ ๆ อย่างลุงอัมพรบอกว่า กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายน่าจะเป็นพันธุ์ผสมจากแม่พันธุ์ " ลูกหมาตื่น" เชื่อกันว่าตาโถเป็นคนที่เพาะพันธุ์ปุยฝ้ายขึ้นมาได้ แต่คนเพาะนั้นไม่รู้ว่าได้ค้นพบพันธุ์ดีขึ้นมาประดับวงการแล้ว จึงขายสวนกระท้อนให้แก่ผู้ใหญ่ศักดา ระดับพันธุ์ ก่อนที่ตาโถจะอพยพไปอยู่ต่างจังหวัด
เชื่อกันว่ากระท้อนปุยฝ้ายมาเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2523 โดยผู้ใหญ่ศักดาอดีตประธานกลุ่มเกษตรอำเภอบางใหญ่นำเข้าประกวด ด้วยผลขนาดใหญ่ ( 2 ลูกน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม )
" ปีนั้นผู้ใหญ่ศักดา เอากระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายมาเข้าประกวดครั้งแรก ปรากฏว่าเบียดอีเมฆของสวนผู้ใหญ่ดำตกไปเลย คือสองสวนนี้เขาจะแข่งบี้กันมาทุกปี " ลุงอัมพรกล่าว
หลังจากส่งกระท้อนพันธุ์ปุยฝ้ายให้ผงาดบนเวทีประกวดผลไม้ประจำของจังหวัดนนทบุรีแล้ว กระท้อนปุยฝ้ายก็ดังระเบิด สามารถขายกิ่งตอนได้สูงถึงกิ่งละ 500 บาท สวนใครที่ปลูกพันธุ์ปุยฝ้ายก็รวยเป็นแถว โดยเฉพาะสวนของนายเต็ม สวนหน้าโรงไฟฟ้าบางใหญ่นั้นถือว่าเป็นสวนที่มีกระท้อนปุยฝ้ายมากที่สุดในเวลานี้
"กระท้อนนนท์" ปะทะ "กระท้อนนอก"
ปีที่กระท้อนเมืองนนท์ได้รับความนิยมมาก ๆ อยู่ระหว่างปี 2530-2537 ซึ่งลุงอัมพรบอกว่าเป็นช่วงที่ราคากระท้อนดีดตัวสูงขึ้นมากจนสร้างความพออกพอใจให้แก่ชาวสวนเป็นอย่างมาก อย่างเช่นปุยฝ้ายราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 70 บาท " ตอนนั้นของนอกยังไม่เข้ามาตี " ลุงอัมพร กล่าว
คำว่า "ของนอก" นั้นหมายถึงกระท้อนที่ปลูกกันแถวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดนนทบุรี
เมืองนนท์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งผลไม้อร่อย ทำให้จังหวัดอื่น ๆ ก็ต้องการผลไม้จากเมืองนนท์ไปปลูกกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนซึ่งต่อมาไปแพร่พันธุ์แถวระยอง ปราจีนบุรี จันทบุรี เป็นต้น กระท้อนก็เช่นกัน เล่าต่อ ๆ กันมาว่าเมื่อประมาณปี 2533 - 34 เริ่มมีเกษตรกรจากจังหวัดปราจีนบุรีมาซื้อกิ่งกระท้อนจากเมืองนนท์ไปเพียง 3 กิ่งในราคากิ่งละ 500 บาท
เพียงไม่กี่ปีให้หลัง ด้วยเทคโนโลยีในการปลูกผลไม้ของจังหวัดปราจีนบุรีที่เก่งกาจสามารถ ทำให้กระท้องเพียง 3 กิ่งแตกดอกออกผลขยายพันธุ์ออกไปยังจังหวัดจันทบุรี ระยอง เป็นต้น จนปัจจุบัน "กระท้อนนอก" เหล่านี้ก็สามารถเข้ามายึดครองตลาดผลไม้ได้ไม่แพ้กระท้อนเมืองนนท์ต้นตำรับ
" กระท้อนปราจีนบุรียอมแพ้ความหวานของเมืองนนท์ แต่ยอมรับว่ากระท้อนปราจีนบุรีลูกใหญ่กว่า ปุยน่ากินกว่า เพราะดินเขาดี "
กระท้อนนุ่ง " กระโปรง "
กระท้อนเป็นผลไม้เมืองร้อนจะมีให้กินเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น คือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม โดย เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ใบของกระท้อนจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองส้มและร่วง จากนั้นจะมีการแทงยอดอ่อนและช่อดอกออกมาประมาณมกราคม ดอกจะเริ่มบานติดผลเล็ก ๆ ถ้าปีไหนอากาศหนาวนานจะทำให้ปีนั้นกระท้อนดกรสชาติดีตามไปด้วย แต่ปัจจุบันนี้สภาพแวดล้อมของสวนเมืองนนท์เปลี่ยนไปตั้งแต่เริ่มมีถนนตัดผ่าน บ้านจัดสรรผุดขึ้นมามากมาย ทำให้น้ำไม่สะอาด ดินจืด กระท้อนจึงติดลูกได้น้อย
แม้กระท้อนจะเป็นพืชที่ปลูกง่ายแทบจะไม่ต้องดูแลมากเหมือนทุเรียน แต่ถ้าต้องการให้กระท้อนติดลูกมาก ๆ นั้นจะต้องใช้วิธีการจับนุ่ง "กระโปรง" หรือ "ห่อ" ตั้งแต่สีผิวเป็นสีเขียวขี้ม้า วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันทอง และผลที่ได้ตามมาคือ ผิวของผลจะสวย ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อมีคุณภาพดีขึ้น
ลุงอัมพรเล่าว่าเมื่อก่อนนั้นชาวบ้านที่รับจ้างห่อจะมาแย่งกันจับจองตามสวนต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้คนห่อกระท้อนหายากมากจึงทำให้ต้นทุนในการห่อสูงขึ้น คือค่าจ้างห่อลูกละ 70 สตางค์ (จากเมื่อก่อนเพียง 15 สตางค์เท่านั้น ) ส่วนกระโปรงที่ใช้ห่อกระท้อนนั้นแต่เดิมใช้ใบกล้วย แต่ปัจจุบันหันมาใช้ถุงปูนแทนเพราะสามารถใช้ได้ซ้ำถึง 2 - 3 ครั้ง ซึ่งค่าพันกระโปรงตกใบละ 60 สตางค์ คือตอกที่ใช้พันอีกเส้นละ 10 สตางค์ ต้นทุนก็เกือบ 2 บาทแล้ว
" อนาคตสวนจะเหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นมาแทนที่ ผมถ่ายทอดการทำสวนมากจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่เมื่อถึงรุ่นลูกของผมคงไม่มีใครเอาแล้ว " ลุงอัมพรพูดด้วยน้ำเสียงแบบปลง ๆ กับสวนกระท้อนที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ของชาวสวนเมืองนนท์ทุกคนที่กำลังประสบอยู่ ซึ่งในอนาคตกระท้อนเมืองนนท์อาจจะมีเพียงแค่ชื่อเสียงให้คนรุ่นหลังเล่าลือกัน แต่ส่วนเนื้อกระท้อนคงต้องไปกินกันตามสวนจังหวัดอื่น ๆ
กระท้อนลอยแก้วสูตรโต - ม.ล. จิราธร
" กระท้อน" เป็นผลไม้มหัศจรรย์มาก เพราะดูจากผลภายนอกที่เปลือกค่อนข้างจะแข็ง แต่เมื่อผ่าออกเป็น 2 ส่วนจะเผยให้เห็นกลีบเม็ดติดปุยนุ่มขาวจัด รสชาติหวานหอม เหล่านี้คือเสน่ห์ของกระท้อน แต่กระท้อนจะยิ่งเสน่ห์แรงมากขึ้นเมื่อนำมาทำ " ลอยแก้ว "
"กระท้อนลอยแก้ว" ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดแห่งความอร่อยของบรรดาผลไม้ลอยแก้วทั้งปวง เนื่องเพราะรสชาติของกระท้อนจะให้รสที่เปรี้ยวและหวานกลมกล่อม สีสันออกขาวชมพูดูน่ารับประทานยิ่งนัก
ช่วงฤดูกาลของกระท้อนเต็มท้องตลาดนั้น บางคนอาจจะนิยมปอกกระท้อนรับประทานสด ๆ แต่มีไม่น้อยที่พยายามเสาะหากระท้อนลอยแก้วเจ้าเด็ด ๆ มาลิ้มลองรสชาติให้เป็นบุญปาก
" วังบ้านหม้อ" ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้องรำทำเพลงไปจนถึงการแกะสลักผลไม้ที่งดงาม โต - ม.ล. จิราธร จิระประวัติ ลูกหลานวังบ้านหม้อเล่าให้ฟังว่าชีวิตที่วิ่งเล่นอยู่ในวังตั้งแต่เล็ก ๆ ก็จะคุ้นเคยกับการแกะสลักผลไม้ ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ คือริ้วมะปราง ปอกมะม่วง รวมไปถึงทำกระท้อนลอยแก้ว ขนาดที่ลูกหลานทุกคนในวังบ้านหม้อจะต้องมีมีดแกะสลักทองเหลืองประจำตัวทีเดียว ซึ่งทุกปีทางวังบ้านหม้อจะต้องททำผลไม้ลอยแก้วเหล่านี้ส่งเข้าวังเพื่อถวายพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับโต- ม.ล.จิราธร นั้นเป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนฝูงว่าเป็นคนหนึ่งที่ปอกมะม่วงสุกได้สวยงามน่ารับประทานไม่แพ้กระท้อนลอยแก้วที่รสชาติอร่อยสุด ๆ เช่นกัน ซึ่งโต - ม.ล. จิราธร บอกว่านำเคล็ดลับในการมาจากทั้งวังมหานาคของย่าคือหม่อมอนุวงศ์ จิระประวัติ ณ อยุธยา รวมกับประสบการณ์ของตัวเองด้วยจึงทำให้กระท้อนลอยแก้วของเขาเป็นที่เลื่องลือ
โดยโต - ม.ล. จิราธรยอมเปิดเผยเคล็ดลับว่าจะปอกเนื้อกระท้อนออกให้เหลือเนื้อที่ติดกับปุยเท่านั้นเพื่อมาทำลอยแก้ว โดยจะเลือกระท้อนที่ลูกไม่ใหญ่มากนัก ใช้มีดคม ๆ เพื่อเซาะเม็ดกระท้อนออกให้เหลือเนื้อสีชมพูบาง ๆ ติดปุยขาว ๆ เป็นชิ้นพอคำ ส่วนเกลือที่ใช้จะเลือกเกลือ salt sea จากเมืองนอก ผสมลงในน้ำเชื่อมข้น ๆ นำกระท้อนลงแช่ในน้ำเชื่อมยกเข้าตู้เย็นเพื่อให้เย็นฉ่ำ เมื่อจะกินให้ตักใส่ถ้วยพร้อมใส่น้ำแข็งทุบละเอียดลงไป
สำหรับใครที่อยากจะลิ้มลองกระท้อนลอยแก้วสูตรโต - ม.ล. จิราธร นั้นไม่ต้องไปเดินหาตามร้านที่ไหน เพราะเจ้าตัวจะลงมือทำก็ต่อเมื่อเชื้อเชิญแขกมารับประทานอาหารที่บ้านเท่านั้น
สูตร ชาลี พลอยแกมเพชร
อีกรายที่ทำกระท้อนลอยแก้วได้อร่อย และเป็นที่รู้กันของบรรดานักชิมคือ ชาลี - ชุลิตา บรรณาธิการนิตยสารพลอยแกมเพชร ซึ่งรายนี้จะทำแค่ปีละ 100 ขวดเท่านั้นติดต่อกันมานานถึง 10 ปีแล้ว สนนราคาขวดละ 550 บาท ใครอยากจะลิ้มลองต้องโทร.ไปจองเท่านั้น
แม้งานทำนิตยสารจะยุ่งเพียงใด แต่เมื่อถึงหน้ากระท้อน ชาลีจะลงมือทำกระท้อนลอยแก้วด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ปอกเปลือกไปจนถึงเซาะเม็ดออก โดยใช้ช่วงเวลาดูละครทีวีไปก็ทำไปด้วย
ความอร่อยของกระท้อนลอยแก้วขวดนี้คงเป็นที่ความพิถีพิถันของเจ้าของสูตรที่จะเลือกกระท้อนห่อลูกใหญ่น้ำหนัก 1 ลูกต่อหนึ่งกิโลกรัมซึ่งจะได้เต็ม 1 ขวดโหลพอดี นำกระท้อนมาเซาะส่วนเนื้อออกเหลือเฉพาะปุยขาว ๆ เพื่อนำมาลอยแก้ว สวนกระท้อนก็จะเป็นสวนเจ้าประจำเท่านั้น น้ำที่ใช้ในการทำจะใช้เฉพาะน้ำสิงห์เท่านั้น ส่วนเกลือจะหิ้วมาจากฮ่องกง และกระท้อนชาลีของแท้จะต้องบรรจุในขวดโหลแก้วใสที่สั่งจากประเทศเยอรมนีเท่านั้น ( ราคาขวดโหลใบละ 200 บาท )
ตลาด อตก.ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีกระท้อนลอยแก้วขายอยู่หลายเจ้า ส่วนมากจะใส่ถุงพลาสติกขายกันสนนราคาระหว่าง 40 - 50 บาท ที่โดดเด่นที่สุดคือของ "คุณดา" ที่คัดกระท้อนห่อพันธุ์ปุยฝ้ายจากปราจีนบุรีมาผ่าครึ่งลูกตามขวางแกะสลักเป็นกลีบดอกจำปี 4 กลับรองด้วยเนื้อกระท้อนที่ทำเป็นลายหยัก เซาะเม็ดออกเห็นปุยขาวชมพูลอยแก้วในน้ำเชื่อมสีใสสะอาด
กระท้อนลอยแก้วคุณดาขายเฉพาะช่วงหน้ากระท้อนเท่านั้น โดยขายมาตั้งแต่เริ่มมีตลาด อตก. ในสนนราคา 40 - 50 บาท ซึ่งจำหน่ายทั้งขายส่งตามร้านอาหารและขายปลีก
* * * * * * * * * * * *
เรื่อง - ทีมข่าวสังคม