xs
xsm
sm
md
lg

ซ่อมเสริมโบราณสถาน บูรณะรอยอารยธรรมล้านนา เทิดไท้องค์ราชันย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระธาตุดอยตุงองค์นอกที่กำลังจะถูกบูรณะรื้อออกกลับมาสร้างด้วยสถาปัตยกรรมดั้งเดิม
สายธารกาลเวลาที่ไหลรุดหน้าขึ้นทุกวัน แปรเปลี่ยนสภาพเมืองโบราณและนครสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตอย่างนครล้านนาให้เหลือแต่เพียงโบราณสถาน และตำนานพื้นถิ่น พงศาวดารที่สืบขานกันมาจนถึงคนรุ่นหลัง แต่นับวันความเจริญทางวัตถุได้รุกคืบเข้ามาใกล้ ขณะที่โบราณสถานหลายแห่งกลับทรุดโทรมลงไป หากไร้การดูแลและบูรณะในแนวทางที่ถูกต้อง อาจทำให้ร่องรอยอารยธรรมเหล่านี้สูญหายหรือถูกบิดเบือนไป

2549 ปีมหามงคลของพสกนิกรชาวไทย 60 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่างเข้าสู่ปีที่ 225 ของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ อู่อารยธรรมล้านนาที่นับเนื่องไปได้ยาวนานเก่าแก่กว่าหลายพุทธศตวรรษ ซึ่งทิ้งร่องรอยโบราณสถานไว้หลายแห่งกำลังจะได้รับการบูรณะซ่อมแซม เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้

กรมศิลป์จับมือเอกชนบูรณะโบราณสถาน

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ในวัดและศาสนสถานสำคัญทั่วประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ที่ได้มีมติให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด และศาสนสถานทั่วประเทศที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สมควรได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และฟื้นฟูขึ้นใหม่ให้เหมาะสมสวยงาม เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ภารกิจในการปกป้องคุ้มครองและการบูรณะโบราณสถาน เป็นภารกิจที่สำคัญของกรมศิลปากร ซึ่งนายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบการบูรณะเสริมความมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินงานนี้มาโดยตลอด โดยสั่งการให้สำนักโบราณคดี สำรวจโบราณสถานในภาพรวมของประเทศว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใด จึงจะบูรณะแล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่งตัวเลขคร่าวๆ ประมาณถึง 4,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องในวโรกาสสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คณะกรรมการกลั่นกรองได้สรุปโบราณสถานสำคัญตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องใช้งบประมาณการบูรณะประมาณหนึ่งพันล้านบาทเศษ ในระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (พ.ศ.2549-2550) แต่เนื่องจากโบราณสถานบางแห่งยังขาดงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์อีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องอาศัยการบริจาคจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธา หนึ่งในนั้นคือองค์กรภาคเอกชนอย่างบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนร่วมกับสำนักงานกรมศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ จัดโครงการบูรณะโบราณสถานวัดพระสิงห์วรมหาวิหารขึ้น และมีการทำพิธีสมโภชเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีตสมัยล้านนา ที่เคยเรียกว่า 'กาดลี' หรืออีกชื่อที่รู้จักกันดีว่า 'วัดพระสิงห์' แหล่งท่องเที่ยวอันดับ 2 ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทุกวันนี้เสื่อมสภาพเพราะไม่อาจสามารถเอาชนะกาลเวลาไปได้ สิ่งที่พอจะทำได้คือการอนุรักษ์ ทำนุบำรุง ซ่อมแซมเพื่อรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและซึมซับวิถีแห่งช่างฝีมือรุ่นเก่าก่อนเอาไว้ได้อย่างดีที่สุด

วันทนีย์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด ในฐานะผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 700 ปี ปัจจุบันมีวัดที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมากมายกว่า 2,000 แห่ง แต่กรมศิลปากรมีงบจำกัดทางบริษัทจึงได้เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนในโครงการบูรณะโบราณสถานวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า "เป็นองค์กรธุรกิจของคนไทย มีวันนี้ได้เพราะคนไทย ต้องรู้จักคืนกำไรให้กับคนไทย"

สำหรับการบูรณะฯ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ของวัด ได้แก่ วิหารลายคำ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ โดยก่อนบูรณะพบว่า ตัววิหารถูกทำลายจนถึงชั้นรักที่เป็นยางไม้สีดำ จึงบูรณะให้คืนกลับร่องรอยเดิม แล้วปิดทองและปั้นเสริมจากลวดลายเดิม ขณะที่ภาพจิตรกรรมนั้นถูกทำลายเนื่องจากความชื้น น้ำฝน อีกทั้งมีการเปิดปิดหน้าต่างทุกวัน ประกอบกับการดูแลรักษาที่ผิดวิธี ทำให้สึกกร่อน คาดว่าก่อนการบูรณะผนังชำรุดถึง 60% โดยซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่มีหลักฐาน เช่น รูปภาพเก่า แต่หากไม่มีหลักฐานจะเพียงทาน้ำยาให้สีกลมกลืนและไม่สึกกร่อนไปกว่าเดิม ภาพจิตรกรรมที่ผนังวิหารลายคำนี้มีเอกลักษณ์และพบได้ที่นี่เพียงแห่งเดียว เช่นดังที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยได้สรุปไว้ว่า

"จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน เป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน"

จากนั้นจัดการซ่อมหลังคากันฝน และเจาะรูตามพื้นรอบวิหารให้ความชื้นระบายขึ้นมาแทน นอกจากนี้ยังได้ทำการบูรณะพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ซึ่งเป็นโลหะสำริด ทรุดโทรมเพราะโดนน้ำส้มป่อยช่วงสงกรานต์ทุกปีทำให้เกิดสนิม

นอกจากวิหารลายคำแล้ว ยังมีการบูรณะฯ พระธาตุเชี่ยงเมี่ยงหรือเจดีย์เชี่ยงเมือง, เจดีย์ประธาน หรือสถูปที่ชาวล้านนาเรียกว่าธาตุ บรรจุอัฐิของพญาคำฟู สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.1888 และเจดีย์ราย 3 องค์ ที่เป็นเจดีย์ประจำทิศตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ใต้ และตะวันตกของเจดีย์ประธาน, หอไตรหรือหอธรรมที่มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี ตัวหอไตรได้รับการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้วโดยกรมศาสนา ตอนซ่อมพระอุโบสถทางทิศเหนือ แต่จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมตามหลักการอนุรักษ์ โดยในการบูรณะนั้นจะใช้ปูนจืดหรือปูนขาวเท่านั้น เนื่องจากในปูนซีเมนต์จะมีเกลือและยิปซัมทำให้ผ่านลงไปในเนื้อปูนเดิมเป็นการทำลายเนื้อปูน

งบประมาณในการบูรณะที่บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลวางไว้นั้นอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านบาท นอกจากนี้ในโครงการยังได้จัดงบประมาณอีก 5 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมการประกวดวาดภาพ ในหัวข้อ "ล้านนาสืบสาน ปูจาวัดพระสิงห์" ชิงโล่พระราชทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และกิจกรรม "Heritage Ambassador" เพื่อคัดเลือกนักศึกษาอาสาสมัครเป็นมัคคุเทศก์นำชมระหว่างการบูรณะและพิธีสมโภช ซึ่งนับเป็นการดำเนินการต่อยอดนอกเหนือจากโครงการบูรณะโบราณศาสนสถาน เพื่อช่วยสืบสานจิตสำนึกการอนุรักษ์แก่อนุชนรุ่นหลัง

นายไพบูลย์ ผลมาก เลขานุการกรมศิลปากร กล่าวถึงโครงการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะโบราณสถานร่วมกับกรมศิลปากรว่า เนื่องจากแต่ละปีนั้น งบประมาณในการบูรณะโบราณสถานในพื้นที่ต่างๆ นับว่าไม่เพียงพอ สำนักโบราณคดีจึงได้สำรวจและเลือกบูรณะโบราณสถานที่เก่าแก่ทรุดโทรม จำเป็นจะต้องเร่งบูรณะซ่อมแซมเสียก่อน จึงก่อเกิดแนวคิดในการจัดทำลิสต์รายชื่อโบราณสถานที่ต้องมีการจัดการบูรณะซ่อมแซมขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนที่สนใจเลือกสนับสนุนด้านงบประมาณในการบูรณะโบราณสถานแต่ละแห่ง

ที่ผ่านมาก็มีองค์กรธุรกิจภาคเอกชนหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ อาทิ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนโครงการบูรณะโบราณสถานวัดสุวรรณดารารามราชวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา หรือการบูรณะวัดพระสิงห์วรมหาวิหารของบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เป็นต้น โดยระหว่างนั้นจนกระทั่งภายหลังการดำเนินการบูรณะเสร็จสิ้น ทางกรมศิลปากรได้พาภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนติดตามผลงานการบูรณะอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานสำคัญในพุทธศาสนาแล้ว ยังมีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานสำคัญที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาอื่นๆ อีกด้วย จึงไม่ได้มีแต่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาอื่นๆ ก็สามารถร่วมบริจาคเงินสมทบการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด และศาสนสถานสำคัญทั่วประเทศได้

วอนพุทธศาสนิกชนบริจาค 'ศรัทธา' ให้ถูกทาง

ในอีกด้านหนึ่ง 'ศรัทธา' ในการบริจาคเพื่อทะนุบำรุงโบราณศาสนสถานของประชาชนนั้นก็นับเป็นดาบสองคม ดังเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อมีผู้บริจาคเงินให้ทางวัดปูกระเบื้องหินอ่อนรอบบริเวณฐานพระธาตุดอยสุเทพ โดยคาดไม่ถึงเองว่านี่จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งให้เกิดความเสียหายแก่องค์พระธาตุเร็วขึ้น เนื่องจากความชื้นใต้พื้นดินไม่สามารถผ่านทะลุแผ่นหินอ่อนขึ้นมาได้ ผลเสียจึงไปตกอยู่กับตัวพระธาตุเองที่เริ่มชื้นจนปริร้าวเนื่องมาจากความชื้นนั่นเอง

กรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรผู้หนึ่งชี้ว่าเป็นเรื่องที่ทางกรมศิลปากรพยายามทำความเข้าใจกับทางวัดหลายแห่งมาโดยตลอด แต่ก็ทำได้ยาก เพราะแม้จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา แต่วัดนั้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ทางวัดจึงสามารถจัดการดูแลทรัพย์สินในส่วนของตนได้ กระนั้น เขาก็อยากแนะนำพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาว่าก่อนที่จะบริจาคเพื่อปลูกสร้างอะไรเพิ่มเติมในวัด โดยเฉพาะวัดที่เป็นโบราณศาสนสถาน ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าดีแก่ตัวโบราณสถานได้

ในการนำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสำรวจและเยี่ยมชมโบราณสถานในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ฯ เนื่องในวโรกาส 60 ปีทรง ครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยกรมศิลปากรนั้น พบว่าโบราณสถานหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ประสบปัญหาการเสื่อมสภาพคล้ายคลึงกัน

เช่นที่ พระธาตุปูเข้าและพระธาตุจอมกิตติที่ได้รับความผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเหมือนกัน หรือวัดดวงดีที่ประสบปัญหาสิ่งก่อสร้างในวัดปัจจุบันค่อนข้างหนาแน่น อีกทั้งกระเบื้องมุงหลังคาแตกรั่วเสียหาย ตัววิหารแตกร้าวเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับวิหารใหญ่ของวัดบุพพาราม

ส่วนพระวรชินธาตุเจ้าดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่เชื่อกันว่าบรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า พระธาตุดอยตุงจึงนับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงนั้น จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและประเทศใกล้เคียง อย่างเช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี แต่จากการที่มีผู้มีจิตศรัทธามากมายนี้เอง ทำให้มีการบริจาควัตถุ และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เข้ากับสภาพโดยรอบขององค์พระธาตุจนแลดูไม่เป็นระเบียบ กรมศิลปากรจึงมีแผนเข้ามาอนุรักษ์พื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์วัดพระธาตุดอยตุง ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 22,054,000 บาท โดยหนึ่งในแผนงานนี้ คือการกระเทาะตัวพระธาตุองค์นอกที่สร้างใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิมออก เพื่ออนุรักษ์ให้กลับคืนสู่สถาปัตยกรรมรูปแบบดั้งเดิมแท้ๆ

อ.สมฤทธิ์ ลือชัย หนึ่งในคนเชียงรายที่ผูกพันกับพระธาตุแห่งนี้มาตั้งแต่เกิดแสดงความเห็นต่อกรณีการรื้อเพื่อสร้างองค์พระธาตุใหม่ตามแบบดั้งเดิมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความเชื่อของชาวเชียงรายและผู้ที่ศรัทธาในองค์พระธาตุดอยตุง แต่ต้องอย่าลืมว่าส่วนของพระธาตุที่จะรื้อถอนนี้เป็นส่วนที่ถูกสร้างใหม่ภายหลัง ด้วยเหตุผลทางการเมืองและความมั่นคงในยุคนั้น ปัจจุบันนี้เขาและคนเชียงรายบางส่วนจึงอยากเห็นตัวพระธาตุแท้ๆ แบบดั้งเดิมมากกว่า เพื่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้ซึมซับความงามของ 'ปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย' แห่งนี้โดยแท้จริง

โบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดเชียงรายคือ วัดพระธาตุจอมกิตติ ที่ตั้งอยู่บนดอยจอมกิตติทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงแสน เป็นวัดโบราณที่มีประวัติการก่อสร้างในตำนานว่า พระเจ้าพังคราชและพรหมกุมารผู้เป็นโอรสได้สร้างพระธาตุขึ้นบนดอยน้อยและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน เมื่อ พ.ศ.1483 ต่อมาในปี พ.ศ.2030 หมื่นเชียงสงได้สร้างพระธาตุจอมกิตติขึ้น ณ ที่ตั้งพระธาตุเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าพังคราช

เท่าที่มีหลักฐานบันทึกไว้พระธาตุจอมกิตติได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2337 เจ้าฟ้าเฉลิมเมือง บูรณปฏิสังขรณ์ และครั้งที่ 2 บูรณปฏิสังขรณ์ พ.ศ.2500-2501 โดยกรมศิลปากรที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา แต่ด้วยเหตุที่เจดีย์พระธาตุจอมกิตติมีอายุการก่อสร้างยาวนานกว่า 500 ปี วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจึงเสื่อมสภาพและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ทำใหเจดีย์ในปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีต้นไม้ขึ้นตามรอยแตกของอิฐโครงสร้างทั่วไป แม้กรมศิลปากรจะได้เคยทำการบูรณะครั้งหนึ่งเมื่อ 38 ปีมาแล้ว แต่เทคนิคในการบูรณะครั้งนั้นได้ทำเพียงการเสริมความมั่นคง และก่ออิฐเสริมส่วนที่ชำรุดหลุดร่วงหายไปเท่านั้น

เมื่อผนวกกับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ.2538 เป็นเหตุให้รอยแตกที่องค์เจดีย์ขยายตัวมากขึ้น อิฐโครงสร้างส่วนยอดและลายปูนปั้นหลุดร่วงมากขึ้น ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงและปฏิสังขรณ์อาจทำให้พระธาตุจอมกิตติพังทลายลง ซึ่งจะเป็นการสูญเสียปูชนียสถานและศาสนสถานที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวไทย อีกทั้งอาจเป็นอันตรายต่อพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในบริเวณพระธาตุได้

ในส่วนของงานด้านโบราณคดี อย่างการขุดแต่งศึกษาฐานรากรอบฐานพระเจดีย์พระธาตุนั้น ดำเนินงานเองโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ และการจ้างเหมาแรงงานท้องถิ่น ส่วนงานบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถาน จะดำเนินการโดยจ้างเหมาเอกชน ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ

เสนาะ จิณะสิทธิ์ นายช่างศิลปกรรม 6 ว. สำนักศิลปากรที่ 6 ที่มีประสบการณ์ในการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานหลายแห่งกล่าวว่า นอกเหนือจากบริษัทรับเหมานั้นจะต้องมีประสบการณ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานประเภทเดียวกันมาก่อนแล้ว หากเป็นไปได้อยากจะให้บริษัทเอกชนที่รับเหมานั้นจ้างช่างฝีมือท้องถิ่นในการทำงาน เพื่อจะได้ช่างที่มีความรู้และเข้าใจในอัตลักษณ์และรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถานในท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้มีแผนการจะบูรณะโบราณศาสนสถานอีกหลายแห่ง อาทิ พระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน, วัดพันเตา วัดเจดีย์หลวง และวัดดวงดี จ.เชียงใหม่, วัดพระแก้วดอนเต้า และวัดพระธาตุลำปางหลวง ใน จ.ลำปาง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวาระมหามงคลนี้ ประชาชนที่มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเงินเพื่อร่วมสมทบการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานร่วมกับกรมศิลปากรได้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกของปวงชนชาวไทย

*******************

เรื่อง/ ภาพ รัชตวดี จิตดี
วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
วิหารวัดพันเตาขณะกำลังทำการบูรณปฏิสังขรณ์
วัดพระสิงห์
วิหารลายคำ
วิหารเก่าแก่งดงามภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง
พระธาตุลำปางหลวง
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
พระธาตุจอมกิตติ จังหวัดเชียงราย ที่ในปัจจุบันองค์เจดีย์มีสภาพทรุดเอียง เนื่องมาจากผลกระทบแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ.2538
วันทนีย์ จิราธิวัฒน์
วัดพระธาตุภูเข้า (ปูเข้า) จังหวัดเชียงราย  ศาสนสถานศักดิสิทธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
วัดพระธาตุภูเข้า (ปูเข้า) จังหวัดเชียงราย  ศาสนสถานศักดิสิทธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น