xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ : พนัง แม่ปิง และจิตวิญญาณล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่น้ำปิงบนกระแสของความเปลี่ยนแปลง
ปี 2548 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในตัวเมืองเชียงใหม่ แนวคิดเรื่องพนังกั้นแม่น้ำปิงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เกิดการคัดค้านจากชาวบ้านและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง พวกเขาบอกว่าพนังไม่ใช่ทางออก และแม่น้ำปิงไม่ใช่แค่แม่น้ำ แต่เป็นจิตวิญญาณของเชียงใหม่ พวกเขายอมน้ำท่วมแต่ไม่อยากได้พนัง

กรุงเทพมหานครเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ถูกขนานนามว่าเวนิสแห่งตะวันออก แม่น้ำ คู คลอง ตัดสลับซับซ้อนเหมือนเส้นผมหญิงสาวยามตื่นนอนที่ยังไม่ได้หวีให้เข้าที่ น้ำ-ต้นไม้-บ้านเรือนยังแทรกแซมอยู่ด้วยกันแบบไม่ทำร้ายกันจนเกินไปนัก นี่ถ้าเราประคับประคองกันเสียตั้งแต่ตอนนั้น กรุงเทพฯอาจไม่เป็นเช่นทุกวันนี้...

ร้อยกว่าปีต่อมากรุงเทพมหานครเติบโตอย่างไร้ทิศทาง จากเด็กซุกซนกลายเป็นผู้ใหญ่เกรี้ยวกราด รถติด น้ำท่วม มลพิษ ชุมชนแออัด ฯลฯ แล้วคนกรุงเทพก็ต้องพำนักอาศัยอยู่ในเมืองที่เจ็บป่วย

เชียงใหม่ เอกนครกลางขุนเขาแห่งดินแดนล้านนาอายุ 700 กว่าปีกำลังกลายเป็นกรุงเทพฯแห่งที่ 2 ในแง่ของการซ้ำรอยความผิดพลาด ผลจากการโหมประโคมด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาทำให้เชียงใหม่ขยายตัวรวดเร็วแบบไร้ทิศทางไม่ผิดกับกรุงเทพฯ ปัญหาทุกชนิดที่กรุงเทพฯเจอะเจอมีให้เห็นที่เชียงใหม่ หากไม่ใช่เพราะมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยาวนานคอยดูดซับแรงกระแทกจากภายนอกไว้ เมืองเชียงใหม่อาจเปลี่ยนไปเร็ว และรุนแรงกว่านี้

-1-

ปี 2548 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ถึง 4 ครั้งติดต่อกันในช่วงเวลาเพียงเดือนเศษๆ หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงเนื้อหาว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 40 ปี สร้างความเสียหายด้านการท่องเที่ยว การพาณิชย์ การเกษตร และมิติทางสังคมอื่นๆ เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องรีบกลับมาเยี่ยมเยือนบ้านเกิดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด จากการขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสภาพน้ำท่วม พ.ต.ท.ทักษิณได้มีคำสั่งออกมาทันทีทันใดเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ 'การสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิง' เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำล้นตลิ่งขึ้นไปท่วมเมืองเชียงใหม่

และนั่นนับเป็นจุดตั้งต้นความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่งระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน

ข้อมูลที่ได้จากนักวิชาการในพื้นที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างพนังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งยังไม่ใช่เครื่องยืนยันได้ว่าสร้างแล้วน้ำจะไม่ท่วม

ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ก็คือการเติบโตของเมืองแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง และการรุกล้ำพื้นที่ริมน้ำปิงทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเอง


ก่อนอื่นคงต้องทำความคุ้นเคยกับเชียงใหม่ให้มากกว่านี้ ...แต่ดั้งเดิมเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำตามสภาพภูมิประเทศอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยพญาเม็งราย-ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ วัฒนธรรมเก่าก่อนของชาวล้านนาจึงปลูกบ้านที่มีใต้ถุนสูงเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายและอยู่กับธรรมชาติให้ได้ มีการสร้างลำเหมืองเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิงกระจายอยู่ทั่วไป มีหนองน้ำใหญ่ทางตอนเหนือและพื้นที่ลุ่มกว้างใหญ่ทางตอนใต้สำหรับเป็นแหล่งรองรับน้ำ และยังมีกลไกทางสังคมที่เรียกว่า 'ขึด' คอยควบคุมไม่ให้เกิดการล่วงล้ำพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อถึงหน้าน้ำความม่วนอก ม่วนใจ กับปลาสดใหม่จึงลอยมากับน้ำใสๆ แทนที่จะเป็นโคลนกับความทุกข์เช่นทุกวันนี้

แต่เมื่อสิ่งที่กล่าวมาในย่อหน้าก่อนถูกถอดออกไปจากสมการชีวิตของคนเชียงใหม่ในปัจจุบัน บ้านติดพื้น ลำเหมืองถูกถมเป็นถนน เป็นบ้าน หนองน้ำและพื้นที่ลุ่มแปรสภาพเป็นแหล่งเกษตรกรรม เป็นชุมชน ไหนจะกรณีการรุกล้ำแนวเขตแม่น้ำปิงของผู้ชื่นชอบชีวิตริมน้ำ ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็นจึงคำนวณได้ไม่ยากและมันก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่

พนังจึงไม่ใช่หนทางแก้ไขที่ถูกต้อง และเมื่อกล่าวถึงในแง่ต้นทุนทางความรู้สึกของชาวบ้าน พวกเขามองว่าแม่ปิงอ่อนโยนเกินกว่าจะยอมให้กำแพงคอนกรีตแข็งกระด้างมาขวางกั้นระหว่างคนกับน้ำ

-2-

เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านทัศนียภาพ ทางหน่วยงานที่ดูแลจึงหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบของพนังจากกำแพงคอนกรีตไปเป็นลักษณะของคันดินและสร้างเป็นสวนสาธารณะ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงเรื่องทัศนียภาพเพียงอย่างเดียว

"ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เรื่องทัศนะอุจาดอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ว่าแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า ประเด็นอยู่ที่ว่าเราไม่ได้พูดถึงระบบนิเวศน์ของแม่น้ำ ตลิ่งของแม่น้ำยังไงก็ต้องลาดเอียง ต่อให้คุณไปทำพนังกั้น 90 องศาสุดท้ายแล้วดินก็จะไปพอกจนลาดเอียงไปถึงท้องน้ำตลอด"

"ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ทำงานอย่างบูรณาการ ปัญหาที่ต้องแก้ที่สุดคือ เรื่องการรุกล้ำพื้นที่ริมแม่น้ำปิง เพราะที่ผ่านมาน้ำล้นตลิ่งเนื่องจากมันมีสภาพเป็นคอขวด อีกประเด็นหนึ่งมีบางคนเรียกว่าปฏิกิริยาตีฉิ่งคือว่าถ้าคุณทำเขื่อนตรงจุดไหน เมื่อน้ำมาแล้วมันไปไม่ได้มันก็จะไปกระแทกฝั่งตรงข้ามต่อไปเรื่อยๆ แล้ว ปัญหาที่ตามมาคือเมื่ออีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ทำเขื่อนคอนกรีต เพราะฉะนั้นน้ำก็จะกระแทกแรงไปยังฝั่งที่ไม่ได้ทำ พอไปทำมันก็จะกระแทกแรงกลับมายังฝั่งตรงข้ามเสมอ"

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง หัวหน้าโครงการเมืองยั่งยืน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวและอธิบายต่อว่า การพูดถึงแม่น้ำจำเป็นต้องพูดถึงทั้งระบบ บอกว่าต้องทำให้น้ำไหลออกจากเขตเมืองเร็วที่สุดโดยไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนทางปลายน้ำไม่ได้

จากการศึกษาของ เครือข่ายแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชน พบว่าพนังริมน้ำปิงแก้น้ำท่วมไม่ได้ เพราะถ้าหากระดับน้ำสูงกว่าระดับพนังที่สร้างไว้ ยังไงๆ น้ำก็จะล้นตลิ่งออกมาอยู่ดี และน้ำที่ล้นข้ามพนังออกมาจะไม่สามารถระบายกลับสู่แม่น้ำปิงได้เพราะตัวพนังกีดกันเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในจังหวัดอื่นๆ อีกประเด็นหนึ่งคือถ้าน้ำในแม่น้ำขึ้นสูงกว่าระดับน้ำบนผิวดินถึงแม้จะไม่ล้นข้ามตลิ่ง แต่น้ำก็จะไปล้นออกทางท่อระบายน้ำ เนื่องจากระบบระบายน้ำของเมืองเชียงใหม่จะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิง พูดแบบบ้านๆ ก็คือต่อให้น้ำไม่ล้นออกมาแบบเห็นๆ แต่น้ำจะเล็ดลอดไปตามท่อระบายน้ำ ไปโผล่เอาหลังบ้านของคุณ สุดท้ายก็ท่วมเหมือนกัน

ประเด็นที่ ดร.ดวงจันทร์ย้ำก็คือการรุกล้ำลำน้ำปิง เพราะถ้าภาครัฐแก้ไขอย่างจริงจังจุดนี้จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้

"เวลาไปบอกชาวบ้านไม่ได้บอกหรอกว่าผลเสียมีอะไร พูดแต่ผลดีว่าจะกั้นน้ำ แล้วถามว่ามันกั้นได้จริงมั้ย ถ้าปัญหาอื่นยังไม่ได้รับการแก้ไข ไอ้จุดที่วิกฤตคือคอคอดของแม่น้ำ ทำไมไม่ไปเอาที่ที่รุกล้ำแม่น้ำออก ถ้าเอาออกมันก็จะโล่งไปตั้งเยอะ"

นอกจากการรุกล้ำแม่น้ำปิง การเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ขาดการวางผังเมืองที่ดีแล้ว โครงการพัฒนาจำนวนมากที่ถูกอัดฉีดลงมาตลอดระยะเวลา 5 ปีหลัง เช่น ถนนอ้อมเมืองสายมหิดล โครงการถนน Local Road เลียบทางรถไฟเชื่อมเชียงใหม่-ลำพูน ทั้ง 2 โครงการนี้มีข้อมูลชัดเจนว่าทำให้น้ำไม่สามารถระบายออกได้ ซึ่งสุดท้ายถนนสายมหิดลก็ต้องมีทุบทิ้งเพื่อระบายน้ำในช่วงที่ท่วมสูงมาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมประเด็นลึกๆ แต่ไม่ลับจากแหล่งข่าวในพื้นที่บอกว่า เรื่องนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงที่นักการเมืองท้องถิ่นและเครือญาตินักการเมืองระดับประเทศจะได้จากการสร้างพนังและการทุบเหมืองฝายเก่าแก่ 3 ฝายคือ ฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาล และฝายหนองผึ้ง โดยใช้ข้ออ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้แก่ชาวเมืองเชียงใหม่

-3-

ชีวิตคนกรุงที่การนิยามตัวตนกับคนรอบข้างและสังคมเป็นไป ผ่านการบริโภคสินค้า-บริการ บวกกับสภาพแวดล้อมที่ลดทอนความสัมพันธ์มิติเชิงชุมชนให้เหลือเพียงมิติเชิงปัจเจก อาจเข้าใจ เภสัชกรหญิงมาลี เถาะสุวรรณ วัย 67 ปี และ วรวิมล ชัยรัต วัย 52 ปี ได้ยากสักหน่อยว่าทำไมคุณป้ามาลีและคุณน้าวรวิมลจึงเลือกน้ำท่วมมากกว่ากำแพงคอนกรีต

คุณป้ามาลีเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด ถ้าไม่กล่าวอย่างเกินเลยนัก ดอยสุเทพและแม่น้ำปิงก็เปรียบประหนึ่งพ่อแม่บุญธรรมที่อุ้มชูและเห็นหน้ากันมาแต่เยาว์วัย น้ำท่วมเป็นเรื่องปกติของคนล้านนา ไม่เป็นไรหรอก ก็เหมือนแม่ปิงมาหาถึงชานเรือนก็ต้องต้อนรับขับสู้ตามประสาคนคุ้นเคย

"อยากจะบอกว่าเราอยู่กับน้ำ ตั้งแต่ปี 2533-2534 ย้อนไปแต่ก่อนน้ำก็ท่วมเชียงใหม่ทุกปี แต่ก่อนนี้ท่วมบ่อยเราก็เตรียมตัว แต่ปีกลายนี้เป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากมันไม่ท่วมมานานแล้ว ทีนี้ที่เราคัดค้านการสร้างพนังเพราะเราคิดว่าความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำจะหายไป การมีน้ำไหลผ่านพื้นดินมันทำให้เกิดความชุ่มชื่น มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันระหว่างน้ำและดิน แล้วพนังก็กั้นน้ำท่วมไม่ได้จริง ภาษาชาวบ้านเขาบอกว่าน้ำมันแหลม ยังไงมันก็จะหาทางไปจนได้"

คุณป้ามาลีพูดถึงถนนรนแคมที่ผุดพาดผ่านมากมายในเชียงใหม่ มันเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ

"เมื่อหลายปีมาแล้ว ก่อนที่จะมาถึงปีกลายน้ำก็ท่วมลักษณะนี้ ที่หนองหอยน้ำท่วมอยู่เดือนหนึ่งเพราะตอนนั้นเพิ่งสร้างถนนซูปเปอร์ไฮเวย์เสร็จ น้ำก็ขังไปไหนไม่ได้ เดี๋ยวนี้ยิ่งมีถนนวงแหวนรอบที่ 1 รอบที่ 2 กั้นไว้อีกมันก็ไม่ไหลกลับ นี่เราเอาแต่พัฒนา แต่ไม่ได้ศึกษาผลดี ผลเสีย แล้วเดี๋ยวนี้ทุ่งนาที่เป็นเหมือนแก้มลิงคอยรับน้ำก็ไม่มีน้ำมันก็ท่วม"

คุณน้าวรวิมลเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดเช่นกัน ผูกพันกับสายน้ำปิงมาแต่อ้อนแต่ออก เธอจึงไม่เห็นด้วยถ้าใครจะเอาคอกไปขังเธอกับแม่ปิงออกจากกัน

"ตอนแรกที่รู้ว่าจะสร้างพนัง เราตกใจ เราสงสัยว่าสร้างเพื่ออะไร บอกว่าเพื่อแก้น้ำท่วม น้ำไม่ได้มาจากน้ำปิงอย่างเดียว แต่มาจากลำเหมืองด้วย มันดันดินขึ้นมา แล้วการมาสร้างพนังคอนกรีตระยะร่วม 20 กิโลเมตรตามลำน้ำปิงตลอดเมืองเชียงใหม่ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกบ่ม่วนอกบ่ม่วนใจ ทำไมต้องเยอะอย่างนี้ วิธีการแก้ปัญหาอย่างนี้มันไม่น่าจะใช่ น่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ น้ำปิงเรามันต้องธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่ๆ เอาคอนกรีตมาสร้าง แล้วคิดจะทำก็ไม่มีใครมาบอก คิดจะทำก็ทำ แล้วเงินที่เอามาเป็นเงินของใครล่ะ มันเงินภาษีของเราไม่ใช่เหรอ นี่คือประเด็นคำถามที่หมู่ชาวบ้านจะพูดกัน"

สิ่งที่คุณป้ามาลีกับคุณน้าวรวิมลกล่าวตรงกันโดยมิได้นัดหมายคือ ทั้ง 2 คนยินยอมจะให้เกิดน้ำท่วมดีกว่าจะเอาพนัง!!

"คนแถวนี้เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร น้ำท่วมมาเราก็ป้องกันตัวเอง แล้วแต่ก่อนบ้านแถบนี้ก็เป็นบ้านใต้ถุนสูงน้ำมาก็ไม่เป็นไร แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมคนเมืองหายไป ใต้ถุนไม่มี น้ำก็เข้าเต็มที่ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเองเพราะธรรมชาติก็คือธรรมชาติ และโดยส่วนตัวแล้วจะไม่ชอบสิ่งปลูกสร้างที่ดูเป็นซีเมนต์กั้น มันฝืนธรรมชาติ ทำลายภูมิทัศน์" คุณป้ามาลีบอกกับเรา

"คนละแวกนี้ที่ถูกน้ำท่วมกันทุกหลังคาเรือน เรายอมที่จะถูกท่วมวันสองวันแล้วก็ไปดีกว่าจะอยู่ในคอกคอนกรีตยาวนานเป็นสิบๆ ปี มันเป็นด้านจิตใจเนาะ แต่น้ำท่วมในอดีตไม่เหมือนกับเดี๋ยวนี้ อดีตน้ำที่มาจะใสสะอาด น่าน้ำนองเป็นความม่วน ละอ่อนจะตื่นเต้นได้เล่นน้ำนอง เอาเรือมาพายไปตกปลา แต่เดี๋ยวนี้น้ำสกปรก เหม็น ขยะเต็มไปหมดเลย แล้วก็ขังนานเพราะถูกถนนกั้นทางน้ำไว้ ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ลักษณะบ้านเรือนมันก็ติดพื้น" คุณน้าวรวิมลบอกกับเรา

เรื่องบางเรื่องเหตุผลก็เข้าไปแตะต้องไม่ได้ คุณค่าทางจิตวิญญาณไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้จึงมักมาจากแนวคิดการพัฒนาของภาครัฐที่ละเลยมิติทางสังคมและจิตวิญญาณของเมือง

-4-

สายน้ำปิงในกระแสของความเปลี่ยนแปลง

การคัดง้าง / อำนาจ / ชาวบ้าน / แม่ปิง / น้ำท่วม / พนัง

ไม่อยากกล่าวว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะคะคาน แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้าคุยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสร้างจุดสมดุล

กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ควรได้เป็นบทเรียนการพัฒนาสำหรับจังหวัดอื่นๆ อย่าปล่อยให้เมืองเติบโตไปตามยถากรรม เด็กเกกมะเหรกมีความเป็นไปได้สูงที่จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เกเร 'เมือง' ก็คงไม่ต่างกัน

เรื่องราวยังไม่จบ เลยไม่รู้ว่านิทานเรื่องแม่น้ำปิงสอนอะไร???


* * * * * * * * * * *

"ไม่มีวิธีไหนแก้น้ำท่วมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์"

ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยืนกรานในจุดยืนของตน ผศ.ดร.ยงยุทธ สุขวนาชัยกุล อาจารยประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกกับเราว่าไม่มีวิธีไหนที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างมีได้ย่อมมีเสีย ผศ.ดร.ยงยุทธ อธิบายเชิงทฤษฎีถึงทางแก้ต่างๆ ที่มีการนำเสนอกันว่ามีผลดี-ผลเสียอย่างไร

"ต้นเหตุของน้ำท่วมคืออัตราการไหลสูงสุดของน้ำมันสูงมากจึงทำให้น้ำล้นตลิ่ง จึงต้องทำให้มันต่ำลงได้ ส่วนการทำให้อัตราการไหลของน้ำมันต่ำลง สามารถทำได้หลายวิธีแต่ต้องทำที่ต้นน้ำ ง่ายที่สุดคือการทำ Detention Pond ซึ่งก็เป็นวิธีเดียวกันกับแก้มลิง คือให้น้ำมันไหลผ่านอ่างใดสักอ่างหนึ่ง โดยที่มีน้ำปริมาณเท่ากันแต่เมื่อไหลผ่านอ่างคุณสมบัติการไหลด้านชลศาสตร์มันจะทำให้อัตราการไหลสูงสุดของน้ำลูกนี้ลดน้อยลง เมื่อน้ำไหลไปถึงท้ายน้ำความลึกจะน้อยกว่าเดิมก็จะไม่ล้นตลิ่ง"

"ส่วนเรื่องคอขวดของแม่น้ำ เราต้องดูข้อมูลทั้งหมด ถ้าระดับตลิ่งบริเวณคอขวดกับก่อนจะถึงคอขวดเท่ากัน ระดับน้ำตรงคอขวดจะต่ำกว่าบริเวณก่อนจะถึงคอขวดเนื่องจากการอนุรักษ์พลังงานเฉพาะ แล้วตรงคอขวดนี้ถ้าระดับตลิ่งเท่ากัน น้ำที่ไหลเข้าไปเกิดการส่งผ่านไม่ได้ มันก็จะเกิดสิ่งที่ภาษาวิชาการเรียกว่า Choke คือการปรับระดับความสูงของน้ำที่ต้นน้ำเพื่อเพิ่มพลังงานให้มันไหลผ่านไปให้ได้ ผลก็คือระดับน้ำที่ต้นน้ำก่อนคอขวดจะเพิ่มขึ้น แล้วจะล้นตรงนั้นก่อน ถ้าระดับผิวดินเท่ากันนะครับ แต่ทุกวันนี้เราไปโทษคอขวดเพราะน้ำไปท่วมที่คอขวดก่อน เนื่องจากระดับตลิ่งที่คอขวดต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ต้นน้ำ ถ้าไปสังเกตดูจะเห็นว่าเวลาน้ำที่ไหลเข้าไปในคอขวดระดับน้ำจะลดลง แต่ความเร็วมันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต่อให้คุณขยายลำน้ำออกไปแล้วก็ต้องดูว่าความกว้างขนาดนั้นรับน้ำได้เท่าไหร่ คือถ้าน้ำมาเกินกว่าที่จะรับได้มันก็ล้นเหมือนกัน"

"การสร้างพนังก็เหมือนกับการไปขยายหน้าตัดเพื่อเพิ่มอัตราการไหล แต่ก็สร้างปัญหาอีกเพราะถ้าน้ำไม่ล้นตลิ่งก็ไม่ได้แปลว่าน้ำจะไม่ท่วม ถ้าน้ำในพนังสูงกว่าน้ำระดับผิวดินในเมือง น้ำก็จะผุดขึ้นตามรูระบายน้ำทุกที เพราะรูระบายน้ำของคุณไหลลงแม่น้ำหมด ถึงน้ำไม่ล้นตลิ่ง แต่น้ำไปโผล่หลังบ้าน แล้วการที่จะทำพนัง เราถามคนที่อยู่ท้ายน้ำหรือยังเพราะอย่าลืมว่าเราเพื่อป้องกันตรงนี้ไม่ให้ท่วม แต่ยอดอัตราการไหลสูงสุดของน้ำไม่ได้ลดลง มันก็ไปต่อ คราวนี้ก็ไปล้นที่สารภี ที่ลำพูนล่ะครับ ถามว่าอย่างนี้มันยุติธรรมกับเขาหรือเปล่า"

"ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ต้นน้ำก็มีข้อเสีย คือคุณต้องหาพื้นที่ขนาดใหญ่ มีโครงสร้างที่จะผันน้ำเข้าไปก่อนแล้วค่อยไหลกลับออกมา ซึ่งการสร้างอาจจะไปกระทบชาวบ้านแถวนั้น ต้องเสียพื้นที่ทำกิน แต่ตรงท้ายน้ำดีตลอดซึ่งก็ต้องดูว่าจะมีการชดเชยกันยังไง"

* * * * * * * * * * * *

ระบบเตือนภัยน้ำท่วม แก้ไขไม่ทันก็ต้องเตือนกันก่อน

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำควบคู่กันไปในขณะนี้คือ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมไม่ให้สูญเสียรุนแรงเช่นเมื่อปีที่แล้ว รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่วางระบบป้องกันภัยน้ำท่วมกล่าวว่า

"ทางเราได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ทันสมัยเพื่อจะทำนายให้ได้ว่า ถ้ามีฝนตกมาบริเวณเหนือขึ้นไป วัดระดับน้ำได้เท่านี้ อีก 12 ชั่วโมงน้ำจะมาถึงเชียงใหม่ปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึง 12 ชั่วโมงเราก็จะสามารถอพยพทัน ป้องกันความเสียหายได้ทัน กั้นกระสอบทรายทัน และจะบอกด้วยว่าน้ำท่วมจะท่วมนานเท่าไหร่ โดยข้อมูลที่เราใช้จะร่วมมือกับกรมชลประทานและกรมอุตุนิยมวิทยา"

"ขณะนี้ทางกรมชลประทานก็มีระบบโทรมาตรแล้ว เป็นเครื่องมืออัตโนมัติที่ไปติดตั้งไว้ สมมติว่ามีที่วัดน้ำ 3 ตัวประจำอยู่จุดต่างๆ ถ้า 3 ตัวนี้วัดปริมาตรน้ำรวมกันเกิน 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับที่ต้องระวัง ระบบก็จะส่งเอสเอ็มเอสถึงผมทันที ผมจะเริ่มเข้าไปจัดการข้อมูลแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร แต่เราจะยังไม่เตือนภัย ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าน้ำจะท่วม อาจจะแค่บอกประชาชนให้ระมัดระวังเท่านั้น"

"อีกเรื่องคือผมจะทำให้สามารถหาตำแหน่งกระสอบทรายที่อยู่ใกล้บ้านได้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถไปเอาได้ ไม่ใช่ไปกระจุกรวมกันที่เทศบาลเหมือนครั้งที่แล้ว ต้องมีการจัดพื้นที่ให้ประชาชนเอารถไปจอดเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำและต้องมีคนเฝ้าให้เขาด้วยนะ และผมยังจะทำคู่มือการปฏิบัติสำหรับประชาชนว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วม มีแผนงานชัดเจน มีคณะกรรมการที่ดูแล สั่งการอย่างเป็นเอกภาพ แบ่งโซนการรับผิดชอบให้แต่ละฝ่ายดูแล มีชุดขับเคลื่อนเพื่อให้ความช่วยเหลือจะต้องเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว"

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ริมฝั่งปิงในสภาพธรรมชาติริมตลิ่ง
ริมฝั่งปิงกับผนังกั้นแม่น้ำบริเวณตลาดต้นลำไย
ภาพที่เห็นนี้แต่เดิมคือส่วนหนึ่งของแม่น้ำปิง
วรวิมล ชัยรัต หนึ่งในประชาชนที่คัดค้านการสร้างผนังกั้นแม่น้ำปิง
แนวที่วรวิมลขีดให้เห็นว่าเมืองรุกล้ำแม่น้ำปิงอย่างไรซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 เภสัชกรหญิงมาลี เถาะสุวรรณ ไม่เอาผนังเหมือนกัน
ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง หัวหน้าโครงการเมืองยั่งยืน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น