ความสำเร็จของเยาวชนไทยที่ไปคว้ารางวัลทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ถือเป็นเกียรติประวัติให้เด็กไทยได้เลื่องชื่อในความเก่งกาจด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในด้านศาสตร์และองค์ความรู้ของวิชาเหล่านี้ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจอย่างมากของคนไทย
แต่ในทางกลับกัน เด็กและเยาวชนไทยดันมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพื้นฐานในวิชาเหล่านั้นเพียงแค่หางอึ่ง โดยภาพรวมแล้วยังล้าหลังประเทศอื่นๆ อยู่หลายโยชน์ รวมถึงภาพรวมของประเทศไทยในด้านการพัฒนาประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ยังก้าวไปไม่ถึงไหน เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ความสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา แต่อย่าลืมว่าฐานพื้นฐานทางด้านนี้ของเด็กไทยโดยทั่วไปยังอ่อนด้อยอยู่มาก ความพยายามในการสร้าง 'ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร' ขึ้นมา เพื่อเป็นบ้านวิทยาศาสตร์ถาวร เป็นแรงบันดาลใจ เป็นที่พักพิงให้เยาวชนไทยที่มีใจมุ่งใฝ่ในด้านนี้ และคาดหวังว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะนำสังคมไทยไปสู่สังคมที่เดินหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
*ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย
สภาพของสังคมไทยในยุคปัจจุบันเป็นภาพที่สะท้อนออกมาชัดเจนว่า เป็นสังคมที่บริโภคเทคโนโลยีและความทันสมัยต่างๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างไม่บันยะบันยัง โดยไม่มีรากฐานและพื้นฐานขององค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงทำให้เกิดภาวะการขาดดุลทางการค้าอย่างมหาศาล เพราะไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นหรือต่อยอดตัวสินค้าเหล่านั้นในตลาดโลก
รวมถึงเด็กไทยที่นับวันจะไม่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และไม่คิดที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมา ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยอมรับอย่างเต็มที่ถึงเรื่องนี้
"เป็นห่วงอยู่ แต่ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้พื้นฐาน แต่ที่เป็นห่วงมากกว่าก็คือความสามารถในการคิด เพราะความรู้นั้นไปหาเอาได้ไม่ยาก แต่ความสามารถในการคิดพอพ้นจุดหนึ่งก็จะไม่ได้แล้ว คิดไม่เป็นเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราต้องการให้เด็กไทยมีความสามารถในการคิด โดยมีความเชื่อมั่นอยู่ว่า เด็กไทยก็เหมือนเด็กอื่นๆ ในโลกนี้ไม่ได้มีความด้อยกว่าเลย มีความสามารถใกล้เคียงกัน และหลายคนมีความสามารถในระดับอัจฉริยะด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ถ้าเรามีระบบไปค้นหาเขามาได้ก็จะได้เพชรเอามาเจียระไนและเป็นผลประโยชน์ต่อสังคม"
สำหรับการเรียนรู้และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยนั้นไม่ได้ล้มเหลว เพียงแต่ยังไม่ได้เริ่ม ศ.ดร.ยงยุทธบอกแบบขันๆ ว่า หนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์ไทยก็ค่อยๆ เริ่มมาทีละน้อยๆ แต่ก่อนนี้วิทยาศาสตร์เป็นความรู้เอาไว้ประดับ ซึ่งค่อนข้างไกลตัว
"ถ้าใกล้ตัวก็สอนวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปเรียนแพทย์หรือวิศวะ ไปเรียนเรื่องอื่นแต่ไม่ได้เรียนตัววิทยาศาสตร์เอง จนกระทั่งเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมีอาชีพนักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น แต่ว่ายังเป็นอาชีพที่สอนอยู่ในถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เพิ่งมาระยะใน 30 ปีหลังนี้เองที่เริ่มมีการวิจัย นักวิทยาศาสตร์สามารถทำงานสร้างสรรค์แก้ปัญหาอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจธรรมชาติหรือเอาไปใช้ประโยชน์ในสังคม ถ้าเทียบกับประเทศในยุโรปหรืออะไรที่เขาทำกันมาหลายร้อยปีมาแล้ว เขามีภูมิหลัง เพราะฉะนั้น ของเราในเมืองไทย การเรียนรู้และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มันไม่เชิงว่ามีปัญหา เพราะเรายังไม่ได้เริ่มต้น"
ซึ่งตรงกับประสบการณ์ของ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีหรือทีเอ็มซี (TMC - Technology Management Center) ที่กล่าวแบบชัดเจนเลยว่า เป็นความจริงในเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น เด็กไทยยังมีความล้าหลังอยู่
"แต่ว่าในแง่มันสมองและความเฉลียวฉลาดในส่วนนี้ไม่แพ้เด็กประเทศอื่นๆ เลย มาตรฐานของเด็กไทยอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับเด็กทั่วโลก มองในแง่ความสามารถเด็กไทยเทียบกับต่างประเทศได้ ถ้าพัฒนาเพียงไม่มากก็วิ่งไล่ตามเขาทัน"
"เด็กไทยที่ไปเรียนปริญญาโทหรือเอกในต่างประเทศก็แข่งขันกับเขาได้อยู่แล้ว เพียงแต่เวลากลับมาเมืองไทยไม่รู้ว่าเป็นอะไร ความสามารถที่เคยมีอยู่มันปล่อยออกมาไม่ค่อยได้ ในคนคนเดียวกันเวลาอยู่ต่างประเทศทำงานวิจัยออกมาได้เยอะ พอมาที่นี่ก็ทำอะไรไม่ค่อยออก คือระบบในเมืองไทยไม่เอื้อในการทำงานวิจัยเท่าไหร่"
*วิทยาศาสตร์ไทยกับอาเซียน
ในอาเซียน 10 ประเทศ ถ้ามองภาพโดยรวมของผลงานทางวิทยาศาสตร์ จำนวนนักวิทยาศาสตร์ หรือความเก่งกาจต่างๆ ประเทศไทยมาเป็นที่ 2 ศ.ดร.ยงยุทธบอกว่า เหตุที่เป็นรองสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เอาจริงกว่าเราเยอะถึงแม้ว่าคนเขาน้อย แต่จะใช้วิธีเรียนลัดคือ ซื้อนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงใหญ่ๆ มาอยู่ในสิงคโปร์มาจากอังกฤษ ยุโรป อเมริกามาชุมนุมกันที่สิงคโปร์ ส่วนเวียดนามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ดีขึ้นมาก วัฒนธรรมของเวียดนามรักเรียน มีความขยันขันแข็ง
"เพราะสิงคโปร์เงินเขาถึง ให้เงินเดือนสูง ทุนวิจัย เครื่องไม้เครื่องมือ ห้องแล็บพร้อมมูล เขาเชิญเข้ามา แล้วไม่ใช่เชิญนักวิทยาศาสตร์เฉยๆ ยังเชิญบริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทด้านยา บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ หรือบริษัทที่จะใช้ผลผลิตของนักวิทยาศาสตร์ ก็มีความเชื่อมโยงกันไปได้ ประเทศไทยของเราก็ใช่ว่าเลว ถ้าเกิดดูผลงานในการตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ เราได้ที่ 2 เหนือกว่ามาเลเซียมากมายซึ่งหลายคนค่อนข้างแปลกใจ แต่ว่ามันเป็นอย่างนี้ตลอดมา"
"ใน 10 กว่าปีที่แล้วมาดีขึ้นเยอะ ผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์มีเพิ่มขึ้นเยอะมาก ถือว่าภายใน 10 ปีนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แม้นักวิทยาศาสตร์ไม่มีเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวก็ตาม ผลงานที่เพิ่มขึ้นเพราะนักวิทยาศาสตร์เริ่มรู้ที่จะทำการวิจัยเป็น และเมืองไทยก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างไป เริ่มมีหน่วยงานที่ให้ทุนการวิจัย ก็เริ่มเห็นฝั่งเห็นเป็นรูปเป็นร่างแต่ว่าก็ยังอีกไกล อาจจะไม่ถึง 50 ปี ถ้าเราทำกันดีๆ อาจจะเห็นผลในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า การที่เราเป็นที่ 2 ในอาเซียนพอจะดีใจได้นิดหน่อย แต่ถ้าเรามองไกลไปยังไต้หวัน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียเหมือนกันเขาทิ้งเราไปไกลมากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงญี่ปุ่น หรือนับทางยุโรปหรืออเมริกา มันต่างกันเยอะ "
*ปมเหตุแห่งปัญหา
ทัศนคติและความเชื่อของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะคนทั่วไปที่มีต่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ก็คือ เรียนไปเพื่อเป็นวิชาที่ใช้สอบเข้าไปเรียนต่อในวิชาแพทย์หรือวิศวกร น้อยนักที่เรียนมาเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อมาเป็นนักวิจัย ศ.ดร.ยงยุทธซึ่งเคยผ่านในจุดนี้มาก่อนก็ยอมรับโดยดุษณี
"เพราะนักวิทยาศาสตร์กว่าจะทำงานวิจัยได้ กว่าจะหาเครื่องมือ ซื้อวัสดุต่างๆ รวบรวมมาได้ก็มีอุปสรรคเยอะมาก ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจหรือสังคมไม่เข้าใจ ทำงานกันแทบตายไม่ได้อะไรเลย การขายของหรือขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ง่ายและรวยกว่าการทำงานวิจัยเยอะเลย นักวิทยาศาสตร์บ้านเราเลยไม่ค่อยมี บ้านเราบางคนอยู่ได้สักพักประมาณ 5 ปีก็หนีไปทำอย่างอื่นแล้ว คนที่ไฟลุกอยู่ตลอดเวลาตลอดเส้นทางชีวิตนักวิทยาศาสตร์มีจำนวนน้อย ปัจจุบันก็มีมากขึ้น"
ศ.ดร.ยงยุทธพยายามชี้ให้เห็นว่า คล้ายๆ บ้านเรายังไม่มีตัวอย่างหรือแบบพิมพ์ให้เด็กรุ่นหลังได้เลียนแบบหรือเดินตาม
"ตอนนี้บ้านเราก็เริ่มต้นตื่นตัวไปบ้างแล้ว ซึ่งเราต้องการคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเรียนรู้ตลอดเวลา ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหาคนรุ่นใหม่ โดยไปเกลี้ยกล่อมชวนให้เห็นความสวยงามทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วมาทำ แต่เป็นอาชีพที่เหมาะกับคนที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งเด็กหลายๆ คนก็ชอบอยู่แล้ว เพราะคนที่เก่งและมีความสามารถเขาก็ช่างคิดช่างค้นหาซึ่งมีลักษณะของนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องกระตุ้นต่อมตรงนั้นให้เขารู้ว่า มันเป็นงานอาชีพได้ สามารถทำสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ ไปศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์แล้วยังได้เงินเดือนและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วย
"ผมเชื่อว่าเมืองไทยค่อยๆ เปลี่ยนไปในด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าต่อไปถ้าเรามีการพัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็จะมีตลาดรองรับนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยในด้านต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมาเป็นครูสอนหรือนักวิจัยของ สวทช.เพียงอย่างเดียว คาดหวังว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านนี้"
*ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรอีกหนึ่งการวางรากฐาน
การมีโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรขึ้นมา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้รับการพัฒนาตามความสนใจและความถนัด เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจฐานความรู้ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ศ.ดร.ยงยุทธชี้ว่า การเริ่มเรียนวิทยาศาสตร์ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเลย โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังไม่มีการทำอย่างจริงจังต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม
"โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร นอกจากมีการให้ทุนแล้ว ก็ให้เด็กได้เข้ามาอยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ โดยยึดหลักว่าจะไม่มีการสอบแข่งขัน ที่แล้วๆ มาการสอบทำให้เด็กเครียด คือเราไม่อยากให้มีรูปแบบอย่างนั้น ใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือคัดสรรมาแต่ละโรงเรียน ซึ่งแน่นอนอาจเลือกได้ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะถูก เพราะเราไม่เน้นเรื่องการสอบ หรือบางคนที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว เช่น เด็กโอลิมปิกวิทยาศาสตร์ คนไหนที่เข้าท่าหน่อยเราก็จะชวนมา ซึ่งมาจากหลายๆ ทาง คือมาจากหลายๆ ประตูเข้ามา ซึ่งพวกนี้เป็นเด็กโครงการระยะยาว เราจะให้ทุนไปจนกว่าจะเรียนจบไม่ว่าเรียนถึงขั้นไหน นี่เป็นตัวหลักสำคัญของโครงการ"
สำหรับค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรจะแบ่งเด็กออกเป็น 3 ส่วนคือ 1) เด็กที่มีอัจฉริยภาพ 2) เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และ 3) เด็กทั่วไปที่มีความสนใจ
"ไม่ใช่รับเฉพาะเด็กที่อัจฉริยะหรือเด็กที่เก่งมากๆ เราก็เลยทำเหมือนกับเป็นวงกลม 3 วง คือ เด็กที่เก่งเป็นพิเศษหรือเด็กอัจฉริยะที่เราเลือกไว้อยู่ในโครงการระยะยาวเป็นเด็กวงใน ซึ่งมีการดูแลกันในระยะยาว แล้วก็จะมีเด็กวงกลางที่มาอยู่ 6 เดือนบ้างเพื่อสังเกตการณ์พวกเขา เรียกว่าเด็กกลุ่มนี้ก็มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ที่มากเป็นพิเศษ และวงนอกสุดก็เป็นเด็กทั่วๆ ไปที่สนใจวิทยาศาสตร์จะได้มาเข้าค่ายแบบสั้นๆ 3-7 วันก็แล้วแต่ ตอนนี้ก็มีค่ายแบบนี้อยู่เป็นประจำทุกเดือนตลอดทั้งปี"
ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีหรือทีเอ็มซี (TMC - Technology Management Center) มองว่า เด็กที่อัจฉริยะหรือเด็กมีความสามารถพิเศษทั้งประเทศมีเยอะมาก เพราะตัวเลขเด็กอัจฉริยะจะมีอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรซึ่งถือว่าเมืองไทยก็มีเยอะประมาณแสนถึงสองแสนคน
"แต่เราได้เด็กเหล่านี้มาเข้าโปรแกรมนั้นยังน้อยอยู่ เราให้ทุนเด็กอัจฉริยะปีละประมาณ 10 ทุนเท่านั้นเอง ส่วนเด็กความสามารถพิเศษก็ได้มากรองลงมา นอกจากนี้เราก็ยังทำค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กทั่วไป ซึ่งมีเพิ่มขึ้นมากในแง่ของค่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเจาะเข้าไปในกลุ่มเด็กที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ ให้เขามาทดลองเพื่อจะได้สนใจวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น
การคลุกคลีกับการทำค่ายวิทยาศาสตร์ให้เด็กระดับทั่วไปเข้ามาสัมผัส ดร.สวัสดิ์บอกว่า ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรจะแตกต่างกับค่ายวิทยาศาสตร์ที่อื่นๆ
"เราจะพยายามบุกเบิกทำเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนใครเพื่อนำร่อง พอมีค่ายวิทยาศาสตร์ข้างนอกทำตาม เราก็จะหยุดเพื่อขึ้นไปทำเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เห็นง่ายๆ ก็เรื่องค่ายจรวด เราก็เปลี่ยนมาเป็นค่ายอวกาศทำจรวดเชื้อเพลิงแข็ง โดยร่วมมือกับกองทัพอากาศ กองทัพเรือ ค่ายวิทยาศาสตร์ของเราสามารถรองรับเรื่องที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องมีการดูความพร้อมของเด็กในการขยับมาตรฐานให้สูงขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ขยายให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในความสนใจระดับเด็กเราต้องทำให้เขาสนใจในหลายๆ แบบ ดึงส่วนนั้นมา โดยทำกับผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นของเมืองไทย"
ดร.สวัสดิ์ย้ำด้วยความภูมิใจ ว่า ตอนนี้ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เด็กที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มตามขึ้นไปด้วย เป้าหมายของที่วางไว้ก็คือใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการจัดทุกสัปดาห์และมีศักยภาพกว่าค่ายวิทยาศาสตร์ทั่วไปตามโรงเรียนต่างๆ นอกเหนือจากนั้นค่ายวิทยาศาสตร์ที่เราจัดแล้ว โรงเรียนไหนสนใจเราก็มอบให้ไปจัดต่อได้
"ช่วงนี้เป็นการบุกเบิกใช้เวลาในการคิดไอเดียในการสร้างค่ายวิทยาศาสตร์ให้อยู่ในแค็ตตาล็อกของเรา เพื่อจะนำเสนอค่ายวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายได้อนาคต อยากให้เด็กๆ มาสนใจทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะอนาคตของประเทศอยู่ที่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์คือการคิดแบบมีเหตุมีผลซึ่งค่อนข้างตรงกับศาสนาพุทธ ไม่ห่างกันเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าประเทศไทยคงเจริญมากกว่านี้ ในแง่ของค่ายวิทยาศาสตร์ก็พยายามทำให้ดีที่สุด และพยายามพัฒนาค่ายแบบใหม่ขึ้นมา ถ้าเด็กๆ หรือโรงเรียนมีความคิดเห็นอยากให้จัดค่ายวิทยาศาสตร์แบบไหนก็เสนอเข้ามาได้ ทาง สวทช.ก็จะพยายามทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้เด็กๆ ได้ประโยชน์ มีความก้าวหน้า และมีความสุขในการมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์"
ขณะนี้ระดับความสามารถในการแข่งขันในโลกนี้ ประเทศไทยอยู่ในระดับ 30-40 ซึ่งยังอยู่ในหมู่ของประเทศที่ยังต้องพึ่งเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ แต่ยังไม่สามารถนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศเหมือนกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องค่อยๆ เปลี่ยนไปเมืองไทยก็จะพลิกโฉมได้ ศ.ดร.ยงยุทธบอกว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 30 ปี
ซึ่งผมก็ท้อเหมือนกันเพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้วผมก็พูดอย่างนี้ ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นต้องการการทะนุบำรุงต้องค่อยๆ ปลูกวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เหมือนการปลูกต้นไม้ที่ต้องมีราก ต้น กิ่ง ใบ จึงจะมีผล แต่สังคมไทยจะเอาแต่ผลอย่างเดียวเลย มันไม่ได้ต้องค่อยๆ ร่วมมือกันปลูกขึ้นมา คนที่ทำวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็ต้องทำการปลูกรากสร้างต้นขึ้นมา ถ้าให้เวลานานเพียงพอมันจะไปได้ดีก็จะมีผลออกมา ต้องเข้าใจตรงนี้"
และยังไม่สายเกินไปที่จะปลูกต้นวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีให้เติบโตงอกดอกผลในสังคมไทย
* * * * * * * * * * * *
ค่ายวิทยาศาสตร์ปี 2548-2549
- ค่ายวิทยาศาสตร์การบิน อิสระแห่งท้องฟ้า
- ค่ายตะลุยโลกวิทยาศาสตร์กับ 4 เทคโนโลยี เรียนรู้เทคโนโลยีสำคัญของประเทศ
- ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ สร้างสรรค์จรวดจำลองด้วยตนเอง
- ค่ายนักสืบนิติวิทยาศาสตร์ คลี่คลายคดีกับนักสืบตัวน้อย
- ค่ายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สร้างสรรค์หุ่นยนต์ด้วยตัวเอง
- ค่ายนักวิทยาศาสตร์ตาบอดรุ่นเยาว์ เปิดโลกวิทยาศาสตร์กับเด็กและเยาวชนตาบอด
- ค่ายนาโนโซลาร์เซลล์ สร้างเซลล์แสงอาทิตย์จากพืช
- ค่ายนักประดิษฐ์ไม้หัวใจสร้างสรรค์ เรียนรู้ระบบอัตโนมัติพร้อมสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์
- ค่ายวิทยาศาสตร์กับอาหาร เรียนรู้เทคโนโลยีอาหารทดลองทำอาหารสูตรอร่อย
- ค่ายอิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้โลกอิเล็กทรอนิกส์
- ค่ายพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างสรรค์, ออกแบบ และประดิษฐ์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยตนเอง
- ค่ายเรียนรู้ธรรมชาติ ทัศนศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา หัวใจของชีววิทยา
- ค่ายเรียนรู้วัสดุรอบตัว ฝึกปฏิบัติการและเรียนรู้เรื่องวัสดุศาสตร์
- ค่ายวิทยาศาสตร์กับโบราณคดี ค้นหาความลับของฟอสซิลต่างๆ
- ค่ายดาราศาสตร์ เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุและปรากฏการณ์บนท้องฟ้า
* * * * * * * * * * * *
เรื่อง - พรเทพ เฮง