หิ่งห้อย แมลงตัวเล็กๆ ที่ดูมหัศจรรย์ตรงที่สามารถจุดไฟในตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง ซึ่งความมหัศจรรย์นี้เกิดขึ้นจากการที่มันหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป และเมื่อออกซิเจนสัมผัสกับสารลูซิเฟอรินในส่วนปลายของลำตัวหิ่งห้อย ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ทำให้เกิดพลังงานในรูปของแสงสว่างเล็กๆ กะพริบวับๆ แวมๆ อย่างที่เราเห็นกัน
สำหรับเมืองไทยนั้น หิ่งห้อยมีชื่อเรียกขานอยู่หลากหลายด้วยกัน เช่น ในบางพื้นที่ก็เรียกว่าแมงแสง บางที่เรียกแมงคาเรือง บางที่เรียกแมงทิ้งถ่วง ซึ่งหากหิ่งห้อยลอยอยู่สูงเกินเอื้อม มีคนบอกให้พูดซ้ำๆ ว่า "ทิ้งถ่วงตกหนักๆๆๆ" ไปเรื่อยๆ แล้วเจ้าแมลงเรืองแสงนั้นก็จะบินต่ำลงๆ จนสามารถจับได้
ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าหิ่งห้อยจะมีปริมาณลดลงกว่าก่อนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ยามราตรีหิ่งห้อยจึงเปรียบเสมือนดวงไฟมหัศจรรย์ที่หลายๆคนถวิลหา ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดกระแสของการเที่ยวชมหิ่งห้อยยามราตรีขึ้นมาตามพื้นที่ที่มีหิ่งห้อยเป็นจำนวนมาก
นับได้ว่าหิ่งห้อยไม่เพียงมีดีที่ความเรืองแสงจนดูน่ามหัศจรรย์เท่านั้น แต่หิ่งห้อยยังถือเป็นจุดขายชั้นดีทางการท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันนี้อีกด้วย โดยกิจกรรมการล่องเรือชมหิ่งห้อยนั้น ถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมในจังหวัดแถบสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และจังหวัดที่มีลักษณะเป็นป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ โดยหลังจากที่ธุรกิจโฮมสเตย์ได้เริ่มเกิดขึ้นในจังหวัดแถบนี้ ทางเจ้าของบ้านก็ได้มีการหากิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ทำกัน ซึ่งการได้เห็นหิ่งห้อยเป็นร้อยๆ ตัวตามริมคลองส่องแสงกะพริบพร้อมๆ กันนั้นอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาของชาวบ้านแถบนี้ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นแล้ว นี่อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เลยก็ว่าได้
กำนันธวัช บุญพัด ผู้บุกเบิกธุรกิจโฮมสเตย์ที่ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามเล่าถึงหิ่งห้อยที่พบในบริเวณนี้ให้ฟังว่า ในแถบสมุทรสงครามนี้จะมีหิ่งห้อยอยู่ 2 พันธุ์ด้วยกันคือ พันธุ์น้ำจืดกับพันธุ์น้ำกร่อย เพราะที่นี่จะเป็นเมืองสามน้ำจึงมีหิ่งห้อยทั้ง 2 พันธุ์ หิ่งห้อยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่ต้นลำพู เพราะต้นลำพูจะมีใบที่โปร่งและง่ายต่อการยึดเกาะ โดยผู้ที่ต้องการมาชมหิ่งห้อยนั้นก็สามารถชมได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่จะมีแมลงเรืองแสงเหล่านี้เยอะก็จะเป็นช่วงปลายหน้าฝน คือเดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะหิ่งห้อยจะชอบความชื้น
จนต่อมาธุรกิจโฮมสเตย์และรีสอร์ตต่างๆ ก็เฟื่องฟูมากขึ้น กิจกรรมการนั่งเรือพาชมหิ่งห้อยนั้นเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาชมความสวยงามของหิ่งห้อยที่ส่องแสงพร้อมกันหลายร้อยตัวจนทำให้ดูเหมือนราวกับต้นไม้เหล่านั้นประดับด้วยไฟคริสต์มาส และนั่นก็ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างเกิดขึ้นตามมา
"ช่วงหลังก็มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง เพราะว่ามีรีสอร์ต โฮมสเตย์เกิดขึ้นมากมาย นักท่องเที่ยวมากขึ้นเรือก็จะวิ่งค่อนข้างเยอะ ซึ่งเรือบางลำก็แข่งกันทำเวลา บางลำก็เข้าไปใกล้ต้นลำพูมากเกินไป ซึ่งไอของน้ำมันก็จะเข้าไปรบกวนหิ่งห้อย รวมทั้งบางลำใช้มือเขย่าต้นไม้ บางลำก็จะเอาสปอตไลต์ไปส่องที่ต้นลำพูนานๆ ทำให้หิ่งห้อยร้อนก็จะเป็นการไปรบกวนเขาอีกทางหนึ่ง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หิ่งห้อยค่อยๆ ทยอยหนีกันไป ซึ่งจริงๆ แล้ววงจรของหิ่งห้อยก็จะเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เข้าไปรบกวนก็คือ การที่นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้จนเกินไปหรือเข้าไปจับตัวเขามา" กำนันธวัช เล่า
สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นปัญหาระหว่าง "คนกับหิ่งห้อย" ซึ่งปัญหาที่เกิดไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระหว่าง "คนกับคน" อีกด้วย
วันวิสา โรจน์แสงรัตน์ ผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองผีหลอก ในอำเภออัมพวา ซึ่งเป็นจุดชมหิ่งห้อยที่สวยงามจุดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของคุณยาย ตัวเองก็จะมาพักบ้างในวันหยุด เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างธรรมดา พอถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่มก็จะไม่มีใครเดินทางไปไหนแล้ว ในคลองก็จะเงียบมาก แต่หลังจากที่นักท่องเที่ยวมากันเยอะมากขึ้นๆ ก็เริ่มก่อความรำคาญให้กับชาวบ้านแถบนั้น
"บ้านที่เราอยู่จะห่างจากจุดดูหิ่งห้อยไปประมาณ 500 เมตร อยู่ตรงช่วงโค้งน้ำพอดี เพราะฉะนั้นเวลาเรือผ่านมาก็จะต้องชะลอตรงจุดนี้ พอได้เวลาประมาณหกโมงถึงสองทุ่ม ก็จะเริ่มมีเรือผ่านมาตลอด วุ่นวายกว่าเดิมเยอะ และที่ที่เรานั่งกินข้าวกันก็จะอยู่ตรงริมน้ำหน้าบ้านพอดี เวลามีเรือนักท่องเที่ยวผ่านมาทุกคนก็จะมอง มองเหมือนกับมองดูตู้ปลา จนบางครั้งพวกเราต้องปิดไฟคุยกัน ขนาดว่าเป็นแค่ทางผ่าน ยังไม่ใช่จุดที่ดูหิ่งห้อยจริงๆ ก็ได้รับความรำคาญตรงนี้" วันวิสากล่าว
ฟังดูก็อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่บางเรื่องก็ดูเหมือนจะมากเกินไป อย่างที่วันวิสาเล่าให้ฟังอีกว่า ได้ฟังจากบ้านที่อยู่ตรงจุดชมหิ่งห้อยว่า พอนักท่องเที่ยวมาดูหิ่งห้อยแล้วก็บอกว่าอยากให้ปิดไฟในบ้านหน่อย เพราะมองหิ่งห้อยไม่เห็น ทั้งๆ ที่ตรงนี้ก็เป็นบ้านของเขา แต่นักท่องเที่ยวเป็นคนขอมาดูเอง บางบ้านรำคาญจนถึงกับตัดต้นลำพูหน้าบ้านทิ้งก็มี
เช่นเดียวกับที่กำนันธวัชเล่าว่า มีเรือจากต่างถิ่นพานักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ แล้วก็ไม่ค่อยรู้กติกา ซึ่งมันไม่ใช่แค่เป็นการรบกวนหิ่งห้อยเท่านั้น แต่บางครั้งเสียงมันดังรบกวนไปถึงชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น แถมเรือบางลำยังไม่ค่อยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเท่าไรนักด้วย
จริงๆ แล้วชาวอัมพวาไม่ได้รังเกียจนักท่องเที่ยวที่มาชมหิ่งห้อย การมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมย่อมสร้างความภูมิใจให้กับคนในจังหวัด แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ควรรบกวนกันมากจนเกินไปนัก
"อยากฝากถึงการมาชมหิ่งห้อยว่า ผู้ประกอบการควรจะเตือนหรือกำชับนักท่องเที่ยวก่อนให้ระมัดระวังการใช้เสียง เพราะบางครั้งเมื่ออยู่กลางแม่น้ำเวลาพูดอะไรเสียงมันก็จะดังก้องไปหมด และอยากให้ดูแลในเรื่องของการทิ้งขยะลงในคลองด้วย เพราะในระยะยาวก็น่าจะส่งผลถึงจำนวนหิ่งห้อย และอีกอย่างหนึ่งก็คืออยากฝากให้เรือแต่ละลำลดความเร็วลงหน่อย ถ้าไม่อยากให้ตลิ่งพังเร็วไปกว่านี้" วันวิสา กล่าวทิ้งท้าย
***********************
เรื่อง - นฤมล ไชยขันธ์