เบื้องหลังการเจรจาติดต่อประสานงานระหว่างองค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานต่างๆ หลายครั้งต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญทางภาษาอย่างอาชีพ 'ล่าม' ผู้ที่ทำหน้าที่ประหนึ่งสะพานเชื่อมทางภาษาแก่ทั้งสองฝ่าย ผลสำเร็จของงานที่ได้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำหน้าที่ถอดความและสื่อความหมายอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
ยิ่งปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศต่างๆ ในโลกที่ไร้พรมแดนมีมากขึ้น ความต้องการล่ามในภาษาต่างๆ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทั้งหมด อาชีพล่ามจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจในยุคนี้ ด้วยค่าตอบแทนค่อนข้างสูง แต่ทว่าอาชีพนี้ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ เพราะนอกจากจะต้องมีพรสวรรค์และความสามารถทางภาษาแล้ว ความอดทนและปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาคือคุณสมบัติที่ล่ามมืออาชีพจำเป็นต้องมี
กว่าจะมาเป็นล่าม
แม้ในปัจจุบัน จะมีหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับล่ามและการแปลมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ทำอาชีพล่ามมักจะจบการศึกษามาทางด้านอักษรศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ทว่า บางครั้งโอกาสและความถนัดในบางสาขาก็หักเหชีวิตของใครหลายคนเข้ามาสู่เส้นทางการทำงานเป็นล่าม เช่นเดียวกับ อนันต์โรจน์ ทังสุพานิช บัณฑิตสถาปัตย์จากรั้วศิลปากร ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นล่ามกว่า 25 ปี
หลังจากเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมด้านศิลปอารยธรรมที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีวิชาสอนเกี่ยวกับการแปลด้วย เมื่อกลับมาเมืองไทย อนันต์โรจน์ก็ได้ประเดิมงานแรกหลังจากได้รับการติดต่อจากสถานทูตฝรั่งเศส ให้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่ทำสิ่งของและพาสปอร์ตหาย ซึ่งต้องมีการติดต่อแจ้งความและในเวลานั้นเจ้าหน้าที่รัฐของไทยก็สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ อีกทั้งคนฝรั่งเศสเองก็ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จึงจำเป็นที่ต้องมีล่ามคอยประสานงานให้ทุกอย่างดำเนินการไปโดยลุล่วง ในตอนนั้นสถานทูตมีงบประมาณสำหรับล่ามทำงานครึ่งวัน 500 บาท ซึ่งอนันต์โรจน์บอกว่าเป็นเรทเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ส่วนในปัจจุบัน การทำงานล่ามของเขาจะมีรายได้ครั้งละ 5,000 บาทสำหรับการทำงานในต่างประเทศ และ 2,500-3,000 บาทสำหรับหนึ่งวันในประเทศ หรือขึ้นอยู่กับจะเรียกจากลูกค้าเป็นจำนวนเท่าใด
แต่ด้วยความเป็นงานฟรีแลนซ์ ทำให้รายได้การทำงานล่ามของอนันต์โรจน์ไม่ค่อยสม่ำเสมอ งานหลักของเขาคือการทำงานแปลหนังสือแก่สำนักพิมพ์ และนำทัวร์ท่องเที่ยวที่หลายคนมักจะสับสนระหว่างอาชีพล่ามกับไกด์หรือมัคคุเทศน์ หากด้วยประสบการณ์และความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม ทำให้อนันต์โรจน์สามารถรับงานได้หลากหลาย แต่ในบางครั้งที่เป็นความรู้เฉพาะทางจริงๆ เขาก็จะใช้วิธีสอบถามนิยามของศัพท์เทคนิคนั้นๆ เพื่อสามารถแปลออกมาให้ใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงที่สุด
"การแปลหนังสือช่วยได้มากในเรื่องของการเป็นล่าม เพราะจริงๆ ไม่สามารถจะมีใครแปลได้ตรงตัว เพราะแต่ละภาษาก็จะมีสำนวนที่ไม่เหมือนกัน พอเรามีประสบการณ์ด้านการแปลมากเราก็รู้ว่าหัวใจจริงๆ มันคือการถอดความ ในการทำงานแปลมันโชคดีกว่าตรงที่เรามีเวลามากพอ สมมติมีศัพท์เทคนิคบางคำเราได้ใช้ดิกชันนารี แต่การเป็นล่ามไม่มีโอกาสใช้ดิกชันนารีเลย ต้องแปลสดเดี๋ยวนั้น คือจะต้องมีความรู้ในเชิงทั้งสำนวน ไวยากรณ์ และศัพท์"
นอกจากจะเป็นล่ามอิสระให้กับสถานทูตฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่งแล้ว อนันต์โรจน์ยังรับงานเป็นล่ามธุรกิจให้กับบริษัทเหล้าของฝรั่งเศสที่เดินทางมาดูตลาดในเมืองไทย รวมถึงพาคนไทยเดินทางไปดูงานยังต่างประเทศทั้งที่ใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทว่าหลายครั้งล่ามมืออาชีพอย่างเขาก็ไม่วายถูกลองวิชาจากผู้ว่าจ้าง เช่น เมื่อครั้งเขาพาหน่วยงานด้านประกันสังคมของไทยไปดูงานที่ประเทศตุรกี และแปลให้ลูกค้าฟังว่าคนตุรกีจะเกษียณเมื่ออายุ 45 ปี ก็ถูกทักท้วงว่าเขาแปลผิด เพราะหลายครั้งผู้ว่าจ้างชาวไทยมักจะใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสิน ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ล่ามที่เป็นคนกลางอย่างเขาลำบากใจเหมือนกัน
"กับชาวต่างชาติจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่บางครั้งลูกค้าคนไทยด้วยกันเองก็ทำให้เราอึดอัดใจในลักษณะการต้องการอยากจะรู้ข้อมูลที่อีกฝ่ายไม่อยากจะเปิดเผย ไปล้ำเส้นของคำว่ามารยาท ซึ่งเราก็ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาถ้าเจอกรณีอย่างนี้"
แต่ใช่ว่าการทำงานจะมีแต่ปัญหาเสมอไป เรื่องดีๆ ที่อนันต์โรจน์ประทับใจจากการทำหน้าที่ล่ามก็มี เช่น เมื่อครั้งหนึ่งเขาเป็นล่ามพาคนฝรั่งเศสไปรับเด็กกำพร้าชาวไทยไปเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งอนันต์โรจน์บอกว่างานนี้นอกจากจะใช้ความรู้ทางภาษาแล้ว 'สามัญสำนึกของมนุษยธรรม' คือสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำหน้าที่ล่ามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะต้องพิจารณาดูด้วยว่าชาวต่างชาติผู้นั้นตั้งใจจริงเพื่อรับเด็กไปเลี้ยงเป็นลูกจริงหรือไม่ และเด็กอยากจะไปอยู่กับว่าที่พ่อแม่บุญธรรมหรือเปล่า จึงไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่แปลแล้วถ่ายทอดคำพูดออกไปเท่านั้น
คุณสมบัติของล่ามมืออาชีพ
อนันต์โรจน์ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานด้านการแปลและล่าม โดยเฉพาะล่ามภาษาฝรั่งเศสว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ถึงแม้ล่ามภาษาฝรั่งเศสจะค่อนข้างมีน้อย เพราะไวยากรณ์ฝรั่งเศสนั้นยากมาก และเป็นภาษาชั้นสูงเหมือนภาษาวรรณคดีของไทย คนที่มีความรู้ภาษาฝรั่งเศสอย่างแตกฉานจึงมีไม่มากนัก แต่กระนั้น ก็ไม่ควรละเลยให้ความสำคัญกับภาษาไทย เพราะแม้จะเก่งภาษาต่างประเทศเพียงใด แต่ไม่แตกฉานภาษาไทยก็ไม่สามารถแปลความหมายออกมาได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ผู้พูดต้องการจะสื่อได้
ด้านรสวรรณ แสงประเสริฐ บัณฑิตอักษรศาสตร์จากรั้วจามจุรี ที่ปัจจุบันทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยบอกว่า คุณสมบัติที่คนทำงานล่ามควรจะมี ประการแรกคือ ต้องมีทักษะในการสรุปใจความของเนื้อหา รวมทั้งมีทักษะในการฟังที่ดี อีกทั้งสามารถเรียบเรียงคำพูดออกมาได้ดี ที่สำคัญคือ ต้องรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการทำงานของรสวรรณนั้นเป็นบริษัทเขียนแบบ ซึ่งต้องอ่านแบบเป็น มีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างตึกและสถาปัตยกรรม ขณะที่เธอเรียนจบมาทางด้านอักษรศาสตร์ จึงต้องใส่ใจเรียนรู้อยู่เสมอ
"เวลาประชุมเราจะเป็นคนกลางในการสื่อสาร ในการรับงาน การตรวจแบบให้คนไทย และอธิบายให้วิศวกรชาวญี่ปุ่นเข้าใจ แต่ไม่ใช่ว่าล่ามจะรู้ทั้งหมด เวลาทำงานเราจะทราบเนื้อหาคร่าวๆ ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ที่สำคัญคือ เราต้องพยายามรักษาเนื้อหาของผู้พูด แต่ในบางครั้งถ้าแปลตามคำพูดตรงๆ อาจจะแรงไป เราก็ต้องรู้จักแปลง พิจารณาดูว่าควรจะใช้คำไหนที่เหมาะสมกว่าแต่ใจความคงเดิม"
สุดท้าย รสวรรณบอกว่าแม้อาชีพล่ามภาษาญี่ปุ่นของเธอจะนับได้ว่า เป็นอาชีพที่รายได้ค่อนข้างดีมาก คือ รายได้เริ่มต้นสำหรับคนจบปริญญาตรีเอกภาษาญี่ปุ่น และสอบผ่านการวัดความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นในระดับ 2 (มีทั้งหมด 4 ระดับ) อย่างเธอจะได้รับงานเดือนประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทขึ้นไป แต่รสวรรณคิดว่าเป็นงานที่เหมาะจะทำเป็นอาชีพอิสระเสริม หรือฟรีแลนซ์มากกว่า เพราะความก้าวหน้าในสายอาชีพมีน้อย ถึงแม้ผลตอบแทนจะดีมากก็ตาม
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของสัจจา แตมสำราญ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท TIS Printing (www.tisprinting.com) บริษัทที่จัดหาล่ามให้แก่องค์กรธุรกิจ หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการรับรองชาวต่างชาติ อีกทั้งมีบริการจัดส่งล่ามภาษาต่างๆ ในประเทศแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา สำหรับนักธุรกิจที่ต้องการเดินทางไปติดต่อเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินและที่พักให้กับล่ามที่ต้องเดินทางไปด้วย เพราะบริษัทมีสาขาอยู่หลากหลายประเทศทั่วโลก ส่วนมากจึงมักเป็นล่ามอิสระที่ไปเรียนหรือทำงานอยู่ประเทศนั้นๆ นั่นเอง
สัจจาบอกว่า บริษัทของเขาไม่เน้นล่ามท่องเที่ยว แต่จะเป็นล่ามธุรกิจเป็นหลัก ลูกค้าส่วนใหญ่ 95% คือองค์กรเอกชน ส่วนภาครัฐมีจำนวนน้อยเพราะมักจะใช้บุคลากรของตนเอง ขณะที่ปัจจุบันนี้ตลาดมีความต้องการล่ามภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษสูงมาก โดยเฉพาะล่ามภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการสูงตลอดเวลา จึงเกิดการแย่งตัวคนทำงานด้านนี้กันมาก ถึงขั้นที่ว่าหากบริษัทไหนให้เงินเดือนต่ำจะต้องสูญเสียบุคลากรแน่นอน
ขณะที่ภาษาอื่นๆ อย่างภาษาเกาหลีกับจีนนั้นก็มาแรงเช่นกัน แต่ภาษาจีนคนอาจจะพูดได้ค่อนข้างมากกว่า ส่วนภาษาอังกฤษนั้นแทบไม่มีการรับคนเพิ่มเลย ปัจจุบัน 98% ของล่ามที่ต้องการคือล่ามภาษาญี่ปุ่น ซึ่งสัจจารับรองว่าจบมาไม่ตกงานแน่นอน และผลตอบแทนดีมาก ซึ่งรายได้ของของอาชีพล่ามนั้นจะขึ้นอยู่กับภาษาและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
นอกจากล่ามธุรกิจแล้ว บริษัท TIS Printing ยังมีทีมงานล่ามที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในศาล ซึ่งจำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่ได้รับการรับรองและสอบผ่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านล่ามและการแปลเอกสารของกระทรวงยุติธรรม เพื่อช่วยดำเนินคดีในชั้นศาลแก่ผู้ถูกดำเนินคดีชาวต่างชาติในระบบยุติธรรมของไทย
พอทราบเส้นทางสู่การเป็นล่ามมืออาชีพจากผู้มีประสบการณ์ในวงการแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นล่ามนั้นจะเริ่มสร้างโอกาสให้ตนเอง ลงมือทำความฝันให้เป็นจริงแล้วหรือยัง
*************
เรื่อง; รัชตวดี จิตดี