xs
xsm
sm
md
lg

ยา : เล่ห์เหลี่ยมและความเชื่อในเม็ดกลมๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยาสารพัดหน้าตา
ยา หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ยา ช่วยขจัดปัดเป่าความเจ็บไข้ได้ป่วยที่มาเยี่ยมเยือนโดยมิได้รับเชิญ ดังนั้น ยาจึงถูกจัดให้เป็น ‘สินค้าคุณธรรม’ ชนิดหนึ่ง คือนอกจากจะค้าขายทำกำไรให้แก่ธุรกิจ (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดบาป) ส่วนผสมที่จำต้องมีอีกประการก็คือมนุษยธรรม

แต่โลกของการแข่งขันเสรีเช่นนี้ ในสายตาของนักธุรกิจส่วนผสมอย่างหลังอาจเป็นเพียงต้นทุนที่เปล่าเปลือง


เมื่อไม่นานมานี้มีการเปิดตัวหนังสือเล่มโต-โตทั้งในแง่ขนาดและเนื้อหา ‘กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ’ เป็นหนังสือที่เปิดโปงเรื่องราวลึกลับซับซ้อน เส้นสนกลในของธุรกิจยาข้ามชาติที่สามารถสร้างกำไรต่อปีเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทั้งที่ต้นทุนต่อยาหนึ่งเม็ดอาจต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ

ถ้าใครอยากรับรู้คงต้องไปหาอ่านกันเอาเอง...

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยกันในวันนั้น คือการพูดถึงสถานการณ์การใช้ยาในประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีความบิดเบี้ยวอันใหญ่โตดำรงอยู่มาช้านานและไร้การเหลียวแลมานานช้า เมื่อลงลึกไปอีกสักน้อยก็จะพบเห็นความเป็นจริงที่กว้างไกลว่า เรื่องยาในสังคมไทยหาได้จำกัดแค่สารเคมีเม็ดกลมๆ ใส่ปาก น้ำตาม แล้วทุกอย่างก็จบ

หากปัญหานี้ยังเชื่อมโยงไปสู่ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทัศนคติ ความเชื่อ การศึกษา

ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ‘ปริทรรศน์’ ชักชวนไปสำรวจความบิดเบี้ยวบางประการที่เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กจากจำนวนตัวต่อปริมาณที่มีอยู่เกี่ยวกับปัญหายาในสังคมไทย ...ขอย้ำว่านี่เป็นปัญหาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

-1-

ประมาณการกันเงินที่เราใช้อยู่ในระบบสุขภาพ ณ ขณะนี้ตกที่ 2 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เฉพาะมูลค่ายาเพียงอย่างเดียวก็เป็นเงินถึง 6-8 หมื่นล้านบาท ถ้าดูตัวเลขแค่นี้โดยไม่ตรวจรายละเอียดที่ซุกซ่อนก็คงไม่เห็นสิ่งผิดปกติ

รายละเอียดที่ซุกซ่อนก็คือ กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงิน 6-8 หมื่นล้านบาท กลับเป็นเงินที่ต้องจ่ายไปสำหรับยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่เหลืออีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นยาที่ผลิตได้เองในเมืองไทย แต่เมื่อพูดถึงปริมาณยา กลับเป็นยาที่เราผลิตเองถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นยานำเข้า

แปลความแบบบ้านๆ ได้ว่า ยานำเข้ามีราคาแพงทารุณจิตใจมาก

เภสัชกรคทา บัณฑิตานุกูล โฆษกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า “ทำไมราคายานอกจึงแพง ข้อที่หนึ่งคือระบบการควบคุมราคายาในประเทศไทยไม่มีเลย ตอนนี้คนที่ดูแลเรื่องราคายาคือ กระทรวงพานิชย์ (???) แต่คนที่รู้เรื่องยาดีที่สุดคือสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้น เวลามีคนไปโวยวายกับ อย.ว่าทำไมยาแพง อย.ก็จะบอกว่าเป็นเรื่องการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่า ใช่ เป็นหน้าที่ แต่ว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้รู้เรื่องยา

“สรุปแล้วคือเรายังไม่มีกลไกการดูแลราคายาในประเทศ เราใช้กฎหมายตัวเดียวที่ระบุว่ายาเป็นสินค้าควบคุม เพราะฉะนั้นใครจะขึ้นราคายาต้องไปขออนุญาต แต่เมื่อไปขออนุญาตแล้วถามว่ากระทรวงพาณิชย์ใช้กลไกอะไรไปควบคุม ไม่มี จึงเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ยอมอยู่เรื่อย”

ยานอกแพง ยาไทยถูกกว่า ทั้งที่เมื่อเทียบเคียงคุณภาพกันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมายเหมือนราคา

พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ระบุว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชฯสามารถผลิตยาได้ประมาณ 300 ชนิด ครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้ของคนภายในประเทศ และมีรายได้ต่อปีอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท

“แต่ถ้าเทียบกับมูลค่าตลาดยาทั้งประเทศถือว่าน้อย แค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นของโรงงานผลิตภายในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัทยาข้ามชาติ เนื่องจากยาตัวใหม่มีราคาแพง แต่ที่แพงก็ต้องดูว่ามันแพงเกินเหตุหรือเปล่า ยาบางตัวขายอยู่เจ้าเดียว จะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ สมเหตุสมผลหรือเปล่าเราไม่รู้”

ยานอกแพง แต่ก็มีคนใช้ ทั้งยินดีใช้ ยินยอมใช้ และจำยอมใช้

ใช่, เรื่องนี้มีที่มาที่ไป

-2-

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหยูกยาที่สุด คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากแพทย์

กลไกการใช้ยาโดยเฉพาะยาใหม่ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจซื้อยาใหม่ๆ พวกนี้ ก็ ‘แพทย์’ นั่นแหละ แล้วทำไมแพทย์ถึงจะต้องใช้ยาใหม่ๆ ราคาแพงๆ ด้วย เรื่องนี้มีสาเหตุอีกเหมือนกัน

เริ่มจากเมื่อบริษัทยาออกยาใหม่ๆ บริษัทย่อมรู้ดีว่าผู้ที่จะทำให้ยาขายได้ก็คือ แพทย์ ทีนี้ล่ะ การจัดประชุมวิชาการ การสัมมนาวิชาการ การชักเชิญชวนไปดูงานต่างประเทศก็จะระดมจัดขึ้นเป็นที่ครึกครื้น ของสมนาคุณ ของขวัญ ของชำร่วย ถูกจัดประเคนให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจจากทั้งผู้ให้-ผู้รับ

เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นจริง ที่บุคลากรในวงการแพทย์รู้กันดี เพียงแต่จะพูดกันหรือไม่เท่านั้นเอง

เภสัชกรคทา เล่าถึงวิธีการขายยาอีกชนิดหนึ่งให้ฟัง

“อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือ เอายาใหม่ไปให้หมอที่เก่งเรื่องนั้นทำวิจัย ให้ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง หมอก็ต้องทำ ถ้าเขียนโครงการดีๆ มันก็ผ่าน เมื่อผ่านหมอก็จะใช้ยาตัวนี้ ก็เท่ากับส่งเสริมให้เกิดการใช้ และไม่มีการแข่งขัน เพราะเวลาที่มียาใหม่มามันติดลิขสิทธิ์ เมื่อติดลิขสิทธิ์โรงงานยาในประเทศไทยจะยังผลิตไม่ได้จนกว่าจะหมดลิขสิทธิ์ อีกเรื่องคือมันมีนโยบายตัวหนึ่งสำหรับยาใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทยจะต้องติด SMP (Safety Monitoring Program) เป็นโครงการดูแลเรื่องความปลอดภัยที่บังคับให้ยานั้นต้องขายเฉพาะในโรงพยาบาลกับคลินิกแพทย์ ห้ามขายตามร้านขายยา ดังนั้นมันก็ถูกจำกัดแล้ว ตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้”

นอกจากนี้ ทัศนคติของแพทย์เองก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากแพทย์จำนวนไม่น้อย ‘กลัวตกเทรนด์’ กลัวจะตามไม่ทันแพทย์คนอื่นๆ ดังนั้น เมื่อมียาใหม่ๆ ออกมา แพทย์จึงไม่ลังเลที่จะใช้ยาใหม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่ายาเดิมที่ใช้อยู่ยังสามารถใช้แทนได้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังสามารถใช้แทนได้ แต่ทัศนคติ ความเชื่อจึงทำให้ยาเก่าถูกหมางเมิน ขณะที่บริษัทยาก็มีกลวิธีในการล้างยาเก่าออกจากตลาด เพื่อหาทางทำกำไรกับยาตัวใหม่

ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น ตัวละครสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือผู้ป่วย

เนื่องจากต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาโรงงานผลิตยาในประเทศไทยค่อนข้างจะขาดมาตรฐาน ไม่มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนายา บวกกับการโหมประชาสัมพันธ์ของยาต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้เติบโตเป็นทัศนคติที่ยึดหยั่งฝังรากในสังคมไทย ผู้ป่วยจึงยินดีจ่ายเงินมากเพื่อให้ได้ยานอกที่เขาคิดว่ามีคุณภาพดีกว่ายาที่ผลิตได้ในประเทศ แม้จริงๆ แล้วคุณภาพอาจไม่ได้ต่างกันมาก และในบางกรณีการใช้ยาก็แทบไม่จำเป็นด้วยซ้ำ

นพ.เกษม ตันติพลาชีวะ รองประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า

“ประชาชนของเราส่วนหนึ่งเชื่อหมอ แต่อีกส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากการตลาด ดังนั้น เขาก็จะได้รับข้อมูลว่า ยาใหม่ ยานอกวิเศษกว่า ดีกว่า ตรงนี้จะกระทบถึงพวกโครงการ 30 บาทด้วย เขาอาจจะรู้สึกว่าทำไมเขาจึงไม่ได้รับยาเหมือนคนอื่นเขา แต่ได้ยาราคาถูกกว่า ทั้งที่จริงหมอเขาก็ให้ยาที่สามารถรักษาได้เพียงพออยู่แล้ว

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีความดันขึ้นนิดหน่อย ความดันสูงกว่าปกติเล็กน้อย เราควรจะเริ่มต้นด้วยยาประเภทยาขับปัสสาวะซึ่งได้ผลดีอยู่แล้ว หรือแก้ด้วยวิธีอื่น เช่น ถ้าเรารู้ว่าเกิดจากความเครียดก็ไปแก้ไขที่ความเครียด ถ้านอนไม่หลับความดันขึ้นก็ไปแก้ที่ตรงนั้น ไม่ใช่ไปใช้ยาลดความดันที่เข้ามาใหม่ๆ ตรงนี้ถือว่าเกินความจำเป็น”

พล.ท.นพ.มงคล เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความเชื่อของผู้ใช้ยา

“มันเป็นเรื่องความเชื่อนะ ตรงนี้ก็ช่วยไม่ได้ จริงๆ แล้วตอนนี้ถ้าเป็นยาสามัญทั่วๆ ไปก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แล้วยานอกที่ซ้ำกับเราคนก็ใช้น้อยลง เพราะเขาเห็นว่ายาไทยก็ใช้ได้ ผมว่ายานอกยาที่ซ้ำกันกับยาที่เราผลิตได้ก็ขายได้น้อยลง ที่ขายได้ก็จะเป็นยาตัวใหม่ๆ

-3-

ทีนี้ลองมาดูลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ของบริษัทยาที่พยายามดูดเงินจากผู้ป่วย หรือ ‘ผู้ที่ถูกทำให้เชื่อว่าป่วย’ กัน ว่าเขามีวิธีอะไรบ้าง ขอยกมาให้ดูสัก 2 ตัวอย่าง

วิธีแรกคือสิ่งที่เรียกว่า ยาต่อ-ท้าย (Me-Too Drugs) เป็นเทคนิคเพื่อต่อสิทธิบัตรยาให้ขยายออกไป เภสัชกรคทาอธิบายว่า

“สมมติวันนี้เราออกยามาตัวหนึ่ง 10 มิลลิกรัม มีสิทธิบัตรแล้ว เดิมเม็ดละ 30 บาท พอหมดลิขสิทธิ์โรงงานยาในประเทศไทยผลิตเองได้เหลือเม็ดละ 3 บาท บริษัทยาก็จะเอายาตัวเดิมไปเพิ่มเป็น 20 มิลลิกรัม แล้วศึกษาใหม่ วิจัยใหม่ ให้เห็นว่า 20 มิลลิกรัมมันดีกว่า 10 มิลลิกรัม จดทะเบียนใหม่ เป็นยาใหม่ ติดสิทธิบัตรอีกแล้ว พอยา 20 มิลลิกรัมนี่หลุดสิทธิบัตรก็เพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เป็น 40 เป็น 80

“หรืออาจจะใช้ยาเดิม แต่เติมสารอื่นๆ เข้าไปผสม วิจัยใหม่ เช่นเอายาแก้ปวดตัวที่ 1 บวกกับยาแก้ปวดตัวที่ 2 แล้วไปศึกษาว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ จดสิทธิบัตรใหม่ ทั้งที่ยาสองตัวที่เอามาผสมนี่เป็นยาเก่าแต่เอามาผสมใหม่”

อีกวิธีหนึ่งคือการเสกสร้างโรคภัยไข้เจ็บใหม่ขึ้นมา และผลิตยาตัวใหม่ออกมารองรับ เรียกว่าคนยุคนี้มีสิทธิ์เป็นคนป่วยได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการมีประจำเดือนก็อาจถูกจัดกลุ่มเป็นคนป่วยที่ต้องกินยา นพ.เกษม อธิบายเรื่องนี้ว่า

“มันก็เหมือนการไปส่องไฟนะ อย่าง ‘โรคอารมณ์ละเหี่ยหลังมีประจำเดือน’ ความจริงการที่ผู้หญิงจะมีอารมณ์เศร้าๆก่อนหรือหลังจากมีประจำเดือน มันเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่บริษัทยาก็จะบอกว่ายาเขากินแล้วจะไม่เกิดอารมณ์เศร้า ซึ่งจริงๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ต้องใช้ยาหรอก มันเป็นเรื่องปกติมาก แต่ทีนี้บริษัทยาก็อยากให้คนกินยาทุกกรณีไป เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า และยาตัวนี้จริงๆ ก็คือยาแก้ซึมเศร้า คนเราถ้าซึมเศร้าหน่อยก็กินยากันเรื่อยไปก็คงไม่ดี”

-4-

การจะมองปัญหายาให้คลุมเครือน้อยลง ไม่อาจเพ่งเล็งกันแต่เรื่องยาๆ ถูกๆ แพงๆ เท่านั้น แต่จำต้องมองลึกไปถึงระบบสาธารณสุขทั้งระบบของประเทศ ซึ่งสะสมพอกพูนปัญหามานับแต่อดีต

การรวมศูนย์อำนาจสร้างผลกระทบต่อทัศนคติเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน จนผลพวงสุดท้ายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ ‘ระบบการรักษาที่พึ่งพิงยาเป็นหลัก’ ยามที่คนไข้ไปพบแพทย์ แต่ไม่ได้ยาใส่กระเป๋ากลับบ้านจะรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการรักษา ทั้งที่แพทย์แนะนำว่า ‘แค่ไข้หวัดธรรมดา ดื่มน้ำอุ่นพักผ่อนเยอะๆ เดี๋ยวก็หาย’ และอีกด้านหนึ่งระบบการรักษาเช่นนี้ก็ทำให้การรักษาในรูปแบบอื่นๆ ถูกลดทอนความสำคัญลงไป

“เราต้องมองระบบสุขภาพของคนไทยย้อนหลังไปสัก 40-50 ปี” เภสัชกรคทาอธิบาย “สมัยก่อนคนไทยดูแลกันเองในบ้าน เป็นอะไรนิดอะไรหน่อย พ่อดูแลลูก ลูกดูแลพ่อ ช่วยกัน กระทรวงสาธารณสุขก็ประโคมข่าวว่าเวลาเป็นอะไรต้องไปพบแพทย์ อย่าไปซื้อยากินเองเดี๋ยวจะเสียชีวิต ซึ่งมันไปเปลี่ยนวัฒนธรรมของสังคมจากการดูแลตัวเองไปสู่ระบบการรักษาพยาบาล เมื่อไปสู่ระบบรักษาพยาบาล ประเทศไทยไม่มีระบบค่าหมอ ถ้าสมมติหมอคนหนึ่งตรวจคนไข้แล้วพบว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แล้วบอกคนไข้ไปว่าแค่กินน้ำอุ่นๆ กินพาราฯ ก็หาย ค่าหมอร้อยหนึ่ง คนไข้มองหน้า อะไรวะ ไม่ให้ยาเลย แต่บอกว่าค่าหมอร้อยหนึ่ง เมื่อไม่มีเรื่องค่าหมอ หมอจะทำยังไงล่ะ ก็จ่ายยาไป เอายาไป 150 บาท คนไข้แฮปปี้ หรือฉีดยาสักเข็มหนึ่งคนไข้ยิ่งดีใจ คิดว่าหายแน่

“เราต้องโทษกลไกสาธารณสุขที่ไปเปลี่ยน ไปสร้างทัศนคติใหม่ให้แก่คนในสังคมว่า เวลาเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ต้องไปหาหมอ อย่าปล่อยให้เป็นเยอะ คนไข้จึงวิ่งสู่ระบบโรงพยาบาล ระบบคลินิกหมด วิ่งไปสู่ร้านขายยา เปลี่ยนจากการดูแลตัวเองไปสู่การพึ่งพิงยา”

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่อง ‘สิทธิผู้ป่วย’ ก็ยังไม่ได้รับความสนใจและปลูกฝังเท่าที่ควร แม้จะมีการบัญญัติไว้ แต่ก็เป็นเพียงการขอร้องจากบรรดาองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมาย ผู้ป่วยยังไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิที่จะรับรู้ว่าแพทย์ผู้รักษาชื่ออะไร จัดการรักษาอย่างไร ให้ยาอะไรบ้าง

ยังไม่มีผู้ป่วยคนไหนกล้าถามแบบนี้กับแพทย์

อีกประเด็นที่ละเลยไม่ได้ก็คือ ระบบการเรียนการสอนบุคลากรสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ ที่มีคนบ่นๆ ว่าไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจบริบทของสังคมไทย แต่เรียนกันตามตำราของตะวันตกซึ่งแน่นอนว่าเรื่องทางเทคนิค วิชาการต่างๆ ของเขาเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา แต่ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมนั้นไม่เหมือนกันแน่ๆ ทั้งยังขาดการสร้างทัศนคติว่าผู้ป่วยก็คือผู้ที่มีส่วนร่วมในการรักษาด้วยเช่นกัน เภสัชกรคทาย้ำส่งท้ายว่า

“ผมไม่พูดถึงแพทย์นะ แต่การศึกษาของเภสัช เรายังไม่ได้ส่งเสริมให้นักศึกษามีทัศนคติมองคนป่วยแบบองค์รวม คือมองแต่โรค ฉันก็จ่ายยาให้ ทัศนคติที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างองค์รวมมันไม่มี ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะคนสอนเราเป็นอย่างนั้น ทำไมคนสอนเราเป็นอย่างนั้นก็ต้องดูว่าคนสอนเรามาจากไหน มาจากต่างประเทศ เภสัชมักจะคิดว่าตัวเองมีความรู้ เห็นลูกค้าใส่ทองเดินเข้ามา คุณคิดว่าเขาจะขายยาเม็ดละ 3 บาท หรือเม็ดละ 60 บาท

แต่ถ้าเภสัชกรคนนั้นมีทัศนคติเขาก็ต้องอธิบาย ต้องสร้างทัศนคติ ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ให้เขาเป็นคนเลือกไม่ใช่ว่าเราไปตัดสินใจแทน ถูกว่าเรามีความรู้มากกว่า เราควรเป็นคนตัดสินใจแทน แต่ในกระบวนการรักษาเราจะต้องให้คนไข้ได้มีส่วนร่วมด้วย ต้องทำให้คนไข้รู้ว่าเขามีส่วนสำคัญในการร่วมดูแลรักษาตัวเอง สิ่งนี้เรายังไม่มีในระบบการเรียนการสอนของบ้านเรา”

ด้าน นพ.เกษม มองว่า เรื่องยาเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่รัฐบาลไทยยังขาดการดูแลที่ดีพอ

“ถ้าเรายังอยู่ในระบบเสรีนิยม มันแก้ยาก เพราะมันต้องแข่งขันกัน ขณะที่เราไม่ได้ห้าม ไม่ได้ตั้งกฎอะไรเลย เราไม่ได้มีกลไกควบคุมราคายา เพราะถ้าคุณไปปรับเปลี่ยนราคายา อเมริกาก็จะมาบีบเราในเรื่องอื่น รัฐบาลเราก็หวังจะขายไอ้นั่นได้ ไอ้นี่ได้ก็ยอมแลก บางทีมันไม่คุ้มกันหรอก”

-6-

พล.ท.นพ.มงคล ฝากทิ้งท้ายว่า “โรงงานผลิตยาใหญ่ๆ ของไทยตอนนี้ก็ถือเป็นโรงงานที่มีมาตรฐาน และผลิตยาให้คนไทยมานาน ไม่เคยมีปัญหา มีการตรวจเช็ก วิเคราะห์อย่างดีมาตลอด แต่ก็ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าของนอกต้องดีกว่า แต่อะไรที่ใช้ของคนไทยได้ก็ควรใช้ของคนไทย เศรษฐกิจแบบพอเพียงดีที่สุด”

ตราบใดที่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตอมตะ ความป่วยไข้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจับจ่ายหยูกยายังต้องมี ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่สังคมเราจะเท่าทัน และสร้างระบบสุขภาพที่เน้น ‘การสร้างสุขภาพ’ อย่างเป็นจริงเป็นจัง แทนการซ่อมสุขภาพอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ยา ไม่ใช่คำตอบของการมีสุขภาพดีเสมอไป

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
คนไทยจำนวนมากยังเชื่อว่ายาคือที่พึ่งของสุขภาพ

แพทย์ อีกหนึ่งกุญแจหลักในกลไกราคายา
พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
การทดลองและวิจัยยาในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น