xs
xsm
sm
md
lg

แปลงสายพันธุ์ "ปลายอดนักสู้" จับใส่ตู้อวดสีสันประชันโฉม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลากัดเป็นปลาพื้นเมืองของไทย สมัยโบราณนิยมนำมากัดกัน ถือเป็นการละเล่นโบราณของไทยอย่างหนึ่ง หากแต่ปัจจุบันนอกจากนำมาต่อสู้กันแล้ว ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดดั้งเดิม จากที่มีเฉดสีเพียงไม่กี่สี เช่น สีเทาแกมเขียวหรือสีน้ำตาลขุ่น ตลอดจนมีครีบและหางสั้นๆ ได้นำมาคัดและทำการผสมพันธุ์จนกลายเป็นปลากัดสีสันสวยงามตระการตาด้วยเฉดสีหลากหลาย แผ่ครีบยาวยามเวียนว่ายอยู่ในน้ำ สร้างความสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น และนิยมซื้อหาไว้ดูเล่น

ปลานักสู้-ปลานางงาม

ปลากัดสามารถแบ่งประเภทได้อย่างกว้างๆ เป็นปลากัดสวยงามสำหรับเลี้ยงไว้ดูเล่นและปลากัดนักสู้หรือปลากัดนักกีฬาสำหรับเลี้ยงไว้กัดแข่งกับปลากัดตัวอื่น ซึ่งลักษณะปลากัดแข่งจะเน้นความเก่งและความดุ ลักษณะสีมีทั้งสีแดง สีม่วงแดง สีเขียว เป็นต้น ส่วนลักษณะหางจะไม่ค่อยใหญ่

ชาติชาย (สงวนนามสกุล) วัย 50 ปี ชื่นชอบการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลากัดเป็นงานอดิเรก อธิบายความต่างระหว่างปลากัดแข่งและปลาสวยงาม

"ปลากัดแข่งเรียกว่าปลากัดลูกหม้อ เขี้ยวยาว กัดทีเกล็ดกระจุย กัดกันนานมาก บางครั้งกัดกันข้ามวัน จึงมีการนำปลาที่กัดไวๆมาผสมพันธุ์ เพื่อให้กัดคู่ต่อสู้ในเวลาอันรวดเร็วขึ้น ตอนเด็กๆชอบเลี้ยงปลาไปกัดแข่ง ใช้วิธีการต่างๆ ทำให้ปลามีความพร้อม บางครั้งใช้ใบพัดเล็กๆใส่ลงไปในขวด เพื่อให้ปลาว่ายทวนน้ำ แต่เดี๋ยวนี้นิยมเลี้ยงปลากัดสวยงาม ไม่เอาไปกัดกัน เพราะรู้สึกสงสาร"

"ปลากัดสวยงามเน้นรูปทรง มีทั้งรูปทรงแบบปลาช่อน และแบบปลากราย โดยปลากัดหม้อส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่คล้ายกับปลาช่อน ลักษณะหางจะเหมือนไก่ คนเลี้ยงจะเน้นดูส่วนที่ยื่นออกมาต้องสวย เรียบร้อย"

เขาเล่าต่อว่า "ปลากัดมีหลายพันธุ์ เช่น ปลากัดเขมร ปลากัดเวียดนาม ปลากัดมาเลย์ ซึ่งมีเกล็ดเหนียว กัดไม่เข้า ดังมาก ส่วนไทยก็จะมีทั้งปลากัดแปดริ้ว ปลากัดเพชรบุรี แม้แต่ทางใต้ก็มีปลากัด มีแทบทุกจังหวัด"

ปลากัดสวยงามแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นปลากัดครีบสั้น หรือเรียกว่าปลากัดลูกหม้อ ซึ่งมีทั้งประเภทหางเดี่ยวและหางคู่ นอกจากนี้ยังแบ่งตามสีที่มีทั้งสีเดี่ยวและหลากสี

กลุ่มที่สองเป็นปลากัดครีบยาว หรือปลากัดจีน ชาวต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ นิยมเลี้ยงกันมาก และกลุ่มสุดท้ายเป็นปลากัดลูกทุ่ง ปลาประจำท้องถิ่นในแต่ละภาค มีลักษณะเฉพาะ ตัวจะเล็กกว่าปลากัดลูกหม้อ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นปลากัดลูกทุ่งแท้กับปลากัดลูกทุ่งพัฒนา กล่าวคือ ปลากัดลูกทุ่งพัฒนา เป็นการนำปลาที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวมาผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้ปลากัดที่มีลักษณะเด่นสองอย่างรวมอยู่ในตัวเดียว

รองศาสตราจารย์ ดร.ยนต์ มุสิก คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายลักษณะของปลากัดที่ดีไว้ว่าสังเกตจากสี รูปทรง (ครีบและลำตัว) และกิริยาอาการ กล่าวคือลักษณะของครีบและลำตัวแบ่งเป็น ครีบเดี่ยวสามครีบ คือ ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้น และมีครีบคู่สองคู่คือ ครีบท้องหรือทวนหรือตะเกียบ และครีบอกอยู่ติดบริเวณเหงือก

สำหรับลักษณะครีบก้นที่ดีควรจะมีขอบครีบส่วนหน้าและส่วนหลังขนานกันและค่อย ๆ โค้งไปทางด้านหลัง ขอบด้านหน้าและขอบด้านหลังต้องไม่เรียวแหลมเข้าหากัน แต่จะแผ่กว้างทำมุมและซ้อนทับเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหาง แต่ไม่เชื่อมต่อกับครีบหาง

ส่วนลักษณะครีบท้องควรเหมือนใบมีดมีด้านคมอยู่ด้านหลัง ขอบด้านหน้าโค้งเข้าเล็กน้อย ปลายแหลม ครีบทั้งคู่ควรมีขนาดความยาวเท่ากันและไม่ไขว้กัน ครีบต้องไม่สั้นหรือกว้างเกินไป และไม่ยาวหรือแคบเกินไป ขณะที่ครีบอกควรเป็นครีบที่สมบูรณ์กว้างและยาว และสำหรับลักษณะสีของปลากัด สามารถแบ่งออกได้ 5 แบบ คือ ปลากัดสีเดี่ยว ปลากัดสองสี ปลากัดลายผีเสื้อ ปลากัดลายหินอ่อน และปลากัดหลากสี

พัฒนาปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม

การพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดเพื่อให้ได้ปลากัดสวยงามในรูปแบบแปลกตา สีสันหลากหลาย เกือบทุกเฉดสี โดยระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ปลากัดอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน แต่บางครั้งนักเพาะพันธุ์ปลาบางคนก็อาจจะไม่คำนึงถึงช่วงเวลาเป็นสำคัญ

โดยทั่วไปปลากัดที่จะนำมาผสมพันธุ์กันได้นั้น นักเพาะพันธุ์ปลาจะคัดเลือกปลาตัวผู้ที่มีลักษณะแข็งแรง ปราดเปรียว ปลาตัวผู้มักจะพ่นฟองอากาศออกมาเหนือผิวน้ำเพื่อสร้างรังหรือหวอด แสดงถึงความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ขณะที่ปลากัดตัวเมียจะคัดเลือกปลาที่แข็งแรง ด้วยการสังเกตบริเวณท้องจะมีลักษณะอูมเป่ง บริเวณใต้ท้องจะมีตุ่มสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจน เรียกว่าไข่น้ำ

เหนือสิ่งอื่นใด นิยมเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีสีสันสวยงาม เพื่อให้ได้ลูกที่ออกมามีสีสันแปลกตา

"ตัวเมียที่ร่างกายสมบูรณ์แบบ อวัยวะส่วนเจริญพันธุ์ก็จะโตเต็มที่ สังเกตข้างลำตัวจะมีลายชะโด คือมีลายเป็นบั้งๆ นั่นเป็นการแสดงให้ตัวผู้รู้ว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้ว ส่วนตัวเมียที่ไข่เต็มที่ก็จะก่อหวอด ซึ่งโดยปกติตัวเมียจะไม่ค่อยก่อหวอด แต่ถ้าตัวเมียก่อหวอดเมื่อใด แสดงว่ามีไข่เป็นจำนวนมากพร้อมจะผสมพันธุ์" ชาติชายอธิบายหลักการสังเกตปลากัดพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

ชายหนุ่มยังคงเล่าถึงขั้นตอนการเพาะพันธุ์ต่อไปว่า หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนการดูตัว โดยการนำปลากัดพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต่างขวดมาเผชิญหน้ากัน เรียกว่าวิธีเทียบคู่ โดยปลากัดที่นำมาเทียบต้องมีอายุอย่างต่ำ 3 เดือนขึ้นไป

"ก่อนจะผสมพันธุ์จะนำปลาตัวผู้กับตัวเมียมาเทียบคู่ เพื่อให้ปลาชินหน้า รู้จักกัน โดยส่วนตัว เวลาผมจะผสมพันธุ์ปลา ไม่ใช่ว่าผมจะซื้อตัวผู้มา ตัวเมียมา แล้วเอามาผสมพันธุ์กัน แต่จะเอาตัวเมียหลายๆ ตัว เพื่อให้ตัวผู้เลือกว่าชอบตัวไหน โดยดูได้จากพฤติกรรมปลาว่าชอบปลาตัวเมียตัวไหน ซึ่งปลาจะแสดงออกมา ผมก็บอกไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร แต่จะใช้ความรู้สึกส่วนตัวที่เลี้ยงปลามานาน"

"บางกรณีที่ต้องการให้ตัวผู้เป็นพ่อพันธุ์จะต้องให้ตัวผู้เป็นตัวเลือกคู่ หาตัวเมียมาให้เลือกพร้อมกันครั้งละจำนวนมาก กลับกันถ้าต้องการให้ตัวเมียเป็นแม่พันธุ์ก็จะหาตัวผู้มาให้เลือกพร้อมกันเยอะๆ"

หลังจากได้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำปลาทั้งคู่มาใส่ลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์ ภายในบรรจุน้ำและพันธุ์ไม้น้ำ สำหรับให้ปลาก่อหวอด

"การเลี้ยงปลากัดต่างจากการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น เพราะให้ความสุขคนละแบบ สิ่งสำคัญ เวลาผมเลี้ยงปลากัด ผมจะให้ใจเขาหมด ทำให้เพลินไปกับมัน ผมเคยใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ปลากัดรัดกันตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 2 ผมก็นั่งดู นอนดูปลากัดผสมพันธุ์ ศึกษาพฤติกรรมของมันว่าเป็นอย่างไร ตัวผู้จะกัดตัวเมียไหม แต่สมัยนี้ใช้กล้องดิจิตอลตั้งเวลาอัดทิ้งไว้ เวลาจะดูว่าก็เอามารีเพลย์" ชาติชายเล่าความรู้สึกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

หลังจากปลากัดผสมพันธุ์และปลาตัวเมียออกไข่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปลาตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงลูกปลา โดยลูกปลาที่ออกมาแต่ละคอกมีประมาณหลายร้อยตัว แต่ละตัวจะมีสีสันไม่ผิดแผกจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ แต่บางกรณีลูกปลาอาจจะมีสีสันแตกต่างออกไป ทั้งนี้ชาติชายอธิบายว่าอาจจะเป็นอิทธิพลของปลารุ่นตาและรุ่นยาย

"ลูกปลาที่ออกมาคงไปกำหนดว่าอยากได้ปลากัดสีนั้นสีนี้คงไม่ได้ เพราะตัวผู้และตัวเมียที่นำมาเพาะพันธุ์ ต่างก็มีพ่อปลาและแม่ปลามาก่อน ซึ่งอาจจะมีสีต่างจากปลาที่นำมาเพาะ ทำให้สีของปลากัดที่ตั้งใจเพาะออกมาได้ไม่ตรงตามที่ต้องการ แต่ถ้าออกมามีสีตามที่จินตนาการไว้ก็ถือว่ามีความสุขแล้ว"

"ผมเคยเพาะปลากัดสีทองออกมาเป็นสีทองทั้งคอก แต่ถ้ามองดูดีๆจะเห็นว่าไม่เหมือนกันสักตัว จะมีประมาณ 10 แบบในคอกเดียวกัน ตัวนั้นหางแบบนี้ ตัวนี้กระโดงแบบนี้ แต่มีสีทองเหมือนกันหมด ออกมาหลากหลาย อย่างน้อยๆมีออกมาแบบเดียวกันไม่น้อยกว่า 5-7 ตัวขึ้นไป และพอจับตัวเหมือนกันมาเพาะพันธุ์อีก 10 คอก ออกมาสวย 3 คอก แต่ก็อาจจะสวยสู้คอกพ่อ คอกแม่ไม่ได้ ส่วนคอกที่เหลือ นอกนั้นไม่สวยเลย"

จากประสบการณ์การเพาะพันธุ์ปลาที่ผ่านมา เขาเผยความในใจถึงครั้งที่รู้สึกปลื้มใจมากที่สุด ก็คือการเพาะปลากัดสีทอง ซึ่งตอนนั้นยังมีปริมาณปลากัดสีทองออกมาไม่มาก กระทั่งปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มขึ้น

"เพาะเพียงครั้งแรกโดยใช้พ่อพันธุ์มาสตาร์ดบลู ซึ่งมีสีทองผสมอยู่ เอาไปผสมพันธุ์กับตัวเมียซึ่งมีสีทองใสๆ ผสมออกมาได้ลูกปลาสีทองครึ่งบ่อ โดยที่อีกครึ่งบ่อเป็นสีนาก หลังจากนั้นลองเอาตัวเมียที่เป็นสีทองไปผสมกับคอกที่เพาะออกมา ปรากฏว่าได้ลูกปลากัดสีทองทั้งบ่อประมาณ 300 กว่าตัว ครั้งนั้นถือเป็นสุดยอดการเพาะปลากัดสำหรับผม และที่ชอบปลากัดสีทองมากที่สุด เพราะมันขายได้ ตัวผู้ตัวละ 4-5 พันบาท ผมยังเคยขายเลย"

ในเวลานี้ หากถามถึงปลากัดสวยงามที่เพาะพันธุ์ยาก และเป็นที่ต้องการมากที่สุด เขาแสดงความเห็นส่วนตัวว่า "ผมอยากเพาะพันธุ์เรด ดราก้อน ปลากัดสีขาวๆ หางแดงๆ เป็นที่ต้องการ แต่ว่าเพาะพันธุ์ออกมาได้ปริมาณน้อย แต่ถ้าเป็นในฟาร์มสามารถเพาะได้มาก เพราะมีบ่อเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เยอะ ทำให้ได้ลูกเยอะ เพาะคอกเดียวอาจจะได้ 5 ตัว เพาะ 10 คอกก็ได้ 50 ตัวแล้ว ถ้าออกมาทั้งคอกเลย 200 ตัว แล้วคุณต้องการปลา 100 ตัวเพาะเพียงคอกเดียวก็พอแล้ว"

อาหารโปรดของปลา

ชาติชายอธิบายวิธีดูแลปลากัดเพื่อให้ปลามีสุขภาพดีจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ปลาบ่อยๆ เพราะจะทำให้น้ำสะอาด และไม่มีสิ่งปฏิกูลอยู่ในภาชนะเลี้ยงปลา สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลานั้นนิยมลูกน้ำ ไรแดง หนอนแดง ส่วนลูกน้ำ และไรแดงที่ช้อนมาจากในคลองเพื่อนำมาให้อาหารปลานั้น จะนำมาแช่ด่างทับทิมก่อน จากนั้นเอามาล้างหลายๆ น้ำ แต่ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าไม่มีเชื้อโรค

"การให้อาหารไม่สมควรให้มากๆ ควรให้แต่น้อย แต่บ่อยๆ แล้วลูกปลาจะโตเร็ว และจะต้องสังเกตว่าเวลาให้ลูกน้ำ 4-5 ตัว ปลาจะกินหมดไหม ถ้าหมดก็อาจจะให้อีก แต่ไม่ควรให้เยอะเกินไปจนล้นกระเพาะ เพราะถ้าเกิดระบบการย่อยมันไม่ดี หรือผิดสำแลง ก็จะทำให้ปลาตายได้เหมือนกัน"

ชาติชายยังแนะนำวิธีดูแลรักษาอาการของปลากัดไม่ยอมถ่าย ซึ่งมักพบอยู่บ่อยๆ ทิ้งท้ายว่า "พยายามถ่ายน้ำออกให้เหลือน้อยๆ แล้วใส่เกลือลงไป เพื่อช่วยให้ปลาสามารถถ่ายออกได้ตามปกติ ปลากัดมีหลายโรค มีทั้งโรคครีบหาง หรือโรคดุ๊กดิ๊ก คือหางปลาจะลีบ ซึ่งปลาจะมีอาการลอยคออยู่ที่ผิวน้ำ แล้วจะว่ายเร็วๆ หรือไม่ก็เอาตัวไปสีกับต้นไม้น้ำบ้าง ข้างตู้บ้าง เหมือนปลามันคัน เราก็ต้องหายาไปช่วยใส่ให้คือริโปโตซัว ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อที่เกิดขึ้นกับปลาได้ดีพอสมควร แต่จะต้องรู้อาการไม่เกิน 2 วัน ไม่อย่างนั้นปลากัดจะตายอย่างแน่นอน"

ไม่ว่าจะเป็นความประณีตในการคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ความเพลิดเพลินที่จะได้รับจากการเพาะพันธุ์ปลากัด ตลอดจนวินาทีลุ้นระทึกลูกปลาที่ออกมาว่าจะให้เฉดสีตรงกับที่จินตนาการไว้หรือไม่ ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของปลากัดสวยงาม นอกเหนือจากรูปทรงปราดเปรียวและท่วงท่าลีลาพลิ้วไหวยามอยู่ในน้ำ

* * * * * * * * * * * * *

เรื่อง – ศิริญญา มงคลวัจน์









กำลังโหลดความคิดเห็น