ของใช้ในวันนี้ นานวันไปอาจจะกลายเป็นของเก่า ของสะสมที่มีมูลค่าตีเป็นเงินตรามหาศาล หรืออาจจะมีมูลค่าทางจิตใจอย่างอเนกอนันต์จนไม่สามารถแปลงเป็นเงินตราได้ แต่สำหรับ "ไฟแช็ก ซิปโป้" ของสะสม นวัตกรรมโต้ลมซึ่งผ่านมาหลายยุคหลายสมัย นอกจากรุ่นเก่าจะเป็นของสะสมหายากแล้ว ยังมีการพัฒนาแบบใหม่ๆตามเทคโนโลยีปัจจุบันทันสมัย จึงยังครองใจนักสะสมกลุ่มหนึ่งที่อุทิศทั้งเวลาและกำลังทรัพย์แสวงหามาครอบครอง
จุดประกายนักสะสม -->
รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักซิปโป้และเจ้าของเว็บไซต์ http://www.zippoclubthailand.com ย้อนหลังให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการสะสมไฟแช็ก ซิปโป้ ว่าเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก
"ลุงของผมสูบยาเส้น พอลุงมวนยาเส้นเสร็จ ก็จะนำไฟแช็คสีเงินที่พกไว้ติดตัวประจำขึ้นมาจุด ไปทีไรก็เห็นใช้ไฟแช็กอันเดิมทุกที กี่ปีๆก็ไม่เคยเปลี่ยน จึงเอ่ยปากถามลุงว่ามันคือไฟแช็กอะไร ทำไมใช้นานจัง ก็ได้คำตอบว่าคือไฟแช็กซิปโป้ ลุงใช้มานานไม่เคยเสีย เวลาขี่มอเตอร์ไซค์ อยากจะจุดก็ไม่ต้องกลัวว่าจะดับ แถมพกไปไหนมาไหน เวลาใช้ ก็มีแต่สาวๆมอง สมัยนั้นใครไม่มีใช้เชย ลุงโชว์ท่าเปิดและจุดให้ผมดู ภาพนั้นติดตาตลอด"
สมัยเป็นนักเรียน เขาเล่าว่าไม่สูบบุหรี่ กระทั่งทำงานจึงหันมาสูบบุหรี่ ซึ่งเขาเอ่ยว่าถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และจากการทำงานในร้านฮาร์ดร็อก คาเฟ่นี่เอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมไฟแช็ก ซิปโป้
"เคยทำงานที่ ฮาร์ดร็อกคาเฟ่ สมัยนั้นเวลาลูกค้าเปิดเหล้าจะแถมซิปโป้ บางคนเปิดหลายขวดก็ได้ซิปโป้หลายอัน ลูกค้าก็แบ่งให้ผม ซิปโป้อันนั้นจึงเป็นซิปโป้อันแรกที่ได้ จากนั้นก็มีเพื่อนแนะนำว่าซิปโป้สามารถเล่นท่าทางได้เยอะ แล้วก็สอนวิธีการให้ ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มสะสม เพราะมองว่ามันมีอะไรให้เล่นมากกว่าไฟแช็กธรรมดา ประกอบกับถูกส่งไปทำงานขายของที่ระลึกของฮาร์ด ร็อก ริมหาดพัทยา ซึ่งสมัยนั้นมีทหารอเมริกันเยอะ"
เขาเล่าต่อไปว่า ที่นั่นเขาได้เห็นชาวเรือเอาของไปแลกของที่ระลึกจากเรือรบ เช่น หมวกทหาร บางร้านขายเสื้อผ้าก็เอาเสื้อไปแลกของที่ระลึกจากเรือรบ โดยเฉพาะไฟแช็คซิปโป้ ดูจะเป็นสิ่งที่คนต้องการมากที่สุด
"ผมเอาเสื้อไปแลกซิปโป้ได้มา 3 อัน ซิปโป้ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับให้ทหารในกองทัพนั้น เสมือนหนึ่งในอุปกรณ์ประจำตัวของทหารอเมริกัน บางครั้งช่วยให้รอดชีวิต และเรือที่มาตอนนั้นเป็นเรือขนาดใหญ่ ดังมากในกลุ่มทหารเรือ ทำให้ซิปโป้เป็นที่ต้องการมาก เดี๋ยวนี้เลิกผลิตซิปโป้สัญลักษณ์ของเรือรบ จึงกลายเป็นของหายาก"
ชายหนุ่มยังคงย้อนความหลังต่อไปว่า "สมัยก่อนได้เงินเดือน 5,000-6,000 บาท ซิปโป้ราคาอันละประมาณ 300 บาท แต่ละเดือนจะเก็บเงินเพื่อซื้อซิปโป้ 1 อัน เดือนไหนมีรายได้เยอะ ก็จะซื้อเยอะ ครั้งละ 4-5 อัน เริ่มสะสมมาเรื่อยๆ"
"กระทั่งเปลี่ยนไปทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น ทำให้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่น มีแบบให้เลือกเป็นพันเป็นหมื่นแบบ แต่ละครั้งก็จะได้ซิปโป้กลับมา 5-10 อัน จนรู้สึกว่ามีเยอะแล้ว ต้องหาตู้มาเก็บ จึงไปสอบถามตามร้านค้า ก็ได้รับคำแนะนำว่าถ้าซื้อจากตัวแทน 40 อันจะได้แถมตู้ บางอันไม่ใช่ลายที่ต้องการ ก็จะนำไปฝากเพื่อนขาย"
ไฟแช็กผ่านมือของรังสรรค์กว่าพันแบบ ช่วงหลังๆจึงนำออกมาขายบ้าง ปัจจุบันหลงเหลือทั้งหมดประมาณ 400 แบบ ซึ่งเขาบอกว่ายังคงสะสมอยู่ และจะยังคงสะสมต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะเลิกสูบบุหรี่แล้วก็ตาม
"สะสมแรกๆ เลือกซื้อลายที่ชอบ โดยไม่สนใจเรื่องของความเก่าหรือใหม่ ราคาประมาณ 200 ขึ้นไป ตอนนี้เปลี่ยนมาสะสมของเก่า คลาสสิก พยายามได้ปีเก่ามากเท่าไร ยิ่งมีความภูมิใจมากเท่านั้น เก่าที่สุดประมาณปี 1950 แต่ราคาค่อนข้างแพง ซื้อผ่านการประมูลในเว็บไซต์ www.ebay.com ส่วนใหญ่เป็นของไม่เคยเห็นวางขายในเมืองไทย คิดว่าจะสะสมไปเรื่อยๆ ซิปโป้สะสมอีก 100 ปีก็ไม่หมด แต่นักสะสมจะหมดเงินก่อน"
เน้นสะสมไฟแช็กแดนปลาดิบ-มะกัน -->
รังสรรค์อธิบายถึงซิปโป้สะสมเรียงรายหลายร้อยอันมีทั้งแบบใช้แล้ว และที่ยังห่อหุ้มอยู่ในถุงพลาสติกในสภาพใหม่กิ๊ก บ่งบอกให้รู้ว่ายังไม่เคยใช้งานมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซิปโป้ผลิตในสหรัฐอเมริกา ประเทศต้นตำรับและซิปโป้จากประเทศญี่ปุ่น
"ซิปโป้ของสหรัฐฯ เน้นทำออกมาเป็นลายคลาสสิก มีเรื่องราวประวัติศาสตร์อยู่ในนั้น เช่น ลายชุดสงครามครั้งต่างๆ ลายมาริรีน มอลโร ชุดเอลวิสตอนนี้มีมากกว่า 30 ลาย แต่เข้ามาเมืองไทยไม่หมด ก็ต้องหาทางอินเทอร์เน็ตต่อไป ต่างจากซิปโป้ของญี่ปุ่นจะเน้นแกะลายทันสมัย สีสันสวยงาม"
เขาอธิบายถึงซิปโป้สะสมแบบต่างๆต่อไปว่า ซิปโป้ผิวเรียบ ไม่มีลวดลายอะไรเลย ดังนั้นจึงเน้นดูที่ปีผลิต ยิ่งเก่ายิ่งดี "ชนิดพื้นผิวสีเงินมันเงา มีทั้งสีเงิน ทอง ทองแดง ,ชนิดผิวด้านหน้าและหลังแบบด้าน แต่ด้านข้างขัดเงา มีสีเงินและทอง ,ชนิดพ่นทราย ,ชนิดทำจากทองเค มีทั้ง 10K 14K ราคาแพงตามเปอร์เซ็นต์ของทอง ,ชนิดเคลือบเงิน ,ชนิดเคลือบทอง สะสมตามปีที่ผลิต ความแตกต่างของแต่ละรุ่น แต่ละปี โดยดูจากฐาน บางชิ้นผลิตขึ้นใหม่ แต่ใช้แบบของรุ่นเก่า ทำให้ต่างด้วยการระบุคำว่า REPLICA และปีที่ผลิต เพื่อไม่ให้สับสน"
"ซิปโป้ประเภทที่แกะสลักยี่ห้อ โลโก้ของบริษัทห้างร้าน สินค้าแบรนด์เนม รูปคน สัตว์ต่างๆ กีฬา ดารา นักร้อง การ์ตูน กองทัพ สัญลักษณ์ของประเทศต่างๆ ลายโฆษณาสินค้า เช่นรถยนต์ เหล้า บุหรี่ สายการบิน อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น สมัยก่อนเวลาช่วงเทศกาล บริษัทต่างๆ จะนำของขวัญไปให้ลูกค้า ดังนั้นเพื่อให้ลูกค้าจำได้จึงต้องใส่ลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ของบริษัท ต่างๆ เหล่านั้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริษัทไปในตัว ซิปโป้สมัยก่อนได้รับความนิยมมาก เวลามีงานแต่ละครั้งจะแจกของที่ระลึกเป็นซิปโป้แกะสลักชื่อ"
ซิปโป้รุ่นผลิตออกมาเป็นชุดๆ เนื่องในโอกาสพิเศษ เช่นชุดเกี่ยวกับกีฬา สัตว์ต่างๆ ที่ระลึกงานฉลองครบรอบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีชนิดที่ผลิตจำนวนจำกัด (Limited Edition) ,รุ่นพิเศษสำหรับสะสมของแต่ละปี (Collectible of The Year) เริ่มผลิตครั้งแรกคือปี 1992 จนถึงปี 2002 ซึ่งในแต่ละปีจะผลิตออกมาเพียงแบบหรือชุดเดียว และจำหน่ายเฉพาะในปีนั้นๆ ,รุ่นที่มีห่วงร้อยติดกับสลักบานพับ สำหรับร้อยเชือกหรือโซ่ กับไฟแช็กเพื่อป้องกันการสูญหาย ,รุ่นสลิม บางเรียว รูปร่างเล็กกะทัดรัด พกพาสะดวก และบางกว่าซิปโป้ของผู้ชาย เหมาะสำหรับสุภาพสตรี ใช้งานได้ กันลมได้ แต่น้ำมันจะหมดเร็วกว่ารุ่นปกติ
อีกรุ่นที่มีความนิยมอย่างมากได้แก่รุ่นที่เป็นการ์ตูนของดิสนีย์ เช่น มิคกี้เมาส์ เป็นต้น
"สมัยก่อนไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์จะมีไฟแช็คมิคกี้เมาส์ขาย เดี๋ยวนี้จะหาสภาพดีๆ ราคาประมาณ 40,000 บาท ผมใช้เวลาประมูลเป็นเวลา 2-3 เดือน ด้วยราคาหลายหลัก สาเหตุที่ราคาแพงเพราะว่าต้นทศวรรษ 1980 ดิสนีย์ได้รณรงค์ไม่ให้คนหันมาสูบบุหรี่ ดังนั้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบุหรี่จะเลิกจำหน่าย ของหายาก ทำให้มีราคาแพง"
เขาบรรยายซิปโป้แต่ละแบบอย่างเพลิดเพลินต่อไปว่า "ซิปโป้ของเก่าได้ความคลาสสิค เทคนิคไม่เยอะ แกะสลักชื่อโดยย่อ ลวดลายและสีสันไม่มาก แต่สมัยใหม่มีเทคนิค ลูกเล่น ลวดลายเยอะมาก บางอันทำเป็นลายแก้วเบียร์ พอเปิดไฟแช็ค ปริมาณเบียร์ในแก้วหมดก็สามารถทำได้ หรือซิปโป้ ชุดเซอร์ไพรส์ เช่น ลายไพ่ พอเปิดออกมากลายเป็นไพ่อีกใบซ่อนอยู่"
ในจำนวนซิปโป้เหล่านี้ หากจะถามว่าชิ้นไหนที่เขารักและหวงแหนที่สุดแล้ว ชายหนุ่มยิ้มน้อยๆก่อนจะตอบว่ามีเยอะมาก พร้อมกับหยิบ ซิปโป้แบบตั้งโต๊ะ เรียกว่ารุ่น เลดี้แบรดฟอร์ด (Lady Bradford) หนึ่งในซิปโป้ของรักออกมาชื่นชม
"พอศึกษามากขึ้น มีคนที่สนใจเข้ามาถาม ซึ่งอันไหนตอบไม่ได้ก็จะไปค้นคว้าเพิ่ม ทำให้ได้เห็นแบบอื่นๆที่ยังไม่มี จึงพยายามหาซื้อ อย่างแบบตั้งโต๊ะอยากได้มานาน แต่ราคาแพงมากและไม่รู้แหล่งซื้อขาย เพิ่งได้มาจากการประมูลในเว็บไซต์ เป็นไฟแช็กตั้งโต๊ะรุ่น 2 ผลิตปี 1947 ประมูลมาด้วยราคา 200 เหรียญสหรัฐ ส่วนรุ่น 1 หายาก ราคาประมูลประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐ ถามว่าชิ้นไหนชอบมากที่สุด มีเป็นสิบๆแบบ เช่น ไฟแช็กตั้งโต๊ะ รุ่นเลดี้ แบรดฟอร์ด อายุ 60 ปี แต่ว่ายังสภาพดี เป็นรุ่นที่สวยที่สุด อีกอย่างสลักอักษรตัวที ซึ่งเป็นอักษรชื่อเล่นของผม "
สะสมได้แม้ไม่ใช่สิงห์อมควัน -->
อเมริกาเป็นตลาดซิปโป้รายใหญ่ ขณะที่ตลาดซิปโป้ในญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้า มีปริมาณคนสะสมเยอะ โดยเฉพาะเป็นที่ฮิตมากในกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่น รังสรรค์เล่าว่าที่ญี่ปุ่นนิยมใช้ซิปโป้แทนสัญลักษณ์แสดงความเป็นโสด ดังนั้นจะเห็นมีคนที่หยิบซิปโป้ออกมาโชว์ตามแหล่งนัดพบของวัยรุ่น สำหรับนักสะสมในเมืองไทยมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่สะสมเพื่อความเท่ และกลุ่มสะสมเป็นงานอดิเรก
" นักสะสมมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้หญิงชอบลายญี่ปุ่น เพราะมีสีสันให้เลือกเยอะ คนสะสมเยอะ เป็นพันๆชิ้นก็มี หลายคนเป็นนักสะสม โดยที่ไม่สูบบุหรี่ แต่อยากสะสม"
ต้านกระแสลม-เสน่ห์ซิปโป้ -->
ชายหนุ่มพลิกมือที่กำลังจับไฟแช็กซิปโป้ไปมา ก่อนจะจุดประกายไฟให้สว่างขึ้น พร้อมกับเอ่ยว่าท่าเปิดและจุดไฟแช็กสัก 2-3 ปีก่อนมีประมาณ 500 ท่าทาง แต่ปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ท่าแล้ว
นอกจากจะมีลูกเล่นมากกว่าไฟแช็กธรรมดาแล้ว เสน่ห์ของซิปโป้ยังอยู่ที่คุณสมบัติไฟในการโต้กระแสลม
"ถ้าพูดถึงความนิยมใช้งาน ไฟแช็กทั่วไปอันละ 5 บาทนิยมมากกว่า เพราะหายก็หาย แต่ไม่มีดีไซน์ เล่นท่าได้ แต่จำกัด ขณะที่ซิปโป้มีเสน่ห์บางอย่างที่คนใช้จะรู้ คุณสมบัติพิเศษคือสู้ลม ไม่ว่าลมจะแรงขนาดไหนก็สามารถจุดไฟได้ ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นนิยมใช้ซิปโป้เป็นตัวทำความอบอุ่นให้มือ โดยการจุดไฟทิ้งไว้สักพัก แล้วนำมาเก็บใส่ในกระเป๋าแล้วล้วง เพื่อไม่ให้มือเย็นเกินไป หรือทหารสมัยสงครามจะพกพาซิปโป้ติดตัว บางครั้งถูกยิง แต่ไม่สัมผัสร่างกาย เพราะมีซิปโป้อยู่ในกระเป๋า ซิปโป้บางอันจึงมีรอยกระสุนฝังอยู่"
ของแท้-ของเทียม -->
ไฟแช็กซิปโป้มีทั้งของแท้ทั้งหมด หรือตัวเครื่องเป็นซิปโป้แท้ แต่แต่งลายภายหลัง หรือผลิตลอกเลียนแบบของจริงทั้งหมด ซึ่งเขาแนะนำวิธีสังเกตซิปโป้ของจริงและของปลอมว่าตรวจสอบจากปีที่ผลิต
"คนที่ใช้ของจริงมาระยะหนึ่ง พอจับจะรู้ว่าอันไหนของจริงของปลอม เนื้องานต่างกัน การจุดไฟของปลอมออกแรงมากกว่า เวลาเล่นท่าจะเจ็บมือ อาจจะเป็นเพราะบานพับ สปริงแข็ง จุดไฟติดยาก หรือเติมน้ำมันใช้ได้เป็นอาทิตย์ แต่ถ้าเป็นของปลอม ถึงจะเติมน้ำมันซิปโป้แท้ เพียง 4 วัน เชื้อเพลิงก็หมด และความทนทานต่างกัน"
"ตรวจสอบปีที่ผลิต ไฟแช็กซิปโป้ได้เริ่มผลิตเป็นครั้งแรกปี 1933 เป็นต้นมา ช่วงแรกตั้งแต่ ค.ศ.1933 ถึง 1957 ยังไม่มีการระบุปีที่ผลิตอย่างแน่ชัด แต่สามารถจำแนกได้โดยดูจากแบบและโมเดล ที่ผลิต รวมทั้ง หมายเลข ที่ระบุไว้ที่ก้น"
"พอปี 1958 นำสัญลักษณ์ ต่างๆ มากำหนดปีที่ผลิต ทำเป็นจุดกลม ด้านซ้ายและขวาของโลโก้ซิปโป้ ต่อมาทำเป็นขีดตรง ขีดเอียงขวา ขีดเอียงซ้าย ปี 1986 ระบบการใช้สัญลักษณ์แบบลดขีดถูกเปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดใช้ตัวเลขโรมันแทนปีที่ผลิต และตัวอักษร A-L แทนเดือนที่ผลิต ตัวอย่างเช่น A = มกราคม B = กุมภาพันธ์ ปัจจุบันใช้วิธีระบุปีที่ผลิต"
เขาแนะนำต่อไปว่าควรจะใช้อะไหล่อุปกรณ์ของจริงเพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน
"ถ่านซิปโป้ปลอมทำให้อายุการใช้งานสั้นลง ถ่านถ้าแข็งมาก ทำให้เฟืองที่ได้ชื่อว่าเฟืองจุดไฟที่ดีที่สุดในโลก สามารถใช้จุดได้หลายหมื่นครั้งโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ถ้าใช้ถ่านปลอมทำให้เฟืองสึกหรอเร็ว"
ชายหนุ่มเล่าประสบการณ์ที่เคยเผชิญมาว่า "ผมเคยซื้อซิปโป้ลายมิคกี้เมาส์ที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นยังไม่ได้ศึกษาวิธีดูลายมิคกี้เมาส์มาก่อน ทำให้ได้ลายของปลอม แต่ของปลอมบางอันก็สามารถขายได้ เพราะอย่างน้อยตัวไฟแช็กก็เป็นของแท้ หรืออาจจะเป็นเพราะตัวเลขวันที่ผลิตตรงกับวันเกิดของคนซื้อ เคยมีกรณีตัวเครื่องข้างในและข้างนอกระบุปีผลิตต่างกัน ถ้าต่างกันไม่กี่เดือน อาจจะเกิดจากความผิดพลาดระหว่างขั้นตอนการผลิต แต่ถ้าต่างกันข้ามปี ตรงนี้อาจจะถูกหลอกได้"
ยืดอายุด้วยการดูแล -->
หากได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ไฟแช็กซิปโป้อาจจะมีอายุการใช้งานได้เป็นสิบๆปี เขาแนะนำวิธีดูแลว่าอันไหนไม่ได้นำออกมาใช้ จัดเก็บโดยห่อหุ้มด้วยพลาสติก ไม่ให้โดนอากาศ ของใหม่ที่ซื้อมาไม่ค่อยจับบ่อย เพราะรอยมือ ถ้าทิ้งไว้นานจะเช็ดไม่ออก อันไหนใช้งานแล้วจะใช้อย่างทะนุถนอม ไม่เอาไปเล่นทริกมากเกินไป ประกอบกับหมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าด้านในของตัวตลับนอกโดยเฉพาะส่วนฝา และทำความสะอาดตัวถังด้านในบริเวณปากปล่อง โดยใช้เศษผ้า และก้านสำลีจุ่มน้ำมันไฟแช็กหมาดๆ เช็ดคราบเขม่าตามซอกต่างๆ
นับเป็นของสะสมอีกชิ้นที่นักสะสมไม่จำเป็นต้องเป็นสิงห์อมควันก็สามารถสะสมเป็นคอลเลคชันไว้ชื่นชมได้
******
ประวัติไฟแช็คซิปโป้
จอร์จ จี. เบลสเดลล์ (George G. Blaisdell) คิดค้นและก่อตั้งบริษัท Zippo Manufacturing Company ขึ้นครั้งแรกในปี 1932 สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งในงานเต้นรำ เขาได้ออกมาพักสูบบุหรี่ ที่นั่นเขาได้เห็นเพื่อนคนหนึ่งพยายามที่จะจุดไฟแช็ก โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างด้วยความลำบาก เขาสงสัยว่าทำไมใช้ไฟแช็กราคาถูก เพื่อนคนนั้นบอกกับเขาว่า ไฟแช็กที่ดีมีไว้สำหรับจุดไฟ เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการจะจุดมันต้องติด ไม่ว่าลมจะแรงขนาดไหน หรือสถานการณ์ใดๆ ไฟแช็กที่มีราคาแพง และสวยงามแต่จุดไม่ติดจะมีไปทำไม
เขาเก็บคำพูดเหล่านั้นมาคิดและคิดวิธีทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น เขาจึงนำไฟแช็กนั้นมาชุบโครเมี่ยมที่ฝา และเพิ่มราคาขายเป็น 1 ดอลลาร์ แต่ขายไม่ได้ ต่อมาได้ค้นพบข้อเสียของไฟแช็ก จึงทำการคิดค้น แก้ไข ดัดแปลงเพื่อแก้ปัญหาและข้อเสียต่างๆ ให้เป็นไฟแช็กที่สมบูรณ์
จากนั้นเขาได้ค้นคิดและพัฒนาไฟแช็กให้มีขนาดเหมาะสมกับฝ่ามือ และใส่บานพับเพื่อยึดฝาและตัวถึง แต่สามารถเปิด ปิดได้ ด้วยมือข้างเดียวโดยไม่มีปัญหาใดๆ เหมือนกับที่เพื่อนเขาที่เจอกันในคืนวันนั้น และนำแผ่นโลหะเจาะรูเหมือนกับไฟแช็ก เพื่อป้องกันลม แล้วตั้งชื่อไฟแช็คนี้ว่า "ซิปโป้"
ตั้งแต่นั้นมาไฟแช็กซิปโป้รุ่นแรกจึงถูกวางจำหน่ายในปี 1932 ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีบานพับสามข้อด้านนอก ปัจจุบันถือเป็นไฟแช็กหายากและมีราคาแพง
****
เรื่อง - ศิริญญา มงคลวัจน์