ใครจะเชื่อว่าแฟชั่นสุดเริ่ดที่เหล่านางแบบนายแบบใส่เดินโชว์บนแคตวอล์กเหล่านี้จะเป็นผลงานของนักศึกษาจากสถาบันการออกแบบแฟชั่นที่ตั้งอยู่ภายใน 'วัด' และเป็นสถาบันที่ก่อตั้งโดยเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุถึง 86 ปี นอกจากจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนจาก Academia Italiana ประเทศอิตาลี และอิมพอร์ตอาจารย์จากแดนมะกะโรนีแล้ว ว่ากันว่าค่าเล่าเรียนยังถูกกว่าหลักสูตรแบบเดียวกันถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
เกิดในวัดแต่หลักสูตรอิตาลี
แฟชั่นกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับค่านิยมในสังคมปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่สถาบันสอนออกแบบแฟชั่นจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ที่แปลกและแตกต่างคือ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือ CIDI (Chanapatana International Design Institute) แห่งนี้เกิดขึ้นภายในวัดธรรมมงคล โดยเกิดจากดำริของ 'หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร' เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล พระซึ่งเชี่ยวชาญด้านสมาธิวิปัสสนาและสามารถเทศนาสอนเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มเรียนภาษาตอนอายุ 79 ปี
ที่น่าสนใจคือการเรียนการสอนของชนาพัฒน์ใช้หลักสูตรเดียวกับ Academia Italiana สถาบันออกแบบชื่อดังแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี นอกจากอาจารย์ผู้สอนจะเป็นชาวยุโรปจากสถาบันดังกล่าวแล้ว หลักสูตรของชนาพัฒน์ยังได้รับการรับรองจาก Ministry of Public Education ด้วย
แต่ในทางกลับกันค่าเล่าเรียนที่ชนาพัฒน์เรียกเก็บจากนักศึกษากลับถูกกว่าสถาบันออกแบบทั่วไปถึง 5 เท่า คือตกประมาณเทอมละ 30,000 กว่าบาท หรือหลักสูตรละประมาณ 120,000 บาท (หลักสูตร 2 ปี) ขณะที่สถาบันออกแบบที่มีการเรียนการสอนในมาตรฐานเดียวกันจะมีค่าใช้จ่ายถึง 500,000-600,000 บาทต่อหลักสูตร ทั้งนี้เพราะนอกจากชนาพัฒน์จะเป็นสถาบันที่ไม่มุ่งแสวงกำไรแล้ว หลวงพ่อวิรัยังค์และบรรดาญาติธรรมต่างช่วยกันสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่นักศึกษาด้วย
นักศึกษาได้โชว์ผลงานที่มิลาน
วิชัย กุลสมภพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ขยายความถึงที่มาที่ไปของสถาออกแบบแห่งนี้ ว่า
"สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งหลวงพ่อวิริยังค์ท่านมองว่าอยากจะช่วยให้คนไทยฟื้นตัวจากวิกฤษตเศรษฐกิจ ซึ่งศิลปะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะใช้สร้างอาชีพได้ ท่านจึงคิดว่าอยากจะตั้งสถาบันสอนออกแบบ ก็มามองว่าใครที่เก่งด้านการออกแบบ บางคนบอกลอนดอน บางคนก็บอกนิวยอร์ก สุดท้ายก็มาลงตัวที่อิตาลี โดยเลือกหลักสูตรของ Academia Italiana จากเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งถือว่าเป็น TOP THREE ของอิตาลี และอาจารย์ที่เขามาช่วยสอนก็จะคิดค่าจ้างที่ถูกมาก
"นอกจากหลักสูตรจากสถาบันออกแบบชั้นนำแล้วสิ่งหนึ่งที่คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักศึกษาคือในแต่ละปีทางชนาพัฒน์จะคัดเลือกผลของนักศึกษาไปจัดแสดงร่วมกับผลงานของนักศึกษา Academia Italiana จากเมืองฟลอเรนซ์ โดยแสดงที่มิลาน ประเทศอิตาลี ถ้าเป็นแฟชั่นดีไซน์ก็เรียกว่าเรานำเสื้อผ้าไปโชว์บนแคตวอล์กที่มิลานเลยทีเดียว ถ้าถามว่าโอกาสแบบนี้สถาบันออกแบบในไทยตอนนี้มีไหม ก็ตอบได้ว่ายังไม่มี
"ที่สำคัญค่าเล่าเรียนเราถูกมากเพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ตั้งแต่ตั้งสถาบันมาเราขาดทุนทุกปี ปีๆหนึ่งเราขาดทุนเป็นล้าน เพราะเราต้องการสร้างบุคลากรมืออาชีพในด้านการออกแบบให้แก่สังคมไทย แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นต้องมีคนเสียสละ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเราสามารถผลิตนักศึกษาได้ 300 กว่าคนแล้ว"
ให้ทุนไปเรียนต่ออิตาลี
ทั้งนี้ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์เปิดสอน 2 หลักสูตร คือ สาขาออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) และสาขาออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ (Interior and Product Design) ใช้เวลาศึกษา 2 ปี โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับ Diploma หรือประกาศนียบัตรรับรอง อีกทั้งยังสามารถเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่สถาบันพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ในสาขา Interior Design และสาขา Industrial Art Technology โดยใช้เวลาศึกษาเพียงหนึ่งปี-สองปีครึ่ง นอกจากนั้นทางสถาบันยังให้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลีเป็นเวลา โดยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาละ 1 คน
'ตู่' ณัฐวัฒน์ สีวรา นักศึกษารุ่นที่ 3 ของสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ซึ่งได้ทุนจากทางสถาบันฯให้ไปศึกษาต่อในหลักสูตรแฟชั่นดีไซน์ที่ประเทศอิตาลี กล่าวว่า
"ดีใจมากที่ทางสถาบันให้โอกาสเรา มันเป็นโอกาสที่ดีมากๆในชีวิตเพราะเราจะได้ไปสัมผัสกับเมืองแฟชั่นจริงๆ ได้รู้ว่าวงการแฟชั่นระดับสากลเขาทำงานกันอย่างไร คือก่อนจะได้รับทุนผลงานชุด 'Theater' ของผมได้รับคัดเลือกไปแสดงที่ Academia Italiana ที่อิตาลีก่อน งานชุดนี้ผมจับเอาศิลปะแนว 'อาร์ต นูโว' ซึ่งมีเส้นสายที่สวยงามมาผสม และเอาโครงเสื้อมาจากละครคาบูกิซึ่งเป็นละครโบราณของญี่ปุ่น คืองานผมอาจจะไปเข้าตาอาจารย์เข้าเลยได้รับทุน (หัวเราะ)
คิดว่าเราได้อะไรจากชนาพัฒน์เยอะมาก ที่สำคัญที่นี่ให้เราทำงานด้านแฟชั่นอย่างครบวงจรตั้งแต่พื้นฐาน เช่น ประวัติศาสตร์แฟชั่น พื้นฐานการวาดเส้นและแพตเทิร์นดีไซน์ การสร้างคอลเลกชั่น การออกแบบ ตัดเย็บ ไปจนถึงการทำธุรกิจ คือก่อนที่จะมาเรียนด้านด้านดีไซน์ผมทำเปิดร้านเสื้อผ้าอยู่ที่สยาม แต่ปัญหามันเยอะ คือช่วงแรกทำกับเพื่อนแล้วงานของเพื่อนเขาเยอะอยู่แล้ว เราก็เลยต้องมาทำเองหมด ทั้งที่เราไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นเลยก็เลยตัดสินใจมาเรียนแฟชั่นดีไซน์
ตอนแรกผมเรียนที่สถาบันอื่นมาก่อนแต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เพราะวันๆ เขาให้นั่งวาดรูปอย่างเดียว พอมาเจอที่ชนาพัฒน์ก็ตัดสินใจทิ้ง crouse ที่นั่นเลยทั้งที่จ่ายไปเงินไปเป็นแสนแล้ว ที่ชนาพัฒน์เขาจะสอนให้เราดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมา แต่สถาบันแฟชั่นทั่วไปจะบอกให้เราทำตามแบบที่เขามีอยู่แล้ว พอผลงานออกมาทุกคนก็จะเป็นแพทเทิร์นเดียวกันหมด"
ขณะที่ 'เบียร์' บุษกร คชเสนีย์ นักศึกษารุ่น 2 นักเรียนทุนของชนาพัฒน์ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากอิตาลี กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากสถาบันแฟชั่นที่อิตาลี ว่า
"ไปเรียนที่อิตาลีมา 10 เดือน ก็ได้ไปสัมผัสของจริง เห็นความแตกต่างของงานแฟชั่นแต่ละประเทศ ไปเรียนที่โน่นเราจะในส่วนของกระบวนการทางความคิดในแง่ของการดีไซน์ ได้รู้เทคนิคการออกแบบแฟชั่นของเขา ซึ่งสามารถเอามาปรับใช้กับการออกแบบที่บ้านเราได้ เหมือนกับว่าที่ชนาพัฒน์เขาปูพื้นฐานให้เรา แล้วเราก็ไปต่อยอดที่อิตาลี อิตาลีเขาเป็นเมืองแฟชั่นซึ่งจะเปลี่ยนเร็วมาก เปลี่ยนทุก 3 เดือน"
นักเรียนหลากวัย หลายระดับการศึกษา
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้ปัจจุบันสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์สามารถรับนักศึกษาได้เพียงปีละ 160 คนเท่านั้น โดยแบ่งเป็นสาขาออกแบบแฟชั่น 80 คน และสาขาออกแบบตกแต่งภายในฯ 80 คน ซึ่งนักศึกษาของชนาพัฒน์นั้นไม่จำกัดวัย เพียงแต่ต้องจบการศึกษาขั้นต่ำ ม.6 ขึ้นไป เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนเป็นชาวอิตาเลียนทางสถาบันจึงต้องการให้นักศึกาษามีพื้นความรู้ด้านภาษาอังกฤษมาบ้าง อาจเป็นภาพที่ค่อนข้างแปลกตาสำหรับผู้พบเห็นเพราะในห้องเรียนของชนาพัฒน์มีนักศึกษาหลากหลายวัย ตั้งแต่รุ่นกระเตาะจนถึงวัยเกษียณ มีทั้งตั้งแต่ผู้ที่จบแค่ ม.6 ไปยันระดับด็อกเตอร์ แต่ที่น่าประทับใจคือทุกคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
'แนตตี้' นัทลี รัตสถิตย์ วัย 17 ปี นักศึกษารุ่น 4 ของสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ เล่าถึงความประทับใจที่ได้จากเรียนที่สถาบันออกแบบแห่งนี้ ว่า
"แนตจบ ม.3 ที่วัฒนาวิทยาลัย แล้วไปเรียนต่อ กศน. ถึง 6 มาเรียนที่นี่เพราะคิดว่าเป็นสถาบันที่น่าสนใจเนื่องจากอาจารย์ผู้สอนมาจากอิตาลีเลย หลักสูตรก็เป็นของอิตาลี แต่ค่าเรียนถูกกว่ามาก คือตกเทอมละ 38,500 บาท เรียนทั้งหมด 4 เทอมก็ประมาณแสนกว่าบาท ถ้าไปเรียนถึงเมืองนอกเราคงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว แล้วที่นี่อาจารย์ดูแลดีมาก เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทุกคนช่วยกันหมด บางคนไปเก่งภาษาอังกฤษก็ช่วยกันอธิบาย อาจจะเป็นเพราะว่าทุกคนมีความสนใจแฟชั่นอยู่แล้ว พออาจารย์อธิบายพร้อมทั้งวาดรูปประกอบไปด้วยทำให้สามารถเข้าใจได้ไม่อยาก"
ผลงานระดับอินเตอร์
แม้จะเป็นสถาบันออกแบบที่ก่อตั้งมาได้เพียง 6 ปี แต่ในด้านผลงานนั้นต้องเรียกว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย โดยนักศึกษาของชนาพัฒน์สามารถคว้ารางวัลมาแล้วจากหลากหลายสถาบัน อาทิ รางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์ของร้านภูฟ้า ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รางวัลการประกวดผลิตภัณฑ์นานาชาติ(โคมไฟ) จากงาน Echi di Luce 03 ประเทศอิตาลี ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด Thailand Wedding Designer Award 2004
รางวัล Difference Design Award 2004 ซึ่งจัดโดย Cotto Tile, รางวัลจากการประกวด Leather Goods Designing Contest 2004 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, รางวัลจากการประกวดออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอด้วยกระเบื้องโมเสค ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท สหโมเสก จำกัด นอกจากนั้นยังได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงแฟชั่นในงาน Bangkok Fashion Week 2005 และ 2006
'เจิร์น' ธนพร แก้วลอยฟ้า นักศึกษารุ่นที่ 3 ของสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด Thailand Wedding Designer Award 2004 พูดถึงของเธอว่า
"ภูมิใจมากที่ได้รางวัลนี้มา คือเขาตั้งคอนเซ็ปว่าชุดวิวาห์แห่งอนาคต เราก็ใส่เต็มที่เลยซึ่งบางคนอาจจะมองว่าโอ้ย...เปรี้ยวเหลือเกิน เพราะของเจร์นเป็นกางเกงกับเสื้อเกาะอก แต่เจิร์นมองว่ามันเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งก็ไม่แน่ว่าต่อไปสาวๆอาจจะลุกขึ้นมาใส่ชุดแต่งงานแบบนี้ก็ได้
ก็ต้องขอบคุณหลวงพ่อวิริยังค์ที่ท่านเปิดสถาบันชนาพัฒน์ขึ้นมา ทำให้พวกเรามีโอกาสทั้งด้านการเรียนและการสร้างสรรค์ผลงาน เจิร์นได้ทำผลงานส่งในหลายเวทีซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รางวัลกลับมา นอกจากนั้นยังมีโอกาสไปทำงานกับไข่บูติกด้วย ปัจจุบันเจิร์นเป็นดีไซเนอร์อิสระ ก็รับงานแฟชั่นดีไซน์จากหลายที่ ตอนนี้ก็ทำคอลเลกชันให้ไข่บูติกอยู่"
'ตาล' รวิกร ถวิลญาติ นักศึกษารุ่นที่ 4 ของชนาพัฒน์ ซึ่งผลงานของเธอได้คัดเลือกให้ร่วมแสดงในงาน Bangkok Fashion Week บอกว่า
"ดีใจมากเลยที่ได้ไปร่วมโชว์ผลงานทั้งที่เราเรียนแฟชั่นแค่ 2 ปี เราได้ไปขึ้นเวทีเดียวกับคนที่เขารียนมา 4 ปี แสดงว่าผลงานของเราเป็นที่ยอมรับ ตาลเองจะชอบงานที่ละเอียดอย่างพวกงานแฮนด์เมด อย่างการถักเนตติ้ง ก็เลยดึงความเป็นตัวตนของเราไปใส่ในงาน ที่ชนาพัฒน์จะสอนให้เราออกแบบเสื้อผ้าที่สามารถนำไปใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะการที่เราจะเติบโตในสายงานนี้ได้นั้นที่สำคัญคือผลงานของเราต้องขายได้ด้วย"
ด้าน 'เบียร์'บุษกร คชเสนีย์ บอกว่า ผลงานของเธอได้ไปโชว์ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี โดยใช้ชื่อผลงานว่า 'มวยไทย' ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีถึงขนาดมี Costume Design จากฮ่องกงติดต่อขอซื้อผลงานของเธอในราคาถึง 5 หมื่นบาท
"แฟชั่นชุด 'มวยไทย' ที่นำไปโชว์ครั้งนั้นจะเป็นแนวสตรีตแวร์ และประดับด้วยตัวอักษรแบบไทยๆ ส่วนผลงานชุดล่าสุดของเบียร์จะเป็นแนว Core Concept ซึ่งรูปแบบมันโตขึ้น พอเราเข้าเรียนตรงนี้ทำให้มั่นใจว่าเราสามารถนำความรู้ไปเลี้ยงชีพได้ ตอนนี้นอกจากจะเป็นหัวหน้าส่วนวิชาการที่สถาบันชนาพัฒน์แล้วเบียร์ยังรับงานฟรีแลนซ์ด้วย ส่วนใหญ่จะงานออกแบบเสื้อผ้าและกราฟฟิกดีไซน์"
เตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาโทปีนี้
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของชนาพัฒน์ กล่าวตบท้ายถึงโครงการในอนาคตของสถานออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ว่า
"ในเดือน ก.ย.ปีนี้ทางสถาบันกำลังจะเปิดหลักสูตรปริญญาโท ทั้งสาขาออกแบบแฟชั่น และสาขาออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ โดยเราร่วมกับมหาวิทยาลัยโยนก คือผู้ที่จบหลักสูตรจะรับปริญญาจากทางโยนก ซึ่งถือเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งให้แก่ผู้ที่สนใจจะศึกษาด้านนี้"
แม้โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นจะเปิดตัวมาหลายปีแล้ว แต่หนทางที่ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดี สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์น่าเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะพัฒนาวงการแฟชั่นไทยให้เติบโตต่อไปในอนาคต
////////////////////////////////
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน