ปีหนึ่งงบประมาณทางการทหารที่ต้องนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศนั้นมีมูลค่ามหาศาล แม้งบประมาณส่วนนี้จะมีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในการป้องกันประเทศ แต่แทบจะเรียกได้ว่าผูกขาดเทคโนโลยีทางการทหารของชาติมหาอำนาจตะวันตก ก็ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าในส่วนนี้ไม่น้อย
แต่วันนี้ ยานยนต์หุ้มเกราะที่ใช้ในการทหารฝีมือประดิษฐ์ของคนไทยคันแรกได้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง และส่งมอบให้แก่กองทัพไทยเพื่อนำไปทดสอบและใช้งานในภารกิจลาดตระเวนและลำเลียงพลของกองทัพในอนาคต นวัตกรรมดังกล่าวไม่เพียงเป็นการพลิกโฉมหน้านวัตกรรมทางการทหารครั้งใหญ่ของไทย แต่ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองทัพนักวิจัยไทยที่ไม่แพ้ชาติไหนในโลก
เปิดนวัตกรรมยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์
ใครเลยจะนึกถึงว่า รถกระบะที่เราเห็นวิ่งขวักไขว่ตามถนนจนคุ้นตา จะสามารถนำมาดัดแปลงประดิษฐ์จนกลายเป็นรถหุ้มเกราะที่สามารถนำไปใช้ในภารกิจทางการทหารได้
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ให้การสนับสนุนโครงการ “ต้นแบบยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์” ให้กับบริษัทไทยทศกิจอุปกรณ์ จำกัด เพื่อสร้างต้นแบบยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ขนาดเบาทางยุทธวิธี ‘อัศวิน’ โดยมีมูลค่ารวมของโครงการกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตวัสดุหุ้มเกราะแข็งกันกระสุนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และชุดป้อมปืนอัตโนมัติของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม กระทรวงกลาโหม (สวพ.กห.) มาพัฒนาเป็นต้นแบบรถยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ขนาดเบาทางยุทธวิธีที่มีคุณลักษณะเหมาะกับการใช้งานในภารกิจลาดตระเวนและลำเลียงพลของกองทัพ
ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนายานยนต์ต้นแบบทางทหาร สามารถนำข้อมูลจากการผลิตระดับต้นแบบและทดสอบการใช้งาน มากำหนดมาตรฐานของยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ของกองทัพไทยได้ ช่วยลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์ทางทหาร และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต
“นวัตกรรมชิ้นนี้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการใช้ศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศมาสร้างยุทโธปกรณ์ทางทหาร เพื่อทดแทนความต้องการรถยนต์บรรทุกขนาดเบา 1.25 ตัน ที่ใช้ในภารกิจลาดตระเวนและลำเลียงพล ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
ที่สำคัญคือ การพัฒนานี้ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารอันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศได้ในอนาคต รวมถึงยังสร้างทางเลือกในการพัฒนายานยนต์อเนกประสงค์ให้แก่อุตสาหกรรมประกอบและดัดแปลงรถยนต์ของประเทศได้ เช่น การพัฒนายานยนต์อเนกประสงค์เพื่อใช้งานด้านการแพทย์ หรือการใช้งานด้านป้องกันสาธารณภัย ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก
ดร.ประวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ทางทหารในครั้งนี้ ช่วยให้กองทัพไทยสามารถกำหนดมาตรฐานยานยนต์ทางทหารของตนเองได้ หากมองการพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์ นอกจากมีมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาอะไหล่สำรองของยานยนต์ทหารได้ และเป็นการกระตุ้นพัฒนาการยานยนต์อเนกประสงค์ของประเทศ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมประกอบและผลิตชิ้นส่วนมีทางเลือกในการพัฒนาสินค้ามากขึ้น
ด้าน พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การรับมอบรถหุ้มเกราะอัศวินเพื่อนำไปทดสอบและพัฒนาใช้งานร่วมกับป้อมปืนและอาวุธต่างๆ เพื่อให้ยานยนต์นี้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติยุทธวิธีอย่างแท้จริง นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญอันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของกระทรวงกลาโหม ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงกลาโหมเองได้พัฒนายานยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อที่ประกอบในท้องตลาดทั่วไปมาใช้เป็นยานยนต์ทางทหาร โดยได้นำไปใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นๆ
“การพัฒนายานยนต์หุ้มเกราะเป็นความใฝ่ฝันของหน่วยทหารในพื้นที่ ที่ต้องการให้มีการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น การดำเนินการจัดทำรถต้นแบบในวันนี้ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานของหน่วยในพื้นที่ประสบความสำเร็จ ผมในนามของกระทรวงกลาโหมขอให้คำมั่นว่ากระทรวงกลาโหมจะพยายามพัฒนารถต้นแบบจากที่ได้ในวันนี้ นำไปใช้ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง มีมาตรฐาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในโอกาสข้างหน้านอกเหนือจากการเป็นผู้ใช้แล้ว เราจะเป็นผู้ที่สามารถผลิตยานยนต์หุ้มเกราะทางยุทธวิธีเข้าสู่ตลาดและพัฒนาประเทศอื่นต่อไป”
เจ๋งเทียบเท่า ‘ฮัมวีย์’ ของอเมริกา
ศุภชัย หล่อโลหาร ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาครั้งนี้เป็นการพัฒนานวัตกรรม 3 ระดับ คือ ระดับแรก โครงสร้างรถยนต์ โดยดัดแปลงรถกระบะด้วยการพัฒนานวัตกรรมการออกแบบตัวถังและโครงสร้างยานยนต์ขนาดเบาตามมาตรฐานนาโต้ (NATO) และกลาโหมไทย
ระดับที่สองคือ ยานยนต์เกราะแข็งกันกระสุนเป็นการใช้เซรามิกที่มีส่วนผสมจากใยสังเคราะห์และอะลูมิเนียมออกไซด์ เพื่อผลิตแผ่นเกราะแข็งกันกระสุน จึงทำให้มีน้ำหนักเบา สามารถยืดหยุ่นและป้องกันแรงกระแทกจากกระสุนได้
ส่วนระดับที่สาม คือการนำชุดระบบขับเคลื่อน (Power Train) รุ่น Pajero V78 W มาออกแบบตัวถังและโครงหลังคาใหม่ พร้อมช่องติดปืนกล ESCS ที่มีระบบควบคุมการยิงจากภายในตัวถังรถ โดยประกอบเชื่อมตัวถังเป็นแบบโมโนคอก (Monocogue) เน้นการออกแบบให้มีมิติเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม พร้อมออกแบบช่องใส่แผ่นเกราะแข็งกันกระสุนชนิดถอดประกอบได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี และนำชุดป้อมปืนอัตโนมัติติดตั้งบนรถยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ซึ่งเป็นการพัฒนาและวิจัยของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม
ผอ.สวช. ยืนยันว่า รถยนต์หุ้มเกราะอัศวินได้มาตรฐานเทียบเท่ายานยนต์หุ้มเกราะของต่างประเทศ ตามมาตรฐาน NIJ ไม่ต่ำกว่าระดับที่ 3 โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรถ Humwee ของสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่ากว่า 1.75 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7-8 ล้านบาท ขณะที่ราคาขายในประเทศของยานยนต์หุ้มเกราะอัศวินอยู่ที่เพียง 5 ล้านบาทต่อคัน ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าหลังผ่านการทดสอบแล้ว จะมีกำลังผลิตได้ 500 คันต่อปี แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 200 คัน มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนต่างประเทศตั้งเป้าไว้ที่ปีละประมาณ 300 คัน หรือมูลค่าทางการตลาด 1,000-1,500 ล้านบาท
จากงานวิจัยสู่งานพาณิชย์
ที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งของนักวิจัยไทย นอกจากเรื่องการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนแล้ว อีกปัญหาที่สำคัญคือ การขาดการต่อยอดผลงานวิจัยที่ทำออกมาสำเร็จ แต่ทว่าไม่มีใครนำไปต่อยอดหรือปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ส่วนมากงานวิจัยไทยหลายชิ้นจึงมักจบลงเพียงบนหน้ากระดาษ ไม่มีการพัฒนาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ความสำเร็จของโครงการ “ต้นแบบยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์” ที่ผลิตรถหุ้มเกราะอัศวินจึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สามารถร่วมมือกันสร้างให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมต่อยอดจากผลงานวิจัยได้อย่างบูรณาการ
“การสร้างเทคโนโลยีถึงระดับนวัตกรรมนั้นมีความจำเป็นจะต้องมีองค์กรที่มีพันธกิจโดยตรงที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและพัฒนา อีกทั้งประสานกับหน่วยงานวิจัยกับภาคเอกชนเพื่อต่อยอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งใช้กลไกสนับสนุนด้านการเงินเข้าร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจฐานความรู้ หรือ knowledge-based business จำนวนมากขึ้นในประเทศ” รักษาการ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
ทศพร เพชรกำแพง ประธานบริษัทนวัตกรรมอัศวินไทย ที่แยกตัวออกมาจากบริษัทไทยทศกิจอุปกรณ์ จำกัด ภาคเอกชนที่ได้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมรถหุ้มเกราะอัศวิน กล่าวถึงการมีโอกาสได้รับผิดชอบในการจัดการงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ร่วมกับ สวช.ว่า บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลคุณลักษณะเฉพาะยานยนต์หุ้มเกราะจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม และยังได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการในการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบยานยนต์หุ้มเกราะจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อให้ได้ยานยนต์หุ้มเกราะที่มีสัดส่วนที่เหมาะสม รวมถึงการคำนวณลักษณะของโครงสร้างที่สามารถรับน้ำหนักของเกราะกันกระสุนและป้อมปืนอัตโนมัติได้ ส่วนเทคโนโลยีการผลิตเกราะเซรามิกกันกระสุนนั้น เป็นผลงานที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ศึกษาวิจัยมาก่อนหน้านี้ จึงสามารถยืนยันได้อย่างภาคภูมิใจว่า ‘รถหุ้มเกราะอัศวิน’ คือผลงานการผลิตและออกแบบที่มาจากมันสมองและฝีมือของคนไทย คันแรกและคันเดียว 100 เปอร์เซ็นต์
“จากผลงานวิจัยของภาควิชาเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีผลงานโดดเด่น ซึ่งเราเห็นว่าเนื้องานของแผ่นเกราะนั้นมีความจำเป็นต้องประสานกันระหว่างวัสดุสองอย่างเป็นอย่างน้อย ถ้าใช้อย่างเดียวน้ำหนักต้องเกินแน่นอน เช่นใช้เหล็กหนาๆ ก็ไม่ไหว เซรามิกก็เป็นตัวเลือกที่ดี เมื่อเราติดต่อไปทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีก็ยินดี ติดอยู่อย่างเดียวคือการเผาที่อุณหภูมิสูงนั้นทางมหาวิทยาลัยมีแต่เตาเผาขนาดเล็ก ไม่พร้อมในแง่การทำเป็นแมสโปรดักต์ เราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการติดต่อไปที่เอ็มเท็กซ์ที่เขามีเตาเผาขนาดใหญ่พอสมควรเป็นแมสโปรดักต์ สามารถเผาที่อุณหภูมิ 1,700 องศาขึ้นไป”
ทศพรกล่าวถึงกระบวนการผลิตต้นแบบยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ขนาดเบาทางยุทธวิธี ‘อัศวิน’ ที่ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคมากมายกว่าจะสำเร็จและส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมนำไปทดสอบเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา
“คงจะมีน้อยคนที่สามารถผลักดันผลงานวิจัยให้หลุดออกไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในสังคมได้ ส่วนใหญ่นักวิจัยจะทำมาถึงครึ่งทางแล้วแผ่วหมด เพราะว่าขาดคนที่จะมาฟันธงว่างานวิจัยนั้นจะไปจบตรงไหน เมื่องานวิจัยจบแล้วจะเป็นแมสโปรดักต์ได้หรือไม่ ซึ่งหาคนคิดแบบนี้ยาก จริงๆ แล้วจุดมุ่งหมายของเราไม่ได้ต้องการผลิตเยอะ แต่ปัจจุบันนี้เราต้องการเปิดนวัตกรรมยานยนต์ทางทหาร ให้ทั่วโลกรู้ว่าเราเองก็มีความสามารถในการผลิตอย่างนี้ได้ และหวังว่าในอนาคตเมื่อมีเครือข่ายของนักวิจัยแล้ว ก็คิดว่าน่าจะสามารถผลักดันการผลิตให้รวดเร็วกว่านี้ขึ้น”
ซึ่งขณะนี้ มีผลตอบรับจากนานาชาติต่อนวัตกรรมไทยชิ้นนี้จำนวนมาก หลายชาติติดต่อให้ความสนใจที่จะสั่งซื้อยานยนต์หุ้มเกราะ ‘อัศวิน’ หากทางประเทศไทยเสร็จสิ้นกระบวนการทดสอบและพร้อมที่จะผลิตออกจำหน่าย อาทิ เนปาล, บังคลาเทศ, แอฟริกา และอังกฤษซึ่งจัดซื้อไปเพื่อจำหน่ายแก่ประเทศในโซนตะวันออกกลาง นอกจากมีผู้สนใจจะนำไปใช้ทางการทหารแล้ว ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มองค์กรธุรกิจรักษาความปลอดภัย เช่น รถขนเงิน ที่สนใจรถหุ้มเกราะกันกระสุนน้ำหนักเบา หาซื้อง่าย และราคาไม่แพงเท่าสั่งซื้อจากต่างประเทศ
“รถหุ้มเกราะทั่วโลกจะคล้ายๆ กัน จะแตกต่างกันตรงที่นวัตกรรมการออกแบบแผ่นกันกระสุนที่มีน้ำหนักเบา ประกอบถอดง่าย ซ่อมบำรุงง่าย ตัวรถก็หาง่าย ซึ่งอันนี้เป็นลิขสิทธิ์ที่เป็นคอนเซ็ปต์ของเราอยู่แล้ว เราวิจัยชิ้นส่วนต่างๆ มาทดสอบจนแน่ชัดว่า รถที่เราออกแบบเมื่อประกอบชุดเกราะกันกระสุนจะสามารถทำให้น้ำหนักเกราะกันกระสุนลดลง 20% เราตั้งเป้าไว้ว่าจะลดให้ได้ถึง 30% ในอนาคต ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่ารถต้นแบบ”
นอกจากน้ำหนักเบา จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของรถหุ้มเกราะอัศวินคือ ลักษณะรถที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ เพราะความกว้างฐานล้อเพียง 1.56 เมตร และระยะช่วงล้อ 2.78 เมตร ขณะที่ยานยนต์หุ้มเกราะของต่างประเทศนั้นไม่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศในแถบนี้ ด้วยความกว้างฐานล้อกว่า 2.18 เมตร และระยะช่วงล้อ 3.30 เมตร
“จากงานวิจัยนี้เอง ทำให้เรามองตลาดไว้สองส่วน คือ หนึ่ง ประกอบรถที่เป็นหุ้มเกราะทั้งคันในแบบของรถยนต์ทหาร อันที่สองคือ ประกอบรถในเชิงพาณิชย์ที่มาใช้เป็นรูปแบบรถขนเงิน หรือรถรักษาความปลอดภัยของผู้บริหาร ซึ่งอนาคตนั้นก็มีตลาดอยู่พอสมควร และคิดว่าภายหลังจากการรับมอบระหว่างกระทรวงวิทย์ฯ และกลาโหม ณ วันนี้แล้ว อนาคตก็คงมีการผลักดันจัดซื้อจัดจ้างให้นำไปใช้ในหน่วยอย่างจริงจังหลังการทดสอบในเดือนกรกฎาคมนี้”
ทศพรหวังว่า รถหุ้มเกราะอัศวินจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ของรถหุ้มเกราะ ที่สามารถจัดซื้อได้ง่ายภายในประเทศ และสามารถประหยัดงบประมาณทางการทหารของกองทัพ ลดการนำเข้ารถยนต์ทางทหารจากต่างประเทศ อีกทั้งช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมประกอบและดัดแปลงรถยนต์ของประเทศไทยในอนาคต
*****************
เรื่อง - รัชตวดี จิตดี