ต้องยอมรับว่างานพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปนั้น เกิดปรากฏการณ์อันเป็นมหามงคลหรือเป็น “บุญตา” ของพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดินที่สามารถนำมาเขียนเรื่องราวเล่าขานให้ลูกหลานได้รับรู้อย่างไม่รู้จบ
รวมทั้งเรื่อง “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” ที่ครั้งนี้บรรดาผู้สันทัดกรณีและผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของเครื่องราชฯ ทั้งหลาย ต่างตื่นตาตื่นใจพร้อมออกปากยอมรับว่า เป็นการรวมเครื่องราชฯ หลายตระกูลของราชอาณาจักรไทยและต่างประเทศ ที่ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนักในชีวิตนี้ ซึ่งถ้าเป็นคนช่างสังเกตจะเห็นเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพายในสีสันต่างๆ วิจิตรงดงามยิ่ง
ทั้งนี้ เพราะเครื่องราชอิสริยาภรณ์สามารถบอกเล่าถึงลำดับความสัมพันธ์ระหว่าง “เจ้านาย” รวมถึงขนบธรรมเนียม ราชประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจ
“เครื่องราชอิสริยาภรณ์” หมายถึงเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบ เป็นของที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ ส่วนจะพระราชทานให้แก่ผู้ใดนั้นถือเป็นพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์เท่านั้น
เครื่องราชฯ ถือกำเนิดขึ้นในราชวงศ์ของประเทศแถบยุโรปมาช้านานแล้ว สำหรับเอเชียนั้นน่าภาคภูมิใจมากที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการพระราชทานเครื่องราชฯ มาตั้งแต่แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
สำหรับในวันที่ 12 มิถุนายน อันเป็นพิธีถวายพระพรชัยมงคล และเสด็จฯออกรับพระราชอาคันตุกะ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่พระราชอาคันตุกะ ในวันที่ 13 มิถุนายน เป็นอีกวาระหนึ่งซึ่ง “เจ้านาย” ทั้งของไทยและต่างประเทศทุกพระองค์ทรงเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพายมากันครบ เรียกได้ว่าเป็นภาพอันยิ่งใหญ่ของการรวมเครื่องราชฯ หลายตระกูลทีเดียว โดยหมายกำหนดการให้แต่งกายเต็มยศ “จักรี” หรือ “ช้างเผือก” ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นสายสะพายสีเหลืองสด ประกอบด้วยดวงตรา ดารา และสร้อยมหาจักรีฯ เนื่องจากเป็นพิธีที่นับเนื่องในพระราชวงศ์ หรือหากพูดกันอย่างสามัญ คือ ทรงเป็นเจ้าของงาน
ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีที่เป็นพระราชอาคันตุกะเสด็จมาร่วมงานครั้งนี้ ซึ่งทรง “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์” มีถึง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งญี่ปุ่น, สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน และสมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน
นับเป็นครั้งแรกที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีถึงสามพระองค์ทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชมิตราภรณ์ในคราวเดียวกัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ (สายสะพายสีเหลืองขลิบแถบขาวทั้ง 2 ด้าน) เป็นเครื่องราชฯ ที่สถาปนาขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เมื่อปี 2505 อันเนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง เครื่องราชตระกูลนี้มีไว้สำหรับพระราชทานแก่พระประมุขของรัฐต่างประเทศ ที่เสด็จมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ หรือเมื่อเสด็จไปเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ อีกนัยหนึ่งคือ พระราชทานแก่ราชมิตรผู้สนิทสนมยิ่ง
จนถึงปี 2535 ได้พระราชทานแก่ประมุขของรัฐต่างประเทศไปแล้ว 27 สำรับ โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นนี้ครั้งแรกแด่ สมเด็จพระราชาธิบดี ซยิด ปุตรา อิบนิอัล มาริฮุม ชยิด ฮัสซัน จามา ดุลลี ยังดี เปอร์ตวนอากง แห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย
สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตนั้น เคยเสด็จมาเยือนประเทศไทยหลายครั้งด้วยกันและทรงสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก ในการเสด็จอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 15 ธันวาคม 2507 นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน “เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2534 สมเด็จพระจักรพรรดิฯ ได้เสด็จเยือนเมืองไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่คราวนี้ในฐานะองค์พระประมุขแห่งประเทศญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงถวาย “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์”
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนนั้น ได้รับการยกย่องเป็นราชมิตรที่ทรงสนิทกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่งเช่นเดียวกัน พระองค์เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะถึง 2 ครั้งเช่นกัน คือครั้งแรกเมื่อปี 2533 ซึ่งทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ราชมิตราภรณ์ และเสด็จครั้งที่ 2 เมื่อปี 2545 นอกจากนั้น พระองค์ยังเสด็จอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำรัฐบาลเพื่อการประชุมระดับนานาชาติที่เมืองไทยหลายครั้ง
ในพิธีถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนทรงชุดสง่างามพร้อมประดับสายสะพาย “ราชมิตราภรณ์” ของไทยบนฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพ
ส่วนสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน เสด็จเยือนเมืองไทยตั้งแต่ปี 2523เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันรวม 15 ครั้งแล้ว ทั้งที่เป็นทางการและส่วนพระองค์ และนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาได้เสด็จมาเมืองไทยทุกปี ในวันเข้าเฝ้าถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟทรงเครื่องราชฯ ราชมิตรภรณ์ เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีซิลเวีย ซึ่งทรงสายสะพายสีชมพูหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า
ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันนั้นมีพระราชอาคันตุกะฝ่ายใน หรือ “เจ้านายสตรีจากต่างประเทศ” ที่ทรงสายสะพายสีเหลืองหรือเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์มีถึง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งสเปน ซึ่งทรงเป็นเจ้านายในราชวงศ์ยุโรปที่ทรงใกล้ชิดกับราชวงศ์ไทยมากพระองค์หนึ่ง ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีโซเฟียเคยเสด็จพร้อมสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน คาร์ลอส ที่ 1 แห่งสเปน มาเมืองไทยหลายครั้ง ทั้งที่เป็นการส่วนพระองค์ถึง 2 ครั้ง และอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ 2 ครั้ง เมื่อปี 2530 และเมื่อต้นปี 2549 นี้
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ฯ มหาจักรีบรมราชวงศ์ นั้น นับเป็นเครื่องราชฯ ลำดับสูงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เจ้านายฝ่ายหน้าหรือฝ่ายใน เป็นการยกย่องว่าองค์ผู้รับพระราชทานทรงอยู่ใน “ครอบครัวเดียวกัน” ดังที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 มีรับสั่งเมื่อคราวได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ นี้ในปีรัชดาภิเษกรัชกาลปัจจุบันว่า ทรง “ดีใจที่สุดในชีวิต” ที่ได้ตราแห่งการเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์จักรี
“เจ้านายต่างประเทศ” ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ก็ถือว่ามีความแน่นแฟ้นเหมือน “ญาติมิตรผู้ใกล้ชิด” เช่นกัน เครื่องราชฯ ตระกูล “จุลจอมเกล้า” สถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลต่อๆ มา จึงพระราชทานเครื่องราชฯ ตระกูลนี้แก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ตามที่ “ทรงพระราชดำริเห็นสมควร”
เท่าที่ผ่านมาเจ้านายต่างประเทศที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ จุลจอมเกล้านั้น ส่วนใหญ่เป็นพระราชินี พระมเหสี พระราชสวามี หรือมกุฎราชกุมาร ที่โดยเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดี หรือ สมเด็จพระราชินีนาถ มาเยือนเมืองไทยอย่างเป็นทางการ
เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงคุ้น เคยกับราชวงศ์ไทยอย่างดีเช่นกัน เพราะเสด็จเยือนเมืองไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะเมื่อปี 2544 ในฐานะพระราชสวามีแห่งสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์กจึงทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ส่วนในวันที่เข้าเฝ้าฯ นั้น เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมาร แห่งเนเธอร์แลนด์ ก็ทรงสายสะพายสีชมพูหรือปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษเช่นกัน ด้วยทรงได้รับพระราชทานตรานี้เมื่อครั้งโดยเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์มาประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547
นอกจาก สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดนแล้ว สมเด็จพระราชินีซาเลฮา แห่งบูรไน ก็ทรงประดับสายสะพายปฐมจุลจอมเกล้าเช่นกัน
ยังมีพระราชอาคันตุกะชั้นพระราชวงศ์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงเครื่องราชฯ ไทย คือ เชคคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัลคอลิฟะห์ แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน โดยทรงเครื่องราชฯ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เนื่องจากท่านเคยเสด็จมาเป็นแขกของรัฐบาลและได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้รับพระราชทานสายสะพาย “อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก” ด้วยเป็นบำเหน็จความชอบและความสัมพันธ์ทางราชการแผ่นดิน
ส่วนพระบรมวงศ์ที่ทรง “เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ทรงสายสะพายสีแดง หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4 นับเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพายตระกูลแรกของราชอาณาจักรไทย
เจ้านายฝ่ายในที่ทรงสายสะพายสีชมพูหรือสายปฐมจุลจอมเกล้านั้น คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
เป็นที่สังเกตว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสายสะพายสีน้ำเงินเข้มขลิบแดงขาว ซึ่งคือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมหาวชิรมงกุฏ อันสถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 6 โดยอยู่ในตระกูลกลุ่มเครื่องราชฯ มงกุฏไทย หรือที่รู้กันอย่างสามัญว่าเป็นสายข้าราชการ ทั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงปฏิบัติราชกิจแทนองค์ “สมเด็จยาย” หรือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 อยู่เสมอ
สมาชิกฝ่ายในอีก 2 ท่าน คือ คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น และ คุณสิริกิติยา เจนเซ่น พระธิดาธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ นั้น อยู่ชุดไทยบรมพิมานอันสง่างาม ประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 ชั้นที่หนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พระราชวงศ์หรือข้าราชบริพารเท่านั้น
นอกจากจะได้เห็นเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพายในระดับสูงของเมืองไทยแล้ว ยังนับว่าเป็นบุญตาที่ได้ชื่นชมสายสะพายอันนับเนื่องแต่โบราณกาลประจำราชวงศ์ต่างประเทศ เช่น สายสีม่วงเข้มแห่งราชวงศ์เบลเยียม, สายสีแดงขลิบขาวน้ำเงิน เซนต์โอลาฟแห่งนอร์เวย์, เครื่องราชฯ Golden Lion of Nassau สีฟ้าอมน้ำเงินขลิบเหลือง ซึ่งมกุฎราชกุมารี เจ้าหญิงมักซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ทรงประดับ, เครื่องราชฯ Order of Garter สีน้ำเงินแห่งสหราชอาณาจักร เป็นต้น
หากพิจารณาลึกลงไปจะสังเกตได้ว่า สายสะพายตระกูลเดียวกันและลำดับเดียวนั้น สำหรับฝ่ายหน้า (ชาย) จะกว้างกว่าสายฯ ของฝ่ายใน (หญิง)
ส่วนเครื่องราชฯ ที่มีสีสรรละม้ายกับของไทย เห็นจะได้แก่เครื่องราชฯ จากราชสำนักกัมพูชาสีแดงขลิบเขียว ที่คล้ายคลึงกับเครื่องราชฯ ประถมาภรณ์ช้างเผือก หรือ มหาวราภรณ์ (2416) อันเป็นชื่อและรูปแบบเมื่อครั้งแรกเริ่มพระราชทานในรัชกาลที่สี่ และเครื่องราชฯ แห่งราชสำนักลักซัมเบิร์กซึ่งมีสีเหลืองสดเช่นเดียวกับสายสะพายมหาจักรีฯ หากแต่แกรนด์ดยุคอองรีทรงประดับจากพระอังสาด้านขวาพาดลงซ้ายและไม่มีสายสร้อยหรือดวงตรา ต่างจากธรรมเนียมการประดับสายสะพายมหาจักรี
ส่วนสายสะพายสีเหลืองที่คล้ายของไทยอีกองค์ คือ Order of The Crown ของมาเลเซีย ซึ่งรายาประไหมสุหรีแห่งมาเลเซียทรงอยู่ โดยเป็นสีเหลืองอ่อนแบบสายราชมิตราภรณ์แต่มีขอบน้ำเงินขาวมีแถบแดงคาดกลาง
นอกนั้น กลุ่มเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพายต่างประเทศ จากราชวงศ์ของประเทศจอร์แดน มาเลเซีย โมนาโก ลิกเตนสไตน์ เลโซโท สวาซิแลนด์ และตองก้า ก็สร้างสีสรรและความน่าสนใจไม่น้อย เสียดายที่ยังไม่มีผู้สันทัดกรณีเรื่องเครื่องราชฯ ประเภทภูษิตาภรณ์ หรือเครื่องประดับอื่นๆ มาให้คำอธิบายว่าภูษาอาภรณ์ที่เจ้านายจากกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โมร็อกโก โอมาน ภูฏาน และบาห์เรน ทรงอยู่นั้น บ่งบอกหรือสื่อความหมายอย่างใด
แต่เท่าที่พอทราบ พระภูษาที่ขลิบด้วยเส้นทองพร้อมพู่ ผ้าคลุมพระเศียร สายคาดพระนลาฎ (หน้าผาก) ผ้าคล้องพระอังสา พระแสงราชศาสตรา (ดาบ) หรือกริชที่เหน็บบั้นพระองค์ ดวงตราที่ประดับเบื้องพระอุระใต้ภูษา หรือแม้แต่วัสดุพระภูษาหรือเนื้อผ้าเองนั้น ล้วนแล้วแต่กำหนดลำดับยศศักดิ์ของผู้ทรง และสื่อการถวายพระเกียรติอย่างมีนัยสำคัญ
ราชอาคันตุกะที่เสด็จมาร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ แม้จะทรงมีเครื่องราชฯ ของพระองค์อยู่แล้ว แต่การที่ทรงนำเครื่องราชฯ ซึ่งเคยได้รับพระราชทานของไทยมาทรงในงานมหามงคลเช่นนี้ เท่ากับทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมในการถวายพระเกียรติแด่องค์ผู้ทรงเป็นอธิปัตย์แห่งประเทศเจ้าภาพ จึงนับเป็นความอิ่มเอิบใจของคนไทยที่ได้มีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีและประจักษ์ในพระราชไมตรีที่เจ้านายทั่วโลกต่างทรงแสดงต่อพระมหากษัตริย์ที่รักและเทิดทูนยิ่งของคนไทย
เรื่องโดย : ปาณี ชีวาภาคย์
ขอขอบคุณข้อมูล : ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฏ์