xs
xsm
sm
md
lg

ตามเสด็จเจ้าชายแอนดรูว์ ดู "บางกอกพัฒนา" สอนแบบผู้ดีอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุก แห่งยอร์ก แห่งสหราชอาณาจักร พระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้เสด็จยังโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระพรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทรงเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล อินเตอร์เนชั่นแนล อวอร์ด หรือ รางวัลดยุกแห่ง เอดินบะระ (Duke of Edinburgh Award) ให้กับเด็กๆ โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนาด้วย

การเสด็จฯ ไปยังโรงเรียนนานาชาติฯ ของเจ้าชายแอนดรูว์ครั้งนี้ ยังความปลาบปลื้มให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้บริหารโรงเรียนทุกคน ขณะเดียวกับที่คนไทยหลายคนก็ให้ความสนใจกับโรงเรียนแห่งนี้ ว่ามีความสำคัญอย่างไรเจ้าชายจากอังกฤษจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึงที่

โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติใช้หลักสูตรของสหราชอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะฉลองครบ 50 ปีในปี 2550 ที่จะมาถึง

ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา ย้อนถึงการก่อตั้งโรงเรียนฯ ในช่วงแรกว่า วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติฯ ในอดีตนั้นเพื่อสอนหนังสือให้แก่ลูกหลานท่านทูตจากสหราชอาณาจักรที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งในระยะแรกนั้นโรงเรียนฯ ตั้งอยู่ที่ถนนเพลินจิต ก่อนที่จะขยับขยายมาอยู่ที่ช่องนนทรี และเมื่อประมาณ 17 ปีที่ผ่านมาได้ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณปัจจุบันในซอยลาซาล สุขุมวิท เขตบางนา โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับไฮสกูล หรือมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาวต่างชาติ 80% จาก 50 กว่าประเทศ เป็นนักเรียนไทย 20%

ในช่วงการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัตินั้น นักเรียนในโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนาทุกคนต่างตื่นเต้น และมีกิจกรรมพิเศษร่วมกับประชาชนชาวไทย โดยทุกคนต่างสวมเสื้อเหลืองมาโรงเรียน ช่วยกันทำการ์ดถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแม้ว่าเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ทุกคนต่างก็เขียนถวายพระพรและบรรยายความรู้สึกของตนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยได้อย่างซาบซึ้ง แสดงให้เห็นว่านักเรียนต่างชาติก็รู้สึกร่วมไปกับคนไทยด้วย นอกจากนี้ ในวันหยุดพิเศษช่วงฉลองสิริราชสมบัติ ทางโรงเรียนได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และมีการแสดงดนตรี ซึ่งผู้ปกครองชาวไทยได้ร่วมกันจุดเทียนชัยและร้องเพลงสดุดีมหาราชาถวายพระพรอย่างพร้อมเพรียงกัน

ผอ.โรงเรียนนานาชาติฯ กล่าวอีกว่า เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอินเตอร์เนชั่นแนล อวอร์ด หรือรางวัลดยุกแห่ง เอดินบะระ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา เนื่องจากในปีนี้นักเรียนของโรงเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองถึง 12 เหรียญ มากที่สุดสำหรับโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษในประเทศไทย

"เจ้าชายแอนดรูว์ทรงไม่ถือพระองค์ เมื่อเสด็จฯ มาถึงโรงเรียนก็มีพระราชปฏิสันถารกับนักเรียนและผู้บริหารโดยมีพระอารมณ์ขันอย่างเป็นกันเอง พระองค์ได้ตรัสถามเด็กๆ ที่มายืนรอรับเสด็จว่า มาทำอะไรกัน เด็กก็ตอบไปว่า มารอเจ้าชายแอนดรูว์ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ฉันนี่ล่ะเจ้าชายแอนดรูว์ เด็กๆ ก็ถามพระองค์กลับไปอีกว่า ไหนล่ะมงกุฎ ไม่เห็นมีมงกุฎเลย พระองค์ก็ตรัสกลับไปว่า ไปที่ไหนก็มีแต่คนถามหามงกุฎ แต่ฉันต้องเดินทางไกล สวมมงกุฎแล้วหนักเลยไม่ได้เอามา นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับการ์ดถวายพระพรจากนักเรียนที่ทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระมารดาของเจ้าชายแอนดรูว์ เนื่องจากในเดือนนี้เป็นเดือนคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีของประเทศอังกฤษด้วย"

ม.ล.ปริยดายังกล่าวถึงสิ่งที่เจ้าชายแอนดรูว์ฝากกับเด็กๆ ในโรงเรียนด้วยว่า พระองค์ตรัสว่าการสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่รางวัลที่ได้จากการทำความดี บำเพ็ญประโยชน์ให้สังคม คือสิ่งที่แตกต่างกัน และจะเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญที่นายจ้างจะพิจารณาเมื่อไปสมัครงาน

เนื่องจากรางวัลที่เจ้าชายแอนดรูว์พระราชทานแก่นักเรียนนั้น เป็นรางวัลสำหรับนักเรียนที่มีความรู้รอบตัว เข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม โดยมีรางวัลตั้งแต่เหรียญทองแดง เหรียญเงิน และเหรียญทอง ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรจากประเทศอังกฤษ ทำให้เด็กๆ ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือสังคม
สำหรับหลักสูตรของสหราชอาณาจักรนั้น ผอ.โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนาเปิดเผยว่า เป็นหลักสูตรที่มีการพัฒนาตลอดเวลา และไม่ได้ออกมาจากนักวิชาการด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ประเทศอังกฤษจะเปิดโอกาสให้คนจากหลากหลายอาชีพเข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย ชาวนา หรือแม่บ้าน ซึ่งแต่ละวิชาชีพสามารถแสดงความเห็นได้ว่าเด็กควรจะได้รู้เรื่องอะไรบ้าง ทำให้หลักสูตรการศึกษาครอบคลุมและทันยุคสมัย นอกจากนี้ยังมีการประเมินหลักสูตรและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนตลอดเวลา ทำให้เด็กมีความตื่นตัวในการศึกษาอย่างเต็มที่

"ครูผู้สอนของโรงเรียนใช้ครูจากประเทศอังกฤษ ข้อสอบเป็นข้อสอบที่ส่งตรงมาจากประเทศอังกฤษจึงถือว่ามีมาตรฐานแน่นอน เมื่อเด็กสอบเสร็จแล้ว ข้อสอบเหล่านี้ก็จะถูกส่งกลับไปตรวจที่ประเทศอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันเราก็ปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้แก่นักเรียนด้วย โดยในแต่ละสัปดาห์นักเรียนจะมีคาบเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย"

จุดเด่นของหลักสูตรสหราชอาณาจักร จากปากคำของ ม.ล.ปริยดาระบุว่า วิธีการเรียนการสอนจะส่งเสริมให้เด็กได้คิดตั้งแต่ระดับอนุบาล ซึ่งการจัดโต๊ะเรียนจะแบ่งเป็นกลุ่ม 4-5 คน ไม่ให้นั่งเรียงแถวแล้วฟังครูสอนอย่างเดียว ครูผู้สอนจะสั่งงานโดยให้ทำงานเป็นทีม แม้จะเป็นเด็กอนุบาลแต่ก็มีลักษณะการเรียนคล้ายเด็กโต แต่ละกลุ่มจะได้รับงานไม่เหมือนกัน จากนั้นจะนำเอาสิ่งที่เด็กๆ ช่วยกันคิดออกมานำเสนอและอภิปราย ถกเถียงร่วมกัน ทำให้เด็กได้ช่วยกันคิด มีการเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์

"การเรียนแบบนี้ทำให้เด็กไม่มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เพราะเป็นลักษณะการเรียนแบบทีมเวิร์ก ทุกคนต้องช่วยกันคิด แต่เมื่อถึงเวลาทำรายงานต้องทำด้วยตัวเองและเป็นผลงานของแต่ละคน ที่สำคัญระบบการศึกษาของอังกฤษจะชื่นชมและสนับสนุนการทำความดี เมื่อเด็กได้รับคำชมจากการทำความดีบ่อยๆ ก็จะทำให้น้ำดีไปไล่น้ำเสียทิ้ง ซึ่งการชื่นชมคนทำดีก็จะมีทั้งชมเป็นรายบุคคลและการให้รางวัลเป็นหมู่คณะ โดยแต่ละห้องเรียนจะมีถ้วยสำหรับใส่ลูกแก้ว ใครทำความดีก็จะได้รับรางวัลเป็นลูกแก้วหยอดใส่ในถ้วยของห้องนั้น ห้องไหนลูกแก้วเต็มก่อนก็จะได้รับรางวัลโดยให้เด็กเสนอว่าอยากทำอะไร เช่น เลิกเรียนก่อนเวลาครึ่งชั่วโมงเพื่อไปอ่านหนังสือ หรือว่าไม่ใส่เครื่องแบบมาโรงเรียน ซึ่งเด็กๆ จะชอบมาก เพราะเป็นการประกาศให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนได้รู้ว่าห้องเขาได้รับรางวัลเพราะทำความดี "

ส่วนเด็กระดับโตก็จะมีระบบการให้รางวัลความดีด้วยการมอบเหรียญ ทำให้เด็กทุกคนต่างแข่งกันทำความดี และจะแข่งกันบอกว่าใครทำความดี

"เมื่อเราให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำความดีง่ายๆ ก็ทำให้เขาอยากทำดีมากขึ้น ไม่ใช่กำหนดเกณฑ์ว่าต้องทำดี 95 เปอร์เซ็นต์จึงจะได้นั่งโต๊ะทอง เพราะเราจะสร้างเด็กดีได้แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นอย่าให้รางวัลความดียากเกินไป"

ขณะเดียวกันเมื่อมีการให้รางวัลความดี สำหรับผู้กระทำผิดก็ย่อมต้องมีการลงโทษ แต่วิธีการลงโทษนั้นจะกระทำกันเพียงลำพังระหว่างเด็กกับครู โดยการเรียกเด็กมาคุยให้เหตุผล ให้แก้ตัว และลงโทษลับๆ เช่น ให้ไปอ่านหนังสือ หรือกินข้าวคนเดียว เพราะการลงโทษต่อหน้าผู้อื่นจะทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกประจานและทำให้ท้อแท้หมดกำลังใจในการทำดี แต่หากโทษหนักก็จะมีระบบลงโทษเป็นลำดับขั้นไป

ม.ล.ปริยดากล่าวอีกว่า เนื้อหาการเรียนการสอนต้องไม่อัดแน่นเกินไป และให้เด็กได้เดินเรียน เมื่อหมดคาบหนึ่งเด็กก็จะย้ายห้องเรียน เพื่อให้เปลี่ยนอิริยาบถและผ่อนคลายระหว่างเปลี่ยนวิชา ได้หยอกล้อ พูดคุยกันและเมื่อต้องเข้าสู่บทเรียนเด็กก็จะตั้งใจเรียนได้ดีขึ้น และการทำการบ้านต้องไม่เกินวันละประมาณครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงสำหรับเด็กโต มากกว่านี้จะทำให้เด็กเครียด ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมที่ต้องออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนเสริมด้วย เช่น การออกค่าย เป็นต้น

"ในระดับเด็กอายุประมาณ 7 ขวบ จะมีการศึกษากลางแจ้ง ให้เด็กได้ไปออกค่าย ซึ่งจะไม่ได้ออกไปลำบากแต่เราต้องการให้เด็กได้อยู่ด้วยกัน ให้ห่างไกลพ่อแม่ จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ต้องดูแลตัวเอง ขณะเดียวกันเขาก็จะได้เห็นพัฒนาการของเพื่อน เด็กบางคนแต่งตัวเองไม่เป็นเพราะผู้ใหญ่ทำให้ตลอด แต่เมื่อไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนแล้วเห็นเพื่อนทำ เขาจะรู้สึกตัวว่าเขาต้องทำเอง เป็นการเรียนรู้จากเพื่อนระดับเดียวกัน ซึ่งบางเรื่องเด็กอยู่ที่บ้านสอนอย่างไรก็ทำไม่ได้ ส่วนเด็กโตก็จะมีการเรียนรู้นอกสถานที่อย่างสม่ำเสมอ "

ส่วนการพัฒนาครูนั้นก็ใช้รูปแบบ "ทีมเวิร์ก" เช่นเดียวกับนักเรียน เนื่องจากครูแต่ละคนต้องสอนเรื่องเดิมๆ ซ้ำทุกปี ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายขาดความตื่นตัวในบทเรียน ขณะที่เด็กเข้ามาใหม่ทุกปี ดังนั้น ในแต่ละชั้นเรียนครูจะมาคัดเลือกครูที่จะเป็นหัวหน้าในแต่ละระดับชั้น แล้วมาร่วมกันดูหลักสูตรว่าปีการศึกษานี้แต่ละวิชาเด็กจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง และใช้วิธีการบูรณาการในการเรียนการสอน

"เมื่อร่วมกันคิดตามหลักสูตรที่เด็กต้องเรียนแล้ว ครูก็จะคิดว่าเทอมนี้เราจะมีหัวข้อหลักในการสอนเรื่องอะไร สมมติปีนี้เรามีหัวข้อหลักเรื่องทะเล การเรียนการสอนทุกวิชาก็จะเกี่ยวกับทะเลไปหมด เช่น วิชาคณิตศาสตร์ก็อาจจะหาความกว้างของท้องฟ้า หรือให้นักเรียนสะกดคำว่าทะเลเป็นภาษาอังกฤษก็จะได้เรื่องภาษา ทุกวิชาก็จะเกี่ยวข้องกับทะเลทั้งหมด ครูก็ไม่เบื่อ เด็กก็ได้เรียนรู้เต็มที่ และหนังสือเรียนก็ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวิชาที่เรียนเท่านั้น ถึงปลายภาคเรียนนักเรียนก็จะนำเอาผลงานของชั้นตนเองตั้งแต่ต้นปีออกมาจัดแสดง มีการนำเสนอ ทุกคนก็สนุกกับการเรียน "
ผอ.โรงเรียนนานาชาติฯ ยังเปิดให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนของโรงเรียนด้วย เช่น ให้ผู้ปกครองมาช่วยอ่านหนังสือ หรือเมื่อมีกิจกรรมพาเด็กไปนอกห้องเรียนก็ขอให้มาช่วยดูแลเด็ก ทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองใกล้ชิดกันตลอดเวลา

ส่วนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น สำหรับระบบของสหราชอาณาจักรเด็กจะทำการสอบเมื่ออยู่ในระดับชั้น ม.4 เพื่อเก็บคะแนน จากนั้นจะเรียนอีก 2 ปี คือชั้น ม.5-6 แล้วนำคะแนนและผลงานจากการศึกษาทั้งหมดไปยื่นสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะทำให้เด็กได้ทราบว่าตนเองชอบหรือถนัดเรื่องใด โดยมีครูแนะแนวให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ซึ่งวิธีนี้ทำให้เด็กไม่เครียดกับการสอบ และได้เรียนในสิ่งที่ตนเองถนัดอย่างแท้จริง

เรื่อง - คีตฌาณ์ ลอยเลิศ....ทีมข่าวการศึกษา-คุณภาพชีวิต







กำลังโหลดความคิดเห็น