xs
xsm
sm
md
lg

ท่อง “โลซานน์” ตามรอยพระบาท “พ่อหลวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ด้านหลังบริเวณแฟลตที่สร้างขึ้นมาใหม่แทนที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา
“น้องชายคนโตไม่แข็งแรง แม่เลยคิดว่าควรไปอยู่ต่างประเทศที่มีอากาศสบายๆ เสด็จลุงทรงแนะให้ไปสวิตเซอร์แลนด์ ...ต้นเดือนเมษายน 2476 แม่กับลูกสามคน พร้อมแหนนและบุญเรือน ก็ออกเดินทางด้วยรถไฟไปปีนัง แล้วลงเรืออเมริกันเพรสซิเดนต์เพียร์ซ ไปขึ้นที่เจนัว และต่อรถไฟไปโลซานน์ ...”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” ถึงการเดินทางไปประทับต่างแดนในระยะยาวของราชสกุล “มหิดล” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยมีสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นผู้นำครอบครัวเพียงลำพังในการดูแลพระธิดา และพระโอรสทั้ง 3 พระองค์

การเดินทางสู่สวิตเซอร์แลนด์ครั้งนั้น เป็นไปตามพระประสงค์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงห่วงถึงการศึกษาของพระราชนัดดา อีกทั้งพระราชนัดดาองค์ที่ 2 (องค์รัชกาลที่ 8) พระพลามัยไม่สู้แข็งแรงมาตลอด จึงเป็นที่ตกลงว่าควรเสด็จฯ ไปศึกษาต่อยังประเทศซึ่งมีอากาศสบายๆ ดังนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร จึงทรงแนะนำว่าควรเลือกเมืองโลซานน์เป็นที่ประทับ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงพอพระทัย

นอกจาก “โลซานน์” จะเป็นเมืองที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม และพลเมืองอัธยาศัยดีแล้ว ยังเป็นเมืองที่สมเด็จพระบรมราชชนกโปรดมากอีกด้วย เมื่อครั้งที่พระบรมราชชนกเสด็จฯ สาธารณสุข ทั้งยังเป็นสถานที่พำนักชั่วคราวของพระบรมราชชนนี และพระโอรส ธิดาในระหว่างที่ต้องอยู่กันโดยลำพังเมื่อพระบรมราชชนกเสด็ฯ กลับประเทศไทยในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2467)

หลังตระเตรียมทุกอย่างเรียบร้อย หม่อมสังวาลย์ (พระยศของสมเด็จย่าในขณะนั้น) พร้อมด้วยพระราชโอรสธิดา พระพี่เลี้ยงเนื่อง เด็กหญิงบุญเรือน โสพจน์ พระญาติ (ปัจจุบันคือท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ) และคุณพระสุทธิอรรถนฤมล กับภรรยา ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยสู่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนเมษายน 2476 ทั้ง 4 พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น จนกระทั่งปี 2488 รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนคร และในปี 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวร พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา

นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ “สวิตเซอร์แลนด์” ไม่ใช่เพียงประเทศที่มีวิวทิวทัศน์และบ้านเมืองสวยงาม น่าท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ สำหรับชาวไทยเท่านั้น หากยังมีความหมายในฐานะที่เป็นสถานที่สำคัญแห่ง “ราชสกุลมหิดล” ผู้เป็นที่เคารพรักล้นเกล้าฯ ของพสกนิกร

“พีรพล ตริยะเกษม” ที่ปรึกษาภาคพื้นอินโดจีนของ บริษัท โฮลซิม กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวงฯ ในฐานะที่โฮลซิมมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงขอมีส่วนร่วมกับวาระอันปีติยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จึงได้จัดโครงการนำคณะสื่อมวลชน “ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในหลวง ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ขึ้น

การเดินทางครั้งนี้ยึดหลักฐานตามที่ปรากฏในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” และ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระพี่นาง โดยมี "ยุพา ชุมจันทร์" อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกริก ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม พร้อมด้วยคนในพื้นที่อย่าง "พัชรินทร์ ไรเตอร์" นักเขียนนิตยสารดิฉันรายปักษ์และนิตยสารแพรวที่ใช้ชีวิตอยู่ในสวิสกับสามี "ฟิลลิป ไรเตอร์" อาจารย์มหาวิทยาลัยโลซานน์

“โลซานน์” ในความเกี่ยวพันแรกกับราชสกุลมหิดลนั้น เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่พระบรมราชชนกทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมสังวาลย์ในปี 2463 ทั้ง 2 พระองค์ได้เดินทางผ่านยุโรป โดยทรงแวะที่เมืองโลซานน์ และทรงเลือก "โรงแรมโบริวาจ" (Beau Rivage) ซึ่งขณะนั้นโก้หรูที่สุดในเมืองเป็นสถานที่ฮันนีมูน และแม้จะผ่านมากว่า 80 ปีแล้ว โรงแรมแห่งนี้ก็ยังคงดูหรูหราคลาสสิกและยังคงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของเมือง ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ อัครราชกุมารี จะเสด็จฯมาประทับที่โบริวาจทุกครั้งเมื่อเสด็จฯ เยือนโลซานน์

ด้วยทำเลที่ตั้งของ “โบริวาจ” ที่อยู่ริม ทะเลสาบเลอมอง (Lac Leman) ถือเป็นทำเลทองก็ว่าได้ เพราะวิวทิวทัศน์บริเวณนี้ช่างงดงามยิ่งนัก มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นเทือกเขาแอลป์ทอดเป็นแนวยาว และถ้าวันไหนแดดดีก็จะได้เห็นทิวเขาที่มีหิมะสีขาวโพลนปกคลุมบนยอด ประกอบกับภาพท้องน้ำที่ใสสะอาด มีทั้งหงส์ขาวและเป็ดน้อยแหวกว่ายไปมาสบายใจสบายตายิ่งนัก

ทั้ง 4 พระองค์ได้เสด็จฯ มาท่องเที่ยวและทรงเลือกลาคเลอมองเป็นสถานที่พักผ่อนเสมอๆ โดยในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบและกรรเชียงเรือเล่นเป็นประจำในทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวสวิสนิยมในช่วงฤดูร้อน

พัชรินทร์เล่าว่า คนเก่าแก่ของโลซานน์บอกว่ายังจำภาพที่ทั้ง 2 พระองค์ขณะทรงวิ่งเล่นได้ โดยบุคลิกและพระราชอัธยาศัยแตกต่างกัน องค์รัชกาลที่ 9 สมัยทรงพระเยาว์ทรงซนและชอบแกล้งอย่างเวลาเล่นฟุตบอล ส่วนองค์รัชกาลที่ 8 จะทรงเข้มขรึม

หากเดินไปตามถนนสายเรียบทะเลสาบที่ประดับประดาด้วยต้นไม้และพุ่มไม้สีสันต่างๆ ไม่ไกลจากโรงแรมโบริวาจมากนัก จะพบสวนสาธารณะขนาดใหญ่กินพื้นที่กว้างขวางแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้ง 4 พระองค์ได้เสด็จฯ อยู่เป็นประจำ สวนสาธารณะแห่งนี้มีน้ำพุรูปปั้นลิง 3 ตัวกำลังทำท่า ปิดหู ปิดปาก และปิดตา ที่ในหลวงโปรด และฉายพระรูปไว้เสมอ ซึ่งสมเด็จพระพี่นาง ทรงนิพนธ์ว่าหมายถึง "ไม่ยอมฟัง ดู พูดในสิ่งที่เลว"

ไม่มีใครเตือนล่วงหน้าว่าชาวสวิสเดินเก่งแค่ไหน เพราะ "ฟิลลิป" ไกด์จำเป็นบอกเราว่าไม่ไกลจากสวนสาธารณะ เดินประมาณ 15 นาทีก็จะถึง "สถานพยาบาลมองซัวซีส์" ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พวกเราสามารถเดินลัดเลาะสวนไปได้...แต่กว่าจะไปถึงก็ประมาณ 5 ช่วงเหนื่อย สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่คือเนิน จะชันมากหรือลาดน้อยก็แล้วแต่โชคชะตา

แม้จะเดินไปเหนื่อยไป แต่สภาพอากาศที่เย็นสบาย บรรยากาศข้างทางสวยงามแปลกตา รวมถึงจิตใจอันแรงกล้าหวังชื่นชมสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ในหลวงและพระราชวงศ์ ก็ทำให้พวกเราลืมเหนื่อยไปได้สนิท เมื่อถึงมองซัวซีส์อันเป็นที่หมาย พัชรินทร์ก็ชี้ให้ดูว่า ห้องที่ทูลกระหม่อมฯ ประสูติอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร และมองออกจากหน้าต่างจะเห็นวิวทะเลสาบที่สวยงาม แต่ปัจจุบันสถานพยาบาลดังกล่าวกลายเป็นคลินิกศัลยกรรมไปเสียแล้ว

"ถนนทิสโซต์" (Tissot) เป็นอีกที่หมายสำคัญของคณะตามรอยเบื้องพระยุคลบาทครั้งนี้ โดยจุดที่เราตามหาคือ "แฟลตเลขที่ 16" ซึ่งหม่อมสังวาลย์พร้อมพระธิดาและพระโอรสทรงใช้เป็นที่ประทับตั้งแต่ปี 2476-2478 ขณะนั้นพระบรมราชชนนีทรงต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายจึงทรงเลือกแฟลตที่อยู่ห่างจากตัวเมือง แต่ก็ใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็เดินถึงจุดสำคัญของเมือง

ช่วงที่เราไปถึงแฟลตทิสโซต์เป็นเช้าวันอาทิตย์ วันแห่งการพักผ่อนของคนแถวนั้น จึงทำให้ได้สัมผัสถึงความ "เงียบสงบ" ตามที่สมเด็จพระพี่นางได้ทรงนิพนธ์ไว้ และยังทรงอธิบายถึงแฟลตที่ประทับว่า "เป็นตึกขนาดใหญ่ มีแฟลตหลายชุด แม่เช่าที่ชั้นล่างเพราะเกรงว่าลูกอาจรบกวนคนที่พักอยู่ข้างใต้ด้วยการวิ่งหรือกระโดด ใต้แฟลตของเรายังมีโรงรถอีก"

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชั้นล่างไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว มีบริษัทมาเช่าเป็นสำนักงาน ส่วนด้านหลังที่เป็นสวนซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์โปรดเล่นและทรงหัดจักรยานนั้น ก็ยังเป็นสนามหญ้าและมีเครื่องเล่นสำหรับเด็กพร้อมทั้งติดป้ายชัดเจนว่าสนามเหล่านี้จองไว้ให้เด็กๆ เล่น แต่ไม่ทราบว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใด

ทั้ง 4 พระองค์ทรงเดินออกกำลังพระวรกายอยู่เป็นประจำบนถนนทิสโซต์ โดยหากออกจากแฟลตเลี้ยวซ้ายไปถึงปลายถนนคือที่ตั้งของไปรษณีย์ พระองค์มักจะทรงเดินไปทรงส่งจดหมายถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และไม่ไกลจากนั้นคือสถานีรถไฟและตลาดซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะช่วยสมเด็จพระบรมราชชนนี ถือของกลับแฟลตเป็นประจำ

เดินจากแฟลตทิสโซต์ขึ้นไปทางขวาตัดเข้า ถนนอาวองต์ โพสต์ (Avant Poste) เพียงช่วงเหนื่อยเดียวก็พบ "แฟลตเลขที่ 19" ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จประทับตั้งแต่ปี 2493 หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงราชาภิเษกกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระประสงค์ให้ทั้ง 2 พระองค์มีความเป็นส่วนตัว จึงทรงย้ายออกจากวิลลาวัฒนามาประทับ ณ ที่แห่งนี้ และที่บริเวณใกล้ๆ มีสวนสาธารณะใกล้ที่ประทับ มีนกหลายชนิดสวยงามมาก

ระหว่างที่คณะกำลังชื่นชมและบันทึกภาพระเบียงแฟลตชั้นบนสุด อันเป็นที่ที่สมเด็จย่าเคยประทับนั้น คุณยายเดอนิส อายุประมาณ 90 ปี ก็ค่อยๆ เดินออกมาจากแฟลตชุดเดียวกัน เมื่อไถ่ถามคุณยายก็ทราบตลอดว่า "มาดามมหิดล" พระมารดาของพระมหากษัตริย์ไทยเคยมาอยู่ที่ชั้นบน และเห็นพระองค์เป็นประจำ แต่ไม่เคยเข้าไปติดต่อพูดคุย เนื่องจากชาวสวิสเคารพสิทธิส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หากไม่มีธุระจำเป็นก็จะไม่รบกวนกัน แม้จะอยู่ในแฟลตก็เงียบสงบเหมือนอยู่ในบ้าน เมื่อสนทนากันจบคุณยายเดอนิสก็ขอตัวและค่อยๆ เดินไปตามถนนที่พวกเราเดินสวนขึ้นมาอย่างไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย

ในปี 2478 หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลอัญเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 9 พรรษา จากนั้นเพื่อให้สมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงย้ายจากแฟลตเดิม ไปประทับที่บ้านเช่าบนลาดเนินเขาเหนือฝั่งทะเลสาบเลอมอง ที่เมืองปุยยี (Pully) ทรงตั้งชื่อว่า "วิลลาวัฒนา" (Villa Vadhana) และเช่าพระตำหนักแห่งนี้มากว่า 10 ปี

สมเด็จพระพี่นางทรงบันทึกถึง "พระตำหนักวิลลาวัฒนา" ไว้ว่า เป็นบ้าน 3 ชั้น มี 13 ห้อง และมีโรงรถต่างหาก ซึ่งมีห้องสำหรับคนรถและครอบครัวอยู่ข้างบน มีใต้ถุน สร้างอยู่บนที่ลาดลง ด้านหนึ่งของใต้ถุนอยู่ใต้ดิน มีสวนรอบบ้าน มีสวนผลไม้ เช่น แอปเปิล พีช พลัม เชอรี แพร์ ....

แม้พัชรินทร์และฟิลลิปจะสามารถนำทางไปถึงเลขที่ 51 Chamblandes dessusv อยู่ระหว่างถนน Tour Haldimand กับถนน General Guisan อันเป็นที่ตั้งของ "วิลลาวัฒนา" แต่พระตำหนักที่มีรอยประทับของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนีและพระเชษฐาภคินีกลับกลายเป็นแค่ภาพความทรงจำ เนื่องจากเป็นบ้านเช่า เมื่อเลิกเช่าเจ้าของที่เป็นชาวสวิสก็รื้อถอนไปตามกาลเวลา และพัฒนาเป็นแฟลต 3 ชั้นให้เช่าแทน

กระนั้นก็ตาม ด้วยความรู้สึกเสียดาย นอกจากป้ายที่แสดงว่าสถานที่แห่งนี้คือเลขที่ 51 แล้ว ก็พยายามเมียงมองภูมิทัศน์รอบๆ พร้อมกับไถ่ถามผู้ที่เคยเห็นภาพพระตำหนักวิลล่าวัฒนาว่ามีตรงจุดใดที่เหมือนเดิมบ้างไหม ซึ่งสิ่งที่เหมือนเดิมแน่นอนก็คือ พระตำหนักหันหน้าไปทางทะเลสาบ และพวกเราก็ได้เห็นทะเลสาบที่มองจากจุดที่เคยเป็นพระตำหนัก ช่างเป็นทำเลที่สวยงามยิ่งนัก

การดำเนินพระชนมชีพ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา สมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดที่จะให้เป็นไปอย่างสามัญ ไม่มีพิธีรีตอง ทรงจัดให้พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ศึกษาที่โรงเรียนเอกชน "เอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออิส โรมองด์" (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ซึ่งรับนักเรียนนานาชาติ แม้ขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงเป็นยุวกษัตริย์แห่งประเทศสยาม แต่ก็ทรงเป็นนักเรียนอานันทมหิดล บุตรชายของมาดามมหิดล ทรงมีสิทธิและหน้าที่ไม่แตกต่างจากนักเรียนคนอื่นๆ

"เอกอล นูเวล" แห่งนี้ในปี 2478 พระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ทรงเข้าเรียนชั้น 2 พระอนุชาเข้าเรียนชั้นอนุบาล ทั้งสองพระองค์เลือกเรียนสายศิลป์ภาษาละตินและภาษาอังกฤษ มีภาษาเยอรมันเป็นภาคบังคับ และยังมีวิชาพิเศษเช่น วิชาการทำสวน และช่างไม้ มีทั้งนักเรียนชายและหญิง เฉพาะนักเรียนชายมีทั้งประจำ และไปกลับ ในสองปีสุดท้ายทั้งสองพระองค์เข้าเป็นนักเรียนประจำเพื่อให้ทรงทราบชีวิตที่ต้องช่วยพระองค์เองทุกอย่าง

เผอิญว่าวันที่คณะเราไปถึงเป็นช่วงโรงเรียนปิด เหลือแต่อาคารเรียนและสนามกรวดกว้างต้อนรับ แม้ไม่สามารถเข้าไปดูภายในโรงเรียนได้ แต่ป้ายติดไว้ว่าโรงเรียนแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 1906 ซึ่งปีนี้ก็ครบรอบ 1 ศตวรรษนั้น หาได้ทำให้ตัวโรงเรียนโทรมชราตามอายุไม่ เท่าที่สำรวจด้วยสายตาดูเหมือนว่าส่วนที่เป็นอาคารเก่าในโรงเรียนจะได้รับการดูแลอย่างดี อีกทั้งยังมีสวนผักและสนามบาสเกตบอลอยู่ข้างๆ

นอกจากนี้ คณะของเรายังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่ที่เคยเป็น "มหาวิทยาลัยโลซานน์" (Lausanne University) อันเป็นสถาบันอุดมศึกษาของทุกพระองค์ สมเด็จพระพี่นางทรงศึกษาทางด้านวิชาเคมี รัชกาลที่ 8 ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์ ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเรียนแขนงวิชาวิทยาศาสตร์ และต่อมาเมื่อหลังทรงครองราชสมบัติแล้วได้เปลี่ยนเป็นสาขาวิชากฎหมาย รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แทน เพื่อความเหมาะสมกับพระราชภารกิจแห่งพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงเข้ารับการศึกษาเพิ่มเติมด้านวิชาภาษาละติน ปรัชญา วรรณคดี และสันสกฤตอีกด้วย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยโลซานน์ย้ายออกไปนอกเมืองแล้ว ส่วนพื้นที่มหาวิทยาลัยโลซานน์เก่านั้นเป็นสถานที่ราชการและพิพิธภัณฑ์

ช่างโชคดีไม่น้อย ที่คณะส่วนหนึ่งได้มีโอกาสพบเข้ากับ "จาค ปิการ์" (Jacques Piccard) พระสหายรุ่นพี่ของในหลวงที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.โลซานน์ ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในโลซานน์ ตระกูลปิการ์นั้นนับเป็นผู้มีชื่อเสียงในโลซานน์และวงการผจญภัยมา 3 ชั่วคน โดยตัวจาค ปิการ์นั้นเป็นวิศวกรและนักผจญภัย โดยเขาได้สร้างเรือดำน้ำลงไปในจุดที่ลึกที่สุดในโลก ส่วนผู้เป็นพ่อของจาค "ออกุสเต ปิการ์" (Auguste Piccard) นั้นเป็นนักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ที่สนใจบอลลูน สามารถนำบอลลูนขึ้นสู่อากาศถึงจุดที่ไม่มีบอลลูนใดเคยไปถึง อีกทั้ง แบร์ทรองด์ ปิการ์ (Bertrand Piccard) หลานปู่และลูกชายของจาคก็เป็นคนแรกที่ใช้บอลลูนเดินทางรอบโลกโดยไม่หยุดพัก

"ปิการ์" พระสหายวัย 84 ปี เมื่อทราบว่าคณะเดินทางมาชื่นชมพระบารมีของในหลวง ก็มีความยินดีให้ถ่ายภาพ แต่เพราะปิการ์เพิ่งผ่านการผ่าตัดลำคอมาจึงสนทนาได้ไม่มากนัก แต่ก็ได้ฝากความระลึกถึงไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "เรามีความระลึกถึงพระองค์อย่างมาก"

แม้ว่าจะไม่เคยมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด แต่การได้มาสัมผัส พบเห็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ก็นับว่าเป็นบุญชีวิตของพสกนิกรตัวน้อยๆ การเดินทางตามรอยพระบาทครั้งนี้ ทำให้เข้าใจซาบซึ้งถึงพระจริยวัตร วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่พระองค์เจริญพระชนมชีพมา รวมถึงแนวทางในการอภิบาลพระธิดาและพระโอรสของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ทรงเน้นให้ใช้ชีวิตเช่นสามัญชน มีความเรียบง่าย วิริยะอุตสาหะ ผูกพันกับธรรมชาติ อันเป็นพื้นฐานแห่งวิถีชีวิต "พอเพียง" ที่มีพระราชดำริเป็นตัวอย่าง และพระราชทานเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตอันล้ำค่าแก่ปวงชนชาวไทย

************************

เรื่อง - ทิพย์วัลย์ คงประพันธ์










กำลังโหลดความคิดเห็น