xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนพระดาบส เบ้าหลอมวิชาช่างจากพ่อหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆ ได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เขาปรารถนาย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…" กระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และจากพระราชดำริในครานั้นนั่นเอง ที่ทำให้ในวันนี้ลูกหลานพสกนิกรชาวไทยที่ยากไร้ ได้มีวิชาชีพช่างติดตัวจากเบ้าหลอมที่มีชื่อว่า "โรงเรียนพระดาบส"

กำเนิด 'พระดาบส'

หลังรั้วสีขาวบริเวณแยกสี่เสาเทเวศร์ฝั่งตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนที่มีชื่อว่า โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนที่เปิดสอนในหลักสูตรวิชาชีพ อันเป็นโครงการตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความสำคัญของโรงเรียนนี้มิมีเท่านั้น แต่ยังนับเป็นโรงเรียนแห่งแรกและแห่งเดียวที่เปิดรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและฐานะยากจน ให้ได้เล่าเรียนฟรีและมีที่พัก ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์

เมื่อปีพ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกระแสพระราชดำริให้ดำเนินการทดลองเปิดหลักสูตรวิชาช่างไฟฟ้าวิทยุ โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมในการดำเนินโครงการ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิพระดาบสตามกฎหมายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2533

จนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพระดาบสแล้วกว่าจำนวน 589 คน ซึ่งเท่ากับว่านักเรียนช่างที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ได้ด้วยพระบารมีขององค์พ่อหลวงของแผ่นดิน

ดาบสอาสา

ดาบสอาสา คือ ครูอาจารย์อาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่โดยเสด็จพระราชกุศลตามโครงการนี้ เป็นผู้มีกุศลเจตนาที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เป็นวิทยาทานโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งต้องเป็นผู้ดำเนินชีวิตในทางที่ชอบเจริญด้วยพรหมวิหารธรรม

อัครเดช ชูจิตต์ ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายวิชาการโรงเรียนพระดาบส เป็นหนึ่งใน 'ครูดาบสอาสา' ที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินโครงการโรงเรียนพระดาบสตามรอยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต้องการสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ ยังไม่มีอาชีพ หากแต่มีความใฝ่ศึกษาให้ได้รับโอกาสฝึกวิชาชีพเพื่อให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเอง ออกไปประกอบสัมมาอาชีวะช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 80% ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาที่นี่ ได้ทั้งเข้าทำงานตามบริษัทห้างร้านต่างๆ และประกอบกิจการเล็กๆ ส่วนตัว

ถึงแม้ว่าร่างกายของครูอัครเดชจะไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนอื่นๆ แต่เขาก็ไม่ถือว่านั่นเป็นอุปสรรคที่จะมาขวางกั้นปณิธานของเขาแต่อย่างใด ด้วยเพราะเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือ เขาเป็น 'ลูก' พระดาบสคนหนึ่งเช่นกัน

ครูอัครเดชขาพิการและเป็นเด็กต่างจังหวัดฐานะยากจน ข้อจำกัดเหล่านั้นอาจทำให้เขาไม่มีวันนี้ ถ้าหากว่าไม่ได้รับโอกาสจากโรงเรียนพระดาบสที่รับเขาเข้าเรียน จนกระทั่งต่อมาเขาสามารถศึกษาต่อจนจบในระดับปริญญาตรี

"โครงการนี้เป็นโครงการที่พระองค์ท่านมีสายพระเนตรอันยาวไกล ได้ช่วยคนที่ด้อยโอกาสจริงๆ คนที่มาเรียนที่นี่เชื่อว่าจะต้องมีความภาคภูมิใจเช่นเดียวกับที่ผมได้รับ เพราะผมได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความรู้สึกตื้นตันใจต่อพระองค์ท่าน ไม่นึกว่าเราจะได้มีโอกาสแบบนี้ ในฐานะที่เราเองไม่ได้มีร่างกายสมบูรณ์เหมือนคนทั่วๆ ไป แต่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียนเพื่อรุ่นน้อง ตั้งแต่จบการศึกษามาก็ตั้งใจว่าจะมาทำงานที่นี่"

ปัจจุบันนี้ โรงเรียนพระดาบสเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพ 1 ปี ประกอบด้วย 6 หลักสูตรคือ หลักสูตรวิชาชีพช่างไฟฟ้า, หลักสูตรวิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ (คอมพิวเตอร์), หลักสูตรวิชาชีพช่างยนต์, หลักสูตรวิชาชีพการเกษตรพอเพียง, หลักสูตรวิชาชีพช่างซ่อมบำรุง และหลักสูตรวิชาชีพการบริบาลเด็กและผู้สูงอายุ (ผู้ดูแลงานบ้าน)

ครูอัครเดชกล่าวว่า คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเรียนที่นี่ไม่จำกัดคุณวุฒิ เพียงแต่ให้อ่านออกเขียนได้ อายุระหว่าง 18-35 ปี และมีฐานะยากจน โดยในระหว่างการศึกษา ศิษย์พระดาบสจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ศึกษาเล่าเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าแบบเรียน ค่าอาหารและที่พักอาศัย ซึ่งทางโรงเรียนจัดที่พักให้กินนอนแบบโรงเรียนประจำ

ผู้ที่สนใจสามารถสมัครคัดเลือกเข้าเรียนได้ในช่วงต้นปีการศึกษา โดยจะคัดเลือกทั้งจากการสอบสัมภาษณ์และให้เขียนเรียงความบรรยายความรู้สึกที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"คนที่อยากมาเรียนที่นี่ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดเราอนุญาตให้สมัครทางไปรษณีย์ได้ ถ้าจะมาสมัครด้วยตนเองที่โรงเรียนก็มาในช่วงหลังปีใหม่ของทุกปี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเป็นศิษย์พระดาบส เราจะมีการปฐมนิเทศโดยพระสงฆ์ ให้มีจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรม หลังจากนั้นก็จะปลูกฝังให้เด็กรู้รักสามัคคีในการอยู่ร่วมกัน"

ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนพระดาบสกล่าวว่า ถึงแม้ที่นี่จะเป็นโรงเรียนช่างสอนวิชาชีพ แต่ก็ไม่มีปัญหาการทะเลาะวิวาทอย่างสถาบันอื่น เพราะโรงเรียนปลูกฝังศิษย์พระดาบสให้รู้เสมอว่าเป็นสถาบันที่องค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงดำริก่อตั้ง ทุกคนที่เข้ามาเรียนได้รับพระมหากรุณาธิคุณเหมือนเป็นลูกหลานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ยิ่งเขารู้ตัวว่าเขาได้รับการคัดเลือกเข้ามารับพระมหากรุณาธิคุณ ได้เล่าเรียนในโรงเรียนนี้ เขาก็ต้องดูแลตนเองให้เกิดความสำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจให้ตนเองและครอบครัว ก็คุยกับลูกศิษย์ว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับโอกาสคัดเลือกเข้ามาอยู่ในการดูแลของมูลนิธิพระดาบส ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ เปรียบเสมือนว่าเป็นพ่อหลวงของเหล่าลูกศิษย์ เพราะฉะนั้น พวกเราจะทำอะไรให้ท่านเสียพระทัยไม่ได้"

ศิษย์พระดาบส

ศิษย์พระดาบส คือ นักเรียนที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและมีความเพียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงจำกัดเพศ วัย ศาสนา ถิ่นฐานที่อยู่ หรือวุฒิแต่อย่างใด เพียงอ่านออกเขียนได้ก็เพียงพอ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอบรมสั่งสอนให้พัฒนาจิตใจแก่ศิษย์พระดาบส ได้แก่ การฝึกให้มีสติ ระลึกรู้ในศีลสำรวม ดำเนินชีวิตในทางที่ชอบที่ควร เป็นผู้มีศีลธรรม มีความประพฤติเรียบร้อยเป็นพลเมืองดี ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาชีพด้วย

ครูอัครเดชกล่าวว่า ศิษย์พระดาบสที่นี่มาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งเหนือใต้ออกตก มีทั้งนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ที่ประสบภัยสึนามิ ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 2 ปีที่แล้วทางโรงเรียนพระดาบสก็ได้นำนักเรียนช่างลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปัจจุบันสามารถรับศิษย์พระดาบสได้ประมาณ 150 คน ต่อปี

อิษราพร เงินบำรุง วัย 20 ปี เดินทางจากนครนายกที่จบปวช.ด้านบริหารธุรกิจ ก่อนเบนเข็มมาเรียนช่างที่นี่ เนื่องจากในโรงเรียนพาณิชย์ไม่มีสอนวิชาช่างที่เธออยากเรียน ขณะที่ อรวรรณ์ พะวันรัมย์ นักเรียนช่างสาขาเดียวกันอายุ 25 ปี จากจังหวัดบุรีรัมย์เล่าว่า ครอบครัวของเธอมีฐานะยากจนทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา การได้มาเรียนวิชาชีพจากโรงเรียนพระดาบสจึงเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาสเช่นเธอ

ปีนี้เป็นปีที่ 30 ของโรงเรียนพระดาบส และยังเป็นปีมหามงคลเนื่องในวโรกาสครบ 60 ปีการครองราชย์สมบัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งทางดาบสอาสาและศิษย์พระดาบสจึงตั้งใจทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณขององค์พ่อหลวง

"พวกหนูก็เปรียบเสมือนลูกเหมือนหลานของในหลวง หน้าที่ที่ดีที่สุดก็คือตั้งใจเป็นคนดี ก็เหมือนพ่อแม่หวังให้ลูกของตนเป็นคนดี ในหลวงท่านก็เช่นกัน ท่านทรงหวังให้ลูกในปกครองของตนเป็นคนดี สามารถพึ่งตัวเองอยู่ได้ ปีนี้ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สิ่งที่อยากจะทำให้ในหลวง ตอบแทนในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งและเป็นนักเรียนในโครงการของในหลวงก็คือ อยากจะเป็นคนดีให้พระองค์ทรงภูมิใจ ไม่ทำสิ่งไม่ดีให้พระองค์ทรงหนักพระทัย เพราะว่าที่ผ่านมาบ้านเมืองเราเจอเรื่องหนักเยอะ เราเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้พระองค์สบายพระทัยขึ้นก็พอใจแล้ว" เหล่าศิษย์พระดาบสทิ้งท้าย

** โรงเรียนพระดาบส ตรงข้ามหอสมุดแห่งชาติ 384-386 ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2282-7000, 0-2281-0377

กษัตริย์นักประดิษฐ์

นอกจากจะได้รับการยกย่องให้ทรงเป็นเอกอัครศิลปินสยามแล้ว ในยามว่าง งานอดิเรกอย่างหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดคือ การได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ อาทิ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ทรงต่อเรือไม้ลำเล็กๆ แบบเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยทรงทำ แม้กระทั่งทรงประกอบวิทยุด้วยองค์เองตามตำราร่วมกับสมเด็จพระบรมเชษฐา สิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นได้ถ่ายทอดพระปรีชาสามารถในเชิงช่างของพระองค์ ดังเช่นที่ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เขียนไว้ในสารคดีเรื่อง "ประดิษฐกรรมของ ร.9" จากหนังสือ "ความทรงจำจากในหลวง" ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันทรงมีฝีมือในการประดิษฐกรรมได้อย่างละเอียดประณีต

ตามคำบอกเล่าของอาณัติ บุนนาค มหาดเล็กคนสนิทและช่างภาพส่วนพระองค์ ในหลวงทรงมีห้องเครื่องเล่นสำหรับพระองค์ใช้ทรงประดิษฐ์และเก็บสิ่งประดิษฐ์ไว้ในห้องนี้ทั้งสิ้น พระองค์ทรงโปรดให้นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่นำแบบแปลนเรือรบมาถวาย แล้วทรงถ่ายภาพนั้นไว้ จากนั้นก็ทรงประดิษฐ์ลำเรือและชิ้นส่วนต่างๆ อย่างประณีต แสดงให้เห็นถึงพระราชอัธยาศัยอันละเอียดสุขุมและสามารถในการประดิษฐ์เป็นเลิศของพระองค์ (อ้างอิงจากสารคดีพิเศษ "อาทิตย์เบิกฟ้า" เรียบเรียงโดย อรสม สุทธิสาคร, นิตยสารสารคดี)

*******************

เรื่อง - รัชตวดี จิตดี




กำลังโหลดความคิดเห็น