เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ถือเป็นมหามงคลสมัยพิเศษ ดังนั้นนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนนี้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลอง 'พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี' เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
"ผู้จัดการปริทรรศน์" จึงได้รวบรวมรายละเอียดของงานนิทรรศการเฉลิมฉลองฯที่กำลังจัดแสดงและกำลังจะมีขึ้นในไม่ช้า เพื่อเป็นคู่มือแก่ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ
* อลังการงานมหรสพสมโภช
ชื่องาน : งานถวายพระพรและงานมหรสพสมโภชฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
สถานที่ : ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวงและสวนสาธารณะ 16 แห่ง นอกจากนี้ในส่วนการจัดงานสมโภชของภูมิภาคจัดขึ้นที่จังหวัด อำเภอ และกิ่งอำเภอ
เวลา : ระหว่างวันที่ 8 – 11 มิถุนายน 2549 ทั้งนี้ในกำหนดการจัดงานในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2549 ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชและสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ,พิธีเปิดงานถวายพระพรและงานมหรสพสมโภชฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ,พิธีหล่อพระพุทธปฏิมาทองคำ ,การแสดงกลางแจ้ง การแสดงบนเวทีของสถานศึกษาและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ,การแข่งขันชกมวย และการแสดงดนตรีลูกทุ่ง ลูกกรุง การฉายภาพยนตร์ตลอดจนมหรสพสมโภชต่างๆ
สำหรับกิจกรรมในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2549นั้น ประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 561 รูป พิธีถวายพระพรชัยมงคลของศาสนาต่าง ๆ ,พิธีถวายเครื่องราชสักการะ ,พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ,การแข่งขันชกมวย ,การแข่งขันตะกร้อลอดห่วง ,การแสดงดนตรีลูกทุ่ง ลูกกรุง และมหรสพสมโภช จากนั้นตั้งแต่เวลา 19.19 น. กำหนดจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องสนามหลวง และทุกจังหวัด ซึ่งจัดพร้อมกันทั่วประเทศ
ในส่วนของกิจกรรมวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2549 ประกอบด้วยการแสดงบนเวทีของสถานศึกษาและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ,การแสดงดนตรี ,การแข่งขันตะกร้อลอดห่วง และการแสดงมหกรรมโขนกลางแจ้ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหรสพสมโภช
และในวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2549 ประกอบด้วยกิจกรรมการแสดงบนเวที ,การแข่งขันตะกร้อลอดห่วง การแสดงดนตรี และมหรสพสมโภช เป็นต้น
* นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ
ชื่องาน : นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
สถานที่ : อิมแพค เมืองทองธานี
ระยะเวลา : วันที่ 26 พฤษภาคม 2549–วันที่ 4 มิถุนายน 2549 ตั้งแต่เวลา 09.00–21.00 น.
กิจกรรม : แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการพระราชประวัติ ณ อาคารชาเลนเจอร์ นิทรรศการพระราชกรณียกิจ จัดที่ ฮอลล์ 1-8 และ การจัดแสดงมหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ จัดที่ อารีน่า
สำหรับนิทรรศการพระราชประวัติ ณ อาคารชาเลนเจอร์ แบ่งออกเป็น 9 โซน ได้แก่
1.สืบราชสันตติวงศ์ : เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสืบราชสันตติวงศ์แห่งพระราชวงศ์จักรี ตลอดจน พระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์แต่ละพระองค์
2.เมื่อครั้งทรงพระเยาว์จัดแสดงพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ จวบจนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
3.พระคู่พระบารมี นำเสนอเรื่องราวเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพบกันและต่อมาได้เข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493
4. พระปฐมบรมราชโองการ จัดภาพพิมพ์และจัดฉายวีดิทัศน์ แสดงเหตุการณ์ตามโบราณราชประเพณี ในพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ตามช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้น
5. อัครศาสนูปถัมภก จัดแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะต้องแสดงพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะแล้ว ยังทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงเอื้อเฟื้อดูแลศาสนาต่างๆ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงทรงเป็นศูนย์รวมใจของปวงชนชาวไทยในทุกศาสนา
6. เสด็จเยี่ยมราษฎร ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระองค์มาตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แม้ในระยะนั้น ถนนหนทางไปมายังไม่สู้สะดวกนัก แต่ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนมิตรประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งในงานจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการภาพบนอาคารสถานีรถไฟจิตรลดาจำลองและใช้เทคนิคการฉายภาพสะท้อนรอบทิศทาง
7.คนของแผ่นดิน กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้นเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศหลายท่าน
8. พระอัจฉริยภาพ แสดงออกถึงพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่าง ๆ ดังนี้- ส่วนที่ 1 จัดแสดงภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ จัดแสดงประติมากรรมฝีพระหัตถ์และจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ส่วนที่ 2 จัดแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ ส่วนที่ 3 จัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาและงานช่าง และส่วนที่ 4 จัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์
9. เทิดไว้เหนือเกล้าชาวไทย แสดงให้เห็นถึงความซาบซึ้ง และจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มาเยี่ยมชมงาน สามารถแสดงออกถึงความจงรักภักดีในหลายรูปแบบ และมีการคัดเลือก 20 ภาพแห่งความทรงจำที่ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯชื่นชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมาประกาศหาบุคคลในภาพ
สำหรับนิทรรศการพระราชกรณียกิจ จัดที่ ฮอลล์ 1-8 เป็นการจัดนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเริ่มจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของภาพก่อนและหลังที่จะมีโครงการฯ การพัฒนาทรัพยากรผ่า ปรัชญาการบริหารน้ำ เรื่องดิน เกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านสื่อมัลติมีเดียรูปแบบต่างๆ
และการจัดแสดงมหานาฏกรรมเฉลิมพระเกียรติ ในรูปแบบของละครเพลงนำเสนอศิลปะการแสดงนาฏกรรมและดนตรีแบบร่วมสมัย เพื่อสื่อถึงความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะจัดแสดงวันละ 2 รอบ คือ 14.00 น. และ 19.00 น. ของทุกวัน บัตรราคา 100 บาททุกที่นั่ง พร้อมรับเข็มกลัดที่ระลึกการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ สามารถสำรองล่วงหน้าที่ได้ 02 515 5555 ทุกวันระหว่างเวลา 10.00 – 21.00 น.
สำหรับการเข้าชมงานนั้นจะมีบริการรถรับส่งฟรี จากสถานีบีทีเอสหมอชิต-ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี ทุก 10 นาที และบริการรถรับ-ส่งระหว่างอาคารฟรี
* ยลเสน่ห์แห่งสายน้ำตามขบวนเรือพระราชพิธี
การจัดขบวนเรือพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของมหกรรมเฉลิมฉลองวันที่ครบ 60 ปีแห่งการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลายๆคนเฝ้ารอคอยชื่นชม เนื่องจากเป็นการจัดขบวนเรือพระราชพิธีตามประเพณีโบราณ ซึ่งหาชมได้ยาก และจะจัดในวาระโอกาสที่พิเศษของประเทศเท่านั้น
สำหรับกำหนดการชมเรือพระราชพิธีนั้น แบ่งเป็นการแสดงในวันซ้อมและวันจริง เริ่มตั้งแต่การฝึกซ้อมย่อยในเวลากลางวันของวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ส่วนการฝึกซ้อมใหญ่นั้นจำทำการฝึกซ้อมในเวลากลางคืนของวันที่ 2และ6 มิถุนายน 2549 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ก่อนวันจริง คือวันที่ 9 มิถุนายน จะมีการฝึกซ้อมอีกครั้ง ในเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป และในส่วนของการแสดงจริงนั้นสามารถติดตามชมได้ในเวลากลางคืนของวันที่ 12 มิถุนายน 2549 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในวันที่ 9 และ 12 จะมีการแสดงไฮไลต์สำคัญประกอบการแสดงขบวนเรือพระราชพิธี คือ การลอยกระทงสาย ทำให้สายน้ำทั้งสายระยิบระยับด้วยแสงไฟจากกระทง นอกจากนี้บนท้องฟ้ายังมีแสงเรืองรองจากโคมยี่เป็งอีกด้วย
เส้นทางขบวนเรือพระราชพิธีจะเริ่มต้นตั้งขบวนตั้งแต่ท่าวาสุกรี (หอสมุดแห่งชาติ) ถนนสามเสน ล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาไปจนถึงสะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โดยขบวนเรือพระราชพิธีจะหยุดเพื่อทำการแสดงให้พระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศทอดพระเนตร ณ จุดที่ตรงกับท่าราชวรดิฐในฝั่งพระนคร และราชนาวิกสภาพในฝั่งธนฯ เป็นเวลาประมาณ 30 นาที
โดยการแสดงซ้อมใหญ่ในวันที่ 2 และ 6 มิถุนายน เรือจะล่องลำน้ำผ่านเส้นทางจากท่าวาสุกรี - วัดอรุณราชวราราม ฉะนั้นจึงมีการปิดเส้นทางการจราจรทางน้ำ ตั้งแต่เวลา 17.00น. - 20.00 น. ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจสามารถชมการซ้อมใหญ่ได้ทั้งบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับการแสดงในวันจริงคือวันที่ 12 มิถุนายน จะทำการปิดเส้นทางจราจรทางน้ำตั้งแต่เวลา 16.00 - 22.00 น. โดยห้ามเรือทุกชนิดสัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงเรือข้ามฟาก ตั้งแต่สะพานกรุงธนถึงสะพานพุทธยอดฟ้าฯ หากแต่จะพิจารณาให้เรือรับ - ส่งผู้โดยสารข้ามฟากได้ ในกรณีที่ไม่กีดขวางและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของกระบวนฯ ตามความเหมาะสม
สำหรับการเตรียมตัวชมเรือนั้น ควรออกเดินทางก่อนเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อบัตรชมบนเรือ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถลงเรือได้ทันเวลา และบางบริเวณ เช่น ท่านิเวศน์วรดิฐ และธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีที่จอดรถ ดังนั้นจึงควรใช้วิธีเดินทางมาโดยรถรับจ้างสาธารณะ
โดยผู้ที่ซื้อบัตรชมบนเรือริเวอร์ไซด์ ควรมาลงเรือที่ท่านิเวศน์วรดิฐ ตั้งแต่เวลา 15.00 – 16.00 น. เนื่องจากเรือจะเคลื่อนออกจากท่านิเวศน์วรดิฐ เพื่อไปจอดยังจุดจอดบริเวณด้านข้างราชนาวิกสภา เวลา 16.00 น. เนื่องจากจะต้องมีการปิดการจราจรทางน้ำ และสำหรับผู้ที่ซื้อบัตรชม ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเดินทางมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนเวลา เวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ขบวนเรือพระราชพิธีจะเคลื่อนขบวนจะเริ่มตั้งขบวน (เรือเคลื่อนขบวน เวลา 16.00 น.)
ผู้สนใจสามารถเดินทางไปจับจองพื้นที่ชมเรือพระราชพิธีได้ตามสถานที่สาธารณะ ร้านอาหาร และ ท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามเส้นทางที่กระบวนเรือผ่าน ตั้งแต่ ท่าวาสุกรี–วัดอรุณราชวราราม แต่จะไม่เห็นการแสดงแสงเสียง และแสงส่องสว่างแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่สว่างมากนัก สามารถโทร.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2466 1811 และ 0 2475 5739
สำหรับประชาชนอาศัยแถบฝั่งพระนคร สามารถเดินทางไปชมได้ที่ท่าสะพานพุทธ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของขบวนเรือพระราชพิธี ,ซอยท่าข้าม ท่าราชินี อยู่ตรงข้ามป้อมพิไชยประสิทธิ์ ,ท่าเรือข้ามฟากปากคลองตลาด ,ท่าเตียน ฝั่งตรงข้ามคือวัดอรุณราชวรารามฯ ,ท่าช้าง ข้างๆราชนาวีสโมสร ตรงข้ามโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ,ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ,ป้อมพระสุเมรุ ท่าพระอาทิตย์ , ท่าวาสุกรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนเรือพระราชพิธี และท่าเทเวศร์
สำหรับประชาชนฝั่งธนฯ สามารถเดินทางไปชมได้ตามจุดต่างๆ ดังนี้ สำนักเทศกิจ ,โบสถ์ซางตาครู้ส ,วัดอรุณราชวรารามฯ ,วัดกัลยาณมิตรฯ ,วัดระฆังโฆสิตาราม และบริเวณใต้สะพานพระราม 8
นอกจากนี้ทางกทม.ได้จัดที่นั่งให้ชมฟรีบริเวณใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนฯ) วันที่ 2,6,9 และ 12 มิย 49 สามารถติดต่อขอรับบัตรที่นั่งชมได้ที่สำนักเขตฯ ทุกเขต หรือสอบถามเพิ่มเติม ที่ กองประชาสัมพันธ์ กทม. โทร.0 2224 8651
และสำหรับใครที่ต้องการจะนั่งชมขบวนเรือพระราชพิธีพร้อมกับรับประทานอาหารไปพร้อมกันนั้น สามารถมองหาร้านอาหารริมน้ำตามเส้นทางที่ขบวนเรือล่องลำน้ำผ่าน เช่น ร้าน อิน เลิฟ ถนนกรุงเกษม วัดสามพระยา เปิดจำหน่ายบัตร นั่งชมขบวนเรือพระราชพิธีฯจากชั้นล่างของร้านอาหาร(บัตรเต็ม) และชั้นบนของร้านอาหาร (ยังพอมีจำหน่าย) โต๊ะละ 4 ที่นั่ง บัตรราคา 3,000 บาท เสิร์ฟอาหาร 2 อย่าง และบัตรราคา 800 บาท เสิร์ฟอาหาร 1 อย่าง และสำหรับวันซ้อมใหญ่วันที่ 9 มิถุนายน บัตรที่นั่งละ 200 บาท พร้อมเครื่องดื่ม 1 แก้ว
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้าน เช่น ร้านต้นโพธิ์ ตั้งอยู่ท่าพระอาทิตย์ โดยในวันซ้อมใหญ่ (2,6และ9) คิดราคา 100 บาทต่อคน และในวันจริง (12 มิถุนายน) จะจัดที่นั่งชมในรูปแบบเก้าอี้เรียงแบบใรงหนัง 7 แถว แถวแรกหัวละ 900 บาท และ 10 แถวหลัง หัวละ 700 บาท รวมค่าอาหารจากการบินไทยและของชำร่วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามคงต้องรีบโทร.ไปจองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเวลานี้หลายแห่งมีผู้ให้ความสนใจ ทำให้บัตรจำหน่ายหมดแล้ว เช่น บนเรือริเวอร์ไซด์ (บัตรราคา 3,000 บาท) จำนวน 1 ลำ จอดบริเวณด้านหน้าหอประชุมกองทัพเรือ สามารถเห็นภาพขบวนเรือและการแสดงแสงสีเสียงอย่างเต็มตาในมุมสูง พร้อมบริการอาหารว่างแบบ Heavy Cocktail และเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) และบริเวณสนามหญ้าริมน้ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย (บัตรราคา 1,000) ชมขบวนเรือไม่มีการแสดงแสงสีเสียง เป็นจุดที่ชมขบวนเรือในแสงธรรมชาติได้พร้อมบริการอาหารว่างและน้ำดื่ม (Snack Box)
* พลุ-ดอกไม้ไฟ ระยับประดับฟ้า
มหกรรมจุดพลุ และดอกไม้ไฟเพื่อฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 – 11 มิ.ย.นี้ ประเดิมนัดแรกในวันที่ 9 ด้วยพลุชุด "สดุดีพระบารมีเบิกฟ้า "ประกอบการบรรเลงของวงออเคสตรา ที่บริเวณสระน้ำของสวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
จุดเด่นของพลุที่นำมาใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งจะไร้ควัน มีสีสันสวยสดใส เสียงเบา และเคลื่อนไหวได้ และถึงแม้จะมีฝนตกลงมาก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะพลุแต่ละนัดนั้นมีการห่อหุ้มด้วยพลาสติกอย่างหนาแน่น
สำหรับพลุที่จะนำมาจุดในครั้งนี้ ผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก จำนวน 5,900 นัด และพลุจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอีก 2,000 นัด เป็นพลุที่มีจังหวะขึ้นลงตามเสียงดนตรี มีสีสันสดใส และมีชีวิตชีวา เส้นสายสะบัดเข้ากับเสียงดนตรี อาทิ มงกุฎเงิน รูปดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ และรูปจักรวาลต่างๆ โดยจะใช้ประกอบการฉายพระบรมฉายาลักษณ์บนจอม่านน้ำ คลอเคล้าด้วยเสียงเพลงพระราชนิพนธ์จากวงออเคสตรา
การจุดพลุทั้งหมดมี 5 ช่วง ประกอบด้วย พระภูมินทร์แห่งสยาม เถลิงราช บาทบงกช เย็นศิระเพราะพระบริบาล พระบารมีจักรีเกริกฟ้า และสดุดีมหาราชา จากนั้นจะปิดท้ายด้วยการจุดตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ซึ่งมีความสูงถึง 13 x 8 เมตร
วันที่ 10 มิ.ย. พลุจะถูกจุดจากทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้า และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยพลุจะวิ่งเข้าหากันเป็นรูปตัวอักษร V แล้วขึ้นไปแตกเหนือกลางแม่น้ำ
ความพิเศษของพลุในวันนั้นถือเป็นเทคโนโลยีใหม่จากประเทศญี่ปุ่น เป็นพลุที่ไม่มีควัน มีสีสันสวยสดกว่าพลุที่เคยเห็น และที่สำคัญเสียงไม่ดัง โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกระดับชนะเลิศคว้ารางวัลจุดพลุมาจากต่างประเทศเป็นผู้ดูแลในการจุด พลุทั้งหมด 7,000 นัด
และในวันที่ 11 มิถุนายน 2549 เป็นการจัดแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติชุดพิเศษของไซโก ซึ่งเคยสร้างความประทับใจแก่สายตาหลายร้อยคู่ จากการส่งพลุขึ้นไปอลังการบนฟากฟ้าในงานเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว สำหรับครั้งนี้มีจำนวนพลุ 1,010 นัด ใช้ผู้จุดทั้งสิ้น 20 คน โดยในจำนวนนี้มี 3 คนที่เป็นระดับเลขาธิการของสมาคม Japaness Firework Association และเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตพลุขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น มาร่วมจุดด้วย และอีกหนึ่งคนเป็นแชมป์ชนะเลิศการจุดพลุ 4 ปีซ้อนซึ่งเป็นเจ้าของผลงานพลุในชุดสุดท้ายที่มาจุดในครั้งนี้
การจัดแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติของไซโกจะมีขึ้น ณ ราชตฤณมัยสมาคม(สนามม้านางเลิ้ง) ใช้เวลาในการจุดประมาณ 20 นาที ประกอบด้วยพลุ 12 ชุด คือ "ชุดโหมโรง" ซึ่งเป็นการประเดิมการแสดงด้วยเสียงดังสนั่นเพื่อสร้างสีสันก่อนเข้ารายการ , "ชุดเชิดชูเกียรติสยามประเทศ" เป็นพลุสีแดง ขาวและน้ำเงินอันเป็นธงไตรรงค์ของเมืองไทย , "ชุดเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี " ซึ่งเป็นชุดไฮไลต์ของงานชุดหนึ่งที่จะรังสรรค์ตัวเลขมหามงคล 60 เป็นทั้งเลขไทยและเลขอารบิก ด้วยพลุหลายสิบชุดที่ยิงขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งสามารถเห็นตัวเลขได้ทุกมุมมอง
"ชุดดอกไม้จากใจชาวญี่ปุ่น" เป็นพลุที่มีความสูงถึง 350 เมตร จะแตกตัวออกเป็นดอกเบญจมาศและดอก peonies บานสะพรั่งเต็มท้องฟ้า เป็นการน้อมถวายพระพรแด่พระองค์ท่าน , "ชุดทุ่งทองแห่งสวนสวรรค์" , " ชุดรอยยิ้มยามค่ำคืน" จะเนรมิตท้องฟ้าเป็นรอยยิ้ม ดอกทานตะวัน , "ชุดสวนดอกไม้สีเหลืองแห่งการเฉลิมฉลอง" เป็นดอก peonies สีเหลืองที่สวยงามแสดงถึงสีประจำวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน , "ชุดช่อดอกไม้มหัศจรรย์" , "ชุดมรกตตระการตา" , "ชุดคาไลโดสโคปตระการตา" , "ชุดมงกุฎทองแด่องค์ราชันย์" เป็นสายฝนสีเหลืองทองที่โปรยปรายลงมาดุจดังพรของพระองค์ที่พระราชทานสู่พสกนิกรชาวไทยทั่วแผ่นดิน และ "ชุดฟินาเล่" เป็นการปิดท้ายความยิ่งใหญ่ด้วยเสียงกึกก้องทั่วท้องฟ้า
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมพลุประวัติศาสตร์นี้ได้ฟรี ในวันที่ 9 มิถุนายน ที่บริเวณสวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา18.00 น.ส่วนวันที่ 10 เลือกชมกันริม 2 ฝั่งแมน้ำเจ้าพระยาระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯและสะพานพระปิ่นเกล้า รวมถึงแถวท่าช้าง หท่าพระจันทร์ ท่าพระอาทิตย์เวลา20.30 น. และในวันที่ 11 มิถุนายน ที่บริเวณสนามม้านางเลิ้ง เวลา 20.30 น.
นอกจากนี้ยังมีการจุดพลุเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีครองราชย์ของกองทัพบก อีกว่า 5,000 นัด ในวันที่17 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 18.00-20.10 น. ณ บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานีอีกด้วย.
************
ปกิณกะงานเฉลิมฉลองฯ
* มหกรรมดนตรีเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 4 วันที่ 3-4 มิถุนายน 2549 ณ สนามหน้าสโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 17.00 น. - 22.00 น. (เริ่มการแสดงบนเวที 20.00 น.)เพื่อประกาศพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านการดนตรี โดยในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินนักร้องชั้นนำ การแสดงดนตรีของวงดนตรี กรมประชาสัมพันธ์ การจัดนิทรรศการเคลื่อนที่เกี่ยวกับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ตลอดจนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การลงนามถวายพระพรบนต้นไม้แห่งความภักดีและการแสดงสินค้าพื้นบ้านและสินค้า OTOP
* นิทรรศการจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 9 โดยทางกรมศิลปากรได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เขียนโดยภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังขนาดเท่าของจริงทำการบันทึกด้วยเทคนิคใหม่มาจัดแสดงทดแทนการที่ผู้ชมไม่มีโอกาสได้เข้าไปชื่นชมในสถานที่จริง ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง มาจัดแสดงนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า ระหว่างวันที่ 4 – 13 มิถุนายน 2549 จากนั้นนิทรรศการจะถูกเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงในส่วนภูมิภาคระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
* นิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดแสดงตั้งแต่วันนี้-15 มิถุนายน 2549 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร(อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงละครแห่งชาติ)จากนั้นนิทรรศการจะหมุนเวียนไปจัดแสดงอีก 4 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 10 – 25 มิถุนายน 2549 ,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 5 – 20 กรกฎาคม 2549,หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 – 15 สิงหาคม 2549 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 30 กันยายน 2549
* นิทรรศการคีตราช จัดแสดงที่หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และหอสมุดทูลกระหม่อมสิรินธร ซึ่งอยู่บริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ตั้งแต่วันนี้- 16 กรกฎาคม 2549
* นิทรรศการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2549
* ศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับเทเวศประกันภัย,สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, ธนาคารไทยพาณิชย์ จัด คอนเสิร์ต "คีตามหาราช" โดยอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ แสงเทียน, ในดวงใจนิรันดร์, แสงเดือน, ค่ำแล้ว,ชะตาชีวิต, ลมหนาว, ไร้เดือน, ยามค่ำ, รัก, แว่ว,ไร้จันทร์, เมื่อโสมส่อง, แก้วตาขวัญใจ, ใกล้รุ่ง,อาทิตย์อับแสง, ยามเย็น, ไกลกังวล, ยิ้มสู้,แผ่นดินของเรา ฯลฯ ถ่ายทอดเสียงโดย "ศิลปินแห่งชาติ"และศิลปินคุณภาพมากมาย เช่น สุเทพ, ศรวณี, ทิพย์วัลย์,อุมาพร, สมา, จารุวรี, ธานี, รุ่งรัตน์ พร้อมด้วย 4 นักร้องชนะเลิศ "ศาลาเฉลิมกรุง...สืบสานตำนานเพลง" ปี45-46 นนทวรรธน์, พรทิพย์, กรกันต์, สุภาภรณ์ ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ณ ศาลาเฉลิมกรุง เวลา 14.00 น.สอบถามรายละเอียดที่ 0-2225-8757-8
* มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2006 นิทรรศการการจัดสวนเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านพืชสวนและการเกษตรระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 49 – 31 ม.ค.50จังหวัดเชียงใหม่
* การแข่งขันจุดพลุชิงถ้วยพระราชทานติดต่อกัน 3 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 9,000 นัด และการแสดงดอกไม้ไฟโบราณแบบต่างๆอาทิ ดอกไม้ไฟพะเนียง ไฟดอกไม้น้ำ ดอกไม้ไฟพะเยียมาส ดอกไม้ไฟเป็ดไซร้แหน ฯลฯ การแสดงดนตรี,การละเล่นพื้นบ้าน และนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จประพาสในพื้นที่อำเภอศรีราชาและใกล้เคียงด้วย จัดที่บริเวณชายฝั่งทะเลเทศบาลเมืองศรีราชาระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2549 เวลา 19.00 น.
************
ร้อยเรียงความจงรักภักดีผ่านอักษร
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเฉลิมฉลองครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการลงนามถวายพระพรและแสดงความจงรักภักดีได้ทั่วประเทศโดยทางททท.ได้จัดตั้งโต๊ะหมู่ลงนามถวายพระพรในหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ และสำนักงานภูมิภาค 22 แห่ง,ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด
สำหรับโต๊ะหมู่ลงนามถวายพระพรในวังและตำหนักในกรุงเทพฯมีดังนี้
- บริเวณพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพระราชวังบวรสถานมงคล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถ.หน้าพระธาตุ สนามหลวง ทุกวัน ยกเว้น วันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 น.-16.00 น.
- พระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถ.ราชวิถี นอกจากร่วมลงนามพื้นที่โดยรอบยังสามารถเดินชมได้ โดยการนำชมพระราชวัง จะมีเฉพาะวันเสาร์ 2 รอบ 09.30 น. และ 13.30 น.
- หอสมุดสมเด็จฯพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถ.หลานหลวง หอสมุดฯเปิดจันทร์-ศุกร์ ทั้งนี้หากประสงค์เข้าชมอาคารที่ประทับ ต้องติดต่อขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ
-ห้องจำหน่ายบัตรอาคารที่ทำการของมูลนิธิฯวังสวนผักกาด มูลนิธิจุมภฎ - พันธุ์ทิพย์ ถ.ศรีอยุธยา ทุกวัน ยกเว้น 8 มี.ค. ,5 ธ.ค. เวลา 9.00 น.-16.00 น.
- ชั้นลอย อาคารที่ทำการธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม
- ศาลาดนตรี สวนแก้ว หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยลัยศิลปากร ถ.หน้าพระลาน สนามหลวง เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00 น.-16.00 น.
นอกจากนี้ประชาชนในต่างจังหวัดสามารถร่วมลงนามถวายพระพรได้ตามจุดตั้งโต๊ะหมู่ลงนามถวายพระพรในวังและตำหนักในต่างจังหวัด ได้แก่
- พระราชวังจันทรเกษม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม (พระนครศรีอยุธยา) ทุกวัน ยกเว้น วันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 น.-16.00 น.
- พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กองบังคับการฝึกพิเศษค่ายพระรามหก (เพชรบุรี) ทุกวัน เวลา 9.00 น.-16.00 น.
- ห้องโถง ชั้น 1 พระรามราชนิเวศน์ จังหวัดทหารบกเพชรบุรี (เพชรบุรี) ทุกวัน เวลา 9.00 -16.00 น.
- พระที่นั่งราชธรรมสภา พระนครคีรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี (เพชรบุรี) ทุกวัน ยกเว้น วันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00น.-16.00 น.
ตลอดจนเส้นทางถวายพระพรตามสถานที่ในโครงการพระราชดำริและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่,โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนครนายก ,เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี,ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี ,วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู,วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น ,วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม ,วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้)จังหวัดปัตตานี ,วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ,ประภาคารกาญจนาภิเษกแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ,อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ,พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย ,เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
////////////////////////////