xs
xsm
sm
md
lg

แผน 5 ปี 'โซลาร์เซลล์' ปี 2553 ไทยราคาถูกที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิกฤตการณ์ด้านพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีราคาแพงเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพิงพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต แต่เนื่องจากแหล่งพลังงานธรรมชาติมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาน้ำมันดิบจากต่างประเทศตกประมาณวันละ 700,000 บาร์เรล ต้นทุนด้านพลังงานจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นอย่างมาก

เมื่อน้ำมันขึ้นราคาข้าวของทุกอย่างก็ขึ้นราคาตามเป็นเงาตามตัว

พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ถือว่าเป็นอนาคตของแหล่งพลังงานทดแทนของไทย แม้จะมีหลายเสียงบ่นและครหาว่า พลังงานแห่งความหวังนี้ไม่เห็นถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ด้วยติดเงื่อนไขต้นทุนของอุปกรณ์ที่แสนแพงเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันแล้วไม่คุ้มค่ากัน

แต่วันนี้ในช่วงที่น้ำมันแพงและราคาพุ่งทะยานขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC-Technology Management Center) ได้ประกาศออกมาแล้วว่า อีก 5 ปีข้างหน้า คนไทยจะได้ใช้เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูกที่สุดในโลก

* อุปสรรคเซลล์แสงอาทิตย์ไม่รุ่งในเมืองไทย

บริเวณเขตเส้นศูนย์สูตรของโลกได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ช่วงเวลาเที่ยงวันประมาณ 1,000 วัตต์ต่อตารางเมตร เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพ 10 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 100 วัตต์ ประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์มีตั้งแต่ 6 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอาจจะไม่คุ้มค่าที่จะนำมาใช้งานในปัจจุบัน เพราะต้นทุนสูงมากกว่าค่าไฟปกติเกือบ 1 เท่าตัว

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของเอ็มเทค (MTEC-ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) มุจลินทร์ รามัญกุล บอกว่า ถ้าไทยมีขีดความสามารถผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ภายในประเทศก็จะเป็นเรื่องง่าย ยุทธศาสตร์ก็มุ่งไปในจุดนั้น พยายามจะสร้างศักยภาพกันอยู่

"พลังงานแสงอาทิตย์ราคายังแพงอยู่ ต้นทุนค่าอุปกรณ์แพงลงทุนยังไม่คุ้ม ตัวเซลล์แสงอาทิตย์ในอดีตและปัจจุบันจะแพงด้วย 2 ส่วนคือ ค่าลงทุนสูง เพราะใช้เทคโนโลยีในการผลิตไอซีมาทำ ค่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกลงเมื่อมีปริมาณการใช้งานที่สูงขึ้น ตั้งโรงงานมาราคาแพงแต่ถ้าขายได้เยอะต้นทุนต่อวัตต์จะถูกลง"

อีกส่วนหนึ่ง มุจลินทร์ก็ชี้ให้เห็นปัญหาว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพราะไม่สามารถผลิตได้เองต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

"เราได้ยินเรื่องโซลาร์เซลล์กันมานานมาก แต่ไม่ยอมโตสักที เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือเนื่องจากความนิยมใช้น้อย คนที่จะมาพัฒนาก็น้อย ทำมาเท่าไหร่ก็สู้น้ำมันไม่ได้สักที ซึ่งเป็นเหมือนกันในทุกประเทศ ในเมืองไทยพัฒนามาแล้วก็หยุดไม่มีการแข่งขันกันสักที แต่ตอนนี้ทั่วโลกรู้แล้วว่า หนีไม่พ้นแน่ อย่างไรก็ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์แน่ ในช่วง 5 ปีหลังสุดที่ผ่านมา และอีก 10 ปีข้างหน้าพลังงานโซลาร์เซลล์ก็จะเติบโตเร็วมาก เพราะตอนนี้นาโนเทคก็เข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว เริ่มเป็นการลงทุนที่คุ้มทุนและมองเห็นว่าอนาคตทางนี้ต้องมา และหนีไม่รอด พอมีคนลงทุนพัฒนาเยอะ มีเงินสนับสนุนเข้าไปเยอะ มันจะเติบโตเร็วมาก ยิ่งโตปุ๊บราคาลดลงมาคนก็ยิ่งใช้เพิ่ม ราคาก็ไต่ลงมาในระดับที่ชาวบ้านทั่วไปใช้ได้"

แม้ปัจจุบันจะมีโครงการ ' ไฟฟ้าเอื้ออาทร' หรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงพลังงานผลักดันออกมา โดยวางเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล 440,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ผ่านการติดตั้งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะติดตั้งมีกำลัง 120 วัตต์ รองรับการใช้ไฟเท่าที่จำเป็น คือ เพียงพอสำหรับเปิดไฟ 2 ดวง และรับชมโทรทัศน์ขนาด 14 นิ้ว ได้เป็นเวลา 4-5 ชั่วโมงต่อวัน

แต่ก็ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากสำหรับพลังงานทดแทนที่มาจากโซลาร์เซลล์

* ไทยขยับตัว ปี 2553 พลังงานแสงอาทิตย์ถูกสุดในโลก

ประเทศที่มีปริมาณการใช้โซลาร์เซลล์มากที่สุดในโลกได้แก่ ญี่ปุ่น ตามมาด้วยเยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา นอกจากญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีการใช้โซลาร์เซลล์มากที่สุดคือกว่า 859 เมกะวัตต์ แล้ว ยังเป็นประเทศที่ผลิตโซลาร์เซลล์ได้มากที่สุดในโลกด้วย คือปีละกว่า 400 เมกกะวัตต์

แต่ปัจจุบันเยอรมนีก้าวขึ้นมาแซงหน้าญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว

ตลาดโซลาร์เซลล์ของโลกในปัจจุบันมีการใช้งานเพื่อการผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ หรือ 1 ล้านวัตต์ ซึ่งจะเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 1 โรง ตลาดโซล่าเซลล์นั้นมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 25 % ต่อปี ในช่วงหลังโซลาร์เซลล์ถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้า (Grid-connected PV Systems) มากกว่าการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล (Remote Area Power Supply - RAPS) อยู่หลายเท่าตัว

ดร.พอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC-Technology Management Center) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโซลาร์เซลล์จากประเทศญี่ปุ่น และเริ่มทำงานวิจัยโซล่าร์เซลล์ในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2540

"แรกเริ่มของโซลาร์เซลล์ก็มีหน่วยงานของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นที่ทำอยู่แล้ว ทางเราคล้ายคนที่เข้ามาทำทีหลัง แต่ว่าปัจจุบัน สวทช. ล้ำหน้าที่สุดในประเทศไทย เหตุผลก็คือเรื่องเงินหรืองบประมาณเป็นหลักด้วย รวมถึงเรามีบุคลากร และทำการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ที่ทำเฉพาะการวิจัยอย่างเดียว" ดร.พอพนธ์เริ่มเท้าความเป็นมา

"ปี 2549 นี้ เรามีแผนในการทำงาน โดยมีโปรดักต์เป็นเป้าหมายเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีโซลาร์เซลล์รวมอยู่ด้วย ต้องขายของและสามารถส่งออกได้ มีแผนอยู่ 5 ปี ที่จะลดต้นทุนของการสร้างโซลาร์เซลล์และต้นทุนของระบบ เพราะเราทำตั้งแต่ต้นน้ำเองคือ ผลิตวัสดุที่นำเอามาสร้างโซลาร์เซลล์ ซึ่งลดการนำเข้า ทำขึ้นมาในประเทศไทย และอีกส่วนก็คือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตโซลาร์เซลล์ ถ้ามาจากต่างประเทศจะมีต้นทุนที่แพงกว่าเกือบ 2 เท่า"

การพัฒนาประสิทธิภาพของโซลาร์เซลล์ด้วยการใช้ประเภท 'ฟิล์มบาง' ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ถ้าใช้ประเภทฟิล์มหนาจะมีปัญหาเพราะซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตค่อนข้างจะขาดตลาด ดร.พอพนธ์บอกว่า พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับแสงที่มีอยู่เพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ให้เพิ่มเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปีให้ได้

"ในส่วนการพัฒนาประสิทธิภาพก็ทำกันมาตั้งแต่ปี 2540 โดยเริ่มที่โครงการพัฒนาโซลาร์เซลล์ในเขตร้อนชื้นโดยโซลาร์เซลล์ฟิล์มบาง ได้เงินสนับสนุนจากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ได้มาประมาณ 120 ล้านบาท ก็พัฒนาเป็นแผนงานและสายการผลิตขึ้นมา การพัฒนาเทคโนโลยีและถ่ายทอดให้แก่ภาคเอกชนไม่ใช่ของง่ายเลย เขาไม่เชื่อทันทีในการนำไปต่อยอดเพื่อผลิตขายออกมา ต้องทำเป็นสินค้าให้เขาดู ทำให้ต้องมีโรงงานต้นแบบที่คล้ายโรงงานจริงย่อส่วนมีกำลังการผลิตน้อย ไม่เช่นนั้นเอกชนไทยจะไม่เชื่อในเทคโนโลยี เพราะเหตุนี้เราจึงต้องมีสายการผลิตแบบโรงงานอยู่ในสวทช. เพื่อใช้งานได้เองแล้วถ่ายทอดให้เอกชน"

สำหรับผลงานโซลาร์เซลล์ที่ถูกนำไปใช้งานอย่างได้ผลจากงานวิจัยของที่นี่ก็คือ แผงโซลาร์เซลล์ที่เชียงใหม่, รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, รถกอล์ฟไฟฟ้า และโซลาร์เซลล์ที่นำไปใช้กับหุ่นยนต์สำรวจที่ขั้วโลกใต้โดยมีอาจารย์ที่จุฬาฯ ไปกับคณะสำรวจชาวญี่ปุ่น และล่าสุดความสำเร็จของการพัฒนาโซลาร์เซลล์ในเมืองไทยก็คือ ระบบพีวีที (PVT) ซึ่งผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อน

"โซลาร์เซลล์โดยตัวมันเองจะผลิตไฟฟ้าได้เองเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การพัฒนามาผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนที่เป็นระบบแรกของประเทศไทย เราใช้พลังแสงอาทิตย์ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะใช้คลื่นที่มองเห็นไม่ได้ด้วย ซึ่งทำให้เกิดความร้อนเอามาใช้งานด้วย ซึ่งนำระบบพีวีทีไปติดตั้งมาแล้วคือ ที่โรงพยาบาลบางละมุง โซลาร์เซลล์ 3,000 วัตต์ ผลิตน้ำร้อนได้ 2,500 ลิตร พอมีระบบนี้ประหยัดไฟฟ้าและทำได้เร็วขึ้น เพราะโรงพยาบาลหนึ่งๆ มีผ้าติดเชื้อเยอะมาก ต้องใช้น้ำร้อนและความร้อนในการซักล้าง แห่งที่สองใหญ่ขึ้นมาหน่อย ประมาณ 150 ตารางเมตร ผลิตน้ำได้ 10,000 ลิตรต่อวัน ไฟฟ้า 4 กิโลวัตต์ อีกที่ติดตั้งที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ผลิตน้ำร้อนเพื่อปรุงอาหารและล้างจาน และผลิตไฟฟ้า

"ล่าสุดจะนำไปติดตั้งที่หลังคาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ผลิตไฟฟ้า 56 กิโลวัตต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและลดการใช้พลังงานเพื่อประหยัดไฟฟ้าปกติ น้ำร้อนเอาไปใช้กับระบบแอร์ 20 ตัน ซึ่งเป็นการพัฒนาขึ้นมาในเมืองไทยเป็นตัวแรก ระบบปรับอากาศและผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งเราผลิตขึ้นมาเองโดยไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศ และจะไปติดตั้งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตึกภปร. เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่ในหลวงทรงครองราชย์ 60 ปี โดยใช้ระบบน้ำร้อนให้ผู้ป่วยไว้อาบตั้งแต่ชั้น 13-16 ซึ่งเป็นระบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นการใช้งานระบบในเมือง เพราะการติดตั้งต้องคิดถึงเรื่องความปลอดภัยมาก จะเปิดประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้"

จากความร่วมมือในหลายส่วนทั้งจากสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น ทำให้งานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยคืบหน้าขึ้นไปอย่างรวดเร็วและน่าสนใจมาก โดยในเชิงพาณิชย์สามารถขายเทคโนโลยีให้บริษัทบางกอกโซลาร์เพื่อผลิตแผงโซลาร์เซลล์ส่งไปขายที่เยอรมนี ดร.พอพนธ์ขยายภาพให้เห็นต่อว่า

"ตอนนี้ต้องมุ่งไปที่ หนึ่ง โปรดักต์หรือตัวสินค้า และสอง ต้องมีลูกค้ารองรับ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถทำงานวิจัยต่อไปได้ เราต้องพยายามทำโซลาร์เซลล์ออกมา และมีโปรดักต์หรือสินค้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาที่ประเทศไทยเจออยู่ก็คือว่า พีกของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตกประมาณ 16 บาทต่อยูนิต ซึ่งมีแค่วันสองวันแค่เดือนเมษายน

"ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า 5 บาทต่อยูนิต แต่โซลาร์เซลล์ 10 บาทต่อยูนิต เพราะขึ้นอยู่กับราคาแผง ถ้าเกิดเราทำต้นทุนตรงนี้ให้ต่ำลงมาได้ ทำให้พอกับไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ ปัจจุบันมากกว่าอยู่ 2 เท่า เป็นเรื่องที่พยายามทำกันในแผน 5 ปี 2549-2553"

ดร.พอพนธ์ชี้ว่า เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เมืองไทยมีแสงอาทิตย์มากว่า 1.5 เท่า แต่ใช้งานโซลาร์เซลล์น้อยกว่าญี่ปุ่น 100 เท่า ตอนนี้มีติดตั้งอยู่ประมาณ 30 เมกะวัตต์ แต่ของญี่ปุ่นมีถึง 3,000 เมกะวัตต์

"เมืองไทยไม่มีการใช้โซลาร์เซลล์มากเพราะเราใช้ก๊าซ เนื่องจากเรามีก๊าซธรรมชาติของเราเอง จึงนำมาผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับเอาอนาคตมาใช้ เพราะใช้ได้ไปอีก 10 กว่าปีเท่านั้นเองที่มีอยู่ ตอนนี้ก็พยายามหาจากพม่าหรือเขมร มีน้อยและต้นทุนก็แพงขึ้น เราวางเป้าไว้ 5 ปี ญี่ปุ่นทำมานานมาก ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากว่า 30 ปีกว่าจะมาถึงวันนี้ ประเทศไทยกำลังเรียนลัดเรื่องโซลาร์เซลล์ ผมเรียนและอยู่ที่ญี่ปุ่นมาถึง 18 ปี สิ่งที่ผมและสวทช.ทำอยู่เป็นการเลียนแบบต่อยอดจากญี่ปุ่นมาอีกที เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ถ้าให้ผมมาสร้างโรงงานโซลาร์เซลล์และพัฒนาประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์เลยทำไม่ได้หรอก ไม่มีพื้นฐานของเทคโนโลยี แต่เราโตมาจากญี่ปุ่นอีกทีหนึ่ง"

ฝันอันสวยงามของแผนพลังงานทดแทนโซลาร์เซลล์ 5 ปี โดยวางเป้าหมายในปี 2553 จะทำให้ต้นทุนของโซลาร์เซลล์เท่ากับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยทั่วไป ดร.พอพนธ์อธิบายถึงความฝันว่า

"อย่างตอนนี้เราถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บางกอกโซลาร์เราก็ได้เงินมา 10 ล้านบาท แล้วได้อีก 2 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ตอนนี้เขาทำรายได้ 1,200 ล้านบาท เราก็ได้เพิ่มอีก 24 ล้านต่อปี ปีนี้เขาจะลงทุนเพิ่มเป็น 50 เมกะวัตต์ ยอดขายจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้าน เราก็จะได้ 100 ล้านบาท เขาส่งออกเยอรมนีหมด ใช้ในไทยเฉพาะไฟฟ้าเอื้ออาทรซึ่งวางแผนไว้ 300,000 หลังคาเรือน ตอนนี้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 150,000 หลัง และติดไปเรื่อยๆ จนครบ ถึงมีแค่ 36 เมกะวัตต์ และไม่มีเพิ่มขึ้น

"เอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย Asian Development Bank ) ก็สนับสนุนให้เอเชียใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โซลาร์เซลล์เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเอเชียในด้านพลังงาน เพราะเป็นพลังงานสะอาด ไม่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน แนวโน้มว่าโซลาร์เซลล์จะมาแรงในวิกฤตพลังงาน น้ำมันแพง ถามว่าเมืองไทยทำได้ไหม ก็อยู่ที่ความสามารถของเราที่จะทำให้ได้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้โซลาร์เซลล์ของเราถูกที่สุดในโลก เป็นเป้าที่ตั้งเอาไว้ นอกจากคนไทยใช้เองแล้ว ก็ทำเพื่อเปิดตลาดในการส่งออกด้วย"

การขยับตัวอย่างรวดเร็วของการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ในการรับมือสถานการณ์พลังงานของโลกที่ยิ่งทวีความวิกฤต เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมหากทำสำเร็จประเทศไทยก็จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นผู้นำของโลกในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งต้องรอลุ้นกันต่อไปอีกครึ่งทศวรรษ.

****

รู้จักกับเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar cell)

เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากแผ่นผลึกซิลิคอน ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ที่มีการประดิษฐ์ออกแบบให้สามารถเปลี่ยนแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าได้ด้วยแรงดันไฟฟ้าภายในเมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบจากดวงอาทิตย์หรือแสงจากหลอดไฟ เซลล์แสงอาทิตย์จะเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current : DC) ถือว่าพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากเซลล์แสงอาทิตย์นี้ เป็นพลังงานทดแทนชนิดหนึ่ง (Renewable Energy) ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดและไม่สร้างมลพิษใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมในขณะใช้งาน โดยถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1839 (พ.ศ.2482)

จุดเด่นของเซลล์แสงอาทิตย์

1.แหล่งพลังงานได้จากดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมดและไม่เสียค่าใช้จ่าย
2.เป็นแหล่งพลังที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม
3.สร้างไฟฟ้าได้ทุกขนาดตั้งแต่เครื่องคิดเลข ไปจนถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
4.ผลิตที่ไหนใช้ที่นั่น ซึ่งระบบไฟฟ้าปกติแหล่งผลิตไฟฟ้ากับจุดใช้งานอยู่คนละที่ และจะต้องมีระบบนำส่ง แต่เซลล์แสงอาทิตย์สามารถผลิตไฟฟ้าในบริเวณที่ใช้งานได้

ประเภทของเซลล์แสงอาทิตย์

1. เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกเดี่ยวซิลิคอน (Single Crystalline Silicon Solar Cell หรือ c-Si) ซิลิคอนเป็นวัสดุสารกึ่งตัวนำที่มีราคาถูกที่สุด เนื่องจากซิลิคอนเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง สามารถถลุงได้จากหินและทราย เรานิยมใช้ธาตุซิลิกอนในงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใช้ทำทรานซิสเตอร์และไอซี และเซลล์แสงอาทิตย์เทคโนโลยี c-Si ได้รับความนิยมและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย นิยมใช้งานในพื้นที่เฉพาะได้แก่ ในชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นหลัก

2. เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกโพลีซิลิคอน (Polycrystalline Silicon Solar Cell หรือ pc-Si) จากความพยายามในการที่จะลดต้นทุนการผลิตของ c-Si จึงทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี pc-Si ขึ้นเป็นผลให้ต้นทุนการผลิตของ pc-Si ต่ำกว่า c-Si ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี pc-Si ก็ได้รับความนิยมและใช้งานกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน

3. เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon Solar Cell หรือ a-Si) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ธาตุซิลิคอนเช่นกัน แต่จะไม่เป็นผลึก แต่ผลของสารอะมอร์ฟัสจะทำให้เกิดเป็นฟิล์มบางของซิลิคอน ซึ่งมีความบางประมาณ 300 นาโนเมตร ทำให้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อวัสดุ น้ำหนักเบา การผลิตทำได้ง่าย และข้อดีของ a-Si ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงเหมาะที่จะประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่กินไฟฟ้าน้อย เช่น เครื่องคิดเลข นาฬิกาข้อมือ วิทยุทรานซิสเตอร์ เป็นต้น

อายุการใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์โดยทั่วไปยาวนานกว่า 20 ปี และเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่กับที่ ไม่มีส่วนใดที่เคลื่อนไหว เป็นผลให้ลดการดูแลและบำรุงรักษาระบบดังกล่าว จะมีเพียงในส่วนของการทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่เกิดจากฝุ่นละอองเท่านั้น

******************************
เรื่อง - พรเทพ เฮง






กำลังโหลดความคิดเห็น