"ผมกับความตายนั่งคุยกันจนคุ้นเคย ว่าที่จริงผมไม่ได้คุยเท่าไหร่หรอก ความตายเป็นฝ่ายสอนผมเสียละมาก เป็นสุดยอดครูดีเด่นของโลกเลยแหละคุณ ผมคิดถึงความตายอยู่ทุกบ่อยนะ ไม่กลัวอะไรท่านหรอกครับ"
เป็นคำตอบแบบกระชับรวบรัดของ เชิด ทรงศรี ในคราวที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารจีเอ็ม ในช่วงที่รักษาตัวด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบันและธรรมชาติบำบัด และทำให้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่รุมเร้าอยู่ทุเลาเบาบางลง เชิด ทรงศรี ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า 'นั่งคุยกับความตาย' โดยนิตยสารจีเอ็มได้สัมภาษณ์ และถามว่า การเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้คุณครุ่นคิดถึงความตายมากน้อยแค่ไหน
........................
ในปี 2520 ผู้คนทะลักโรงหนังเพื่อแย่งกันเข้าชมหนังไทยที่มาแรงมาก จนทุบสถิติที่เคยถูกบันทึกไว้ของหนังเรื่องต่างๆ ที่เคยเข้าฉายในเมืองไทยจนราบคาบ ไม่ว่า รายได้, ยอดคนดู, ระยะเวลาที่ยืนโรงฉาย ฯลฯ ด้วยสโลแกนที่วางคู่มากับตัวหนังว่า 'เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก' หนังเรื่อง 'แผลเก่า' ของ เชิด ทรงศรี ที่สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ได้เปิดโฉมหน้าใหม่ของวงการหนังไทยอีกบทหนึ่ง
นอกจากได้รางวัลภายในประเทศแล้ว ในปี 2524 'แผลเก่า' ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents ณ เมืองน็องต์ ประเทศ
ฝรั่งเศส และในปี 2541 'แผลเก่า' ได้รับเลือกจาก Museum of Moving Image in London นิตยสาร Sight and Sound และผู้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ 'อำแดงเหมือนกับนายริด' ยังเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับเลือกเป็น Opening Film ในงานมหกรรมภาพยนตร์ Focus on Asia 1994 Fukuoka International Film Festival และได้รับเลือกฉาย ณ โรงภาพยนตร์ Art House "Iwanami Hall" และโรงในเครือ ทั่วประเทศญี่ปุ่น
ข้างต้นคือผลงานหนัง 2 เรื่องของ เชิด ทรงศรี ที่ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติหรืออินเตอร์ฯ ไม่จำเพาะในเมืองไทยที่เขาได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตมาทุกเวทีที่มีรางวัล ไม่ว่ารางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ, รางวัลพระสุรัสวดีหรือตุ๊กตาทอง และรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ในปี 2540 ยังได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นอาเซียน สาขาสนเทศ ด้านภาพยนตร์อีกด้วย
ในวันนี้แม้ตัวของ เชิด ทรงศรี จะวางวายละสังขารจากโลกนี้ไปด้วยการป่วยไข้อันเป็นธรรมดาของโลก ก็เหลือแต่ตัวงานที่สร้างทำ ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์แทนตัวของเขาผู้กำกับหลายร้อยล้านจากหนัง 'องค์บาก' และ 'ต้มยำกุ้ง' ปรัชญา ปิ่นแก้ว เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า เสียดายกับการสูญเสียปูชนียบุคคลในวงการหนังไทยไปในครั้งนี้
"ใจหาย โดยปกติแล้ว พี่เชิดเขาก็ไม่อยากให้ใครเรียกแกพี่ แกจะให้ผู้กำกับรุ่นน้องๆ เห็นแกเป็นเพื่อนมากกว่า และพี่เชิดแกก็ดื้อด้วย...(หัวเราะ) แต่ก็ดื้อกันทั้งนั้นอยู่แล้วสำหรับคนเป็นผู้กำกับ ร็สึกเสียดายเพราะหลายคนก็ยังอยากเห็นผลงานของพี่เชิด เพรางานมีความเป็นเอกลักษณ์ไทยสูงมาก แล้วก็การทำงานในช่วงหลังๆ มันดูไม่ค่อยลงตัว แต่พี่เชิดแกก็พยายามอยู่กับโปรดิวเซอร์และผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ เพรามันถึงเวลาแล้วที่หันมาจับมือกัน แต่พี่เชิดเค้าเป็นคนเปิดรับอยู่แล้ว ไอเดียช่วงหลังเขาหยิบมาหลายไอเดียแล้วก็มาถามว่านั่นดีไหม นี่ดีไหม เหมือนมาเทสต์เราว่าดีไหม แล้วพี่เชิดแกเป็นคนที่สู้กับผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอด"
ช่วงหลังที่เชิด ทรงศรีเงียบไปจากวงสังคมหนังไทย ปรัชญาบอกว่า เป็นเพราะเรื่องสุขภาพ และเป็นคนที่พอมีปัญหาเรื่องป่วย ไม่อยากให้ใครไปรับรู้หรือมาเป็นห่วงตรงนั้น
"แต่แกก็มีโอกาสผลักดันผู้กำกับน้องๆ หลักๆ ที่หายไปคงเรื่องสุขภาพ แกไม่อยากแก่ และไม่อยากให้สังขารมาทำลายความคิด ผมสังเกตว่าผมก็คิดคล้ายๆ กัน เพราะผู้กำกับต้องสร้างผลงานออกมาทันสมัยแล้วก็ไม่เชย เพราะปกติผู้กำกับรุ่นเก่าๆ พอทำอะไรมันก็จะแก่ตามอายุ สังขาร และไอเดียด้วย พี่เชิดแกอาจจะหนีตรงนั้น แกสู้มากๆ ใครไปว่าแกเก่าก็ไม่ได้ แกไม่ยอม สุขภาพมันหนักขึ้นแกก็เงียบไป อย่างช่วงก่อนเสียแกไม่ให้ใครเยี่ยมเลย ไม่อยากให้ใครไปเห็นแกในห้องไอซียูแกสั่งห้ามเด็ดขาดเลย
"กับผมก็ถือว่าคุ้นเคยกันนะครับ เพราะว่าพี่เชิดแกชอบอะไรใหม่ๆ มีช่วงหนึ่งซึ่งผมเป็นคนชอบเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งแกก็ชอบเหมือนกัน ผมอายุเยอะแล้วไง แล้วผมก็ชอบเล่นเกม ตามหน้าโรงหนัง เวลาแกเห็นแกก็จะเรียกน้องแสงแดด ซึ่งเป็นลูกสาวของแกว่า นี่..ดูไว้ต้องอย่างนี้ อายุเยอะแล้วยังสนุกได้ พี่เชิดเป็นคนแรกที่ซื้อโปสเตอร์หนังที่เมืองคานส์มาให้ผม แกโทร. เรียกผมไปที่บ้านบอกมีอะไรจะให้ เป็นโปสเตอร์เมืองคานส์ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่เคยไปเมืองคานส์เลย ดีใจมากๆ"
ปรัชญาคุยต่อว่า สิ่งที่เขารับอิทธิพลจากหนังของเชิด ทรงศรี ก็คือลักษณะของความเป็นไทยที่อยู่ในตัวหนังซึ่งมีความโดดเด่นมากที่สุด
"พี่เชิดใช้ความเป็นไทยได้งามมากๆ ในหนังของเขา มีช็อตหนึ่งในเรื่อง 'แผลเก่า' กะว่างานของผม ผมจะเอาวิธีการนี้มาใช้บ้าง การใช้ภาพกว้างแล้วก็ดอลลี่ยาวๆ มันมีช็อตหนึ่งในหนังพี่เชิดที่ไอ้ขวัญขี่ควายแล้วร้องเพลงแล้วควายเดินเข้าไปในหมู่บ้านแล้วเห็นคนแก่ตำข้าวแล้วก็กิจกรรมของคนโบราณ คือถ้าเป็นช็อตสมัยใหม่เราไม่ลากยาวขนาดนี้ เราตัดเอา ซึ่งในช็อตของพี่เชิดช็อตนั้นผมจะจำไปใช้ ดูแล้วมันได้อารมณ์ดี มันดูแล้วเชื่อว่ามีเมืองแบบนี้จริงๆ เก่าจริงๆ
"ชอบความเป็นไทยในงานของแก แล้วก็ไม่ชอบความดื้อของแก...(หัวเราะ) ความดื้อของแกมี 2 ด้านนะ ดื้อดีก็มี ดื้อเกินไปก็มี มีช่วงหนึ่งที่เคยคุยกันว่าจะเอางานแผลเก่าพี่ เชิดมาบูรณะ แกก็หวงมาก แต่มุมหนึ่งแกก็ยินดี มีพี่อังเคิ่ล (อดิเรก วัฏลีลา) พี่ปื๊ด (ธนิตย์ จิตต์นุกูล) มีผม และอีกหลายๆคนที่อยากให้เอาหนังเรื่องแผลเก่ามาตกแต่งใหม่ แต่พอดีมันไม่ลงตัว พี่เชิดแกไม่ขายสิทธิ์วีซีดี ไม่ขายอะไรเลย สังเกตดูเลยว่างานพี่เชิดจะไม่ค่อยมีวีซีดีเก่าๆ ของแกไม่ได้เลย แต่ตรงนี้น่าจะมีคุณค่ามากๆ สำหรับครอบครัวแก ตอนนี้ก็ต้องนั่งคุยกันกับทางครอบครัวว่าคิดว่าอย่างไรดี เพราะมันมีคุณค่ามากนะ ถ้านำมาบูรณะใหม่จะได้ประสิทธิภาพมากกว่าด้วย นั่นแหละคือสิ่งที่เราอยากทำให้แกเพื่อจะเก็บไว้ให้ลูกหลานดู"
ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะการต่อสู้กับโรคมะเร็งของเชิด ทรงศรี ทำให้น้องๆ ในวงการหนังไทยรู้สึกชื่นชม และเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งจุดนี้ปรัชญาบอกว่า
"ตั้งแต่พี่เชิดเขียนหนังสือ 'นั่งคุยกับความตาย' ออกมา เราก็คิดนะว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร กำลังใจเราจะเป็นอย่างไร พี่เชิดแกทำได้ขนาดนี้ เราทึ่งเลย ไม่รู้ว่าถ้าเป็นเราจะทำได้มั้ย เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่กลัวผลงานตัวเองจะแก่ แต่ทุกวันนี้เราต้องมาสู้กับคนรุ่นใหม่ มันคือการตั้งมั่นที่ดีเราต้องสู้"
สำหรับ เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ พระเอกคนสุดท้ายที่เล่นหนังเรื่องสุดท้าย 'ข้างหลังภาพ' ของเชิด ทรงศรี รำลึกถึงตอนที่ร่วมงานกันว่า
"ตอนแรกก็คิดว่าแกดุนะ เพราะแกเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว พอเข้าไปทำงานจริงๆ แกไม่ดุเลย แล้วแกก็น่ารัก เป็นคนที่แอคทีฟตลอดเวลาเหมือนเป็นคนหนุ่ม แกให้ผมเรียกแกว่าพี่ แกบอกว่าหยุดอายุไว้ที่ 28 นะ แกสนุกกับงาน ไฟแรงตลอดเวลา แกไม่ชอบให้ใครมารับรู้เรื่องอะไรเศร้าๆ เกี่ยวกับแก เป็นคนหน้านิ่งๆ แต่เป็นคนตลกหน้าตาย"
เคนบอกต่อว่า พอมารู้ข่าวว่าเชิด ทรงศรีเสียชีวิตก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน
"เพราะแกก็เหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเลย ได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆว่าแกป่วย แกดีขึ้นแล้ว อยู่ดีๆ มาเสียก็แปลกใจเหมือนกัน ช่วงหลังไม่ได้เจอนานมาก แต่เคนจะรู้จากคุณแม่
ว่าอาเชิดเป็นอย่างไร เพราะแม่จะถามข่าวอยู่บ่อยๆ ก็เสียดายแทนคนวงการหนังไทยอาเชิดแกมีไฟตลอดเวลาซึ่งน่าจะอยุ๋ให้พวกเราได้เห็นผลงานได้นานกว่านี้"
นักแสดงรุ่นหลังหรือรุ่นลูกที่เรียนจบมาทางภาพยนตร์โดยตรง จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิหน่า-สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา แสดงความรู้สึกและรำลึก
ถึงว่า
"คือจริงๆ อาเชิดเค้าดูแข็งแรงมาก แต่พอเจอครั้งที่ไปเมืองคานส์ครั้งโน้นมีคนบอกว่าเอาเชิดเป็นมะเร็ง เราก็ตกใจ หา...คนเป็นมะเร็งอะไรยังทำงานปกติเลย แกลุยมาก ไม่มีอาการเลย เท่าที่ติดตามข่าวคืออาแกรู้ตัวว่าแกเหนื่อยแล้ว จริงๆ อาเชิดเป็นบุคคลตัวอย่างที่รักในภาพยนตร์ไทยมาก เป็นคนแรกๆ เลยที่ทำให้หนังไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศแบบดำรงชีวิตอาเชิดก็ทำให้เรามองเห็นว่าการดำเนินชีวิตของคนคนหนึ่งเนี่ย การเป็นโรคหรือไม่เป็นโรคมันอยู่ที่ใจ ไม่เคยมีใครเห็นอาการเจ็บป่วยของแกเลย แกไม่ยอมแสดงออก
"นิหน่าเคยคุยกับแก เจอตามงานก็จะสวัสดี แกเป็นผู้ใหญ่ใจดี ส่วนใหญ่ก็คุยกันเรื่องหนัง จะอึ้งก็ต้องที่ว่า นิหน่ารู้ว่าแกเป็นมะเร็งแต่แกดูกำลังใจดีมาก อาเชิดดูหนังแล้วพูดถึงหนังได้ถึงแก่นจริงๆ ไม่ใช่แบบฟังเขามา แต่แกรู้แก่นเลย นี่คือตัวอย่างของคนที่อยู่กับหนังจริงๆ ทำให้รู้สึกเสียดายค่ะ จริงๆมะเร็งมันเป็นโรคที่น่ากลัวมาก เพราเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อาเชิดแกใช้ทุกนาทีในชีวิตมีค่าจริงๆ สิ่งนี้มากว่าที่นิหน้าคิดว่าคนเราน่าจะหันกับมามองตัวเองว่าทำอะไรให้สังคมบ้างรึยัง เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่อาเชิดทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้คิด"
เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับหนังที่สร้างชื่อเสียงให้กับหนังไทยเป็นคนแรกๆ ในระดับนานาชาติ เป็นหนึ่งใน 4 ผู้กำกับภาพยนตร์เฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีอาเซียน เรื่อง 'Southern Winds' (เป็นภาพยนตร์ออมนิบุส 4 เรื่อง กำกับโดยผู้กำกับฯ จากประเทศอาเซียน 3 คน คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และผู้กำกับฯ ชาวญี่ปุ่นร่วมด้วยอีก 1 คน)
แม้โครงการหนังเรื่องล่าสุดในปี 2548 ที่จะทำหนังจากชีวิตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ 'ศรีบูรพา' ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบชาตกาล 100 ปีของกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่ได้รับเกียรติจากยูเนสโกจะต้องพับลงไป เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลก็ตาม
เกียรติยศต่างๆ ที่สร้างทำไว้เมื่อครั้งมีชีวิตของ เชิด ทรงศรี ถือว่ายิ่งใหญ่ เมื่อเทียบกับมนุษย์คนเล็กๆ คนหนึ่งที่ฝ่าฟันมาถึง และวันนี้ก็แสดงให้รู้ว่า เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับที่โลกไม่เคยลืม
ผลงานภาพยนตร์ที่กำกับโดย เชิด ทรงศรี
1. โนห์รา
2. เมฆขลา (2510)
3. อกธรณี (2511)
4. ลำพู (2513)
5. คนใจบอด (2514)
6. พ่อปลาไหล (2515)
7. ความรัก (2517)
8. พ่อไก่แจ้ (2519)
9. แผลเก่า (2520)
10. เลือดสุพรรณ (2522)
11. พ่อปลาไหล (2524)
12. เพื่อนแพง (2526)
13. พลอยทะเล (2530)
14. ทวิภพ (2533)
15. คน - ผู้ถามหาตนเอง
16. อำแดงเหมือนกับนายริด (2537)
17. เรือนมยุรา (2539)
18. ข้างหลังภาพ (2544)
*************************
เรื่อง - ทีมข่าวปริทรรศน์ / บันเทิง