xs
xsm
sm
md
lg

พลิ้วไหวในความแข็งแกร่ง 'เส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยุคหนึ่ง หากใครอยากเรียนรู้สุดยอดศิลปะป้องกันตัวอย่างกังฟูของวัดเส้าหลิน คงจะต้องเดินทางไปถึงเขาซ่งซาน ประเทศจีน แต่ในปัจจุบันที่ศิลปะป้องกันตัวที่เรียกกันว่า Martial Arts กำลังเฟื่องฟู โรงเรียนเปิดสอนกังฟู เทควันโด มวยไทย ฯลฯ มีให้เห็นกลาดเกลื่อนทุกมุมโลก 'ศาสตร์' ถูกแปรรูปเป็นธุรกิจการค้าจนแทบไม่เหลือศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิม แม้แต่วัดเส้าหลินก็ไม่อาจต้านทานกระแสทุนนิยมได้ เราจึงเห็นอดีตพระวัดเส้าหลินมากมายที่สึกไปเป็นอาจารย์สอนศิลปะการต่อสู้ค่าตัวแพงในต่างแดน

แรกได้ยินชื่อ 'เส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์' หลายคนอาจเคลือบแคลงว่า จะเหมือนเช่นโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ต่างๆ ที่มีให้เห็นกันจนเกลื่อนกลาดทั่วทุกหัวระแหง โดยเฉพาะบนห้างสรรพสินค้าไหมหนอ แต่เมื่อได้ทราบเรื่องราวที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนสอนกังฟูจากเส้าหลินแห่งแรกในประเทศไทย ก็ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะโรงเรียนนี้ไม่ได้เริ่มด้วยแนวคิดการทำธุรกิจเป็นที่ตั้ง แต่มาจากโชคชะตาและขาที่ผิดปกติจากโรคทางพันธุกรรมของเด็กผู้ชายลูกครึ่งไทย-ดัตช์ คนหนึ่ง

ใครเลยจะเชื่อว่า การฝึกวูซูทำให้เด็กชายคนนี้กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กทั่วไป จนแทบดูไม่ออกว่าครั้งหนึ่งเขาเคยมีปัญหาเรื่องการยืน การเดินมาก่อน

-1-

เสียงเด็กชายหญิงวัยประมาณต้น 10 ขวบหลายคนวิ่งไล่ ตีลังกาหยอกล้อกัน ทำให้บรรยากาศแห่งการฝึกที่ขรึมเครียดจริงจังซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อครู่นั้นผ่อนคลายลง หลายคนยังคงทบทวนท่าทางที่อาจารย์เพิ่งฝึกสอนให้อย่างตั้งอกตั้งใจ บ้างยืดเส้นสายผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และมีหลายคนที่วิ่งไปจับจองโต๊ะปิงปองอย่างสนุกสนานตามประสาเด็ก ท่ามกลางสายตาพ่อแม่ผู้ปกครองที่มานั่งรอรับลูกกลับบ้านหลังเลิกเรียน

ใครจะรู้ว่า เกือบหนึ่งปีก่อนหน้านั้น หัวใจของผู้เป็นแม่คนหนึ่งต้องกังวลเพียงใดกับอาการป่วยของลูกชาย และในเวลานั้นเธอเองก็คงไม่รู้ว่าตัวเองจะกลายมาเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งโรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์ ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเสรีวิลล่าแห่งนี้

"ตัวเองไม่ได้สรรหาว่าจะเปิดโรงเรียนเส้าหลิน แต่ลูกชายพี่เขามีขาที่ผิดปกติ เขามี genetic problem มาจากคุณพ่อเขาซึ่งทำให้เขามีเท้าที่แป การที่เขาเท้าแปถ้าโตขึ้นมาก็คงจะเห็นเขาเดินเป็นเป็ดชัดเจน แต่ตอนที่เขายังเล็กสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเขาจะเป็นตะคริว สัปดาห์หนึ่งเป็นสัก 5 วัน ดึกๆ เขาก็จะลุกขึ้นมาร้องไห้ คุณพ่อเขายิ่งเป็นหนักเคยถึงกับเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น เวลาเห็นหน้าลูกพี่ก็จะนึกว่าเขาจะต้องนั่งรถเข็นเหมือนพ่อ เราก็พยายามให้เขาทำทุกอย่างทั้งว่ายน้ำแต่มันไม่ดีขึ้น มันไม่ช่วยพัฒนาตรงนี้" พัชรวรรณ เกษมสันต์ ณ อยุธยา เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกชายวัย 5 ขวบของเธอให้ฟัง

"พอดีลูกเรียนโรงเรียนอังกฤษ-จีน ก็เลยมาคุยกันว่าถ้ามีโรงเรียนที่มาสอนกังฟูอย่างดั้งเดิมในเมืองไทยได้คงจะแฮปปี้มากจริงๆ แต่ว่าไม่ใช่โรงเรียนที่มาเปิดมีนักเรียน 30 คน เรียนอยู่ในคลาส อย่างนั้นมันไม่เวิร์ค ครูจีนก็แนะนำว่ามีคนสิงคโปร์เอาอาจารย์เส้าหลินเข้ามา ลูกดิฉันก็มีโอกาสได้เรียนกับเขา เรียนได้ 2 เดือนตะคริวก็หายเลย การทรงตัวของเขาก็ดีขึ้น ทั้งที่หมอทำกายภาพก็ช่วยเขาไม่ได้ ผ่าตัดก็ไม่ได้ ถ้าไปดูตอนนี้จะเห็นว่า 5 เดือนต่อมา ขาเขาเปลี่ยนเป็นเด็กคนละคน แข็งแรงมาก จากนั่งยองๆ ไม่ได้ก็นั่งยองๆ ได้"

แต่พอหลังลูกชายของเธอจากเริ่มอาการดีขึ้น ชาวสิงคโปร์คนนั้นก็จะเลิกคอร์ส พัชรวรรณไม่อยากให้พัฒนาการของลูกสะดุดและเสียอาจารย์จากเส้าหลินไป จึงนำมาสู่การตัดสินใจเปิดโรงเรียนแห่งนี้

เส้าหลิน วูซู (กังฟู) ไทยแลนด์ หรือ สถาบัน SWT ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้แบบเส้าหลิน (Shaolin Wushu) ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย ครูฝึกหรือเหล่าซือนั้นเป็นพระบู๊ที่ได้รับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้จากวัดเส้าหลินโดยตรงมานานนับ 10 ปี หลังจากพัชรวรรณตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเปิดโรงเรียนสอนวูซูในเมืองไทย เธอก็ได้ติดต่อไปยังอาจารย์ชิหย่งตี้ (Shi Yong Di) อาจารย์ใหญ่ของเหล่าพระสายต่อสู้หรือที่เรียกว่าพระบู๊รุ่นที่ 33 ของวัดเส้าหลิน ซึ่งยังคงเคร่งครัดหลักสูตรการฝึกศิลปะการป้องกันตัวแบบเส้าหลินดั้งเดิม

"ดิฉันได้มีโอกาสอันดีที่ได้รู้จักคนสิงคโปร์ที่เขาแนะนำโรงเรียนนี้ ซึ่งในเมืองจีน เมืองที่มีวัดเส้าหลินอยู่คือ เต็งเซ็ง มีโรงเรียนอย่างนี้อยู่ 80 โรงเรียน แต่มีโรงเรียนนี้โรงเรียนเดียวที่อาจารย์นั้นเป็นพระ และเป็นพระที่เป็นหัวหน้าพระบู๊ของเส้าหลินรุ่นที่ 33 รุ่นเดียวกับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน"

อาจารย์ชิหย่งตี้ ได้ส่งรายชื่อพระสายต่อสู้ที่อยู่ในระดับหัวกะทิมาให้พัชรวรรณคัดเลือก อาจารย์ 4 รูป จากทั้งหมด 12 รูป ถูกส่งตรงมาจากประเทศจีนจึงยังซึมซับวิถีและจิตวิญญาณของเส้าหลินวูซู ต่างจากหลวงจีนในสถาบันสอนกังฟูของเส้าหลินบางแห่ง (แม้แต่ในประเทศจีนเอง) ที่เริ่มถูกกระแสโลกาภิวัตน์และธุรกิจเข้ามาเปลี่ยนแปลง

"เมืองจีนในช่วง 10 ปีมานี้ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และบอกได้เลยว่า 5 ปีข้างหน้า เราไม่คิดว่าจะหาอาจารย์แบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ในเมืองจีนค่าตัวเขามันพุ่ง มีการซื้อตัวกันเป็นธุรกิจจนเขาเสียศูนย์"

พัชรวรรณเล่าว่า ปัจจุบันนี้โรงเรียนสอนกังฟูเส้าหลินลงมาอยู่พื้นราบไม่ได้อยู่ที่วัดเส้าหลิน เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเป็นจำนวนมากถึงกว่า 3,000 คน ทำให้รูปแบบแตกต่างไปจากเดิม

"อาจารย์เหล่านี้ถ้าอยู่ที่เมืองจีน ท่านเดินออกนอกกำแพงวัดก็ได้เงินเดือนเป็นหลักหมื่นเลยนะ แต่หากสอนอยู่ภายในวัดจะเป็นเหมือนระบบองค์กรมูลนิธิหรือโรงเรียนประชาบาลมากกว่า บางทีเด็กพ่อแม่ยากจนก็ให้เรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน คงเป็นเพราะพื้นฐานของพระวัดเส้าหลินส่วนใหญ่ที่จะมีพ่อแม่ยากจนเหมือนกัน และดิฉันคิดว่าพื้นฐานจิตใจท่านก็ยังเป็นเส้าหลินรุ่นเก่า ไม่ได้มองถึงเรื่องเงินหรืออะไร แต่ตัววัดเสียอีกที่ค่อนข้างไปทางวัตถุนิยม มีแม้กระทั่งอาหารแช่เย็นเส้าหลิน" พัชรวรรณสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่พบเห็นให้ฟัง

ดังนั้น ถึงแม้ที่นี่จะเป็นองค์กรที่ประกอบธุรกิจ แต่พัชรวรรณก็บอกว่าหากผู้ปกครองรายใดไม่มีค่าเล่าเรียนก็ไม่เป็นไร แต่ทั้งนี้หากสามารถจ่ายได้ก็อยากขอให้จ่าย เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่าโรงเรียนของเธอขับเคลื่อนด้วยเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ จำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่ออยู่รอด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนเส้าหลินกังฟูตามแม่แบบในประเทศจีน ให้คงอนุรักษ์และสืบทอดรูปแบบดั้งเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

"เรามีจุดยืนอยู่ตรงที่ว่าเราต้องการรักษารูปแบบเดิมให้มากที่สุด" พัชรวรรณกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

-2-

ศิลปะการต่อสู้ของเส้าหลินนั้น ถูกคิดค้นโดยพระสงฆ์ชาวอินเดียซึ่งธุดงค์มายังประเทศจีนเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาในปี ค.ศ.527 และได้มาจำวัดที่วัดเส้าหลิน พระสงฆ์รูปนั้นมีนามว่า ท่านปรมาจารย์ 'ตั๊กม้อ'

ส่วน 'วูซู' เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของประเทศจีน มีการผสมผสานท่วงท่าแข็งแกร่ง อ่อนช้อยรวมเข้าด้วยกัน ภายนอกดูนุ่มนวล แต่ภายในแข็งแกร่ง และเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

วูซู มาจากภาษาจีนกลางว่า "อู่ซู่" หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ "กังฟู" คือ วิชาว่าด้วยการใช้เทคนิคในการเข้าปะทะต่อสู้เป็นสาระสำคัญ มีรูปแบบการร่ายกระบวนยุทธ และชั้นเชิงต่อสู้เป็นหลักในการฝึก ทั้งยังมีหลักศิลปะกายบริหารที่สืบทอดกันมา โดยมุ่งเน้นการประสานพลังภายในและภายนอก อันเป็นจุดเด่นของวิทยาการวูซู

โปรแกรมการสอนของ STW ได้มีการออกแบบให้นักเรียนได้พัฒนารากฐานความแข็งแรงของร่างกาย โดยใช้จังหวะแข็ง-อ่อนของร่างกาย และเน้นความหนักหน่วงของท่วงท่า ซึ่งจะช่วยเสริมให้มีการผสมผสานระหว่างแรงภายในและแรงภายนอก เนื้อหาหลักสูตรการสอนประกอบด้วย พื้นฐานกังฟูขั้นเริ่มต้น, ท่าพื้นฐานเส้าหลิน (Tao Lu), การเคลื่อนไหวเบื้องต้น, การฝึกรูปแบบ ท่าขั้นพื้นฐาน, มวยวูซู, ศิลปะการต่อสู่ด้วยมือและอาวุธ (Bing Qi) และศิลปะการป้องกันตัว

-3-

ปัจจุบัน เส้าหลิน วูซู (กังฟู) ไทยแลนด์ มีนักเรียนทั้งหมดกว่า 250 คน ซึ่งพัชรวรรณบอกว่าถ้าจะให้คุ้มทุนจริงๆ คงต้องมีสัก 350 คน แต่ตอนนี้กิจการอยู่ในสภาวะที่สามารถประคองตัวอยู่ได้ โดยมีผู้ปกครองให้ความสนใจพาบุตรหลานมาเรียนพอสมควร นอกจากนั้นก็เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ นักเรียนที่อายุน้อยที่สุดนั้น มีอายุแค่ 4 ปี ไปจนกระทั่งศิษย์อาวุโสอายุกว่า 70 ปีก็มี การเรียนการสอนจะแบ่งเป็นคลาสๆ ละไม่เกิน 10 คน

ลองสอบถามความคิดเห็นของเด็กๆ ที่มาเรียนดูบ้าง สองพี่น้อง น้องเป๋า-ไชยภพ และน้องป้อน-สุชานุช สุขดานนท์ นักเรียน ร.ร.สาธิตเกษตรฯ ใช้เวลาช่วงปิดเทอมมาลองเรียนเส้าหลินวูซูที่นี่พร้อมกัน จนอยู่ในระดับคลาส 3 แล้ว น้องเป๋าเป็นเด็กผู้ชายชอบอ่านหนังสือและสนใจเรื่องเกี่ยวกับมวยไทย โดยอ่านจากหนังสือในห้องสมุดมาก่อน ส่วนป้อนนั้นมาเรียนตามพี่ชาย แต่ทั้งสองคนก็สามารถเรียนรู้ได้ไวพอกัน โดยเฉพาะป้อนนั้นมีความยืดหยุ่นร่างกายนำหน้าพี่ชายไปด้วยซ้ำ

ก่อนเรียนอาจารย์จะให้เด็กๆ นั่งสมาธิและอบอุ่นร่างกาย พัชรวรรณบอกว่าโรงเรียนนี้มีไม้เรียวแต่ไม่เคยตี แค่ไว้สำหรับจัดท่าทางเด็กเท่านั้น บางครั้งนักเรียนตัวน้อยจึงอาจลืมไปว่าอาจารย์น่ะเป็นพระนะ ต้องคอยตักเตือนกันบ้าง ถึงแม้ว่าอาจารย์จากเส้าหลินจะพูดไทยไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาสื่อสารกันด้วยท่าทางในการสอนมากกว่า ภาษาจึงไม่นับเป็นอุปสรรค

ปณิดา นิ่มโชคชัยรัตน์ นักเรียนชั้น Year 8 ร.ร.นานาชาติ NIST บอกว่าเสน่ห์ของวูซูสำหรับเธออยู่ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงและรูปร่างดีอีกด้วย นอกจากจะทำให้มีสมาธิดีแล้ว การมาเรียนที่นี่ยังได้เพื่อนและฝึกภาษาไปในตัวโดยเฉพาะสำหรับนักเรียนนานาชาติอย่างปุณยวีร์ เลิศพงษ์ธนากิจ และกฤชชลัช โพธิ์พุทธประสิทธิ์ ที่พูด-ฟังภาษาจีนที่เหล่าซือสอนได้ อีกทั้งคอยเป็นล่ามให้เพื่อนๆ คนอื่นอีกด้วย ก่อนหน้านี้กฤชชลัชเคยเรียนเทควันโดมาก่อน แต่เขารู้สึกชอบวูซูมากกว่าเพราะได้ออกกำลังทุกส่วน ขณะที่เทควันโดจะเน้นกำลังขาเป็นหลัก

"วูซูถ้าดูจากข้างนอกอาจจะไม่มีอะไร แต่มันเป็นกีฬาเพื่อสุขภาพและก็จะได้ใช้ป้องกันตัวด้วย" ปุณยวีร์กล่าวทิ้งท้าย





กำลังโหลดความคิดเห็น