xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกบทเพลงแห่งชีวิต 'จิตร ภูมิศักดิ์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ม่านฟ้ายามค่ำ ม่านหมอกสีดำม่านแห่งความร้าวระบม เปรียบเหมือนดวงใจ มืดทึบระทม พ่ายแพ้ซานซมพลัดพรากบ้านมา ต่อสู้กู่ถิ่น และสิทธิเสรี กู้ศักดิ์และศรีโสภา จึงพลัดมาไกลทิ้งไว้โรยรา จะร้างดังป่าอยู่นับปี..."

บทเพลง "เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ" ยังคงก้องอยู่ในใจ ทองใบ ทองเปาว์ อดีตสหายผู้ร่วมชะตากรรมกับจิตร ภูมิศักดิ์ ในคุกลาดยาว แม้เหตุการณ์นั้นผ่านมาเนิ่นนาน แต่ทำนองที่คุ้นชินนี้ ก็ไม่เคยหนีพ้นไปจากห้วงความทรงจำ เช่นเดียวกับ แคน สาลิกา คนหนุ่มผู้หนีความไม่ชอบธรรมเข้าสู่ป่า

"ตื่นเถิดพี่น้องคนจนผู้ทุกข์ระทม โค่นล้ม สังคมแห่งการกดขี่ ตื่นเถิดพี่น้องผู้ไร้สิทธิเสรี ครั้งนี้เราสู้เป็นครั้งสุดท้าย..." สหายสวรรค์ หรือ ชาย พรหมวิชัย คุณลุงวัย 67 ปี อดีตสหายคู่ทุกข์คู่ยากของจิตร เมื่อครั้งใช้ชีวิตในราวป่าภูพาน ขับร้องท่วงทำนองปลุกใจที่แฝงอารมณ์โหยไห้ ของเพลง "อินเตอร์เนชั่นแนล" ด้วยแววตาอมโศก ก่อนจะบอกเล่าว่า นี่คือเพลงที่จิตรแต่งเนื้อร้อง และเจ้าตัวนำมาร้องบ่อยที่สุด ไม่ว่ายามว่าง ยามเดิน ยามนั่ง เมื่อใดที่พอมีช่องว่างเวลาเปิดโอกาสให้ความสุนทรี เมื่อนั้นผองมิตร จะได้ยินเสียงฮัมเพลงนี้ดังมาจากจิตรเสมอ

"ท่ามกลางแดด แผดเปลวร้อนผ่าวดังไฟ กลางผืนดินนาไร่ ใต้ฟ้ากว้างไกลสุดตา ใครหนอทนกรำงานกลางนา ไล่ควายดุ่มกุมไถฟันฝ่า คราดนาล้าเมื่อยระบม..." ครั้งหนึ่ง ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว เคยขับกล่อม "ทุ่งรวงทอง" ให้เป็นที่ติดหูของแฟนเพลงเพื่อชีวิต กาลเวลาผ่านไป เสียงเพลงนี้เริ่มจางหายไปจากคลื่นวิทยุ แต่ใครหลายคน ยังคงจำเนื้อร้องทำนองได้อย่างแม่นยำ

"ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน.." "แสงดาวแห่งศรัทธา" บทเพลงอมตะที่ได้ยินได้ฟังกันมาเนิ่นนาน ทั้งจากวงกรรมาชน คาราวาน หรือแม้แต่ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอีกมากมาย ได้นำทำนองแห่งความหวังนี้ โบยบินไปสู่ผู้คนทั่วทั้งสังคม และล่าสุด บทเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ก็ยังคงยืนหยัด ปลุกขวัญและกำลังใจให้พี่น้องประชาชน ที่มาร่วมต่อต้านอำนาจเผด็จการทุนนิยม ณ เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย น้ำเสียงทรงพลังของ หงา คาราวาน ที่นำเพลงนี้มาขับขานบ่อยครั้ง ยิ่งปลุกใจเหล่าแกนนำฯ และประชาชนเปี่ยมด้วยความหวังในการต่อสู้

....................

บางท่อนของบทเพลงตัวอย่างทั้งสี่เพลง ที่หยิบยกมากล่าวถึงนี้ "แสงดาวแห่งศรัทธา" ดูท่าว่าจะคุ้นหูคนทั่วไปมากที่สุด แล้วหากถามกันเฉพาะเพลงดังเพลงนี้ ว่า คุณรู้หรือไม่ ใครแต่ง? เด็กรุ่นใหม่หลายคนส่ายหน้า ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนขมวดคิ้วตอบ "น้าหงามั้ง?" บ้างก็ "น้าแอ๊ดหรือเปล่า?" "พงษ์เทพ กระโดนชำนาญแน่ๆ เลย" เปล่าหรอก ไม่ใช่เลย

ผู้ที่แต่งท่วงทำนองโหยไห้เคล้าพลังแห่งความหวังนี้ ให้กลายเป็นบทเพลงอมตะขึ้นมา คือ ชายผู้มีนามว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เช่นเดียวกัน "เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ" "ทุ่งรวงทอง" หรือเนื้อร้อง "อินเตอร์เนชั่นแนล" ล้วนเป็นผลงานของเขาทั้งสิ้น ยังไม่นับบทเพลงอีกมากมายที่ทั้งแสนไพเราะ โศกศัลย์อย่างทะเลชีวิต ฟ้าใหม่ ปลุกใจให้เลือดในกายสูบฮึกเหิม อย่างภูพานปฏิวัติ มาร์ชกรรมกร มาร์ชชาวนาไทย ศักดิ์ศรีของแรงงาน และอีกมากมายอันเกินกว่าจะนำมากล่าวถึงได้ในเนื้อที่อันจำกัด

เนื่องด้วยเดือนพฤษภาคม ในปีนี้ ตรงกับวาระครบรอบ 4 ทศวรรษ แห่งการสิ้นชีวิต ของ จิตร ภูมิศักดิ์ "ผู้จัดการปริทรรศน์" จึงของร่วมรำลึกถึงปราชญ์คนสำคัญท่านนี้ ผ่านผลงานเพลงของเขา ที่ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา แม้มิใช่เพลงฮอตฮิตของยุคสมัย หากแต่ความเชื่อและอุดมการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ถ่ายทอดไว้ต่างหาก ที่ทำให้ 'เวลา' ไม่อาจฉุดรั้งกลืนหายได้

ในวาระสำคัญเช่นนี้ เราจึงเชื้อเชิญให้เหล่าสหาย และผู้สนใจศึกษาผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ มาร่วมพูดคุยถึงงานเพลงของจิตร เพื่อให้การรำลึก ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การสนทนา หากต่อยอดแตกกิ่งก้านไปยังสังคมโดยรอบด้วย

..................................

จากสหายร่วมชะตากรรม สหายสวรรค์ , ทองใบ ทองเปาด์, แคน สาลิกาและ ศรชัย สังวรดี

สู่ชนรุ่นหลัง ผู้กู่ร้อง บอกตำนาน หงา คาราวาน เรืองกิตติ์ นกป่า อุษาคเนย์ ทริก

จากสหายร่วมชะตากรรม

สหายสวรรค์ เป็นสหายที่สนิทกับจิตร ภูมิศักดิ์มากที่สุด เขาคือผู้ที่จิตรหรือสหายปรีชา รักเหมือนน้องชายแท้ๆ ร่วมต่อสู้เผยแพร่อุดมการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนมาด้วยกันนับจากราวป่าภูพาน จนถึงการทำงานมวลชน ณ รอยต่อ ชุมชนและชายป่า ไม่มีสิ่งใดให้ต้องเคลือบแคลงว่า เขานับถือจิตใจของชายผู้จากไปมากเพียงใด ทั้งรัก และอาลัย ก็เพราะกลัวเขาหิว และไม่อยากให้เป็นอันตราย จิตรจึงเสี่ยงเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อขอข้าวกิน เป็นเหตุให้ถูกทางราชการล้อมจับ และยิงจนเสียชีวิต ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แต่มันเกิดและเป็นเช่นนั้นไปแล้ว สหายสวรรค์ วันนี้ในวัย 67 ปี พาร่างสันทัดกระฉับกระเฉง มาร่วมทำบุญให้แก่จิตร ภูมิศักดิ์ ณ วัดหนองกุง จ.สกลนคร ที่จัดขึ้นโดยกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ชาวคณะผู้มาไกลจากเมืองหลวง ก่อนที่ลุงจะปลีกตัวมานั่งรำลึกถึงความหลัง เพื่อถ่ายทอดความทรงจำให้แก่เรา...ผ่านบทเพลงของจิตร

" จิตรจะมีดินสอและกระดาษพกติดตัวอยู่เสมอ เขามักจะเขียนหนังสือทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เพลงก็เหมือนกัน เขาจะชอบแต่งเพลง ชอบร้องเพลง ซึ่งมันเป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งของเราด้วย ที่จะล้อมวงร้องเพลงปลุกใจกันบ่อยๆ เพลงที่เขาร้องบ่อยที่สุด ผมก็จำชื่อเพลงไม่ได้นะ แต่จำเนื้อได้ มันขึ้นต้นว่า "ตื่นเถิดพี่น้องคนจนผู้ทุกข์ระทม โค่นล้ม สังคมแห่งการกดขี่ ตื่นเถิดพี่น้องผู้ไร้สิทธิ์เสรี ครั้งนี้เราสู้เป็นครั้งสุดท้าย..."

ทำไมจิตรจึงชอบที่จะร้องเพลงนี้บ่อยครั้ง? สหายสวรรค์ตอบว่า

"มัน..แค้นอยู่ในอก ไม่ใช่เคียดแค้น แต่หมายถึงน้อยใจ เหนื่อย เวลาลงไปคุยกับชาวบ้าน ลงไปทำงานมวลชน ไปอธิบายให้เขาฟังว่ารัฐกดขี่ชาวนามากแค่ไหนก็ไม่มีใครเข้าใจ เวลากลับขึ้นมา จิตรเขาก็จะร้องเพลงนี้บ่อยมาก ทั้งประชด ทั้งให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจชาวนาด้วย" สหายสวรรค์บอกให้รู้ถึงความรู้สึกของจิตร

ศรชัย สังวรดี อดีตนายตำรวจยศ สิบโท เล่าว่าช่วงที่เขารับราชการเป็นช่วงเดียวกับที่จิตร เดินทางสู่ป่าอย่างเต็มตัว เขาเคยล้อมจับเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์บ่อยครั้ง อย่าถามเขาเลยว่าใจรู้สึกอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับตำรวจ หรือทหารอาสา มีให้ได้พบเห็นอยู่เสมอ และความรุนแรงก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพราะต่างฝ่ายต่างก็ได้รับการปลูกฝังกันมาว่า เจออีกฝ่ายเมื่อไหร่ก็ต้องสู้ แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งในวันวาน หมดลงแล้วอย่างสิ้นเชิง ภาพของศรชัย และสหายสวรรค์ ที่นั่งเคียงกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ยืนยันได้อย่างดีว่า ทั้งสองคนไม่เก็บความขัดแย้งครานั้นมาใส่ใจ

"ผมได้ยินอยู่เสมอนะ เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือเพลงอื่นๆ จากป่า พวกนักศึกษาเขาชอบเอามาร้องกัน ร้องประสานเสียง ร้องปลุกใจ ให้ฮึกเหิม ส่วนมากที่ผมได้ยินจะเป็นพวกเพลงมาร์ช " ศรชัย บอกเล่าถึงเพลงของจิตร ที่มีอิทธิพลต่อ นักศึกษาในช่วงนั้น

ทองใบ ทองเปาด์ ทนายความชื่อดังที่ยืนอยู่เคียงข้างคำว่า "สิทธิมนุษยชน" เสมอมา และเป็นทั้งอดีตสหายผู้ร่วมชะตากรรมของจิตร ขณะถูกจองจำอยู่ในคุกลาดยาว วันนี้ทองใบ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกของจิตรเมื่อครั้งแต่งเพลงในระหว่างที่ถูกจองจำนั้น อารมณ์ ความคิด ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร บทเพลงที่เป็นผลผลิตจากช่วงเวลาดังกล่าวคือ แสงดาวแห่งศรัทธา และเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ

"สิ่งสำคัญที่ทำให้เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร เป็นเพลงที่มีคนรู้จักและถูกนำมาร้องมากกว่าเพลงไหนๆ ของเขา นั่นก็เพราะว่า มันเป็นเพลงที่ให้ความหวัง ให้กำลังใจ ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ของชีวิต เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ดังเช่นตอนที่เขาแต่งเพลงนี้ ขณะอยู่ในคุก ให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจเพื่อนๆ เหมือนกับเรามองออกไปที่ท้องฟ้าแล้วเห็นดาวศุกร์ส่องสว่างอยู่ มันก็เปรียบเหมือนความหวัง เป็นพลังให้เราเชื่อว่าสักวันอิสรภาพจะเป็นของเรา ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกที่ไม่เข้าใจว่าถูกจับมาด้วยเหตุผลใด มันไม่สมควรเลย การที่เราแสดงความคิดของเราตามสิทธิที่มนุษยชนจะพึงมีพึงได้แล้วกลับต้องมาถูกกักขังจองจำ ไม่ต่างไปจากอาชญากรที่มีคดีร้ายแรง มันเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลมาก ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เราถูกขังลืม" เช่นเดียวกับเพลง เสียงเพรียกจากมาตุภูมิที่สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ขณะนั้นว่าโหยหา คิดถึงบ้านมากเพียงใด รวมถึงเพลง "ฟ้าใหม่" ที่ปลุกใจให้ความหวัง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชนทุกชั้นคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมที่พึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

แคน สาลิกา คอลัมนิสต์ ชื่อดัง อดีตสหายผู้เคยเข้าสู่ป่าร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาอีกหลายคน แม้จะอยู่ห่างไกลกันค่อนประเทศ แต่บทเพลงของจิตร ก็โบยบินมาโดยไร้พรหมแดนใดๆ กั้นขวาง

"สหายแทบทุกคนในป่า รู้จักและชอบเพลงของจิตรกันทั้งนั้น อย่างผมชอบ เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ มันตรงกับความรู้สึกในตอนนั้นที่อยู่ไกลบ้าน คิดถึงบ้านมาก"

แคนเล่าว่า เพลงของจิตรกลับมาเป็นที่รู้จักในช่วงก่อนเหตุการณ์14 ตุลาคม เรื่อยมาจนถึง 6 ตุลาคม 2519 ทั้งเพลงที่มีเนื้อหาปฏิวัติและเพลงที่ "ไม่แดงมาก" ซึ่งเพลงในกลุ่มหลัง จะมีเนื้อหาเข้าได้กับทุกสังคมทุกยุคสมัยมากกว่าเพลงแนวปฏิวัติ ดังนั้นจึงยังเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น แสงดาวแห่งศรัทธา เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ และทะเลชีวิตเหล่านี้ล้วนแสดงถึงความหวัง กำลังใจ การต่อสู้ มีความเป็นสากลที่เข้าถึงคนในหมู่มากได้ดีกว่าเพลง "แดง"

หงา คาราวาน ศิลปินศรีบูรพา คนล่าสุด ผู้ถ่ายทอดเพลงอมตะ อย่างแสงดาวแห่งศรัทธาได้เข้าถึงจิตใจคนฟังมามากต่อมาก กล่าวถึงเพลงของ จิตร ว่า

"ครั้งแรกที่ผมได้ฟังเพลงนี้ ก็รู้สึกว่า เป็นเพลงที่มีเมโลดี้สวยงาม แต่ละท่อนแตกต่าง ทว่ามีเสน่ห์อยู่ในตัวเอง คอร์ดจับยากแต่น่าร้องที่สุด ทุกครั้งที่ต้องร้องเพลงนี้ ถ้าเป็นไปได้ผมจะพยายามไม่เล่นกีตาร์ ให้คนอื่นเล่น เพราะผมต้องการใช้สมาธิในการร้องมากที่สุด"

สำหรับตำนานเพลงเพื่อชีวิตอย่างหงา เขามองว่า เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เป็นเพลงที่มีทัศนะเปิดกว้าง มีเนื้อหาให้กำลังใจ เป็นเพลงที่แต่งมาจาก "ตัวตน" ข้างใน ความเป็นมาของเรื่องราวต่างๆ ความหลังของผู้แต่ง ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เพลงนี้มีพลัง และยังคงอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน ทั้งเชื่อว่า บทเพลงบทนี้ จะอยู่คู่สังคมต่อไปอีกนาน

สู่ชนรุ่นหลัง ผู้กู่ร้อง บอกตำนาน

เรืองกิตติ์ รักษ์กาญจนนันต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มใบไม้ป่า และเครือข่ายหนังสืออิสระ เขาจัดได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาผลงานของจิตร อย่างรอบด้านมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งจัดกิจกรรมรำลึกถึงจิตร เรื่อยมา กิจกรรมมีสาระที่เขาและผองเพื่อนร่วมกันทำ และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ส่งผลให้เขาเลือกทางเดินชีวิตเป็นนักจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เสมอมา ก็มาจากการได้ฟังวรรคทองที่ว่า "ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ.."นี่เอง เรืองกิตติ์ บอกเล่าถึงความรู้สึกที่เขามีต่อเพลงของจิตร ว่า

"แต่ละเพลงของจิตรมีพลังมาก เราสามารถรับรู้ได้เลยว่า ขณะที่เขาแต่งเพลงๆ นั้นขึ้นเขาคิดอะไร เผชิญกับสภาวการณ์แบบไหนอยู่" นอกจากนี้เขาแสดงความเห็นว่า เพลงที่เป็นเนื้อหาแนวปฏิวัติของจิตร อาจไม่ได้รับความนิยม เช่นเพลงอื่นๆ ของเขาที่มีเนื้อหาเป็นกลาง แต่ใช่ว่าเพลงเหล่านั้นจะหมดคุณค่า ตรงกันข้าม ควรที่คนรุ่นหลังจะหันมาศึกษาบทเพลงของจิตร เพื่อโยงไปสู่ปัญหา และสภาพสังคมในช่วงนั้น

นกป่า อุษาคเนย์ บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์ทางเลือก อีกหนึ่งคนวรรณกรรมที่ชื่นชอบในผลงานการแต่งเพลง ของจิตร แสดงทรรศนะไว้น่าสนใจ ว่า "สำหรับผม เพลงของจิตร อยู่เหนือกาลเวลานะ อย่างเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา มันแสดงให้เห็นถึงความหวัง ความเข้มแข็ง ปลุกให้คนลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมแพ้ เข้าได้กับทุกสังคม เพราะมันมีความเป็นสากล นั่นคือ ไม่ว่าจะตกอยู่ในยุคของรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือเผด็จการทุนนิยม เพลงนี้ก็ยังคงไม่ล้าสมัย เพราะกรอบของมันกว้างใหญ่มาก นั่นคือ ต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะถูกปกครองด้วยระบอบใด มีรัฐบาลแบบไหน" อีกเพลงหนึ่งที่เขาชอบมากคือ ทะเลชีวิต ที่มีความไพเราะทั้งทำนองและคำร้อง

ปิดท้ายด้วยทรรศนะจากตัวแทนคนรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวสกลนคร ศรีสุข ผาอินทร์ หรือ ทิก นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในศิลปินกลุ่มเด็กฮักถิ่น ที่รวมกลุ่มกันเล่นดนตรีเพื่อชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะร้อง เล่น และรู้จักเพลงของ จิตร ภูมิศักดิ์

"ผมคิดว่าเพลงของจิตรไม่มีวันตาย จะยังมีคนร้องเพลงของเขาอยู่เสมอ เพราะเป็นเพลงที่มีความหมายดี เรียกร้องให้เราต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เป็นกำลังใจ ให้ความหวัง ส่วนเพลงที่ผมชอบมาก คือ เพลง ทะเลชีวิต ในความรู้สึกผม เพลงนี้เป็นเพลงที่เพราะมาก แค่เสียงกีตาร์อินโทรขึ้นมาก็เพราะแล้ว ภาษาในเนื้อเพลงก็สวย มันทำให้เห็นภาพเลยว่า เขารู้สึกยังไง เจอปัญหาหนักแค่ไหน ถึงถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงนี้ได้"

............................

ลมหวิว...เจ้าแผ่วโชยพลิ้ว มาปลอบใจข้า ยิ่งกระพือโหมไฟที่เริงร่า ลนลวกอุราที่แสนสุดร้อนรน...

เช่นเดียวกัน สายลมที่พัดปลอบใจเขาในครานั้น ก็ได้นำท่วงทำนองแห่งเสียงเพลงหลากหลายบทกลับคืนสู่ยุคสมัยปัจจุบัน พร้อมๆ กับที่นำ ความคิด ผลงาน และความสามารถของเขา..จิตร ภูมิศักดิ์ กลับคืนสู่ความตระหนักรู้ของคนในสังคมอีกครั้ง

******

เรื่อง - รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล




กำลังโหลดความคิดเห็น