xs
xsm
sm
md
lg

Touch The Heart ...ใส่ใจให้กับ "ติมซำ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ติมซำ" อาหารว่างที่เดินทางมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นเมนูที่คนทั่วโลกรู้จัก และบัดนี้กำลังกลายเป็นอาหารยอดฮิตกลายพันธุ์ที่คนไทยกำลังเห่อสุด ๆ จากราคาร้อยกว่าบาทที่ขายกันในโรงแรม ถูกดัมพ์ราคาลงมาเหลือเข่งละ 15 บาท แถมเอาใจคนกินกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ติมซำในวันนี้จึงมิใช่อาหารคำเล็ก คำน้อยที่ปั้นอย่างใส่ใจตามปรัชญาเดิมเสียแล้ว

กำเนิด "ติมซำ"

วัฒนธรรมการกินของฝรั่งนั้นจะมีอาหารที่เรียกว่าแอพพิไทเซอร์ หรืออาหารเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะเข้าสู่เมนคอร์สหรืออาหารจานหลัก สำหรับคนจีนแล้ว "ติมซำ" ก็คืออาหารเรียกน้ำย่อยนั่นเอง

ติมซำ ถือกำเนิดที่เมืองกวางตุ้ง มีตำนานเล่ากันว่าในสมัยก่อนนั้นมีนักเดินทางตามเส้นทางสายไหมมักจะหาสถานทีเพื่อแวะพักผ่อนระหว่างการเดินทาง ดังนั้นบนเส้นทางสายไหมจึงเต็มไปด้วย " ร้านน้ำชา"หรือ "Yum Cha" เพื่อต้อนรับอาคันตุกะนักเดินทางแปลกหน้าเป็นประจำ

ขณะเดียวกันชาวนาตามชนบทเมื่อทำงานเหนือยล้าก็จะแวะพักผ่อนและดื่มน้ำชายามบ่ายตามร้านน้ำชาเหล่านี้ ขณะที่ดื่มน้ำชาก็จะต้องมีอาหารกินเล่นเพื่อกินคู่กับน้ำชา บรรดาเจ้าของร้านจึงเริ่มคิดหาอาหารกินเล่นต่าง ๆ ขึ้นมา จึงเป็นที่มาของติมซำในเวลาต่อมา ด้วยความที่เป็นอาหารกินง่ายและรสชาติแปลกใหม่ ติมซำจึงกลายเป็นอาหารที่นิยมไปทั่วโลก

คำว่า "ติมซำ" มาจากภาษากวางตุ้ง แปลว่า Touch The Heart หมายถึงการทำอาหารคำเล็กคำน้อยที่นอกจากจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องใช้ฝีมือประดิษฐ์ปะดอยให้สวยงาม น่าลิ้มลอง และอร่อย ดังนั้นหัวใจสำคัญในการทำติมซำให้อร่อยนั้นคือ จะต้องใส่ใจลงไปกับติมซำทุกคำนั่นเอง

เมื่อติมซำเริ่มมาจากความคิดสร้างสรรค์ดังนั้นรูปแบบของอาหารชนิดนี้จึงมีการพัฒนารูปแบบออกไปมากมายไม่มีที่สิ้นสุด เมนูติมซำจึงมีความหลากหลายเป็นพัน ๆ ชื่อ แล้วแต่ว่าเชฟคนไหนจะคิดเมนูอะไรขึ้นมา ซึ่งจะต้องอยู่ในกระบวนการ นึ่ง อบ ทอด แช่เย็น เป็นต้น

แต่การทำติมซำนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เชฟหยิบ ........ได้กล่าวถึงอาชีพเชฟติมซำว่าจะทำเฉพาะติมซำเท่านั้น ไม่ปะปนกับเชฟทำอาหารทั่วไป แต่กว่าจะมาเป็นเชฟทำติมซำได้นั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี

"คนที่จะทำติมซำให้เก่งจริง ๆ นั้นจะต้องฝึกทำติมซำมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะตบแป้งฮะเก๋าให้บางได้นั้น อย่างน้อยก็ฝึกมืออยู่ถึง 2 ปีแล้ว เพราะฮะเก๋าถือเป็นติมซำที่ทำยากที่สุด คือเนื้อแป้งจะต้องเนียนและบางเท่ากันทั้งแผ่น จะจีบฮะเก๋านั้น 2 วันก็หัดจีบเป็นแล้ว แต่จะจีบให้สวยให้ได้ 13 จีบนั้นก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน อย่างซาลาเปาที่เป็นฝีมือเชฟติมซำนั้น ทุกลูกจะต้องมีน้ำหนักเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นแป้งหรือไส้จะต้องชั่งน้ำหนักพอดีเป๊ะ และปั้นให้ ไส้อยู่ตรงกลาง ทั้งนี้อยู่ที่ประสบการณ์ส่วนที่เหลือก็เป็นประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ของเชฟแต่ละคนที่จะไปพลิกแพลงกุ้งกับแป้งให้ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่"

วัฒนธรรมการกินติมซำ

คนจีนจะกินติมซำจะคู่กับน้ำชามาตั้งแต่โบราณแล้ว ที่ประเทศฮ่องกงเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ชาวฮ่องกงจะนิยมกินติมซำในช่วงสาย ๆ โดยบรรดาเศรษฐีมีเงินทั้งหลายมักจะนิยมหิ้วกรงนกเขามาอวดกันที่ร้านกาแฟ ขณะที่รอเพื่อน ๆ อยู่นั้นก็จะนำกรงนกเขามาแขวนอยู่หน้าร้าน แล้วก็สั่งติมซำมานั่งกินรองท้องก่อนสัก 2 - 3 เข่ง เมื่อพรรคพวกมากันพร้อมแล้วถึงจะเริ่มสั่งอาหารจานหลักอย่างอื่น ๆ กินเพื่อให้อิ่มท้องกันต่อไป แต่ปัจจุบันจะตามภัตตาคารและร้านอาหารทั่วไปจะเสิร์ฟเมนูติมซำในมื้อกลางวัน และโดยมากไม่นิยมกินติมซำในมื้อเย็น

ตามปกติจะไม่นิยมเสิร์ฟติมซำเหมือนกันอาหารทั่วไป แต่จะนำติมซำหลาย ๆ เมนูใส่รถเข็นที่มีเตานึ่งร้อน ๆ แล้วเดินไปตามโต๊ะเพื่อให้ลูกค้าเลือกตามความพอใจ

ติมซำในเมืองไทย

ติมซำเข้ามาเมืองไทยพร้อม ๆ กับอาหารจีน และกลายเป็นอาหารยอดนิยมที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมกินไปด้วย ในสมัยก่อนติมซำไม่ได้วางขายกันตามถนนเหมือนในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าใครอยากกินก็จะต้องไปกินที่โรงแรมหรือภัตตาคาร เพราะถือเป็นอาหารสำหรับคนมีเงินเท่านั้น

ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นยุคที่ชวลิต ทั่งสัมพันธ์ นักชิมระดับพระกาฬ เจ้าของโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ นำอาหารจีนมาเปิดเป็นร้านอาหารในโรงแรมเป็นแห่งแรก โดยเฉพาะติ่มซำนั้น ชวลิตเป็นคนนำเชฟหลิว ชิ ก๊อก จากฮ่องกงมาทำกันใหม่ ๆ สด ๆ ในภัตตาคารฮ่องเต้และแต้จิ๋ว ขนาดต้องสั่งเข่งที่ใช้นึ่งมาจากฮ่องกงด้วยเพราะเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีใครทำขายเหมือนอย่างปัจจุบันนี้

ส่วนใครที่ไม่มีโอกาสไปกินติมซำในโรงแรมนั้นก็จะต้องแวะไปกินที่เยาวราชซึ่งมีภัตตาคารจีนที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ 4 - 5 ราย อาทิ ขี่-เจิน-เหลา , เยาวยื่น , ภัตตาคารไล้กี่ , ภัตตาคารก๊กจีเหลา และภัตตาคารห้อยเทียนเหลา แต่โดยปกติทุกร้านจะใช้จานใบเล็กนึ่งติมซำ แต่ห้อยเทียนเหลาซึ่งเป็นภัตตาคารของตระกูลล่ำซำนั้นถือเป็นภัตตาคารรายแรกที่เปลี่ยนจากนึ่งจานมาเป็นเข่งไม้ไผ่(ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) โดยตรงจากประเทศฮ่องกง จึงทำให้ลูกค้านิยมมากินติมซำของร้านนี้และถือว่าเป็นการยกระดับติมซำให้ดูหรูและมีราคาเหมือนฮ่องกง

จากนั้นก็เริ่มมีการฝึกเชฟคนไทยให้ปั้นติมซำจนอาหารประเภทนี้เริ่มแพร่หลายไปตามโรงแรมและภัตตาคารทั่วไป เรียกได้ว่าทุกร้านจะต้องดิ้นรนหาเชฟที่ทำติมซำเป็นมาประจำร้านเพื่อเชิดหน้าชูตาให้กับร้าน

ยุคบุฟเฟ่ต์ติมซำ

แม้ติมซำจะกลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย แต่เนื่องจากราคาที่ยังสูงเพราะวัตถุดิบที่ใช้นั้นมีราคาแพง แม้จะชื่นชอบติมซำแต่ก็ต้องเลือกกินในโอกาสพิเศษเท่านั้น และถ้าจะให้อร่อยก็ต้องกินกันตามโรงแรมหรือภัตตาคารชื่อดัง ซึ่งสนนราคาเข่งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 80 บาทขึ้นไป

แต่เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ภัตตาคารโออิชิเปิดทำบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงทำให้หลายคนมองว่า "บุฟเฟ่ต์" น่าจะเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของคนไทย

โรงแรมเอเชีย ราชเทวีเป็นรายแรก ๆ ที่นำสไตล์ "บุฟเฟ่ต์" มาใช้กับห้องอาหารจีน โดยในครั้งนั้นเปิดตัวด้วยราคา 199 บาท ++ เปิดโอกาสให้ลูกค้ากินแบบไม่อั้น แถมกินติมซำไม่อิ่มยังมีข้าวผัดและก๋วยเตี๋ยวผัดและซุปให้กินฟรีอีกด้วย หลังจากที่เปิดตัวอยู่ไม่นานก็เริ่มติมซำเลิฟเวอร์ทั้งหลายแห่กันไปกิน เพราะราคาที่จูงใจแถมเป็นติมซำระดับโรงแรมด้วย

เมื่อโรงแรมเอเชียประสบความสำเร็จจากบุฟเฟ่ต์ติมซำ จึงกลายเป็นแม่แบบให้ร้านอื่น ๆ แห่ทำกันบ้างด้วยสนนราคา 199 บาท++
แต่เจ้าของร้านหลายคนย่อมรู้ดีว่ากำไรจากติมซำนั้นน้อยมาก จากเดิมที่ลูกค้ากินเฉลี่ยคนละ 2 - 5 เข่ง แต่พอมาเป็นบุฟเฟ่ต์ติมซำที่กินไม่อั้น แทนที่จะกำไรกลับขาดทุนเพราะลูกค้าบางคนกิน 20 เข่งถึงจะหยุดกิน ทางรอดของบุฟเฟ่ต์ติมซำก็คือปรับราคาเพิ่มขึ้นหรือไม่เช่นนั้นก็ลดคุณภาพลง

เมื่อหลายแห่งหนีตายเพราะขาดทุน ถ้าไม่ปรับราคาก็ลดคุณภาพจึงทำให้บุฟเฟ่ต์ติมซำราคาถูกเริ่มหายไป ปัจจุบันมีโรงแรมหลายแห่งยังคงคอนเซ็ปท์บุฟเฟ่ต์ติมซำแต่จะเพิ่มราคาอยู่ที่ 300 กว่าบาทขึ้นไป

ติมซำเข่งละ 15 บาทเกลื่อนเมือง

จากเหตุการณ์บุฟเฟ่ต์ติมซำนั้น ทำให้นักธุรกิจหลายคนมองเห็นโอกาสว่ามีคนที่ชอบกินติมซำนั้นเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีและคนระดับกลาง แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้ไปกินติมซำราคาแพง ดังนั้นจึงหาวิธีการทำติมซำราคาถูกเพื่อรองรับคนระดับกลางและคนยุคใหม่ที่หันมากินอาหารที่กินง่ายและสะดวก

"โชคดีติมซำ" ถือเป็นร้านแรกที่ลงทุนเปิดร้านทำติมซำที่มียี่ห้อและขายในราคาถูกคือเข่งละ 15 บาท มีกว่า 50 รายการให้ลุกค้าเลือกกิน โดยเปิดสาขาแรกที่ถนนบรรทัดทองเมื่อปี 2543 โดยธีรภพ ศิรประภาธรรม เจ้าของร้านบอกว่าต้องการเปลี่ยนทัศนะคติของคนไทยให้มองติมซำไม่ใช่เพียงอาหารว่าง แต่ต้องการยกระดับให้เป็นอาหารทีกิ่นอิ่มแทนก๋วยเตี๋ยวและกินได้ไม่จำกัดช่วงเวลาจึงเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง

จุดขายของโชคดีติมซำอยู่ที่มีการปั้นและนึ่งสดให้ลูกค้าได้ส่งติมซำร้อน ๆ เข้าปากเพื่อให้คงรสชาติความอร่อย

ไม่กี่ปี่ให้หลังโชคดีติมวำก็จุดพลุให้คนไทยหันมาตื่นกระแสติมซำได้อย่างแพร่หลาย จนสามารถขยายสาขาเป็นลักษณะแฟรนไชส์ได้ถึง 15 แห่ง

ขณะที่ "ติมซำ อาหลง" ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่กระโดดเข้ามาทำติมซำราคาถูกขายและประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยมนัสสิทธิ์ ตรีสุขเกษม เจ้าของติมซำอาหลงนั้นเปิดเผยว่าเดิมครอบครัวทำธุรกิจโรงงานผลิตกุ้งแช่แข็งมาก่อน จากนั้นจึงนำกุ้งมาดัดแปลงให้มีมูลค่าเพิ่มจนมาลงตัวที่ติมซำ ซึ่งจะขายเข่งละ 15 บาทเช่นกัน และขณะนี้ก็มีการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจจะทำธุรกิจนี้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่าติมซำเข่งละ 15 บาท ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวัฒนธรรมการกินติมซำของคนไทยไปอย่างมาก จากเดิมที่มีแต่ผู้ใหญ่ที่นิยมกิน กลายเป็นคนรุ่นใหม่เริ่มหันมากินติมซำมากขึ้น รวมถึงกำแพงวัฒนธรรมการกินติมซำมื้อกลางวันก็ถูกพังทลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะติมซำเข่งละ 15 บาท นั้นหาซื้อง่ายขายกันตลอด 24 ชั่วโมง หิวหรืออยากกินเมื่อไหร่ก็เดินไปหาซื้อมาได้

ของถูก - ของแพง - ของอร่อย

เมื่อราคาติมซำมีตั้งแต่ 15 บาท ไปจนถึงร้อยกว่าบาทนั้น จึงกลายเป็นที่ถกเถียงกันว่า ของแพงกับของถูกรสชาติจะต่างกันหรือเปล่า หลายคนไปกินติมซำเข่งละ 15 บาทมาก็ยกนิ้วให้บอกว่าอร่อยโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปกินถึงเข่งละเกือบร้อยบาท ขณะที่คนที่ปากสูงกินของแพงมาแล้วเมื่อมากินของถูกก็ออกปากบ่นว่าไม่อร่อน
ของถูก - ของแพง อย่างไหรจะอร่อยกว่ากันนั้น คงจะต้องมาผ่าพิสูจน์กันก่อน

"ความอร่อยของติมซำอยู่ที่วัตถุดิบที่ใช้จะต้องสดที่สุดและดีที่สุด " เชฟหยิบกล่าว

ซึ่งวัตถุดิบสำคัญที่จะทำให้ติมซำอร่อยคือ "เนื้อกุ้ง" ปกติถ้าเป็นติมซำราคาแพงจะเลือกกุ้งตัวใหญ่เนื้อเยอะเพื่อมาตีให้เนื้อเด้งกรอบอร่อย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหมูและอื่น ๆ

ถ้าต้องการลดต้นทุนก็จะต้องใช้ "กุ้งหัก" หรือเศษกุ้งที่คัดออก และเวลาผสมก็จะใช้เนื้อหมูมากกว่าเนื้อกุ้ง

แนะร้านติมซำรสเลิศ

จากการสำรวจความคิดเห็นของนักนิยมกินติมซำหลายคนให้แนะนำร้านติมซำในดวงใจ พอจะสรุปได้ 4 - 5 ร้านเพื่อเป็นไกด์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรสชาติของติมซำแวะไปลิ้มลองกัน

ห้องอาหารเหม่ยเจียง โรงแรมเพนนินซูล่า คลองสาน เป็นโรงแรมระดับห้าดาวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีชื่อเรื่องอาหารจีน โดยมีเชฟชาวฮ่องกงประจำอยู่ถึง 2 คน ดังนั้นอาหารขอบที่นี่จึงเป็นสไตล์กวางตุ้งต้นตำรับ จุดเด่นจะเน้นในเรื่องของวัตถุดิบที่ใช้ การคัดสรรในวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่ใช้ให้มีมาตรฐาน และไม่ใส่ผงชูรส

สนนราคาเริ่มต้นที่ราคาเริ่มต้นที่ 75 บาทไต่ระดับไป ถึง 220 บาท ซีงมีให้ลูกค้าเลือก ประมาณ 21 รายการ โดยเนมูยอดนิยมที่ลูกค้าสั่งประจำ อาทิ เกี๊ยวหอยเชลล์ทอด ฮะเก๋า ฟองเต้าหู้เจี๋ยนในน้ำซุป และก๋วยเตี๋ยวหลอดผัดซอสพริก เอ็กซ์โอ

ห้องอาหารจีนเอเวอร์ การ์เดน โรงแรม เอเวอร์กรีน บนถนนสาทรเหนือ แม้จะเป็นโรงแรมที่ไม่หวือหวานัก แต่รู้จักในนักชิมอาหารจีนว่ารสชาติของอาหารขึ้นทำเนียบ โดยเฉพาะมื้อกลางวันในวันธรรมดาจะมีนักธุรกิจและผู้บริหารที่ทำงานย่านสาทรมากินติมซำเป็นประจำ แต่ถ้าเป็นวันหยุดแล้วมื้อกลางวันจะแน่นไปด้วยลูกค้าที่มากันแบบครอบครัวใหญ่

ที่นี่ใช้เชฟติมซำเป็นคนไทยแต่มีประสบการณ์ทำติมซำที่ฮ่องกงมาหลายปีก่อนที่จะมาปักหลักอยู่ที่โรงแรมนี้เพื่อปั้นติมซำอย่างเดียวมา 13 ปีแล้ว จุดเด่นติมซำของที่นี่จะใช้วัตถุดิบดีมีมาตรฐาน อย่างกุ้งที่ใช้จะเป็นขนาด 80 ตัวต่อหนึ่งกิโลกรัม และใช้สูตรลับของเชฟที่ทำให้เนื้อกุ้งเด้งกรอบ และจะทำวันต่อวัน ถ้าเหลือจะไม่เก็บแช่เย็นเพื่อเอามาขายในวันรุ่งขึ้นเด็ดขาด

มาที่ร้านนี้ถ้าไม่รู้ว่าจะสั่งติมซำอะไรดีให้สังเกตเมนูที่มีดาว 5 ดวงติดอยู่ อาทิ ฮะเก๋ากุ้ง , ขนมจีบกุ้ง ,ปลาหิมะ ,พายหมูแดง , ขนมหัวผักกาด และสามไม่ติด ซึ่งเป็นเมนูยอดฮิตที่ลูกค้าทุกคนจะต้องสั่ง สนนราคาตั้งแต่ 65 บาทขึ้นไป

ภัตตาคารไชน่า พาเลส ถนนสี่พระยา เป็นภัตตาคารหรูที่ใช้บ้านโบราณอายุกว่าร้อยปีมาตกแต่งสไตล์โมเดิร์นไชน่า เปิดบริการมาสิบกว่าปีแล้ว ถือเป็นภัตตาคารยุคกลาง ๆ สไตล์อาหารเป็นกวางตุ้ง แต้จิ๋วและแคะ ส่วนติมซำนั้นแต่เดิมจ้างเชฟฮ่องกงมาทำการสอนเชฟไทย

จุดเด่นติมซำของที่ร้านนี้อยู่ที่เลือกสรรวัตถุดิบที่ดี อย่างเช่นกุ้งนั้นจะต้องใช้กุ้งถึง 3 ชนิดด้วยกัน เพื่อผสมผสานให้เนื้อเหนียวกรอบ เนื่องจากร้านตั้งอยู่ในทำเลที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ ลูกค้าส่วนมากจึงมีหลายชาติ เมนูติมซำที่ลูกค้าชอบสั่งมากิน อาทิ ห่ำ - สุย -ก๋อ หรือข้าวเหนียวไส้รวมมิตร ซึ่งเป็นสูตรโบราณที่หากินยาก ส่วนลูกค้าชาวญี่ปุ่นมักจะสั่งข้าวเหนียวงาไส้ถั่วแดง และลูกค้าฝรั่งชอบกินฟองเต้าหู้ทอด

ติมซำของที่นี่จะมีให้เลือกกินวันละ 45 อย่าง ซึ่งจะทำสด วันต่อวัน และจึงทอดหรือนึ่งก็ต่อเมื่อมีออร์เดอร์ของลูกค้าเท่านั้น เพื่อให้ถึงปากลูกค้าในขณะร้อน ๆ สนนราคาระหว่าง 45 - 80 บาทต่อเข่ง มีให้เลือกทั้งขนมจีบ ซาลาเปา ฮะเก๋า ไปจนถึงขนมจีบหน้าหูฉลาม

ร้านฮ่องกง เฮ้าส์ ถนนสุริวงศ์ เป็นร้านเปิดใหม่แต่กำลังได้รับการกล่าวขานจากนักกินติมซำไม่น้อย ใครที่มองหาติมซำราคาเข่งละ20บาทต้น ๆ ลองแวะไปชิมร้านนี้ได้

จุดเด่นของร้านคือใช้เชฟฝีมือระดับโรงแรมห้าดาวและเจ้าของเป็นซัพพลายเออร์อาหารทะเลจึงได้ของสดและถูกกว่าท้องตลาด จึงกล้าทุ่มราคาลงมาใกล้เคียงกับติมซำเข่งละ 15 บาท และจะทำสดแบบวันต่อวัน ถ้าเหลือจะมีร้านอื่นมารับซื้อไปขายต่อ ติมซำที่ปั้นเสร็จแล้วจะจัดเรียงอยู่ในเข่งเพื่อให้ลูกค้าเลือก แล้วนำไปนึ่งหรือทอดใหม่ ๆ เสิร์ฟกันร้อน ๆ

อ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายแล้วหวังใจว่าคงจะทำมีข้อมูลให้ใช้ประกอบในการเลือกกินติมซำให้ถูกใจและถูกปาก เพราะติมซำคำเล็ก ๆ นี้จะต้องใช้สุดยอดฝีมือที่ใส่ใจกับการปั้นจึงจะทำให้ติมซำออกมาอร่อยล้ำ







กำลังโหลดความคิดเห็น