'ที่พักใจ' ในความหมายเก่าแก่ตามความเข้าใจดั้งเดิม บางคนอาจนึกถึงสถานที่สงบๆ ที่ชีวิตเกือบจะหยุดนิ่ง แหล่งพำนักที่ความวุ่นวายใดๆ จากหน้าที่การงานไม่อาจเหิมเกริมมาแตะต้องให้ขุ่นข้องใจ สถานที่ที่ได้ปลดปล่อยเวลาตามต้องการเพื่อสำรวจและทบทวนการใช้ชีวิตที่ผ่านมา หรือใครจะนึกไกลไปถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิก็สุดแล้วแต่
แต่ปี 2006 'ที่พักใจ' กำลังจะถูกแปรเปลี่ยนและนิยามความหมายใหม่จากนักการตลาด!!
Third Place หรือที่ ผศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค รองประธานหลักสูตรเอ็มบีเอ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปลเป็นไทยว่า 'ที่พักใจ' นั้น กลับไม่ใช่แค่สถานที่ดังที่กล่าวมาข้างต้นเพียงเท่านั้นอีกต่อไป ที่พักใจในพ.ศ.นี้ไม่ได้มีเฉพาะบ้านไม้ริมธารน้ำไหล เสียงนกร้อง หรือลมเย็นๆ อาบใบหน้า แต่มันอาจจะเป็นร้านกาแฟเท่ๆ สักร้านที่มีผู้คนเดินเข้า-ออกขวักไขว่ แต่คุณสามารถนั่งทำงานได้โดยไม่ใยดีกับความขวักไขว่ที่ว่า หรืออาจจะเป็นร้านหนังสือสักแห่งที่มีมุมสบายๆ สำหรับอ่านหนังสือเล่มโปรดที่ยังไม่ได้จ่ายเงินซื้อ หรือจะเป็นร้านอาหารสไตล์ชิลเอ๊าท์สักที่ที่เมื่อคุณกินอาหารอิ่มแล้วเกิดเผลอหลับบนเก้าอี้นิ่มๆ ก็ไม่มีใครว่า
แนวคิด Third Place ไหลบ่าเข้ามาเป็นระลอกๆ และมีทีท่าว่าจะแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ หลายธุรกิจมองหากรรมวิธีนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและเพิ่มช่องทางทำเงิน
ในอีกด้านหนึ่งของกระแส Third Place มันก็ได้ผูกโยงอยู่กับวิถีชีวิต (Life Style) ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ไว้อย่างน่าสังเกตสังกาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม? บ้านจึงไม่ใช่สถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับพักใจ ที่ทำงานไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับการทำงาน ทำไม? คนยุคนี้จึงต้องใช้ชีวิตส่วนหนึ่งใน Third Place ซึ่งทำให้ตัวเองต้องอยู่ในสภาพถูกจ้องมองจากคนอื่นๆ
หรือนี่คือความซับซ้อนบางชนิดของโลกยุคนี้ที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจก็ได้
-1-
มีการสันนิษฐานกันว่าด้วยความเร่งร้อนและสภาวะกดดันที่เพิ่มสูงของสังคมปัจจุบัน ความเหงา ความเป็นปัจเจก และความอยากเป็น Somebody หลายๆ ปัจจัยพวกนี้ (และคงจะมีอีกหลายปัจจัย) เตะถีบให้คนต้องมาพำนักใน Third Place มากขึ้น ผศ.รด.ธีรยุส กล่าวว่า
"มันเป็นแนวโน้มหนึ่ง ที่มาที่ไปคงมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เพราะตอนนี้ไลฟ์สไตล์ของคนมันเปลี่ยนไปเยอะ จะเห็นชัดว่าคนรุ่นใหม่มีความรีบเร่ง จากเดิมที่สองที่หลักในชีวิตคือที่ทำงานกับที่บ้าน แต่ตอนนี้เมื่อไลฟ์สไตล์เปลี่ยนอันเนื่องมาจากกระแสสังคมที่เร่งรีบและงานที่มีความกดดันมากขึ้น ฉะนั้น การที่คนอยากจะมีที่สักที่หนึ่งไว้หลบหนีจากความวุ่นวายหรือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง หรือไว้สำหรับทำกิจวัตรประจำวันที่เราอยากทำอะไรก็ได้จึงเริ่มมีกระแสขึ้นเรื่อยๆ มันมาจากกระแสสังคมตะวันตก อย่างเมืองใหญ่ๆ ในตะวันตกจะเกิดกระแส Third Place ชัดมากหรือในเอเชียก็ที่โตเกียว ตรงนี้เป็นช่องว่างที่แสดงให้เห็นว่าตลาดยังมีความต้องการ จึงเกิดกระแส Third Place ขึ้นมาในเมืองใหญ่มากมาย และเริ่มพัดเข้ามาในประเทศที่เริ่มมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับตะวันตก"
ถามว่า Third Place คืออะไร? ผศ.ดร.ธีรยุสอธิบายว่า เป็นสถานที่สาธารณะ (Public Place) ที่ใครก็สามารถเข้าไปได้ มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สามารถทำกิจกรรมที่อยากทำ มีความคล้ายคลึงกับคลับ (Club) ในสมัยก่อนเพียงแต่จะไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นกอล์ฟคลับ สนุ๊กเกอร์คลับ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกนำไปประยุกต์ให้เฉพาะทางมากขึ้น
แต่อาจต้องวงเล็บตัวโตๆ เพิ่มเติมไว้ตรงนี้ด้วยว่า แม้จะเป็นที่สาธารณะแต่ก็เป็นที่สาธารณะสำหรับผู้ที่มีอำนาจซื้อ และอาจไปไกลถึงขนาดว่าต้องมีจริตบางประการที่สอดคล้องกับสถานที่ด้วย
ผศ.ดร.ธีรยุส บอกว่าแนวคิด Third Place ไม่ใช่ของใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะภาพของสภากาแฟแบบบ้านๆ ที่สังคมไทยคุ้นเคยก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น Third Place รูปแบบหนึ่ง แต่ในแง่ของอารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศ และความหมายเชิงวัฒนธรรมอาจจะไปกันคนละทาง
เขาอธิบายว่า Third Place ในบ้านเราถูกจุดกระแสโดยร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ซึ่งวางตำแหน่งตัวเองเป็น Third Place ไว้ชัดเจน
"หลังจากที่สตาร์บัคส์เข้ามาให้ข้อมูลตรงนี้กับตลาดว่า จริงๆ คนของเราก็มีความต้องการตรงนี้นะ เพราะวันหยุดไม่รู้จะไปไหน เดินห้างกันทั้งวันไม่รู้จะทำอะไร จึงมีที่ที่หนึ่งสำหรับพักผ่อน กระแสมันก็เลยเริ่มมา ว่าจริงๆ แล้วแทนที่เราอยากจะพักผ่อน อยากจะทำกิจกรรม แต่กลับต้องมาเดินตามศูนย์การค้าอย่างเดียว หรือไม่ก็ต้องไปไนท์คลับซึ่งมันอยู่คนละขั้วกันเลยจึงเกิดสิ่งตรงกลางนี้ขึ้นมา ยิ่งปัจจุบันมีอินเตอร์เน็ตไร้สายขึ้นมามันก็ยิ่งสนับสนุนกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ด้วย"
หลายธุรกิจให้ความสนใจและนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ทั้งร้านหนังสือที่จะสังเกตเห็นว่าปัจจุบันมีหลายแห่งจุดมุมสบายๆ ไว้สำหรับให้ลูกค้านั่งอ่านหนังสือ ศูนย์สุขภาพบางแห่งนำแนวคิดนี้ไปเปิดห้องสมุดที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพ หรือร้านค้าปลีกในต่างประเทศก็จัดให้มีที่นั่งสำหรับลูกค้าแล้วเช่นกัน ผศ.ดร.ธีรยุส อธิบายในเชิงการตลาดให้ฟังว่า
"มันชักจูงให้คนได้เข้าไปทำความคุ้นเคยกับสถานที่ สร้างความตระหนักและความภักดีในตราสินค้า ในอนาคตก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Repeat Visit คือนึกอะไรไม่ออกนึกถึงเราก่อน ก็เข้าร้านเราเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะมีการใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านนั้นในอนาคตแน่นอน"
-2-
สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกณะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตอบคำถามเกี่ยวกับแนวคิด Third Place ที่ผ่านกระบวนการแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยการตลาด จนกลายเป็นภาพลักษณ์ (Image) ที่ทรงพลังและชวนศึกษาของธุรกิจนี้
"เรามองว่าเราอยากเป็นแหล่งพำนักที่สาม นอกเหนือจากบ้านและที่ทำงาน เราจึงขอเป็น Third Place ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน เป็นที่ที่คุณสามารถใช้นั่งพักเหนื่อย ให้แรงบันดาลใจประจำวัน หรือใช้นัดเจอกับเพื่อน พบปะสังสรรค์ก่อนที่จะไปไหนกันต่อ หรือระหว่างวันสามารถนัดประชุม เป็นสถานที่ในการทำงานที่ให้ความสะดวกสบาย สิ่งที่สนับสนุนส่งเสริมให้เราเป็น Third Place ก็คือ Experience Marketing เพราะคนที่มาไม่ได้มาซื้อกาแฟอย่างเดียวแล้ว แต่เขาชอบที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนนั้นๆ
"สัมผัสที่เราเน้นในร้านสตาร์บัคส์ทุกๆ ที่คือกลิ่นของกาแฟอันดับแรก เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่บด ที่ชง กลิ่นจะออกมาเยอะมากในเรื่องอะโรมา (Aroma) เห็นผู้คนในชุมชน มีเก้าอี้ทั้งข้างใน ข้างนอก เสียงที่ได้ยินเป็นเพลงเบาๆ คลอไปด้วย สุดท้ายที่สำคัญมากคือเรื่อง Connection ระหว่างพนักงานกับลูกค้า"
เธอเล่าต่อว่าปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งของความเป็น Third Place คือความเชื่อมโยงระหว่างพนักงานกับลูกค้า พนักงานจะต้องไม่ทำหน้าที่แค่คนขายกาแฟ รู้จักแต่กาแฟ แต่ยังต้องรู้จักลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกค้าประจำ พนักงานจะต้องจดจำให้ได้ว่าเครื่องดื่มประจำของลูกค้าคนนั้นคืออะไร
แม้แนวคิด Third Place จะช่วยส่งเสริมธุรกิจ แต่เมื่อมีลูกค้าเข้าใช้บริการภายในร้านมากและแต่ละคนก็นั่งแช่กันนานๆ เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสเพราะปริมาณลูกค้าที่หมุนเวียนภายในร้านอาจดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ไม่มีที่นั่งสำหรับลูกค้ารายอื่นที่จะเข้ามาใช้บริการ เรื่องนี้สุมนพินทุ์กล่าวว่า
"อยู่นานก็กินนาน กินเยอะ บางคนอาจจะคิดว่าลูกค้าเข้ามาสั่งกาแฟแก้วเดียวแล้วก็นั่งทำงานทั้งวัน แต่เนื่องจากความเป็น Third Place เราก็ต้องการให้เขาอยู่นานๆ อยู่แล้ว ให้เขาอยากมาอีก พนักงานของเรามีหน้าที่ต้องค้นหาความต้องการของลูกค้า สร้างความสัมพันธ์ให้ได้เพราะเราไม่ได้ต้องการให้เขามาแค่ครั้งเดียว ทางในกลับกันการที่ลูกค้านั่งอยู่นานมันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้นำเสนอสินค้าของเรามากขึ้น มีเบเกอรี่มาให้ชิม วันนี้อาจไม่ซื้อ แต่วันหน้าอาจจะซื้อ"
เธอเห็นด้วยกับผศ.ดร.ธีรยุส ว่ากระแส Third Place กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้น ร้านเบเกอรี่ ร้านหนังสือ ร้านไอศกรีม หรือกระทั่งร้านตัดเสื้อก็นำแนวคิดนี้ไปใช้แล้ว เธอฝากคำแนะนำง่ายๆ ถึงคนที่อยากจะสร้างร้านของตัวเองให้เป็น Third Place ว่า
"การจะสร้างบรรยากาศ Third Place ให้ออกมาดีจะต้องเกิดจาก Passion-ความรัก ความชอบ คุณต้องถามตัวเองว่าอยากมี Third Place จริงๆ หรือเปล่า เพราะมันเหนื่อยนะที่ต้องมาคอยสวัสดีค่ะ ต้องฝึกพนักงานให้คอยสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า อีกข้อหนึ่งที่ต้องมีคือความสม่ำเสมอ หมายความว่าคุณต้องรักษามาตรฐานให้ได้ตลอดเวลา ส่วนการออกแบบตกแต่งร้านใครๆ ก็ทำได้ บรรยากาศก็สร้างได้เอง"
-3-
ทิศทางของ Third Place ในอนาคตอาจจะไม่ใช่แค่การเป็นส่วนเสริมให้กับธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ผศ.ดร.ธีรยุสมองว่าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจะทำให้วันหนึ่ง Third Place อาจแยกออกมาเป็นธุรกิจเดี่ยวๆ โดยตัวของมันเอง
"ผมว่าขั้นตอนความเป็นไปของกระแส Third Place ของบ้านเราคงค่อยๆ พัฒนาตามต่างประเทศคือ ขั้นแรกหลังจากนี้น่าจะเป็นขั้นตอนที่นำเข้าไปประกอบกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาล ร้านหนังสือ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ที่มีมูฟวี่คลับ มีห้องสมุด เหมือนกับเฮ้าส์ อาร์ซีเอ ที่มีห้องสมุดให้คนที่สนใจเรื่องภาพยนตร์เข้าไปนั่ง เข้าไปดู จุดนี้จะเป็นตัวประกอบที่ยังไม่ได้สร้างรายได้โดยตรง แต่คล้ายๆ กับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการเดิมของตัวเอง
"ส่วนขั้นที่ 2 ถ้ามีคนรับรู้มากขึ้นและมีความต้องการมากขึ้น น่าจะกลายเป็นธุรกิจโดดๆ ได้ อย่างที่เขาทำกันก็จะเป็นคลับหรือเป็นร้านที่ให้คนเข้าไปจอยได้เลยแล้วเก็บเป็นค่าสมาชิก เก็บเป็นค่าเช่า แล้วให้คนเข้าไปนั่งพัก"
ปัจจัย Mobile Worker หรือคนทำงานที่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าสำนักงานประจำ ซึ่งผศ.ดร.ธีรยุสวิเคราะห์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีหนึ่งที่องค์กรธุรกิจใช้เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานขององค์กร
"ประเด็นนี้ในเมืองไทยผมยังเห็นไม่ชัด แต่คิดว่าบริษัทต่างชาติเริ่มมีอย่างนี้แล้ว ส่วนบริษัทไทยถ้าในอนาคตปัจจัยต่างๆ พร้อมมากขึ้น เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ไม่ยาก แล้วมันจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ แต่ว่าก็ต้องสอดคล้องกับลักษณะของงานด้วยนะ คือเป็นงานที่ไม่ได้กำหนดเวลาเข้าแน่นอนตายตัว แต่เป็นงานที่เน้นผลของงานมากกว่า
"เพราะตอนนี้คอนเซ็ปต์ของ Mobile Worker หรือคนทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิสมีเยอะ ยิ่งธุรกิจไอทีเจริญมากขึ้นและค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน ฉะนั้น เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็เริ่มมีการใช้ออฟฟิสสลับกันแล้วเพราะพื้นที่มันแพง สมมติองค์กรหนึ่งมีคนงาน 100 คนก็ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะทำงานครบทุกคน มีแค่ 50 ที่ ที่เหลือก็หมุนเวียนกัน เพราะทุกคนไม่ได้เข้าออฟฟิสตลอด อย่างที่ญี่ปุ่นใครจะเข้าออฟฟิสก็ลงตารางไว้ พื้นที่ทำงานจึงไม่จำเป็นต้องจัดหาไว้ให้กับทุกคน เขาจะมีแค่ล็อกเกอร์เก็บของ ฉะนั้น Third Place มันก็ไปกันได้กับแนวโน้มการทำงานในอนาคต อย่างในนิวยอร์กหรือเมืองใหญ่ๆ ของโลกก็เป็นอย่างนี้กันเกือบทั้งนั้นแล้ว เพราะพื้นที่มันแพง ไม่จำเป็นต้องมากั้นพื้นที่ 5x6 เมตรสำหรับนาย ก.ซึ่งนานๆ เข้ามาทีหรือไม่จำเป็นต้องเข้าก็ได้
"ที่เห็นชัดๆ ในต่างประเทศตอนนี้เข้ามีออฟฟิสให้เช่า ไม่ใช่ออฟฟิสที่เป็นตึกใหญ๋โตนะครับ แต่เป็นออฟฟิสสำหรับคนที่ทำงานพาร์ทไทม์หรือพนักงานที่เป็นโมบายล์ เวิร์คเกอร์ (Mobile Worker) ที่หิ้วโน้ตบุ๊คอันเดียวก็ติดต่องานได้ ก็จะมีที่พักตามจุดต่างๆ สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกนี้ก็อาจจะแวะเข้าไปทำงานชั่วโมง สองชั่วโมง หรือครึ่งวันเพื่อนั่งเคลียร์งานโดยที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิส"
ไม่เฉพาะ Third Place สำหรับคนทำงานเท่านั้นที่มีโอกาสเติบโตเป็นธุรกิจเดี่ยว Third Place สำหรับการพักผ่อนหรือที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มก็มีโอกาสเติบโตเช่นกัน หากสามารถแสวงหาความต้องการของผู้บริโภคพบและสนองความต้องการนั้นได้
-4-
เมื่อถามผศ.ดร.ธีรยุสว่า ทำไมคนจึงต้องออกจากบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อจะไปนั่งนอนหรือทำงานในที่สาธารณะอย่างร้านกาแฟ เขาตอบว่า
"เป็นเพราะมันมีความต้องการสถานที่แบบ Third Place อยู่ อย่างที่ทำงานบางทีมันวุ่นวายจนทำงานไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วบรรยากาศของที่ทำงานบางแห่งมันก็ไม่ได้อย่างที่เราอยากจะได้ หรืออย่างที่บ้านที่ควรจะเป็นที่ที่ดีที่สุดซึ่งก็ใช้ว่าคงเป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับหลายๆ คน เพียงแต่มันอาจจะไม่มีสมาธิถ้าเกิดว่าอยู่กันหลายๆ คน แต่ทีนี้มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอาจจะต้องการการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือแม้แต่การอยู่คนเดียวอาจจะเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ก็คงน่าเบื่อ ฉะนั้น บางทีบ้านหรือห้องมันก็ไม่ได้เป็นที่ที่บรรยากาศดีที่สุดสำหรับเราเสมอไป มันจึงเกิดเป็นช่องว่างทางความรู้สึกว่าอยากจะมีที่สักที่หนึ่งเหมือนกับเป็นที่ที่หลบพักสักแป๊บหนึ่ง พอว่าตัวเองรู้สึกโอเคแล้ว แล้วค่อยกลับไปสู่ที่ที่ตัวเองคุ้นเคย ผมมองตรงนี้มากกว่าที่ทำให้ Third Place กลายเป็นกระแสและถูกนำมาใช้ในเชิงพานิชย์"
คำถามประมาณนี้ไปถึง มุกหอม วงษ์เทศ นักเขียนและคอลัมนิสต์เจ้าของเอกลักษณ์ Satire Irony และเธอก็อธิบายปรากฏการณ์นี้จากมุมมองของเธอว่า
"เทรนด์ต่างๆ มันเปลี่ยนเร็ว บ้านกับที่ทำงานเคยเป็นสถานที่หลักในชีวิตของคนในสังคมเมืองสมัยก่อน วันหนึ่งๆ ไปๆ มาๆ แค่สองที่ แต่เดี๋ยวนี้เทรนด์ธุรกิจไลฟ์สไตล์เน้นไปที่การดึงคนออกจากบ้าน ออกจากที่ทำงาน แล้วก็ทำให้สถานที่สาธารณะที่ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ที่ทำงาน มีความลำลอง ผ่อนคลาย ไม่มีกฎเกณฑ์จำเจของที่บ้านที่ทำงานมากดดัน ทำให้คนอยากมาใช้เวลา เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ว่าจะมาเพื่อทำอะไรส่วนตัวคนเดียว หรือพบปะสังสรรค์กับคนอื่นที่มาด้วยกันหรือนัดมาเจอกัน คือต้องทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วก็คือต้องเกี่ยวกับการบริโภคการใช้จ่ายด้วย ไม่ใช่เข้าไปเฉยๆ ถ้าร้านกาแฟอย่างน้อยก็ต้องซื้อเครื่องดื่มอะไรสักอย่าง เหมือนกับซื้อตั๋วมาหาที่นั่งเท่ๆ ก็ได้ (หัวเราะ) แต่ก็บางกลุ่มอาชีพเท่านั้นที่จะสวมไลฟ์สไตล์แบบนี้ได้"
เธอบอกด้วยว่ากระแสนิยม Third Place อาจมีส่วนอยู่บ้างในการสร้างตัวตนของคนกลุ่มหนึ่งที่นิยมสร้างตัวตนจากการอิงกับเทรนด์ต่างๆ ในขณะนั้น
"คงจะเกี่ยวกับเรื่องการสร้างตัวตนอยู่บ้างค่ะ อย่างน้อยก็มีกลุ่มคนที่สร้างตัวตนกับเทรนด์ต่างๆ จริงๆ ร้านแบบใหม่ๆ เลยต้องพยายามสร้างบรรยากาศที่ให้ประสบการณ์บางอย่างให้คนอยากมานั่ง นั่งแล้วดูดี เป็นจุดนัดพบ คุยโน่นคุยนี่ ที่สำคัญต้องมีของกิน อาหาร เครื่องดื่ม เป็นตัวกลาง
"คือคนที่มานั่งใช้โน้ตบุ๊คหรืออุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ตามที่เหล่านี้ก็คงไม่คิดว่าตัวเองมีอัตลักษณ์อะไรร่วมกับคนที่นั่งตอกพิมพ์ดีดอยู่บ้าน หรือคนที่ไปเดินซื้อของที่สำเพ็ง พาต้า ตั้งฮั่วเส็ง หรืออยู่ในพื้นที่เดียวกันยังไม่มีตัวตนร่วมกันเลย อยู่ที่มองจากมุมของใคร ในเมืองไทยคนไปนั่งที่ Third Place คงไม่คิดว่าตัวเองมีอะไรแชร์กับพวกพนักงานที่นั่นเท่าไหร่มั้งคะ ส่วนสำหรับพนักงานที่ตรงนั้นก็เป็น 'ที่ทำงาน' ของพวกเค้า เป็น second place แต่ตัวตนแบบนี้ก็ไม่จีรัง ถ้าเทรนด์เปลี่ยน การสร้างตัวตนก็เปลี่ยนตามได้ เช่นอีกหน่อยอาจมี Fourth Place"
Third Place เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เส้นแบ่งพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวเกิดการเคลื่อนไหวไปมา แต่ที่สำคัญจะยังไงก็เถอะ Third Place ก็มีหน้าที่และความหมายได้หลากหลายเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่มากมายของผู้คน
"ที่เรียกว่า ส่วนตัว ของแต่ละกลุ่มคนไม่เหมือนกันค่ะ ยุคสมัยเปลี่ยน ความเป็นส่วนตัวก็เปลี่ยน จริงๆ อย่างการอ่านหนังสือก็นั่งอ่านในที่สาธารณะได้ เช่น สวนสาธารณะแบบฝรั่ง เว้นแต่จะเป็นหนังสือประเภทที่ต้องแอบอ่านไม่ให้ใครเห็น (หัวเราะ) เส้นแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกับสาธารณะเคลื่อนไปมาได้ แต่ก็ยังมีอยู่ ยังไม่หายไป แปลว่ากิจกรรมที่จะเอามาทำในที่สาธารณะได้ต้องเลือกแล้วว่าโอเค คือโอเคในวัฒนธรรมนั้นๆ ในยุคนั้นๆ ไม่มีใครกล้าดูรูปโป๊หรือเข้าเว็บโป๊ต่อหน้าประชาชีหรอกค่ะ เออ แต่ก็ไม่แน่นะ (หัวเราะ) กลุ่มกิจกรรมที่ทำจะถูกคัดสรรถูกจำกัดไปด้วย ยังไม่เคยเห็นใครมานั่งเย็บปะชุนผ้าในร้านกาแฟเลย
"ที่แบบ third place คือที่ที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างพื้นที่แบบ formal กับ informal คนเลยเอางาน เอาการบ้าน มานั่งๆ นอนๆ ทำได้ แต่ก็ไม่ถึงกับสามารถนอนแผ่เต็มที่แบบอยู่บ้านได้ เป็นที่ที่มีฟังก์ชั่นหรือมีความหมายหลายอย่าง คนเหงาๆ ก็มานั่งให้รู้สึกอยู่ท่ามกลางผู้คนก็ได้ บางคนมานั่งเท่ๆ ให้อินเทรนด์ บางคนมาเพราะสะดวก เป็นจุดนัดพบ แก้ปัญหาบางอย่าง"
ในทางธุรกิจ Third Place ต้องถือว่าเป็นลู่ทางที่น่าสนใจ พอๆ กับในแง่ของปรากฏการณ์ทางสังคม หลังจากอ่านเสร็จท่านผู้อ่านอาจลองไปหา Third Place บรรยากาศดีๆ นั่งเหม่อมองชีวิต อ่านหนังสือ หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ใจ
แต่อย่าลืมว่าคุณต้องมีอำนาจซื้อ ฉะนั้น Third Place ในขณะนี้อาจยังไม่ใช่ที่พักใจสำหรับทุกคน
***********************
เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล