ในช่วงชีวิตหนึ่งของผู้ที่เกิดภายใต้ร่มธงชาติไทยและพระบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นับเป็นเกียรติสูงสุดทั้งต่อตัวผู้รับเอง รวมถึงวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง
'ผู้จัดการปริทรรศน์' ได้รวบรวมเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 'เครื่องราชอิสริยาภรณ์' มานำเสนอ ตั้งแต่เครื่องราชฯ ในแผ่นดินอดีตจนถึงปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นถึงสายธารแห่งความจงรักภักดีและการปกครองอันเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาชาญของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งสืบเนื่องมาเก่าแก่ยาวนานประดุจสายสร้อยและสายสะพายแห่งดวงตราเหล่านั้นเอง
ความเป็นมาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามอย่างตะวันตก โดยญี่ปุ่นได้สร้างเครื่องราชฯ ตระกูลแรกเมื่อ พ.ศ.2418 ส่วนจีนสร้างเครื่องราชฯ ตระกูลแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ.2424 ขณะที่สยามประเทศสถาปนาเครื่องราชฯ ตระกูลแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้าแดนมังกรและอาทิตย์อุทัยนับกว่า 20 ปี
ยุคสมัยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย แบ่งตามลักษณะและวิธีการประดับได้เป็น 2 สมัย คือ สมัยก่อนปี พ.ศ. 2400 และสมัยหลังปี พ.ศ. 2400 โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในยุคแรกนั้นปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนมาถึงสมัยต้นรัชกาลที่ 4 (ในเวลานั้นยังมิได้การบัญญัติเรียกขานว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์) คือเครื่องราชูปโภคสำหรับพระพิชัยสงคราม ซึ่งถือเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลักษณะประดับ หากทว่ามิได้ใช้ประดับกับเสื้อดังเช่นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปัจจุบัน
ครั้นประมาณ พ.ศ. 2400 รัชกาลที่ 4 ได้ทรงสร้าง 'ดารา' (คือเครื่องประกอบราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นทวีติยาภรณ์ขึ้นไป มีลักษณะเป็นดาวรัศมี 8 แฉกบ้าง 16 แฉกบ้าง ถ้าเป็นดาราจักรี ก็ทำเป็นรูปจักร 10 กลีบ) ขึ้นใช้ติดเสื้อ ในสมัยนั้นเรียกว่า 'ตรา' แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ 'เครื่องประดับสำหรับยศ' ต่อมาพระองค์ได้ทรงตราระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยามขึ้นเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2412 โดยโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า 'เครื่องราชอิสริยยศ'
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปรากฏใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชการที่ 5 คำว่า 'เครื่องราชอิสริยาภรณ์' และ 'เครื่องอิสริยาภรณ์' นั้นมีความหมายต่างกัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หมายความถึง สิ่งของหรือของประดับเกียรติยศของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขของประเทศ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ที่จะบัญญัติหรือสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้กระทำความดี ความชอบ เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ส่วนเครื่องอิสริยาภรณ์ หมายความถึง สิ่งของหรือของประดับเกียรติยศของประเทศที่มีประมุขของประเทศ ที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ได้สร้างขึ้น เพื่อมอบให้เป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้กระทำความดี ความชอบเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐ, เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน, เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์ และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ
จากข้อมูลของสำนักอาลักษณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยหลักๆ ดังนี้ ราชมิตราภรณ์, มหาจักรีบรมราชวงศ์, นพรัตนราชวราภรณ์, จุลจอมเกล้า,รามาธิบดี, ช้างเผือก, มงกุฎไทย, ดิเรกคุณาภรณ์, รามกีรติ และอื่นๆ โดยในแต่ละตระกูลก็จะแบ่งออกเป็นหลายชั้น (ยกเว้นตระกูลราชมิตราภรณ์, มหาจักรีบรมราชวงศ์ และนพรัตนราชวราภรณ์ที่มีเพียงชั้นเดียว)
โดยส่วนใหญ่ เรามักจะรู้จักคุ้นเคยกับเครื่องราชฯ ประเภทสำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน ที่หน่วยงานราชการต่างๆ และรัฐบาลทำเรื่องขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ เครื่องราชฯ อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและมงกุฎไทย จึงมิขอลงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงเครื่องราชฯ จุลจอมเกล้า ที่มาจากพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ และเป็นที่สนใจจับตามองจากสาธารณชนที่ต้องการทราบว่าใครจะได้เลื่อนขั้นสู่ทำเนียบ 'ท่านผู้หญิง' และ 'คุณหญิง' ประจำปี
'จุลจอมเกล้า' ตราแห่งความภักดี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2416 ด้วยทรงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี ก็ด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ 'จุลจอมเกล้า' เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ"
กฎหมายได้บัญญัติจำแนกเครื่องราชฯ เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทฝ่ายหน้าสำหรับบุรุษ และประเภทฝ่ายในสำหรับสตรี คำว่าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เรียกตามตำแหน่งที่เคยจัดให้เฝ้าแต่สมัยโบราณ ทั้งยังได้กำหนดจำนวนเครื่องราชฯ ในตระกูลนี้ในแต่ละชั้นตราไว้เป็นการแน่นอน
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า (บุรุษ) มี 3 ชั้น 7 ชนิด คือ ชั้นที่ 1 มี 2 ชนิด ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) ไม่จำกัดจำนวน, ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) จำนวน 30 สำรับ, ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) จำนวน 200 สำรับ, ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) จำนวน 250 ดวง, ชั้นที่ 3 มี 3 ชนิด ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) จำนวน 250 ดวง, ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) จำนวน 250 ดวง, ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.) จำนวน 100 ดวง
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน (สตรี) มี 4 ชั้น 5 ชนิด คือ ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) จำนวน 20 สำรับ ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) จำนวน 100 ดวง, ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) จำนวน 100 ดวง ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) จำนวน 250 ดวง, ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) จำนวน 150 ดวง
ผู้ได้รับพระราชทานสามตราชั้นนี้ (ยกเว้นสตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมหลวงขึ้นไป) อันได้แก่ จ.จ., ต.จ. และ ท.จ.ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง" สำหรับผู้ที่สมรสแล้ว หรือ "คุณ" สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมรส ผู้ได้รับพระราชทานตราชั้น ท.จ.ว. และ ป.จ. (ยกเว้นสตรีในราชสกุลตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป) ใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" สำหรับผู้ที่สมรสแล้ว หรือ "คุณ" สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมรส
หากชั้นตราใดมีผู้ได้รับพระราชทานเต็มตามจำนวนแล้ว ก็จะไม่พระราชทานชั้นตรานั้นแก่ผู้อื่นอีก ชั้นตราจะว่างก็ต่อเมื่อผู้ได้รับพระราชทานอยู่เดิมสิ้นชีวิตหรือได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น ต้องมีหน้าที่ส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจุลจอมเกล้าที่ได้รับพระราชทานหรือชั้นรองตามกฎหมายแก่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในกำหนด 30 วัน
ตัวอย่างเช่น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) เมื่อถึงแก่อสัญกรรม ผู้เป็นทายาทในเวลานั้นอย่างพลเรือโทประสงค์ พิบูลสงคราม ก็จะต้องจัดส่ง ป.จ. คืนแก่กลุ่มงานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเครื่องราชฯ จุลจอมเกล้าที่พระราชทานแก่ฝ่ายในนี้ ไม่มีการสืบตระกูล
ธรรมเนียมการพระราชทานนั้น เมื่อครั้งดั้งเดิม มีพระราชดำริจะพระราชทานแต่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตการพระราชทานไปยังผู้ทำประโยชน์อื่น ๆ ทั้งในราชการแผ่นดินและในราชการส่วนพระองค์ด้วย เช่น พ่อค้าวาณิช และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น ปัจจุบันจะทรงพระราชทานในโอกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี
ทว่าในปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงงดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าทุกประเภทในพระราชพิธีวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2549 ซึ่งกรณีงดพระราชทานเครื่องราชฯ ตระกูลจุลจอมเกล้านี้ นานทีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ดังเช่นที่เคยปรากฏเมื่อทศวรรษก่อนๆ ในปี 2538 และ 2519
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ แตกต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลอื่น ๆ คือ เป็นการพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย รัฐบาลมิได้เป็นผู้เสนอขอพระราชทานขึ้นไป นอกจากนี้ บุรุษที่ได้รับพระราชทานชั้นตราสูงขึ้นตั้งแต่ชั้น ท.จ. ไปจนถึงชั้น ป.จ.ว. ญาติผู้ใหญ่อาจขอพระราชทานตราสืบตระกูลให้แก่บุตรชายคนใหญ่ของผู้ได้รับพระราชทานที่มีความประพฤติเหมาะสมได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
เครื่องราชฯ กับพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือพระราชพิธีศรีสัจจปาลกาล เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมาแต่โบราณกาล และได้ยกเลิกไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 เช่นเดียวกับได้ระงับการขอพระราชทาน 'เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี' ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2461 ไประยะหนึ่ง
กระทั่ง พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีขึ้นใหม่ได้ถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ โดยไม่ต้องผ่านคณะที่ปรึกษาเหมือนแต่ก่อน ผู้ที่จะได้รับพระราชทานกฎหมายได้กำหนดลักษณะความชอบไว้ว่า ต้องทำความดีความชอบเป็นพิเศษ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการทหาร ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำริเห็นสมควร ผู้ที่มีเกียรติอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ อาจพระราชทานได้เป็นกรณีพิเศษ
ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นมาอีก เมื่อวันที่ 24 และ 25 มีนาคม พ.ศ. 2512 โดยผนวกพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ประกอบกับพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (ดื่มน้ำสาบาน) เข้าด้วยกัน โดยผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใหม่ และผู้ที่ได้รับพระราชทานมาก่อน จะร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ ๑ เสนางคะบดี ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดนี้ มิใคร่มีผู้ได้รับพระราชทานบ่อยครั้งนัก ที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับจึงมักเป็นนายทหารระดับสูง อาทิ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ทั้งนี้ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีวายชนม์หรือได้รับเลื่อนชั้นสูงขึ้นไม่ต้องส่งคืน เว้นแต่จะทรงเรียกคืนเป็นกรณีไป
เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย อันเป็นตราเครื่องประดับยศที่เกี่ยวร้อยเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรชาวไทย ด้วยสายใยที่มีชื่อว่าความจงรักภักดี
* หมายเหตุ : เอกสารอ้างอิง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
* * * * * * * * * * * *
เกร็ดที่น่าสนใจ
- การพระราชทานเครื่องราชฯให้ประมุขต่างประเทศ เริ่มมีตั้งแต่สมัย ร.4 โดยทรงพระราชทานดารานพรัตน ในคราวเดียวกัน ได้ทรงสร้างแหวนนพรัตนเป็นพิเศษอีก ๑ องค์ ขนาดเขื่องกว่าเครื่องต้นพระราชทาน เป็นของยินดีแก่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 กรุงฝรั่งเศส พร้อมกับสายประคด และพระองค์ยังได้ทรงรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสูงสุดจากพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้ทูลเกล้าถวายเมื่อ ปี พ.ศ.2406
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของโปรตุเกสที่ชื่อ The Order of Aviz นับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับ พ.ศ. 1683 ซึ่งก็เป็นช่วงก่อนสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
- ก่อนหน้าที่ ร.9 จะทรงพระกรุณาให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ (ร.ม.ภ.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 เพื่อพระราชทานประมุขของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศเป็นการเฉพาะแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่น ๆ ซึ่งเคยพระราชทานมาแล้วในอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยได้ทรงถวายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) แก่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร รวมทั้งกษัตริย์และประธานาธิบดีประเทศอื่นๆ
- การสวมสายสะพายสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยตระกูลต่างๆ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ กลุ่มที่สะพายจากขวาไปซ้าย ได้แก่ ตระกูลราชมิตราภรณ์, นพรัตนราชวราภรณ์,รามาธิบดี (เสนางคะบดี), ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ สะพายจากซ้ายไปขวา คือ มหาจักรีบรมราชวงศ์, ปฐมจุลจอมเกล้า, มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก, มหาวชิรมงกุฎ
- กรณีที่ทายาทไม่สามารถส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ตามกำหนด จะต้องสูญเสียเงินชดใช้ โดยเครื่องราชฯ ที่มีบัญชีราคาชดใช้สูงที่สุดคือ ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายหน้า) จำนวน 1,520,000 บาท
- เครื่องราชฯ ที่กำหนดว่าผู้รับจะต้องเป็นพุทธมามกะเท่านั้น คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ที่ ร.4 ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2394 สำหรับพระราชทานพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
- สามัญชนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ อันเป็นชั้นสูงสุดเท่าที่สามัญชนพึงได้รับ อาทิ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม, นายปรีดี พนมยงค์, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, นายสัญญา ธรรมศักดิ์, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
การเก็บรักษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เนื่องจากเครื่องราชฯ เป็นตราเครื่องประดับยศที่มีเกียรติและทรงคุณค่ายิ่ง ผู้ที่ได้รับพระราชทานจึงควรเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีตามแนวทางดังต่อไปนี้
1. เครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นของสูง ควรเก็บรักษาไว้ที่สูง เหมาะสมควรแก่การเคารพบูชา เป็นการแสดงความจงรักภักดีน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ผู้พระราชทานจะเป็นมงคลสูงสุด ก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนเองและครอบครัว
2. ควรเก็บในที่ปลอดภัย ป้องกันการสูญหาย และหากเก็บไว้เป็นเวลานานควรนำออกมาตรวจดูเป็นครั้งคราว
3. ภายหลังการใช้ประดับแต่ละครั้ง ควรใช้ผ้าสะอาด นุ่ม ทำความสะอาดเบา ๆ และห่อด้วยกระดาษแก้วไว้ให้มิดชิด นำไปใส่กล่องปิดฝาให้สนิท ป้องกันฝุ่นละออง และไม่ให้กระทบกับอากาศ
4. ไม่ควรเก็บในสถานที่ที่มีแดดส่งตลอดเวลา หรือมีไฟร้อนแรง และต้องไม่อับชื้น ปกติมักจะเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเป็นห้องปรับอากาศได้จะดีที่สุด
5. ดวงตรา ดารา และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ อาจเสื่อมสภาพได้จากความไม่บริสุทธิ์ของอากาศ ฝุ่นละออง ก๊าซเสียชนิดต่าง ๆ ถ้าเก็บไว้ในตู้นิรภัย หรือตู้เหล็ก ควรห่อให้มิดชิดตามข้อ ๓ เพราะสีที่ใช้พ่นหรือทาตู้เหล็กจะทำปฏิกิริยากับโลหะเงิน จะทำให้เงินดำ
6. ไม่ควรใช้สารกันแมลงชนิดต่าง ๆ เนื่องจากเมื่อสารระเหยออกมา จะทำปฏิกิริยากับโลหะเงิน และส่วนที่กะไหล่ทองในเครื่องหมายแพรปักดิ้นเงิน ดิ้นทอง ทำให้เปลี่ยนเป็นสีดำได้
7. สายสะพายและแพรแถบทอด้วยด้ายและใยไหม ควรเก็บในที่ไม่ร้อน ไม่อับชื้น เพราะความร้อนและความชื้นจะทำให้เนื้อผ้ายืดขยายและหดตัวอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เนื้อผ้าแห้งแข็งกรอบ ถ้ามีความชื้นทำให้เนื้อผ้ายุ่ยเปื่อย อาจเกิดเชื้อรา และรอยด่าง อายุการใช้งานจะสั้น
8. แสงสว่างเป็นอันตรายต่อสีของผ้า สายสะพายและแพรแถบ แสงจะทำให้สีของผ้าซีดได้เร็ว ควรเก็บในตู้ทึบแสง ในห้องปรับอากาศได้ก็จะดี
9. ผ้าสายสะพายควรเก็บโดยวิธีม้วนเป็นวงกลม ผ้าจะได้ไม่ยับ หรือเก็บโดยวิธีวางไว้ตามยาว การเก็บโดยวิธีพับซ้อนกัน จะทำให้เกิดรอยพับ จะเกิดรอยด่าง สีซีดตามแนวของรอยพับนั้น
10. วิธีการทำความสะอาดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าเกิดเป็นรอยด่างดำ ไม่สวย นิยมใช้ผงขัดเงินกับแปรงขนอ่อนนิ่ม ๆ ไม่ควรใช้ผงขัดหรือผงซักฟอก เพราะจะทำให้เป็นรอยขีดข่วนบนหน้าเหรียญ ผงขัดทองเหลืองไม่ควรใช้เพราะจะทำให้ลวดลายลบเลือน ไซยาไนด์ทำให้เงินขาวดีแต่จะเกิดปฏิกิริยาแรงเกินไป และเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้ ท่านที่ต้องการทำความสะอาดด้วยตนเอง แต่ถ้ายังไม่ชำนาญควรถามผู้รู้
* หมายเหตุ : เอกสารอ้างอิง หนังสือ การปฏิบัติของนายทหารสัญญาบัตร ในโอกาสเข้าร่วมราชพิธี รัฐพิธี พิธีทางทหาร และพิธีทางศาสนา โดย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
* * * * * * * *
เรื่อง - รัชตวดี จิตดี