xs
xsm
sm
md
lg

'ทหารเกย์...ทหารเกณฑ์' กลมกลืนได้อย่างไม่แตกต่าง'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประทับใจ
"บุคคลย่อมมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" มาตรา 69 ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน"

ในเมื่อชาย ไม่ได้มีแต่ชายแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ที่หายใจอยู่ในสังคมนี้ แต่ยังมีทั้งตุ๊ด, แต๋ว, กะเทย, เกย์, ชายรักร่วมเพศ หรือจะเรียกอย่างไรก็ตามแต่อยู่ร่วมด้วย พวกเขาจะทำอย่างไร เมื่อมีกฎหมายเรียกร้องให้ไปรับใช้ชาติ เพื่อให้สมเกียรติความเป็นชายไทยอย่างสมบูรณ์

การเลือกเป็นนักศึกษาวิชาทหารหรือ รด.เป็นตัวช่วยแรกที่ทำให้ไม่ต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร แต่ถ้าไม่เรียน รด. การผ่อนผันเป็นตัวช่วยที่ 2 สำหรับผู้ที่ติดภาระทางการศึกษา เมื่อใดที่สำเร็จการศึกษาแล้ว คำตอบสุดท้ายคือ การจับใบดำใบแดง

ไปดูเบื้องหลังหัวใจและเจาะชีวิตของชายรักร่วมเพศที่ต้องเข้าไปรับใช้ชาติในฐานะทหารเกณฑ์

*ทัศนคติของชายเทียมที่รอดทหารเกณฑ์

พูดถึงเดือนเมษายน นอกจากบรรยากาศการเล่นน้ำอย่างสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์แล้ว ยังมีอีกบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยอารมณ์ ไม่ว่าจะเสียงโห่ร้องด้วยความยินดี เสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน หรือแม้กระทั่ง เสียงร้องไห้เพราะความระทม บรรยากาศอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่ใช่มาจากการไปนั่งดูละครเวทีโรงไหน แต่คือการไปนั่งดูละครอีกเรื่องที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่า 'ละครชีวิตของลูกผู้ชาย' และสิ่งนี้ก็คือ 'การเกณฑ์ทหาร' เพื่อไปเป็น 'ทหารเกณฑ์' นั่นเอง

จาก มาตรา 7 ข้างต้น กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า "ชายไทยทุกคนต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร" แต่พอมานั่งนึกย้อนอีกทีก็เกิดเอะใจขึ้นมาว่า สมัยนี้อะไรๆ ก็แยกย่อยแตกสาขาออกไปมากมาย 'เพศ' ก็เช่นเดียวกัน มีแยกย่อยออกไปจากเพศหลัก ชายก็มีทั้งชายแท้-ชายเทียม หญิงก็มีทั้งหญิงรักชาย หญิงรักหญิง แล้วแต่ใครจะใช้เกณฑ์ไหนในการแบ่ง

คมศักดิ์ ทิพย์แสง ชายรักร่วมเพศที่ไม่ผ่านการจับใบดำใบแดง ด้วยเหตุผลทางสุขภาพแสดงทัศนคติต่อทหารว่า การเป็นทหารทุกอย่างต้องมีแบบแผน อยู่ในระเบียบ ไม่ว่าจะตื่นนอน อาบน้ำ เดิน ทุกอย่างคงต้องอยู่ในกรอบที่เคร่งครัดมาก

"เป็นกรอบที่เต็มไปด้วยอะไรที่รุนแรง ให้วิ่ง ให้แบกปืน ให้ยิงปืน ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา พูดถึงทหารเราจะนึกภาพไปในแง่ลบ จะไม่มาคิดว่ามีกิจกรรมดีๆ หรืออะไรที่สนุกๆ ทำในนั้น คิดแต่ว่าเราต้องเครียด หน้าดำคร่ำเคร่ง ทำอะไรที่สมบุกสมบัน แบบนั้นก็ไม่ไหว ทำให้ไม่อยากไปอยู่ตรงนั้น ไม่อยากเป็นทหาร อีกอย่างเราคิดว่า การฝึกทหารเหมาะกับผู้ชายที่เกเร ดื้อๆ เพื่อให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น เรื่องระเบียบวินัยเราทำได้นะ แต่พอเป็นเรื่องหนักๆ อย่างการใช้กำลังที่ผู้ชายต้องทำกัน ก็ไม่ไหว เพราะเราเป็นกะเทย ร่างกายไม่อดทนพอ กลัวว่าจะทำไม่ได้ หรือเป็นอะไรขึ้นมา"

นอกจากนี้ คมศักดิ์ยังมองไปถึงความแตกต่างทางเพศที่อาจจะเกิดปัญหาเมื่อเข้าไปอยู่ตรงนั้น

"คิดว่าเกี่ยวกับเรื่องเพศด้วยนะ เพราะไลฟ์สไตล์ของเกย์กับผู้ชายมันต่างกัน กิจวัตรก็ต่างกัน ยกตัวอย่างการอาบน้ำ ให้เวลาแค่ไม่กี่นาที เราทำไม่ทันหรอก มันต้องมากกว่านั้น อีกอย่างก็เสี่ยงต่อการโดนแกล้งก็ได้ถ้าเขารู้ว่าเราเป็น เขาอาจจะฝึกเราหนักกว่าคนอื่น เพราะอยากให้เราแมนขึ้นก็ได้"

เหตุผลที่ทำให้มองภาพทหารแบบนี้ คมศักดิ์ยอมรับว่า เป็นเพราะคนรอบข้างหรือคนรู้จักที่เคยไปฝึกมา มักจะบ่นกันว่า หนัก เหนื่อย อยู่ในนั้นแล้วเบื่อเพราะไม่ได้ออกมาข้างนอก ซึ่งตัวเขาเองไม่ชอบ ด้วยความที่ชอบแสงสี ชอบสังคมจึงคิดว่า ทนไม่ได้กับการใช้ชีวิตในค่ายทหาร แต่เขาก็แสดงสปิริตของความเป็นชายที่อยู่ในตัวว่า ถ้าหากจับได้ก็จะไป จะไม่หลบหนีหรืออะไรทั้งนั้น แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือ จะทำอย่างไร ให้อยู่ได้ และผ่านไปด้วยดี

นี่คือมุมมองของคนที่ไม่อยากเป็น และโชคดีที่ไม่ได้เป็น แล้วคนที่ได้เป็นล่ะ?

*เมื่อใบแดงติดมือ

สถิตย์ เจนเลื่อย ว่าที่พลทหารผลัด 2 เล่าให้ฟังว่า ที่ไปเกณฑ์ทหาร ก็เนื่องจากผ่อนผันมาแล้ว 2 ปี และจบปริญญาตรีแล้ว อีกอย่างถ้ายังไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารก็ไม่สามารถจะสมัครงานประจำได้สักเท่าไหร่ ที่สำคัญเขาอยากไปเรียนต่อเมืองนอกด้วย เรื่องวีซ่าก็จะผ่านยากถ้ายังไม่เกณฑ์ทหาร ก็เลยตัดสินใจว่าจับดีกว่า

"แม่ก็บอกว่าจับก็จับไปเถอะ บ้านเราไม่เคยมีใครได้หรอก ก่อนหน้านี้ยังมีหมอดูทักด้วยนะว่าจะได้รับราชการ ด้วยความที่เราอยากเป็นครู ก็ดีใจว่าต้องได้เป็นแน่ๆ พอเรียนจบก็สมัครครูเยอะแยะหลายที่แต่ก็ไม่มีที่ไหนเรียก จากนั้นก็ไปหาพระอาจารย์ที่โคราช ท่านก็ทักเลยว่า 'ติดแน่ๆ' ที่บ้านเลยพาไปบนกับหลวงพ่อดำ หลวงพ่อแดง ไอ้เราน่ะปากไม่ดีตอนบนพูดผิด ดันบอกไปว่า สาธุขอให้ลูกจับได้ใบแดง อุ๊ย! พูดผิด

"คนอื่นจะไม่มีความแปลกอะไร ก็เป็นผู้ชายแมนๆ แต่เนื่องจากว่าเราเป็นตุ๊ดไง มีความเบี่ยงเบนทางเพศ คนอื่นที่เหมือนเราเขาก็แต่งหญิง ไปลัลล้าๆ มีนมผมยาว เขาก็ให้ไปนั่งประเภท 2 คือ คนที่เป็นชายรักร่วมเพศทั้งหลายแหล่ รูปร่างผิดรูปอะไรแบบนี้ แต่เรารูปร่างเหมือนชายปกติไง ทุกอย่างสมบูรณ์ ถูกจัดให้อยู่ D1 ประเภท 1 คือร่างกายสมบูรณ์มาก จากนั้นก็รอจับ ตอนจับเล่นไสยศาสตร์ด้วยนะ ห้อยพระรอดที่มือ แต่เป็นไงล่ะ พระรอด คนไม่รอด"

สถิตย์เล่าให้ฟังถึงนาทีที่ตัวเองได้ใบแดงว่า รู้สึกเหมือนโลกหยุดหมุน เข่าทรุด ในหัวคิดแต่ว่า ต้องไปเป็นทหารจริงๆ เหรอ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา แค่รด. ก็ยังไม่เรียน

"คิดดูนะ เขาต้องพยุงตัวไปปั๊มลายนิ้วมือ ทรุดไปเลย ไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไรบ้างเพราะหูอื้อไปหมด พอออกมาเพื่อนๆ ก็รู้ข่าว ทุกคนก็จะบอกว่า สถิตย์ติดทหารเหรอ อ้าว มันเป็นตุ๊ดนี่ สงสัยออกมาต้องแมนแน่ๆเลย"

เช่นเดียวกับ 'ตี้' (ขอสงวนชื่อจริง) ว่าที่น้องใหม่ในค่ายทหาร ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่อายุมากกว่าสถิตย์และเพิ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาโทมาหมาดๆ เล่าว่า ตั้งใจไปเกณฑ์ทหารอยู่แล้ว เพราะจบการศึกษา ตอนอยู่มัธยมก็ไม่ได้เรียนรด. คิดว่าถ้าได้ใบดำก็จะทำงานทันที ส่วนใบแดงก็ไม่อยากได้อยู่แล้ว

"แต่จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่คิดมากนะ เคยคิดว่าทหารน่ากลัว แต่ตอนเรียนปริญญาตรี เคยลงเรียนวิชาทหาร และพัฒนาความมั่นคง เรียนว่าทหารใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ต้องปฏิบัติหน้าที่อะไรบ้าง ได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริง เขาต้อนรับดีมาก รู้สึกอบอุ่น ทำให้เราคิดว่าการฝึกมีจุดประสงค์ เพื่อความรักสามัคคีและระเบียบวินัย รู้สึกดีกับตรงนี้มากกว่า"

สำหรับตี้มีมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับทหารกล่าวว่า "ทหารไม่ใช่อะไรที่ไกลตัว เขาคิดอยู่เสมอว่า กำลังเหล่านี้เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะตัดสินหรือยุติความไม่สงบในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะด้วยสันติวิธีหรืออะไรก็ตาม ดังคำที่ว่า 'ทหารเป็นรั้วของชาติ' ในที่นี้ไม่ใช่รั้วที่ยืนนิ่ง แต่เป็นเหมือนเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในร่างกาย เมื่อได้รับแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะเป็นตัวเข้าไปย่อยเชื้อร้ายตรงนั้นเอง"

*อีก 1 ปีข้างหน้าในอีก 1 รูปแบบชีวิต

"คนประเภทอย่างพวกเรามักจะอยู่ไม่นิ่ง หลุดง่าย มีสิ่งเตะตาเข้าหน่อยก็เขวแล้ว อยู่ในนั้นคงต้องควบคุมตัวเอง ต้องห้ามใจตัวเองและนึกอยู่เสมอว่า เราเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกันไม่ได้ ให้ปิดไว้ก่อน เดี๋ยวจะเจอปัญหาเรื่องระเบียบ ในเรื่องการฝึกไม่ค่อยหนักใจนะ โดยเฉพาะการใช้ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ตรงนั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะเป็นเชียร์ลีดดิ้ง ซึ่งต้องฝึกยิมฯ ฝึกร่างกาย และการหายใจที่ต่อเนื่องให้เต้นได้หลายๆ นาที นอกนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" ตี้กล่าวถึงเรื่องการปรับตัวก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร

"ฝากถึงเพื่อนๆ ที่กำลังจะเข้าไปเหมือนเราว่า นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราจะไปเจอ หลายๆ อย่างยากกว่านี้ ยังทำได้ ทุกคนมีลักษณะร่างกายเหมือนกัน ต้องฝึกเหมือนกัน อย่าคิดว่าเราเป็นส่วนอื่น เราเป็นส่วนหนึ่งที่เขาขาดเราไม่ได้ และเราก็ขาดคนอื่นไม่ได้เหมือนกัน ขอแค่ตั้งใจ เชื่อว่าเพื่อนๆ จะผ่านไปได้ด้วยดี การฝึกทหารไม่ใช่ศิลป์เหมือนอย่างที่พวกเราถนัดไง เรื่องการแสดง การวิจารณ์ พวกเราทำได้ดี แต่ตัวนี้เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความจำและการปฏิบัติ เราจะไปวิจารณ์อาวุธไม่ได้ แต่เราต้องหยิบอาวุธขึ้นมาแล้วหัดยิง" ตี้กล่าวทิ้งท้าย

ด้านสถิตย์เองยอมรับว่า หนักใจกับการใช้ชีวิตตรงนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องอาหาร แต่ก็จะพยายามปรับตัวให้ได้

"เรื่องฝึกหนักแน่นอนยิ่งคิดมาก เพราะต้องไปคลุกฝุ่น ต้องจับปืน อีกอย่างสายตาเราสั้นด้วยไง แต่ก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่เขากำหนดคือ 400 นึกดูนะ ต้องตื่นขึ้นมาแล้วรีบใส่คอนแทกต์เลนส์อย่างรวดเร็ว หรือใส่แว่น ถ้าแว่นหลุดกลางคันจะทำอย่างไร คงยุ่งยากพอสมควร

"แต่ก็ดีนะ ได้มารับใช้ชาติ ได้มาฝึกประสบการณ์ที่หลายคนไม่ได้เข้ามา เคยมีคนบอกว่า การฝึกทหารเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้พักผ่อนจากการทำอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต หยุดทุกอย่างแล้วอยู่ในอีกโลกของทหาร"

นอกจากนี้สถิตย์ยังมองความน่าจะเป็นหรือช่องทางเจริญเติบโตในอาชีพทหารว่า

"ถ้าเรารับราชการทหารต่อ ปริญญาตรีอย่างเราก็จะได้เป็นร้อยตรี ไม่ต้องไต่ทีละขั้น จะเป็นครูสอนทหารก็ได้ เก๋ดีออก"

ในเรื่องที่ต้องไปใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เขาไม่คิดว่าจะมีปัญหาในเรื่องของความกระตุ้งกระติ้ง พอถึงตรงนั้นจะไม่แสดงออกมากมาย เพราะเขาไม่ชอบที่จะให้คนอื่นมองว่าแตกต่าง

"ในสังคมของเรา เราก็เป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าไปอยู่ในสังคมผู้ชายแบบนั้น เราก็ต้องพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับเขาให้มากที่สุด แต่ถ้าเขามาล้อจะรู้สึกแย่มากๆ เพราะก็ทำได้ทุกอย่างเหมือนกัน ไม่อยากให้มาล้อ

"1 ปีในนั้นช่วงฝึกก็ฝึกเหมือนคนอื่น เนื่องจากเราจบการแสดงมา แล้วก็เป็นนักสื่อสารมวลชน ก็อาจจะไปอยู่ในส่วนของวิทยุสื่อสาร ทหารสื่อสารจะได้ฝึกงานด้านเทคนิคไปด้วย ถ้ามีงานที่ต้องจัดการแสดง เหมือนค่ายลูกเสือก็จะเข้าไปช่วยทำด้วย ช่วงนั้นแหละเราจะเริ่มเจิดจรัสหรืออาจจะมีละครเพื่อการนันทนาการสำหรับทหารเก๋ๆ เราเรียนด้านนี้มา ก็ขอให้ได้ใช้หน่อยเถอะ"

เมื่อถามถึงเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ สถิตย์บอกว่าไม่กลัว เพราะคิดว่าทุกคนจะเหนื่อยมาก จนแทบจะไม่มีเวลาทำอะไร ดังนั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหา แล้วคนก็อยู่กันหมู่มากด้วย ไม่ใช่คุกที่จะโดนทำอะไรก็ได้

"เรื่องที่จะต้องไปอาบน้ำกับคนอื่นก็ไม่อายนะ เพราะปกติอยู่หอพักเราก็ไม่ค่อยจะแยแสเรื่องแบบนี้เท่าไหร่ ใครจะเห็นก็เห็นไป อีกอย่างเราต้องรีบอาบน้ำ ภายในระยะเวลาสั้นๆ คงไม่มีใครมาสนใจหรอก"

หลังจากได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่กำลังจะก้าวเข้าไปสวมบทบาทลูกผู้ชายอย่างเต็มตัวแล้ว ได้สัมผัสทั้งความหวัง ทัศนคติ มุมมอง และจิตวิญญาณของคนที่มีความรับผิดชอบ กล้าที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่บอกตัวเองเสมอว่า 'ต้องผ่านไปให้ได้' นั้น

อยากให้ลองมาสัมผัส ความรู้สึกจริงกับผู้มีประสบการณ์ตรงในค่ายทหารบ้าง ว่าจุดไหนกันแน่ ที่พวกเราเรียกว่าเป็น 'ละครชีวิต'

*เล่าสู่กันฟัง

เจษ-เจษฎา กันคำ อายุ 22 ปี ชายรักร่วมเพศที่ได้เป็นทหารเล่าถึงชีวิตตลอด 1 ปีที่อยู่ในค่ายให้ฟังว่า การฝึกทหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ตอนแรกเขาก็กลัวเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นๆ ยิ่งตัวเองเป็นแบบนี้ ยิ่งกลัวที่จะต้องไปอยู่ร่วมกับสังคมผู้ชาย ตัวเองเป็นคนรักสวยรักงาม ต้องไปเจอแดดเจอฝน นึกไม่ออกเลยว่าต้องทำตัวอย่างไร

"แต่ก็ต้องทำใจดีสู้เสือ เพราะสงสารแม่" เจษฎาเล่าว่า ช่วงแรกๆ อยู่บ้านแทบไม่ได้ เพราะคิดมาก ต้องออกไปคุยกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนๆ ก็พูดให้กำลังใจดี

จากที่เคยมีเวลาส่วนตัว พอเข้าไปในนั้นหาไม่ได้เลย ต้องอยู่ในกฎระเบียบ ต้องทำตามคำสั่งตลอด แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็ปรับตัวได้

"อยู่ในนั้น เจษต้องเก็บตัวไม่แสดงออก เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าเราเป็นเกย์ กลัวจะอยู่ลำบาก เข้าไปเลยต้องทำตัวแมน กร่างเลยล่ะ แอ๊บแมนสุดๆ เขาให้ถอดก็ถอด ให้ทำอะไรก็ทำ

"พอผ่าน 2 เดือนที่ต้องฝึกหนัก ที่เราพยายามแอบไว้ก็เริ่มเผยออก เพราะฝืนต่อไม่ไหวแล้ว มันไม่ใช่ตัวเรา มันคือการแสดงละคร ก็บอกเพื่อนที่สนิทนะว่าเราเป็น เขาก็รับได้ ไม่ว่าอะไร กลับนับถือน้ำใจเราซะอีกว่าเราอดทน บางทีอดทนกว่าผู้ชายบางคนด้วยซ้ำ"

กิตติศักดิ์ แก้งทอง มหาบัณฑิตอีกคนที่ผ่านประสบการณ์ทหารมาแล้ว เขาเล่าว่า เข้าไปฝึกแล้วไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปรับตัวอะไรมาก เพราะปกติเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว ในกองร้อยที่เขาอยู่ทั้งหมด 100 คน กิตติศักดิ์เป็นคนเดียวที่เรียนสูงที่สุดคือ ปริญญาโท มีเพียงปริญญาตรีประมาณ 8 คน นอกนั้นเด็กม.6 หมดเลย

"บางคนก็หนีคดีมาบ้าง บางคนพ่อแม่อยากให้เป็น หลากหลายประเภทที่ต้องมาอยู่ด้วยกัน มีคนเคยบอกก่อนเข้าไปว่า เข้าไปแล้วอย่าทำตัวเด่น อย่าทำตัวล้าหลัง ให้ทำตัวกลางๆ ก็ทำตามที่เขาบอก เพราะจะได้อยู่ในนั้นได้อย่างมีความสุข

"ในกองร้อยที่ฝึกมีสาวๆ อยู่ 2 คนคือเราแล้วก็น้องอีกคน แต่เราจะปิดไม่มีคนรู้หรอก เพราะทำตัวธรรมดามาก ตอนฝึกไม่แสดงออกเลย แต่น้องอีกคนเขาไม่เก็บ เขาก็มักจะโดนล้อประจำ เพราะเขาตุ้งติ้ง น่าสงสารมาก แต่พอหลังจากฝึกเสร็จเท่านั้นแหละ เรียกเราว่า เจ๊ ทั้งกองร้อย แต่หัวหน้าก็ไม่ว่าอะไร เพราะเราทำตัวดี ไม่เคยมีปัญหา อยู่ในระเบียบตลอด ทุกอย่างจะดีหรือแย่ มันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของแต่ละคน"

*สิ่งดีๆ หลายอย่างที่ได้รับจากการฝึกทหาร

การใช้ชีวิต การฝึกที่มีแบบแผนดูเหมือนจะซึมลึกเข้าไปในตัวเจษฎาอย่างหามิได้ โดยที่เขาเล่าอย่างภูมิใจให้ฟังว่า

"1 ปีที่อยู่ในนั้น เจษเปลี่ยนไปเยอะมาก จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยนะ จากแต่ก่อนเป็นคนใจร้อน ขี้โวยวาย กร่าง ทำตัวไม่ดี แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราเป็นคนที่ใจเย็นลงมาก มีเหตุมีผล มีระเบียบวินัย วางแผนกับชีวิตตัวเองเป็นขั้นตอน รับผิดชอบต่อคำพูด รับผิดชอบต่อตัวเอง สำนึกเกิดในหลายๆ เรื่อง"

เจษฎาฝากถึงเพื่อนๆ ที่กำลังจะเข้าไปรับการฝึกทหารว่า ไม่อยากให้คิดมาก ตอนแรกความกลัวก็มีทุกคน

"อย่างเจษเข้าไปช่วงอาทิตย์แรกๆ ก็ร้องไห้ แต่เพื่อนๆ ก็ช่วยปลอบ มิตรภาพในนั้นน่าทะนุถนอมมาก ทุกคนดีต่อกัน คิดซะว่ามันเป็นบทบาทของเรา ตอนเป็นนักเรียน บทบาทของเราคือเรียนหนังสือ เป็นทหารบทบาทของเราก็เป็นอีกอย่าง มันเหมือนละครบทหนึ่ง ที่เราได้เล่นมัน เราต้องคิดว่าเล่นอย่างไรให้สมบูรณ์ เล่นอย่างไรถึงจะออกมาดี ทำให้คนดูอยากติดตามเพื่อจะดึงเรตติ้งให้ได้ เพราะคิดว่ามันเป็นละครชีวิต ที่เราต้องเล่นให้ดี นี่แหละเจษถึงอยู่ได้

"อีกอย่างคือ พวกเราถูกมองว่าแตกต่าง เป็นคนอีกประเภท เราอยู่ในสถานะที่ต้องใช้ความอดทน ก่อนหน้านี้เราอดทนต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวตั้งมากมาย อดทนต่อการถูกต่อต้านจากสังคม ต้องอยู่ในสังคมให้ได้เพราะเราเป็นแบบนี้ ทนมาตั้งเท่าไหร่แล้ว ทำไมแค่นี้จะทนไม่ได้"

ส่วนกิตติศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากในนั้นเยอะมาก อย่างน้อยเราก็ได้ระเบียบวินัยขึ้น แล้วก็ได้อยู่อีกโลกหนึ่ง ถึงแม้ใครจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อเข้าไปก็คือสิ่งหลายสิ่งที่เขาจะหลอมให้เป็นสิ่งเดียวกัน จนเกิดความสามัคคี ในเรื่องความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสกว่าของทหารก็เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมาก ซึ่งคิดว่าตรงนี้เป็นส่วนที่น่านับถือ

"ไม่คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปนะ เพราะเดิมเป็นคนที่ปรับเปลี่ยนได้อยู่แล้ว สามารถจะปรับเข้าตรงไหนก็ได้ ปรับตัวง่ายแต่ก็พยายามเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด เพราะจะได้ไม่เหนื่อย แต่กระตือรือร้นขึ้นนะ เอาระบบตรงนั้นมาปรับเปลี่ยนกับชีวิตเราได้ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีทัศนคติแย่กับทหารนะ คิดแต่ว่าเรามีโอกาสได้รับประสบการณ์ใหม่ ยิ่งเข้าไปในนั้น ยิ่งทำให้เราคิดว่ามีอะไรให้ค้นหาเยอะแยะมากมาย

"สำหรับคนที่กำลังจะเข้าไป อย่าไปทำตัวเด่นมากเกินไป หรือทำตัวด้อยเลยก็ไม่ใช่ ทำตัวให้มีบรรทัดฐานของตนเอง ให้มีความอดทน อย่าพลั้งเผลอ อย่าไปมีอะไรยังไงกับใครเลย ถ้าพลาดไปแล้วมันจะยาว"

ครูฝึกทหารท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องชายรักร่วมเพศที่ติดทหารว่า ส่วนมากคนที่ผ่านเข้าไปไม่ค่อยมีปัญหา ทุกคนปฏิบัติเหมือนคนอื่นอย่างเท่าเทียม

" ฝึกได้ก็ฝึก ฝึกไม่ได้ก็ต้องใช้ความอดทน แต่ทางทหารก็แก้ปัญหาด้วยการไม่รับเข้ามา ในกรณีของคนที่แต่งเป็นหญิงเต็มตัว แต่ถ้ามีรูปร่างเป็นชายปกติ ก็ต้องทำตามระเบียบ โดยมากช่วงเข้าไปใหม่ๆ เขามักจะไม่แสดงออกว่าเป็นอย่างไร แต่พอพ้นระยะการฝึกไปแล้ว ก็มีหลุดมาเป็นเรื่องธรรมดา คนพวกนี้เขาวางตัวดี น้อยมากที่จะทำตัวมีปัญหา"

คงต้องบอกว่า นับถือน้ำใจจริงๆ สำหรับคนที่รับกับสภาพตรงนี้ได้ อาจจะมีบางคนสงสัยว่า พวกเขาจะไหวหรือเปล่า กับการฝึกที่เปรียบเสมือนการทดสอบขั้นสูงนี้ได้ แต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นข้างบนแล้วว่า พวกเขาเหล่านี้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนก็จริง แต่ก็สามารถและยินดีที่จะปฏิบัติตัวให้สมกับเป็นชายไทย คือ ปฏิบัติตามบทบัญญัติทางกฎหมายได้อย่างสง่า ถึงแม้จะมีบางสิ่งที่ต่างออกไปบ้าง แต่พวกเขาก็เข้าไปได้อย่างกลมกลืน และเขาเหล่านี้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

จะไม่ทำตัวให้สังคมมองว่าเป็น 'ตัวถ่วง' อย่างเด็ดขาด

****************************

เรื่อง : ปารวี มีสมวิทย์






กำลังโหลดความคิดเห็น