xs
xsm
sm
md
lg

ตามล่าหา “แก๊งค้าปลาทะเล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทะเล...อู่ข้าวอู่น้ำและรวมถึงเป็นสถานที่อันอุดมไปด้วยทรัพยากรของโลกมาแต่ตั้งยุคดึกดำบรรพ์ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิตนับหมื่นชนิด ล้านสายพันธุ์ ...ท้องทะเลไทยเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับการยอมรับว่าอุดมสมบูรณ์ สวยงาม และเต็มไปด้วยอัญมณีมีชีวิตที่หลากหลาย อัญมณีเหล่านั้นคือสัตว์น้ำทั้งหลายที่ยึดเอาความสงบเยียบเย็นแลtความบริบูรณ์พร้อมของใต้ท้องทะเลลึกเป็นถิ่นพำนักอาศัย แต่ในวันนี้ความเป็นไปในทำนองชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้กำลังถูกบรรเลงให้ต่างครรลองออกไป อันเนื่องมาจากการรุกรานของสิ่งมีชีวิตที่ขนานนามตัวเองว่า... 'มนุษย์'

* ตามรอยเส้นทางการลักลอบจับปลาสวยงาม

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแนวปะการังและการท่องเที่ยว เปิดเผยถึงเส้นทางการลักลอบจับปลาสวยงาม ว่า ตามปกติผู้ที่ลักลอบจับปลาสวยงามเช่นนี้ มีอยู่ไม่มากนัก หากจะให้ประมาณจำนวนอย่างคร่าวๆ ทั่วประเทศไม่น่าจะมีรวมกันเกิน 1,000 คน แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่จับเป็นอาชีพ ดังนั้น จึงทำให้จำนวนปลาสวยงามในท้องทะเลไทยลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยังไม่นับการจับโดยบังเอิญที่ปลาสวยงามหลงมาติดลอบดักปลาของชาวประมงทั่วไปด้วย

"ผู้ที่จับปลาสวยงามส่วนใหญ่จะเป็นชาวเล... ทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าชาวเลไม่ใช่ชาวประมง คือเป็นพวกคนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านชายฝั่งทะเล ชาวเลพวกนี้เคยจับปลาสวยงามขายอยู่ช่วงหนึ่ง แต่พอเขารู้ว่าปลาสวยงามลดลงมากเขาก็เลิก ต่อมาก็จะเป็นพวกพม่าที่เข้ามาลักลอบจับเอาไปขาย"

หลังจากที่ผู้ลักลอบจับได้จับปลาสวยงามเหล่านั้นแล้ว วิธีพักปลาก็จะต่างกันออกไป เช่นบางคนจะใช้วิธีใช้เรือใหญ่ลอยลำแล้วลงเรือหางยาวไปจับ เมื่อเต็มลำแล้วจะกลับมาถ่ายปลาลงเรือใหญ่ จนเรือใหญ่เต็มแล้วจึงเข้าฝั่ง หรือไม่ก็อาจจะจับขึ้นมาแล้วเอาไปพักไว้ตามบ่ออนุบาลลูกกุ้ง เมื่อได้จำนวนตามต้องการแล้วก็แพ็กเข้ากรุงเทพฯ ส่งขาย หรือหากบางรายมีผู้รับซื้อเจ้าประจำ ก็อาจจะไปซื้อกันถึงริมทะเลเลยก็มี

สำหรับการแพ็กปลาส่งเข้ากรุงเทพฯ หรือส่งไปที่ใดๆ เพื่อขายนั้น ไม่จำกัดว่าจะส่งทางใด เท่าที่พบมีทั้งการขนส่งโดยรถยนต์และทางเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งการขนขึ้นรถทัวร์ รถบัส โดยสารกันข้ามจังหวัดก็มี ซึ่งการบรรจุปลาเพื่อส่งขายนั้นส่วนใหญ่จะใช้วิธีนำปลาลงใส่ถุงพลาสติกบรรจุน้ำทะเล อัดอากาศลงไป จากนั้นนำใส่กล่องโฟม และอาจมีน้ำแข็งโรยเล็กน้อยเพื่อลดอุณหภูมิให้ปลาที่น่าสงสารเหล่านั้นสงบลงมาบ้าง ซึ่งการขนส่งเช่นนี้ แม้ทางเจ้าหน้าที่ตรวจพบ แม้ผู้ส่งจะมีปลาในปริมาณมากโดยส่อเจตนาเป็นการลักลอบจับเพื่อการจำหน่าย เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจับกุมหรือเอาผิดได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมที่ดีพอ

* กฎหมายคุ้มครองการจับปลาสวยงามยังไม่ครอบคลุม

ดร.ธรณ์ กล่าวถึงการปัญหาการลักลอบจับปลาสวยงามจากท้องทะเล ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเห็นแก่ตัวเฉพาะหน้าที่หวังเพียงจะได้เงินนั้น กลับกลายเป็นต้นเหตุการก่อปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างนึกไม่ถึงเลยทีเดียว

ทั้งนี้ในปัจจุบันกฎหมายที่คุ้มครองในเรื่องของการจับสัตว์น้ำนั้นมีใช้อยู่ 3 ฉบับด้วยกับ ฉบับแรกคือ กฎหมายอุทยานแห่งชาติ โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดเอาไว้ว่า ห้ามจับสัตว์ทุกชนิดในเขตอุทยานฯ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมและคุ้มครองพอ กฎหมายฉบับที่สองคือ พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม กำหนดว่า ห้ามลักลอบจับสัตว์น้ำทุกชนิดบริเวณรอบเกาะภูเก็ต และเมื่อเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้พยายามผลักดันให้เพิ่มพื้นที่คุ้มครองจากรอบเกาะภูเก็ต เป็นบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามันที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา การผลักดันนี้ก็เป็นผล โดยนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ลงนามเพื่อประกาศให้ 6 พื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามันซึ่งได้แก่ กระบี่, ภูเก็ต, พังงา, สตูล, ตรัง และระนอง เป็นพื้นที่คุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งจะมีผลต่อการคุ้มครองแนวปะการังและปลาสวยงาม

และในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับที่สามนั้นคือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ปี พ.ศ.2535 กำหนดไว้ว่า ห้ามซื้อและจำหน่ายสัตว์ป่า และที่แนบท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้คือรายชื่อสัตว์ต่างๆ ที่ห้ามซื้อขาย หากแต่ไม่มีชื่อปลาสวยงามเลยแม้แต่ชนิดเดียว

"อย่างกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ปี พ.ศ.2535 มีบัญชีแนบท้ายเป็นนก เป็นสัตว์อื่นๆ แต่ที่แปลกคือไม่มีรายชื่อปลาสวยงามเลยแม้แต่ชนิดเดียว ถือเป็นช่องโหว่มหาศาล ไม่ใช่ว่ากฎหมายไม่ดีนะ กฎหมายตัวนี้ดีอยู่แล้ว เราไม่ต้องการกฎหมายใหม่ แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือขอใส่รายชื่อปลาสวยงามเข้าไปเพิ่มในบัญชีแนบท้ายด้วย โดยตอนนี้มีทั้งนักวิชาการและทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช พยายามเรียกร้องให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสัตว์สงวนและคุ้มครอง โดยการประชุมนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานการประชุม และมีอธิบดีกรมอุทยานเป็นเลขาฯ การประชุม โดยปกติการประชุมเช่นนี้จะมีประจำทุกปี

"แต่ที่น่าแปลกคือไม่มีการจัดมา 2 ปีเศษแล้ว ก็พยายามเรียกร้องให้มีการจัดกันอยู่ และข่าวล่าสุดแว่วๆ ว่าน่าจะมีโอกาสประชุมกันในเร็วๆ นี้ พอจะมีวี่แววบ้างแล้วหลังจากที่หลายฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชนช่วยกันกระตุ้น แต่คิดว่าหากจะมีการจัดจริงๆ อาจจะขอให้เปิดประชุมปรึกษากันเป็นการภายในเป็นการเตรียมความพร้อมเสียก่อน สำหรับรายชื่อปลาที่อยากให้มีการใส่แนบท้ายบัญชีนั้น เคยทำการสำรวจเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วพบว่าอยู่ที่ประมาณ 52 ชนิด เชื่อว่าครั้งนี้อาจจะมีเพิ่มขึ้นบ้าง"

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวต่อไปอีกว่า เหตุผลในการขอขึ้นทะเบียนปลามีอยู่ 5 ประการ คือ 1. ต้องเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลกที่ประเทศไทยค้นพบ เช่น ปลาสร้อยนกเขาอันดามัน 2. สัตว์น้ำหายากที่เพิ่งค้นพบได้ในทะเลไทย เช่น ปลาผีเสื้อเบนเนต 3. ปลาหายาก เช่นปลาไหลริบบิ้น 4. สัตว์น้ำที่ถูกคุกคามมากๆ เช่น ปลาผีเสื้อ ปลาการ์ตูน และ 5. สัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ปลาที่เป็นเป้าหมายแรกที่นักท่องเที่ยวนิยมดำน้ำลงไปดู เช่น ปลากบ

* อควาเรียมเอกชนตัวการจับเพิ่มขึ้น

สำหรับปลาที่โดนคุกคามเป็นอันดับต้นๆ ก็คงจะเป็นปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ เพราะสีสวย เลี้ยงง่าย แถมปลาการ์ตูนยังเป็นปลาที่จับง่ายมาก แค่มีสวิงอันเดียวก็จับมันได้แล้ว เพราะมันจะเกาะติดอยู่กับดอกไม้ทะเล ไม่ว่ายหนีไปไหน จากสถิติการสำรวจพบว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีคือเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนกระทั่งเดือนเมษายนนั้น มีการลักลอบจับสัตว์น้ำคุ้มครองและนำใส่รถส่งเข้ากรุงเทพฯ เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 35 กล่อง มีสัตว์น้ำและปลาสวยงามถูกจับครั้งละ 500 – 1,000 ตัว ต่อการขนส่งหนึ่งเที่ยว

"ผลจากการกระทำเช่นนี้ทำให้ปลาบางชนิดสูญจากบางพื้นที่แล้ว เช่นที่อ่าวแอปเปิล เกาะอาดังราวี เกาะห้าใหญ่ หรือที่กระบี่ ปลาการ์ตูนหายไปจนแทบไม่เหลือ เคยสำรวจพบว่ามีประมาณ 500 – 600 ตัว แต่พอ 5 – 6 เดือนให้หลังผมดำลงไป เจอตัวเดียว และยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากสึนามิ เพราะเราสำรวจกันหลังเกิดสึนามิแล้ว ยืนยันว่าที่ปลาและสัตว์น้ำสวยงามเหล่านี้หายไปจากพื้นที่นั้นเป็นเพราะการถูกคนจับไปมากกว่าอย่างอื่น

ผมทำเรื่องนี้มาหลายปี ใจหายมาตลอดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างผมก็อาจจะแค่ใจหาย แต่สำหรับผมถ้าสัตว์น้ำและปลาสวยงามหายไป มันก็แค่หาย ผมยังทำงานที่มหาวิทยาลัยได้ตามปกติ แต่ที่ใจหายกว่าผม โดยผลกระทบมากกว่าผมก็คือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในท้องที่นั้นๆ หรือแม้กระทั่งททท.เองก็ตาม เพราะทุกวันนี้มีเสียงจากนักดำน้ำจำนวนมากบ่นว่าไม่อยากจะดำแล้ว ดำลงไปแล้วไม่มีปลา ไม่เจออะไร เห็นไหมครับว่าผลกระทบมันเป็นวงกว้าง อีกหน่อยถ้าเป็นแบบนี้อีกคนก็จะไม่มาเที่ยวบ้านเรา ไม่มาดำน้ำในท้องทะเลไทย กิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่ก็จะอยู่ไม่ได้ แล้วก็พาลกระทบไปถึงในระดับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วย"

สำหรับสาเหตุหลักในช่วงนี้ที่ทำให้ปลาสวยงามในทะเลถูกคุกคามมากขึ้น ดร.ธรณ์กล่าวว่าเป็นเหตุมาจากการเปิดของอควาเรียมเอกชนทั่วประเทศ ที่ทำให้จำเป็นต้องออกไปจับสัตว์น้ำและปลาสวยงามเพื่อจะนำไปแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนั้นๆ

* เผยวิธีสุดทารุณ ไซยาไนด์โยนน้ำทำปลาเมา – จับง่าย

ด้าน ดร.สุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเรื่องของการลักลอบจับสัตว์น้ำสวยงามนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว เป็นปัญหาที่เกิดมาเรื่อยๆ แต่ในสมัยก่อนการลักลอบจับจะไม่หนักเหมือนในปัจจุบันนี้ คือจะเป็นเพียงการจับไปส่งเอเยนต์ตามตลาดค้าสัตว์น้ำขนาดใหญ่เท่านั้น จับเพื่อตอบสนองธุรกิจการจัดตู้ปลา ตกแต่งตู้ปลา หาปะการัง ดอกไม้ทะเล เพื่อการประดับตกแต่งในครัวเรือน คือซื้อมาส่งตลาด แล้วก็ให้ประชาชนที่ต้องการตู้ปลาน้ำลึกไว้ในบ้านก็ไปเดินซื้อหาเอา

แต่ปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลักลอบจับหนักขึ้นกว่าแต่ก่อนมากนั้น เป็นเพราะความนิยมใน 'อควาเรียม' หรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่กลายมาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจใหม่ของคนเมือง ส่งผลให้ตลาดปลาสวยงามคึกคักขึ้น ราคาปลาสวยงามบางชนิดพุ่งขึ้นสูง ถึงขนาดไปรับซื้อตามชายฝั่ง บางครั้งปลาบางชนิดมีราคาสูงถึง 1,000 บาท ในขณะที่กุ้งทะเลราคารับซื้อกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวประมงจึงหันมานิยมจับปลาสวยงามขายเพราะกำไรดี แถมจับง่าย

เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ อธิบายด้วยว่า สำหรับการจับปลาสวยงามนั้นเอเยนต์จะนำสิ่งที่เรียกว่า 'ยาเม็ด' ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสารไซยาไนด์ไปให้ชาวประมงเพื่อให้นำไปโรยในน้ำบริเวณแนวปะการังเพื่อให้ปลาที่ว่ายเข้าไปหลบอยู่ในแนวปะการังเกิดอาการ 'เมา' และโผล่ออกมาจากแนวปะการังที่ซ่อนอยู่ และจากนั้นพวกมันก็จะถูกจับได้โดยง่าย

โดย ดร.สุรพลกล่าวถึงวิธีการจับปลาสวยงามที่สุดแสนทารุณและผิดศีลธรรมเช่นนี้ว่า เป็นการกระทำที่ก่อความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศอย่างยิ่ง หากปลาได้รับพิษโดยตรงอาจจะตาย หรือปะการังและดอกไม้ทะเลหากโดนเช่นนี้ซ้ำๆ กันหลายครั้งก็มีสิทธิ์ตายได้เช่นกัน รวมถึงปลาที่ไม่ใช่ปลาสวยงามที่อยู่ในบริเวณที่ต้องรับยาและไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยก็จะได้รับผลกระทบจากพิษยาจนตายได้เช่นกัน

"ในส่วนของพื้นที่ที่ปลาสวยงามโดนลักลอบจับมากนั้น ก็ตั้งแต่แนวระนองลงไป ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดูแลยากพอสมควรเนื่องจาก หากไปดูแลจุดหนึ่ง คนเหล่านี้ก็จะไปโผล่อีกจุดหนึ่ง ตอนนี้ปลาการ์ตูนนี่แทบจะหาไม่ได้แล้ว นักดำน้ำดำลงไปนี่ไม่เจอแล้ว ยิ่งเกาะสุรินทร์ สิมิลัน ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งดำน้ำที่ปลาสวยงามชุกชุมมาก เดี๋ยวนี้เค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปลาสวยงามลดน้อยลงเยอะ ดูง่ายๆ เอาเกาะแถวๆ มาเลเซีย ของไทยมีเกาะหลีเป๊ะ ใกล้กับเกาะลังกาวีของมาเลเซีย หลีเป๊ะเองก็เคยมีปลาชุม ตอนนี้น้อยลงมาก แต่ในขณะที่ลังกาวีของบ้านเขายังอุดมสมบูรณ์อยู่" ดร.สุรพลแจกแจง

* รู้สึกคาใจ เหตุใดไม่ประชุมเสียที

...และเช่นเดียวกับ ดร.ธรณ์ ทาง ดร.สุรพลกล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่แปลกใจก็คือ เกิดเหตุขนาดนี้ เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมถึงขนาดนี้ เหตุใดจึงยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการสัตว์สงวนและคุ้มครองเสียที เพราะความร้ายแรงและภาวการณ์ลดน้อยของปลาสวยงามเช่นนี้ น่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและจัดการประชุมที่ว่างเว้นมากว่า 2 ปีเสียที

"ที่ผ่านมาอาจจะเป็นเพราะระบบราชการที่กรมประมงสังกัดอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่กรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่งสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประสานงานกันค่อนข้างลำบาก แต่ประเด็นคือทำไมถึงไม่มีการจัดประชุมขึ้นทั้งที่ปัญหามันเป็นปัญหาใหญ่ นักดำน้ำต่างก็พูดเป็นสิ่งเดียวกันว่า อีกหน่อยเราจะไม่มีแหล่งดำน้ำดีๆ อีกแล้ว เพราะปลาเราหายหมด" ดร.สุรพลให้ทัศนะ

* แนะหนุนอควาเรียมรัฐ – ชี้ปลาทะเลไม่ใช่ลูกหมา เลี้ยงยาก เอาใจใส่เยอะ

และสุดท้ายสำหรับผู้ที่เป็นประชาชนธรรมดา นักเลี้ยงปลามือสมัครเล่น และผู้ที่เริ่มจะสนใจอยากเลี้นงปลาสวยงามที่เป็นปลาทะเลนั้น ดร.ธรณ์ได้ฝากคำแนะนำทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟังว่า สำหรับประชาชนคนธรรมดาที่ต้องการจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาภาวการณ์ลดน้อยของปลาทะเลสวยงาม สามารถทำได้โดยการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของรัฐ ที่มักจะตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยแถบชายทะเล เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญจริงๆ คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของปลาเป็นหลัก และหากเป็นไปได้อย่าให้การสนับสนุนโดยการเข้าไปดูอควาเรียมเอกชนที่มีความว่าดูแลสัตว์น้ำไม่ดี หรือปล่อยให้สัตว์ตาย

เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนสำหรับทำพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีลักษณะตั้งเดี่ยวๆ อยู่กลางเมืองนั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก แต่อควาเรียมเอกชนส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในการใช้งบด้านการตกแต่งเพื่อการดึงดูดลูกค้ามากกว่าจะเป็นการดูแลสัตว์น้ำในความดูแลอย่างจริงจัง ทำให้ปลาอยู่ไม่สบาย และตายลงในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก็จะส่งผลให้ทางอควาเรียมนั้นๆ ต้องไปว่าจ้างหรือรับซื้อปลาที่ชาวประมงลักลอบจับอีกครั้ง

สำหรับนักเลี้ยงปลาสวยงามที่เป็นมือสมัครเล่น ผู้กำลังหลงใหลในสีสันอันแปลกตาของปลาทะเลตัวใหญ่น้อยหลากหลายสายพันธุ์นั้น ดร.ธรณ์กล่าวว่า ต้องคิดให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะไปซื้อมาเลี้ยง เนื่องจากปลาทะเลไม่ใช่ปลาทอง หรือไม่ใช่ลูกสุนัขที่จะง่ายต่อการดูแล หากเอาปลาทะเลขึ้นมาจากทะเล ก็เหมือนจับมาฆ่า เพราะการเลี้ยงให้รอดนั้นถือว่ายากมาก ขนาดผู้เชี่ยวชาญที่ลงทุนค่าตู้นับแสนบาท ก็ทำได้แต่เพียงยืดอายุให้ปลาที่ถูกจับมาให้มีอายุยืนยาวขึ้นเท่านั้น แต่ก็จะไม่เหมือนกับให้มันอยู่กับธรรมชาติของมันเอง

"อย่าเข้าอควาเรียมที่มีข่าวว่าดูแลปลาไม่ดี อย่านำมันมาเลี้ยง เพราะการนำมาเลี้ยงก็เหมือนนำมันมาฆ่า เลี้ยงให้รอดยากมาก เว้นแต่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ลงทุนตู้เป็นแสนๆ ดูแลระบบน้ำ และดูแลมันด้วยความเอาใจใส่อย่างมีความรู้ด้วย แต่ถึงขนาดนั้นก็คือทำได้แค่ยืดอายุของมันไม่ให้ตายเร็วเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ ปล่อยให้มันเป็นอัญมณีมีชีวิตประดับท้องทะเลไทยต่อไปอีกนานเท่านานครับ" ดร.ธรณ์สรุปทิ้งท้าย

***********************

เรื่อง - เจิมใจ แย้มผกา


ความสวยงามของโลกใต้ทะเลที่ทำให้ ปลา ถูกจับขึ้นมาค้าขาย

กำลังโหลดความคิดเห็น