xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยมชม “SHOP คนตาบอด” สวรรค์สำหรับคนพิการทางสายตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในยุคที่โลกผลิตอะไรต่อมิอะไรให้ผู้คนได้สัมผัสถึงความสะดวกสบายกันอย่างมากมาย จนเกือบจะกลายเป็นง่อย เพราะแทบจะไม่ต้องออกแรงในการหยิบฉวยอะไรเลย

แต่เชื่อหรือไม่!!! ในซอกหลืบของโลกเทคโนโลยีที่กำลังก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ที่มีโอกาสได้สัมผัสเครื่องอำนวยความสะดวกที่ใช้ในชีวิตประจำวันแค่เพียงน้อยนิด นั้นก็คือ คนพิการทางสายตา!!


มีทุกสิ่งให้เลือกสรร

ใครหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการทางสายตาก้าวข้ามขั้นไปไกลมากสำหรับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะบางคนยังคงนึกอยู่แค่เพียงภาพของไม้เท้ากับแว่นตาดำเท่านั้น อาจารย์กมลวรรณ อินอร่าม ประธานสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำโปรแกรมวิชา การศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาคนหนึ่ง เล่าถึงวิวัฒนาการจากเมื่อก่อนมาจนถึงปัจจุบันของเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาให้เราได้มองเห็นโลกของพวกเขาได้มากยิ่งขึ้น

"เมื่อก่อนจะมีแต่ของชิ้นใหญ่ๆ ราคาแพงๆ ซึ่งใช้สำหรับองค์กร น้อยมากที่จะมีของใช้จุกๆจิกๆสำหรับคนตาบอดธรรมดา และแต่ละชิ้นราคาไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น อย่างคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Note Taker – คอมพิวเตอร์ซึ่งแสดงผลออกมาเป็นอักษรเบรลล์แบบสัมผัส แทนการแสดงผลแบบจอคอมพิวเตอร์) ที่ใช้อยู่ในตอนนี้ ซึ่งก็ซื้อมาหลายปีแล้ว ก็ตกประมาณ สองแสนกว่าบาท สำหรับเราซึ่งต้องใช้งานด้านนี้ ถือว่าจำเป็นต้องมีใช้ก็ต้องซื้อ แต่ปัจจุบันก็พัฒนามาเป็น PDA (ปาล์ม) ราคาไม่กี่หมื่น ซึ่งก็เหมือนกับ PDA สำหรับคนปกติ แต่จะแตกต่างตรงที่มีแป้นสัมผัสเพื่อความสะดวกในการใช้งานสำหรับคนตาบอด "

ดูเหมือนว่าในสมัยก่อนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการจะถูกจำกัดอยู่แค่เพียงการใช้งานด้านการรับรู้ ซึ่งจะค่อนข้างหนักไปทางด้านการเรียนการสอนสำหรับใช้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สำหรับผู้ที่ตาบอด ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีตั้งแต่ เครื่องทำตัวอักษรเบรลล์แบบพกพา (มีลักษณะเป็นช่องสอดกระดาษ แล้วใช้ดินสอกดลงตามช่อง 6 ช่อง จนทำให้กระดาษนูนขึ้นจนปรากฏเป็นอักษรเบรลล์ โดยปัจจุบันมีแบบพลาสติกน้ำหนักเบา ง่ายต่อการพกพา) ไปจนถึง เครื่องอ่านหนังสือเสียงระบบเดซี่ (Daisy) ซึ่งใช้ซีดีรอมเป็นฐานข้อมูล ทำให้คนตาบอดสามารถรับรู้ข่าวสารได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยรุ่นใหม่ล่าสุดราคาอยู่ที่ประมาณ 45,000 บาท แต่ปัจจุบันมีอุปกรณ์เสริมเพื่อการใช้งานสำหรับคนตาบอดเพิ่มมากขึ้น มิใช่มีเพียงแค่แว่นตาดำกับไม้เท้านำทางอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ผู้พิการทางสายตาก็มีความต้องการไม่ต่างจากคนทั่วไป คืออยากให้มีรูปทรง หรือออปชันใหม่ๆออกมาให้เลือกใช้เช่นกัน ที่ผ่านมาอุปกรณ์สำหรับคนตาบอดบางชนิดดูไม่น่าใช้งานนัก จนบางครั้งกลายเป็นอุปกรณ์ที่ดูแปลกตาไปสำหรับคนตาดี ทำให้ผู้พิการทางสายตาบางคน ไม่อยากจะใช้อุปกรณ์เหล่านั้น แต่ในระยะหลังได้มีการพัฒนาการออกแบบให้ดูทันสมัยขึ้น

ปัจจุบันสหกรณ์บริการคนตาบอด ซึ่งตั้งอยู่ภายในสมาคมคนตาบอด ได้นำอุปกรณ์สำหรับคนพิการทางสายตามากมายหลายชนิดมาจำหน่าย มีตั้งแต่เชือกอะไหล่สำหรับไม้เท้า ซึ่งราคาเพียง 15 บาท ไปจนถึงพรินเตอร์ ราคาครึ่งล้านนั่น ซึ่งพรินเตอร์ นี้สามารถแปลข้อมูลเป็นภาษาเบรลล์ลงบนกระดาษได้ทันที นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์เสริมที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนตาบอดได้มีโอกาสใช้ชีวิตเหมือนเราๆท่านๆอีกหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์ที่รินน้ำสำหรับคนตาบอด ซึ่งจะช่วยให้สามารถวัดปริมาณน้ำที่รินไม่ให้ล้นแก้ว ซึ่งการทำงานก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร โดยเมื่อเรารินน้ำในปริมาตรที่เกินกว่าแท่งเหล็กที่ติดกับปากแก้ว เสียงสัญญาณก็จะดังขึ้น , สายวัดสำหรับคนตาบอด ที่จะมีรูทุกๆ 5 เซนติเมตร ในการช่วยสัมผัส หรือคนตาดีมีทีวีให้ดู คนตาบอดก็มี Sound TV ซึ่งเป็นเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์เฉพาะในส่วนของสัญญาณเสียง ไม่มีสัญญาณภาพ ที่สำคัญคือสนนราคาถูกกว่าโทรทัศน์มาก คือมีราคาแค่ 200-300 บาทเท่านั้น

และผู้ที่รักสุขภาพแต่ไม่อยากเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ที่นี่ก็มีเครื่องวัดความดันแสดงผลด้วยเสียง ในราคา 6,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่แพงเกินไปสำหรับผู้ที่ต้องใช้งานจริงๆ รวมไปถึงปรอทวัดไข้แบบมีเสียง และเครื่องชั่งน้ำหนักแบบมีเสียงบอกน้ำหนัก ทั้งเป็นกิโลกรัมและเป็นปอนด์

แฟชั่นเล็กๆของพวกเขา

แต่ที่ฮิตและมียอดจำหน่ายสูงจริงๆ คงหนีไม่พ้น "นาฬิกาสำหรับคนตาบอด (Talking Watch)" ซึ่งมีหลากรุ่นและหลายรูปทรง โดยในขณะนี้มี 2 แบบคือ มีทั้งเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีให้เลือก คือ สีม่วง สีดำและสีเงิน หรือแบบสัมผัสหน้าจอนาฬิกาก็มีให้เลือก สำหรับราคาก็มีตั้งแต่ร้อยกว่าบาทไปจนถึงสองพันกว่าบาท

“ ตอนนี้ก็มีเสียงเรียกร้องให้นำรูปแบบใหม่ๆเข้ามาอยู่เสมอ ยิ่งตอนที่ "อุ้ม" (สิริยากร พุกเวช ) ออกรายการ เจาะใจ เพื่อมาช่วยเหลือคนพิการทางสายตา ก็ยิ่งทำให้มีกระแสทั้งคนตาบอดและตาดี เข้ามาซื้อนาฬิกาเพื่อนำไปสวมใส่และเอาไปบริจาคกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งยอดจำหน่ายนาฬิกาตกปีละพันกว่าเรือนเชียวนะ

จะเรียกว่ามันเป็นแฟชั่นของคนพิการดีมั้ย คงไม่ใช่ซะทีเดียว มันเป็นความต้องการกับจำนวนที่มีอยู่มากกว่า คนตาบอดอย่างเราจะไปเรียกร้องอะไรมากไม่ได้ เพราะด้วยกลุ่มคนเล็กๆ บริษัทผู้ผลิตย่อมต้องรอกำลังสั่งซื้อที่เยอะ กว่าจะพัฒนาครั้งหนึ่ง หรือเปลี่ยนสินค้ารูปแบบใหม่ทีหนึ่งก็ค่อนข้างกินเวลาหลายปี อย่างนาฬิกา คนตาบอดก็อยากใส่เหมือนกันนะ ไอ้ Casio หรือยี่ห้อดังๆ แต่มันมีมาให้เราแค่นี้ เราก็พอใจแค่นี้ " อาจารย์กมลวรรณ กล่าวด้วยน้ำเสียงติดตลก ซึ่งอาจารย์บอกว่าอีกไม่นานจะมีการนำเข้านาฬิกาตัวใหม่ที่เป็นรูปทรงแบบพวกกุญแจ แต่มีเสียงภาษาไทยให้ได้ใช้กันด้วย

จุดเริ่มต้นสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย

สำหรับจุดเริ่มของสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทยนั้น อาจารย์กมลวรรณ เล่าว่าเกิดจากกระแสของผู้พิการทางสายตาจำนวนมากที่ได้เสนอเรื่องมายังสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยให้ช่วยจัดสร้างสถานที่ซึ่งจะสามารถเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือเป็นศูนย์กลางของสินค้าสำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อรองรับความต้องการในการซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกของพวกเขา อีกทั้งยังสามารถปันผลกำไรไปยังผู้ร่วมซื้อหุ้นสหกรณ์ฯได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทางสมาคมฯจึงได้อนุมัติและจัดตั้งสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทยขึ้น ในวันที่ 29 สิงหาคม 2544 จัดจำหน่ายสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งของคนพิการทางสายตาและสำหรับผู้มีสายตาเลือนราง ซึ่งช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกแก่พวกเขาในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เนื่องจากทางสหกรณ์ฯสามารถลดภาษีได้ อีกทั้งยังช่วยให้คนพิการทางสายตาในต่างจังหวัดได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้ โดยทางสหกรณ์ฯมีบริการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ และยังมีระบบเงินผ่อนอีกด้วย โดยสมาชิกสหกรณ์ฯที่จะขอผ่อนสินค้านั้นจะต้องมีหุ้นในมูลค่าที่เกินกว่าราคาสินค้าที่จะผ่อน

นอกจากนั้น สหกรณ์ฯยังได้พัฒนาให้เป็นศูนย์จำหน่ายสลากเพื่อให้คนพิการทางสายตานำไปจำหน่ายโดยใช้ระบบจำนวนหุ้นที่มีอยู่กับทางสหกรณ์ฯในการค้ำประกัน ทำให้คนพิการที่มีรายได้น้อยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุน สหกรณ์บริการคนตาบอดฯจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์รวมสินค้าที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการแห่งแรกในประเทศไทย

อาจารย์กมลวรรณ บอกว่า " ในอนาคตอันใกล้ เรามีโครงการขยายสหกรณ์ฯไปยังทั่วทุกภูมิภาค เพื่อตอบสนองความต้องการของคนตาบอดในต่างจังหวัด ซึ่งหากใครสนใจอยากให้เราไปแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกของคนตาบอด เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการใช้งานว่าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เสียงหรือการสัมผัส แต่ยังมีความหลากหลายในด้านต่างๆอีกด้วย เราก็ยินดีที่จะให้ความรู้ตรงนี้"

นี่อาจกล่าวได้ว่า สหกรณ์บริการคนตาบอดเป็นเพียงศูนย์อำนวยความสะดวกเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่คอยรองรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คนในสังคมยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร จากตรงนี้ไปเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้น่าจะมีศูนย์อำนวยความสะดวกให้คนตาบอดและผู้พิการด้านอื่นๆได้มีโอกาสเข้าไปใช้บริการได้มากขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกกลมๆใบนี้ได้อย่างไม่ลำบากเกินไปนัก

/////////////////////////////

เรื่อง - สันติภาพ ชุ่มมี
ภาพ - นุชนารถ กระโจมทอง

นาฬิกาแบบมีเสียง (Talking Watch)
อาจารย์กมลวรรณ อินอร่าม ประธานสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น