xs
xsm
sm
md
lg

การ์ตูนการเมืองในระบอบทักษิณ แกร่งกล้าท้าทายยืนข้างความถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การ์ตูนการเมืองของไทยนั้นเบ่งบานและยืนหยัดมายาวนาน และได้รับการยอมรับถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกสูงสุดประเทศหนึ่งในโลก ไม่จำเพาะแค่ภูมิภาคอาเซียนเพียงอย่างเดียว

5 ปีเต็มที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนำระบอบทักษิณฝังรากลงในสังคมไทย ก่อนที่จะเกิดวิกฤตศรัทธาและวิกฤตการเมือง เนื่องมาจากความไร้จริยธรรมที่มีบ่อเกิดมาจากการผูกขาดเป็นเผด็จการรัฐสภา อันนำมาซึ่งการฉ้อราษฎร์บังหลวงในระดับนโยบายกันอย่างมหาศาล

โฉมหน้าทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งสู่ความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปยากที่จะทำความเข้าใจและเล่ห์กลเหลี่ยมคูทางการเมืองได้เท่านั้น หน้าที่ของการ์ตูนนิสต์ในเมืองไทยจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สืบสานเจตนารมณ์ของการ์ตูนการเมืองได้อย่างเข้มข้นแข็งแกร่ง

มาดูความเป็นไปของการ์ตูนการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ในห้วงเวลาที่ระบอบทักษิณกำลังกลืนกินประเทศไทย และมีการต่อต้านจากเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างมหาศาล

-1- การ์ตูนการเมืองไทยในสายตานักวิชาการสื่อสารมวลชน

หนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ในเมืองไทยหลายสิบฉบับ รวมถึงนิตยสารรายสัปดาห์ และรายเดือนล้วนมีการ์ตูนการเมืองรวมอยู่ในเล่ม ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองคุกรุ่นเท่าไหร่ การ์ตูนการเมืองก็ยิ่งเข้มข้นออกรสชาติตามไปด้วย

รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมอนิเตอร์หรือติดตามการ์ตูนการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยเป็นงานวิจัยส่วนหนึ่งมาตลอดมองว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์ในบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตทางการเมืองและสังคมในระดับที่รุนแรงกว่าปกติ แต่การ์ตูนตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ยังคงบุคลิกที่เข้มแข็งและเข้มข้นดังเดิมอยู่ เป็นพื้นที่ซึ่งใช้ล้อเลียนเสียดสีทางการเมืองโดยตรงและเสรี

"การ์ตูนการเมืองยุคนี้ในช่วงที่เกิดเหตุตึงเครียดทางการเมืองก็ยังมีความเฉียบคมทันเหตุการณ์ สามารถทำให้ผู้อ่านสรุปประเด็นที่คมคายออกมาเป็นระยะๆ ได้ แต่ละฉบับก็มีเทคนิค ลีลาของการเขียนที่มีฝีมือดีและได้มาตรฐานอยู่แล้ว ซึ่งถูกใจคนอ่านในท่ามกลางสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เป็นการ์ตูนช่องเดียวหรือสามช่องเท่าที่จะทำได้ อย่างการขายหุ้นชินฯ คอร์ป หรือความไร้น้ำยาขององค์กรอิสระ"

ในอดีต การ์ตูนการเมืองนั้นมีการวิจารณ์แบบตรงๆ รศ.ดร.อุบลรัตน์วิเคราะห์ว่า คราวนี้ก็มีการแบบวิจารณ์ตรงๆ เหมือนกัน แต่เมื่อมีสถานการณ์ยืดเยื้อ มีการกระทำซ้ำๆ จนทำให้มุขดื้อยา ทางออกของนักเขียนการ์ตูนได้พัฒนาวิธีคิดแก๊กที่หลากหลายมากขึ้น หลากมุมมอง และมีวิธีการใหม่

"การ์ตูนการเมืองสมัยก่อนเสียงดังและกล้าหาญ แต่ในสมัยนี้มีความกว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น มองโดยทั่วๆ ไปจะเห็นว่า ก็มีเสียงดังบ้างเบาบ้าง ที่สำคัญการ์ตูนนิสต์กลับมีความแหลมคม ตีประเด็นได้ดีมาก สามารถดึงประเด็นมาใช้อย่างคมคาย นำมาเป็นไฮไลท์ให้เห็นอารมณ์ร่วมของประชาชน มีสีสันการมีส่วนร่วมของประชาชน"

การ์ตูนนิสต์ไม่ว่าใหม่หรือเก่าล้วนเป็นศิลปินและนักหนังสือพิมพ์ในตัวคนเดียวกัน มีความเข้มแข็งทางความคิด ดำรงตนอย่างอิสระ กล้าหาญ ไม่ย่อท้อ สามารถคุมหัวใจของการ์ตูนการเมืองไว้ได้อย่างเข้มข้น ซึ่งรศ.ดร.อุบลรัตน์กล่าวว่า

"ลักษณะฝีมือ และประเด็นของการ์ตูนการเมืองยุคนี้มีอยู่อย่างครบถ้วนคือ มีสุนทรียภาพจับใจคน มีประเด็นที่ครบถ้วน และอ่านเข้าใจง่าย มีลักษณะฝีมือของการเขียนการ์ตูนที่ยอดเยี่ยม และมีความสม่ำเสมอในการทำงาน"

-2- ไม่มีความเป็นกลางในการ์ตูนการเมือง

การยืนเคียงข้างประชาชน และอยู่คู่กับความถูกต้องชอบธรรมเป็นปณิธานของเหล่าการ์ตูนนิสต์การเมือง หลายคราครั้งทำให้มีคนบางกลุ่มที่กุมอำนาจและสูญเสียผลประโยชน์มองว่า การ์ตูนการเมืองไม่มีความเป็นกลาง

ชัย ราชวัตร หรือ สมชัย กตัญญุตานันท์ การ์ตูนนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฟันธงอย่างแจ่มชัดว่า มันเป็นเรื่องที่เหลวไหลมาก ถ้านักเขียนการ์ตูนจะมาบอกว่า 'ตัวเองเป็นกลาง' ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย เมื่อโจรกำลังปีนรั้วหอบของออกไป ก็ควรจะเห่าให้เจ้าของบ้านตื่น ทำให้รู้ตัว

"เมื่อคุณบอกว่า คุณเป็นกลางจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ซึ่งมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ แล้วประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านการ์ตูนการเมืองของคุณ หน้าที่สำคัญที่สุดของนักเขียนการ์ตูนการเมืองก็คือ ต้องทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน

"ผมไม่เคยเชื่อถือในความเป็นกลาง เพราะตั้งแต่วันแรกที่ผมเขียนการ์ตูนการเมืองชิ้นแรกก็คือ 'ขับไล่ทรราช' ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่จากนั้นผมก็ถือข้างมาตลอด อยู่ที่การชั่งน้ำหนักว่าข้างไหนถูกข้างไหนผิด ข้างไหนเทาอ่อนข้างไหนเทาแก่ ข้างไหนเลวน้อยข้างไหนเลวมาก ถ้าเรามีสองขั้วคือ ขั้วที่เลวมากกับขั้วที่เลวน้อย อย่างไรก็ต้องขับไล่ขั้วที่เลวมากออกไปก่อน ส่วนเลวน้อยค่อยว่ากันอีกที เพราะอาจจะมีคนที่เลวน้อยกว่านั้นอีก"

เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่ ชัย ราชวัตรเขียนการ์ตูนการเมืองมาก็จะมีคนประณามอยู่เรื่อยว่า 'ไม่เป็นกลาง'

"ซึ่งผมก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ผมไม่เป็นกลาง แล้วขอยืนยันว่า ต่อไปก็จะไม่เป็นกลาง อยากบอกว่าการ์ตูนที่ผมเขียน ผมเขียนเพียงแค่ว่าเป็นความเห็นของผมคนเดียว เขียนในฐานะปัจเจกชน เพราะฉะนั้นผมสามารถมีสิทธิคิดเห็นแตกต่างจากคนอ่าน แล้วก็ผมเบื่อที่จะทะเลาะกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผม เพราะว่าผมไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งที่ผมเขียนไปคนอ่านจะต้องเห็นด้วยกันกับผม ผมว่าผัวเมียสองคนอยู่ด้วยกันนอนเตียงเดียวกันก็ยังทะเลาะกันเลย แล้วคนอ่านเป็นล้าน ผมไม่มีปัญญาให้ทุกคนเห็นคล้อยตามผม"

ทางด้านหมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ การ์ตูนนิสต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมองว่า เรื่องเทคไซด์ (การเอียงข้างหรือเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) เขาคิดมานานแล้วว่า การเป็นสื่อมันมีความเป็นกลางจริงหรือเปล่า

"ในฐานะที่เป็นคนทำสื่ออยู่ตรงนี้ จะบอกว่า ความเป็นกลางมันไม่มีในโลก อย่างของต่างประเทศเองมีหลายอย่างที่เขาเลือกข้างเลย อย่างเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็ถามตัวเองว่า เราต้องเป็นกลางไหม ก็สับสนมาก แต่ในที่สุดก็เกิดแสงสว่างขึ้นมา เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาพูดว่า เมื่อเกิดสถานการณ์เราเป็นกลางไม่ได้เราต้องเลือกข้าง แล้วเราก็ต้องรู้ด้วยว่าเราอยู่ข้างไหน ต้องอยู่ข้างที่ถูก คำถามต่อมาก็คือว่า แล้วใครคือข้างที่ถูก ตรงนี้ก็ย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า ในที่สุดแล้วเราจะเลือกข้างไหน"

ณ สถานการณ์แบบนี้ หมอบอกว่า ประชาชนแยกเป็น 2 ฝ่าย สุดท้ายวันนี้ก็รู้แล้วว่า เลือกข้างไหน

"ก็คือเลือกข้างที่มีศีลธรรม เลือกยืนข้างเดียวกับมโนธรรม ซึ่งตรงนี้อาจารย์ประยูร จรรยาวงศ์สอนเอาไว้ตั้งแต่ที่ผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ อาจารย์ประยูรเคยสอนไว้ว่า 'การที่หนูจะมาประกอบอาชีพเขียนการ์ตูนหนูทำได้แล้ว ณ เวลานั้น แต่สิ่งที่หนูจะต้องทำตอนที่หนูเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้วคือ หนูจะต้องมีมโนธรรมในการทำงาน จะต้องไม่รังแกคนไม่มีทางสู้ จะต้องไม่รังแกคนพิการ แล้วก็ต้องคิดดี และสิ่งสำคัญก็คือว่า ถ้าหนูจะเตือนใครจะว่าใคร หนูต้องทำตัวเองเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นได้เสียก่อน หนูถึงจะไปเตือนเขาได้' นี่คือจริยธรรมโดยรวมเลย นักเขียนการ์ตูนหรือใครก็ตาม ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร เป็นนักธุรกิจเป็นนักการเมือง เป็นนักหนังสือพิมพ์ คนกวาดถนนคุณต้องมีจริยธรรมทั้งนั้น และนี่แหละที่อาจารย์ประยูรสอนเอาไว้"

-3- จุดยืนของการ์ตูนนิสต์อันดับหนึ่งของเมืองไทย

หลังจากสิ้นยุคปรมาจารย์การ์ตูนการเมืองไทย ประยูร จรรยาวงษ์ อุดมการณ์และเจตนารมณ์ทางการ์ตูนการเมืองก็ไม่เคยสูญหาย มือวางอันดับหนึ่งที่ขึ้นมารับไม้ก็คือ ชัย ราชวัตร แห่ง 'ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน' บอกว่า สถานการณ์ที่นักเขียนการ์ตูนทำงานยากที่สุดคือ สถานการณ์ที่บ้านเมืองสงบ มีรัฐบาลที่ดีซึ่งคนส่วนมากพอใจ เพราะว่าหน้าที่ของการ์ตูนก็คือ การเขียนล้อเลียน เพราะฉะนั้นในภาษาไทยสมัยก่อนจะใช้คำว่า 'ภาพล้อ' หรือ 'ภาพล้อการเมือง'

"หน้าที่ของการ์ตูนการเมืองก็คือ การล้อเลียนผู้ปกครอง ชนชั้นปกครองที่คอร์รัปชั่น หรือเผด็จการ สถานการณ์บ้านเมืองอย่างนี้มีเรื่องที่ให้เขียนได้เยอะ มีเรื่องให้เขียนได้ทุกวัน การเลือกมาเขียนการ์ตูนการเมืองนั้นค่อนข้างลำบาก แต่ในสถานการณ์อย่างทุกวันนี้กลับไม่ลำบาก เพราะว่าคนเขียนหรือนักเขียนการ์ตูนสามารถแยกแยะได้ว่า ฝ่ายไหนถูกหรือฝ่ายไหนผิด โดยข้อมูลที่มีอยู่ เพราะนักเขียนการ์ตูนการเมือง ก่อนเขียนก็ต้องมีการศึกษาและติดตามว่าเรื่องเป็นอย่างไร เมื่อมีข้อมูลแล้วก็ย่อมที่จะตัดสินใจได้ว่า อะไรถูกอะไรผิด"

การต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างประชาธิปไตย แต่ในความจริงทุกวันนี้ ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ชัย ราชวัตรบอกต่อว่า

"ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเข้ามาบริหารประเทศไม่ได้สิ้นสุดตรงที่นับคะแนนเสียงเสร็จก็จบ แต่ว่ารัฐบาลต้องให้ประชาชนตรวจสอบได้ แต่ทุกวันนี้รัฐบาลชุดนี้ได้ทำลายขบวนการตรวจสอบทุกอย่างหมดลงแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะมาอ้างว่ามาตามกรอบเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นการโกหกมดเท็จ สำหรับการที่ชาวบ้านเชื่อตามเพราะชาวบ้านระดับล่างนั้นไม่ค่อยมีการศึกษา ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ไม่ได้ติดตามข่าวสาร แม้แต่คนในกรุงเทพฯ เองส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือ เสพแต่ความบันเทิง อ่านหนังสือพิมพ์ก็อ่านแต่ข่าวดารา ข่าวหวย

"โดยระบอบทักษิณนั้นทำให้เกิดภาพลวงตา อีกอย่างหนึ่งมีการเอางบประมาณไปแจกจ่ายสารพัดของการเอื้ออาทร เป็นรูปธรรมที่มองเห็นชัด โดยที่รัฐบาลอื่นไม่เคยให้แบบนี้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงรัฐบาลเอาปลาไปง่าย แต่ไม่เคยสอนให้ตกปลา แต่รัฐบาลอื่นพยายามสอนให้ตกปลาแต่ไม่เคยเอาปลาไปให้"

ชัย ราชวัตรมองว่า การ์ตูนการเมืองก็คงไม่ถึงงานที่เป็นอุดมคติ แต่เป็นงานที่ต้องทำด้วยใจรักที่จะติดตามเรื่องการเมือง

"อันดับแรกที่ผมคิดเลยในการเขียนการ์ตูน ต้องใช้ภาษาง่ายๆ คิดว่าตัวเองเป็นคนอ่านในระดับล่าง ประการที่สอง ความซับซ้อนของระบอบทักษิโณมิกส์มันยากที่จะอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ และต้องอธิบายกันค่อนข้างละเอียด เพราะเช่นนั้นผมจึงไม่พยายามที่จะลงลึก หยิบประเด็นที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ เช่นประชาธิปไตยอำพราง ผมจะไม่เขียนเพราะจะต้องอธิบายกันยาวกว่าจะยอมรับ ผมจะเขียนเรื่องง่ายๆ ต่อการเข้าใจ เรื่องขายสมบัติของชาติ เรื่องคอร์รัปชั่น อ่านแล้วอ๋อ!ทันที

เรามีความคิดอย่างนี้ รับไม่ได้กับรัฐบาลและนักการเมืองแบบนี้ ก็ต้องแสดงออกซึ่งก็คือ การ์ตูนของเรา เพราะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเรา หน้าที่ของนักเขียนการ์ตูนการเมืองก็ต้องเป็นแบ็คอัพให้กับฝ่ายที่เราศรัทธา ซึ่งเราเชื่อว่าถูกต้อง

ชัย ราชวัตรบอกว่า ตอนนี้เขียนการ์ตูนสนุก มีเรื่องให้เขียนทุกวัน เหตุการณ์เปลี่ยนแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง

"ช่วงนี้ลำบากใจอย่างเดียวคือ ขยับตัวไปไหนไม่ได้เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในช่วงปกติจะไปเที่ยวต่างจังหวัดสัก 4-5 วันก็จะเขียนทิ้งไว้สัก 4-5 ชิ้น อย่างทุกวันนี้จะไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นวันต่อวันเลย เพราะฉะนั้นการเขียนล่วงหน้าไม่ได้

"สมัยก่อนการเมืองเล่นกันแบบแบไพ่เล่น เห็นกันชัดเลยว่า มีฝ่ายประชาธิปไตยมีฝ่ายเผด็จการทหาร ซึ่งประชาชนสามารถเห็นได้ชัด แต่มาคราวนี้มันยาก ภาพลวงตาเยอะมาก ถ้าไม่ใช่คนที่ติดตามหรือศึกษาอย่างจริงๆ จะแยกไม่ออก โดยเฉพาะคนชั้นล่าง อย่างกลุ่มที่เชียร์ทักษิณผมเชื่อว่าเขาเชียร์จริงๆ มีคนส่วนหนึ่งที่เชื่อจริง เพราะเงินที่หลั่งไหลไปในระบบเอื้ออาทรทั้งหลายมันเห็นจริง รวมถึงนโยบายประชานิยม แล้วชาวบ้านก็นึกว่า ปลาที่ได้มาเป็นปลาที่ทักษิณซื้อเอง ทั้งที่เอาเงินภาษีของชาวบ้านนั่นแหละ"

-4- จุดยืนนักเขียนการ์ตูนรุ่นหลัง

นักเขียนการ์ตูนการเมืองที่เติบโตและเข้าวงการมาในช่วงพฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งถือเป็นการ์ตูนนิสต์รุ่นใหม่ก็ว่าได้ หมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์บอกว่า ช่วงนี้วัตถุดิบในการเขียนการ์ตูนนั้นเยอะมาก แต่เวลาที่ได้มาก็ต้องเอามากรองเพราะหลายชั้นมาก เพราะจากประสบการณ์ที่เขียนการ์ตูนการเมืองมา ไม่เคยเจอเลยว่า เวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นมา ประชาชนทั่วไปจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็น 2 พวก มันไม่เคยเจอ

"เพราะฉะนั้นเวลาเรามีข้อมูลในการเขียนก็ต้องเอามากรองหลายๆ ชั้น ก็ต้องดูว่าเขียนอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการยุให้อีกฝ่ายมารุมอีกฝ่ายหนึ่ง การเขียนการ์ตูนการเมืองเริ่มยากตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งกำลังเต็มที่แล้ว ต้องเอาเรื่องซับซ้อนในระดับเศรษฐกิจมหภาค ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับประเทศอธิบายผ่านการ์ตูนให้ได้ นั้นคือเริ่มยากแล้ว

"แต่ปัจจุบันนี้มันยากกว่าสมัยก่อน เพราะว่าการเมืองมันซับซ้อนมากขึ้น และต้องยอมรับเลยว่า นี่คือการเมืองใหม่ ไม่ใช่การเมืองระบบเดิมซึ่งยังพอเดาได้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น เพราะจะมีกระบวนการมีระบบและมีทีมคิดเดิมๆ อยู่ แต่ปัจจุบันนี้การเมืองไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับทีมหรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เราเห็นมันผูกติดอยู่กับคนไม่มีคน แล้วการตัดสินใจของคนไม่กี่คนมันเปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่เคยยึดหลักอะไรเลย ประมาณว่าวันนี้คิดอย่างนี้ตอบไปอย่างนี้ แต่พรุ่งนี้กลับเปลี่ยนไปทันทีได้เลย"

หมอบอกว่า การเมืองใหม่มันมีความซับซ้อนเรื่องคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ไม่สามารถอธิบายผ่านการ์ตูนได้มากนัก เพราะการ์ตูนหน้าที่หลักเปิดมาตูมปุ๊บคนอ่านดูปุ๊บรู้เรื่อง อาจจะมียิ้มนิดหนึ่งแล้วก็ผ่านไป

"เราไม่สามารถอธิบายเบื้องหน้าเบื้องหลังเบื้องลึกอะไรได้ แต่เราต้องสรุปประเด็นในแต่ละเหตุการณ์ว่า มันเกิดขึ้นอย่างไรแล้วพยายามกรองให้เหมือนกับการเอาน้ำโคลนที่เห็นว่าเขย่ากันจนเป็นโคลนเละเทะเลย มาเทใส่เครื่องกรองยี่ห้อนักเขียนการ์ตูนให้มันหยดติ่งเป็นหนึ่งหยด แล้วต้องรู้เลยว่า น้ำหยดนี้รสชาติเป็นอย่างไร ความยากก็อยู่ตรงที่เอาน้ำโคลนมาทำให้เป็นน้ำใสหยดเดียวจะทำอย่างไร ตอนนี้ความชัดเจนมันน้อยไปนิดหนึ่งว่าเราต่อต้านอะไรสำหรับความคิดของคนทั่วไป แต่สำหรับคนทำงานเขียนการ์ตูนการเมืองเองก็รู้ตัวอยู่ว่าที่ต่อต้านเราต่อต้านอะไรกันอยู่ และจะอธิบายอย่างไรให้คนรู้ว่า ระบอบทักษิณที่กำลังต่อต้านอยู่นี่ จะส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างไรในภายภาคหน้า บางคนอาจจะยังมองไม่เห็นหรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเราผูกติดอยู่กับระบอบนี้ มันมีตัวอย่างให้เห็นก็พยายามเปรียบเทียบตัวอย่างไปว่ามันคืออะไร"

และวันนี้การ์ตูนการเมืองไทยอยู่คนละฝ่ายกับระบอบทักษิณอย่างเต็มที่

**********************

การ์ตูนการเมือง (Political Cartoon)

การ์ตูนการเมือง หรือ การ์ตูนบทบรรณาธิการ ( Editorial Cartoon ) คือภาพวาดลายเส้นพร้อมรายละเอียดเชิงตลกล้อเลียน มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้อเลียน เน้นเรื่องราวมากกว่ารูปแบบของสิ่งที่วาด จุดประสงค์เพื่อความสนุกสนาน ในบางครั้งอาจเป็นการแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง นำเสนอในรูปแบบของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล บางครั้งอาจสอดแทรกถึงวิธีการแก้ปัญหานั้น จะมีคำบรรยายหรือไม่มีก็ได้ ล้อเลียนเชิงขบขันมากกว่าจะมุ่งทำลาย

การ์ตูนนิสต์การเมืองจะต้องสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง และวิเคราะห์ข่าว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนเอง ในรูปของการล้อเลียน การ์ตูนล้อการเมืองได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ในยุคปัจจุบันนี้หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับจะต้องมีหน้าการ์ตูนการเมืองแทรกอยู่ด้วยเสมอ

กำเนิดการ์ตูนล้อการเมือง การ์ตูนนิสต์การเมืองคนแรกคือชาวอังกฤษ ชื่อ เจมส์ กิลล์เรย์ (ค.ศ.1757 - 1815 ) ได้เขียนภาพล้อเลียนพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศอังกฤษ ที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ศีลธรรมของชนชั้นสูง และการทำงานของรัฐบาล ทำให้ประชาชนคลายความเครียดจากภาวะสงครามในขณะนั้น

เส้นทางการ์ตูนการเมืองในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระทัยศิลปะการวาดภาพมาก ทรงโปรดเกล้าพระราชทานคำว่า CARTOON จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า ภาพล้อ ในสมัยนี้การ์ตูนล้อการเมืองเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

การ์ตูนนิสต์การเมืองคนแรกของไทยคือ เปล่ง ไตรปิ่น ซึ่งมีโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาศิลปะการวาดภาพที่ยุโรป ได้นำเทคนิคจากต่างประเทศ วาดภาพการ์ตูนเป็นลายเส้น ได้รับรางวัลการประกวดภาพล้อจาก ร. 6 โดยการเขียนการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองสำคัญๆในยุคนั้น

นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่น ชื่อ ไอ เคียว คาวา ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยสมัยนั้นสนับสนุนให้ นักเขียนการ์ตูน วาดภาพการ์ตูนลงใน หนังสือพิมพ์ยาโมโต สมัยรัชกาลที่ 7 การ์ตูนเริ่มซบเซาเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดปัญหาการขาดแคลนกระดาษพิมพ์

จนกระทั่งยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) วงการการ์ตูนเริ่มฟื้นฟูขึ้นพร้อมกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การ์ตูนนิสต์วาดภาพล้อเลียนจนเกินขอบเขต ทำให้มีกฎหมายของคณะราษฎร์ออกมาควบคุม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประยูร จรรยาวงศ์ วาดภาพการ์ตูนที่มีตัวแสดงชื่อ ศุขเล็ก ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เขียนการ์ตูนขำขันและการ์ตูนล้อการเมือง ได้รับรางวัลจากการประกวดการ์ตูนสันติภาพโลก เมื่อ ปี พ.ศ. 2503 ที่นิวยอร์ค ชื่อภาพ การทดลองระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย ( The Last Nuclear Test ) และได้รับรางวัลแมกไซไซ ที่ ประเทศฟิลิปปินส์

ยุคทองของการ์ตูนล้อการเมือง เริ่มต้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้นใหม่อีกหลายชื่อ ทำให้มีการ์ตูนนิสต์การเมืองที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ชัย ราชวัตร ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ในไทยรัฐ, หมื่น (ชูชาติ หมื่นอินกุล) เดลินิวส์, อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในกรุงเทพธุรกิจ และ The Nation, เซีย ไทยรัฐ, แอ๊ด ไทยโพสต์, บัญชา - คามิน แอนด์ เดอะแก๊งค์ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, พล ข่าวสด, แจ้ ข่าวสด, หมอ กรุงเทพธุรกิจ ฯลฯ

ในอดีตนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองและหนังสือพิมพ์ มักจะถูกดำเนินคดีอาญาหรือถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจในยุคนั้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกสั่งปิดโดยรัฐบาล แต่ปัจจุบันการ์ตูนิสต์การเมืองของไทยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากที่สุดในอาเซียน

* คัดย่อข้อมูลจากฝ่ายวารสารและเอกสาร คณะกรรมการจัดทำเว็บไซต์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา 2546

*****************************************
เรื่อง - พรเทพ เฮง









กำลังโหลดความคิดเห็น