* กำเนิดและความเป็นไปของโขนธรรมศาสตร์
โขนธรรมศาสตร์ ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือ "ท่านอาจารย์หม่อม" โดยมีเจตนารมณ์เพื่อ สอนให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยดูโขนเป็น และร่วมอนุรักษ์โขนให้คงอยู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน
จากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์หม่อม ต้นกำเนิดของโขนธรรมศาสตร์ คือ เมื่อครั้งที่ท่านได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายวิชาอารยธรรมไทยและศาสนาเปรียบเทียบ เมื่อ พ.ศ. 2505 และได้ปรารภเกี่ยวกับการสืบทอดวัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ กับนักศึกษา กอปรกับด้วยพื้นฐานอาจารย์หม่อมมีความชอบส่วนตัวในเรื่องโขนด้วยอยู่แล้ว จึงเกิดความคิดที่จะตั้งคณะโขนและการฝึกหัดโขนขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการรวมตัวเป็นระยะๆ ของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง จนมาเป็นรูปร่างและฝึกหัดอย่างจริงจัง และออกแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509
การแสดงครั้งแรกเป็นการแสดงหน้าพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในชื่อตอนว่า "นาคบาศ" ซึ่งใช้เวลาฝึกซ้อมเพียงแค่ 3 เดือน ในการฝึกหัดโขนและตั้งคณะโขนธรรมศาสตร์นั้น ท่านอาจารย์หม่อมมีวัตถุประสงค์ในการสืบสานและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทยแก่เยาวชน ดังนั้นเมื่อมีความใกล้ชิดกับนักศึกษาธรรมศาสตร์กว่าเยาวชนกลุ่มอื่น จึงได้เริ่มฝึกหัดโขนที่สถาบันแห่งนี้ อาจารย์หม่อมได้ใช้ความเป็นนักวิชาการ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า "เป็นปราชญ์ของไทย" ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้แก่นักศึกษาทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ
"การสร้างคนดูโขน" เป็นการถ่ายทอดที่เข้าถึงแก่นแท้ให้แก่นักศึกษาของท่านอาจารย์หม่อม โดยเป็นการสืบสานไปสู่นักศึกษารุ่นต่อรุ่นอย่างไม่ขาดสาย และอีกอย่างการแสดงโขนมีวิทยาลัยนาฏศิลป์ สังกัดกรม ศิลปากร เป็นหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าสร้างคนดูที่มีความรู้ความเข้าใจนาฏศิลป์ไทยถึงขั้นรู้ดีและวิจารณ์ได้ นั่นคือ นักศึกษาที่แสดงโขนสำเร็จเป็นบัณฑิตไปทำงานต่างๆและมีโอกาสเป็นผู้นำชุมชน ก็จะช่วยถ่ายทอดการแสดงโขนและการดูโขนไปสู่สังคมต่างๆ การอนุรักษ์ย่อมมีความสมบูรณ์ทั้งผู้แสดงและผู้ดูโขน
ดร.สมหมาย จันทร์เรือง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม และโขนธรรมศาสตร์รุ่นที่ 2 ยังคงประทับใจในแนวคิดและยึดมั่นคำสอนจากอาจารย์หม่อม ที่ย้ำเสมอว่า "การเล่นโขนและการซ้อมโขนมันไม่ใช่อาชีพของนักศึกษาหรือนักเรียน แต่อาจารย์หวังว่าการกระทำแบบนี้มันเป็นการปลูกฝังให้คนดูโขนเป็น เพราะถ้าคนดูโขนเป็น โขนก็จะไม่หายจากสังคมไทยไป เพราะลำพังแต่ให้กรมศิลปากรจัดเอง อีกหน่อยคนดูโขนก็จะลดน้อยลงทุกที เพราะว่ากระแสตะวันตกหรือสื่อต่างๆ วัยรุ่นก็อาจจะสนใจโขนน้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ เพราะเหตุนี้เองถ้าเราปลูกฝังให้คนดูโขนเป็นจากการให้คนในมหาวิทยาลัยเล่นโขน เราเป็นปัญญาชนเราเป็นผู้นำความคิดของสังคม เราก็จะเอาโขนไปเผยแพร่ต่อไป ยิ่งเราสร้างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้ดูโขนเป็นเท่าไร โขนก็จะยิ่งไม่หายไปจากสังคมไทย"
ปี พ.ศ. 2510 ถึง 2515 เป็นยุครุ่งเรืองของโขนธรรมศาสตร์ เนื่องจากผู้แสดงมีจำนวนมาก และฝีมือการแสดงก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับประสบการณ์การแสดงที่สั่งสมมานาน ทำให้สามารถแสดงได้ไม่แพ้ศิลปินอาชีพ อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นและมีงานแสดงเกือบทุกภาคการศึกษาทั่วประเทศไทย นอกจากนั้นยังออกไปแสดงที่ฮ่องกงอีกด้วย ซึ่ง ดร.สมหมายก็มีโอกาสเดินทางไปแสดงด้วย ปกติแล้วเขามักจะรับบทเป็นตัว ‘นิลพัท’ หรือหนุมานในบางครั้ง ซึ่งศิษย์เก่าโขนธรรมศาสตร์ยุคนั้นหลายท่านก็ยังกลับมาร่วมฝึกซ้อม และแสดงร่วมรุ่นน้อง
ส่วนการแสดงที่นับว่าโดดเด่นของโขนธรรมศาสตร์ ได้แก่ การแสดงเมื่อ พ.ศ. 2515 ในวาระสถาปนาองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ในครั้งนั้นคณะโขนธรรมศาสตร์แสดงตอน "พิเภกสวามิภักดิ์" ซึ่งการแสดงโขนครั้งนี้มีการปรับปรุงหลายอย่าง ทำให้โขนตอนพิเภกสวามิภักดิ์แตกต่างไปจากโขนที่เคยแสดงกันมา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นโขนที่สมบูรณ์ตามแบบแผน ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็คงความเป็นโขนที่สมบูรณ์แบบอย่างลงตัว
ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สภาพแวดล้อมของบ้านเมืองไม่เอื้อต่อกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้โขนธรรมศาสตร์ต้องยุติการแสดงเป็นเวลายาวนานพอสมควร จนเมื่อ พ.ศ.2538 ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิการบดีสมัยนั้น ดำริฟื้นฟูโขนธรรมศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยระดมความคิดจากโขนรุ่นพี่และนักศึกษาปัจจุบันจึงมีการแสดงโขนธรรมศาสตร์ตอน "ศึกพรหมาสตร์" เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวาระที่ท่านอาจารย์หม่อมมีอายุ 7 รอบ ในวันที่ 20 เมษายน 2538
แต่แล้วในวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ปีเดียวกันนั้นเอง ท่านอาจารย์หม่อมได้แก่อสัญกรรม ทำให้โขนธรรมศาสตร์ต้องยุติกิจกรรมและบทบาทที่มีต่อสังคมมายาวนานอย่างสิ้นเชิง เพราะขาดผู้อุปถัมภ์ หรือ "หัวหน้าคณะโขน"
จนถึง พ.ศ. 2543 โขนธรรมศาสตร์ได้หวนขึ้นเวทีอีกครั้ง ในสมัย รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร เป็นอธิการบดี และการสนับสนุนจากผู้มีอุปการคุณอีกหลายท่าน การแสดงครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ จัดแสดงรวม 3 ตอน "ถวายลิง ชูกล่อง ครองเมือง" โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานการแสดง ยังความปลาบปลื้มแก่ชาวคณะโขนธรรมศาสตร์อย่างหามิได้
นับจากการอสัญกรรมของท่านอาจารย์หม่อมแล้ว โขนธรรมศาสตร์ขาดผู้นำและที่พึ่งคนสำคัญ ทำให้ไม่สามารถรวมโขนธรรมศาสตร์ให้มีการแสดงต่อเนื่องกันได้ มีเพียงบางโอกาส และการรวมตัวเพียงระยะหนึ่งหรือเฉพาะกิจเท่านั้น ได้แก่ วาระอันเป็นมงคลของประเทศ หรือเพื่อรำลึกถึงผู้เริ่มก่อตั้ง คือท่านอาจารย์หม่อม นั่นเอง
บรรดาศิษย์โขนธรรมศาสตร์รุ่นเก่าได้พยายามรวมตัวกันขึ้นใหม่ อีกครั้ง โดยร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน จัดตั้ง "ชุมนุมโขนธรรมศาสตร์" ให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการเปิด ชุมนุมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2544 จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ศิลปะทางโขนของไทยโดยฝีมือของเยาวชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้หวนกลับมาสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง เพื่อร่วมอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะชั้นสูงของชาติ ประกาศความเป็นผู้นำทางด้านนาฏกรรม โดยมีสถาบันไทยคดีศึกษา สาขาวิชาการละคอน โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ และมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 เป็นผู้ดำเนินโครงการ
ปี 2546 โขนธรรมศาสตร์ได้เปิดการแสดงครั้งมโหฬาร ตอนจองถนนและยกรบ มีนักแสดงกิตติมศักดิ์ให้เกียรติร่วมแสดงกันคับคั่ง อาทิ ดร.วิษณุ เครืองาม, พงศ์เทพ เทพกาญจนา,สมชาย วงศ์สวัสดิ์, เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, บัญญัติ บรรทัดฐาน, วีระ มุสิกพงศ์ เป็นต้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสดุดีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา โดยมีผู้แสดงทั้งหมดเกือบ 200 คน นับเป็นโขนโรงใหญ่ที่สุดเท่าที่จัดแสดงมา
อนึ่ง ดร.สมหมายได้สรุปภาพรวมการแสดงครั้งนี้ว่า "โขนธรรมศาสตร์ยังมีไฟที่จะแสดงต่อไป หากมีผู้ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน หรือผู้ที่มีใจรักด้านศิลปวัฒนธรรม เฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย ควรรับไว้เป็นโครงการสำคัญที่มีการกำหนดนโยบายและแผนงานให้ชัดเจน เพื่อให้โขนธรรมศาสตร์คงความเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งส่งผลต่อเอกลักษณ์ของชาติด้วย"
*ข้อมูลส่วนหนึ่ง เรียบเรียงจากบทความของดร.สมหมาย จันทร์เรือง