พร้อมๆ กับสายลมร้อนของต้นเดือนเมษายน งานสัปดาห์หนังสือฯ ก็เวียนมาบรรจบอีกครา กวาดตามองแผงหนังสือยามนี้ นอกเหนือจากวรรณกรรมแปลที่ขายดิบขายดีแล้ว วรรณกรรมไทยที่นับว่าเป็นที่นิยมสม่ำเสมอจากนักอ่านก็คือ ผลงานการประพันธ์ของนักเขียนหญิงในรูปแบบนวนิยายหลากเรื่องหลายรส ที่การันตีด้วยยอดจำหน่ายและจำนวนครั้งที่ตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
หนึ่งในจำนวนนี้ มีผลงานของนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ที่มีฝีมือน่าจับตามองรวมอยู่ด้วย 'ผู้จัดการปริทรรศน์' จะพาไปทำความรู้จักกับดอกไม้ดอกใหม่ที่กำลังเบ่งบานในทุ่งวรรณกรรมไทยขณะนี้
*จาก'อัสวัดฯ' ถึง 'ฤกษ์สังหาร' ของวรรณวรรธน์
1 เดือน คือเวลาที่เธอใช้ในการเขียนนวนิยายเรื่องแรก 'อัสวัด ราชันย์แห่งความมืด'
6 เดือนถัดมา เธอสรรค์สร้างผลงานเรื่องที่สองและสาม อย่าง 'เส้นทรายสีเงา' และ 'ฤกษ์สังหาร' นวนิยายขนาดความยาว 2 เล่มจบ หนากว่า 600 หน้า โดยเฉพาะ 'เส้นทรายสีเงา' นั้น ผู้เขียนบอกว่าคืองานมาสเตอร์พีซของเธอเลยทีเดียว
คงจะไม่แปลกอะไร หากเธอคนนี้เป็นนักเขียนที่ทำงานเต็มเวลา แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง 'วรรณวรรธน์' คือข้าราชการด้านกฎหมายในสังกัดศาลปกครอง และเรื่องที่เธอเขียนก็ไม่ใช่นิยายรักหวานซึ้งธรรมดา แต่อิงข้อมูลจากรัฐธรรมนูญของซาอุดีอาระเบีย และความรู้เรื่องดวงเมือง อีกทั้งตำราโหราศาสตร์ไทย!
จะมีนักเขียนหน้าใหม่สักกี่คน ที่ทำงานได้เร็ว และมีคุณภาพ ผ่านการกลั่นกรองด้วยข้อมูลครบถ้วน ก่อนถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรที่วิจิตรบรรจง เต็มเปี่ยมด้วยอรรถรสจนชื่อของเธอถูกกล่าวขานปากต่อปากในหมู่นักอ่านอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องโฆษณาให้มากมาย นวนิยายของนักเขียนหน้าใหม่คนนี้มียอดขายกว่า 20,000 เล่มภายในระยะเวลาเพียงปีเศษ แม้จะไม่ใช่นิยายรักวัยรุ่นหวานแหวว หรือถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นละครทีวี
ที่มาของนามปากกา 'วรรณวรรธน์' นั้น มาจากชื่อจริงของเธอผสมกัน คือ วรรธนวรรรณ จันทรจนา บิดาของเธอ อ.คงเดช ประพัฒน์ทอง เป็นอาจารย์ทางด้านโบราณคดี ม.ศิลปากร วรรณวรรธน์จึงซึมซับและชอบอ่านเอกสาร หนังสือประวัติศาสตร์มากกว่างานประเภทนวนิยายมาตั้งแต่เด็ก หนึ่งในหนังสือที่เธออ่านซ้ำหลายเที่ยวโดยไม่เบื่อก็คือ 'เกิดวังปารุสก์' ของพระองค์จุลฯ
แม้จะโตมากับหนังสือและบรรยากาศแห่งความรู้ แต่วรรณวรรธน์เล่าว่า เธอกลับไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง มิหนำซ้ำยังต่อต้านระบบการศึกษาในโรงเรียนเสียอีก หลังจบ ม.6 จากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง วรรณวรรธน์จึงเข้าเรียนนิติศาสตร์ ที่ ม.รามคำแหง ก่อนที่จะหันเหจากรั้วมหาวิทยาลัยไปชั่วคราว เมื่อเธอมีโอกาสได้เหินฟ้าไปฝึกอบรมด้านละครเวทีที่ออสเตรเลียและญี่ปุ่นช่วงสั้นๆ วรรณวรรธน์ก็เริ่มต้นทำงานเขียนบทละครเวทีเต็มตัว ก่อนที่จะเสียศูนย์ไปพักใหญ่หลังจากประสบกับผู้ที่เรียกตนเองว่า 'นักวิจารณ์'
หลังคว้าใบปริญญาได้สำเร็จ วรรณวรรธน์เริ่มต้นทำงานที่สำนักงานกฎหมาย และได้บรรจุเข้ารับราชการในปี 2537 พร้อมๆ กับศึกษาต่อปริญญาโทที่จุฬาฯ ไปด้วย นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้สรุปหนังสือประวัติการก่อตั้งศาลปกครอง 'กว่าจะเป็นศาลปกครอง' อีกด้วย
วรรณวรรธน์เล่าถึงที่มาในการลงมือเขียนนิยายเรื่องแรก 'อัสวัด ราชันย์แห่งความมืด' ว่ามาจากข้อมูลที่เคยสะสมไว้ระหว่างช่วงที่เรียนปริญญาโท ใครจะรู้ว่าไฟล์เก่าๆ ไม่กี่หน้า จะกลายมาเป็นนวนิยายความหนากว่า 500 หน้าในเวลาต่อมา จนกระทั่งมีเรื่องราวต่อเนื่องเป็นเล่มที่สอง 'เส้นทรายสีเงา'
"เส้นทรายสีเงาจะทำงานเป็นระบบรีเสิร์ช จะตั้งธีมไว้ก่อนแล้วรีเสิร์ชไปทีละเรื่องๆ เล่มนี้เป็นปมเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย ช่วงที่ค้นข้อมูลเป็นช่วงหลัง 9/11 เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับอาหรับออกมาค่อนข้างมาก เปรียบเทียบกันได้เลยว่าใครโกหก เราก็มานั่งเปรียบเทียบเลย อ่านหนังสือเรื่องของอัลเคด้าซึ่งมันมาก เพราะมันเปิดปมก่อการร้ายสารพัดอย่าง ก็เลยนำเรื่องนั้นมาเป็นพื้นฐานของเส้นทรายสีเงา แล้วก็ต่อยอดไปเอานอร์ม ชอมสกี้ ไปเอาของฟูโกต์มา มันก็เลยได้อะไรเป็นปรัชญาความคิดมาขยายใส่เส้นทรายสีเงา ธีมของมันจริงๆ ก็คือว่า เรื่องอาหรับคุณอย่าไปมองเพียงด้านเดียว เวลารับข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอกอย่ามองเพียงด้านเดียว มันยังมีข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังที่เขาไม่ได้เปิดเผย"
ส่วนนิยายเรื่องที่ 3 'ฤกษ์สังหาร' เรื่องราวของนักการเมืองที่นำดวงเมืองไปเล่น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองมีอำนาจนั้น วรรณวรรธน์บอกที่มาสั้นๆ ว่า ได้ไอเดียจากภาพข่าวการประชุม ครม.สัญจรที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ผนวกกับปม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ที่ผู้เขียนสงสัยว่า หากผู้มีอำนาจสามารถเอาวันเดือนปีเกิดของคนและดวงเมืองไปทำพิธีทางโหราศาสตร์จะเกิดอะไรขึ้น
"ธีมของเรื่องนี้ก็คืออย่าไปเชื่อจนหมกมุ่น ดวงของคุณคุณเก็บไว้เถอะ ดูไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแต่ไม่ได้เชื่อทั้งหมด และการที่เอาดวงไปให้ใครต่อใครเขาดู มันมีแง่ของความอันตรายมันอยู่"
ผลจากการทุ่มเทให้นิยายทั้งสองเรื่องติดต่อกัน และรับผิดชอบงานประจำไปด้วย ทำให้วรรณวรรธน์ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลเลยทีเดียว โดยในการทำงานเขียน วรรณวรรธน์จะยึดหลักการให้ข้อมูล ในผลงานเรื่องล่าสุด 'จันทราอุษาคเนย์' ที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรโบราณ 'เจนละ' ที่มีพระเจ้าจิตรเสนมหาราชปกครอง วรรณวรรธน์ได้แรงบันดาลใจมาจากบิดาผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นผู้ศึกษาจารึกของพระเจ้าจิตรเสนและแนะนำให้นำไปเขียนนิยาย เธอถึงกับลงทุนเดินทางไปทางตอนใต้ของประเทศลาว เพื่อซึมซับบรรยากาศเก็บกลับมาปรุงแต่งให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มีอยู่เดิมมีอรรถรสทางวรรณศิลป์เพิ่มยิ่งขึ้น
"บางจุดที่เราคิดว่าพระเจ้าจิตรเสนอยู่ตรงนี้ เราก็ไปเก็บความประทับใจ เวลาเราจะเขียนเรื่องอะไร ถ้ามันไม่กดทับเข้าไปในใจ มันออกมาจากสมองเป็นตัวหนังสือไม่ได้ ต่อให้อ่านหนังสือร้อยเล่มก็ไม่เท่ากับไปสัมผัสจริง"
เมื่อให้นิยามแนวการเขียนสไตล์วรรณวรรธน์ "เป็นงานที่ให้ข้อมูลเป็นกำไรกับคนอ่าน ความตั้งใจหนึ่งของเราในการทำงานก็คือว่า เป็นงานเขียนที่ให้อะไรกับคนอ่านมากกว่าคำว่าความประทับใจ เวลาเขียนเราแคร์ถึงคนอ่าน เราอยากจะให้หนังสือของเรามีมากกว่านั้น เพราะฉะนั้น เราจะให้ข้อมูลที่ค้นคว้ามาแก่คนอ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง เหล่านี้เป็นความฝันของพี่ที่อยากจะให้หนังสือของพี่อยู่ในบ้านของทุกคน สามารถเก็บไว้ได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่ใช่อ่านแล้วทิ้ง หรือเอาไปให้คนอื่นอ่านต่อ ความตั้งใจของตัวเองเวลาเขียนงานแต่ละชิ้นจะเป็นลักษณะนั้น
"ตัวเองก็เพิ่งเข้ามาเป็นนักเขียนใหม่ ต้องเรียนรู้อีกเยอะ ทั้งวิธีการเขียนและการอยู่ในวงการนี้ เพราะยังอยากทำงานเขียนไปเรื่อยๆ มีความสุข ดีใจทุกครั้งที่มีคนมาบอกว่า ได้อ่านเรื่องของคุณแล้วนะ ไม่ว่าเขาจะอ่านแล้วชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ก็ประทับใจมากกับผู้อ่านทุกคน"
วรรณวรรธน์บอกว่า เวลานี้มีความสุขดีแล้วกับการทำงานประจำควบคู่กับงานเขียน โดยไม่ได้คิดจะออกมาเขียนหนังสือเต็มตัว
"ปัจจุบันนี้งานเขียนนวนิยายมันยังอิงกับระบบนิตยสาร นักเขียนที่จะเกิดใหม่ต้องลงนิตยสาร คนที่มีชื่อเสียงคือคนที่ลงนิตยสารเท่านั้น ซึ่งหากเราออกไปก็ต้องพึ่งตรงนี้ กว่าเราจะไปถึงขั้นนั้นก็ลำบาก แล้วเราไม่รู้จักใครเลยในวงการนี้ ไม่มีเส้นมีสาย เราเดินเข้ามาตัวคนเดียว คือเดินเข้ามาแบบฟลุ้กจนทุกคนมองว่า มันเข้ามาได้ยังไง" วรรณวรรธน์หัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ทิ้งท้ายด้วยประเด็นที่วรรณวรรธน์มองว่าเป็นจุดบอดของนวนิยายไทย
"นิยายที่ลงในนิตยสาร มักจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าต้องขายทำละครทีวี ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นจุดบอดที่ทำให้นิยายไม่โต ทุกวันนี้โปรดักชันของทีวีคือต้นทุนต่ำกำไรงาม แล้วก็ต้องเขียนพล็อตแนวตบจูบ ซึ่งเรามองว่าไม่จำเป็น เราเขียนนิยายเพื่อเป็นนิยาย เราเขียนนิยายเพื่อเป็นหนังสือ เขียนนิยายให้เป็นวรรณกรรมเพื่อคนอ่าน ยิ่งคุณไปเน้นเขียนนิยายเพื่อทำละครทีวีมากเท่าไร คุณกดสุนทรียะประชาชนส่วนใหญ่ให้ต่ำลงเท่านั้น การยกระดับสุนทรียะก็คือคุณต้องทำหนังสือให้สูง แล้วละครก็จะตามมาเอง อย่าไปเขียนนิยายเพื่อไปเน้นเป็นละคร
"สิ่งหนึ่งที่ต้องการก็คือ คนอ่านต้องก้าวขึ้นไป เมื่ออ่านจบปิดเล่ม คุณได้อะไรไปจากหนังสือเล่มนี้ ทุกครั้งที่คุณอ่านหนังสือคุณปิดเล่มแล้วได้อะไรไปจากหนังสือเล่มนั้น นั่นคือความสำเร็จของคนเขียน"
*'เพลิงตะวัน' ไพรัชนิยายของวัสส์ วรา
หากจะเอ่ยถึงนวนิยายที่ใช้ฉากในต่างแดนแนวที่เรียกว่า 'ไพรัชนิยาย' แล้ว นักเขียนหญิงที่โดดเด่นอย่าง ว. ณ ประมวลมารค, โสภาค สุวรรณ นับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแห่งทุ่งอักษรนี้ นักเขียนหญิงรุ่นใหญ่ทั้งสองได้ก้าวข้ามพรมแดนแห่งเรื่องแนวพาฝัน สู่สิ่งที่นักวิจารณ์วรรณกรรมสร้างสรรค์ต้องยอมรับ เพราะเปี่ยมล้นไปด้วย 'ศาสตร์' และ 'ศิลป์' ในการประพันธ์
ล่าสุด 'เพลิงตะวัน' ไพรัชนิยายของวัสส์ วรา นักเขียนหญิงรุ่นใหม่ ในโครงการ New Star 'นักเขียนดาวดวงใหม่' ของสำนักพิมพ์พิมพ์คำ เรื่องราวของปมขัดแย้งทางการเมือง การแย่งชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจอันหอมหวาน ผ่านจินตนาการและการร้อยเรียงอักษรอย่างงดงาม ละเมียดละไม ทว่าแฝงไว้ซึ่งแง่มุมแหลมคมทางความคิด
พรรษพร ชโลธร คือนามจริงของ 'วัสส์ วรา' เจ้าของสำนวนภาษาที่สละสลวยผู้นี้ จบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากรั้วจามจุรี ก่อนเหินฟ้าไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา แต่วันนี้ เธอกำลังขะมักเขม้นกับการสร้างปราสาทอักษรบนหน้ากระดาษ พร้อมกับทำงานออกแบบไปด้วย ผลงานในนามปากกา 'วัสส์ วรา' นั้นมีหลากหลายแนว อาทิ ไพรัชนิยาย, จินตนิยาย, แฟนตาซี ฯลฯ
แต่หากให้เลือกแนะนำผลงานตัวเองเพียงหนึ่งเล่มแล้ว วัสส์ วราอยากให้ลองอ่านหนังสือเรื่อง 'เพลิงตะวัน' เล่มนี้ แม้จะออกตัวว่ายังห่างไกลจากคำว่า 'เพอร์เฟกต์' ก็ตาม ด้วยรู้สึกว่าไพรัชนิยายเล่มล่าสุดนี้คือสิ่งที่เธอต้องการนำเสนอ
"เขารู้ว่ามันยากที่จะรักษาสมดุลแห่งอำนาจไว้ให้ได้โดยไม่แปรเปลี่ยนไปตามกระแส ไม่เหลิงไปตามความร้อนแรงแห่งอำนาจ ไม่เผลอแผดเผาตัวเองไปในเพลิงตะวันนั้นเสียก่อน..." คือตอนหนึ่งจากเรื่องเพลิงตะวัน...ที่หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่างเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้เหลือเกิน
วัสส์ วรา แตกต่างจากนักเขียนบางคนที่จะมีแนวทางเฉพาะเป็นของตนเอง แต่สำหรับเธอชอบที่จะเขียนเรื่องหลายสไตล์ผสมผสานกันหลายแนวมากกว่า ทั้งให้ความบันเทิงและสาระแก่คนอ่านไปพร้อมกัน ต่อข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมนักประพันธ์หญิงไทยในเวลานี้ วัสส์ วรา มองว่า
"ด้วยตลาดที่กว้างขึ้นก็จะมีนิยายหลายแนวมากขึ้น แต่ละคนก็จะมีแนวของตัวเอง มีการกระจายโอกาสในการเขียน เราไม่ต้องยึดติดว่ามีตลาดเป็นคอขวดอยู่ตรงนี้อีกแล้ว เราสามารถเลือกแนวการเขียนที่เหมาะกับตัวเองและไปตามแนวนั้นได้ ไม่จำเป็นว่าเป็นนักเขียนผู้หญิงจะต้องเขียนแนวรัก ไม่ใช่ เรามีสิทธิที่จะค้นหาสิ่งที่เป็นตัวของเราเอง" วัสส์ วราทิ้งท้าย
*ดวงตะวันและอรุณรุ่งของปิ่นลดา
เอ่ยชื่อ จันทรอร พงศ์พันธุ์ผู้ภักดี หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่สำหรับนักท่องเน็ตเว็บเจเจบุ๊คส์ และแฟนนิยายสกุลไทยคงคุ้นตากับนามปากกา 'ปิ่นลดา' ไม่น้อย เพราะแม้นามปากกานี้จะเพิ่งปรากฏในโลกน้ำหมึกได้ไม่นาน แต่ปิ่นลดานั้นมีผลงานนิยายออนไลน์ให้อ่านฟรีบนอินเทอร์เน็ตมาหลายปีแล้ว
และเธอยังเป็นนักเขียนหญิงหน้าใหม่คนสุดท้าย ที่บรรณาธิการอาวุโสแห่งสกุลไทยผู้ล่วงลับ สุภัทร สวัสดิรักษ์ ได้ให้คำแนะนำและผ่านการพิจารณาคัดเลือกเรื่องของเธอลงตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทยอีกด้วย
ปิ่นลดา เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด จบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอดีตข้าราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำงานวิจัยในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกของ Tokyo Institute of Technology ในช่วงระหว่างเดินทางมาเปิดตัวนิยายเรื่องใหม่ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติคราวนี้ เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ
เส้นทางน้ำหมึกของปิ่นลดานั้น ไม่ต่างจากนักเขียนจำนวนมากที่เกิดในครอบครัวรักการอ่าน หลังจากอ่านหนังสือทุกเล่มจนหมดบ้านแล้ว ปิ่นลดาก็กลายเป็นหนอนหนังสือประจำห้องสมุดโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม นวนิยายที่ประทับใจในตอนนั้น อาทิ 'สี่แผ่นดิน', 'คำอธิษฐานของดวงดาว' และนวนิยายที่เกี่ยวกับทะเลทรายของโสภาค สุวรรณ ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือที่ส่งอิทธิพลต่องานเขียนเล่มปัจจุบันของปิ่นลดา คือ 'อรุณรุ่งที่มัสยิปานา'
และนั่นจุดประกายให้ปิ่นลดาเริ่มต้นอยากเป็นนักเขียนนิยาย ท่ามกลางเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากครอบครัว นักอยากเขียนอย่างเธอในเวลานั้นจึงได้แต่เขียนนิยายให้เพื่อนอ่าน จนกระทั่งเมื่อเรียนปริญญาโท เริ่มมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา ปิ่นลดาจึงขยับไปโพสต์นิยายที่เขียนเก็บไว้ลงเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ชื่อ 'ปิ่นลดา' เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านนักเขียนไซเบอร์
ปิ่นลดาอาจจะเขียนนิยายออนไลน์ไปเรื่อยๆ ถ้าหากไม่ได้รับคำแนะนำและแรงสนับสนุนจากนักเขียนรุ่นพี่ที่เธอเคารพอย่าง กิ่งฉัตร และปิยะพร ศักดิ์เกษม ให้ลองส่งงานเขียนให้นิตยสารพิจารณาดู และเมื่อต้นฉบับ 'ธาราพระจันทร์' ถึงมือ บก.สุภัทร สวัสดิรักษ์ แห่งนิตยสารสกุลไทย ซึ่งเป็นเวทีแจ้งเกิดให้นักเขียนหลายคน บก.สุภัทรก็ได้แนะนำให้เธอเปลี่ยนชื่อเป็น 'ธาราตะวัน' แทน เนื่องจากในตอนนั้นสกุลไทยมีนิยายชื่อเกี่ยวกับพระจันทร์อยู่หลายเรื่อง อีกทั้งคำว่า 'ตะวัน' ก็สื่อถึงประเทศญี่ปุ่นที่เป็นฉากของนิยายมากกว่า
"ตอนนั้นได้ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และอยากจะเขียนถึงประเทศญี่ปุ่นในแง่มุมที่ยังไม่มีใครเขียนถึง ก็เลยเขียนเรื่องธาราพระจันทร์ขึ้นมา มีคนแนะนำว่าควรจะเขียนให้สั้นหน่อย เพราะปกติแล้วนักเขียนหน้าใหม่ส่งนิตยสารต้องพิจารณากันนานมาก แต่ถ้าเป็นนวนิยายขนาดสั้น จะพอมีช่วงเวลาที่พอจะลงได้ แต่อย่างนั้นก็ใช้เวลาอยู่เป็นปีๆ เหมือนกันกว่าจะเขียนจบ" ปิ่นลดาเล่าย้อนถึงนวนิยายเรื่องแรกของเธอให้ฟัง แต่ทว่าในตอนที่ได้รู้ว่าเรื่องผ่านการพิจารณา ปิ่นลดาก็กำลังเตรียมตัวเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นพอดี ทำให้งานเขียนของเธอต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง
"ช่วงนั้นก็ห่างหายจากอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ไปเลย แต่ก็ยังรักและคิดถึงงานเขียนอยู่เป็นประจำ" หลังจากธาราตะวันลงจบในสกุลไทยชั่วระยะหนึ่ง ก็เป็นช่วงที่ บก.สุภัทร สวัสดิรักษ์ เสียชีวิต แต่ปิ่นลดาก็ไม่ทราบข่าวเพราะอยู่ห่างไกล เจ้าของบทประพันธ์ธาราตะวันกล่าวว่า แม้จะไม่เคยมีโอกาสพบเจอตัวจริงของ บก.อาวุโส ผู้เป็นปูชนียบุคคลแห่งวงวรรณกรรมไทย แต่เธอก็ได้รับคำแนะนำที่มีค่าและที่สำคัญคือ 'โอกาส' จาก บก.ที่เธอเรียกว่า 'คุณป้าสุภัทร' จนกระทั่งมีวันนี้ได้
"ตอนที่รู้ครั้งแรกว่าเรื่องผ่านการพิจารณา รู้สึกปลื้มจนพูดไม่ออกเลยค่ะ ไม่ได้กระโดดโลดเต้นก็จริง แต่ใจโลดไปแล้ว สกุลไทยเป็นนิตยสารที่เราติดตามอ่านมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าสุดยอดมาก ไม่น่าเชื่อเลยชีวิตนี้ สำหรับตัวเองแล้วคิดว่าต่อจากนี้ เวลาจะทำงานเขียนอะไรต้องตั้งใจให้ดีๆ ให้สมกับที่คุณป้าอุตส่าห์มองเห็นว่าเรายังพอมีแววที่จะไปได้ เพราะไม่ว่าจะเขียนยังไงก็ยังรู้สึกว่าเราไม่ดี ไม่เต็มที่อยู่เสมอ ทุกครั้งที่เปิดหนังสือของตัวเองจะมีความรู้สึกว่าตรงนี้น่าจะแก้ แต่ว่าพอได้รับพิจารณาจากสกุลไทย ตอนนั้นรู้สึกเลยว่าไม่ได้แล้ว เราไม่ได้ทำอะไรเล่นๆ อีกแล้ว การเขียนไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ต่อไปนี้ถ้าเราจะทำงานเราต้องตั้งใจทำ"
จากนั้นผลงานธาราตะวันของปิ่นลดาก็ได้รวมเล่มกับสำนักพิมพ์เพื่อนดี ก่อนที่ผลงานเรื่องที่สอง 'อรุณรุ่งที่มัสยิปานา' จะมารวมเล่มในโครงการ New Star ของสำนักพิมพ์พิมพ์คำ
"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขียนแล้วก็เลิกเขียน ไปหลายช่วงระยะเวลามากๆ จนพอมาถึงช่วงที่เข้าเรียนปริญญาเอก ทุกอย่างลงตัวเรียบร้อยแล้ว ก็รู้สึกรับผิดชอบว่าเราควรจะต้องเขียนให้เสร็จ ก็เลยเอาไปลงในเว็บเจเจบุ๊คส์อีกครั้ง พอลงไปได้สักพักหนึ่ง บก.โป่ง (ประดับเกียรติ ตุมประธาน บก.พิมพ์คำ) ก็ติดต่อมาว่าปิ่นสนใจจะพิมพ์ไหม จริงๆ แล้วอรุณรุ่งฯ ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าต้องรวมเล่ม แต่ตั้งใจด้วยความรับผิดชอบของเรา ยังไงต้องทำให้เรื่องนี้จบให้ได้ ไม่ใช่กลายเป็นนวนิยายที่ดองเค็มดองเปรี้ยวจนหมดอายุไปแล้ว" ในที่สุดนวนิยายเล่มที่สองของนามปากกาปิ่นลดาก็เสร็จสมบูรณ์ ส่วนอรรถรสจะเป็นอย่างไรนั้นต้องให้นักอ่านพิสูจน์เอง
"เล่มแรกเป็นประสบการณ์จากการท่องเที่ยวญี่ปุ่นของตัวเอง แต่นวนิยายเล่มที่สอง ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเอาความรู้ที่ตกผลึกของตัวเองมาเขียนในเรื่องด้วย เรื่องในช่วงหลังจึงออกไปทางแนวการเมือง โดยเอามาโยงกับความรู้ที่เรามีอยู่เพื่อให้เรื่องมันสมจริงมากขึ้น ช่วงแรกก็อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องรักผจญภัยในทะเลทราย แต่พอเราเขียนไปเรื่อยๆ ตัวตนของนักเขียนก็ปรากฏอยู่ในงาน คิดว่าตรงนั้นก็คงมีอิทธิพลกับเรื่องค่อนข้างมาก ตัวเองเป็นคนสนใจทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ และเคยทำงานทางด้านนี้มาก่อน จึงอยากจะนำเสนอมุมมอง แง่มุมต่างๆ ที่ต่างกันออกไป"
ในวันนี้ ปิ่นลดาบอกว่า เธอยังไม่นับตัวเองเป็นนักเขียนอาชีพ
"คอนเซ็ปต์ของตัวเอง นักเขียนอาชีพคือคนที่หาเลี้ยงชีพได้ด้วยวิชาชีพนักเขียน ดังนั้น การเขียนโดยที่เรายังทำงานหลักอย่างอื่น ไม่ใช่นักเขียน สำหรับตัวเองแล้วเป็นคนที่อยากเขียนและใช้เวลาว่างในการทำงานเขียนหนังสือมากกว่า" ปิ่นลดาทิ้งท้าย
******************************
เรื่อง - รัชตวดี จิตดี