ควันไฟคละคลุ้งลอยไปในอากาศ ผสมกับเปลวไฟแรงกล้าพวยพุ่งออกมาจากเบ้า ภาชนะทรงกลมภายในบรรจุด้วยแผ่นทองแดงที่ค่อยๆ หลอมละลาย เมื่อได้รับความร้อน พอไฟเริ่มอ่อนแรงลงจะมีคนคอยเติมถ่านเชื้อเพลิงลงไปในกองไฟเสมอ ข้างๆ กันยังมีกองอิฐตั้งเรียงตัวสูงหลายชั้นทำเป็นเตาเผาหุ่นดินพระพุทธรูป
เวลาผ่านไปสักพัก ชายหนุ่มรูปร่างกำยำ 2 คน จึงนำหุ่นดินพระพุทธรูปออกจากหลุม พร้อมกับยกไปตั้งไว้ในหลุมอีกหลุมหนึ่ง ซึ่งชายชราเพิ่งจะขุดและพรมน้ำลงไปบนดินจนชุ่ม หุ่นดินพระพุทธรูปที่ถูกเผาจนแห้งอยู่ในลักษณะฐานชี้ไปบนท้องฟ้า ชายหนุ่มช่วยกันยกเบ้าบรรจุทองแดงหลอมละลายออกมาเทลงไปในช่องเล็กๆ ของฐานพระ กระทั่งครบทุกช่อง จากนั้นจึงปล่อยหุ่นดินพระพุทธรูปวางตั้งไว้เป็นเวลาเกือบวัน เพื่อให้ทองแดงแข็งตัว ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนในการเททองหล่อพระพุทธรูปของครอบครัว 'ช่างหล่อพระ' ซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นต่อรุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชียงใหม่ยังเป็นอาณาจักรล้านนามีเจ้านครปกครอง
ตามประวัติความเป็นมา บ้านช่างหล่อเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านประติมากรรมปั้นหล่อพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน นับตั้งแต่สมัยพญามังรายเริ่มสร้างบ้านแปลงเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 ซึ่งในตำนานกล่าวว่าพญามังรายได้นำช่างฝีมือมาจากเมืองหงสาวดีและมอญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2101 พม่าได้ยึดครองเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับกวาดต้อนช่างฝีมือกลับไปยังพม่าด้วยในฐานะเชลยศึก กระทั่งในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครล้านนาทำสงครามกับพม่า และได้รวบรวมช่างฝีมือต่างๆมาจากลุ่มแม่น้ำสาละวินฝั่งตะวันตก เรียกว่ายุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง
โดยในยุคนั้น บรรดาช่างฝีมือเหล่านี้ได้รับหน้าที่ช่างหลวง มีการตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นชุมชนต่างๆ เช่น ช่างหล่อ, ช่างเปี๊ยะ, ช่างเงิน ฯลฯ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันโดยรอบแนวกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ตามคติทักษาเมือง บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของประตูแสนปรุงและประตูหายยา ถือเป็นตำแหน่งกาลกิณีเมือง เดิมประตูแสนปรุง เป็นประตูใช้สำหรับนำศพออกไปยังสุสานหายยา ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อของประตูสวนปรุง
ปัจจุบันที่ตั้งของชุมชนช่างหล่ออยู่ระหว่างประตูเชียงใหม่และประตูสวนปรุง สำหรับชุมชนช่างฝีมือที่อพยพมาแต่ครั้งนั้น บางชุมชนเหลือไว้เพียงชื่อ บางชุมชนยังคงสืบทอดงานช่าง แต่ก็เหลือน้อยเต็มที
สำหรับชุมชนช่างหล่อได้เปลี่ยนสภาพจากหลายหลังคาเรือนทำการหล่อพระกลายเป็นตึกรามอาคารสมัยใหม่ ประกอบอาชีพแตกต่างกันไป ช่างฝีมือบางคนได้ย้ายออกไปอยู่ตามชานเมือง คงเหลือช่างไม่กี่ครัวเรือน
1.
หนึ่งครัวเรือนนั้นก็คือครอบครัว ลุงอินสอน แก้วดวงแสง สืบทอดการหล่อพระจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่า สำหรับลุงอินสอนนั้นได้สืบทอดการหล่อพระมาตั้งแต่อายุ 24 ปี ปัจจุบันอยู่ในวัย 72 ปี
ลุงย้อนหลังครั้งยังเป็นเด็กให้ฟังว่า "ตอนลุงยังเป็นเด็ก ละแวกนี้เต็มไปด้วยชุมชนช่างต่างๆ ช่างเขิน ช่างเงิน แล้วแถวบ้านลุงเป็นแนวยาวไปแน่นไปด้วยการหล่อพระ จึงกลายเป็นชื่อที่มาว่าบ้านช่างหล่อ สมัยก่อนไม่มีรั้วบ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านพี่บ้านน้องกัน บ้านลุงหล่อพระกันมาหลายสมัย ตั้งแต่รุ่นพ่อของพ่อ พอถึงสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ คนกรุงเทพฯเข้ามากว้านซื้อที่ดินแถวนี้กันมาก คนแถวนี้ขายที่แล้วก็อพยพย้ายไปอยู่ที่อื่น"
ลุงอินสอนใช้น้ำขี้วัวทาทับไปที่หุ่นดินองค์พระพุทธรูป พร้อมกับเล่าต่อถึงการหล่อพระสมัยก่อนว่าทองคำหาง่ายและราคาไม่แพงจึงนิยมนำมาหล่อพระกันมาก "สมัยก่อนทองคำราคาถูก ทองบาทละ 300-400 บาท วัดไหนต้องการพระก็หล่อแล้วนำไปถวาย เดี๋ยวนี้ทองบาทละหมื่น นำมาหล่อพระไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาใช้ทองแดงจากหม้อน้ำรถยนต์แทน แต่ว่าหลายปีที่ผ่านมาทองแดงมีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าสมัยโบราณ เมื่อก่อน ทองแดงราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท เดี๋ยวนี้ขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 100-200 บาท"
ในสมัยก่อนนิยมหล่อพระเพื่อถวายวัด เดี๋ยวนี้ลุงมองว่าความนิยมแบบเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว
"แต่ก่อนหล่อแล้วนำไปทาน เดี๋ยวนี้พระพุทธรูปคล้ายๆเป็นสินค้าไปแล้ว" ลุงเอ่ยว่าการหล่อพระช่วยให้จิตใจเบิกบานและยังเป็นการเสริมบุญกุศลให้กับคนทำอีกด้วย "การทำบาตร หล่อพระ เครื่องใช้คล้ายกับการบวชพระได้บุญกุศลมาก เอาไว้ที่สูงให้ผู้คนบูชา หล่อพระแล้วมีความสุขดี จิตใจเบิกบาน นั่งทำสบายๆ ถ้าทำได้ก็ทำไปเรื่อยๆ ถ้าทำไม่ได้ก็พัก จะให้อยู่เฉยๆไม่ได้ ไม่ชอบ"
2.
บริเวณบ้านของลุงอินสอนเต็มไปด้วยหุ่นดินพระพุทธรูป ทั้งที่เพิ่งขึ้นฐาน ทั้งที่ขึ้นตัวองค์พระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงนำไปเททอง หลายองค์ที่ผ่านการเททอง ถูกนำมาเจียระไนกลายเป็นพระพุทธรูปสมบูรณ์แบบ พร้อมสำหรับการนำไปบูชา
ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การหล่อพระพุทธรูปสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะแบบพิมพ์พระพุทธรูปต่างๆ ช่วยผ่อนแรงของช่างและช่วยให้ทำการหล่อพระได้ในปริมาณครั้งละจำนวนมาก แต่สำหรับบ้านช่างหล่อที่นี่แล้ว กว่าจะได้พระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นล้วนต้องใช้ฝีมือในการปั้น
ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง ลูกชายวัย 49 ปี ผู้สืบทอดการหล่อพระจากลุงอินสอนมานานถึง 20 ปีอธิบายว่า
"เดี๋ยวนี้นำแม่พิมพ์มาใช้สำหรับการหล่อพระองค์เล็กๆ ประโยชน์ของพิมพ์ใช้ได้นาน และทำได้ครั้งละหลายร้อยชิ้น อย่างลูกค้าสั่งเป็นร้อยองค์ เราจะมาปั้นก็ไม่ได้ จึงต้องใช้พิมพ์มาช่วย แต่ก่อนจะทำพิมพ์ก็ต้องให้ลูกค้ามาดูก่อนว่าพอใจหรือไม่แต่ถ้าเป็นองค์ใหญ่ๆแล้ว ที่นี่ยังคงเน้นงานฝีมือในการปั้น"
นอกจากความประณีตในการปั้นแล้ว ยังต้องใช้ความอดทนในการพอกวัสดุต่างๆซึ่งต้องพอกหลายๆ ชั้น เพื่อป้องกันความร้อนจากการหล่อและเผาหุ่นดินพระพุทธรูป
" การเผาหุ่นพระพุทธรูปใช้ความร้อนสูง เช่นเดียวกับการเททอง ดังนั้นจึงต้องพอกวัตถุดิบต่างๆลงไปที่หุ่นองค์พระหลายๆชั้น เพื่อให้หุ่นพระมีความคงทนต่อความร้อน ขณะเผาองค์พระอาจจะแตกเสียหายไม่มาก เริ่มจากอันดับแรกเตรียมดินเหนียว แกลบดำ แกลบเหลือง นำมาผสมกัน
"จากนั้นทำเป็นรูปทรง เริ่มจากขึ้นฐานเป็นชั้นๆ แล้วก็ปั้นขึ้นไปเป็นองค์พระพุทธรูป ทั้งนี้ส่วนฐานจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดองค์พระ พอกดินดำ ดินดำมีส่วนผสมของแกลบและดินเหนียว พอแห้งพอกดินแกลบเหลืองทับลงไปอีกครั้ง อย่างน้อย 2 ชั้น เพื่อว่าหุ่นดินองค์พระพุทธรูปเวลาถูกความร้อนจะได้ไม่แตกง่าย"
ชัยรัตน์ เล่าต่อโดยในแววตามีประกายสดใสว่า แล้วก็ใช้ขี้ผึ้งแปะลงไปที่องค์พระ ขี้ผึ้งที่ซื้อมามีน้ำหนักไม่เท่ากัน ก่อนใช้จึงต้องนำมาชั่งเพื่อให้ได้ขนาดกับองค์พระ เช่น พระ 9 นิ้ว ใช้ขี้ผึ้งประมาณ 5 ขีดหรือครึ่งกิโลกรัม
"นำขี้ผึ้งไปตั้งไฟร้อนๆ ให้หลอมละลาย ติดที่ตัวหุ่นดินองค์พระ พร้อมกับตกแต่งให้ได้ตามลักษณะขององค์พระที่ต้องการ ขี้ผึ้งต้องมีสัดส่วนเท่ากับทองแดงที่จะเทลงไป หนาขนาดไหน ก็ต้องเททองลงไปในปริมาณความหนาที่เท่ากัน เพราะหากขี้ผึ้งบางไป เวลาเททองลงไปในปริมาณมาก อาจจะทำให้องค์พระเสียหายได้ หลังจากขัดเกลาเรียบร้อยจึงใช้ดินนวลผสมน้ำขี้วัวทาทับลงไป พอดินแห้งก็ทาทับลงไปอีกอย่างน้อย 3-4 ครั้ง เพื่อให้เนื้อดินมีความคงทนต่อความร้อนของเตาเผา
"ผ่านขั้นตอนการพอกจึงทำปากจอกหรือช่องใต้ฐานองค์พระจำนวน 4-5 ช่อง สำหรับเป็นช่องทางเททองลงไป เหตุที่ต้องทำปากจอกปริมาณมาก เพื่อถ่ายเทอากาศที่อยู่ข้างใน ถ้ามีปากจอกเพียง 2 ช่องอาจจะทำให้อากาศดันออกมาไม่มาก เวลาเททองลงไปอาจจะตันได้ แต่ถ้าทำหลายช่องอากาศจะออกมามาก ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญในการเททอง ถ้ามีช่องระบายอากาศเยอะ เวลาเททองลงไปก็จะช่วยดันอากาศออกมา" ชัยรัตน์อธิบาย
ส่วนขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการเททอง และเจียระไน
"นำหุ่นองค์พระไปเผาใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง โดยดูจากเปลวไฟที่พวยพุ่งออกมาจากช่องที่ทำไว้ว่ามีอากาศออกมาหมดแล้วหรือยัง จากนั้นจึงนำทองที่หลอมละลายแล้ว เทลงไป ยังไงอากาศก็ออกไม่หมด เวลาเททองลงไปจะมีฟองออกมา ตัวทองจะทำหน้าที่ไล่อากาศออกมาเอง เวลาเราเผาขี้ผึ้งจะหลอมละลาย กลายเป็นช่องว่างระหว่างขี้ผึ้งและแกนดินที่นำมาพอกไว้ ทองจะไหลเข้าไปแทนที่ช่องขี้ผึ้ง เมื่อหุ่นองค์พระเย็นแล้ว จึงนำมากระเทาะวัตถุดิบที่พอกอยู่ จากนั้นขัดแต่งให้เกลี้ยงเกลา"
องค์พระที่ได้มีสีเนื้อสัมฤทธิ์ ซึ่งชัยรัตน์เล่าว่าเป็นสีที่คนเล่นพระเก่านิยม ปัจจุบันมีคนสนใจพระเครื่องเก่าๆ จำนวนมาก ดังนั้นองค์พระพุทธรูปที่หล่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงยังต้องนำไปทำให้ดูเป็นของเก่ายิ่งขึ้น
"ส่วนมากคนนิยมของเก่า นิยมสีเนื้อสัมฤทธิ์ มันจึงมีคุณค่า ดูดินที่ใช้ทำแกนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงมาดูองค์พระว่าเข้ากับพุทธลักษณะที่ต้องการหรือไม่ แล้วก็เน้นฝีมือการปั้น แต่ก็มีคนชอบพระเก่าสีอื่นๆ การทำองค์พระให้กลายเป็นของเก่าทำได้หลายวิธี ทั้งใช้สารเคมี ถ้าต้องการให้องค์พระมีสีเขียวจะใช้แอมโมเนีย กรดดำ กรดแดงผสมน้ำทาที่องค์พระซึ่งขัดแต่งเรียบร้อยแล้ว กรดแดงทำให้องค์พระมีสีแดง กรดดำทำให้องค์พระมีสีดำ ทำได้หลายอย่าง แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า ทำองค์พระให้เป็นสีเขียวดำ ดำแดง ผิวเก่า ผิวมัน นอกจากนี้บางทีก็จะทำองค์พระให้มีสีเขียว อาจจะใช้ปุ๋ยราดลงไปเลย จากนั้นนำไปฝังดินทิ้งไว้เป็นปีๆ"
เสร็จสิ้นกระบวนการหล่อเรียบร้อย พระพุทธรูปจะถูกนำไปประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การบูชา
"สวดพุทธมนต์ และเบิกเนตร โดยใช้ขี้ผึ้งเนื้อดีปิดดวงตาของพระพุทธรูป ขณะสวดพุทธมนต์"
3.
ณ วันนี้ ลุงอินสอนเกรงว่าภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานาน พอถึงรุ่นหลานจะไม่มีใครรับช่วงต่อ กระทั่งครัวช่างหล่อหลังสุดท้ายแห่งนี้พระอาจจะสูญหายไป
"สงสัยจะสูญ ถ้าหมดรุ่นลูก เสียดายเดี๋ยวนี้ลูกหลานไม่ค่อยรับช่วงต่อ เสียดายภูมิปัญญา เหมือนกัน อย่างชุมชนขันเงิน บ้านวัวลาย เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะว่าเด็กเรียนมา โตขึ้นก็ไปทำงานอย่างอื่นหมด ไม่ทำงานแบบนี้ มันหนัก ไม่เหมือนงานแบบอื่นที่สบายกว่า"
ชัยรัตน์เสริมว่าคนที่จะมาหล่อพระได้ต้องเป็นคนที่มีใจรักและมีความอดทน
"งานนี้เป็นงานที่หนักพอสมควร เช่น การยกทองนำไปเท และต้องใช้สมาธิในการแต่ง การเจียระไน จึงต้องเป็นคนที่มีความอดทนและใจชอบ
"ถ้าหมดรุ่นพี่ไม่รู้รุ่นลูกจะสืบทอดต่อหรือเปล่า เพราะระยะเวลายังอีกไกล แต่ส่วนของผมก็คงจะสืบทอดการหล่อพระต่อไปเรื่อยๆ" ชายหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
********************
เรื่อง/ภาพ - ศิริญญา มงคลวัจน์