เสียงปรบมือต่อเนื่องยาวนานนับ 10 นาที ภายหลังจากการขึ้นปราศรัยในประเด็น 'รัฐบาลพระราชทาน' ดังกึกก้องสะท้อนแทนความรู้สึกของผู้ฟังนับแสนบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ที่มีต่อคมความคิดของผู้ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยนาม...ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องผ่านอะไรมามากมาย จากอดีตเด็กที่เคยเรียนแย่จนเกือบสอบตก พลาดหวังการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมชื่อดังจนต้องเรียนโรงเรียนวัด กลับกลายมาเป็นคนที่สอบได้ที่หนึ่งของประเทศ เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ฯลฯ จนกระทั่งต่อมาเขาเป็นอะไรอีกหลายอย่าง ทั้งอาจารย์ ที่ปรึกษา นักวิจัย เป็นผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจอนาคตไกล เป็นหนึ่งในผู้สมัครลงรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันสหสวรรษที่ทำงานเคลื่อนไหวในภาคประชาชนขณะนี้
ถ้าหากเชื่อว่ามีใครสักคนเบื้องบนขีดทางชีวิตไว้ให้เราเดินแล้ว หนทางของดร.วุฒิพงษ์นั้นคงไม่ใช่เส้นทางราบเรียบไร้ขวากหนาม เพราะมันหักเห ผันแปรไปตามทั้งโชคชะตา และหนทางที่เขาเลือกเดินด้วยตนเอง
เป็นชีวิต...ที่เขาเปรียบว่าเหมือนกับ 'เส้นกราฟ'
* เริ่มต้นจากศูนย์
ในก้าวย่างสู่ปีที่ 54 ของชีวิต ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ดูเป็นหนึ่งในบุคคลที่น่าจะประสบความสำเร็จผู้หนึ่ง...พร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับนับถือตามมาตรฐานสังคมแห่งความรู้ความสามารถ
แต่หากจะวัดด้วยเกียรติยศอย่างอำนาจและทรัพย์สินเงินทองแล้ว เขาก็เป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่ง ที่กล้าออกมาประกาศจุดยืนเลือกข้างทางการเมืองอย่างไม่เกรงกลัวผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะก้าวมาถึงจุดนี้บนเส้นกราฟชีวิตได้ จุดเริ่มต้นของดร.วุฒิพงษ์มิได้มีพร้อมยิ่งไปกว่าคนอื่นๆ หากแต่เขาเริ่มต้นนับหนึ่งด้วยความอดทน โดยมีพื้นฐานชีวิตอย่างครอบครัวเป็นแรงใจให้มุ่งมั่นจนมีวันนี้
ดร.วุฒิพงษ์เกิดในครอบครัวที่ทำอาชีพค้าขายในละแวกบางลำพู ด้วยความที่มีพี่น้องมากถึง 14 คน และเขาเป็นคนที่ 12 อีกทั้งการที่ครอบครัวมิได้เลี้ยงดูอย่างเข้มงวดนัก แต่สอนให้ลูกๆ แต่ละคนรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง พี่ๆ คอยช่วยดูแลน้อง ในฐานะน้องเล็กเขาจึงไม่รู้สึกว่าต้องพยายามเรื่องการเรียนเท่าใดนัก แค่พอให้ผ่านไปไม่สอบตกก็พอแล้ว ชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงมีของเล่นตามธรรมชาติ และเลี้ยงนกพิราบแข่งเป็นเพื่อน
จุดหักเหแรกในชีวิตของดร.วุฒิพงษ์ คือเมื่อหลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนคอนเซ็ปชัญคอนแวนต์ เขาพลาดหวังจากการสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เด็กชายวัย 13 ปีในวันนั้นรู้สึกราวกับว่าโลกทั้งใบของเขาถล่มก็ไม่ปาน เมื่อเขาต้องแบกความผิดหวังนั้นกลับไปบอกครอบครัว ซึ่งพี่สาวพี่ชายเขาล้วนสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังได้ทุกคน
ทว่าเมื่อกลับมาถึงบ้านเย็นนั้น พ่อแม่กลับไม่ได้ว่ากล่าวอะไรที่ลูกชายคนเล็กสอบเข้าไม่ได้ หากสำหรับเด็กชายการไม่มีคำตำหนิจากผู้ใหญ่ยิ่งแย่กว่าเสียอีก เขาจึงสัญญากับมารดาว่าต่อไปนี้จะไม่ทำตัวให้ท่านต้องเป็นห่วงเรื่องการเรียนอีกต่อไปแล้ว แม้จะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่จากโรงเรียนใกล้บ้านอย่าง ร.ร.วัดสังเวช ที่บางคนอาจมองเป็นแค่โรงเรียนวัดธรรมดาก็ตาม
"พอเปิดเรียนใหม่ๆ เป็นวันแม่ ผมก็ไปซื้อเค้กมาก้อนหนึ่ง 20 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากในสมัยนั้น บอกแม่ว่าวันนี้วันแม่ แม่ก็ถามว่าไปเอาเงินมาจากไหน เพราะผมได้แค่ 3-5 บาทเท่านั้น พอผมบอกว่าเอาเงินขายนกพิราบมาซื้อ แม่ผมก็น้ำตาซึมเลย เพราะเขารู้ว่าผมรักนกพิราบขนาดไหน ก็บอกกับแม่ว่าต่อไปนี้จะไม่เกเรอีกแล้ว จะเรียนหนังสือทุกวัน" หลังจากนั้น 3 ปีในร.ร.วัดสังเวช เขาก็ไม่เคยขาดเรียนเลยแม้แต่วันเดียว
เมื่อประตูบานหนึ่งปิดใส่หน้าคุณ ก็มีประตูแห่งโอกาสบานอื่นๆ รออยู่ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นและพร้อมจะก้าวต่อไปหรือไม่ และดร.วุฒิพงษ์ก็ไม่ปล่อยให้ความผิดหวังนั้นทำให้เขาท้อถอย แต่กลับแปรเป็นพลังที่ทำให้เขามุมานะว่าจะต้องทำให้มารดาภูมิใจให้ได้ เขาจึงมุมานะเรียนอย่างหนัก จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็สามารถนำผลการเรียนที่ 1 ของชั้นกลับไปอวดแม่ได้อย่างภาคภูมิตามที่สัญญาไว้
หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรฉุดเด็กหนุ่มหัวดี อนาคตไกลผู้นี้ได้เลย เมื่อเขาสามารถสอบเข้าเรียนต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้เป็นลำดับที่ 1 สร้างความประหลาดใจให้แก่ครูอาจารย์ และเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นที่ส่วนใหญ่ล้วนจบมัธยมต้นมาจากโรงเรียนมีชื่อเสียงแทบทั้งนั้น
"คนจะมองว่าโรงเรียนวัดสังเวชเป็นโรงเรียนของเด็กที่สอบเข้าที่ไหนไม่ได้มารวมกัน แต่แม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่ก็มีการดูแลที่ดี ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ ที่ผมว่ามันมีผลต่อชีวิตเด็กมาก ครูสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้เลย และในขณะเดียวกันก็สามารถเอาเพชรที่เจียระไนแล้วไปโยนทิ้งใส่โคลนได้เหมือนกัน ซึ่งถึงวันนี้ผมก็ยังฝังใจว่าอาชีพครูบาอาจารย์เป็นอาชีพที่ศักดิ์สิทธิ์"
หากกราฟที่ผ่านมาเริ่มเป็นแนวดิ่งชี้ขึ้น ชีวิตหลังจากนี้ของเขาก็คงพุ่งฉิวเกือบเป็นก้าวกระโดด เพราะอีก 2 ปีต่อมา เขาก็สอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทย ในสายวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นก็สอบเข้าในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ และเพียง 2 เดือนต่อมา เขาก็สามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ง่ายๆ นักเรียนที่ได้รับตำแหน่งนี้จึงถูกจับตามองว่า จะต้องเจริญรอยตามนักเรียนหัวกะทิรุ่นพี่ต่อไป เป็นบุคลากรระดับมันสมองของประเทศชาติในอนาคต และในตอนนั้นผู้ที่สอบได้อันดับหนึ่งก่อนหน้าปีของเขาก็คือ ธีรยุทธ บุญมี
จากว่าที่นายแพทย์ จึงกลายเป็นวิศวกรหนุ่มแทน และต่อมาเส้นทางการทำงานของดร.วุฒิพงษ์ ก็แตกแขนงออกไปหลายสาย ตามโอกาสและความรู้ความสามารถที่เขามีอยู่
* ความรู้นอกตำรา
นอกจากจะได้รับทุนเล่าเรียนหลวงในระดับปริญญาตรีแล้ว ดร.วุฒิพงษ์ยังได้รับทุนร็อคกี้เฟลเลอร์โดยคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่เขานับถืออย่าง ศ.สังเวียน อินทรวิชัย อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เขาสอบชิงทุนไปศึกษาต่อทางด้านบริหาร ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สองในเส้นกราฟชีวิตของดร.วุฒิพงษ์
ดร.วุฒิพงษ์เป็นคนไทยจำนวนไม่กี่คนที่ศึกษาจบปริญญาทั้ง 3 ระดับ ใน 3 สาขา จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้ง 3 ภูมิภาคของอเมริกาด้วยกัน คือ ปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธาจาก Massachusetts Institute of Technology หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า MIT ปริญญาโทสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จาก Stanford University และ ปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์และการบริหารรัฐกิจ จาก University of Chicago สถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็น 'teacher of teachers'
"รู้สึกผมจะเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับ Ph.D. จากมหาวิทยาลัยชิคาโกในสาขาเศรษฐศาสตร์กับบริหารธุรกิจ ชิคาโกค่อนข้างจะขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนปราบเซียน เรียนไม่จบตกกันเป็นครึ่งเป็นค่อน แต่ที่นี่ดีอย่างที่เป็นมหาวิทยาลัยที่วงการวิชาการในอเมริกาให้การยอมรับนับถือ คนที่จะไปเป็น professor ถ้าจบมาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกส่วนใหญ่เขาก็จะรับ เพราะที่นี่เน้นการผลิตครูบาอาจารย์และทำวิจัยเป็นส่วนใหญ่"
หลังจากเรียนสำเร็จ ดร.วุฒิพงษ์ก็กลับมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และผอ.ศูนย์ศึกษารัฐวิสาหกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่พักหนึ่ง แต่เงินเดือนราชการนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าพอเพียงต่อการเลี้ยงชีพ เขาจึงจำต้องออกมาทำงานอื่นๆ ทั้งที่ยังรักการสอนหนังสือ ก่อนที่กราฟชีวิตจะหักเหจากห้องเรียนและความรู้ในตำรา สู่สนามแข่งขันที่มีชื่อว่า 'ธุรกิจ'
จากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแผนงาน ธนาคารกรุงเทพ นานกว่า 4 ปี ดร.วุฒิพงษ์ได้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของบริษัทไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (ทริส) ซึ่งในเวลานั้นเป็นสถาบันใหม่ที่ใครก็ไม่กล้าเสี่ยงมาบริหาร หากแต่ดร.วุฒิพงษ์กลับมองเห็นโอกาสและอนาคตของสถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งแรกของประเทศไทยแห่งนี้
"ตอนเริ่มทริสไม่มีใครอยากได้เลยนะตำแหน่งนี้ เพราะมันเสี่ยง มีแค่กระดาษแสดงเจตนารมณ์แผ่นเดียวของแบงก์ชาติหรือกระทรวงการคลังที่อยากจะมีสถาบันจัดอันดับเครดิต แต่ว่ามันลอยๆ ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นไปขอใครมาเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้หลักผู้ใหญ่ปฏิเสธหมด แต่สำหรับผมผมมองว่ามันท้าทาย และทุกปีที่ผมอยู่ที่ทริสผมก็มีสินค้าบริการออกมาใหม่ๆ มานำเสนอ แต่พอมาปีสุดท้ายรู้สึกว่าจะโดนตัดมือตัดไม้ เพราะก.ล.ต. เขาไม่ชอบ ผมอยากจะใช้เรื่องเรตติ้งของเรามาประยุกต์ใช้ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการเงินหรือธุรกิจ แต่อยากจะดึงมาทางด้านสังคม อย่างเรตติ้งโรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัย แล้วเราก็คิดว่าวันหนึ่งเราน่าจะทำเรตติ้งพรรคการเมืองได้ ตอนนั้นก.ล.ต.เลยไม่ชอบ คงเริ่มสงสัยว่ากรรมการผู้จัดการของทริสคนนี้จะเพี้ยนไปเสียแล้ว"
เมื่อผนวกกับความอึดอัดในสภาพน้ำท่วมปาก ไม่สามารถออกความเห็นด้านการเมืองได้ ที่สุด ดร.วุฒิพงษ์จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารของทริส
"ตอนที่เป็นกรรมการผู้จัดการของทริส ผมก็พยายามจะทำหน้าที่โดยไม่พูดถึงการเมืองเลย คนก็จะถามเรื่อยว่า มีความเห็นยังไงเกี่ยวกับรัฐบาล คือพยายามดึงผมเข้าไป ผมก็บอกผมไม่สันทัดเรื่องการเมือง ผมก็ปฏิเสธตลอดอยู่เกือบ 5 ปี จนกระทั่งครึ่งปีสุดท้ายมันเหมือนตบะแตก มันสะสม แล้วการเป็นกรรมการผู้จัดการทริสมันได้เห็นข้อมูลมากมายที่คนอื่นเขาไม่ได้เห็น แล้ววันหนึ่งมันเหมือนกับตบะแตก ท้ายที่สุดผมเริ่มพูด และรู้ว่าเราไม่เหมาะจะเป็นกรรมการผู้จัดการของทริสอีกต่อไปแล้ว มีความรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่คนธรรมดาแบบเรา ซึ่งไม่มีอำนาจรัฐ แต่จะมาตรวจสอบเรื่องการเมืองที่มันเสียๆ หายๆ"
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันสหสวรรษ สถาบันวิชาการภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชนในเรื่องนโยบายสาธารณะ
"การเมืองภาคประชาชนมันหืดขึ้นคอ เพราะว่าอำนาจต่อรองก็ไม่มี เราไปเจอกับนักการเมืองที่เขาใหญ่กว่าเราเยอะ อันนี้มันเหนื่อย ถ้าเรายังเป็นกรรมการผู้จัดการของทริสก็ยังมีอำนาจต่อรอง แต่พอเราไม่ใช่มันไม่มี แต่มันก็สอนอะไรเราหลายอย่าง ว่าอะไรคือความถูกต้อง ความชอบธรรม"
หนึ่งในผลงานที่สะท้อนความสนใจทางการเมืองภาคประชาชนของดร.วุฒิพงษ์ก็คือ โครงการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อคัดค้านนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในรูปแบบเอกสารที่ถูกย่อยออกมาให้เข้าใจง่าย ถึงการทุจริตเชิงนโยบายดังกล่าวขึ้น อาทิ หนังสือคู่มือทรราช, ไล่ทักษิณ...แล้ว 'ล้างบ้าน' หรือ ไล่ทรราช เป็นของขวัญแผ่นดิน เป็นต้น
"เป้าหมายของเรามีข้อเดียวเท่านั้น ก็คือสร้างความแข็งแกร่งให้แก่การเมืองภาคประชาชน เชื่อว่าในระยะยาวการตรวจสอบรัฐบาลที่ดีที่สุดไม่ใช่มาจากฝ่ายค้าน แต่จะมาจากภาคประชาชน ซึ่งถ้าเราทำไปถึงจุดนั้นได้ ถึงเราเอาโจรมาเป็นรัฐมนตรี ผมเชื่อว่ามันก็ปล้นชาติไม่ได้"
* จุดยืน ณ วันนี้
มีคำถามที่มักจะใช้ชี้วัดและสะท้อนบทบาททางสังคมของบุคคลหนึ่งได้ว่า ในขณะที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ของประเทศนั้นคุณกำลังทำอะไร
สำหรับ ดร.วุฒิพงษ์แล้ว แม้จะมีมิตรสหายร่วมรุ่นเป็นคนเดือนตุลาฯ แต่ในช่วงนั้นเขายังศึกษาอยู่ต่างประเทศ ทว่าเขาก็มีส่วนร่วมกับคนไทยในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร
"จอมพลถนอมหนีไปที่บอสตันก็มีการประท้วง คุณอานันท์ ปันยารชุน ในตอนนั้นเป็นทูตอยู่ที่วอชิงตันก็เดินทางมาบอสตันเพื่อที่จะมาห้ามทัพ ก็มีนักเรียนไทยไปเดินขบวนหน้าอพาร์ตเมนต์ของคุณทรงสุดา ลูกสาวจอมพลถนอม แล้วก็ช่วยกันเรี่ยไรเงินนักเรียนไทยในบอสตันเอามาช่วยขบวนการ 14 ตุลาฯ" แม้จะออกตัวว่าเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเล็กๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกหมู่เหล่าในตอนนั้น ส่งผลให้การเมืองไทยขับเคลื่อนมาได้ถึงวันนี้
หรืออย่างในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ดร.วุฒิพงษ์กำลังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโลไรนา แต่เขาก็ติดตามข่าวสารจากเมืองไทยอยู่ไม่ขาด และสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของประชาชน
"และวันนี้ก็กลายเป็นว่าผมกลับมาช่วยอยู่ในเหตุการณ์อีกอันหนึ่ง มันเป็นการต่อสู้กับเผด็จการเหมือนกัน รูปแบบมันไม่ชัดเจนนักเพราะมันไม่ใช่เผด็จการทหาร มีการเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้วถ้าพูดถึงอิทธิพลและการคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อดูจะหนักหนาสาหัสกว่าเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็นับว่าแปลกเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เหตุการณ์เดือนพฤษภาผมก็อยู่ต่างประเทศ ก็เลยไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่มาคราวนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เข้ามา และพอเกี่ยวข้องมันก็ดูเกี่ยวข้องมากเหลือเกิน"
ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนใฝ่รู้ทำให้เมื่อเดินหน้าทำอะไรแล้วต้องทำให้ถึงที่สุด แต่ทว่าเพื่อนฝูงใกล้ชิดก็พากันเป็นห่วงว่าการที่เขาออกมาประกาศแนวรบภาคประชาชนเต็มตัวเช่นนี้ จะเกิดความเสี่ยงกระทบทั้งต่อธุรกิจและเปลืองเนื้อเปลืองตัวเปล่าๆ ทว่าดร.วุฒิพงษ์กลับมองต่างออกไป
"อย่างน้อยสิ่งที่เราได้ทำมันเป็นความภูมิใจลึกๆ ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน เรื่องที่มาทำในม็อบหลายๆ อย่างก็เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต ขึ้นไฮด์ปาร์กผมก็ไม่เคย เป็นครูบาอาจารย์ก็เคยพูดแต่ในเชิงวิชาการ ต้องสุภาพราบเรียบ แต่พอไฮด์ปาร์กมันก็จะต้องเร้าใจ หลายคนเขาก็บอกว่าเอาเกียรติประวัติของเราออกมาเสี่ยงทำไม มาต่อสู้ทางการเมืองนอนกลางดินกินกลางทรายกับม็อบ แต่ผมกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าอะไรที่มันเป็นประโยชน์สูงสุด มันเป็นสิ่งที่ดี ผมก็ทำ สำหรับผมเกียรติประวัติของผมที่สอบได้ที่ 1 ของประเทศไทย ได้ทุนร็อคกี้เฟลเลอร์ จบเอ็มไอที สแตนฟอร์ดและชิคาโก ถ้าเราไม่ได้เอามาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประชาชน ผมว่ามันก็สูญเปล่า ท้ายสุดก็แค่เอามาไว้พิมพ์หนังสือสำหรับงานศพตัวเองเท่านั้น
"ผมจดจำประโยคที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระราชดำรัสไว้ได้แม่น ตั้งแต่สมัยผมยังเป็นนักเรียนแพทย์ที่มหิดลที่ว่า 'ความรู้ถ้าหากไม่ได้เอามาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สุขกับมนุษยชาติ ก็ถือว่าสูญเปล่า' " ดร.วุฒิพงษ์ทิ้งท้าย
**********************
เรื่อง - รัชตวดี จิตดี
ภาพ - อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์