xs
xsm
sm
md
lg

'ดอนกิโฆเต้' ความฝันอันยิ่งใหญ่สู่ความจริงบนทางอักษรไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือเพียงเล่มเดียวแล้ว จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้"

นั่นคือคำโปรยบนปกหลังของหนังสือแปลเล่มยิ่งใหญ่เรื่อง 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน' (Don Qvixote de la Mancha) หลังจากที่นักอ่านชาวไทยเฝ้ารอมาหลายปี...ในที่สุด ก็มีหนังสือที่ได้รับการยกย่องจากนักเขียน 100 คนจาก 54 ประเทศให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในโลก โดยฝีมือผู้แปลชาวไทยก็ปรากฏในบรรณพิภพไทยสักที

และราวกับจะเป็นการตอกย้ำความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ เมื่อในปีที่แล้วเพิ่งเป็นวาระครบรอบ 400 ปีของดอนกิโฆเต้ พร้อมๆ กับการเสด็จเยือนของสมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน กาลอส และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งราชอาณาจักรสเปนในฐานะพระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผศ.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่จากต้นฉบับภาษาสเปน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายผลงานหนังสือเล่มดังกล่าวแก่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ในฐานะที่เป็นผลงานแปลในลำดับภาษาที่ 85 ของวรรณกรรมอมตะเรื่องเอกของโลก

-1-

สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว ชื่อของ 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า' อาจจะไม่คุ้นหู แต่สำหรับคอวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลกแล้วน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักอัศวินผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่ ตัวละครเอกที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในวรรณกรรมของนักเขียนสเปนนาม 'มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า' เมื่อหลายร้อยปีก่อน ชีวิตและเรื่องราวการผจญภัยของดอนกิโฆเต้ ได้กลายเป็นตำนานในหมู่นักอ่านที่ถูกเล่าขานไม่รู้จบ...แม้ในยุคที่มีหนังสือออนไลน์และนักเขียนไซเบอร์

เหตุใดวรรณกรรมเรื่องนี้จึงได้รับการยอมรับจากนักเขียนและนักอ่านทั่วโลก ให้เป็นงานวรรณกรรมที่ดีที่สุดของโลก คงไม่มีคำอธิบายใดดีเท่ากับการที่คนไทยต้องลองค้นหาและสัมผัส ผ่านอรรถรสการอ่านด้วยตนเอง แต่ทว่าในตอนนี้ 'ผู้จัดการปริทรรศน์' จะพาไปพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของดอนกิโฆเต้ ฉบับภาคภาษาไทยสมบูรณ์เล่มแรก

ผศ.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน' ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาไม่กี่วัน ภายหลังจากการเข้าเฝ้าถวายหนังสือแด่กษัตริย์สเปน ก่อนหน้าที่ผศ.สว่างวัน จะเหินฟ้าเดินทางกลับไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านวรรณคดีที่ประเทศสเปน ถึงที่มาในการทำงานแปลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเล่มหนึ่ง เท่าที่เคยมีมาในงานวรรณกรรมแปลบ้านเรา

เส้นทางนักแปลของผศ.สว่างวันนั้น เริ่มต้นจากการที่เธอเป็นนักอ่านตัวยง ตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตปีสุดท้ายของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสสัมผัสและรู้จักกับดอนกิโฆเต้เป็นครั้งแรก ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่ผศ.สว่างวัน จนตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องแปลหนังสือเล่มดังกล่าวถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ให้คนไทยได้มีโอกาสสัมผัสอรรถรสของวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่เล่มนี้ เหมือนอย่างที่เธอได้สัมผัสมาแล้ว

"เมื่อแรกอ่านชอบมาก คืองานแปลต้องเข้าใจอยู่อย่างว่าเป็นงานที่เราต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก จริงๆ มีงานที่คนขอมาให้แปลแล้วหลายงาน บางงานก็เก็บมา 6-7 ปี เป็นจดหมายเหตุในสมัยแรกๆที่ประเทศสเปนเดินทางมาในแถบประเทศเอเชียแปซิฟิก แต่ก็ต้องเก็บไปก่อนเพราะรักงานเล่มนี้มาก ก็เรียนบอกอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ติดต่อมาท่านนั้นว่า ขออนุญาตทำดอนกิโฆเต้ ให้เสร็จก่อน จริงๆ บอกได้เลยว่ารักงานนี้ถึงได้เริ่มแปล"

เหตุผลที่ทำให้รักผลงานของเซร์บันเตสเล่มนี้มาก เนื่องจาก "ตอนที่เริ่มอ่านได้อ่านประวัติของผู้ประพันธ์คือ เซร์บันเตส แล้วชอบมากเพราะรู้สึกว่าชีวิตเขาตกระกำลำบากมากเลย เขาเคยเป็นเชลยศึกอยู่ 5 ปี ถูกคุมขัง ก่อนที่จะเป็นเชลยศึกเขาเป็นทหารและกำลังจะได้รับยศทางทหารสูง กำลังจะได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากชีวิตที่แรกๆ ฐานะไม่ดี แต่พอถูกจับเป็นเชลยศึกกลับมาถึง ความก้าวหน้าทางการงานหมดไปเลย เพราะคนลืมไปหมดแล้วถึงวีรกรรมของเขา เขาก็กลับมาตกยากเหมือนเดิม แล้วก็มีชีวิตอยู่ด้วยการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เขาก็หาเลี้ยงชีพด้วยการแต่งบทประพันธ์ต่างๆ เป็นรายได้เสริม เช่น ละคร และงานร้อยแก้ว แต่ว่าในงานประพันธ์ของเขาทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องใดที่จะแสดงถึงความขมขื่นของชีวิตเลย รู้สึกประทับใจตรงส่วนนี้มาก"

ผศ.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด หลังจบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สอบชิงทุนของรัฐบาลสเปนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาในประเทศสเปน สายวรรณคดีสเปนและละตินอเมริกัน

เมื่อสำเร็จกลับมาแต่ยังไม่มีตำแหน่งครูว่าง ผศ.สว่างวันจึงทำงานสถานทูต และงานด้านโรงแรมอยู่พักหนึ่ง พร้อมๆ กับเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาสเปนไปด้วย ก่อนจะเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สาขาวิชาภาษาสเปน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 11 ปีแล้ว ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านวรรณคดีที่ประเทศสเปน

"พอไปเรียนที่สเปนก็ได้ลงวิชาเกี่ยวกับงานประพันธ์ของเซร์บันเตสอีกครั้ง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญก็เก่งมาก สอนให้เราเห็นถึงอัจฉริยะภาพต่างๆ ของเซร์บันเตส พอเรียนหนังสือไปก็รู้สึกประทับใจดอนกิโฆเต้ กับซานโซ่มาก อันนั้นก็เป็นมูลเหตุที่ฝังใจว่า สักวันหนึ่งจะต้องกลับมาแปลงานประพันธ์อันนี้ให้กับคนไทยได้อ่าน แล้วตอนเรียนอาจารย์ก็จะย้ำว่าอันนี้คือวรรณกรรมเอกของโลก แล้วเราก็จะรู้สึกแปลกใจว่าวรรณกรรมเอกของโลก แต่คนไทยไม่รู้จัก สาเหตุก็คงเป็นเพราะว่ายังไม่มีคนแปล"

กระทั่งเมื่อประมาณปี 2001 ผศ.สว่างวัน ได้รับการติดต่อจากทางสถานทูตสเปน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการลงมือแปลเรื่องนี้ "เขาบอกว่ามีคนตามหางานแปลดอนกิโฆเต้เป็นฉบับภาษาไทยอยู่ เพราะว่ามีคนที่รวบรวมฉบับแปล แม้เขาจะอ่านไม่ออก แต่เขาก็รวบรวมเก็บเอาไว้ แล้วเขาก็เดินทางมา คงจะเป็นนักสะสมดอนกิโฆเต้ เขาบอกมันมีเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก 80 ภาษาแล้ว ณ ขณะปี 2001 แต่ทำไมไม่มีเป็นภาษาไทย เราก็เริ่มคุยกันก็บอกว่าไม่มีจริงๆ ไม่ใช่ว่าหาไม่เจอ เคยมีคนทำสรุปเรื่องเอาไว้ แต่ก็ไม่เห็นคุณค่าของผลงาน เพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดมากมาย"

หลังจากผัดผ่อนเรื่อยมาด้วยสาเหตุที่ยังยุ่งอยู่กับงานสอนและทำตำราเรียนจนไม่มีเวลา จนกระทั่งใกล้จะถึงปี 2005 ผศ.สว่างวัน ก็ได้รับการติดต่อจากสถานทูตสเปนอีกครั้ง โดยให้ทุนรัฐบาลแปลดอนกิโฆเต้ เป็นฉบับภาษาไทย เพื่อให้ทันปี 2005 ที่จัดเป็นปีเฉลิมฉลอง 400 ปีของการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ การทำงานอันเหนื่อยยากยาวนานร่วม 3 ปี จึงเริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้น

-2-

"เนื่องจากว่าเป็นวรรณกรรมเอกของโลก เวลาเราจะแปลเราต้องค้นเยอะมาก เพราะว่าเซร์บันเตสเป็นนักเขียนที่เขียนเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ผสมกับเรื่องแต่ง แล้วก็มีการวิเคราะห์วิจารณ์งานประพันธ์ร่วมสมัย คือมีแง่มุมต่างๆ อยู่ในงานเขียนเล่มเดียวกัน เวลาที่เราจะแปลเราต้องมาอ่านก่อนว่า อันนี้คือประวัติศาสตร์นะ อันนี้คืองานประพันธ์วรรณกรรมของนักเขียนอื่นๆ ร่วมสมัย ซึ่งงานประพันธ์ที่เซร์บันเตสอ้างบางเรื่องก็หายสาบสูญไปแล้ว เราก็ต้องไปหาข้อมูลมาว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทำไมเซร์บันเตสถึงวิเคราะห์วิจารณ์แบบนี้

แล้วก็ต้องมาดูอีกว่า อันนี้เป็นคำวิจารณ์ เป็นจินตนาการของเซร์บันเตส คือมันมีหลายชั้น ก็ต้องมาค้น แต่ผู้อ่านไม่ต้องมาค้นตามแล้วนะคะ เพราะว่าค้นไว้ให้หมดแล้ว ตอนที่อ่านเราจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่พอเป็นผู้แปลเราต้องเห็นสิ่งเหล่านี้" ผศ.สว่างวันบอกเล่าถึงขั้นตอนการทำงานแปลบางส่วน ที่ต้องใช้ความอดทนและพิถีพิถันจนกว่าจะสำเร็จสมบูรณ์ได้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทั้งอรรถรสและความรู้เต็มเปี่ยม

"เราก็เผื่อว่าผู้อ่านบางท่านก็อยากจะรู้รายละเอียด เราก็ต้องค้นเชิงอรรถมา ตอนแรกค้นไปประมาณ 700-800 เชิงอรรถ แต่ตอนหลังเราก็มาดูอันไหนที่ไม่มีความจำเป็นก็ตัดออกไป ในที่สุดก็เหลืออยู่สักประมาณ 400 เชิงอรรถได้ แต่ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องอ่านเชิงอรรถ ถ้าอยากจะอ่านเฉพาะเนื้อเรื่องก็อ่านไปเฉยๆ ได้" อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้แปล ผศ.สว่างวันก็ทำหน้าที่ค้นข้อมูลโดยละเอียด นับตั้งแต่อาหารไปจนถึงดวงดาวเลยทีเดียว

"ที่สำคัญคือ บางคำค้นมาแล้วใช้ไม่ได้ เพราะว่าคำนั้นเป็นภาษาสมัยใหม่มาก อย่างเช่นคำว่านาวิกโยธิน อยู่ๆ จะโผล่มาในฉากประมาณ 300-400 ปีก่อนไม่ได้ เราก็ต้องหาคำอื่นมาเทียบเคียงภาษาให้ฟังแล้วเป็นภาษาเก่า เนื่องจากหนังสือเล่มนี้แต่งเสร็จในสมัยพระเจ้าฟิลิปเป้ที่ 3 ซึ่งตรงกับสมัยพระนเรศวรมหาราชของเรา แต่ถ้าเราไปใช้ภาษาในยุคนั้นก็คงเข้าใจยากสำหรับคนไทย เราต้องใช้วิธีเทียบภาษาเก่าแต่ยังอ่านได้อยู่"

อุปสรรคเรื่องภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนี่เอง ที่ทำให้ผศ.สว่างวันต้องหาผู้รู้ช่วยแนะนำ โดยได้บาทหลวงชาวสเปนคอยดูเรื่องคำศัพท์โบราณ "คำศัพท์จำนวนมากเป็นคำศัพท์โบราณ ซึ่งปัจจุบันอาจจะมีความหมายเปลี่ยนไป มากขึ้นน้อยลง ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ Eduardo Dominguez Swia ที่ช่วยอธิบายทุกคำศัพท์หมดเลย แล้วมีบางข้อบางตอนถามมากกว่า 5-6 รอบ ถึงขนาดมีอยู่ช่วงหนึ่งอาจารย์มีดอนกิโฆเต้ฉบับภาษาสเปนติดตัวไปทุกหนทุกแห่งเลยค่ะ พอโทรเข้าไปบอกว่าอาจารย์คะติดหน้านั้นหน้านี้ อาจารย์ก็เปิดได้ทันทีเลย ยกเว้นตอนที่ทำพิธีมิสซา" ผศ.สว่างวันเล่าด้วยเสียงหัวเราะร่วน

"พอผ่านขั้นตอนที่เราตรวจทานว่าถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนเท่าที่เราจะทำได้ทุกอย่างแล้ว ภาษาไทยก็มี รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร ที่ช่วยตรวจทานโดยละเอียด และช่วยปรับปรุงคำกลอนทั้งหมดด้วย เพราะว่างานประพันธ์เรื่องนี้มีคำกลอนแทรกหลายตอนมาก ที่ยากไปกว่านั้นคือ กลอนต่างๆ บางครั้งก็เป็นกลอนตลกชวนขัน บางครั้งก็เป็นกลอนเชิดชูเกียรติ บางครั้งก็เป็นการรบ ต้องจับอารมณ์ของเนื้อหาแล้วจึงจะถ่ายทอดเป็นกลอนได้"

ผศ.สว่างวันรีบย้ำในประเด็นอ่อนไหวสำหรับประเทศที่มีสถิติอ่านหนังสือคนละเฉลี่ยปีละ 6 บรรทัดว่า นอกจากคุณค่าในงานประพันธ์แล้ว หนังสือเล่มนี้สนุกจริงๆ ไม่ได้ยากที่จะเข้าถึงเหมือนที่หลายคนคิดว่าวรรณกรรมคลาสสิกมักจะเป็น

"จริงๆ เรามักจะมองเซร์บันเตสและดอนกิโฆเต้ในแง่งานประพันธ์ว่าทรงคุณค่าโดยอย่างเดียว ในบางครั้งพอของดีมากคนก็กลัวเวลาจะอ่าน ก็เลยอยากจะบอกว่าจริงๆ แล้วเป็นงานเขียนที่สนุกมากเลย อ่านแล้วตลก อย่าไปมองเทียบกับผู้แปลที่มีหน้าที่ต้องไปค้น แต่ว่าในฐานะผู้อ่าน อ่านแล้วสนุก ก็เคยไปสัมภาษณ์ผู้อ่านที่เขาได้อ่านแล้ว เขาบอกตลกมาก ตอนแรกเขาก็คิดว่างานที่ดีมากคงจะน่ากลัว แต่ตอนหลังเขาบอกมันตลกตั้งแต่หน้าแรกไปเลย"

ผศ.สว่างวันอธิบายเหตุผลที่ใช้ชื่อ'ดอนกิโฆเต้' (Don Qvixote) ว่า พยัญชนะ X ในสมัยก่อน คือ j ในปัจจุบัน และตัว j นั้นจะออกเสียงว่า 'ฆ' ในภาษาสเปน ไม่ใช่ 'ฮ' เหมือนอย่างในอเมริกากลางและใต้อย่างที่คนไทยคุ้นเคย ดังนั้นชื่อหนังสือและตัวเอกของเรื่อง จึงเป็น 'ดอนกิโฆเต้' ไม่ใช่ 'ดอนกิโฮเต้'

ในศตวรรษที่ 17 ดอนกิโฆเต้ถูกพิจารณาอยู่ในหมวดงานชวนขัน กระทั่งศตวรรษที่ 18-19 จึงมีผู้ศึกษาค้นคว้าพบว่า ในคำพูดล้อเลียนเสียดสี สถานการณ์ชวนขันทั้งหลาย สอดแทรกไว้ด้วยสาระ มีคติธรรมเยอะมาก และรูปแบบผลงานของเซร์บันเตสชิ้นนี้ยังนับว่าเป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกของโลกอีกด้วย

"มีคนกล่าวไว้ว่า ถ้าคุณอ่านงานประพันธ์เรื่องนี้ตอนเป็นวัยรุ่น คุณก็จะเห็นความตลกขบขัน เห็นความสนุกจากการผจญภัยต่างๆ ถ้าคุณอ่านเมื่อคุณเป็นผู้ใหญ่ทำงานแล้ว คุณก็จะได้ข้อคิดในการปฏิบัติตัวในการใช้ชีวิต แต่ถ้าคุณโตขึ้นแล้ว คุณถามชีวิตมาระยะหนึ่ง คุณก็จะเห็นคติธรรมลึกซึ้งขึ้น เห็นสัจธรรมในงานประพันธ์"

และคนที่แสดงสัจธรรมของชีวิตให้เห็นชัดเจนก็คือ ดอนกิโฆเต้ "ตัวเอกของเรื่องคือดอนกิโฆเต้วิกลจริตไป เนื่องจากอ่านหนังสืออัศวินเยอะเกินไป นิยายอัศวินก็คือออกไปผจญภัย ต่อสู้เพื่อปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า ตัวเขาเองเป็นชายชราแล้วในยุคนั้น อายุ 50 กว่าแล้ว สุขภาพก็ไม่ดี แต่เขาอยากเป็นอัศวินแล้วก็ปกป้องคนอื่น ด้วยความที่อยากจะไปช่วยโลก อันนี้ก็เป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ส่วนมากคนเราพอรู้ว่าจะต้องไปเผชิญกับภยันอันตรายใหญ่หลวง เราก็ไม่เอาดีกว่า เราไม่สู้ แต่ดอนกิโฆเต้เขาพบความพ่ายแพ้หลายครั้งมาก ทุกๆ ครั้งที่เขาสู้ก็มักจะถูกมองว่าอยู่กับบ้านเถอะเป็นคนแก่แล้ว ไปสู้ก็พ่ายแพ้กลับมา แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้"

รางวัลแห่งความเหน็ดเหนื่อยของผศ.สว่างวันคือ เมื่อเธอเห็นหนังสือแปลเล่มนี้เสร็จออกมาเป็นรูปเล่ม และยิ่งปลื้มปิติ เมื่อได้รับเกียรติเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า' แก่กษัตริย์สเปนและสมเด็จพระราชินี อีกทั้งยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ Isabel, la Catolica จากรัฐบาลสเปนอีกด้วย

ถามถึงตัวละครที่โปรดปรานที่สุดในเรื่อง ผศ.สว่างวันเผยว่า เธอชอบทั้งตัวเอกอย่างดอนกิโฆเต้ และผู้ช่วยอัศวินอย่างซานโซ่ ปันซ่า ที่นับเป็นพระเอกสำหรับผู้แปลทั้งคู่ ด้วยติดใจในความคิดและคำพูดคมๆ ของซานโซ่ในหลายประโยค ขณะที่ดอนกิโฆเต้อยู่ในโลกแห่งอุดมคติ อุทิศคุณงามความดี เกียรติยศ ชื่อเสียงให้แก่แม่หญิงดุลสิเนอา ผู้เป็นนางในดวงใจ ซานโซ่ที่ออกมาผจญภัยกับดอนกิโฆเต้นั้นคือผู้ที่คอยถ่วงดุลให้ดอนกิโฆเต้และคนอ่านกลับมามองชีวิตจริง

"และแม้ว่าการกระทำของดอนกิโฆเต้จะขัดกับความคิดเห็นของคนส่วนมาก และมักจบลงด้วยการเป็นที่หัวเราะขบขันของผู้อื่น แต่หากเรามองเข้าไปในจิตวิญญาณของดอนกิโฆเต้ เราจะพบชายผู้มุ่งมั่นในอุดมการณ์ของตน แม้จะล้มลุกคลุกคลาน พ่ายแพ้ในสายตาผู้อื่น แต่ใครจะปฏิเสธได้เล่าว่าในชีวิตของเรานั้น บ่อยครั้งเราอยากมีความกล้าหาญ ที่จะยึดมั่นในอุดมการณ์ ฝ่าฟันอุปสรรคและไปให้ถึงความฝันของเราเช่นเดียวกับดอนกิโฆเต้" คือเสี้ยวความรู้สึกที่ผู้แปลมีต่อตัวเอกของวรรณกรรมเรื่องนี้

ฉบับแปลไทยครั้งนี้เป็นการแปลเฉพาะภาคแรก ผศ.สว่างวันจึงหวังว่าจะได้มีโอกาสแปลฉบับเต็มที่เหลือของดอนกิโฆเต้ และงานชิ้นอื่นของเซร์บันเตสอีก "ถ้าได้รับอิทธิพลอะไร คิดว่าก็คงได้อิทธิพลความไม่ย่อท้อแก่ชีวิตของดอนกิโฆเต้ และได้เห็นคนที่ทุกข์ยากแต่หัวเราะได้ ก็อยากให้ผู้อ่านชาวไทยเห็นตรงนั้นด้วย"

ที่เหลือคงอยู่ที่ผู้อ่านแต่ละคนว่าจะตีความหมายของคำว่า 'ความฝัน' และ 'ความกล้า' กันอย่างไร


**********************

"คนไทยกลัวคำว่า 'คลาสสิก' "
มกุฎ อรดี แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
บรรณาธิการผู้ตีพิมพ์ 'ดอนกิโฆเต้'

"ปีหนึ่งที่ผ่านมาไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้นที่ทำดอนกิโฆเต้ คนทั้งสำนักพิมพ์เขาทุ่มเท โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนสุดท้ายทุกคนทิ้งงานอย่างอื่นหมดเลย" มกุฎ อรดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และบรรณาธิการต้นฉบับ กล่าวถึงงานตรวจแก้ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการจัดทำหนังสือที่จัดเป็นผลงาน 'ยอดเยี่ยมชิ้นเอก' ของสำนักพิมพ์เล่มนี้ ซึ่งทำเอาน้ำหนักเขาหายไปนับ 10 กิโลฯ

"เราเครียดว่าจะทำยังไงดีให้คนไทยหัวเราะเหมือนอย่างที่คนสเปนหัวเราะ มันทั้งทุกข์ทั้งเพลิน เพราะบรรณาธิการอยู่ในฐานะที่กำลังปกป้องต้นฉบับของนักเขียน ผมใช้เวลาตรวจแก้ต้นฉบับ อ่านเรื่องนี้ประมาณ 12 รอบ ผมรู้เลยว่าผมทำงานมาครึ่งชีวิตเทียบกับการตรวจหนังสือเล่มนี้เล่มเดียว เราได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่ผ่านมาในชีวิตเยอะเลย ทั้งระบบวิธีการประพันธ์ วิธีคิดวิธีเขียนของนักเขียน ใช้คำว่า นักเขียน 'โคตร' ฉลาด สุดยอดฉลาดเลย ถามผมว่าเอาวิธีเขียนของแกเมื่อ 400 ปีที่แล้วมาใช้ตอนนี้จะเป็นยังไง ผมว่ามันก็ยังทันสมัยอยู่"

"เราอย่าไปใช้คำว่าวรรณกรรมคลาสสิก เดี๋ยวคนกลัว เราใช้คำนี้ดีกว่าว่าเป็นนวนิยายที่ดีที่สุดในโลก จากการคัดเลือกของนักเขียนรางวัลโนเบลจำนวน 100 คน ถ้าบอกอย่างนั้นคนไทยอาจจะสนใจ แต่พอบอกคลาสสิกปั๊บหนีเลย" มกุฎกล่าวอย่างติดตลก ถึงอาการหวาดระแวงงานคลาสสิกของคนไทย "ผมหวังว่าคนไทยจะได้อ่านกันเยอะๆ แล้วก็ได้อ่านอะไรจากสิ่งที่บรรจุอยู่ในหนังสือนี้ ไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม"

ในการดำเนินงานจัดพิมพ์ภาษาไทยครั้งแรกนี้ ทางสำนักพิมพ์ได้ขึ้นรูปเล่มหนังสือจริงจำนวน 11 เล่ม มีขนาด 8 หน้ายก ปกหนังดุนลายนูน เขียนสี ปิดทอง โดยส่งมอบให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสเปน 2 เล่ม และเล่มตัวอย่างจำนวน 9 เล่ม เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นประวัติศาสตร์การพิมพ์หนังสือแปลในประเทศไทยและเป็นสมบัติของชาติ โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้คัดเลือกปกหนังสือในรูปแบบเดียวกับฉบับพิมพ์ครั้งแรกของสเปน ที่มกุฎถือว่าเป็นศูนย์กลางการทำหนังสือของโลกมาตั้งแต่ในประวัติศาสตร์

"สี่ร้อยปีมาแล้ว ที่หนังสือเล่มนี้แพร่หลายจากภาษาสเปนไปสู่ภาษาต่างๆ จนนับจำนวนพิมพ์และจำนวนผู้อ่านได้มากที่สุด เป็นรองก็แต่พระคัมภีร์ไบเบิ้ล รัฐบาลของอารยประเทศทั้งหลาย ถือเป็นภาระหน้าที่ ในอันจะให้คนของตนได้อ่านวรรณกรรมสำคัญของโลกเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ขณะที่ผู้คนในบางประเทศ ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรน ขวนขวาย ไขว่คว้า หามา" ความในใจของบรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ถูกถ่ายทอดลงบนหลังปกหนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน' เพื่อสะท้อนให้ 'รัฐบาลของบางประเทศ' ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวรรณกรรมอมตะ ดีกว่าจะทุ่มเงินเป็นร้อยล้านไปกับการจัดงานเมืองแฟชั่นที่ไปเร็วมาเร็ว หาสาระไม่ได้

"เหตุเพราะว่าผมเคยเสนอโครงการแปลวรรณกรรมสำคัญของโลกให้แก่รัฐบาล แล้วก็ไม่มีใครได้ยิน ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครรู้เรื่อง ก็เลยด่าซะนิดหน่อย มาดูประโยคที่ว่า 'รัฐบาลของอารยประเทศทั้งหลาย ถือเป็นภาระหน้าที่ ในอันจะให้คนของตนได้อ่านวรรณกรรมสำคัญของโลกเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ' ถือเป็นคำด่าที่เจ็บแสบมาก แต่ไม่รู้เขาจะเข้าใจหรือเปล่า" มกุฎกล่าวทิ้งท้าย

*หมายเหตุ ; หนังสือ 'ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ จะออกฉบับพิมพ์จำหน่ายต่อสาธารณะเป็นปกแข็งใน 2 ขนาด เล่มใหญ่จะวางขายก่อนในราคา 969 บาท เล่มเล็ก ราคา 696 บาท หนังสือหนา 600 หน้า

เรื่อง รัชตวดี จิตดี











กำลังโหลดความคิดเห็น