xs
xsm
sm
md
lg

บูชาแม่โพสพ-รับขวัญข้าว พิธีกรรมแห่งชีวิตชาวนาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'ข้าว' คืออาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาช้านาน ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้เกรียงไกรแห่งอาณาจักรสุโขทัยที่กล่าวว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" บ่งบอกสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองในขณะนั้นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นในน้ำที่มีปลามากมาย ส่วนบนบกก็มีรวงข้าวสีทองอร่ามทั่วทั้งผืนนา

นอกจากข้าวจะเป็นอาหารหลักแล้ว อาชีพทำนาหรือปลูกข้าวยังถือเป็นอาชีพหลักของคนไทยที่ถูกเรียกขานเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ด้วยเหตุจึงเกิดมีพิธีกรรม 'การบูชาแม่โพสพ' และ 'การรับขวัญข้าว' ซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวนาไทยถือปฏิบัติคู่กับการทำนามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทั้งนี้ตามความเชื่อของคนไทยที่เชื่อว่าในนาข้าวจะมีแม่โพสพ เป็นผู้ดูแลคุ้มครองต้นข้าว การบูชาแม่โพสพจึงเพื่อขอให้ช่วยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ไม่มีแมลงมารบกวน ตลอดจนส่งผลให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี

*ประเพณีที่เกี่ยวกับข้าวในเดือนโบราณของไทย

ความผูกพันของคนไทยกับข้าวก่อให้เกิดประเพณีเกี่ยวกับข้าวทั่วไทยและมีขึ้นในหลายเดือน สำหรับประเพณีที่เด่นๆก็มี

ประเพณีเดือนอ้าย (ธ.ค.) เป็นเวลาเกี่ยวข้าวหลังจากข้าวตกรวง ในภาคกลางมีพิธีเฉวียน พระโคกินเลี้ยง ตรงกับเดือนสาม (ธ.ค.) ในภาคเหนือมีพิธีเอามือหรือลงแขก พิธีนวดข้าว พิธีสู่ขวัญ เอาข้าวขึ้นหลอง (ยุ้ง) ภาคอีสานตรงกับเดือนเจียง (ธ.ค.) มีพิธีทำลานตี (นวด) ข้าว ส่วนภาคใต้มีพิธีรวบข้าว ตั้งเครื่องพลีกรรมทำขวัญข้าวก่อนเก็บเกี่ยวข้าว

ประเพณีเดือนยี่ (ม.ค.) มีพิธีกรรมฉลองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว คือ พิธีทำขวัญลานนวดข้าวและยุ้งเก็บข้าว ในภาคเหนือ ตรงกับเดือนสี่ (ม.ค.) มีพิธีทานข้าวจี่ ข้าวหลาม ทานดอยข้าว ทานข้าวท้างน้ำ (บูชาอาหารเทวดาประจำทางน้ำเข้านา) ในภาคอีสานมีพิธีปลงลอมข้าว นำตระกล้าขวัญข้าว เชิญแม่โพสพออกจากลานนวดข้าว เพื่อตีฟาด (นวด) ข้าวในลาน และมีพิธีบุญคูณลานเป็นพิธีทำบุญลานข้าวและเรียกขวัญข้าวบูชาแม่โพสพ และพิธีขนข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) ส่วนภาคใต้มีพิธีทำบุญงานและพิธีเชิญขวัญข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉางที่เรียกว่า คุก ต่อจากนั้นจะต้องทำพิธีตักข้าว คือ นำข้าวออกจากยุ้งฉางโดยใช้กระแซงขวัญตักข้าว

ประเพณีเดือนสาม (ก.พ.) ในภาคกลางมีพิธีธานยเทาะห์ คือ พิธีเผาข้าว (พิธีครั้งกรุงเก่า) ภาคอีสานมีพิธีเลี้ยงตาแฮก (พระภูมินา) เพราะข้าวขึ้นเล้าแล้ว จากนั้นมีพิธีเอนขวัญข้าว (สู่ขวัญข้าว) นำกระบุงข้างเปลือกไปถวายวัด พอถึงวันเพ็ญเดือนสาม (วันมาฆบูชา) จะมีพิธีทำบุญข้าวจี่เช่นเดียวกับภาคเหนือ

ประเพณีเดือนสี่ (มี.ค.) เป็นเทศกาลตรุษ ทางภาคกลางจะประกอบพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์และพิธีถวายข้าวบิณฑ์ ต่อด้วยพิธีตีข้าวบิณฑ์ในเดือนห้า (เม.ย.) ในภาคเหนือตรงกับเดือนหก (มี.ค.) มีพิธีปอยข้าวสังฆ์ ส่วนภาคอีสานจะแห่ข้าวพันก้อนในเทศน์พระเวสส์และมีพิธีบุญแจกข้าวเปตพลี

ประเพณีเดือนหก(พ.ค.) ภาคกลางจะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ส่วนภาคเหนือจะมีประเพณีแฮกนา และพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำในเดือนเก้า (มิ.ย.) ภาคอีสาน มีประเพณีบุญบั้งไฟบูชาแถนเพื่อขอฝนในเดือนหก (พ.ค.) และพิธีบวงสรวงตาแฮก (พระภูมินา) ในเดือนเจ็ด (มิ.ย.) ส่วนภาคใต้ก็มีประเพณีแรกนาขวัญ และพิธีลาซัง บวงสรวงเจ้าที่นาในเดือนหก (พ.ค.)

ประเพณีเดือนเก้า (ส.ค.) เมื่อข้าวอุ้มท้อง ภาคกลางมีพระราชพิธีพิรุณศาสตร์เพื่อขอฝน มีพิธีทำขวัญข้าว ทำขวัญแม่โพสพซึ่งเป็นเทพธิดาดูแลต้นข้าว ภาคเหนือมีพิธีปูมท้างแม่โคสก (โพสพ) และพิธีสู่ขวัญควายตรงกับเดือนสิบเอ็ด (ส.ค.) ภาคอีสานมีพิธีบุญข้าวประดับดิน เพื่อทำบุญอุทิศแด่ผู้ตาย ภาคใต้มีพิธีกดขวัญข้าวคือทำขวัญข้าวเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องและอันเชิญขวัญแม่โพสพ

ประเพณีเดือนสิบ (ก.ย.) ในภาคกลางมีพระราชพิธีสารทกับพิธีกวนข้างทิพย์ ในภาคเหนือตรงกับเดือนสิบสอง (ก.ย.) มีพิธีทานขวัญข้าวแต่ผู้เฒ่าจำศีล ภาคอีสานในเพ็ญเดือนสิบ (ก.ย.) มีพิธีทำบุญข้าวสาก (สลากภัต)

ประเพณีเดือนสิบสอง (พ.ย.) เมื่ออกพรรษาในภาคกลางมีเทศน์มหาชาติ ตรงกับเดือนยี่ (พ.ย.) ในภาคเหนือมีพิธีใส่บาตรข้าวพระเจ้าหลวง (ถวายข้าวมธุปายาส) ส่วนภาคอีสานมีพิธีทำบุญข้าวเม่าถวายสงฆ์

*ภาคกลาง

แม้หลักๆเมืองไทยทั้ง 4 ภาคจะมีพิธีที่เกี่ยวกับข้าวเหมือนกัน แต่ทว่าในความเหมือนก็ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดตามวัฒนธรรมท้องถิ่นในการทำขวัญข้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและการดำรงชีวิตในแต่ละภูมิภาค

อรไท ผลดี ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรและอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการทำขวัญข้าวในแถบภาคกลางในผลงานวิจัยเรื่อง 'ประเพณีและวัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่าไทในเทศกาลข้าว' ว่า มักนิยมจัดขึ้นในทุกขึ้นตอนของการปลูกข้าว โดยนิยมทำอยู่ 4 ครั้ง สำหรับครั้งแรกนั้นจะทำเมื่อแรกทำนา ซึ่งจะต้องแต่งเครื่องสังเวยประกอบด้วย เครื่องขนมนมเนย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย อ้อย กล้วย แตงกวา ปลา เต่า กุ้ง หอย หมากพลู เทียน เครื่องใบไม้ ใส่ข้าวขวัญ ทำกรอบ 1 อัน ผ้าขาว 1 ผืน นำไปจงกรมถึงนา นำรวงข้าวมาผูกเป็นขวัญข้าว ก่อนผูกให้นมัสการพระภูมิเจ้าที่นาบอกกล่าวเทวดา จากนั้นก็เชิญขวัญแม่โพสพ ผูกแล้วก็ให้เก็บขวัญข้าวกลับมา

"ส่วนครั้งที่ 2 จะทำเมื่อข้าวอุ้มท้องคือเมื่อต้นข้าวเติบโตได้ประมาณ 2 – 3 เดือน ในวันเพ็ญเดือน 12 ตอนบ่ายราว 15.00 – 17.00 น. ชาวนาผู้หญิงออกไปทำพิธีเมื่อวันแรกนา โดยจะจัดเครื่องสังเวยใส่ชะลอมใส่ ส้ม กล้วย และอ้อยควั่น มะพร้าวอ่อน นอกจากนี้ยังเปรียบข้าวช่วงตั้งท้องว่าเหมือนกับหญิงที่ตั้งท้องที่ต้องการความสวยงามจึงต้องน้ำแป้งหอม น้ำมันหอม กระจกและหวีใส่พานไปด้วย จากนั้นนำชะลอมเครื่องสังเวยผูกเข้ากับไม้ไผ่ที่ปลายมีธงรูปสามเหลี่ยมทำด้วยกระดาษสี แล้วนำแป้งหอม น้ำมันหอมประพรมใบข้าว ลูกใบข้าว หวีใบข้าว เป็นการแต่งตัวให้ต้นข้าว จากนั้นก็รับขวัญข้าวเอาใจแม่โพสพ เหมือนกับคนท้องที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่" อรไท คนเดิมกล่าว

พอครั้งที่ 3 จะทำขวัญข้าวเมื่อเก็บเกี่ยว โดยหลังจากเกี่ยวและนำข้าวมากองที่ลานเสร็จแล้ว จะไปเก็บรวงข้าวที่ตกอยู่ในนาเรียกว่า อันเชิญข้าวแม่โพสพ ใส่กระบุงนำไปไว้ในลานนวดข้าว เมื่อเสร็จการทำบุญจะนำฟางมาปนกับรวงข้าวนี้ผูกเป็นหุ่นแม่โพสพ

สำหรับครั้งสุดท้ายจะทำก่อนขนข้าวเข้ายุ้ง โดยจะต้องจัดทำบุญลานหรือบุญกองข้าวโดยนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นที่ลาน พอวันรุ่งขึ้นช่วงเช้าจะทำบุญตักบาตรที่ลานอีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์จะนำน้ำมนต์ไปประพรมข้าวแม่โพสพที่เก็บไว้เป็นข้าวปลูกทำพันธุ์เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นก็ขนข้าวขึ้นยุ้งแล้วนำหุ่นแม่โพสพ ไปวางบนกองข้าวที่จะทำพันธุ์ แล้วจึงกล่าวเชิญแม่โพสพให้รักษาข้าวที่จะทำพันธุ์ไม่ให้มีมดมีแมลงมารบกวนก็เป็นอันเสร็จพิธี

*ภาคเหนือ

สำหรับพิธีบูชาแม่โพสพของชาวไทยในแถบภาคเหนือนั้น มีความเชื่อว่าเทวดาและเทพธิดาจะสิงสถิต และรักษาสิ่งต่างๆ เทพธิดารักษานา รักษาข้าว ได้แก่ เทพธิดาโพสพ ชาวนาจึงทำพิธีบวงสรวงเทพธิดาโพสพเพื่อเป็นสิริมงคลและคุ้มครองรักษาข้าวในนา โดยจะสร้างศาลเล็กๆ สำหรับเป็นที่สถิตของแม่โพสพ จะตั้งติดอยู่กับเสาหลักซึ่งสร้างขึ้นในที่นาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ชาวนาจะเซ่นด้วยเครื่องพลีกรรม เครื่องสังเวย เพื่ออันเชิญให้แม่โพสพมาสถิตในศาล ชาวนาจะปลูกข้าว 9 หน่อด้วยมือขวาบริเวณหน้าศาลแม่โพสพ ในแต่ละมุมของที่นาชาวนาจะปักไม้ไผ่สานเป็นรูป 6 มุม เรียกว่า ตาเหลว แล้วเอาด้ายสีขาวเวียนขวารอบเสาทั้งสี่ที่ติดตาเหลวไว้ ถือเป็นเครื่องป้องกันแม่โพสพและพืชที่ปลูกให้พ้นจากการทำลาย

"ในภาคเหนือจะมีชนเผ่าหลากหลาย อย่างเช่นไทยยวนจะมีพิธีสู่ขวัญเข้าหรือเรียกว่าขวัญข้าว โดยจะจัดเครื่องคารวะทั้งหลายไปพิธีที่เริ่มปลูกข้าวพร้อมทั้งกล่าวคำโวหารอัญเชิญข้าวไปสู่ยุ้งฉาง แต่หากติดขัดไม่สามารถทำเต็มพิธีการได้ ก็จะให้พ่อนาจัดกระทงไปขอขมาแม่โพสพและอธิษฐานเชิญไปอยู่ในยุ้งก็ได้เช่นกัน จากนั้นจึงเริ่มเกี่ยวข้าว นวดข้าว

"ส่วนไทลื้อจะมีความแปลกตรงที่เครื่องเซ่นจะใส่ขันโตกที่สานด้วยไม้ไผ่ ธูปเทียน 8 คู่ มีเบี้ย เชี่ยนหมาก นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องแต่งตัวจำพวก สร้อย แหวน เสื้อผ้า และมีน้ำส้มป่อย ข้าวเปลือก ข้าวสารอย่างละ 1 ถ้วยและจะต้องมีแห ฟังทอง ฟักเขียว หน่อกล้วย อ้อย ขนมต้ม แต่ที่บอกว่าแปลกคือตรงขันโตกจะมีบันไดจำลองเล็กๆ วางพาดไว้ ส่วนใต้บันไดจะมีขันน้ำวางไว้เผื่อให้แม่โพสพล้างเท้า" อรไท คนเดิมกล่าว

*ภาคใต้

สำหรับภาคใต้ของแดนดินถิ่นด้ามขวานทองแห่งนี้ การทำขวัญข้าวมี 2 ขั้นตอน ขั้นแรก ทำเมื่อข้าวในนาเริ่มสุก เรียกว่า การรวบข้าว หรือ การผูกข้าว โดยหมอทำขวัญจะเอาไม้ผูกกับใบพรมคด ปักเป็นหลักลงในนาตรงที่ข้าวออกรวงสวยงามสมบูรณ์ที่สุด แล้วรวบต้นข้าวโดยรอบสัก 5 – 6 กอ มาผูกกับหลักด้วยย่านลิเภา ด้ายข้าวและด้ายแดง ก่อนผูกให้กวักมือเรียกขวัญแม่โพสพไปทั้ง 4 ทิศ ผูกแล้วสวดแหล่ทำขวัญ เชิญขวัญแม่โพสพแล้วทำการผูกขวัญแม่โพสพไม่ให้ไปไหน เพื่อให้อยู่คุ้มครองข้าวและเจ้าของนาให้ปลอดภัย ข้าวส่วนที่ผูกมัดไว้นี้เป็นข้าวขวัญสำหรับเก็บไว้บูชาและแพร่พันธุ์ต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 ทำหลังจากเก็บเกี่ยวและขนข้าวขึ้นยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว นิยมทำในวันธรรมสวนะโดยเฉพาะคืนวันเพ็ญ ในเดือน 6 หรือ เดือน 9 สิ่งที่ต้องใช้ได้แก่ ขนมขาว ขนมแดง ขนมโค ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า กล้วย อ้อย ถั่ว งา กุ้ง ปลาสลาด บานศรี หมากพลู 3 คำ เทียน 1 เล่ม แหวน ถ้วยใส่ข้าวขวัญ สายสิญจน์ ในการทำพิธีหมอสู่ขวัญจะนำสิ่งของต่างๆ วางบนยุ้งข้าว แล้วจึงวงสายสิญจน์รอบบายศรีและเครื่องบูชาในพิธี พร้อมๆกับสวดบูชาพระรัตนตรัย ชุมนุมเทวดาแหล่บททำขวัญจบแล้วสวดชยันโตอำนวยพรแก่แม่โพสพ ว่าคาถาปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้แม่โพสพอยู่ประจำยุ้งข้าวเป็นเสร็จพิธี สำหรับถ้วยขวัญข้าวให้เก็บไว้บนกองข้าวตลอดปีห้ามเคลื่อนย้าย

*ภาคอีสาน

ในแถบภาคอีสานซึ่งเป็นภาคที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศไทยนั้น นิยมเรียกพิธีทำขวัญข้าวว่า ขวัญเข่า ซึ่งจะเรียกในวันเพ็ญเดือน 11 ระยะที่ข้าวกำลังตั้งท้อง โดยจะถือเคล็ดให้ผู้เรียกขวัญจะเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว สำหรับอุปกรณ์ในการเรียกขวัญข้าวหลักๆ ก็จะมี กรวย ดอกไม้ ข้าวต้มมัด กล้วย แป้งผัดหน้า น้ำมันแต่งผม ขี้ผึ้งสีปาก หมาก พลู บุหรี่ ต้นอ้อย รวงข้าว ต้นข้าว ผู้เรียกขวัญจะปักต้นอ้อย ไม้ไผ่ที่มุมคันนาที่หัวนาทิศเหนือ แล้ววางอุปกรณ์ต่างๆ บนตะแกรงไม้ไผ่ แล้วจึงกล่าวคำเรียกขวัญแม่โพสพ

"จะสังเกตเห็นได้ว่าของที่นำมาทำขวัญข้าวนั้น ส่วนใหญ่ก็คือของพื้นบ้าน พื้นถิ่นที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้น อย่างเช่นที่ภาคอีสานมีข้าวเหนียว สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนอีสานที่กินข้าวเหนียวในชีวิตประจำวัน แต่ที่ขาดไม่ได้คือหมาก พลู ที่จะต้องมีเหมือนกันทุกภาคในการทำพิธี" อรไทให้ข้อคิด

ต่อมาเมื่อข้าวแก่ก็จะเริ่มทำพิธีเด็ดรวงเข่า (ข้าว) เอาวัน (เอาฤกษ์) เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ผู้ทำพิธีจะนั่งบนคันนาหันหน้าไปทิศตะวันออก กราบ 3 ครั้ง แล้วกล่าวคำทำพิธีเด็ดรวงข้าวเอาวันอันเชิญแม่โพสพเป็นมิ่งขวัญ โดยเด็ดรวงข้าวที่งามและรวงข้างที่ใหญ่ 7 รวง ใส่ผ้าพาดบ่ากลับมาบ้านนัยว่าเพื่อเป็นสิริมงคล

พอข้าวออกรวงและแก่พอจะทำการเก็บเกี่ยวแล้ว ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาของพิธีนำข้าวขึ้นลาน แต่ก่อนนำข้าวจากนามาสู่ลานนั้น จะต้องกล่าวคำอัญเชิญแม่โพสพขึ้นลาน สำหรับผู้นำข้าวขึ้นลานคือแม่บ้าน ซึ่งจะเป็นคนไปหาบข้าวแล้วนำมาวางด้านทิศเหนือของลาน สุดท้ายคือพิธีเชิญขวัญข้าว จะทำเมื่อขนขึ้นยุ้งแล้ว แม่บ้านจะไปที่นาทำพิธีเชิญขวัญข้าว โดยเก็บข้าวที่ตกหล่นตามท้องนา เริ่มด้วยเอาดินเหนียวบริเวณนามาปั้นเป็นก้อน นำไปคลุกข้าวเปลือกที่ร่วงหล่นอยู่ แล้วกล่าวคำเรียกขวัญข้าว เสร็จแล้วจึงหยิบก้อนดินเรียก 'ขวัญข้าว' แล้วนำมาห่อผ้านำกลับบ้าน ไปวางไว้ที่มุมยุ้งตรงข้ามกับประตูยุ้งข้าวก็เป็นอันเสร็จพิธี

แม้ว่าการทำขวัญข้าวจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แต่หัวใจหลักๆ คือ การระลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพและยังสื่อถึงความหวังที่จะให้ผลผลิตของตนนั้นผลิดอกออกรวงอย่างแข็งแรง เติบใหญ่เป็นต้นข้าวที่จะสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งพิธีกรรมบูชาข้าว บูชาแผ่นดินเหล่านี้ ก็เป็นเฉกเช่นพิธีกรรมโบราณอื่นๆที่นับวันมีแต่จะค่อยๆ หมดไปจากสังคมไทย

*******************

เรื่อง - ณกมล ปราโมช ณ อยุธยา












กำลังโหลดความคิดเห็น