xs
xsm
sm
md
lg

ห้องนิทรรศการ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ แด่ปูชนียบุคคลของชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธรรม คือ อำนาจ มิใช่ อำนาจ คือ ธรรม” คือหลักการที่ ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ยึดถือในการดำเนินชีวิต และสิ่งหนึ่งที่ท่านย้ำอยู่เสมอก็คือ ความเป็นธรรมในสังคม และเสรีภาพของประชาชน ด้วยท่านต้องการเห็นเมืองไทยเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพคุณธรรมของบุคคลผู้ทรงคุณูปการต่อชาติท่านนี้ได้อย่างชัดเจน

นอกจาก อาจารย์ป๋วยจะอุทิศตนทำงานเพื่อประเทศชาติและปวงชนแล้ว ท่านยังเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลอันเป็นที่รักและเชิดชูของบรรดานักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้จัดสร้าง ‘หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์’ และ ‘ห้องนิทรรศการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ เป็นเครื่องระลึกและเป็นเกียรติประวัติแก่อาจารย์ป๋วย โดยเลือกวันที่ 9 มี.ค.2549 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ป๋วยเป็นวันทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น.-12.00 น.

นอกจาก ‘หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ซึ่งผนวกเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ากับฐานความรู้แขนงต่างๆที่เปิดให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป 7 วันต่อสัปดาห์แล้ว จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ‘ห้องนิทรรศการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ซึ่งรวบรวมประวัติและผลงานในแต่ละช่วงชีวิตของอาจารย์ป๋วยไว้อย่างครบถ้วน โดยนำเทคโนโลยีมัลติมีเดียมาผสมผสานในการนำเสนอ และ ‘ห้องสืบค้นชีวิตและงานของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ซึ่งเก็บรวบรวมหนังสือต่างๆ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วย รวมทั้งได้นำข้าวของเครื่องใช้ของอาจารย์ป๋วยมาจัดแสดงไว้ด้วย โดยทั้ง 2 ห้องดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมทุกวัน

สำหรับ ‘ห้องนิทรรศการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ นั้นถูกแบ่งออกเป็น 6 โซน คือ โซนที่ 1 ชีวิตสามัญชน เป็นการนำเสนอช่วงชีวิตของอาจารย์ป๋วย ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจนถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และสมรสกับ นางสาวมากาเร็ต สมิท ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงการเลี้ยงดูบ่มเพาะโดยมี‘แม่’เป็นเบ้าหลอม ทำให้อาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีมานะและซื่อสัตย์

อีกทั้งยังทราบว่า ‘ป๋วย’ เป็นภาษาจีนซึ่งแปลว่า “โคนดินที่โคนไม้” แต่มีความหมายกว้างขึ้นไปอีกคือ ‘บำรุง’ ‘หล่อเลี้ยง’ ‘เพาะเลี้ยง’ และ ‘เสริมกำลัง’

และส่วนสุดท้ายของโซนนี้ได้กล่าวถึงความรักชาติของอาจารย์ป๋วย โดยในช่วงที่ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจึงได้สมัครเข้าเป็นทหารอังกฤษเพื่อที่จะได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย โดยใช้ชื่อรหัสว่า ‘เข้ม’ ครั้งนั้นท่านได้เข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย โดยโดดร่มลงที่ จ.ชัยนาท แต่ถูกจับได้ แต่ภายหลังเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามจึงได้รับการปล่อยตัว

โซนที่ 2 เศรษฐกิจไทยยุคนายป๋วย ซึ่งเสนอชีวิตของอาจารย์ป๋วยในช่วงที่เข้ารับราชการที่กระทรวงการคลัง โดยละทิ้งโอกาสในการทำงานกับบริษัทเอกชน จนได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในที่สุด

การทำงานด้านเศรษฐกิจของอาจารย์ป๋วยนั้นต้องต่อสู้กับอำนาจการเมืองที่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือครั้งที่อาจารย์ป๋วยไม่ยอมยกเลิกค่าปรับที่ทางสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ต้องจ่ายให้แก่แบงก์ชาติ ตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และความขัดแย้งหลายครั้งหลายคราส่งผลให้ท่านต้องลี้ภัย โดยไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษแทน

อาจารย์ป๋วยแสดงให้เห็นว่าท่านไม่มุ่งหวังลาภยศ โดยปฏิเสธข้อเสนอของจอมพลสฤษดิ์ที่จะสร้างตึกให้แทนบ้านพักชั้นเดียวของท่าน รวมทั้งปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพราะมองว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่เกรงกลัวอำนาจของจอมพลสฤษดิ์แม้แต่น้อย จนที่สุดจอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งให้อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

โซนที่ 3 การศึกษาเพื่อมวลชน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงานของอาจารย์ป๋วยที่มุ่งพัฒนาด้านการศึกษา โดยท่านยอมทิ้งเงินเดือนของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างปี 2516-2518 เพื่อทดแทนคุณสถาบันที่ท่านได้เล่าเรียนมา อาจารย์ป๋วยได้พัฒนาตำราเรียนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในสมัยนั้น ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานทางวิชาการที่มั่นคงของธรรมศาสตร์

โซนที่ 4 การพัฒนาชนบท นำเสนอช่วงชีวิตในการทำงานด้านการพัฒนาชนบทของอาจารย์ป๋วย ซึ่งในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้ริเริ่มโครงการพัฒนาชนบทหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำแม่กลอง พร้อมทั้งนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์มาเข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสาด้วย

โซนที่ 5 การเมืองเพื่อประชาชน เป็นการนำเสนอช่วงของอาจารย์ป๋วยที่มีความเกี่ยวพันและได้รับผลกระทบจากการเมืองมากที่สุด โดยกล่าวถึงจุดเปลี่ยนในแนวคิดทางการเมืองของอาจารย์ป๋วยจากการวิจารณ์การเมืองในเชิงศีลธรรมมาสู่การวิจารณ์ในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการคัดค้านการรัฐประหารในปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยการเขียนจดหมายถึงจอมพลถนอม ในนาม ‘นายเข้ม เย็นยิ่ง’ ซึ่งเป็นชื่อรหัสเมื่อครั้งเป็นเสรีไทย

โดยมีข้อความสำคัญคือ “โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นโดยเร็วที่สุด...โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญ มีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว” แต่เมื่อจอมพลถนอมไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบรับใดๆ อาจารย์ป๋วยจึงนำจดหมายดังกล่าวมาออกตีพิมพ์เป็นจดหมายเปิดผนึก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียกร้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะจดหมายดังกล่าวทำให้ผู้ฝักใฝ่เสรีภาพกล้าที่จะออกมาเรียกร้องมากขึ้น

และขณะที่บริบททางการเมืองในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างนักศึกษา-ประชาชน กับรัฐบาลทหาร อาจารย์ป๋วยก็ได้เสนอแนวคิด ‘สันติประชาธรรม’ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคม ในช่วงดังกล่าวอาจารย์ป๋วยถูกมรสุมทางการเมืองกระหน่ำซัดอย่างหนัก เพราะนอกจากท่านมีความสนิทสนมกับ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบแล้ว การแสดงความเห็นทางการเมืองของอาจรย์ป๋วยยังถูกใช้เป็นข้ออ้างของฝ่ายเผด็จการในการจัดการกับท่านอีกด้วย

ในช่วงเดือนตุลาคม 2519 เกิดการจลาจลและมีปะทะกันระหว่างนักศึกษา-ประชาชน กับตำรวจ มีการกล่าวหาว่าอาจารย์ป๋วยเป็นผู้ยุยงให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทหาร เป็นเหตุให้อาจารย์ป๋วยต้องลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีฯ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และขณะที่อาจารย์ป๋วยกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศตามคำแนะนำของอาจารย์หลายท่าน ทหารได้มีคำสั่งให้มีการจับกุมอาจารย์ป๋วย แต่ในที่สุดอาจารย์ป๋วยก็สามารถลี้ภัยไปยังอังกฤษได้สำเร็จ

ซึ่งในโซนนี้นอกจากภาพที่นำมาจัดแสดงแล้วยังมีการฉายวิดีทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์การเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

และโซนสุดท้ายคือ โซนที่ 6 ความเงียบเหงาในต่างแดน กล่าวถึงช่วงชีวิตของอาจารย์ป๋วยภายหลังจากลี้ภัยไปต่างแดน ซึ่งท่านได้เดินทางตรากตรำไปชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จนกระทั่งล้มป่วย หลังจากเหตุการณ์สงบท่านได้กลับมาเยี่ยมเยียนญาติๆ และเพื่อนฝูงที่เมืองไทยบ้างเป็นครั้งคราว และใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในต่างแดน จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 ด้วยวัย 82 ปี

การได้เรียนรู้และศึกษาชีวิตของอาจารย์ป๋วย สามัญชนผู้คิดและทำเพื่อสามัญชนโดยแท้นั้น นับเป็นแบบอย่างที่ทรงคุณค่าของชาวไทย

วนิดา จันทนทัศน์ หัวหน้าหอสมุด ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ กล่าวถึงปณิธานในการจัดสร้าง ‘ห้องนิทรรศการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ของชาวธรรมศาสตร์ ว่า ห้องนิทรรศการดังกล่าวสร้างขึ้นบนแนวคิดที่ต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ ความคิด และผลงานของอาจารย์ป๋วย สามัญชนที่ได้สร้างคุณูปการมากมายให้แก่ประเทศชาติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม การเมือง และจริยธรรม เพื่อกระตุ้นเตือนและเป็นแบบอย่างให้คนไทยนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

“ชาวธรรมศาสตร์และบรรดาศิษย์เก่าของอาจารย์ป๋วยร่วมมือกันเต็มที่เพื่อสร้างหอสมุดและห้องนิทรรศการ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่พวกเราจะทดแทนคุณของท่านได้ ดิฉันเคยเป็นนักศึกษาในสมัยที่อาจารย์ป๋วยท่านเป็นอธิการบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ถึงแม้ดิฉันจะไม่ได้เรียนในคณะของท่านแต่ก็รับรู้ถึงคุณงามความดีที่ท่านมีต่อมหาวิทยาลัย ท่านมีเมตตาแก่นักศึกษามาก จริงๆ แล้วในช่วง 6 ตุลา 19 ท่านห้ามไม่ให้นักศึกษาออกมาชุมนุมเพราะเกรงนักศึกษาจะได้รับอันตราย แต่กลับถูกกล่าวหาเป็นผู้ยุยง เป็นคอมมิวนิสต์ ” วนิดา กล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

และวลีหนึ่งของ ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ’ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวธรรมศาสตร์ก็คือ “ในชั่วชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งๆ บางคนให้น้อยแต่โลภมาก บางคนให้มากและทวงเอามากๆ คุณครูให้มากจนหมดและพึงพอใจในสิ่งน้อยที่ได้รับ”

************************

เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน







กำลังโหลดความคิดเห็น