xs
xsm
sm
md
lg

2 ทศวรรษ (หนัง) การเมือง 'ต้องห้าม'!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าหากภาพยนตร์คือกระจกเงาบานหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของช่วงระยะเวลาที่มันเกิดได้เป็นอย่างดี…และถ้าหากภาพยนตร์คือสมุดบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเล่มหนึ่งได้อย่างมีแง่มุมคมคาย และหลากหลายแล้วล่ะก็

ในบ้านเราเอง ภาพเรื่องราวต่างๆ ที่มองเห็นจากการส่องกระจกและเปิดอ่านสมุดบันทึกเล่มนี้ก็คงจะเป็นราวกับความฝัน ฝันหนึ่งที่แม้จะบอกเรื่องโดยรวมๆ ได้ แต่ก็คงจะกระท่อนกระแท่นในรายละเอียดพอสมควรทีเดียว

...............

*เปิดปูมประวัติศาสตร์หนังสังคม-การเมืองของไทย

แม้บทบาทโดยตรงของสื่อ 'ภาพยนตร์' จะทำหน้าที่เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก หากแต่ในทางอ้อมเป็นที่รู้กันว่ามันคือสมุดบันทึกประวัติศาสตร์เล่มสำคัญหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งในเชิงของสังคม แฟชั่น รูปแบบการใช้ชีวิตของคน แนวคิดของปัจเจกบุคคล หรือแม้กระทั่งโครงสร้างของการเมืองกลไกของรัฐบาลในยุคนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งเจตนาที่เกิดขึ้นโดยตรงรวมทั้งเจตนาที่เกิดขึ้นมาจากความไม่ตั้งใจก็ตามแต่

คงไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ นัก หากเราจะพบว่าจำนวนของภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่ในเชิงบอกเล่าถึงสภาพของสังคมและการเมืองในบ้านเราจะมีจำนวนไม่มากนัก สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่มีอะไรสลับซับซ้อนไปกว่าเหตุผลที่ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่ออกมาจะเป็นแง่มุมที่แสดงถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากระบอบการปกครอง รวมถึงสภาพชีวิตในด้านที่ไม่โสภาของคนในสังคม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เหล่าชนชั้นผู้ปกครองที่มีอำนาจทั้งหลายไม่พึงปรารถนาให้ใครได้รับรู้ จนนำมาซึ่งความพยายามในการที่จะปกปิด

ถ้าดูดีมีความคิดหน่อยก็ใช้ 'กฎหมาย' มาเป็นข้อ 'กำหนด' แต่ถ้าเลวร้ายก็ใช้ 'กฎหมู่' มาเป็น 'ข้อบังคับ'

เรื่องแปลกที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปริมาณของหนังวิพากษ์สังคมเช่นนี้มีปริมาณน้อยมาจากการใช้อำนาจของชนชั้นผู้ปกครองที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบแบบไทยๆ ที่ต้องการปิดกั้นเสรีภาพและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนทั่วไปเพราะเกรงกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะมาบั่นทอนอำนาจที่ตนเองมีอยู่

ทว่าจากบทความ 'หนังไทยกับการสะท้อนภาพสังคม (2516 - 2529)' ของอัญชลี ชัยวรพร ฉายภาพให้เห็นช่วงที่สังคมไทยอยู่ในยุคช่วงการเมืองร้อนแรงและผกผันมากที่สุดกลับแสดงถึงข้อมูลอย่างชัดเจนว่า ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองเป็นช่วงเวลาที่มีหนังไทยทั้งส่อเสียด ล้อเลียน ประชดชัน รวมทั้งตีแผ่ให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่ถูกกดขี่ ข่มเหง จากชนชั้นผู้ปกครองซึ่งใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบออกมามากมาย แม้ผู้ที่ผลิตเองจะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็ตามที

ไล่ไปตั้งแต่ 'โทน' ของเปี๊ยก โปสเตอร์, 'เขาชื่อกานต์' ของท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ที่บอกเล่าถึงการคอร์รัปชันโดยตรงจนต้องมีปัญหากับกองเซ็นเซอร์, 'ตลาดพรหมจารี' ของสักกะ จารุจินดา, 'เทพธิดาโรงแรม' ของท่านมุ้ย ที่มีฉากหนึ่งจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือ แม้กระทั่งยุคที่คนทั่วไปพูดกันแต่เรื่องของระบอบประชาธิปไตยจนฟุ้งเฟ้อไปหมด มีหนังอย่าง 'เทวดาเดินดิน' (ท่านมุ้ย), 'ฝนแสนห่า' ของยุทธนา มุกดาสนิท เรื่องนี้สร้างไม่เสร็จเพราะติดขัดในเรื่องงบประมาณ ซึ่งในยุคนี้เองนอกจากจะมีหนังที่เกิดจากมุมมองของประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นพวก 'ซ้าย' แล้ว ฟากรัฐเองก็ได้ใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือโฆษณาและตอบโต้เช่นกันนั่นก็คือ 'ห้าแผ่นดินเพลิง' ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านและชี้ให้เห็นความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน

ปี 2518 ไพลิน จงสกุล, ยุทธนา มุกดาสนิท สุรสีห์ ผาธรรม ร่วมกันทำ 'ทองปาน' ที่กลายเป็นหนังต้องห้ามฟากรัฐบาลและทำให้กลุ่มผู้สร้างถูกจับกระทั่งคนทำหลายคนต้องหนีเข้าป่า ช่วงปี 2521-2523 มี 'ครูบ้านนอก', 'เทพธิดาบาร์ 21', 'น้ำค้างหยดเดียว', 'เมืองขอทาน' แม้กระทั่งหนังรักอย่าง 'แผลเก่า' ของ เชิด ทรงศรี ที่สะท้อนถึงความแตกต่างของสังคมเมืองและชนบท รวมถึง 'ประชาชนนอก' ของมานพ อุดมเดช ที่ตีแผ่ให้เห็นถึงการคอร์รัปชันของข้าราชการไทยในภาคอีสาน หนังเรื่องนี้ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางการ ถึงขนาดที่ตัวของผู้กำกับพร้อมทีมงานต้องถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านกระทั่งต้องหยุดการถ่ายทำนานถึง 6 เดือน

*ประสบการณ์อันขมขื่นจาก 2 ผู้กำกับ

"ยอมรับว่าน้อยมากนะ ที่มันน้อยเพราะว่าไม่มีใครกล้าทำ เพราะเซ็นเซอร์บ้านเรามันใช้กฎเก่า ซึ่งจะระบุว่าการทำหนังต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งมันกว้างมาก ก็แล้วแต่ว่าเขาจะบอกว่าอันไหนถูก อันไหนผิด คนก็เลยไม่กล้าทำ..." เป็นคำบอกเล่าจากยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับชื่อดังบอกถึงสาเหตุที่ทำให้ในช่วงระยะหลังๆ มีหนังไทยที่เกี่ยวกับการเมืองออกมาน้อยมากแทบนับจำนวนได้นับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมากระทั่งถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางด้านของความตกต่ำโดยรวมของอุตสาหกรรมหนังไทย หรือแม้กระทั่งรสนิยมของคนดูที่เปลี่ยนไปเพราะการเข้ามาของหนังตะวันตกที่มีคุณภาพและดูสนุกมากกว่า ทว่าในแง่ของการเมืองที่ 'เข้าใจ' กันว่า เรากำลังยืนอยู่ในสังคมของระบบประชาธิปไตยเต็มใบที่ให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอันชอบธรรมอย่างเต็มที่ของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องมาโดยตลอดแล้ว ปริมาณที่น้อยเหล่านี้ชวนให้น่าสงสัยเหลือเกินว่าสิ่งที่เราเข้าใจกันนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่?

"เพราะเซ็นเซอร์บ้านเราไม่ชัดเจนพอว่าเราจะทำได้ประมาณไหนเพราะมันมีหลักใหญ่ตั้งแต่ ร.7 มั้ง ที่ออกกฎหมายข้อนี้ถึงตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ ขัดต่อศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทีนี้เมื่อหัวข้อเป็นอย่างนี้มันไม่รู้ว่าแค่ไหนเหรอความสงบไม่สงบ ใช่มั้ย เพราะหนังต้องสะท้อนภาพจริงอยู่แล้ว ไม่ว่าเราทำยุคสมัยไหนออกมา เพราะฉะนั้น เมื่อมันเสี่ยงต่อการมีปัญหา ใครเขาจะมาลงทุนด้วย

"ถ้าโดนเซ็นเซอร์เนี่ยก็ระงับการฉาย กว่าจะอุทธรณ์-ฎีกา ขั้นตอนมันก็เป็นเดือนเป็นปี ผู้ลงทุนก็ไม่กล้า หนังมันก็ดองแล้วเก่าแล้ว มันอาจจะผ่านออกมาได้ในที่สุดโดยอาจจะตัดออกสัก 10 - 20 แห่งคนมันก็ไม่ดู เพราะฉะนั้น มันก็เริ่มจากจุดแรกที่ว่าไม่มีคนทำเพราะไม่กล้าทำ กลัวขัดกับกฎหมายเซ็นเซอร์และหนังไม่ได้ออกฉายเป็นหลัก"

ผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับยุคแรกๆ ซึ่งบุกเบิกในเรื่องของหนังที่สะท้อนสังคมรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในผู้กำกับยุคแรกๆ บอกว่าในช่วงระยะกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยส่วนตัวแล้วตนแทบจะบอกได้ว่าหนังบ้านเราไม่มีการพูดถึงการเมืองโดยตรงเลย ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็เป็นไปเช่นนั้นจริงๆ แม้จะมีความพยายามใส่ประเด็นที่ว่านี้ลงไปบ้าง อาทิ 'กาเหว่าที่บางเพลง', เรื่องของตำรวจกับอาชญากรอย่าง 'ซุ้มมือปืน', '102 ปิดกรุงเทพปล้น', 'อั้งยี่' ฯลฯ หรือจะเข้าใกล้กว่านั้นอย่าง 'ยุวชนทหาร', '14 ตุลาสงครามประชาชน' รวมถึง 'ชายชาติอาชาไนย' หนังจำลองภาพชีวิตของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา

"คู่กรรม 2 เป็นหนังการเมืองเหรอครับ ถ้าอย่างนั้นนับเหรอ ผมว่านั่นก็หนังรักน่ะใช่มั้ย แค่มีฉาก 6 ตุลาเข้ามาเกี่ยวข้องมั้ง เหมือนคู่กรรม 1 ที่มีสงครามโลกเข้ามาเกี่ยว ผมว่ามันเป็นแบ็กกราวนด์เท่านั้นเอง ที่ชัดใกล้เคียงหน่อยก็ 14 ตุลาน่ะ ที่บัณฑิต (ฤทธิ์ถกล) ทำน่ะ แต่มันก็ไม่ชัดนะว่าสะท้อนภาพการเมืองอะไร มันก็สะท้อนภาพชีวิตของคนที่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า มันไม่เห็นการนอกกติกาหรือการเล่นการเมืองเหมือนหนังฝรั่งต่างๆ ว่าอย่างเหตุการณ์คุณทักษิณตอนนี้ที่ใครได้แล้วยึดติดอยู่กับเก้าอี้อย่างตอนนี้ก็มีมาตั้งแต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร เนี่ยก็ไม่มีใครกล้าแตะน่ะ ที่จริงมันก็เป็นเรื่องที่เจเนอรัล แล้วก็ถ้าว่ากันมันก็น่าสนใจน่ะ แต่มันก็ไม่มีน่ะ

"โปรเจกต์ '2482' ที่ผมเคยทำแล้วก็ต้องพับไป คือมันก็ไม่ได้เป็นหนังการเมืองในอุดมคติอะไรจนต้องอยากจะทำ แต่มันก็เป็นการเมืองที่น่าสนใจ คือมีอยู่ช่วงหนึ่งผมก็อยากทำหนังเรื่องนี้คือเป็นช่วงสมัยชีวิตของจอมพล ป. การที่สร้างปัญหาขึ้นมาว่าที่มีการลอบฆ่าเพื่อที่จะให้ตัวเองขึ้นมาเป็นนายกให้ได้น่ะครับ ซึ่งโดยการฆ่าคนอะไรต่างๆ มันก็เป็นบันทึกซึ่งตามหลักแล้วเนี่ยมันเผยแพร่ได้ มันทำเผยแพร่ได้ เป็นเรื่องของบุคคลสาธารณะ แต่ว่าพอจะทำจริงๆ ก็โดนทางฝ่ายโน้นสกัด ฝ่ายนี้สกัด มันก็ไม่ได้ทำ"

เช่นเดียวกับยุทธนา ถึงเหตุผลของการมีหนังไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองออกมาน้อยมากในบ้านเราอันเนื่องมาจากเรื่องของการเซ็นเซอร์ก็คือ รศ.บรรจง โกศัลยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้กำกับหนัง 'คู่กรรม 2' , 'เร็วกว่าใจไกลเกินฝัน', 'สายน้ำไม่ไหลกลับ', 'คำสิงห์', 'นวลฉวี')

"ผมว่าผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่ค่อยมีเสรีภาพในการแสดงออกสักเท่าไหร่...

"ผมเคยจะเอาชีวประวัติของสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาทำ ก็ประทับใจในชีวประวัติของท่าน แต่ว่าพอผมเขียนบทเสร็จแล้วทางผู้อำนวยการสร้างก็ส่งไปให้กองทัพบกได้อ่านน่ะ จริงๆ แล้วผมว่าถ้าเป็นคนในสมัยนี้นะอาจจะเห็นว่าผมน่าจะยกย่องสฤษดิ์มากกว่านะครับ ซึ่งมันก็มีทั้งในแง่บวกแล้วก็ลบ แต่ว่าทางกองทัพบกแนะนำว่าไม่ควรสร้าง ก็เลยต้องยกเลิกไป

"อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะพวกเราถูกตีกรอบมากจนเกินไปรึเปล่า ไม่แน่ใจนะครับ เหมือนว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เราจะทำไม่ได้ แต่ที่ผมสอนอยู่ก็มีเด็กนักศึกษาชอบทำเยอะนะครับ โดยเฉพาะหนังทดลอง นักศึกษาธรรมศาสตร์ทำเยอะนะครับ แต่ว่าบางทีมันก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ก็เลยไม่ได้ส่งไปประกวด มีเยอะนะเรื่องของประชาธิปไตย โดยเฉพาะในวิชาภาพยนตร์ทดลองแต่ไม่ค่อยจะมีคนได้รับรู้"

*หนังการเมืองเรื่องทักษิณ (เป็นไปไม่ได้)

เหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด ที่อเมริกา เมื่อ 11 กันยายน 2544 กลายเป็นวัตถุดิบอันดีเยี่ยมของเหล่าผู้สร้างหนังหลายต่อหลายคน รวมถึงปลุกระแสความคึกคักของการทำหนังที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองของเหล่าผู้กำกับในหลายๆ ประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ 'Fahrenheit 9/11' ไมเคิล มัวร์ ซึ่งแม้จะมีทั้งคนที่สนับสนุนและด่ากันทั่วเมือง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมของเหล่าผู้สร้างที่มีต่อเรื่องการบ้านการเมืองที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับมาที่บ้านเราเอง ในขณะที่การเมืองภายใต้ผู้นำประเทศที่ชื่อ 'ทักษิณ ชินวัตร' จะร้อนระอุด้วยกระแสของการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวของนายกฯ การเดินขบวน การเปิดเวทีปราศรัย การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเมืองของคนหลากหลายฐานะอาชีพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เรื่อยไปกระทั่งความสลับซับซ้อนของระบบกลไกต่างๆ ที่ส่อให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในการบริหารประเทศของรัฐบาลแม้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าจะเป็นวัตถุดิบชั้นยอดเช่นกัน ทว่าจากปากของสองผู้กำกับที่ทำหนังเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมาก่อนกลับแสดงความคิดเห็นอย่างไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะมีใครไหมที่กล้าพอจะทำหนังโดยนำเอาองค์ประกอบที่ว่านี้มาร้อยเรียง บรรจงบอกถึงเรื่องนี้ว่า

"โห น่าสนใจครับ (หัวเราะ) ผมว่าน่าสนใจผมทำได้เลยนะ ทำแล้วสนุกด้วย...ถ้าจะทำแล้วโดยส่วนตัวนะครับมันก็เห็นไปกับกลุ่มกู้ชาติเขาทั้งหลายนี่น่ะครับ (หัวเราะ) ถ้าจะทำก็คงต้องมีเค้าโครงขึ้นมาก่อนสื่อแนวคิดถึงความไม่ชอบธรรมของสังคม เรื่องของสัมปทาน เรื่องของจริยธรรมของนักการเมืองขึ้นมาซะก่อน แล้วก็เสนอข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย เรื่องของการเรียกร้องนายกฯลาออก...อย่าง '9/11' เขาก็มีการนำเสนอภาพยนตร์ในแนวที่ไม่ต้องมีปรัชญาอะไรนะครับ

"ฉะนั้น ถ้าผมทำหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้ผมคงจะพูดถึงเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง ในขณะเดียวกันผมก็น่าจะต้องมีอะไรสอนคนดูมากกว่าที่จะไปนั่งคิดถึงปรัชญาอะไรลึกซึ้ง จริงๆ แล้วมันควรไม่ต้องเป็นปรัชญาที่ให้ไปคิดซับซ้อนนะครับแต่มันน่าจะต้องมีอะไรที่มาตีแผ่ให้คนดูได้"

แม้จะเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องที่มีผลต่อคนทุกคนและจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากทำให้คนตามทันได้ รวมถึงขนาดที่ออกปากว่าถ้าตอนนี้มีคนทำเรื่องของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ออกมาได้แล้วละก็รับรองว่าสนุกตาย... แต่ในยุคที่เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้กระทั่งการรายงานข่าวตามจอทีวีเองยังออกไปแนวทางที่ต้องเอาใจสนับสนุนผู้มีอำนาจอยู่เช่นนี้ละก็ ยุทธนาบอกว่า ก็คงจะเป็นเรื่องที่เดาได้ไม่ยากเลยว่าวัตถุดิบและความน่าสนใจที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะกลายเป็นหมันเอาได้ง่ายๆ

"ถ้าพูดถึงการเมืองในเรื่องการปกครองเลย ในฐานะผู้สร้างคงจะนึกถึงจุดมอรัลลิตี้ (morality) คือคุณค่าคุณสมบัติของมันอยู่ตรงไหน เพราะว่ามันมีผลกับคนส่วนมากเหลือเกิน เรื่องปัญหาการคอร์รัปชันที่มีอยู่มากมายมันก็น่าทำ พอเราได้ยินว่าโอ้โห! เขาคอร์รัปชันกันทีอย่างนี้ๆ เลยเหรอ หรือว่าการคอร์รัปชันในระบบราชการตอนนี้ที่ กทม.โดน16 - 17 รายการเนี่ยมันเป็นเรื่องปกติของข้าราชการแต่เราสามารถทำหนังออกมาให้คนดูพอคนดูเนี่ยจะรู้สึกว่ามันไม่ปกติ

"จริงๆ หนังมันควรจะมีหลากหลาย หนังรัก หนังครอบครัว หนังเพื่อนฝูง หนังการเมืองเนี่ยมันก็ควรจะมีอยู่ แต่ก็เห็นว่าหนังไทยเราไม่มีอย่างนั้น ซึ่งสาเหตุที่ไม่มีก็อย่างที่บอกว่าเพราะมันมีกฎหมายการตรวจภาพยนตร์ที่ไม่มีมาตรฐานแจ่มชัด สมัยหนึ่งเป็นตำรวจก็คุมเข้มไปด่าตำรวจไม่ได้ พูดถึงตำรวจเลวไม่ได้แต่ด่าคนอื่นได้ สมัยนี้ก็มีกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาเพิ่มคณะกรรมการเข้ามาอีกทีนี้ก็จะมากอดจูบมากๆ หน่อยก็ไม่ได้

"ความเป็นการเมืองมันเกี่ยวกับชีวิตคนอยู่แล้ว แล้วสังคมการเมืองเนี่ยจริงๆ มันมีสีสันมากนะ อย่างปัจจุบันนี้เราต้องคอยฟังข่าวทุกชั่วโมงนะว่าเขาจะเล่นเกมอะไรกัน แล้วมันพลิกไปพลิกมา ถ้าเป็นหนังเนี่ยมันก็น่าสนใจจะดูอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าผู้กำกับหลายคนทุกคนก็คงอยากทำอยู่ในใจลึกๆ แต่ว่าอย่างที่ผมว่าไว้เนื่องจากกฎหมายเซ็นเซอร์มันทำให้เราไม่ได้เสรีภาพของสื่อจริงๆ

"คือโดนรัฐคุมอยู่มันก็เลยทำให้เราไม่กล้าพูด แล้วเวลาเราพูดถึงมุมการเมืองเนี่ย เราก็ต้องพูดถึงมุมเนกาทีฟ คือจุดที่ไม่ดีที่บกพร่องซึ่งคนอยากรู้อยากเห็น เหมือนอย่างที่คุณสนธิพูดก็น่าสนใจ และเมื่อมันเป็นหนังมันก็ออกมาในมุมอย่างนี้ แต่รัฐเป็นผู้เซ็นเซอร์อยู่มันก็สามารถปิดกั้นได้ทันทีนะ ห้ามฉายทันที เพราะฉะนั้น การลงทุนผู้สร้าง ผู้อำนวยการสร้างก็คงไม่กล้า"

ทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าที่ชวนให้เศร้าใจแทนคนทำหนังอยู่เหมือนกัน

*****************************

เรื่อง - ภัททิรา ชิงนวรรณ์



กำลังโหลดความคิดเห็น