xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง VOA ภาคภาษาไทย หมดเวลาปี 2550

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


VOA (Voice of America) เสียงอเมริกา ซึ่งในยุคเดิมได้ถูกโลกเสรีนิยมยกให้เป็น 'เสียงแห่งความหวัง เสียงแห่งเสรีภาพ และเสียงแห่งความเสมอภาค'

ในยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เผชิญหน้าอย่างเขม็งเกลียวระหว่างโลกเสรีนิยมกับโลกคอมมิวนิสต์ ที่แบ่งค่ายคนละขั้วกันสุดโต่ง โลกอยู่ในจุดเปราะบางที่คาดว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งจะทำลายล้างโลก และสถานีวิทยุ VOA ก็คือกระบอกเสียงสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารหลักของโลกเสรีในประเทศที่เป็นพันธมิตร เป็นสงครามสื่อของอุดมการณ์ที่ทรงพลังอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น

VOA ภาคภาษาไทย ซึ่งถูกก่อตั้งมายาวนานกว่าค่อนศตวรรษ พร้อมกับ VOA ภาษาอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง กำลังจะปิดตัวลงในปี 2550 หรือปี 2007 ตามปฏิทินฝรั่ง
พาไปย้อนดูความเป็นมาของ VOA และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย


1 ความเป็นมาของเสียงอเมริกา (Voice of America)

"...The news may be good or bad -We shall tell you the truth."
William Harlan Hale : 1942


เป็นข้อความบนป้ายประกาศใหญ่ติดที่ฝาผนังบ่งถึงปณิธานของ VOA ในวันแรกที่ออกอากาศคือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2485 ค.ศ.1942 โดยผู้ประกาศข่าวคนแรกคือ วิลเลียม ฮาร์แลน เฮล

ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของ VOA รัฐบาลอเมริกันเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียง ข่าวสดสายตรง เสนอเหตุการณ์ปัจจุบันทั่วโลก รายงานข่าวเศรษกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การศึกษาและสังคม เรื่องสตรี ข่าวบันเทิงและวัฒนธรรมอเมริกัน เปิดภาคนานาชาติ 52 ภาษา แลกเปลี่ยนข่าวสารและวัฒนธรรมไปทั่วโลก

ตั้งแต่ปี 2484 รัฐบาลอเมริกันได้จัดตั้ง 'U.S.Coordinator Inter-Amarican Affain' (CIAA) ดำเนินการส่งกระจายเสียงไปยังละตินอเมริกา และจัดตั้ง 'Foreign Information Service' (FIS) เผยแพร่แนวความคิดของอเมริกาไปทั่วโลก เริ่มตั้งศูนย์กระจายเสียงที่นิวยอร์ก ระดมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์มาทำงาน ส่งกระจายเสียงไปยังยุโรปโดยถ่ายทอดเสียงไปยังสถานี 'British Broadcasting Gooperation' (BBC) ผู้ประกาศรายการนานาชาติคนแรกคือ จอห์น เฮาส์แมน หัวหน้าใหญ่ผู้ดำเนินงาน คือนักเขียนผู้ร่างสุนทรพจน์ให้ประธานาธิบดี ชื่อ โรเบิร์ต เชอร์วูด

ปี 2488 VOA จัดตั้ง 'The Office of War Information' (OWI) ตั้งสถานีกระจายเสียงให้คาซาบลังกา รัฐบาลให้งบประมาณทั้ง VOA และ CIAA ส่งกระจายเสียงต่อสู้เชิงข่าวสารกับสหภาพโซเวียต มีบทบาทสำคัญในสงครามเย็นต่อสู้กับโซเวียตและกลุ่มประเทศลัทธิคอมมิวนิสต์ชาติต่างๆ ในโลกเสรีได้แลกเปลี่ยนข่าวสารผ่านช่องทาง VOA

ปี 2493 เพิ่มภาคภาษาต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลตั้งองค์กร 'United States Information Agency' ปี 2496 เรียกชื่อย่อว่า USIA ย้าย VOA จากนิวยอร์กมาอยู่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ปี 2502 ถ่ายทอดวิกฤติการณ์ฮังการี, คลองซูเอซ ฯลฯ ไปทั่วโลก มีสาขาย่อยชื่อ USIS

ปี 2519 ประธานาธิบดีเจรัล ฟอร์ด ลงนามใน VOA Charter Public Law มีกฎบัตร (Charter) ดังนี้

1. VOA เปิดบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง แม่นยำ เป็นแหล่งข่าวชั้นนำไม่มีอคติ สร้างความเข้าใจที่แท้จริง

2. VOA คือผู้แทนของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ของบุคคลหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง นำเสนอแนวคิดที่แตกต่าง โต้แย้งกันอย่างเสมอภาค

3. VOA นำเสนอแนวนโยบายของอเมริกาอย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบ

ปี 2533 รัฐบาลมีนโยบายรวมการสื่อสารมวลชนทั่วประเทศให้ผนึกกำลังทำงานสัมพันธ์กระชับยิ่งขึ้น USIA กับ VOA ร่วมกันจัดตั้ง 'Bureau of Broadcasting' นับเป็นการพลิกโฉมหน้าใหม่ ขยายเครือข่ายครั้งใหญ่ของการสื่อสารมวลชนของโลก รวมเอา VOA, Worldnet Television and Film Service, Radio and TV Marti เป็นองค์กรเดียวกัน มีสถานีศูนย์กลางใหญ่คือ 'Office of Engineering and Technical Operation' (OETO) ควบคุมเครือข่ายการกระจายเสียงทั้งหมด มีสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์เป็นเครือข่ายสัมพันธ์เรียกว่า 'The Office of Affiliate Relations' กระจายไปทั่วโลก VOA และ Worldnet ร่วมกันผลิตรายการมากมายผ่าน OETO ไปยังดาวเทียม

ปี 2537 ประธานาธิบดีคลินตัน ลงนามจัดตั้ง 'The International Broadcasting Bureau' (IBB) เป็น Public Law แต่งตั้ง 'Broadcasting Board Governors' (BBG) ควบคุมงานกระจายเสียงนานาชาติทั้งหมด เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2538 ทุกหน่วยอยู่ในความรับผิดชอบของ OETO ส่งตรงยังดาวเทียมควบคุมการออกอากาศ 52 ภาษา ตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้สื่อข่าวประจำ 40 คน สายข่าว (Freelance) 100 คน มีเจ้าหน้าที่ 3,000 คน ในเมืองสำคัญทั่วโลก

VOA ครอบคลุมเครือข่ายข่าวทั่วทุกจุด นอกจากวิทยุกระจายเสียงแล้ว ยังผลิตรายการโทรทัศน์ภาคภาษาจีน, อาหรับ, บอสเนียน, ฟาร์ซี, สเปนิช, เซอร์เบียน รับฟังได้ทางอินเทอร์เน็ต สำหรับประเทศไทยดูได้จาก UBC News 07 ส่วนคนไทยในอเมริกาฟังการกระจายเสียงได้ที่ www.voanews.com/thai เพราะไม่สามารถรับฟังทางวิทยุได้ในอเมริกา

2อเมริกันไลเซชัน (Americanlization) กับคนไทย

อรยา สูตะบุตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอดีตผู้อำนวยการโครงการอังกฤษ-อเมริกันศึกษา มองถึงวัฒนธรรมของอเมริกาที่ส่งผลถึงชาวโลก รวมถึงคนไทยว่า มีจุดเด่นอยู่ที่การบริโภคนิยม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมอเมริกัน

"อเมริกาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคง พลเมืองมีการศึกษา และกำลังซื้อเยอะ จึงมีโอกาสและความสามารถในการบริโภคสูง รวมถึงทำให้เกิดทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าที่ดีสุดในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งการบริโภคนิยมก็แพร่หลายไปทั่วโลก"

อีกอย่างที่อเมริกาสามารถนำจุดเด่นเผยแพร่ไปทั่วโลก อรยา บอกว่าคือ วัฒนธรรมพ็อพ (Pop Culture) ซึ่งเป็นการบริโภควัฒนธรรมที่ไม่ใช่ชั้นสูง คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

"วัฒนธรรมพ็อพเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกด้าน โดยเฉพาะสื่อบันเทิง แฟชั่น และสถาปัตยกรรมอเมริกัน ซึ่งนำไปสู่การบริโภคอย่างมหาศาล เพราะคนทั่วไปสามารถสนุกและมีความสุขกับมันได้"

อิทธิพลที่แข็งแกร่งของวัฒนธรรมอเมริกันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีพลังเป็นอย่างมาก ไทยเป็นแค่ประเทศเล็กๆ ที่ไม่สามารถต่อต้านหรือหลีกเลี่ยงการรับวัฒนธรรมอเมริกันที่ทะลักเข้ามา ซึ่งจุดที่น่าสังเกตคนไทยสามารถนำมาประยุกต์ดัดแปลงปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์แบบวัฒนธรรมไทยได้ดี และนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ อรยาอธิบายทิ้งท้าย

3 เสียงจากวิทยุจุฬาฯ พันธมิตรของ VOA

เกือบ 13 ปีเต็มที่สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือวิทยุจฬาฯ เอฟเอ็ม. 101.5 MHz. ร่วมมือกับ VOA ภาคภาษาไทยนำเสนอข่าวต่างประเทศที่อยู่ในกระแสและเกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึงมีรายงานสดจากรุงวอชิงตัน ดี.ซีด้วย โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม ปี 2536

นอกจากนี้ VOA ภาคภาษาไทยยังมีเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วเมืองไทยด้วย โดยเฉพาะสถานีวิทยุของสถาบันการศึกษาและความมั่นคง

รศ.จุมพล รอดคำดี รองอธิการบดีจุฬาฯ และกรรมการผู้อำนวยการวิทยุจุฬาฯ บอกว่า ทาง VOA แจ้งมาทางวิทยุจุฬาฯ แล้;ว่า จะปิดภาคภาษาไทยในปีหน้า
 
"บอกตรงๆ ก็รู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งเหล่านี้ อยากจะเห็น VOA ดำเนินการต่อไป เพราะเป็นข่าวในมุมมองแบบเทศมองไทยที่แตกต่างออกไป ซึ่งตรงนั้นเราก็จะได้ประโยชน์ แต่หลายคนก็อาจจะมองว่าเป็นการปรอฟปรากานดาหรือการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งแอบแฝงมากับข่าวสารที่ส่งมา ซึ่งผมก็มองว่า บางส่วนอาจจะเป็น ไม่ได้คิดว่า ไม่เป็น ก็มีการโฆษณาชวนเชื่ออยู่เหมือนกัน แต่เราก็ต้องรู้จักกลั่นกรองว่า มีการโฆษณาเกินจริงไป ซึ่งเราสามารถฟังได้แต่ไม่จำเป็นต้องไปเชื่อ ต้องมีการวิเคราะห์ ถ้าฉลาดในการฟังก็ต้องรู้ว่า สิ่งไหนที่เขาเสนอมาเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นข้อเท็จจริงบวกโฆษณาชวนเชื่อ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้วิจารณญาณเหมือนกันว่า เราต้องฟังแค่ไหน ควรสกัดเอาเฉพาะข้อเท็จจริงอย่างเดียวใช่ไหม หรือจะฟังด้วยว่า อารมณ์ของอเมริกาเป็นอย่างไรในตอนนี้ มันก็สื่ออะไรบางอย่างที่จับต้องได้เหมือนกัน เป็นส่วนหนึ่งที่เราน่าจะได้จากการได้ฟังวิทยุ VOA"

วิทยุ VOA เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่ครอบครองโลก รศ.จุมพล วิเคราะห์ว่า เป็นความจริง

"เห็นได้ชัดเลยว่า เขาจะรายงานเรื่องหนังมาตลอด หนังเรื่องไหนอยู่ในท็อปเท็น เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะท้อนในการเป็นสื่อวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็รู้ว่า เขาพยายามสอดแทรกวัฒนธรรมของคนอเมริกันเข้ามา ถ้าเราฉลาดในการฟัง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องไปดูว่าหนังเรื่องไหนน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจ แต่ดูหนังอย่างพินิจพิเคราะห์ก็รู้ว่าจะรับอะไรเอาไว้บ้าง ไม่ใช่ตกหลุมไปเชื่อเขาหมดว่า หนังเรื่องนี้ดี วิธีการคิด วัฒนธรรมในหนังเป็นส่วนหนึ่งในการทำอย่างเขาบ้าง พูดง่ายๆ เราก็ตกเป็นทาสทางวัฒนธรรมของเขา เป็นเหยื่อของวัฒนธรรมไป เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักฟัง มีการกลั่นกรอง รู้จักเลือกว่าอะไรที่เหมาะสมกับคนไทยในปัจจุบัน"

ข่าวของ VOA นั้น รศ.จุมพล บอกว่า เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นมุมมองในหลายๆ ด้าน ที่ทำให้ประชาชนคนฟังได้มีแนวคิดที่หลากหลาย มีโลกทรรศน์ที่กว่างขึ้น เพราะว่าได้ฟังมุมมองที่มาจากต่างประเทศ

"คนต่างประเทศเขามองประเทศไทยอย่างไร แล้วอีกอย่างจะช่วยทำให้คนไทยได้ไตร่ตรองได้วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ถ้าเราอยู่ในกลุ่มคนไทยด้วยกัน ก็อาจจะมองในแนวคิดที่ไม่ไปไหนไกล วนเวียนอยู่ในกลุ่มเท่านั้นเอง การรายงานข่าวจากต่างประเทศ ถ้าเราคัดกรองในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงก็จะเห็นเหตุการณ์ว่า เกิดอะไรขึ้นในประเทศต่างๆ แนวโน้ม จะออกไปในรูปไหนอย่างไร สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้คนไทยได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการปิดกั้นข่าวสาร การที่จะให้ข่าวสารอยู่ในทางใดทางหนึ่งมันก็ไม่ใช่ เพราะเราจะได้มีอะไรที่หลากหลาย นี่คือสิ่งที่คิดว่าเราน่าจะได้ประโยชน์จาก VOA"

สำหรับการยุบวิทยุ VOA ภาคภาษาไทย รศ.จุมพล วิเคราะห์ว่า ถ้ามองในเชิงสังคม-การเมืองในยุคของข้อมูลข่าวสาร และการเมืองในลักษณะของโลกาภิวัตน์

"รัฐบาลอเมริกามองเห็นว่า ต้องถอนวีโอเอภาคภาษาไทย ซึ่งเราก็สามารถมองในทางการเมืองโลกเช่นเดียวกันว่า ทำไมจึงสนใจตะวันออกกลาง มีอะไรที่เขาต้องสนใจมากมาย แน่ๆ ก็คืออเมริกาได้รับผลกระทบจากโลกอิสลาม ขุมของพลังงานล้วนตั้งอยู่ในตะวันออกกลางซึ่งเป็นเส้นเลือดของสังคมอเมริกัน อเมริกาจะยอมไม่ได้ในเรื่องนี้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ถ้าเผื่อเขาต้องมาเผชิญกับการดูแลทุกส่วนในโลก จะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมากมายมหาศาล รวมถึงอิทธิพลของจีนที่มีขึ้นมาก็มิใช่น้อยที่แผ่เข้ามามีพลังขึ้นมากในเอเชีย การที่อเมริกาจะสู้และเปิดแนวรบกับทุกด้าน ก็ต้องคิดหนัก

"อีกประการหนึ่งการถอยออกไปจากวีโอเอภาคภาษาไทย ไม่เชื่อว่าจะไม่เหลืออะไรไว้ จริงๆ แล้วสังคมข่าวสารนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด เขาก็ยังมีข้อมูลข่าวสารจากประเทศไทยที่สามารถส่งตรงถึงเขาได้อีกเยอะแยะ สามารถตรวจสอบได้ว่า ประเทศไทยบรรยากาศเป็นอย่างไร อารมณ์ของคนในสังคม การเมืองเป็นอย่างไร เขาทำได้หมด เพราะฉะนั้นถึงแม้อเมริกาจะยุบหรือปิดวีโอเอภาคภาษาไทยไป"

สำหรับคนไทยแล้ว ส่วนน้อยที่จะรู้จักหรือเคยฟังวิทยุ VOA ภาคภาษาไทย แต่จะรู้จัก VOA จากข่าวที่โด่งดังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กรณีที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เสนอข่าวระบุว่า ซีไอเอ สหรัฐสร้างคุกลับ หรือแบล็กไซต์ ในประเทศไทย เพื่อกักขังสมาชิกอัลเกดา โดยระบุว่าใช้สถานที่ของสถานีวิทยุ Voice of America (VOA ) ที่บ้านดุง จ.อุดรธานี

วันนี้วิทยุ VOA ภาคภาษาไทยกำลังนับถอยหลังในการที่จะปิดตัวเองอย่างถาวร แน่นอน VOA กลายเป็นสื่อที่ล้าสมัยสำหรับยุคสมัยที่ท่วมท้นด้วยข้อมูลข่าวสารที่มาจากเทคโนโลยีสื่อที่ล้ำหน้าทันสมัยมากยิ่งขึ้น

แต่เชื่อเถอะ อเมริกันไลเซชัน สามารถไหลมาได้ในทุกช่องทางสำหรับพื้นที่ในโลกเสรีนิยมใหม่ที่มีกำลังขับเคลื่อนมาจากเศรษฐกิจทุนนิยมที่เน้นการบริโภคสูงสุดแบบสังคมอเมริกัน

********************
บันทึกแฟ้มบุคคล VOA ภาคภาษาไทยชุดสุดท้าย

ภาคภาษาไทยเป็นหนึ่งในบรรดาภาษาเริ่มแรกของวีโอเอ (Voice of America) ที่เริ่มออกอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผู้ประกาศรุ่นแรกๆ เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยในอเมริกา และเป็นภาคภาษาแรกที่เริ่มบุกเบิกการกระจายเสียงถึงผู้ฟังโดยตรงโดยอาศัยความร่วมมือจากสถานีวิทยุต่างๆ ในประเทศไทย

สำนักงาน VOA อาคาร 'Department of Health and Human Service' เลขที่ 330 Independent Avenue, SW, Washington D.C.20547 อยู่ในอาคาร 5 ชั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของ VOA ในสังกัดของ 'Broadcasting Board of Governors International Broadcasting Bureau'

สำหรับ VOA Thai Broadcasters & Staff มีเจ้าหน้าที่ของภาคภาษาไทยที่ประจำการอยู่ดังนี้

1. นิตยา มาพึ่งพงศ์ (Senior Editor) ทำงานกับวีโอเอ ภาคภาษาไทยมากว่า 20 ปีแล้ว เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ แต่ชอบภาษา จึงมีโอกาสได้ใช้ทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์และความรู้ทางภาษา

2. เจษฎา สีวาลี (Editor) ทำงานกับวีโอเอ ภาคภาษาไทยมากว่า 33 ปีแล้ว จบรัฐศาสตร์การคลังจากจุฬาฯ ได้ทุนฟุลไบร้ท์ไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทที่ Wharton School of Finance and Commerce, U. of Pennsylvania เมืองฟิลาเดลเฟีย

3. จำเริญ ตัณฑ์สมบุญ (Editor) ทำงานกับวีโอเอภาคภาษาไทยเกือบ 20 ปี เคยทำงานกับ USAID และ USIS เป็นรุ่นสุดท้ายที่สอบเข้าทำงาน VOA

5. ประภัสสร อักขราสา (Broadcaster) อยู่กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย มา 20 กว่าปี เคยทำงานอยู่กับ แผนกข่าวต่างประเทศ กองข่าว กรมประชาสัมพันธ์ เรียนมาทางภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

6. ชนิดา อังคณารักษ์ (New York City Correspondent) ผู้สื่อข่าวพิเศษประจำนครนิวยอร์ค ทำหน้าที่รายงานข่าวและสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจในด้านต่างๆ แต่งานประจำนั้นเป็นนักวิเคราะห์กฏหมายให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในย่านธุรกิจวอลสตรีท

7. จูลี่ โคคิส (Research & Production Assistant) ทำงานหลายหน้าที่ เป็นทั้งผู้ผลิตรายการ ดูแลปรับเว็บไซต์ของภาคภาษาไทยให้ทันต่อเหตุการณ์ และช่วยค้นข้อมูลและเพลงสำหรับใช้ในรายการ เรียนจบมาทางด้านมานุษยวิทยา ทางด้านกายภาค

8. อาภรณี ชาวเออร์ (East Asia & Pacific Division Research Information Center) หัวหน้าแผนกวิจัยข่าวสารและข้อมูลของ VOA เป็นผู้รวบรวมข้อมูลประกอบข่าวและเรื่องราวน่าสนใจต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ตลอดจนเรื่องแปลกๆ สนุกสนาน

*ข้อมูลบางส่วนนำมาจาก www.voanews.com/thai และบทความ-สารคดี 'เจษฎา สีวาลี บรรณาธิการข่าวสดสายตรงเสียงอเมริกา (VOA)' โดย ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ นิตยสารสกุลไทยฉบับที่ 2589 ปีที่ 50 ประจำวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2547

******************************
เรื่อง - พรเทพ เฮง














กำลังโหลดความคิดเห็น