xs
xsm
sm
md
lg

'คาดเชือก' เชือกที่เป็นยิ่งกว่าเชือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่าหลายๆ คนคงยังจำกันได้ ถึงฉากต่อสู้สุดตื่นตาตื่นใจของศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์เรื่อง 'องค์บาก' ได้เห็นกระบวนท่าลูกไม้ที่มักจะเห็นกันแต่บนหน้าหนังสือ และไม่เคยเกิดขึ้นจริงบนสังเวียนผ้าใบ ที่บรรดาโปรโมเตอร์และเซียนมวยต่างประกาศดังๆ ว่ากำลังอนุรักษ์ศิลปะมวยไทยอย่างแข็งขัน

เมื่อมวยไทยเวทีมาตรฐานย่างก้าวไปบนหนทางของตน ก็ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจศึกษามวยไทยในแบบฉบับดั้งเดิม จากการพูดคุยทำให้พบว่ายังมีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่คนทั่วๆ ไปยังไม่รู้เกี่ยวกับมวยไทย โดยเฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่า 'คาดเชือก'

คงต้องขอโทษกับคนที่หลงใหลภาพยนตร์เรื่อง 'องค์บาก' ชนิดจับจิตจับใจเสียก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะกำลังจะบอกว่าวิธีการคาดเชือกที่เห็นกันในภาพยนตร์นั้นเป็นวิธีคาดเชือกที่ผิด แล้วแบบไหนจึงจะเป็นวิธีที่ถูก?

ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกก็คือ ในการคาดเชือกนั้นยังแนบแน่นกับวัฒนธรรมและวิธีคิดต่อการฝึกศิลปะการต่อสู้แขนงที่เรียกว่า 'มวยไทย' นี้ได้อย่างลุ่มลึก

-1-

อมรกฤต ประมวญ หรือ ครูแปรง ประธานมูลนิธิมวยไชยา เขาฝึกฝน ศึกษามวยไทยสายไชยามาหลาย 10 ปี อธิบายถึงที่มาที่ไปของการคาดเชือกไว้ว่าที่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สามารถไล่เรียงไปได้ถึงยุคของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ใช้คำว่า 'คาดเชือก' เป็นรหัสลับในการก่อการกบฏ

"การคาดเชือกอาจจะมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็มี แต่เท่าที่มีบันทึกเป็นหลักฐานก็ในสมัยของสมเด็จพระเจาปราสาททองนี่ แต่ก็เป็นการแสดงว่าคนยุคนั้นรู้จักการคาดเชือกดีมาแต่เดิม"

ศักย์ภูมิ จูฑะพงศ์ธรรม เลขาธิการมูลนิธิมวยไชยา อธิบายว่าที่ต้องมีการคาดเชือกนั้นก็เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการชก

"วัตถุประสงค์ของการคาดเชือก ผมมองว่าหลักๆ เลยคือรักษากระดูก กันอาการเคล็ด อาการซ้น เพราะถ้าต่อยกันจริงๆ ต้องการทำร้ายกันจริงๆ ไม่ใส่เชือกจะดีกว่าอีก ไม่ใช่ว่าคาดเชือกแล้วจะเก่งขึ้นหรือต่อยหนักขึ้น ไม่ใช่ คนมักจะเข้าใจอย่างนั้น"

ขณะที่อมรกฤตแสดงทัศนะว่า เรื่องนี้มี 2 กรณีคือการคาดเชือกเพื่อให้เวลากำหมัดเกิดการกระชับ น้ำหนักหมัดดีขึ้น อีกข้อหนึ่งก็เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่ว่า

"การแพทย์แผนไทยมองดูว่ามันเป็นการรักษากระดูก เพราะกระดูกทุกชิ้นมันหักได้ถ้ากระแทกแรงๆ สมัยก่อนไม่มีนวมเวลาโดนเข่า โดนศอกมันแตกได้ หักได้"

-2-

ส่วนวัตถุดิบที่เอามาทำเชือกคาดหมัดนั้น เท่าที่สืบย้อนมาได้จะใช้สายสิญจน์ แต่อย่านึกไปถึงสายสิญจน์ที่เราเอามาล้อมบ้านเวลาเลี้ยงพระ เพราะสายสิญจน์ที่พูดถึงนี้เป็นสายสิญจน์ที่รวมกันเป็นใจและมีขนาดใหญ่กว่าสายสิญจน์ปกติ

อมรกฤตเล่าด้วยว่า สมัยก่อนจะใช้สายสิญจน์ที่นำมาจากการมัดตราสังศพ แม้จะติดน้ำเหลือง น้ำหนองก็ไม่เป็นไร แล้วนำมาผ่านพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ลงอักขระคาถาตามแต่ความศรัทธาของผู้นั้น

"เชือกอีกประเภทคือเชือกหลักแจว เป็นเชือกที่คนสมัยก่อนใช้ยึดแจวไว้กับตัวเรือ หาได้ตามร้านขายเครื่องมือประมงซึ่งเป็นเชือกที่ค่อนข้างนิ่ม เพราะถ้าเชือกที่ใช้ทำแข็งเกินไป เวลาชกจะเป็นการทำร้ายตัวเอง"

ศักย์ภูมิบอกอีกว่า เชือกที่ 'ทิ้ง ประดู่พลิ้ว' (ชื่อตัวเอกในหนังเรื่อง 'องค์บาก') ใช้พันหมัดสู้กับผู้ร้ายในถ้ำนั้น ไม่ใช่เชือกที่เหมาะกับการพันหมัด เพราะแข็งเกินไปคนต่อยจะเป็นฝ่ายที่เจ็บด้วย ทั้งวิธีคาดก็ผิด

"เท่าที่สืบมาจากครูมวยเก่าๆ วิธีคาดเชือกของมวยไทยในแต่ละสายจะคล้ายๆ กัน แต่จะมีหลักการพันอยู่ที่ต้องพันรองซองมือก่อนชั้นหนึ่งไม่อย่างนั้นมันจะบางเกินไป ไม่สวยด้วย และไม่หนักตามจุดประสงค์ เพราะถ้าพันหนาพอเวลาชุบน้ำลงไปมันจะหนักขึ้น เชือกที่ใช้คาดสมัยก่อนบางทียาวถึง 20 เมตร การพันมักจะเริ่มที่นิ้วโป้งไม่หนีบไว้ก็ใช้คล้องไว้ ส่วนจะพันสั้น พันยาวก็แล้วแต่ความชอบ"

การคาดเชือกเมื่อพันรอบแรกเสร็จแล้ว รอบที่ 2 จึงพันด้วยเงื่อนตะกุดเบ็ดชั้นเดียวเพื่อให้เชือกที่คาดไม่หลุด และพันเรียงขึ้นมาเรื่อยๆ จนปมที่เกิดจากเงื่อนตะกุดเบ็ดชั้นเดียวเรียงกันเป็นแนวตามสันแขนถึงสันมือ เรียกกันว่า 'แข้งสิงห์' และขณะที่ถักอยู่นักมวยก็จะบริกรรมคาถาไปด้วย เช่น คาถาสากเหล็ก ธนูมือ เป็นต้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มักได้ยินก็คือ 'ขดก้นหอย' ซึ่งเกิดจากการปั่นเชือกจนเกิดการบิดตัวเป็นปม แล้วจึงค่อยๆ จัดเรียงปมที่เกิดขึ้นบนหลังหมัดและใช้ด้ายเส้นเล็กที่เรียกว่า 'หางหนู' ร้อยยึดไว้ ก้นหอยนี้นัยว่ามีไว้เพื่อเพิ่มความคม ความแข็งให้กับเชือก อมรกฤตพูดว่า ก้นหอยนี่ก็เหมือนสนับมือดีๆ นี่เอง

"วิธีการพันเดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้แล้ว ไม่มีใครพูดถึงก็เลยพันกันแบบผ้าก๊อต พอต่อยไปก็หลุด นอกจากนั้นการคาดเชือกหรือที่ทางมวยไชยาจะเรียกว่า 'หมัดถัก' ยังเป็นการดูจิตใจของลูกศิษย์ด้วย คนที่ถักอย่างเป็นระเบียบแปลว่าคนนั้นมีสมาธิ มีความละเอียดรอบคอบ มีสติปัญญาในการเรียนรู้ ใจเย็น ดูลึกไปถึงว่าศิษย์แต่ละคนควรจะให้วิชาแค่ไหน"

ถึงตรงนี้ศักย์ภูมิเพิ่มเติมขึ้นว่า ยิ่งตอนเก็บเชือกจะยิ่งแสดงให้เห็นเลยว่าเป็นคนแบบไหน

เมื่อพูดถึงการเก็บเชือกขึ้นมาแล้วจึงถือโอกาสถามต่อเลยว่าจะต้องเก็บอย่างไร ศักย์ภูมิจึงบอกว่า

"เวลาชกเสร็จอาจจะมีเหงื่อ มีเลือด ฝุ่น ดิน ทราย ติดมากับเชือก จึงต้องมีการพันศอกก่อนคือการเก็บเบื้องต้นเพื่อเอาไปตาก ผึ่งแดด ผึ่งลม เพราะถ้าเก็บเลยมันจะอับและเหม็น จากนั้นจึงนำมาพันเป็นก้อนกลมอีกทีหนึ่ง"

ส่วนจะเอาไปวางเก็บไว้ที่ไหนนั้นก็แล้วแต่บุคคล แต่จะไม่ใช่ว่านึกจะวางไว้ตรงไหนก็วางเพราะตามความเชื่อของคนไทยแต่อดีตนั้น เชือกคาดหมัดเชื่อมโยงกับวิชาไสยศาสตร์ เป็นของมีอาคม ดังนั้น จึงต้องเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม บางคนก็จะเก็บไว้บนหิ้ง

-3-

"เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมการคาดเชือกก็ต้องพูดถึงการรำมวย จะสังเกตได้ว่าวิธีรำมวยโบราณจะขยับมืออยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดการคล้ายและสูบฉีดของกล้ามเนื้อโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ว่ากำหมัดแน่นเพื่อจะต่อยกันอย่างเดียว เพราะเมื่อคาดเชือกแล้วมือต้องสามารถจับ คว้า ใช้นิ้วได้" ศักย์ภูมิกล่าว

มีคนเคยเห็นภาพเก่าๆ ในอดีตจะสังเกตเห็นว่า นักมวยแต่ละคนจะพันเชือกไม่เหมือนกัน บางคนพันแค่ข้อมือ บางคนพันถึงครึ่งแขนท่อนล่าง แต่บางคนก็พันไปเกือบถึงข้อศอก จนมีการพูดกันว่าถ้าพันแค่ข้อมือคือมวยไชยา พันครึ่งแขนท่อนล่างคือมวยลพบุรี ส่วนถ้าพันเกือบถึงข้อศอกคือมวยโคราช

ตรงนี้อมรกฤตเผยว่า "จริงๆ แล้วโบราณไม่ได้แยกเลยว่าสายไหนต้องพันแค่ไหน แต่เป็นคนที่รุ่นหลังตั้งกันเองจากการที่เห็นภาพ รุ่นเก่านั้นมวยโบราณนั้นใครจะสมัครใจคาดสั้น คาดยาวก็ได้ ไม่ว่ากัน อย่างมวยไชยาถ้าอยากให้หมัดหนักหน่อยพันซะครึ่งแขนก็ได้ หรือถ้าเจ็บแขนอยู่จะพันให้ถึงศอกก็ได้ หรือถ้าเจอกับนักมวยที่เตะเก่งๆ ก็อาจจะพันจนถึงศอกเพื่อไว้รับเตะ"

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ยินกับบ่อยๆ เรื่องต้องเอาเชือกที่คาดเรียบร้อยแล้วไปชุบทราย ชุบเศษแก้ว หรือบ้างก็ไปไกลถึงขนาดว่าต้องเอาไปชุบน้ำปัสสาวะ อมรกฤตยืนยันว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ไม่มีจริง เป็นการพูดเพื่อให้ดูลึกลับ น่ากลัวเท่านั้นเอง

"ถ้าบอกว่าต้องโรยเศษแก้ว แล้วถามว่าสมัยโบราณเขามีแก้วตอนไหน พวกขุนนางหรือกษัตรbย์สมัยอยุธยาเวลาส่องหน้ายังใช้คันฉ่อง ใช้ทองเหลืองขัดจนเงา แล้วชาวบ้านธรรมดาๆ จะเอาแก้วมาจากไหน หรือถามว่าใช้ไหที่แตกได้มั้ย ได้ แต่สมัยก่อนมีกาวที่แห้งเร็วทันใจมีหรือเปล่า ไม่มี

"แล้วไหนจะต้องมาเรียงกันทีละชิ้น เพราะแก้วที่ทุบไปย่อมแตกออกเป็นมิติที่หลากหลาย ส่วนแหลมย่อมต้องตั้งขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าเอาคลุกลงไปก็ตำตัวเองแล้ว กาวสมัยก่อนอย่างมากก็กาวที่เขาใช้ยาเรือ กว่าจะแห้งก็เป็นคืนเป็นวัน แห้งแล้วยังแข็งจนกำหมัดไม่ได้ จะเข้าห้องน้ำ จะทำอะไรก็ลำบาก คลุกทรายก็ไม่ต่างกัน จะมีเม็ดทรายที่จมลงไปในเชือกมากกว่าที่จะโผล่ออกมา หรือต่อให้มีกาวก็ยึดให้อยู่ได้ไม่เต็มที่ ต่อยไปต่อยมาเผลอๆ เม็ดทรายจะกระเด็นเข้าตาด้วยซ้ำ"

ฉะนั้น สิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าต่อยโดนแล้วเกิดหน้าแตก ฉีกขาด จึงไม่ใช่เกิดจากกรรมวิธีพวกนี้ แต่เกิดจากวิธีการชกตามหลักวิชาของมวย เกิดจากวิธีการถักก้นหอย ความแข็งคมของเชือกก็เกิดจากน้ำเลือด น้ำหนองของศพที่ไปเอาเชือกมา หรือเกิดจากเลือดและเศษเนื้อของคู่ต่อสู้ในครั้งก่อนที่ติดมากับเชือก ผสมกับการถักไขว้ไปมาของเชือกจนเกิดมิติของความคม

"โบราณตอนต่อยหน้าพระที่นั่ง ก่อนต่อยยังต้องมีการถูมือ ถูตัว ถูหน้าให้ดูด้วยซ้ำ เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจว่าคุณไม่โกง"

สุดท้ายศักย์ภูมิแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า

"ผมจะห่วงจะแง่ของอารมณ์เวลาพูดถึงมวยคาดเชือกมากกว่า คือมวยคาดเชือกมักจะถูกเอาไปเป็นเครื่องหมายการค้าของความเถื่อน ดิบ พอพูดว่ามวยคาดเชือกเป็นต้องได้เลือfกันแน่ๆ ซึ่งที่ใช้กันทุกวันนี้เป็นแค่เครื่องหมายให้รู้ว่าคุณจะได้เห็นเลือดสดๆ คาดเชือกกลายเป็นโลโก้ของความเถื่อน ความดิบ ความสะใจของคนดู ตรงนี้ต่างหากที่พ่อค้าเอามาขาย ไม่ใช่ศิลปะของการคาดเชือก ไม่ใช่คาดเชือกแล้วเก่งขึ้นแต่กลับแย่ลง"

-4-

ทั้งหมดนี้คงช่วยไขความกระจ่างหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับการคาดเชือกได้พอสมควร
เห็นได้ชัดเจนว่าเชือกที่พาดพันอยู่บนหมัดของนักมวยไทยในสมัยโบราณนั้น ไม่ใช่เชือกอะไรก็ได้ ไม่ใช่สักแต่ว่าพันๆ ให้มันจบไป ไม่ใช่ชกเสร็จแล้วจะเก็บทิ้งเก็บขว้างก็ทำได้ ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความดิบเถื่อนอย่างที่พ่อค้าพยายามจะสื่อสารกับสังคม

แต่คาดเชือกเป็นมากกว่าเชือกหรืออุปกรณ์ต่อยตี อิงแอบกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาไทยอย่างลึกซึ้ง

และหากสังคมยังปล่อยให้เรื่องธุรกิจครอบงำศิลปะประจำชาติเช่นนี้ต่อไป สักวันหนึ่งการคาดเชือกคงสาบสูญ มวยไทยแท้คงเลือนหายไปจากความทรงจำ และมวยไทยคงเป็นได้แค่กีฬา...แต่หาใช่ศิลปะไม่

************************************
เรื่อง - กฤษฎา ศุภวรรธนกุล







กำลังโหลดความคิดเห็น