xs
xsm
sm
md
lg

กระเทียมไทย รูป รส กลิ่น รสแท้รสแม่ทำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาหารไทยขึ้นชื่อว่ามีสีสันและรสชาติจัดจ้าน ประณีตด้วยเครื่องปรุง เครื่องเทศ การปรุงแต่งตามแบบฉบับของเราเอง ทั้งต้มยำกุ้ง ส้มตำ และผัดกะเพรา แค่พูดถึงก็ชวนหิวโหย

ในบรรดาเครื่องปรุงหลักๆ สำหรับอาหารไทยคงหนีไม่พ้นน้ำปลา กะปิ หัวหอม และที่สำคัญคือ 'กระเทียมไทย' คนรับประทานทั่วๆ ไปอย่างเราๆ ท่านๆ ที่คุ้นเคยกับการกินมากกว่าการทำ ดูเป็นเรื่องลำบากเอาการถ้าจะให้นั่งแยกแยะรสชาติของกระเทียมแต่ละชนิด

ถึงกระนั้นก็เถอะ ยังมีบรรดาเกจิรสชาติบอกเล่าให้ฟังว่ากระเทียมแต่ละชนิดมันมีรสชาติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอาหารไทยแต่ดั้งแต่เดิมนั้นถูกประดิษฐ์คิดค้นให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และลิ้นคนไทย เข้าปากปุ๊บก็อร่อยกันไปในทันที

แต่ก็อย่างว่า เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไปก็ยากที่จะให้ใครต่อใครมาคอยใส่ใจกับรสชาติแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ของกระเทียมที่เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของอาหาร ในเมื่ออาหารจานนั้นยังอร่อยอยู่

ที่อยากจะบอกก็คือถ้าลองสังเกตในตลาดผักผลไม้ตอนนี้ กระเทียมส่วนใหญ่ที่เราจะได้เห็นมักเป็นกระเทียมหัวโตๆ ที่เรียกว่ากระเทียมจีนซึ่งมีราคาถูกกว่ากระเทียมไทยอย่างชัดเจน เรียกว่ากระเทียมไทยถูกตีตลาดกระเจิดกระเจิงอันเป็นผลจากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ผู้ทำมาค้าขายอาหารส่วนหนึ่งก็จำต้องใช้กระเทียมจีนแทนกระเทียมไทยเนื่องจากเกรงใจต้นทุน แต่ก็มีอีกมากที่ใช้ทั้ง 2 ชนิด

ฉะนั้น ถ้าเราลองได้สืบสาวราวรสของกระเทียมไทยกันอย่างจริงๆ จังๆ จะพบว่า ยังมีความเชื่อมโยงอีกเยอะแยะตั้งแต่ความแผกต่างด้านรสชาติ และชีวิตที่ต้องตกระกำลำบากมากขึ้นของเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม

แต่ตอนนี้ขอพูดถึงเรื่องสบายๆ ว่าด้วยอาหารการกินก่อนดีกว่า

1 เอกลักษณ์อาหารไทย รสชาติที่คุ้นเคย

ข้าว น้ำพริก ผัก ปลา อาหารหลัก น้ำพริก ผัก ยักกะสายเป็นหลายอย่าง
ทั้งคั่วแกง พะแนง ผัด รู้จัดวาง เป็นสูตรสร้างสำรับ กับข้าวไทย


บทกวีข้างต้นรจนาขึ้นโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ปี 2522 แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่คุ้นเคย คุ้นลิ้น มีส่วนผสมจากพืชผักสมุนไพรและที่ขาดไม่ได้คือน้ำพริกสารพัดอย่างประดามี

เนาวรัตน์ อธิบายถึงวัฒนธรรมไทยที่สะท้อนผ่านอาหารให้ฟังว่า

"อาหารไทยมีข้าวเป็นหลักสิ่งที่ปรุงขึ้นเพื่อกินกับข้าวเราจึงเรียกว่า กับข้าว เป็นศัพท์พิเศษ ข้าวจะเป็นตัวถ่วงดุลของรสต่างๆ ได้ ฉะนั้น กินข้าวไทยต้องสร้างกับมาคลุกที่รสจัดก็จะถ่วงรสได้พอดี ข้าวเป็นตัวผสมที่ทำให้เกิดรสใหม่ขึ้น เป็นคุณสมบัติของอาหารไทย โดยเฉพาะน้ำพริกจะเป็นสิ่งหลักที่มาปรุงกับข้าว และสิ่งที่แทบขาดไม่ได้ในน้ำพริกของคือหอม-กระเทียมซึ่งถือเป็นสมุนไพร อย่างกระเทียมจะช่วยขับคอเลสเตอรอล ถ้ากินทุกมื้อ มื้อละ 7-8 กลีบ"

เป็นเรื่องปกติที่พืชผักในแต่ละท้องถิ่นย่อมถูกคิดค้นให้เข้ากับอาหาร เข้ากับปากของคนพื้นถิ่น ไม่ใช่เพียงพืชผักหรือกระเทียมไทยหรอกที่เป็นเช่นนี้ ที่อื่นๆ ในโลกก็เป็นเหมือนๆ กัน เนาวรัตน์ถือว่าเป็นสิ่งพิเศษอย่างหนึ่งทางภูมิปัญญา

"กระเทียมมันเป็นรสพิเศษที่ทำให้อาหารไทยมีรสพิเศษเฉพาะที่เหมาะกับคนไทย นี่คือหัวใจหลักๆ ของกระเทียมไทย มันเกิดอยู่ในแผ่นดินของเรา มันเหมาะกับเราอยู่แล้ว กิมจิเขาก็ใส่กระเทียมของเขา เพราะกระเทียมของเขามีรสชาติพิเศษของเขา"

ส่วน ประดับ วัฒนประดิษ Chef de Cuisine และอาจารย์สอนทำอาหารไทยจากสถานที่เรียนทำอาหารไทยเบื้องต้นบ้านใกล้วัง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความคิดเห็นว่า

"เอกลักษณ์ของอาหารไทยในความคิดของผมน่าจะอยู่ที่ส่วนผสมหลักๆ คือผักและสัตว์น้ำ เพราะประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลองเยอะมาก อาหารที่ทำมาจากสัตว์น้ำจะเยอะกว่าเนื้อสัตว์ และที่ไม่เหมือนใครก็คือเราใช้สมุนไพรเยอะกว่าที่อื่นในแถบเอเชียด้วยกัน อินเดียใช้เครื่องเทศซึ่งเป็นสไปซ์ (Spice) แตกต่างกันไม่มาก แต่รสชาติจะต่างกัน อย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็ไม่เห็นที่ไหนเขาใช้ อาหารฝรั่งเศสอาจมีบ้างที่คล้ายๆ เรา เขาใช้พวกเซอรารี ลีค กานพลู ไทม์ กลิ่นเหมือนกัน แต่ลักษณะทางกายภาพไม่เหมือนกัน ลักษณะวิธีใช้ก็ต่างกัน

"หรืออย่างอาหารไทยดั้งเดิมจะไม่มีกะทิ กะทิจะมาจากแถบอินเดียเข้ามาทางพม่า แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็แทบแยกเอกลักษณ์ไม่ออก เพราะแม้แต่อาหารไทยด้วยกันเอง ผัดไทย แกงเขียวหวาน ก็ต่างกันไปแล้ว พริกแกงเขียวหวานที่หัวหินกับที่ชะอำก็รสชาติไม่เหมือนกันแล้ว"

อีกประการหนึ่งที่ประดับเห็นว่า หากไม่พูดถึงการแกะสลักผักผลไม้ อาหารไทยต้องถือว่าตกแต่งให้สวยงามยากกว่าอาหารทางแถบยุโรป เนื่องจากเราจะหั่น สับ ซอย ส่วนผสมต่างๆ ออกเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่เหมือนกับไก่งวงอบที่ออกมาทั้งตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ในเทศกาลคริสต์มาส หรือพวกขนมพัฟหรือพายที่สามารถประดิดประดอยได้ง่ายกว่า

2 กระเทียมไทยไม่เหมือนใคร

อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น คนทั่วๆ ไปที่ไม่ค่อยได้เดินทางเข้าครัวไปเยี่ยมเยือนกระทะ ตะหลิว หมู เห็ด เป็ด ไก่ และกระเทียม การจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างกระเทียมไทยกับกระเทียมจีนคงเป็นเรื่องยากเย็นเอาการ ผู้เขียนเองก็มืดแปดด้านเต็มทีก็บอกได้แค่ขนาดของกระเทียมไทยจะเล็กกว่ากระเทียมจีนชัดเจน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยลิ้นของผู้รู้

เนาวรัตน์ไขข้อข้องใจเรื่องรสชาติไว้ว่า "เมื่อได้จำแนกรสจากลิ้นแล้ว กระเทียมจีนจะเผ็ดปร่าและไม่เผ็ดพอดีเหมือนกระเทียมเรา กำหนดปริมาณเวลาปรุงได้ยากกว่า ไม่เคยมือ ไม่เคยลิ้น ต้องมาปรุงกันใหม่ หรือถ้าเอากระเทียมของเขามาใช้กับหอมของเราก็ไม่ได้อีก เพราะจะข่มรสหอมของเราไม่สมดุลกัน อย่างตำน้ำพริกเผา ผมใช้หอม 5 ส่วน กระเทียม 6 หัว จะพอดี แต่พอใช้กระเทียมจีนจะต้องปรับกันอีกยุ่งยากมากเลย ถ้าใช้กระเทียมเขาอาหารเราจะเปลี่ยนอย่างถึงรากถึงโคน"

"กระเทียมไทยเล็กกว่า แห้งกว่า กลิ่นดีกว่า ส่วนกระเทียมหัวใหญ่จะมีน้ำเยอะกว่า รสชาติ กลิ่นนุ่มกว่านิดหนึ่ง ต่างกันตรงที่ว่าจะใช้ทำอะไร ถ้าตำน้ำพริกผมยังใช้กระเทียมไทยอยู่ ถ้าในครัวของโรงแรมก็ยังเห็นกระเทียมทั้ง 2 ชนิด คือถ้าใช้กระเทียมหัวใหญ่มันจะใช้ง่ายกว่า ปลอกง่าย แต่ถึงแม้ว่ากลีบมันใหญ่แต่ก็ต้องใช้ปริมาณมากขึ้น เพราะจะมีน้ำมากกว่าน้ำมัน" ตรงนี้เป็นความเห็นของประดับ

แต่สำหรับประดับเขาเชื่อว่าการใช้กระเทียมหัวใหญ่หรือกระเทียมจีนในการปรุงอาหารไทย ไม่สร้างความแตกต่างด้านรสชาติมากมายอะไร แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้รสชาติและกลิ่นผิดแปลกไปอยู่ที่กรรมวิธีปรุง และการปรับใช้ปริมาณของกระเทียมแต่ละชนิดให้สอดคล้องกับอาหารที่จะทำ

"ผมคิดว่ามันอยู่ที่วิธีเลือกใช้มากกว่า เช่น ถ้าจะทำกระเทียมเจียวแล้วเอากระเทียมหัวใหญ่มาทำ ก็ต้องเรียกว่าคิดผิด เพราะใช้เวลานานกว่าและไม่หอมด้วย จึงต้องเลือกใช้ให้ถูก หรือถ้าจะทำน้ำพริกก็ไม่ควรเอากระเทียมจีนมาใช้ เพราะปริมาณน้ำต่างกัน อาหารหลายอย่างที่ต้องใช้กระเทียมซอย ก็ควรเลือกใช้กระเทียมหัวใหญ่ เพราะมันปลอกง่าย ทำง่ายกว่า"

ด้านเนาวรัตน์ก็ยกตัวอย่างน้ำพริกเผาเมืองเก่าแบบฉบับเมืองกาญจนบุรีให้ฟังว่า

พริกแห้งเผา หอมเผา กระเทียมเผา เอาลงครกโขลกเคล้าผสมผสาน
กะปิเผา มะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาล น้ำพริกเผาเมืองกาญจน์บ้านฉันเอง


"เวลาผมตำน้ำพริกเผาก็ใช้กระเทียมไทย ต้องเผ็ดนำ เค็ม หวาน เปรี้ยวตามมาห่างๆ จิ้มกับอะไรก็อร่อย แต่ถ้าไปใช้กระเทียมอื่น รสที่ได้จะปร่า เผ็ดไปไม่เข้ากับหัวหอมของไทย"

เนาวรัตน์ยังย้ำด้วยว่าเราต้องใส่ใจกับรสแท้รสแม่ทำ เพราะหัวใจของอาหารไทยอยู่ที่น้ำพริก ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าน้ำพริกบ้านเรามีกระเทียมเป็นเครื่องประกอบหลัก เมื่อเครื่องประกอบหลักผิดเพี้ยนย่อมทำให้รสชาติเดิมๆ ผิดแผก

"หัวใจของอาหารไทยอยู่ที่น้ำพริก ถ้าองค์ประกอบมันเปลี่ยนไปจะทำให้รสชาติมันเปลี่ยนไปด้วย มันเปลี่ยนเพราะการปรุงที่พิสดารขึ้นหรือใช้วัตถุธาตุที่ไม่ใช่ของแผ่นดินเรา ทำให้รสชาติกลายไปเยอะ แกงส้ม ต้มยำเดี๋ยวนี้เหมือนกันหมดแยกไม่ออกเลย รสมันเปลี่ยนไปเพราะมือไม่ถึง อาหารต้องกินตามฤดูกาลตามวัตถุธาตุที่จะประกอบขึ้นเป็นตัวเรา"

ส่วนประดับมองว่าสิ่งที่ต้องใส่ใจต่อกรณีกระเทียมคือ ฐานะความเป็นสมุนไพร และต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะกับอาหาร

"เรื่องกระเทียมเราควรมองที่ว่าถ้าเอาทำเป็นยาจะต่างกันมั้ย กินกระเทียมปริมาณขนาดนี้ ถ้าเปลี่ยนเป็นกระเทียมจีนจะดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ผมเคยลองทำกระเทียมพริกไทย รากผักชี เปรียบเทียกันระหว่างไทยกับกระเทียมจีน กลิ่นจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นกระเทียมจีนกลิ่นมันจะน้อยลง เหมาะผสมกับของว่าง เช่น สาคูไส้หมู ขนมปังหน้ากุ้ง ขนมที่มีไส้เป็นเครื่องผัด เพราะกลิ่นมันอ่อนลง นุ่มนวลกว่า เบากว่า"

3 เสียงจากแม่ครัว

คุณป้า อรศรี ศิลปี ผู้ก่อตั้งห้องอาหารครัวนพรัตน์ ร้านอาหารร้านแรกบนถนนพระอาทิตย์ที่อยู่คู่ถนนแห่งนี้มาถึง 26 ปี แสดงความเห็นว่า

"ถ้าพูดถึงเรื่องคุณภาพแล้ว กระเทียมไทยคุณภาพดีที่สุด และตอนนี้ไม่ใช่แค่กระเทียมจีนอย่างเดียวที่เข้ามาในเมืองไทย ผลไม้จากเมืองจีนก็ด้วย

"กระเทียมของเขาที่เข้ามานั้นหัวใหญ่ เนื้อมาก ทำง่าย และด้วยความที่เข้ามามากราคาก็ค่อนข้างจะถูกกว่ากระเทียมไทย ด้วยความจำเป็นทำให้ร้านอาหารหลายแห่งก็ต้องพยายามปรับตัวให้อยู่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงหันมาใช้กระเทียมหัวใหญ่กัน มันก็เลยทำให้กระเทียมไทยเรานี่แย่ลง โดยเฉพาะเกษตรกร

"กระเทียมไทยรสจัดกว่า เผ็ดกว่า เข้มข้นกว่า ลองกินเปล่าๆ ดูได้เลย และอย่างคนที่เขากินกระเทียมเพื่อลดคอเรสเตอรอลก็ต้องใช้กระเทียมไทย เทียบได้เลยว่าของเราทำอาหารอร่อยกว่ากันเยอะ คนที่ทำอาหารด้วยกันก็คงจะรู้ ก็ต้องว่าอย่างป้านี่แหละ แต่ที่เขาใช้กันเยอะก็เพราะมันถูกและทำง่ายเท่านั้นแหละค่ะ

"ส่วนที่ร้านป้าตอนนี้ใช้กระเทียมทั้ง 2 อย่าง ถ้าอาหารไหนที่เราต้องการคุณภาพรสดีส่วนใหญ่จะใช้กระเทียมไทย อย่างจะเอามาเจียวกลิ่นก็ยังผิดกันเลย หรืออย่างเวลาตำน้ำพริกกะปิป้าก็ยังใช้กระเทียมไทยอยู่"

สันทนา เนตรประภา หัวหน้าแม่ครัวร้านอาหารต้นโพธิ์ ก็บอกกล่าวไม่ต่างกันกับคุณอรศรีถึงกลิ่นและรสของกระเทียมไทย

"กระเทียมไทยเราจะฉุนกว่า หอมกว่า รสจัดกว่า ส่วนกระเทียมจีนหัวใหญ่จริง หัวสวย แต่ว่าไม่มีกลิ่น กลิ่นมันสู้ของไทยไม่ได้ รสชาติก็จะจืดกว่ากระเทียมไทย ถ้าเอากระเทียมไทยไปทำอาหารจะให้รสชาติดีกว่า มันเหมาะกับอาหารไทยมากกว่า ถ้าเป็นกระเทียมจีนเราจะเอามาใช้ซอยจะดี ซอยใส่น้ำพริก น้ำปลา หรือเอาไว้โรยอาหารเพื่อความสวยงาม แต่ถ้าจะเอาไปปรุงรสชาติอาหาร เราจะใช้กระเทียมไทย

"ตอนนี้กระเทียมจีนถูกกว่ากระเทียมไทย รู้สึกว่ากระเทียมจีนตอนนี้จะกิโลละ 20 กว่าบาท ส่วนกระเทียมไทยจะโลละประมาณ 30-40 กว่าบาท มันก็เลยทำให้คนหันไปใช้กระเทียมจีนเยอะกว่า แต่ถ้าเราจะเอาคุณภาพแล้วยังแพ้ของไทย ส่วนที่นี่เราจะใช้ทั้งกระเทียมไทยและกระเทียมจีน กระเทียมไทยจะใช้ทำเครื่องปรุง ทำพริกแกง แต่ถ้าซอยใส่น้ำพริก น้ำปลาก็จะใช้กระเทียมจีน เพราะไม่ต้องการความฉุนเยอะ"

ลองมาฟังแม่ค้าอีกคนหนึ่ง บุญเพ็ง ชาวไทย แม่ค้ารถเข็นขายส้มตำย่านสุทธิสารพูดถึงเรื่องกระเทียมๆ ไว้ว่า

"ป้าใช้แต่กระเทียมไทย ไม่ได้ใช้กระเทียมจีน ที่ซื้ออยู่ตอนนี้ก็โลละ 70 บาท ที่ป้าต้องใช้แต่กระเทียมไทยเพราะว่าเอามาตำใส่อะไรก็อร่อย พวกตำๆ ลาบๆ นี่ต้องใช้กระเทียมไทย มันหอมกว่ากัน เอามาเจียวก็หอมกว่ากัน กระเทียมจีนหัวใหญ่ใช้ง่ายกลิ่นมันฉุนน้อยกว่าแต่ก็แกะง่าย ถ้าใช้หั่นเป็นพริกน้ำปลาอย่างนั้นก็ดี

"ป้าก็เคยลองใช้กระเทียมจีนตำส้มตำดู แต่มันกลีบใหญ่ ตำไม่ละเอียด มันกลิ้งไปกับครก ตำออกมาแล้วกลิ่นก็ไม่หอมเท่าไหร่ ถ้าป้าตำส้มตำปกติจะใช้กระเทียมไทย 2-3 กลีบตามแต่ครกเล็กครกใหญ่ แต่ถ้าเป็นกระเทียมจีนจะใช้แค่ 2 กลีบแต่อย่างที่บอกว่ากลิ่นไม่เหมือนกัน"

ดูเหมือนว่าเราจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า อะไรคือความต่างระหว่างกระเทียมไทยกับกระเทียมจีน และเมื่อไปทำปฏิกิริยากับอาหารไทยจะก่อเกิดพันธะเคมีทางรสชาติแบบไหน

คราวหน้าถ้ามีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารที่ปรุงจากกระเทียมไทยกับอาหารที่ปรุงจากกระเทียมจีน ลองนั่งพินิจพิเคราะห์ดูเอาเองว่ารสชาติ กลิ่น และความเผ็ดที่สัมผัสลิ้นนั้นมันแตกต่างกันอย่างไร บางทีเราอาจได้ค้นพบความประณีต ละมุนละไม จากศิลปะของอาหารที่เราไม่เคยนึกคิดมาก่อน

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงที่สุด น่าจะเป็นพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกหอม-กระเทียม...

เอฟทีเอไทย-จีน ความจริงที่เกิดขึ้น

สถิติการค้าปี 2546 โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าจีนเป็นแหล่งนำเข้าใหญ่อันดับ 3 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทย

1 ตุลาคม 2546 เป็นวันแรกที่การลงนามเปิดเสรีการค้าล่วงหน้าระหว่างไทยกับจีนเริ่มต้นขึ้น สินค้าประเภทผักและผลไม้ 116 รายการ เช่น กระเทียม หอม ลำไย มังคุด เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยเคยเรียกเก็บภาษีจากจีนเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ได้หายไปทันทีทันใด

ด้วยศักยภาพการผลิตผัก-ผลไม้ของจีนที่เหนือกว่าบวกกับค่าแรงที่ถูก ส่งผลให้ผัก-ผลไม้จากจีนเข้ามาขายในไทยชนิดที่เรียกว่าไหลทะลักเนื่องจากราคาที่ถูกกว่าเห็นๆ แม้ว่าสินค้าพืชผักของไทยจะมีตัวเลขเกินดุล 1,100 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง กลับสูงขึ้นถึง 180 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกมาก

หลังเปิดเสรีการค้ากับจีน กระเทียมจีนที่ทะลักเข้ามามีราคาเฉลี่ยที่ 5.79 บาท เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตกระเทียมของไทย จากการสำรวจราคากระเทียมจีนที่ขายในตลาดเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในช่วงเดือนธันวาคม ราคาอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนกระเทียมไทยกลับมีราคาสูงถึง 50 บาทต่อกิโลกรัม ผู้บริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารจึงหันไปซื้อหากระเทียมจีนแทนเพื่อลดต้นทุน แล้วไหนจะกระทรวงเกษตรฯ เองก็ออกมาประกาศลดพื้นที่ปลูกจากเดิม 130,000 ไร่เหลือแค่ 52,000 ไร่ เพราะเห็นแล้วว่าอนาคตกระเทียมไทยค่อนข้างริบหรี่

....สุดท้ายเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมก็คือผู้แบกรับชะตะกรรม

*********************************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น