ไม่มีประเทศใด จะมีชื่อเสียงในความสมบูรณ์ทางแร่มากกว่าสยาม ดังจะเห็นได้จากพระพุทธรูปและเครื่องโลหะหล่อจำนวนมหาศาล และการที่ชาวสยามสกัดทองคำได้จำนวนมาก ซึ่งมิใช่จะใช้ประดับพระพุทธรูปที่มีอยู่จำนวนมากมายเหลือคณานับเท่านั้น แม้ในอาคารสถานที่ เช่น ฝาผนังห้อง เพดาน และหลังคาโบสถ์ยังดาษดื่นด้วยทองคำอีกด้วย มีบ่อแร่ทองคำเก่าพบกันอยู่ทุกวัน และก็ยังมีซากเตาถลุงจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าถูกทอดทิ้งไปเพราะสงครามกับพม่านานมาแล้ว
ส่วนหนึ่งของเนื้อความในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่ได้บันทึกเกี่ยวกับแร่ธาตุในสยามเอาไว้ เมื่อครั้งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สะท้อนให้เห็นว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดินมานาน และมีปริมาณมากจนได้รับการขนานนามว่า 'สุวรรณภูมิ' โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย นับจากประจวบคีรีขันธ์ลงไป จัดเป็นแหล่งทองคำคุณภาพ จนได้รับการขนานนามว่า 'แหลมทอง'
ถึงปัจจุบัน ข่าวการขุดพบทองคำในหลายจังหวัดของประเทศไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการขุดพบ 'ทองคำ' ที่ ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทองโบราณ เมืองโบราณ
กลางเดือนพฤศจิกายน 2548 สายน้ำได้โหมกระหน่ำเข้าท่วมอำเภอบางสะพานอย่างหนักในรอบ 55 ปี สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม หลังน้ำลดกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้กระแทกหน้าดินบริเวณคลองทอง ตำบลร่อนทองลอยไปกับสายน้ำ เผยให้เห็นเกร็ดทองติดอยู่ตามซอกหินและเศษดิน
จากวันนั้นจนทุกวันนี้ ยังคงมีชาวบ้านและผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาแสวงโชคร่อนทองอยู่ไม่ขาดสาย
สำหรับชาวบางสะพานแล้ว การขุดพบทองคำไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะแต่เดิมพื้นที่ตำบลร่อนทองเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกำเนิดนพคุณ ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองจึงถูกตั้งเป็นอำเภอบางสะพาน โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีการขุดพบแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก
การขุดและร่อนทองในอำเภอบางสะพานครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในปี พ.ศ. 2289 ผู้รั้งเมืองกุยได้ส่งทองร่อนหนัก 3 ตำลึง ถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์จึงเกณฑ์ไพร่จำนวน 2,000 กว่าคน ไปร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ คิดเป็นน้ำหนัก 54 กิโลกรัม หรือ 3,600 บาท จากนั้นนำทองทั้งหมดไปแผ่เป็นทองแผ่นใหญ่หุ้มยอดมณฑป พระพุทธบาทสระบุรี
ทองคำจัดอยู่ในกลุ่มแร่โลหะมีค่าเช่นเดียวกับ แร่เงิน และทองคำขาว ลักษณะการเกิดของทองคำมักเกิดเป็นธาตุอิสระในธรรมชาติ โดยอาจจะเกิดจากการผสมกับธาตุอื่น
แหล่งแร่ทองคำมี 2 ชนิด แบ่งเป็นแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยแบบปฐมภูมิส่วนใหญ่มักจะมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยายส่องดู เป็นส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน ส่วนแบบทุติยภูมิมักจะพบเป็นเม็ดกลม เกล็ดหรือไรเล็กๆ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิแล้วถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ในบริเวณต่างๆ เช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำใหญ่
สำหรับคุณสมบัติของทองบางสะพานหรือทองบางตะพานมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'ทองนพคุณ' หรือ 'นพคุณเนื้อเก้า' เป็นทองที่พบในธรรมชาติ ทองร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องถลุงจะเห็นเป็น 'Nuggest'
อีกความหมายหนึ่งอธิบายตามหนังสือประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า ทองคำที่ซื้อขายกันนั้น เรียกตามเนื้อและตามราคา เช่น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 4 บาท เรียกว่า เนื้อสี่ ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 5 บาท เรียกว่า ทองเนื้อห้า ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 8 บาท 2 สลึง เรียกว่า ทองเนื้อแปดสองขา ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 9 บาท เรียกว่านพคุณเก้าน้ำ ดังนั้นทองนพคุณเนื้อเก้า จึงหมายถึง ทองที่มีราคาเก้าบาทต่อน้ำหนัก 1 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าทุกแหล่งในประเทศไทย และเชื่อว่าเป็น 'แหล่งทองคำเนื้อดีที่สุดของไทย'
ขุดทองแสวงโชค
ทุกวันบริเวณคลองทอง ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพานเต็มไปด้วยนักแสวงโชคในท้องถิ่นและต่างถิ่น ทั้งขาประจำและขาจรหมุนเวียนเข้ามาขุดทองอย่างสม่ำเสมอ นักแสวงโชคซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายและหญิงวัยกลางคนสวมใส่อาภรณ์คลุมกายมิดชิดไม่ยี่หระต่อลำแสงอาทิตย์แผ่รังสีความร้อนไปทั่ว
หลายแผ่นหลังสู้แดดต่างก้มหน้าก้มตาใช้พลั่วขุดลงไปในดิน จากนั้นตักขึ้นมาใส่ลงไปในถังขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง พอเต็มถังจึงนำไปเทลงในภาชนะทำจากไม้ ทรงกลม ก้นแหลมคล้ายหมวกญวน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เลียง บางคนก็นำดินไปเทลงในกระทะเหล็ก จากนั้นจึงนำไปขยำกับน้ำให้เป็นโคลน แล้วเอียงเลียงให้น้ำในคลองได้พัดโคลนหมุนออกจากเลียง เหลือไว้เพียงแร่และทองคำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยติดอยู่ตามซอกหินและดินเหล่านั้น
สายน้ำไหลเอื่อยๆ ให้ความรู้สึกเย็นยามสัมผัส ตรงข้ามกับเ ปลวแดดจัดจ้านของพระอาทิตย์เที่ยงวันแผดเผาผิวกายจนแสบร้อน บรรดานักแสวงโชคยังคงหมุนเลียงเวียนจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายจนเศษดินค่อยๆพลัดหายไปกับสายน้ำตรงหน้า ซึ่งหากโชคดี ร่อนไปร่อนมาสิ่งที่เหลืออยู่ในก้นเลียงอาจจะเป็นเกร็ดเล็กๆ สีทองอร่าม ส่องแสงระยิบระยับ บางครั้งได้เป็นแร่ประเภทอื่น ซึ่งชาวบ้านมักจะทิ้งไปกับธารน้ำ
บุญลือ สัมฤทธิ์ คุณลุงวัย 57 ปี อาศัยอยู่ในตำบลร่อนทองตั้งแต่ปี 2510 ประกอบอาชีพทำไร่สัปปะรด พร้อมกับใช้เวลาว่างในการทำเลียงสำหรับร่อนทอง กระทั่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จึงใช้เวลาว่างจากการทำไร่ หันมาแสวงโชคดูบ้าง
"บ้านอยู่ใกล้ๆ มาตั้งแต่เที่ยงกว่าเหนื่อยๆ จากงานก็มาร่อนทอง มีความสุขดี ตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ไม่เคยคิดจะมาขุด อาศัยทำไร่ทำนา เพราะสมัยนั้นขุดยาก เวลาขุดจะต้องใช้เครื่องเจาะลงไป" ลุงบุญลือเล่า ขณะกำลังใช้สองมือยกพลั่วขุดลงไปในดิน
"ขุดตรงไหนก็ได้แต่ก็เลือกพื้นที่เหมือนกัน โดยดูลักษณะของดิน ถ้าเห็นว่าดินดูเหนียว ขยำยาก ก็จะไปหาบริเวณที่เป็นดินร่วน จริงๆแล้วดินเหนียวก็มีทอง แต่น้อย และก่อนร่อนต้องขยำดิน ยุ่งยากกว่าดินร่วน กว่าจะร่อนได้หมดเรียงก็นาน เพราะทองอยู่ตามซอกหิน บางบ่อขุดลงไปลึก บางบ่อก็ตื้น แต่ส่วนมากจะตื้น มาถึงก็ขุดซ้ำบ่อเดิม แต่ถ้าวันไหนมาไม่ทัน มีเพื่อนบ้านมาขุดไปก่อน ก็ไปหาบ่อใหม่ขุด ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ไม่ว่ากัน เพราะมันไม่ใช่พื้นที่ของใคร"
ลุงบุญลือยกถังบรรจุดินไว้เต็มไปร่อน พร้อมกับเอ่ยว่าวิธีการร่อนของแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความถนัด
"แล้วแต่บางคนชอบเลียงอันใหญ่ๆ ใส่ดินได้เยอะ แต่ผมชอบเลียงอันเล็กๆ ใส่ดินได้น้อย ร่อนสบายๆ ไม้ที่ใช้ทำเลียง ได้จากสารพัดไม้ โดยเฉพาะไม้ที่แตกยากๆ เช่น ไม้ขนุนจะดี แต่บางคนใช้กระทะเหล็กมาร่อนก็มี เหล็กลื่นง่าย คนร่อนไม่เป็น ทำให้ทองไหลไปกับน้ำ แต่ถ้าเป็นไม้เยื่อ ทองจะเหลือติดก้น ส่วนดินทรายจะไหลขึ้นมากองตามขอบกระทะ"
ใช้เวลาร่อนไม่นาน เศษดินก็หายไปจนหมด ถึงตอนนี้ในเลียงของลุงบุญลือมีเพียงหยดน้ำเกาะค้างอยู่ ลุงเล่าด้วยใบหน้ายิ้มๆ ว่า
"ใช้เวลาร่อนไม่นาน สิ่งที่เจอมีทั้งแร่และทอง แต่ส่วนใหญ่จะทิ้งแร่ ไม่เอา เอาแต่ทองอย่างเดียว ไม่เคยนับว่าร่อนไปแล้วกี่กระทะ ยิ่งวันไหนทองติดดียิ่งไม่เคยนับ ร่อนเสร็จก็ขุดต่อๆ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะนับ สัก 2 เที่ยวไม่ได้ก็จะย้ายบ่อขุดไปที่ใหม่"
"แล้วแต่ว่าวันไหนโชคดีก็ได้ทองเยอะ วันไหนทองติดดีก็คงจะกลับเย็นเกือบมืด พอได้เห็นหน้าทองก็เพลิดเพลิน แต่วันนี้โชคไม่ดีเลย ได้น้อย ถ้าวันไหนไม่ได้เห็นหน้าทองก็หมดแรง กลับบ้านเร็ว"
สำหรับทองที่ขุดได้นั้น ลุงบอกว่า "ทองที่ขุดได้ส่วนหนึ่งเก็บไว้ดู อยู่กับดงทองแต่ไม่มีทองของที่นี่เลย ทุกบ้านมีเกือบทุกครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย เหมาขายบ้าง บางคนซื้อเป็นเม็ด ซึ่งราคาจะแพงกว่า เดี๋ยวนี้ทองที่ขุดได้ก็มีราคาแพงขึ้น เพราะทองตามท้องตลาดราคาสูงขึ้นจากเมื่อก่อนราคาไม่แพง เดี๋ยวนี้ทองเกร็ดเล็กๆ หุนละ 260 บาท" ลุงบุญลือเล่า พร้อมกับหยิบกระปุกใส่ทองของเพื่อนบ้านมายื่นให้ดู ภายในมีทองเกร็ดเล็กบ้างใหญ่บ้างเกือบสิบเม็ด ซึ่งหากมีคนขอซื้อก็คงขายกันราคาประมาณสามพันกว่าบาท
นอกจากขึ้นชื่อว่าเป็นทองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ทองบางสะพานยังถือว่าเป็นของบริสุทธิ์ เป็นเครื่องรางของขลังอีกอย่างหนึ่งที่คนบางสะพานนิยมมีไว้ติดตัว บางคนนำเม็ดทองมาติดห่วงห้อยไว้กับสร้อยคอก็มี เช่นเดียวกับป้ายิน พูลนาค วัย 56 ปี เล่าเหตุผลที่มาขุดทองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นเพื่อนบ้านมาร่อนก็มีความต้องการจะมาร่อนทอง เพื่อนำไปเก็บไว้ดู เกิดความเป็นศิริมงคลกับตัว
ห่างจากหลุมที่ลุงบุญลือขุด หญิงวัยกลางคน 2 คนหันหน้าชนกัน ในมือของทั้งคู่กำลังสาละวนกับการร่อนทอง หลังเสร็จจากการร่อนทอง ป้าเรืองศรี พลครุฑ วัย 50 กว่าปี จึงเล่าที่มาที่ไปของการเดินทางจากจังหวัดชุมพร พร้อมกับเพื่อนอีก 6 ชีวิต เพื่อมาแสวงโชค
"ก็พอมีทักษะการร่อนอยู่บ้าง เพราะแต่ก่อนเคยร่อนแร่ วิธีการก็จะร่อนเวียนไปทางขวา แต่ก่อนทำอาชีพเลือกปลา เห็นข่าวว่ามีคนมาร่อนทอง เลยมาร่อนบ้าง เพิ่งมาร่อนได้ไม่กี่เดือน ทองที่ร่อนได้ ขายให้กับคนที่เดินทางมาดู หรือมาถามหาซื้อทองถึงที่ ถ้าตกลงราคาดีก็ขาย หรือไม่ก็นำไปขายที่ร้านทอง"
ป้าเรืองศรีชี้ให้ดูเพิงผ้าใบขนาดกลางใช้สำหรับเป็นที่พักแรมยามค่ำคืน พร้อมกับกล่าวว่า "คิดว่าจะร่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขุดหาทองไม่เจอ หรือจนกว่าจะท้อ"
คงมีนักแสวงโชคหลายคนคิดเช่นเดียวกับป้าเรืองศรี จึงทำให้ผืนดินบริเวณคลองทองที่เคยเรียบ เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยหลุมบ่อจำนวนมาก
ซึ่ง ศักดิ์ดา เอกพัฒนศิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า "พอน้ำป่าไหลหลาก หลังจากน้ำลด บริเวณคลองทองได้มีการค้นพบโครงกระดูกเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ แล้วก็มีหม้อดิน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งหลังจากหน่วยงานกองโบราณสถานเข้ามาดูพบว่าจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
"นอกจากนี้ยังพบทองคำ จากทั่วสารทิศเข้ามาทำการเสี่ยงโชค ชาวบ้านมาขุดหาอะไรเล็กๆ น้อยๆ หลังทำสวนทำไร่ก็มาขุดเป็นอาชีพเสริม บางคนมาร่อนก็ได้ทองกลับบ้าน บางคนมาร่อนไม่ได้ทองเลยก็มี ขึ้นอยู่กับดวง ชาวบ้านเข้ามาขุดหาทอง จนทำให้ผืนดินที่เคยเรียบ กลายเป็นหลุมเป็นบ่อ"
ศักดิ์ เล่าต่อว่า ช่วงก่อนมีคนมาขุดหาทองเป็นพันๆ คน "ราคาทองหนึ่งบาทเท่ากับ 40 หุน หุนละ 750 บาท เดี๋ยวนี้ราคาสูงขึ้นมาเป็นหลักพัน อีกอย่างบ้านเราถือว่าทองเหล่านี้เป็นทองนพคุณ ใครมีไว้ครอบครองถือว่าเป็นสิริมงคล ดังนั้นคนบางสะพานจึงมักจะมีทองบางสะพานไว้ติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล"
เมื่อทองบางสะพานกลายเป็นที่ต้องการ จึงมีคนหัวใสคิดนำสารพัดทองทั้งจริงและเทียมมาหลอกว่าเป็นทองบางสะพาน
"บางคนเอาทองปลอมจากพม่า บ้างนำทองแท่งมาบดละเอียดแล้วมาหลอกขายว่าเป็นทองในท้องถิ่น พร้อมกับขายในราคาแพง" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกล่าว
เสน่ห์ทองบางสะพานยังคงมีมนต์ขลัง เย้ายวนให้ใครต่อใครแวะเวียนเข้ามาชื่นชม
******
แหล่งแร่ทองคำซ่อนตัวอยู่ใต้แผ่นดินทอง
แหล่งแร่ทองคำที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ มี 3 แห่ง ได้แก่ บ้านบ่อทอง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, แหล่งโต๊ะโม๊ะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และบ้านป่าร่อน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
บ้านบ่อทอง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี พบครั้งแรก พ.ศ. 2414 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเจ้าเมืองปราจีนบุรีสมัยนั้นดำเนินการทำเหมืองด้วยการขุดเจาะเป็นหลุมลึกลงไปเป็นอุโมงค์ใต้ดิน เริ่มทำเหมืองแร่ครั้งแรก พ.ศ. 2416 - 2421 แต่เนื่องจากสินแร่ที่มีความสมบูรณ์เริ่มหมดลง กอปรกับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงหยุดดำเนินการ ต่อมากรมโลหกิจหรือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในปัจจุบันจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ขึ้น และดำเนินการผลิตแร่ทองคำอีกครั้งระหว่าง พ.ศ. 2493-2500 ครั้งนั้นได้ทองคำมากถึง 55 กิโลกรัม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำ
เหมืองทองคำบ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส สร้างก่อนปี พ.ศ. 2475 โดยชาวอังกฤษและฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำ หลังเกิดสงครามอินโดจีนรัฐบาลไทยจึงเข้าไปดำเนินการต่อ กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองถูกปล่อยร้าง ปัจจุบันเลิกดำเนินกิจการ แต่ยังหลงเหลือสิ่งก่อสร้างบางส่วน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สามารถหาชมการสาธิตวิธีร่อนทองแบบพื้นเมือง
นอกจากนี้ยังมีแหล่งแร่ทองคำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย ยกเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ราบสูงโคราชและพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง เช่น พ.ศ. 2542 ค้นพบสายแร่ทองคำใต้ดิน เป็นสายแร่ทองคำซึ่งอยู่บนดินและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนเขาพนมพา ลักษณะเป็นเนินเขาเล็ก ตั้งอยู่บนพื้นที่ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จ.พิจิตร นักโบราณคดีมาสำรวจซึ่งก็พบว่าสายแร่ตรงนี้ยาวไปถึงจังหวัดเลย ซึ่งก็มีการพบเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ภูทัพฟ้า และภูเหล็ก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
โดยทั่วทั้งเมืองไทยมีแหล่งแร่ทองคำในที่ต่างๆ พอสังเขปดังนี้ บ้านผาฮี้ ดอยตุง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ,แหล่งแร่ทองคำบริเวณห้วยคำอ่อน บ้านแม่กระต๋อม ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ,แหล่งแร่ทองคำ อ.ลี้ จ.ลำพูน , อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ,อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ,อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี,อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ,จ.อุตรดิตถ์ , จ.สุโขทัย ,จ.ตาก ,จ.อุดรธานี , จ.ลพบุรี ,จ.กาฬสินธุ ,จ.พิษณุโลก ,จ.จันทบุรี ,จ.หนองคาย ,จ.สระแก้ว ,จ.ชุมพร , จ. สตูล ,จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา เป็นต้น
***
เรื่อง - ศิริญญา มงคลวัจน์