บางครั้งการพลัดพรากไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป แต่การพลัดพรากอาจกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดีๆอีกมากมายที่จะตามมาในภายหลัง
เช่นเดียวกับการพลัดพรากของคนลาวส่วนหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้เดินทางมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาราชธานีเก่า ซึ่งการอพยพพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนของคนลาวกลุ่มนี้ กลับก่อกำเนิดหนึ่งในสุดยอดมีดแห่งสยามประเทศนามว่า"มีดอรัญญิก"ขึ้น
** ย้อนตำนานมีดอรัญญิก
มีดอรัญญิก ชื่อนี้หากมองผิวเผินหลายๆคนอาจเข้าใจไปว่ามีดอรัญญิกต้องมีต้นกำเนิดมาจากหมู่บ้านอรัญญิก ในเขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่จริงๆแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะจุดกำเนิดที่แท้จริงของมีดชั้นดี ยี่ห้ออรัญญิกกลับอยู่ที่"บ้านไผ่หนอง"และ"บ้านต้นโพธิ์" ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง ในจังหวัดเดียวกัน
โดย"นายเทา"หรือ"ขุนนราบริรักษ์"(ได้รับแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 5)ผู้เป็นแกนนำการอพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองลาวมาอยู่เมืองไทย ไม่ได้แค่เดินทางมาเปล่าๆแต่ยังได้นำวิชาช่างตีมีดติดตัวมาด้วยเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพตามแต่จะมีคนว่าจ้างมา
ประกอบกับหมู่บ้านทั้ง 2 ในอดีตถือเป็นแหล่งผลิตมีดชั้นดี เพราะมีทำเลที่เหมาะสมเนื่องจากมีหนองน้ำและแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน แถมยังเต็มไปด้วยป่าไผ่ที่ถือเป็นวัสดุสำคัญในการทำมีด(สมัยก่อน) เพราะต้นไผ่สามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนสูงใช้ในการตีเหล็ก ส่วนไม้ไผ่ใช้ทำด้ามพะเนิน(ค้อนขนาดใหญ่ใช้ตีเหล็ก) และใช้ทำด้ามมีด ด้วยเหตุนี้ชาวลาวอพยพจึงได้ตั้งหลักปักฐานพร้อมๆกับยึดอาชีพตีเหล็กหาเลี้ยงชีพที่หมู่บ้านทั้งสอง
เมื่อมีองค์ประกอบที่ดีและมีฝีมือเชิงช่างอันโดดเด่น ทำให้มีดที่บ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์จัดเป็นมีดชั้นเลิศที่มีความคมกริบ เนื้อเหนียว แกร่ง แถมทนทานอีกต่างหาก แต่ว่ามีดในบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ยังไม่มีชื่อเรียกขาน ไม่มียี่ห้อ และไม่มีแบรนด์เนมเหมือนสมัยนี้ แต่ด้วยคุณภาพอันยอดเยี่ยมของมีดก็ทำให้ทั้งสองหมู่บ้านมีชื่อเสียงเลื่องลือไกลในเรื่องของการทำมีด
แต่เนื่องจากว่ามีดที่หมู่บ้านทั้งสองแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ก็มีปัญหาตรงที่ไม่มีตลาดขายในละแวกใกล้เคียง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงต้องเดินทางไปขายยังบ้านอรัญญิก บริเวณปากกะท่า เพราะที่นั่นเป็นตลาดแห่งเดียวที่จะนำมีดออกจำหน่ายได้ เนื่องเพราะบริเวณนี้เป็นท่าเรือที่เป็นเส้นทางมุ่งหน้าสู่บางกอกซึ่งเรือจะล่องผ่านแม่น้ำป่าสักไปเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้บ้านอรัญญิกยังเป็นที่ตั้งของตลาด ร้านค้า และโรงบ่อนที่คนในละแวกใกล้เคียงนิยมเดินทางมาเที่ยวหาความสำราญกันเป็นจำนวนมาก
เมื่อคนไปซื้อมีดกันที่ที่อรัญญิกก็จึงเข้าใจว่าที่มาของมีดมาจากหมู่บ้านอรัญญิก ทำให้กิตติศัพท์ของมีดอรัญญิก เลื่องลือระบือไปไกลจนถึงขนาดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรการตีมีดของช่างตีมีดในหมู่บ้านทั้งสองหลายครั้งด้วยกัน
และแม้โรงบ่อนการพนันที่บ้านอรัญญิกจะถูกปิดไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ตลาดที่นั่นซบเซามาก แต่ชาวบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ ก็ยังคงตี"มีดอรัญญิก" เพื่ออนุรักษ์มิให้สูญหายไปอยู่ดีจวนจนปัจจุบัน
จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ชื่อเสียงของมีดอรัญญิกก็มีอายุเฉียดๆ 200 ปีแล้ว
** มีดอรัญญิก สุดยอดมีดแห่งสยามประเทศ
สำหรับการทำมีดอรัญญิกนั้น นับเป็นกรรมวิธีการทำมีดแบบโบราณที่ปัจจุบันหาชมได้ยากและหลงเหลือเพียงไม่กี่ที่ ซึ่ง"วินัย รวยเจริญ" หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายมีดอรัญญิก กล่าวว่า
"มีดอรัญญิก แบ่งเป็น 4 ตระกูลใหญ่ๆได้แก่ มีดทำครัว มีดเกษตร มีดที่ใช้ในการเดินป่า และมีดประเภทสวยงาม ซึ่งมีความโดดเด่นของมีดอรัญญิกอยู่ที่ความคงทนถาวร รูปร่างสวยงาม แถมราคาก็มีให้เลือกตามกำลังทรัพย์ตั้งแต่ 10 บาทไปจนถึง 30,000 บาท ส่วนเหล็กที่นำมาใช้ทำมีดในปัจจุบันเป็นเหล็กคุณภาพที่สั่งตรงมาจากเยอรมันและญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นเหล็กที่ได้มาตราฐานสินค้าชุมชน ส่วนความยากง่ายในการทำมีดอรัญญิกแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน สำหรับมีดที่ขึ้นชื่อว่าทำยากที่สุดคือ ประเภทสวยงาม เชื่อหรือไม่ว่า บางเล่มใช้เวลาในการทำนานถึงสามเดือนต่อมีดหนึ่งเล่ม" วินัยเล่า ก่อนจะอธิบายต่อว่า
"ส่วนวัสดุที่นำมาใช้ในการทำมีดอรัญญิก ประกอบด้วยตัวมีดซึ่งทำด้วยเหล็กแข็งและเหนียวมีหลายประเภทเช่นเหล็กเส้น เหล็กวง เหล็กขาวเหล็กเส้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนามของเหล็กตราม้า นำมาใช้ทำมีดขอ มีดดาบ มีดเสียบ ส่วนเหล็กวงเป็นเหล็กยาว ซึ่งเหมาะแก่การทำมีดที่มีเส้นบาง และความหนาสม่ำเสมอกัน เช่นมีดพับ และเหล็กขาว ก็นำมาใช้ทำมีดคว้านผลไม้ และที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำมีดอรัญญิก ก็เห็นจะหนีไม่พ้น "ถ่าน" ที่นี่นิยมใช้ถ่านไม้ไผ่และไม้รวกมาเป็นเชื้อเพลิง เพราะไหม้ไฟเร็วและมีคุณสมบัติพิเศษคือไม่ประทุ และใช้น้ำมันมะพร้าวทามีดเพื่อกันสนิม ใช้ทองเหลืองทำคอมีด ส่วนหมุดลวดสังกะสีใช้ตอกยึดคอทองเหลือง ขัดด้วยกระดาษทรายและเกลือ"
ในส่วนของอุปกรณ์และแรงงานที่ใช้นั้น วินัยเล่าว่า เตาเผาที่ใช้มีลักษณะฝังลงในดิน มีตะแกรงใส่ถ่านสูบลม เพื่อใช้เป่าไฟ ส่วนค้อนที่ใช้สำหรับตีมีด มีอยู่ 3 อัน ด้านคนตีมีดก็ถือเป็นส่วนสำคัญมาก ซึ่งประกอบด้วย คนจับเหล็กและนายเตาคนที่ต้องมีหน้าที่อยู่ใกล้ๆ กับไฟ ส่วนคนตีประกอบด้วยคน 3 คน
"ขั้นตอนการตีมีดจะเริ่มจากการคัดเลือกเหล็กเส้น เลือกขนาดตามความเหมาะสมและตัดตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำเหล็กเส้นที่ตัดเรียบร้อยแล้วมาเผาไฟให้ได้ที่ จากนั้นนำเหล็กที่เผาไฟได้ที่ มาตีขึ้นรูปเรียกว่าการ "ไห่"หรือ"รำเรียบ"หลังจากขึ้นรูปเสร็จแล้ว จะนำกลับไปเผาไฟซ้ำอีกครั้ง และนำมาตีต่อเพื่อตกแต่งอีกที สำหรับการตกแต่งให้มีความคมเรียกว่าการ "พาน" แล้วไปขูดขาวให้เหล็กคมเรียบหมดสนิม ก่อนจะนำไปเผาไฟเพื่อชุบแข็งอีกครั้งหนึ่ง
"ในส่วนของกรรมวิธีการชุบมีดก็มีความสำคัญต่อคุณภาพของมีดอย่างสูงเช่นกัน มีดที่ผ่านการชุบจากช่างเก่งๆที่มีฝีมือชำนาญจะมีความคงทน ไม่บิ่นหรือเบี้ยวง่าย แต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย ตามระดับความประณีตของงาน สำหรับขั้นตอนสุดท้ายเป็นการนำไปเข้าด้าม ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญาพัฒนามาใช้เครื่องจักร แทนกำลังคนในการสูบลมและเป่าถ่าน และเมื่อทำเสร็จแล้วมีดอรัญญิกในปัจจุบันหลายเจ้าจะมีการสลักชื่อผู้ผลิตไว้ที่ใบมีด" วินัยอธิบายกระบวนการทำมีดอรัญญิกอย่างละเอียด
นอกจากการทำมีดอรัญญิกจะเป็นเลื่องชื่อแล้วชุมชนการทำมีดที่นี่เขายังร่วมอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่นโดยจะเห็นได้จาก พิธีไหว้ครูบูชาเตา ซึ่งเป็นพิธีไหว้ครูช่างตีมีดตีดาบของชาวบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนองรวมถึงชาวบ้านตำบลท่าช้างทุกคน ซึ่งมีอาชีพในการตีมีดอรัญญิก โดยจะจัดงานบูชาในวันพฤหัสบดีช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 7 ค่ำ 9 ค่ำ ฯลฯ เดือน 5 ราวช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตามแต่ฤกษ์สะดวก เพื่อระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของตน
นอกจากนี้พิธีบูชาครูตีมีดยังเป็นการปัดเป่าอุปัทวเหตุต่างๆในการตีเหล็กอีกด้วย ซึ่งพอได้เวลาผู้ทำพิธีไหว้ครูก็จะกล่าวบทชุมนุมเทวดาไหว้พระรัตนตรัย จากนั้นก็จะกล่าวบทอัญเชิญครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อันได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระวิษณุกรรม พระมาตุลี พระพาย พระคงคา พระฤาษี 8 องค์ ฯลฯ ตลอดจนบูรพาจารย์ทั้งครูไทย ครูลาว ครูมอญ ครูจีน ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาตีเหล็กให้แก่ตน พร้อมเชิญให้มารับเครื่องบูชาสังเวยและประสาทพรแก่ผู้เข้าร่วมพิธีให้ประสบแต่ความสุขความ ความเจริญ แล้วปิดทองเครื่องมือมีดทุกชิ้น ทำน้ำมนต์ธรณีสารประพรมเครื่องมือและผู้เข้าร่วมพิธี
ด้วยคุณภาพและการสั่งสมประสบการณ์รวมถึงการเคารพในวิชาครู การบูชาบรรพบุรุษ ทำให้ชื่อเสียงของมีดอรัญญิกโด่งดังไม่เคยตกตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในสินค้าเลื่องชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้มีดอรัญญิกยังเป็นของที่ระลึกชั้นดีที่สะท้อนให้เห็นว่าของมีคมที่อย่างมีดนั้น ใช่ว่าจะดูน่ากลัวไปเสียหมดแต่ว่าจริงๆแล้วยังมีความงามและมีความเป็นมาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เรื่อง : จิรานุช ฟองแก้ว