xs
xsm
sm
md
lg

งามพรรณ เวชชาชีวะ โก อินเตอร์ ด้วย 'ความสุขของกะทิ'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปรากฏการณ์การส่งออกสินค้าทางปัญญาในวงการวรรณกรรมไทยที่สามารถเชื่อมโยงกับวงการหนังสือในระดับโลกนั้นแทบจะไม่มีเกิดขึ้นเลย หากว่าไปแล้ววงการหนังสือบ้านเรานั้นเสียดุลทางการค้าและเสียดุลทางปัญญากับหนังสือประเภทต่างๆ ที่ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำเข้ามาแปลวางจำหน่าย หลังจากที่กฎหมายที่ปกป้องทรัพย์ทางปัญญามีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

วรรณกรรมไทยที่ถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศในหลายๆ ภาษา ล้วนเป็นหนังสือที่ถูกการันตีด้วยคุณค่าของตัวเอง รวมถึงกาลเวลาที่เป็นเครื่องพิสูจน์ 'ฟ้าบ่กั้น' ของลาว คำหอม ได้รับเกียรตินำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมถึง 'ลูกอีสาน' ของคำพูน บุญทวี ที่มีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส และอังกฤษ

สำหรับการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศ ส่วนใหญ่ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ทางวรรณกรรมระหว่างประเทศ มากกว่าเชิงพาณิชย์ในฐานะตัวสินค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญา

แดนอรัญ แสงทอง มีงานเขียนที่ถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศสขายในยุโรป งานเขียนของชาติ กอบจิตติ ก็มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อวางจำหน่ายให้คนต่างชาติได้เสพวรรณกรรมไทย รวมถึงส่งขายในระดับนานาชาติ

วันนี้ ตลาดหนังสือไทยได้มีมิติใหม่เกิดขึ้น เมื่อหนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่ชื่อ 'ความสุขของกะทิ' ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลวางจำหน่ายด้วยกันใน 5 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการหนังสือเมืองไทย

1. โก อินเตอร์

ชื่อของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ไม่ได้ใหม่เลย สำหรับวงการหนังสือเมืองไทย เธอคร่ำหวอดมายาวนานในฐานะนักแปลคุณภาพที่คัดสรรงานแปลจากหนังสือที่ดีเยี่ยมจากต่างประเทศมาให้คนไทยได้เสพอ่าน เป็นบรรณาธิการ และดูแลบริหารบริษัทซิลค์โรด เอเยนซี แต่ในฐานะนักเขียน เธอเพิ่งมีงานเล่มนี้เป็นเล่มแรกของชีวิต แม้จะประสบความสำเร็จในเมืองไทยพอสมควร เพราะพิมพ์ไปแล้วถึง 4 ครั้ง แต่การถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ เป็นความสำเร็จที่เกินจะคาดคิด

"ตอนนี้มีการขอซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้ว 5 ประเทศ มีเยอรมนี โดยสำนักพิมพ์เซซิลี เดรสเลอร์ (Cecilie Dressler Verlag) ซึ่งจะออกวางตลาดในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2006 (วันนี้) ที่ประเทศของเขา เป็นเล่มปฐมฤกษ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลแล้วออกวางขายเป็นประเทศแรก ที่จะออกตามก็มีที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ โดยสำนักพิมพ์อัลแลนแอนด์อันวิน (Allen & Unwin) กำหนดออกในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ส่วนของญี่ปุ่น โดยสำนักพิมพ์โกดานฉะ (Kodansha) จะออกตามในเดือนมิถุนายน สำหรับสหรัฐอเมริกาจะจัดพิมพ์โดยไซมอนด์แอนด์ชูสเตอร์ (Simon & Schuster) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เข้าใจว่าคงอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมในปีนี้ แล้วก็มีของฝรั่งเศส โดยสำนักพิมพ์กัลลิมารฺ (Editions Gallimard) ซึ่งยังไม่ได้บอกว่าจะพิมพ์เมื่อไหร่ แต่ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว" งามพรรณ บอกถึงรายละเอียด

เธอเล่าถึงการตกลงกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศต่อว่า กับทางฝรั่งเศสจะเป็นการขอซื้อลิขสิทธิ์ที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะว่าได้ไปพบกับบรรณาธิการที่ติดต่อมาเอง

"เป็นประเทศแรกที่ขายลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ได้ ทีแรกเอเยนต์เสนอไปทั้งหมด 6 สำนักพิมพ์ ซึ่งตอบรับมาหมดทั้ง 6 แห่งเลย ให้มาเลือกเงื่อนไขการซื้อลิขสิทธิ์เอาเอง ก็มานั่งดูแล้วคิดว่า ฝันไปหรือเปล่า ต้องหยิกตัวเอง เอเยนต์บอกว่า ปกติจะไม่เสนอหลายสำนักพิมพ์พร้อมกันอย่างนี้ แต่ว่าตัวเอเยนต์อ่านแล้วชอบ ก็เลยลองดู ปรากฏว่าทุกแห่งที่ส่งไปตอบตกลงมาหมด แค่ที่เดียวตอบรับก็ดีใจมากแล้ว เอเยนต์เองก็ตื่นเต้น แต่สุดท้ายก็เลือกสำนักพิมพ์กัลลิมาร เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุด แล้วจะพิมพ์ออกมา 2 ฉบับ คือ ฉบับพิเศษที่เป็นเล่มใหญ่ อีกฉบับเป็นปกอ่อน ราคาถูกกว่า สำนักพิมพ์ทำสัญญาพร้อมกัน 2 ฉบับ จ่ายค่าลิขสิทธิ์ 2 ก้อนสำหรับการพิมพ์เล่มใหญ่กับเล่มเล็กพร้อมกันเลย โดยปกติในฝรั่งเศส สำนักพิมพ์จะพิมพ์แบบเดียว ส่วนเล่มเล็กต้องไปขายกแก่สำนักพิมพ์อื่นอีกที แต่เล่มนี้เขาซื้อรวบ 2 แบบ

"ได้ไปพบกับตัวบรรณาธิการเอง เขาบอกว่า มีคนนำต้นฉบับภาษาอังกฤษมาให้ แล้วสั่งว่า ต้องอ่านให้ได้นะ เขาเห็นว่าเป็นเล่มเล็กๆ ก็เอาใส่กระเป๋าไปอ่านบนรถไฟ นั่งรถไฟจากปารีสไปลอนดอน เขาบอกว่า เขาร้องไห้ไปในรถไฟ ประทับใจมาก พอลงรถไฟก็โทร. กลับมาบอกที่ปารีสว่า หนังสือเล่มนี้ซื้อไว้เลยนะ พอเขาเจอเรา เขาก็ตื่นเต้นใหญ่"

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ งามพรรณ ทำงานเป็นเอเยนต์หรือตัวแทนนักเขียนด้วย แต่ก็พยายามระมัดระวังตัวไม่ให้ล้ำเส้นคำว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน

"เพราะจริงๆ แล้วสวมหมวกหลายใบมาก ก็ระวังเต็มที่เหมือนกัน การเป็นเอเยนต์ที่ซิลค์โรดคือเป็นซับ-เอเยนต์ มีหน้าที่แค่ขายงานของนักเขียนต่างชาติในเมืองไทย ถ้าวันหนึ่งลุกขึ้นมาทำตัวเป็นนักเขียนแล้วเขียนไปหาสำนักพิมพ์หรือตัวแทนนักเขียนที่ทำงานด้วยกันว่า ฉันเป็นนักเขียนแล้วนะ เอาของฉันไปขายไหม ก็คงจะฟังแปลกๆ ก็ต้องระวังมาก การอยู่ตรงนี้มานาน บริษัทซิลค์โรด เอเยนซีครบ 10 ปีพอดีปีนี้ ทุกคนก็เป็นเหมือนเพื่อนกันแล้ว เจอกันที่ลอนดอนบ้าง โบโลญญาบ้าง แฟรงก์เฟิร์ตบ้าง เวลาคุยๆ ดื่มน้ำชา ก็มีเผลอๆ เล่าไป

"จริงๆ แล้วเลือกส่งงานให้ติดต่อเอเยนต์ดู 2 ราย รายแรกบอกมาตามตรงเลยว่าไม่ทำหนังสือเด็ก รายที่สองที่ทำให้ตอนนี้ เขาอ่านแล้วชอบเลย ตอบรับกลับมาภายในอาทิตย์สองอาทิตย์ ซึ่งก็ลุ้นมาก เพราะตอนนั้นก็เริ่มติดต่อเองแล้วบ้างเหมือนกัน แต่คิดไปคิดมาก็สรุปว่าเมื่อถึงเวลาต้องต่อรอง มีคนทำให้ก็จะดีกว่า ถ้าถามว่า ที่มาถึงตรงนี้ได้เพราะการเป็นเอเยนต์มีส่วนด้วยไหม ก็ต้องตอบว่ามีส่วน แต่ก็ทำด้วยความระวัง หวังว่าจะไม่มาเกะกะรุงรังหรือซ้อนกัน ใช้ความเป็นเพื่อนเสียมากกว่า สำนักพิมพ์ที่รู้จักกันเขาก็แนะนำต่อๆ กัน อย่างสำนักพิมพ์ที่ออสเตรเลียเพิ่งบอกมาว่า กำลังจะไปมาเลเซียและอินโดนีเซีย คงไม่ว่านะถ้าเจอใครแล้วจะโฆษณาหนังสือให้ แล้วรู้สึกดี บอกเขาไปว่า ไม่ว่าหรอก มีแต่จะขอบคุณ"

2. ประสบการณ์สนุกๆ

การทำงานร่วมกับบรรณาธิการหลากหลายเชื้อชาติ เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และล้ำค่าสำหรับ งามพรรณ เกร็ดสนุกๆ ของวงการหนังสือแต่ละชาติจะไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้วงการหนังสือในเมืองไทยค่อนข้างจะไม่รู้รายละเอียดมากนัก

"บรรณาธิการที่อเมริกาจะอีเมล์ถามมาบ่อยมาก พระพายเรือมาแล้วกะทิใส่บาตร เขานึกภาพไม่ออก จะทำได้อย่างไร ก็หารูปส่งทางอินเทอร์เน็ตให้เขาไป เป็นรูปเด็กถือถาดใส่อาหารและมีขันข้าว ซึ่งเป็นตอนที่กะทิถือขันข้าวมาใส่บาตร เขาถามว่า ถือขันข้าวเดินมาแล้วขันไปไหน ข้าวไปใส่บาตรได้อย่างไร ก็ต้องอธิบายว่า พระที่อยู่ในเรือจะมีบาตรมา แล้วกะทิก็ตักข้าวจากขันใส่บาตรลงไป ซึ่งในเรื่องไม่ได้เขียนบรรยายไว้ เพราะคนไทยทุกคนนึกภาพออกอยู่แล้ว แต่เขาไม่เห็นภาพ ก็ส่งรูปไปให้ดูแล้วอธิบาย เขาก็บอกว่า ขอเพิ่มตรงนี้อีกประโยคหนึ่ง เพราะเขากลัวว่าคนอ่านอเมริกันจะไม่เข้าใจ นี่คือฉบับอเมริกา"

จากจุดนี้ทำให้ งามพรรณ เพิ่งตระหนักรู้ว่า การเป็นนักเขียนต้องค้นคว้าจริงๆ เพราะขณะที่เขียนก็คิดว่า ถูกหมดแล้ว

"เขาก็บอกว่า ขอเพิ่มตรงนี้ได้ไหม มันจะชัดเจนขึ้นนะ เขาจะทำให้คนอ่านเข้าใจจนหมด แบบสองบวกสองเป็นสี่มากๆ เรื่องที่เขาสงสัยไม่เห็นคนอ่านในบ้านเราถามเลย ของอเมริกันต้องชัดเจน ในขณะที่ทางออสเตรเลียแปลเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกัน เขาไม่ถามของพวกนี้ แสดงว่าความรับรู้ของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน

"อย่างญี่ปุ่นก็ถามมาเหมือนกันว่า บ้านอยู่ในน้ำ แล้วยายลงไปทำอะไรที่ใต้ถุนบ้านได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่า บ้านไม่ได้อยู่ในน้ำ บ้านอยู่ริมน้ำ ก็ส่งรูปเรือนไทยใต้ถุนสูงไปให้ดู แปลว่า เสาสูงแต่ว่าไม่ได้ปักอยู่ในน้ำ เขา อ๋อ! ขึ้นมาทันที ตอนแรกเขาไม่เข้าใจ"

ส่วนฉบับเยอรมัน เธอบอกว่า เขาก็ขอเปลี่ยนชื่อจาก 'ความสุขของกะทิ' (Happiness of Kati) เปลี่ยนเป็น 'the House of Sixteen Jars' (บ้านที่มีโอ่ง 16 ใบ)

"เขาขอมา ก็ต้องมานั่งคิดว่า จะเยสหรือโน มีอยู่บทหนึ่งที่พูดถึงหนังสือชื่อ 'บ้านที่มีพ่อ 60 คน' เป็นหนังสือเด็กที่ใครๆ ก็รู้จัก บรรณาธิการจึงเอามาใช้ตั้งชื่อให้ใกล้เคียง เพราะดูว่าศูนย์รวมของเรื่องคือบ้านริมคลอง เหตุผลของเขาในการใช้ชื่อเรื่องแบบนี้ก็เหมือนกับว่า เป็นการเรียกลูกค้าหนังสือด้วยชื่อเรื่อง ท้ายสุดก็ต้องยอม เพราะไม่รู้จักตลาดเขาเลย เมื่อเขาขอมา เขาก็คงต้องคิดแล้วว่า จะเป็นประโยชน์ในการขาย ภาษาเยอรมันเราก็อ่านไม่ออก เขาจะแปลเป็นอย่างไร ก็ไม่รู้อยู่ดี ก็เลยไม่ขัดคอ แต่ก็ขำดี ไม่รู้เหมือนกันว่า จะเป็นอย่างไร เพราะวันนี้จะวางตลาดในเยอรมนีแล้ว"

เมื่อมาถึงตอนนี้ งามพรรณ ย้อนกลับไปคิดถึงตอนเขียนทีแรก เธอรู้สึกเขียนอย่างโดดเดี่ยวมาก เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าจะออกมาอย่างไร เมื่ออกมาแล้วมีเสียงตอบรับกลับมา ถือเป็นกำลังใจเป็นของขวัญ และตอนนี้เธอกำลังจะมี 'ความสุขของกะทิ' ภาค 2 ตอนตามหาพระจันทร์ ที่จะพิมพ์ออกมาในเดือนนี้เช่นกัน

รางวัลในต่างประเทศ

บทแปลภาษาอังกฤษ 'The Happiness of Kati' โดยพรูเดนซ์ บอร์ทวิก (Prudence Borthwick) ชาวออสเตรเลีย จากหนังสือวรรณกรรมเยาวชน 'ความสุขของกะทิ' ของงามพรรณ เวชชาชีวะ ได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดงานแปล John Dryden Translation Competition ซึ่งจัดโดยสมาคมวรรณคดีเปรียบเทียบแห่งอังกฤษ (British Comparative Literature Association) นับเป็นผลงานจากเอเชียชิ้นแรกที่ได้รับรางวัลจากการจัดประกวดที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2538 การประกวดนี้ดำเนินการโดย ศูนย์การแปลวรรณกรรมแห่งอังกฤษ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (British Centre for Literary Translation - University of East Anglia) รับพิจารณาผลงานแปลจากทุกภาษาทั่วโลก ทั้งงานบทกวี บทละครและวรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเก่าหรืองานร่วมสมัย แต่จะต้องเป็นงานที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์โดยพิธีมอบรางวัลมีขึ้นในวันที่ 12 - 14 กันยายนที่ผ่านมา ในกาประชุม 'Literature Travels' ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยวูลฟ์แฮมตัน (University of Wolverhampton) ประเทศอังกฤษ

ล่าสุด สมาคมห้องสมุดเด็กในสหรัฐอเมริกา (The Junior Library Guild) คัดเลือก 'The Happiness of Kati' เป็นหนังสือแนะนำให้กับบรรณารักษ์ทั่วประเทศ ทุกปี สมาคมนี้จะคัดเลือกต้นฉบับ 252 เรื่องจาก 1,500 เรื่อง เพื่อแนะนำแก่สมาชิก และหนังสือที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์และการประกวดรางวัลวรรณกรรมต่างๆ อีกด้วย


*****************************

เรื่อง - พรเทพ เฮง



กำลังโหลดความคิดเห็น