การที่คนนับร้อยจะแหวกว่ายเหนือน่านฟ้า ใช้ร่างกายต่างชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ต่อตัวกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปภาพ ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย! เขาบังคับร่างกายให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างไร และเหตุใดจึงสามารถพยุงตัวให้ลอยอยู่ได้ทั้งที่ไม่ใช้ร่มชูชีพ นี่คือปณิธานเหนือน่านฟ้าของ The World Team ที่รวมพลังทำสถิติโลกเพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี
ผนึกกำลังนักกระโดดร่ม 30 ประเทศ
เนื่องในวโรกาสที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย จะทรงครองราชย์ครบ 60 ปีในปี 2549 นี้ The World Team องค์กรซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักกระโดดร่มจากทั่วโลกจึงผนึกกำลังกันกระโดดร่มทำสถิติโลกใหม่ (A New World Record) เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยจะมีการกระโดดร่มทำสถิติ 2 รายการ คือการกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการกระโดดร่มครั้งนี้จะจัดขึ้นที่สนามบินกองบิน 23 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธ์ทางอากาศ จ.อุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-9 ก.พ. 2549 และการกระโดดร่มมากที่สุดในโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 11 ก.พ.2549 โดยจะมีนักกระโดดร่มจาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน
น.อ.พีระยุทธ แก้วไสย ผ.บ.ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานจัดกิจกรรมกระโดดร่มทำสถิติโลกเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า
“ การกระโดดร่มทำสถิติ World Record ครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของนักกระโดดร่มทั่วโลก โดยมีนักกระโดดร่มเข้าร่วมถึง 30 ประเทศ ทั้งจากทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย เนื่องจากพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ยากที่กษัตริย์ชาติใดจะเสมอเหมือน ซึ่งการกระโดดร่มทำลายสถิติทั้ง 2 รายการในครั้งนี้เป็นการทำลายสถิติเดิมที่ The World Team ได้ทำไว้ในการกระโดดร่มเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษา เมื่อปี 2547”
ทำสถิติใหม่ 2 รายการ
ทั้งนี้ การทำสถิติใหม่ในส่วนของการกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ The World Largest Freefall Formation นั้นจะใช้นักกระโดร่มจำนวนถึง 400 คน จากสถิติเดิมที่ The World Team ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2547 ( ค.ศ.2004) จำนวน 357 คน ส่วนการกระโดดร่มมากที่สุดในโลก หรือ World Largest Mass Jump นั้นจะทำการกระโดดทั้งหมด 960 คน จากเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2547 จำนวน 672 คน
การกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ครั้งนี้จะมีคนไทยเข้าร่วม 5 คน โดยเป็นนักกระโดดร่มจากกองทัพอากาศ และอีก 395 คน เป็นนักโดดร่มชาวต่างชาติ ส่วนการกระโดดร่มมากที่สุดในโลกนั้นจะมีนักกระโดดร่มไทย 510 คน โดยมาจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งพลเรือน และที่เหลือเป็นนักกระโดดร่มจากต่างประเทศอีก 450 คน
“ ผู้ที่จะร่วมกระโดดร่มเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์และผ่านการทดสอบขีดความสามารถก่อน โดยเฉพาะการเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นทุกคนต้องผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการของ World Team ว่าสามารถทำได้ไหม เพราะต้องลอยตัวเกาะหมู่กันในระดับความสูงถึง 23,000 ฟุต ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาก นักกระโดดร่มต่างชาติซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศต่างๆก็มีฝีมือระดับโลกทั้งนั้น ส่วนคนไทยทั้ง 5 คน ซึ่งมีผมอยู่ด้วยนั้น เราเดินทางไปทดสอบขีดความสามารถที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของ World Team ใช้เวลาถึง 10 วันกว่าจะผ่าน ” น.อ.พีระยุทธ พูดถึงการคัดเลือกนักกระโดดร่มที่จะเข้าร่วมทำสถิติโลก
เกาะหมู่เป็นรูปกงจักร สัญลักษณ์พระเจ้าแผ่นดิน
จุดที่ท้าทายในการกระโดดร่มครั้งนี้คือการเกาะหมู่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะเกาะกันเป็นรูป ‘กงจักร’ สีธงชาติไทย (แดง ขาว น้ำเงิน) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งก็คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย ซึ่งหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้วทีมนักกระโดดร่มจากแต่ละประเทศจะทำการฝึกซ้อมกันก่อน โดยแต่ละทีมจะรู้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดของกงจักร และเมื่อเดินทางมารวมกันที่ประเทศไทยจึงซักซ้อมการเกาะหมู่ใหญ่ร่วมกัน
เนื่องจากมีนักกระโดดร่มถึง 400 คน จึงต้องใช้เครื่องบิน C130 จำนวน 5 ลำ ทะยานขึ้นฟ้าและขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ก่อนที่จะส่งสัญญาณให้นักกระโดดร่มโดดลงมาในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันเพื่อที่จะทำการเกาะหมู่ให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
“ ก่อนที่จะเดินทางมายังเมืองไทยนักกระโดดร่มแต่ละชาติก็ซ้อมในส่วนของตัวเอง ทีมหนึ่งอาจเป็นวงรอบในของกงจักร อีกทีมเป็นส่วนปลายของแฉกสีน้ำเงิน อีกทีมเป็นแฉกสีแดง เหมือนจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น พอซ้อมรวมกันที่เมืองไทยก็เหมือนเอามาต่อกันให้เป็นรูปที่สมบูรณ์ เมื่อถึงเมืองไทยก็จะเริ่มซ้อมโดดกันตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. และจะเริ่มบันทึกสถิติตั้งแต่วันที่ 4-6 ก.พ. คือเราโดดเกาะหมู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ภาพกงจักรที่สมบูรณ์ ซึ่งตามกติกาสากลระบุว่านักกระโดดร่มต้องสามารถเกาะกันเป็นรูปที่สมบูรณ์ได้นานอย่างน้อย 4 วินาที จึงจะถือว่าผ่าน ซึ่งความยากอยู่ที่จะทำอย่างไรให้คนถึง 400 คนสามารถเกาะกันเป็นรูปที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลาที่กำหนด ” ผ.บ.ศูนย์การทหารอากาศโยธิน อธิบาย
สูง 2.3 หมื่นฟุต ต้องพึ่งออกซิเจน
เนื่องจากการกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ครั้งนี้จะกระโดดในระดับความสูงถึง 23,000 ฟุต ซึ่งถือว่าค่อนข้างเสี่ยงเพราะเป็นระดับที่ออกซิเจนเจือจางมาก ดังนั้นก่อนกระโดดจึงต้องให้นักกระโดดร่มทุกคนสูดออกซิเจนก่อน โดยจะมีถังออกซิเจนอยู่ในเครื่องบินทั้ง 5 ลำ และจะเริ่มให้ออกซิเจนตั้งแต่เครื่องบินขึ้นไปถึงระดับ 13,000 ฟุต
“เครื่องบินทั้ง 5 ลำจะบินขึ้นพร้อมกันเป็นรูปฝ่ามือ คือตำแหน่งจะไล่ระดับกันเหมือนนิ้วมือทั้ง 5 โดยลำกลางจะอยู่ด้านหน้าสุด (เหมือนนิ้วกลาง) อีก 2 ลำจะบินขนานกันในลำดับที่ลดลั่นลงมา(เหมือนนิ้วนางและนิ้วชี้) และอีก 2 ลำที่เหลือจะบินขนานปิดท้าย (เหมือนนิ้วก้อยและนิ้วโป้ง) เมื่อบินถึงระดับความสูง 23,000 ฟุต ผู้ควบคุมก็จะให้สัญญาณเพื่อให้เครื่องบินแต่ละลำปล่อยนักโดดร่มลงมาพร้อมๆกัน
เมื่อผู้ควบคุมการโดดให้สัญญาณเตรียมการโดด นักกระโดดร่มทุกคนจะเอาสายออกซิเจนออกก่อนที่ตัวเองจะทำการโดด 15 วินาที ดังนั้นทุกอย่างจะต้องเป๊ะหมด ผิดพลาดไม่ได้เลย จะมีการกำหนดไว้อย่างละเอียดว่าใครอยู่ตำแหน่งไหน ใครเข้าเกาะก่อน ใครเข้าตามมา เพื่อประกอบให้เป็นรูป ถ้าทำไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนดก็ต้องเริ่มกระโดดใหม่ เพราะทุกคนต้องแยกตัวออกเพื่อกางร่มในระดับความสูงที่ 7,500 ฟุต ไม่เช่นนั้นจะอันตรายมาก ถ้ากระตุกร่มช้าไปอาจหล่นลงมากระแทกพื้นและเสียชีวิตได้” น.อ.พีระยุทธ บอกด้วยสีหน้าจริงจัง
เทคนิคการเคลื่อนตัวกลางอากาศ
สำหรับเทคนิคในการเกาะหมู่เป็นรูปต่างๆนั้น เมื่อนักกระโดดร่มแต่ละคนกระโดดออกจากเครื่องบินแล้วก็จะพยายามพยุงตัวให้ลอยอยู่ในอากาศและแหวกอากาศเพื่อเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต้องการซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากและต้องมีประสบการณ์สูง เมื่อเคลื่อนไปยังตำแหน่งที่กำหนดแล้วก็ทำการเกาะกับนักกระโดดร่มคนอื่นเพื่อให้เกิดเป็นรูปต่างๆ โดยจะเริ่มเกาะเพื่อก่อรูปจากด้านในออกมาก่อน จากนั้นคนที่อยู่ในตำแหน่งด้านนอกจึงทยอยลอยตัวเข้ามาเกาะ ซึ่งต้องรีบก่อรูปให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด และอย่าให้ขาดออกจากกัน
น.อ.พีระยุทธ อธิบายว่า “ การเคลื่อนที่กลางอากาศเป็นการจัดระเบียบร่างกายให้สอดคล้องกับหลักการทางกลศาสตร์ นักกระโดดร่มจะต้องเรียนรู้หลักทางกลศาสตร์เพื่อเคลื่อนตัวไปในอากาศ เช่น ถ้าจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าจะต้องเหยียดขาออก หดมือลงมาเสมอไหล่ เพื่อลดแรงปะทะด้านหน้าและให้แรงลมช่วยดันลำตัวจากด้านหลัง ถ้าต้องการจะเคลื่อนไปทางซ้ายก็เอี้ยวตัวไปทางซ้าย หรือถ้าโยกไปทางขวาตัวเราก็จะเคลื่อนไปทางขวา ถ้าจะถอยหลังก็ให้งอขาเข้าและเหยียดแขนออก เมื่อแขนปะทะกับลมตัวเราก็จะสไลด์ถอยหลัง
เมื่อเคลื่อนตัวไปในตำแหน่งที่ต้องการแล้วก็จะจับกับนักโดดคนอื่น โดยจับในจุดที่กำหนดไว้ เช่น แขน ขา ซึ่งก็จะติดอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อให้สามารถเกาะได้แน่นขึ้น คนข้างหลังจะเกาะขาคนข้างหน้า คนที่อยู่ในระนาบเดียวกันก็จับแขนกัน ซึ่งจะมีการระบุไว้ชัดเจนว่าใครจะต้องจับในตำแหน่งไหน จับข้อมือซ้าย หรือจับข้อเท้าขวาของเพื่อน ถ้าเกาะกันเป็นรูปแล้วเกิดคนใดคนหนึ่งทำมือหลุดแล้วรูปแตกออก แต่ละคนก็ต้องพยายามเคลื่อนตัวให้กลับเข้ามาจับกันใหม่ แต่ก็ต้องดูด้วยว่ามีเวลาพอหรือไม่ ”
ทำอย่างไรให้ลอยและตกลงมาพร้อมๆกัน
นอกจากการเคลื่อนตัวเข้าเกาะหมู่แล้ว นักกระโดดร่มทุกคนจะต้องพยายามลอยตัวและตกลงพร้อมๆกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสร้างรูปที่สมบูรณ์ได้ หรือรูปที่สร้างขึ้นอาจแตกออกก่อนเวลาที่กำหนด ซึ่ง ผ.บ.ศูนย์การทหารอากาศโยธิน ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า
“แน่นอนว่านักกระโดดร่มแต่ละคนย่อมมี ส่วนสูง ขนาดลำตัวและน้ำหนักไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถลอยอยู่กลางอากาศได้นานเท่าๆกัน โดยทั่วไปอัตราการตกลงสู่ที่ต่ำของแต่ละคนจะอยู่ที่ประมาณ 120 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งการที่คนทั้ง 400 คนจะลอยอยู่กลางอากาศพร้อมกัน และค่อยๆตกลงมาพร้อมกันก็ต้องใช้เทคนิคเพื่อปรับให้อัตราการตกเท่ากัน ปกติคนตัวใหญ่พื้นที่ในการปะทะอากาศจะมาก ทำให้มีแรงพยุงให้ลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่าคนตัวเล็กซึ่งมีพื้นที่รับอากาศน้อยกว่า ”
ทั้งนี้ วิธีการปรับให้อัตราการตกของนักกระโดดร่มในทีมเท่ากันทุกคนนั้นมีอยู่ 2 วิธี คือ 1) การจัดลำดับร่างกาย เช่น หากเป็นคนตัวเล็กแต่ต้องการให้ตกลงมาพร้อมคนตัวใหญ่ก็ต้องกางแขนขาออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปะทะอากาศ เพื่อให้ตกช้าลง ถ้าเป็นตัวใหญ่ก็ต้องพยายามจัดลำดับร่างกายให้มีพื้นที่ปะทะอากาศน้อยลงจะได้ตกเร็วขึ้น 2) ใช้เข็มขัดตะกั่วเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เช่น หากเป็นคนตัวเล็กก็ให้ขาดเข็มขัดตะกั่วเพื่อให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจะได้ตกลงมาพร้อมกับคนตัวใหญ่
จากการซักซ้อมก่อนที่จะทำการกระโดดร่มเกาะหมู่เพื่อบันทึกสถิตินั้นจะทำให้นักกระโดดร่มแต่ละคนทราบดีว่าในการกระโดดครั้งนั้นๆตนเองควรจัดลำดับร่างกายอย่างไร หรือจำเป็นต้องเพิ่มน้ำหนักหรือไม่
“ ถ้าช่วงซ้อมตัวเองโดดลงไปเกาะแล้วตัวลอย หรือลงไปไม่ทันคนอื่น หรือจับคนอื่นแล้วตัวเองลอยขึ้นมาดึงให้คนอื่นเขาลอยขึ้นมาด้วยวงก็แตก ก็จะรู้เลยว่าขึ้นโดดครั้งต่อไปจะต้องเพิ่มน้ำหนักไหม เพื่อให้สมดุลกับคนอื่น พวกนี้เขามีประสบการณ์อยู่แล้วเขาคำนวณได้เลย ” ผ.บ.ศูนย์การทหารอากาศโยธิน บอกยิ้มๆ
รูปที่ไม่บาลานซ์ทำได้ยาก
หลักการหนึ่งของการกระโดดร่มเกาะหมู่ใหญ่ก็คือรูปที่จะสร้างโดยการเกาะหมู่ควรเป็นรูปที่มีความบาลานซ์(balance) หรือสมดุลกันในทุกทิศทาง ซึ่งรูป‘กงจักร’ที่จะสร้างขึ้นในการกระโดดร่มเกาะหมู่ครั้งนี้ก็มีเหตุผลในเรื่องความสมดุลมาเกี่ยวข้องด้วย โดยกงจักรดังกล่าวจะมี 10 แฉก แต่ละแฉกมีขนาดเท่าๆกัน
“ การกระโดดร่มเกาะหมู่นั้นเราสามารถทำเป็นรูปต่างๆได้มากมาย แต่ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นรูปทรงเลขาคณิต เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือรูปที่เกิดจากการนำรูปทรงเลขาคณิตมาต่อกัน เพราะจะง่ายต่อการคำนวณจำนวนคนและง่ายต่อการเคลื่อนเข้าเกาะหมู่เพื่อสร้างเป็นรูป จริงๆแล้วการกระโดดร่มเกาะหมู่ก็ยากทุกรูปแต่ครั้งนี้มีความยากกว่าที่ผ่านมาตรงที่จำนวนคนที่เข้าเกาะหมู่มีจำนวนถึง 400 คน การจะทำให้ balance ในทุกส่วนจึงยากมาก ทำยังไงรูปที่เกิดขึ้นจะไม่แตก ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อโดดลงมาแล้วจะต้องเกาะกันให้อยู่ในรูปที่สมบูรณ์เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 4 วินาทีจึงจะถือว่าสามารถบันทึกไว้เป็นสถิติได้ ” น.อ.พีระยุทธ กล่าว
โดด Mass Jump เป็นสายน้ำตก
ส่วนการกระโดด World Largest Mass Jump หรือการกระโดดร่มมากที่สุดในโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้นั้น จะทำการกระโดดครั้งเดียวคือในวันที่ 11 ก.พ.2549 โดยจะใช้เครื่องบินจำนวน 9 ลำ แต่ละลำจะบินมาเหนือที่หมายที่ละลำเพื่อให้นักกระโดดร่มทำการโดด จากนั้นลำต่อไปจะเข้ามาเหนือที่หมายในระยะเวลาห่างกันเพียง 9 วินาที ทำให้เกิดภาพการกระโดดร่มที่ไหลเป็นสายประหนึ่งน้ำตกขนาดมหึมา โดยนักกระโดดร่มจะใส่ชุดวอร์มสีน้ำเงิน-เหลือง ซึ่งสีน้ำเงินนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ส่วนสีเหลืองคือสีประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระโดดร่มทำสถิติ A New World Record ของ The World Team ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ใช่เพราะเหล่านักระโดดร่มทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวชาติต่างภาษาต่างรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตา
* * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - The World Team