xs
xsm
sm
md
lg

พาปลาไปหาหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะผ่าตัดให้น้ำเกลือสลับน้ำธรรมดา
ปลาสวยงามเป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่ง หลายคนนิยมเลี้ยงดูเล่นและเป็นเพื่อนคลายเหงา เสริมโชคลาภให้กับผู้เลี้ยง นอกจากนี้ยังเหมาะกับวิถีชีวิตของคนเมืองกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ได้

ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยรักษาชีวิตของมนุษย์ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ยังช่วยต่ออายุสัตว์น้ำได้อีกด้วย

1.

หนุ่มสาวคู่หนึ่งอุ้มเต่าดาวตัวเล็กๆ เปิดประตู ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของตึก 60 ปี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามา เมื่อนั่งลงตรงหน้าหญิงสาวในชุดกราวนด์ จึงเริ่มบอกเล่าอาการ พร้อมกับมอบถุงเล็กๆข้างในบรรจุซากข้าวโพดปะปนกับชิ้นส่วนอุจจาระ

เบื้องต้น สัตวแพทย์หญิง ฐนิดา เหตระกูล สันนิษฐานว่าอาจไม่สบาย เนื่องจากโพรงจมูกปิดหนึ่งข้าง และมีน้ำตาไหล จากนั้นได้นำอุจจาระของเต่า วางลงบนแผ่นกระจก พร้อมกับใช้ส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาสาเหตุของโรค หลังจากนั้นจึงทำการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขาหน้าหรือขาหลัง ก่อนส่งคืนแก่เจ้าของ

นอกจากกล้องจุลทรรศน์ ใช้ตรวจวินิจฉัยโรคหาสาเหตุอาการป่วย ตรวจโลหิตวิทยา ตรวจหาเชื้อไวรัส ภายในห้องตรวจยังประกอบไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรค เช่นเดียวกับห้องตรวจโรคของมนุษย์และสัตว์บก เตียงโลหะตั้งอยู่กึ่งกลางของห้อง ข้างๆมีเสาน้ำเกลือตั้งอยู่

"ในการผ่าตัด จะให้น้ำเกลือและน้ำสลับกันไป พอเห็นว่าสลบนาน จะเปลี่ยนให้น้ำเปล่า การให้น้ำเกลือทำได้หลายวิธี เช่น การเปลี่ยนสภาพน้ำ จากปลาน้ำเค็มนำมาอยู่ในน้ำจืดถือเป็นการให้น้ำเกลือได้เหมือนกัน ให้ได้ทางเหงือก น้ำสามารถซึมผ่านเหงือกได้ตลอดเวลา ต่างจากเต่า น้ำไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ดังนั้นการให้น้ำเกลือจึงทำได้โดยการให้โดยการฉีดหรือสอดเข้ากระเพาะอาหาร" สัตว์แพทย์หญิงอธิบาย

มุมหนึ่งของห้องใช้สำหรับตั้งเครื่องเอกซเรย์ตรวจภายใน แสงไฟสว่างปรากฏโครงร่างปลาบนแผ่นฟิล์ม ภายในมีวงกลมซ้อนอยู่ ซึ่งสพ.ญ.ฐนิดาอธิบายว่าเป็นลักษณะของเนื้องอก "ใช้ตรวจกรณีปลาชนตู้ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน บางตัวกระโดดแรงๆ แล้วน็อกไปจะเอกซเรย์ดูกระดูก"

สพ.ญ.ฐนิดายกประสบการณ์การรักษาสัตว์ป่วยอาการหนักที่สุดที่ผ่านมาให้ฟังว่า "หนักที่สุด รักษาเต่าถูกรถทับจนกระดองแตกละเอียด ปอดเปิดยุบลงไปข้าง กรณีกระดองแตกใช้เวลารักษาเป็นเดือนๆ บางตัว 6 เดือน พวกนี้ใช้เวลารักษานานมากกว่าแผลจะแห้ง อาการดีขึ้น"

สัตว์ป่วยบางตัวมารักษาด้วยอาการแปลก "เด็ก ม.6 และม.2 อาศัยอยู่คอนโดฯและเลี้ยงเต่าญี่ปุ่น 2 ตัว เพศผู้และเมีย วันหนึ่งโทร.มาถามว่า เต่าเป็นอะไรไม่รู้ มีอะไรโผล่ออกมาจากก้น เมื่อ 2 วันก่อนได้พยายามดึงและสลัด ตัวประหลาดดังกล่าวก็ยืดออกมา จึงนำกรรไกรตัด จนเลือดพุ่ง หลังจากนั้นสัตว์ประหลาดหดเข้าไป และกำลังจะออกมาอีก ปรากฏว่าแท้จริงแล้วเป็นอวัยวะเพศของเต่าตัวผู้ พอถึงช่วงผสมพันธุ์จึงออกมา ได้ทำการเย็บและใส่ยาให้"

“เคยมีอาจารย์ทำศัลยกรรมให้ปลาอโรวานา นิยมทำเพราะถ้าปลามีลักษณะไม่สวย ราคาจะตก ทำศัลยกรรมหนังตาตก เหงือกม้วน ผ่าตัดตาคล้ายกับคน ส่วนเหงือกก็ตัดออก ให้มันขึ้นใหม่ดูสวยขึ้น”

2.

โรงพยาบาลสัตว์น้ำให้การรักษาสัตว์น้ำทุกชนิด เช่น ปลา กบ เต่า กุ้ง เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่นำมารักษา ได้แก่ ปลาและเต่า โดยมีกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่ผู้ที่เลี้ยงเป็นงานอดิเรกไว้ดูเล่นเพียงไม่กี่ตัว จนถึงผู้ประกอบการธุรกิจสัตว์น้ำ

สัตวแพทย์หญิง ฐนิดา อธิบายถึงอาการของสัตว์น้ำแต่ละชนิด "เต่ามักจะมารักษาอาการหวัด ท้องเสีย มีก๊าซหรืออะไรอุดตันในช่องท้อง กบมารักษาน้อย ที่ผ่านมาเคยรักษาเพียงตัวเดียว อาการตัวบวม ไม่ค่อยกินอาหาร"

สำหรับปลามักเป็นโรคเกี่ยวกับถุงลม "ส่วนใหญ่โรคปลามักเกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลม ถุงลมทำหน้าที่รักษาความสมดุลในการว่ายน้ำ อีกสาเหตุใหญ่เกิดจากปรสิตภายนอก เช่น ปลิงใส หนอนสมอ เห็บระฆัง เมื่อมีปรสิตภายนอก ปลาจะเริ่มคันและถู ทำให้เกิดแผล และการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา ที่เห็นปลาท้องหงายท้อง ตามมาด้วยอาการถุงลมอักเสบ"

"ปลากินอาหารเยอะ ทำให้ท้องอืด จะหงายท้องอยู่สักพัก พออาหารย่อยก็จะกลับมาว่ายน้ำได้เหมือนเดิม ถ้ามีอาการหงายท้องหลังกินอาหารทุกครั้ง ควรให้ปลากินอาหารน้อยลง และถ้าปลาพลิกตัวบ่อย มีโอกาสทำให้เกิดการพันของถุงลมกับลำไส้ก่อให้เกิดโรคตามมาได้"

ปลาส่วนใหญ่นำมารักษา ได้แก่ ปลาหมอสี ปลาทอง ปลาอโรวานา "ปลาหมอสีกระดูกหักบ่อย อโรวานามักมีปัญหาไมโครชิปเข้าไปอยู่ผิดที่ เนื่องจากเป็นปลานำเข้า จึงถูกฝังไมโครชิปลงไปในกล้ามเนื้อ ตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ บางทีแทงลงไปอยู่ช่องท้อง หรือใกล้ช่องท้อง พอปลาโตขึ้น ว่ายน้ำดิ้นไปมาทำให้ไมโครชิปเลื่อน เกิดการอักเสบ เริ่มแรกใช้ยาก่อน ส่วนใหญ่ยาช่วยได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะทำการผ่าออก นอกจากนี้ปลาชอบเช่นก้อนกรวด เล่นๆไปตกไปอยู่ในท้อง นานเข้าอุดในท้อง ปลาไม่กินอาหาร เอกซเรย์พบก้อนกรวดในกระเพาะอาหารเยอะ ต้องผ่าตัด"

และช่วงที่สัตว์น้ำมักจะป่วยมากที่สุดตรงกับฤดูหนาว "ฤดูหนาวปลามักเป็นโรคจุดขาวเกิดจากโปรโตซัวร์ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเยอะในช่วงที่อุณหภูมิต่ำ ส่วนปลาคาร์พจะมีไวรัสชนิดหนึ่ง พออากาศหนาวมักจะเป็นกัน ส่วนเต่าบกมักเป็นหวัด เพราะไม่มีแดด อากาศเย็น"

ภายในห้องเรียงรายไปด้วยตู้ปลาและปลาหลากหลายชนิด แต่ละตู้ติดชื่อเจ้าของและยาใช้ในการรักษาเป็นยาแช่น้ำ เพื่อให้ยาสามารถซึมผ่านเหงือก และเมื่อมาถึงตู้ปลาหมอสี ซึ่งดวงตาข้างขวาปูดโปนขึ้นมาผิดปกติ เนื่องจากเกิดการติดเชื้อ สพ.ญ.ฐนิดาอธิบายอาการให้ฟังว่า

"ตัวนี้อยู่มาเกือบ 2 อาทิตย์ เป็นฝีข้างใน แล้วดันออกมา สาเหตุอาจเป็นเพราะเกิดแผลมาก่อน หรือกินอาหารที่มีเชื้อโรค ตอนแรกเป็น 2 ข้าง เจ้าของใช้ยาตามท้องตลาดรักษา ตายุบลงไปข้างหนึ่ง แต่อีกข้างกลับบวมขึ้น ซึ่งจริงๆ เจ้าของไม่ควรรักษาด้วยตนเอง เพราะเมื่อมาถึงหมอ ทำให้เลือกใช้ยารักษายาก แต่เพราะปลาตัวนี้มีการเพาะเชื้อ ทำให้รู้ว่าควรใช้ยาอะไรรักษา ครั้งแรกทำการรักษาด้วยวิธีการดูดหนองออกก่อน ตอนนี้เริ่มแข็งเกิดพังพืด จึงให้ยาอีdอย่างปลากินอาหารดี พอให้ยาครบก็กลับบ้านได้ ส่วนเรื่องตาปูดขึ้นมาคงค่อยๆให้ร่างกายรักษาตัวเอง ไม่นานก็จะยุบ แต่คงไม่ยุบลงเท่าเดิม"

"จะมีปลาบางส่วน เจ้าของรักษาแล้วไม่หาย หรือปล่อยทิ้งไว้นานๆ จึงนำมารักษา ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งไว้นานๆ พอมารักษามักไม่ค่อยหาย เพราะไม่มีอาการเกี่ยวกับการติดเชื้อแล้ว ยาทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นเหมือนกับคนพิการ ซึ่งถ้าปลาพอจะกินอาหาร ว่ายน้ำได้บ้างก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้"

สพ.ญ.ฐนิดามองปลาทอง ซึ่งช่วงท้องมีขนาดใหญ่มาก "เป็นอาการท้องมาน ข้างในมีน้ำอยู่ เนื่องจากตับทำงานผิดปกติ กรณีนี้ให้ได้แค่ยาปฏิชีวนะและควบคุมการติดเชื้อ ส่วนตับให้วิตามินและดูดน้ำออกตลอด ส่วนใหญ่มักไม่หาย"

ถัดมาเป็นปลาหมอสีแน่นิ่งอยู่ในตู้ปลา สัตวแพทย์หญิงอธิบายว่า ปลาหมอสีตัวนี้มีอาการผิดปกติของลำไส้ โดยมีลำไส้ไหลออกมาอยู่นอกลำตัวคล้ายติ่ง จึงต้องทำการตัดต่อลำไส้ ผ่าตัดนำลำไส้กลับเข้าไปเก็บตามเดิม

"ผ่าตัดเป็นเวลาเกือบชั่วโมง เริ่มจากวางยาสลบ เพราะจุดทวารของปลาถือเป็นจุดที่ไว ถ้าไม่วางยาสลบจะทำการผ่าตัดไม่ได้ ปลาจะเจ็บมาก ส่วนปลาหมอสีตัวนี้ซึม และร่างกายอ่อนแออยู่แล้ว พอวางยาสลบจึงนิ่งเร็ว ขณะที่บางตัวอาจต้องใช้เวลาในการวางยาสลบนาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ในเวลานั้นปลาตื่นเต้นหรือไม่ ยาในระดับเดียวกัน แต่ปลาต่างชนิดกันอาจใช้เวลาในการวางยาสลบไม่เท่ากัน การวางยาสลบปลามีหลักการเดียวกับคนและสุนัข คือต้องอยู่ในสถานที่เงียบ ไม่ให้ตื่นเต้น ซึ่งจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็ว ยาสลบทำจากน้ำมันกานพลู พอลงน้ำได้ออกซิเจนก็จะรู้สึกตัว แต่กว่าจะกลับมาว่ายตามปกติต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที"

ภายหลังการผ่าตัด ปลาหมอสียังคงว่ายน้ำได้ตามเดิม ทว่าชั่วเวลาข้ามคืนก็หยุดหายใจในตอนเช้าของวันถัดมา ซึ่งสัตวแพทย์หญิงอธิบายว่า ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย การรักษาด้วยวิธีการตัดต่อลำไส้ในปลายังไม่เป็นผลสำเร็จ

"การเย็บมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไหมใช้เย็บหรือเข็ม และขนาดลักษณะกายภาพของลำไส้ปลา ซึ่งมีขนาดเล็ก ทำให้เย็บลำบาก พอเย็บไปแล้ว ลำไส้เกิดอาการตีบได้ง่าย ทำให้ลำไส้เกิดการอุดตัน และอาการช็อกตามมาได้อย่างปลาตัวนี้ หลังจากเย็บสามารถว่ายได้ตามปกติ แต่เพิ่งช็อกเมื่อเช้า"

ปลาที่หยุดหายใจแล้ว ทางโรงพยาบาลจะแจ้งไปยังเจ้าของให้มารับกลับ หรืออีกกรณีเจ้าของไม่รับกลับก็จะนำซากปลานั้นมาทำการผ่าพิสูจน์เป็นกรณีศึกษาสาเหตุโรคอื่นต่อไป

3.

ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ เปิดบริการทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. แต่ละวันมีผู้นำสัตว์น้ำมารักษาเฉลี่ย 10 รายต่อวัน สำหรับสัตว์น้ำที่ต้องได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดจะให้เข้าพักฟื้นในศูนย์วิจัยฯ เนื่องจากการรักษาปลาไม่สามารถนัดเจ้าของให้นำปลามารักษาทุกวันได้ เพราะการเคลื่อนย้ายปลามาโรงพยาบาลทำได้ลำบากกว่าสัตว์ชนิดอื่น กอปรกับปลามักเกิดอาการเครียด เมื่อมีการขนย้าย

สำหรับระยะเวลาในการเข้ารับการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของปลาแต่ละตัว โดยทั่วไปประมาณ 2 อาทิตย์ เมื่อหมดการติดเชื้อ จึงแจ้งเจ้าของนำกลับไปดูแลต่อที่บ้าน ส่วนปลาใช้ระยะเวลารักษานานมากเป็นเวลาเกือบเดือน

"แต่ละวันมีคนนำสัตว์มารักษากันเยอะ แต่ตู้มีจำนวนจำกัด จำนวนตู้ทั้งหมดประมาณ 12 ตู้ ตอนนี้ก็ค่อยๆ ลามมา ยืมตู้ทดลองใช้บ้าง ถ้ามีเคสหนักๆมารักษา ต้องฉีดยาอย่างต่อเนื่อง จะไม่มีตู้ให้ เคสมีทุกวัน บางวันรับไม่ได้จริงๆ เพราะไม่มีตู้ เจ้าของบางคนถึงกับยกตู้มาให้" สัตวแพทย์สาวกล่าวถึงอุปสรรคในการทำงาน

ส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาปลาโดยเฉลี่ย 150-300 บาท และไม่เกิน 500 บาท ทั้งนี้ปริมาณยาที่จ่ายออกไปขึ้นอยู่กับขนาดของตู้ปลาว่ามีความกว้างเพียงใด

"แอทมิทวันละ 20 บาท รวมค่ายาและค่าอาหาร ยกเว้นถ้ามียาพิเศษที่ต้องเพิ่มก็จะเสียค่ายาเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย ยาที่ใช้แช่ทั้งหมดทำเอง ดังนั้นจึงไม่แพงมาก เจ้าของส่วนใหญ่ใช้วิธีการโทรศัพท์มาถามอาการมากกว่าการมาเยี่ยม"

สพ.ญ.ฐนิดาทิ้งท้ายว่า "ความรักการดูแลที่เจ้าของมีให้ปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นไม่ต่างจากสัตว์บก รักเหมือนเป็นลูกเช่นกัน"

*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*

เรื่อง - ศิริญญา มงคลวัจน์
ภาพ - อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์

สัตวแพทย์หญิง ฐนิดา เหตระกูล นำอุจจาระของเต่าป่วยมาส่องกล้องฯตรวจหาสาเหตุของโรค
ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อให้เต่า



บรรดาปลาป่วยนอนนิ่งหายใจรวยรินในตู้ปลา

เต่าถูกรถทับกระดองแตกนำมารักษา

เอกซเรย์ดูกระดูก ตรวจหาเนื้องอก
ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ บริการรักษาโรคของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น