เมื่อใกล้วันตรุษจีน ก็ย่อมนึกถึงเยาวราชอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งรวมของคนไทยเชื้อสายจีนที่หนาแน่นที่สุดในเมืองไทย โลกของเยาวราชก็เปรียบเสมือนเมืองจีนเล็กๆ ที่หนึ่ง ดุจเดียวกันทั่วโลกที่เรียกชื่อเสียงเรียงนามว่า 'ไชน่าทาวน์'
ไชน่าทาวน์ที่มีชื่อเสียงของโลก ก็มีที่ซานฟรานซิสโก, โซโห-ลอนดอน และซิดนีย์ แต่เยาวราชก็คือ ไชน่าทาวน์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกไม่แพ้ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจีนข้างต้น
ยาวนานกว่า 200 ปีที่เยาวราชก่อร่างสร้างตัวผ่านร้อนหนาวจนเก่าแก่ขรึมขลัง กลับไปสำรวจเยาวราชในยุค 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
50 ปี ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในสายตาของเกจิเยาวราช และผู้อาวุโสของเยาวราช
1 คุณค่าของเยาวราช
เยาวราช : คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม ในงานวิจัยระดับปริญญาโทของ กุมารี ลาภอาภรณ์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษา และวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล โดยพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของยูเนสโก (UNESCO) ในการที่จะเข้าข่ายมรดกโลกแล้ว ชุมชนย่านเยาวราชมีคุณค่าที่สามารถจำแนกแยกย่อยได้ดังนี้
คุณค่าทางวัตถุ (Materialistic Value) ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมายผ่านทางวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นมังกรเป็นตัวแทนของความเป็นชาย โคมไฟสื่อถึงแสงที่ส่องสว่างในการส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์
คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Value) หลักฐานจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยริมถนนและในตรอกซอกซอยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเสื่อผืนหมอนใบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีระยะเวลายาวนานนับร้อยปี
คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึก (Spiritual Value) ซึ่งปรากฏในคำสั่งสอนและการปฏิบัติที่มีสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้ชาวจีนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ มีความกตัญญู รู้คุณคน ขยัน พากเพียร หนักเอาเบาสู้ ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม
คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Value) และ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ที่ดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ถูกถ่ายทอดผ่านช่าง และศิลปินที่บรรจงสร้างงานศิลปะต่างๆ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์
คุณค่าทางวัฒนธรรม (Culture Value) ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดออกมาผ่านธรรมเนียม ปฏิบัติ รวมถึงคติธรรม คำสอน การใช้ชีวิตประจำวันที่ยึดถือกันมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพื่อลูกหลานได้อยู่รอดปลอดภัย
2 เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเยาวราช
ในการเสวนา 'ครึ่งศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของเยาวราช' ของป๋วยเสวนาคาร โดย ชุนเซ้ง แซ่เฮ้า ผู้อาวุโส และประธานชุมชนตลาดวาณิชสัมพันธ์ ย่านเยาวราช กับเจริญ ตันมหาพราน ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีนของเยาวราช ทั้งสองบอกว่า การรำลึกเล่าเรื่องความหลังของเยาวราชไม่ใช่เรื่องในเชิงวิชาการ แต่เป็นปากคำที่มาจากความทรงจำที่ผ่านไปแต่หนหลัง
ชุนเซ้ง ผู้อาวุโสได้เล่าถึงตลาดน้อย ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ในย่านเยาวราชว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านไป ตลาดน้อยเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะในด้านมืดของสังคม
"ตลาดน้อย เกิดจากที่คนจีนอพยพมาอยู่ไชน่าทาวน์ ซึ่งถ้าศึกษาจริงๆ แล้ว ตลาดน้อยจะมาก่อนเยาวราช ซึ่งมีหลายเชื้อชาติ มีฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ เป็นที่ดินของคุณหญิงน้อย เลยเรียกว่า ตลาดน้อย สมัยก่อนตลาดน้อยอยู่ติดกับทางรถราง เป็นตลาดแคบๆ คล้ายห้องแถวห้องหนึ่งแล้วก็ยาวไปตลอด ต่อมาหลังจากนั้นสัก 8 ปี ตลาดโดนรื้อทั้งหมดย้ายเข้าไปข้างใน โรงหล่อโรงกลึงของคนกวางตุ้งถูกซื้อเป็นตลาดน้อย ในที่ตลาดน้อยสิทธิที่แท้จริงเป็นของคนกวางตุ้ง ต่อมาจนปัจจุบันนี้เปลี่ยนมือไป 4 เจ้าของ
"ในตลาดน้อยที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือเรื่องยาเสพติด สมัยก่อนตอนที่ยาเสพติดเข้ามา ในซอยข้างหลัง เขาเรียก ซอยเกาะผีดิบ ที่มาก็คือเศษเฮโรอีนที่ใช้กระดาษตะกั่วลนสูบเข้าไป ยังไม่ทันดูดเสร็จเรียบร้อยตายคาถ้วยลนนั้นพอดี ตำรวจมาพิสูจน์ก็ตั้งชื่อว่า เกาะผีดิบ เพราะคนเสพยาตายเฉพาะในซอยนี้ไม่ต่ำกว่า 100 คน เกิดเพลิงไหม้เมื่อปี 2509 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็มีการสร้างเป็นแฟลตต่างๆ ก่อนที่ผมจะมาเป็นประธานชุมชนก็ได้ต่อสู้กันในเรื่องยาเสพติดจนดีขึ้นในปัจจุบัน"
เกจิเยาวราช ผู้รู้ลึกและรู้จริง เจริญ ตันมหาพราน ได้ออกตัวก่อนว่า สิ่งที่เขาศึกษาเรื่อง 'เยาวราชศึกษา' นั้น ส่วนหนึ่งก็ได้ครูชุนเซ้งที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้และข้อเท็จจริงให้
"ความจริงแล้วเยาวราชมีอายุยาวนานเป็น 100 ปี ถ้าพูดถึงชุมชนจีนก็เป็น 200 ปี ในอดีตพ่อกับแม่ผมมาจากเมืองจีน ตอนสมัยที่ผมเป็นเด็ก แม่ก็พยายามที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง แต่ผมไม่อยากฟัง คิดว่าพูดเรื่องเก่าๆ อีกแล้ว เกิดความเบื่อหน่าย แต่พอหลังจากสิ้นพ่อสิ้นแม่ ก็รู้สึกเสียดายว่า ทำไมเราไม่ฟังเรื่องที่ท่านเล่าให้เราฟังบ้าง
"วันนี้ผมมีอาชีพในการเขียนหนังสือ มีอาชีพในการพูด รู้สึกเป็นตราบาปอย่างยิ่งที่ไม่รับสิ่งที่แม่มอบให้เรา เวลาเราไปถามคนโน้นคนนี้ เขาก็บอกว่าไปถามแม่ถามพ่อของแกเอาสิ"
เจริญ เล่าต่ออย่างสุขุมว่า เขาเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนปี 2500 จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของเยาวราช เขามองว่า การสร้างเยาวราชไม่มีหลักฮวงจุ้ย เพราะถ้าอ่านประวัติศาสตร์จริงๆ ตามหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 1 คนจีนอยู่นอกกำแพงเมือง เสมือนเป็นกำแพงมนุษย์ป้องกันพม่าบุก คนจีนสมัยนั้นก็อยู่กันอย่างไม่มีความสุข แต่ด้วยความเป็นคนจีนก็สามารถสร้างเยาวราชขึ้นมา ถ้าอ่านประวัติของเยาวราชก็เป็นตลาดเลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ไม่ได้สร้างตามหลักฮวงจุ้ย แล้วเขาเล่าถึงประสบการณ์วัยเด็กเมื่อ 50 ปีที่ผ่านไป
"ตอนนั้นเยาวราชไม่ได้สว่างไสวอย่างทุกวันนี้ ไฟฟ้าวันดีคืนดีก็หลับตลอดทั้งคืน ถึงแม้ไม่ดับตลอดทั้งคืน แต่ก็คืนหนึ่งหลายเที่ยวเหมือนกัน ดับๆเปิดๆ ถนนทั้งสายจะไม่สว่าง ช่วงที่เยาวราชเกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ครั้งหนึ่งที่แทบจะร้องไห้ เพราะมีการตัดถนนใหม่ชื่อ เพชรบุรี ความเจริญและศิวิไลซ์จากเยาวราชไปอยู่ถนนเพชรบุรีหมด โรงหนังเมโทร พาราเม้าท์ เพชรรามา แถมที่ร้ายที่สุดคือ อาบอบนวดเพชรบุรีแย่งลูกค้าเยาวราชไปหมดเลย มีสิ่งที่คนเยาวราชตื่นเต้นมาก เพราะใครจะมาดูตึก 6 ชั้น 7 ชั้น ต้องมาดูที่เยาวราช แต่เพชรบุรีมีสะพานลอยฟ้า คนจีนเรียกเทียนเจี้ย หรือสะพานสวรรค์ ใครๆ ก็อยากไปดู รถวิ่งขึ้นสะพานได้อย่างไร อะไรที่ไม่มีในเมืองไทยไปอยู่ที่นั้นหมด ทำเอาเยาวราชในช่วงนั้นแทบจะร้องไห้กันเลย เป็นอยู่ 10 กว่าปีร่วม 20 ปี"
สมัยก่อนร้านทองในเยาวราชไม่มีเยอะขนาดนี้ เจริญ บอกว่า ก่อนสงครามโลกมีอยู่ 4 ร้าน โดยเขาตั้งชื่อว่า 4 เสือเยาวราช แล้วก็มีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นถนนสายทองคำ และมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เสน่ห์ของเยาวราชที่มีมาแต่ดั้งเดิมสูญหายไป ก็คือ การจากไปของโรงงิ้ว
"ความศิวิไลซ์ของเยาวราช ถึงแม้จะตกไป แต่สิ่งที่ทำให้หมดไปก็คือเรื่องของงิ้ว งิ้วจะมีอยู่ 5 โรง บนถนนเยาวราช คือ อี่ไล่เฮียง, บ่วยเจี่ย, ซิงฮั้ว, ตงเจี้ยสุง, และ ไซฮ้อ เป็นงิ้ว แต้จิ๋ว เพราะทุกเย็นเลิกจากโรงเรียนต้องไปโรงงิ้วก่อน พอมาถึงยุคโรงหนังและวิดีโอก็เกิดการล่มสลายของงิ้วอย่างแท้จริง" เจริญ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงศิวิไลซ์ของเยาวราชต่อเนื่องว่า
"แรกเริ่มบนถนนเยาวราชตึก 9 ชั้น สูงที่สุด คนมาจากต่างจังหวัดต้องมาดูตึกสูงที่เยาวราช เป็นที่ฮือฮากันมาก พอตึกโรงแรมดุสิตธานี 25 ชั้นเกิดขึ้น เยาวราชจึงตกลงไป สมัยก่อนคนไทยจะไม่เชื่อว่า กรุงเทพฯ สร้างตึกสูงได้ เพราะเชื่อว่ากรุงเทพฯ อยู่ใต้ทะเล ดินไม่แข็ง สร้างตึกสูงดินจะจม เมื่อ 25 ชั้นสร้างขึ้นมา ต่อมาก็มีตึกโชคชัยทำให้ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่ตึก 9 ชั้นในเยาวราชครองความยิ่งใหญ่มาเป็น 10 ปี
"ตอนสมัยเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งเป็นครั้งแรกมาลงที่เยาวราช ซึ่งบินมาตอนกลางคืนเดือนหงาย มาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จุดที่ต้องการบอมบ์ก็คือ หัวลำโพง แต่บอมบ์ตึก 7 ชั้นแทน แต่ระเบิดไปติดอยู่เสาไฟฟ้าทำให้ไฟไหม้"
เรื่องของกินอร่อยในเยาวราช เจริญ นั้นเป็นไกด์ที่รู้จักร้านอาหารอร่อยในย่านนี้อย่างหาตัวจับวางยากคนหนึ่ง
"ตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กๆ ของกินที่อร่อยในเยาวราชนั้นหายไปหลายอย่างมาก การชิมอาหารเยาวราชให้อร่อย ผมแนะนำอย่างหนึ่ง อย่าไปชิมครั้งเดียวแล้วตัดสินว่า ร้านนี้อร่อย ต้องกินอย่างต่ำ 3 ครั้ง ปัจจุบันเขาขายอาหาร ตักผงชูรสเข้าไปเยอะๆ บอกว่า อร่อยๆ แต่ในขณะที่กินต้องดื่มน้ำตลอดเวลา ถ้ากินแล้วกระหายน้ำ วันหลังไม่ต้องไปกินอีก ใช้ไม่ได้
"ผมคิดว่า ของกินมีเป็น 1,000 ร้านในเยาวราช ผมจำได้ ก๋วยจั๊บร้านที่อร่อยมากที่สุดจะอยู่ในตรอกโรงหมู ตรงข้ามวัดไตรมิตร เพราะว่าในสมัยก่อนในตรอกนั้นเขาฆ่าหมู การฆ่าหมูจะฆ่าตอนกลางคืน แล้วตอนเช้า เครื่องใน เลือดจะสดมาก แต่ปัจจุบันจะแช่ตู้เย็น ลองกินเครื่องในหมูที่ฆ่าเสร็จใหม่ๆ 2 ชั่วโมง รสชาติจะคนละอย่างกันเลย ตรอกโรงหมูจะอยู่ที่นี่ที่เดียว สาเหตุเพราะหมูส่วนใหญ่มาทางรถไฟถึงหัวลำโพงก็เอามาลงตรอกโรงหมู สมัยก่อนไม่สวยอย่างทุกวันนี้ วันดีคืนดีหมูวิ่งออกมาหลุดจากการจับฆ่าวิ่งเข้าวัด แล้วก็ห้ามจับเพราะเป็นเขตอภัยทาน ปรากฏว่าวัดไตรมิตรมีหมูเป็นร้อย พื้นเฉอะแฉะมาก พระก็เลี้ยงไม่ได้ ส่วนใหญ่หมูจะมาจากโคราชแล้วเอามาส่งที่ตรอกโรงหมู"
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากปากของ เจริญ ทำให้เห็นเสน่ห์อันน่าลุ่มหลงของเยาวราชในอีกมุมอีกมิติหนึ่ง ในเชิงประวัติศาสตร์ทางสังคม หมุดหมายหรือแลนด์มาร์คของเยาวราชในปัจจุบันก็คือ 'ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา' เขาเท้าความหลังถึงวงเวียนโอเดียนตรงนี้ว่า
"โรงหนังโอเดียนสมัยก่อนมีสระน้ำพุที่สร้างขึ้นเงินของพ่อค้าแม่ค้าและประชาชน โดยไม่ได้อาศัยเงินของทางราชการ ตอนนี้เป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ เมื่อก่อนเป็นที่อยู่อาศัยและพึ่งพิงของคนจน และคนจรหมอนหมิ่น คนที่มาถึงหัวลำโพงแล้วไม่มีที่ไปก็จะมาพักตรงนี้ น้ำท่าก็อาบในบ่อน้ำพุ ทางราชการก็เห็นว่าไม่เหมาะสม เป็นที่อุจาดตา ก็เลยสร้างเป็นประตูเก๋งจีนเฉลิมพระเกียรติ"
มีเรื่องลึกแต่ไม่ลับของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่เคยมาเมืองไทย เพื่อเรี่ยไรเงินกลับไปกู้ชาติจีน แต่ถ้าอยากรู้เรื่องราวเหล่านี้ก็สามารถแวะไปได้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งอยู่ในเขตรั้วของวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
3 ตรุษจีนเยาวราช
ก็ต้องทิ้งท้ายกันที่เทศกาลตรุษจีนของเยาวราช เจริญ ย้อนนึกถึงความประทับใจของตรุษจีนในที่ซึ่งเขาเกิดอย่างไม่ลืมเลือน
"สมัยก่อนเวลาตรุษจีน ร้านทองจะเฉลิมฉลอง จุดตะเกียงห้อยระย้าเต็มไปหมด ร้านทองสมัยก่อนขายถึงตี 3 ตี 4 ในช่วงนั้นถ้าไม่มีใครมาซื้อก็จะมีการแจกป้านชา ถ้วยชาเป็นชุดเลย ปฏิทินทำด้วยอะลูมิเนียมอย่างดี ปฏิทินดาราจีนก็เอามาแจก สมัยก่อนทองไม่ได้แพงอย่างนี้ ทองบาทละ 285 บาท ก็เลยแจกอย่างไม่อั้น"
ภาพอย่างนั้นในปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว นี่คือมุมประวัติศาสตร์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง นักท่องเที่ยวจะมองเยาวราชเป็นแค่ย่านคนจีนที่แปลกตามีของซื้อของขายของกินที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ แต่เยาวราชอยู่ยั้งยืนยงมาถึงปัจจุบันล้วนผ่านการสะสมสั่งสมประสบการณ์มายาวนานเป็น 200 ปี ไปเที่ยวเยาวราชครั้งใหม่ อาจจะทำให้มองเยาวราชด้วยสายตาและมิติทางใจที่ลุ่มลึกขึ้น
.....................ล้อมกรอบ..................
แรกสร้างเยาวราช
ถนนเยาวราช เริ่มตั้งแต่ถนนจักรเพชรถึงถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร. บริเวณถนนเยาวราช มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นย่านการค้า รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองด้วย
ถนนเยาวราชเป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามโครงการถนนอำเภอสำเพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้วเพื่อส่งเสริมการค้าขาย สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากแห่งหนึ่งนอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุงแล้ว ทำให้มีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น ถนนเยาวราชเป็น 1 ใน 18 ถนนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเสนอให้สร้าง เช่น ถนนจักรวรรดิ ถนนราชวงศ์ ถนนอนุวงศ์
ถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชยตัดลงไปทางทิศใต้บรรจบกับถนนราชวงศ์ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ. 2434 โดยให้ชื่อถนนว่า ถนนยุพราช ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่าถนนเยาวราช และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2434 ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้บ้านเมืองเจริญและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือบางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า 1 วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย
ปรากฏในเอกสารของกรมโยธาธิการว่า เมื่อเจ้าพนักงานไปวัดที่ตัดถนนบริเวณตำบลตรอกเต๊านั้น ราษฎรร้องเรียนว่าเจ้าพนักงานไม่ยุติธรรมเพราะถ้าวัดปักไม้ถูกบ้านของผู้มีบรรดาศักดิ์ก็จะเลี่ยงไปปักที่ใหม่ถูกแต่ที่ราษฎรทั้งสิ้น ทำให้แนวถนนไม่ตรง ราษฎรที่ตรอกเต๊าจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงเสนอให้มีเงินค่าเวนคืนที่ดิน หรือคำทำขวัญขึ้นเช่นเดียวกับที่คนในบังคับต่างประเทศได้รับ โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อ พ.ศ. 2477 และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาในที่ประชุมรัฐมนตรีสภา ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า "ถนนสายเดียวซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขัดขวางยอมให้ทำล่วงไปแล้วจะไม่ได้รับรางวัล จะได้แต่ผู้ที่ร้องขัดขวางเช่นนี้ก็เป็นที่น่าสงสารอยู่" แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นชอบในการจ่ายค่าที่ดินแก่คนไทยเช่นเดียวกับคนในบังคับต่างประเทศเพื่อคนไทยจะได้ไม่เสียเปรียบคนต่างประเทศ
การสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการนับแต่เริ่มกรุยทางใน พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2438 ก็ยังไม่เสร็จเพราะนอกจากราษฎรจะขัดขวางแล้วยังปรากฏว่า เจ้าของที่ดินหลายรายขวนขวายที่จะขายที่ดินให้กับคนในบังคับต่างประเทศ ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างล่าช้าเพราะกระทรวงนครบาลไม่อาจจัดการเรื่องที่ดินที่ถนนจะต้องตัดผ่านให้กับกรมโยธาธิการได้
ปรากฏว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลเกี่ยวกับการมอบที่ดินที่อยู่ในแนวถนนให้กระทรวงโยธาธิการ ขอให้กระทรวงนครบาลจัดการในกรณีที่คนในบังคับต่างประเทศจะมาทำหนังสือซื้อขายหรือจำนำที่ดินที่ได้กรุยทางสร้างถนนเยาวราชไว้โดยสั่งให้เจ้าพนักงานหรืออำเภอกำนันให้ทราบว่าเป็นที่ทำถนนอย่าให้รับทำหนังสือซื้อขาย "ขอกระทรวงเมืองได้โปรดประทานพระอนุญาตให้ราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินไปโดยสะดวกด้วย" แต่กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงอ้างว่าต้องทรงรอคำวินิจฉัยจากที่ประชุมเสนาบดีในเรื่องที่ราษฎรร้องเรียนกันขึ้นมาว่าการตัดถนนผ่านที่ดินเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม และปรากฏหนังสือโต้ตอบกันระหว่างเสนาบดีทั้ง 2 กระทรวงนี้ เพราะกระทรวงโยธาธิการก็ต้องการสร้างถนนให้เสร็จสิ้น
ขณะที่กระทรวงนครบาลพยายามที่จะให้ราษฎรได้รับเงินค่าที่ดินจากรัฐบาล จึงรอพระบรมราชโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่มอบที่ดินให้กระทรวงโยธาธิการ ถึงกับกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดาทรงระบุว่า กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงพระเมตตากับราษฎรบริเวณถนนเยาวราชกว่าราษฎรในแนวถนนอื่น ๆ กรมโยธาธิการจึงต้องดำเนินการสร้างถนนส่วนที่ไม่มีปัญหาและที่ดินที่เป็นของหลวงก่อน
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2441 ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งจะต้องตัดถนนผ่านก็ยังไม่ยุติ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการตัดถนนต่อไป เพราะมีพระราชดำริว่าที่ดินซึ่งถูกตัดถนนผ่านไปนั้น ย่อมทวีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าของมาก ไม่ควรจะเสียดายที่ดินซึ่งเป็นท้องถนนแต่เพียงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลที่ลงทุนทำถนนก็ไม่ได้เก็บเงินค่าคนหรือรถม้าที่เดินบนถนนเลย เพื่อบำรุงการค้าขายให้สะดวก เจ้าของจึงไม่ควรหวงแหน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์และกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาปรึกษากันต่อหน้าพระที่นั่งว่าจะทำอย่างไรให้การตัดถนนสายนี้สำเร็จลงได้ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงทรงรับที่จะออกประกาศให้เจ้าของที่ดินออกจากที่ดิน หากเจ้าของที่ดินไม่ยอมรื้อก็ให้กระทรวงโยธาธิการแจ้งไปที่กระทรวงนครบาล และให้กระทรวงนครบาลเป็นผู้ให้กรมอัยการฟ้อง ทำให้การตัดถนนเยาวราชดำเนินการต่อไปได้
เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ ๆ นั้น มีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น แม้ต่อมาถนนเยาวราชก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ ตึกที่สร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สร้างที่ถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก
(ข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org)
**************************
เรื่อง - พรเทพ เฮง