อุตสาหกรรมดนตรีในยุคปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังปรับตัวขยับขยายรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบทศวรรษแล้ว เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเพลงที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีทางด้านเสียง ไม่ว่า เอ็มพี 3, ไอพอด ซึ่งทำให้มีการดาวน์โหลดเพลงมาฟังแทนที่การฟังจากแผ่นซีดีอย่างเก่าก่อน การก๊อบปี้เพลงที่ทำให้ยอดขายเพลงลดลงไป รวมถึงการฟังเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือหรือริงโทน
แม้พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยเพิ่งเปลี่ยนจากการฟังเพลงผ่านเทปคาสเสตมาสู่ซีดีในช่วง 10 ปีหลังนี้ก็ตาม ในเมืองไทยเองก็หนีไม่พ้นแรงเหวี่ยงเหล่านี้ ยิ่งนานวันภาพยิ่งเด่นชัดขึ้น เริ่มนับถอยหลังถึงวันที่เสื่อมความนิยมลงไป
ยุคสุดท้ายของซีดีกำลังเริ่มต้นนับถอยหลัง
* แรงกระทบของร้านขายซีดี
การเปลี่ยนแปลงของคนฟังเพลง ส่วนที่โดนกระทบมากที่สุด นอกจากค่ายเพลงซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อัลบั้มเพลงต่างๆ แล้ว ก็ต้องเป็นร้านขายซีดีที่ผลโดยตรงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และต้องรับมือกับอย่างรู้เท่าทัน
สุรเชษฐ์ ปิยะวัชรวิสิทธิ์ ผู้จัดการร้าน CAP ร้านขายเทป-ซีดี-วีซีดี-ดีวีดี ซึ่งเป็นที่นิยมของคนซื้อซีดี เพราะมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป รวมถึงมีการจัดจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ www.cap.co.th ได้ชี้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนถึงเทคโนโลยีทางการดาวน์โหลดเพลง และการก๊อบปี้เพลงนั้น ได้ทำให้ยอดขายของซีดีซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงของศิลปินต่างๆ ทั้งไทย และสากลได้รับกระทบค่อนข้างสูง มียอดขายที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด
"แม้มองว่ายอดขายโดยภาพรวมของสินค้าประเภทนี้จะไม่ลดมากก็ตาม ผมก็เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะตอนนี้เงินส่วนเกินที่จะนำมาซื้อสินค้าเพื่อความบันเทิงของผู้บริโภคนั้นลดลงมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นเข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ มีการเบิร์นและการไรต์ซีดีเพลงเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยเฉพาะยอดขายของซีดีเพลงสากลจะลดลงเกินครึ่งเลยทีเดียว เพราะมีช่องว่างระหว่างราคาเยอะมาก"
ความต้องการในตลาดเพลงเพื่อการพาณิชย์หรือตลาดเพลงในวงกว้างได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่มีซีดีออดิโอไฟล์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีหรือเทปผีซีดีเถื่อน หรือมียอดขายแทบจะไม่ลดลงเลย สุรเชษฐ์ บอกว่า แม้จะปรับลดราคาจำหน่ายลงมาก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น
"ผมมองว่า สวนทางกันกันในทัศนคติและมุมมองระหว่างผู้บริโภคกับค่ายเพลง เพราะลูกค้าคิดว่าตัวเองมาซื้อซีดีซึ่งเป็นวัตถุชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้มาซื้อเพลง จึงนำไปก๊อบปี้แบบไม่สนใจว่ามากเท่าไหร่ แต่ค่ายเพลงกลับมองว่า ตัวเองขายเพลง ซึ่งอัลบั้มหนึ่งก็มีเพลงที่นำไปใช้ได้แค่ในแผ่นนั้นเท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะทำให้ซีดีเพลงหาจุดลงตัวทางราคาระหว่างค่ายเพลงกับผู้ซื้อ แต่เรื่องพวกนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับเหล่ามิวสิก เลิฟเวอร์ ซึ่งมีอยู่กลุ่มน้อยนิดที่ยังซื้ออย่างสม่ำเสมอ"
สุรเชษฐ์ มองไกลว่า ในอนาคตซีดีอัลบั้มเพลงน่าจะถึงจุดจบ หากไม่มีพัฒนาการในด้านรูปแบบที่มีเชิงชั้นทางศิลปะให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ในคนรุ่นนี้อย่างแน่นอน แม้พฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเริ่มเปลี่ยนไปในการเสพฟังเพลง
"เหมือนกับแผ่นเสียงที่ผมมีความรู้สึกว่า ซีดีน่าจะไปถึงตรงนั้น เพราะปัจจุบันแผ่นเสียงได้กลับมาอีกครั้งแล้ว มีการผลิตเพิ่มขึ้นมาสำหรับคนที่ชอบงานศิลปะการออกแบบและเสียงที่ให้ความลึกของแผ่นเสียง ซึ่งซีดีก็ต้องออกแบบพัฒนาในแง่อัลบั้มเพลงที่มีคุณค่าในการสะสม ดูดีดูสวยมากกว่าปัจจุบัน เพราะต้องยอมรับว่าคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปที่เติบโตมาพร้อมกับซีดีนั้นมีความผูกพันอยู่กับซีดี และมีกำลังซื้อ ไม่ค่อยเดินตามเทคโนโลยีอย่างเด็กรุ่นใหม่มากเท่าไหร่นัก กว่าซีดีจะหายไปคงต้องรอคนรุ่นต่อไปเติบโตขึ้นมา"
สำหรับการบลอกซีดีไม่ให้ก๊อบปี้ของค่ายเทปต่างๆ สุรเชษฐ์ บอกว่า ทำไม่ได้ เพราะเมื่อทำแล้วก็มีคนสามารถเข้าไปแก้ไขได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าผู้ผลิตทำซีดีออกมามีคุณภาพที่ดี ลูกค้าก็พร้อมที่จะซื้ออยู่แล้ว
* ค่ายเพลงปรับตัว หาทางออก
"จริงๆ ถ้าดูทั่วโลกในแง่ของการขายในรูปแบบซีดี ไม่ได้ตกฮวบมากนัก ในเอเชียอาจจะมียอดตกลงอย่างเห็นชัด เพราะยังวิ่งไล่ตามกันไม่ทัน แต่ว่าในเมืองนอก ไม่ว่าที่อังกฤษหรืออเมริกา ตลาดโดยรวมไม่ได้ตกลงไป" นัดดา บุรณศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด และนายกสมาคมสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA - Thai Entertainment Content Trade Association) ชี้แจงถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกในปี 2548 ที่ผ่านมา
นัดดา บอกว่า คนในอุตสาหกรรมดนตรีต้องอยู่ในจุดทำใจ และเรียนรู้ กับปัจจัยที่ทำให้ยอดขายซีดี โดยเฉพาะอัลบั้มเพลงลดลงที่เกิดจาก 'เทปผีซีดีเถื่อน' กับ 'พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป'
"โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น การเบิร์นแผ่นแจกเพื่อนฝูงถือเป็นความเท่ คือเราต้องเข้าใจจิตวิทยาของเด็กวัยรุ่นด้วย หน้าที่ห้ามปรามคงไม่มีกำลังไปในตรงนั้น แต่เป็นเรื่องของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวศิลปิน และสื่อ ต้องมานั่งถกเถียงเรื่องพวกนี้กันมากกว่า ซึ่งศิลปินคงหากินได้ลำบากขึ้น ต้องปรับสภาพ ปรับวิธีคิด ปรับรูปแบบทางธุรกิจ เทคโนโลยีจะตามทีหลัง ซึ่งเป็นเพียงการทำให้คนฟังสะดวกสบาย ค่ายเพลงก็ต้องหาวิธีที่จะชนะใจคนฟัง"
อีก 2 ปีข้างหน้าคือใน ปี 2007 นัดดา มองว่าทุกอย่างจะลงตัวมากขึ้นว่า อุตสาหกรรมเพลงจะออกไปในทิศทางไหน และอนาคตของซีดีเพลงก็จะถูกวางในตำแหน่งที่ชัดเจนตามการพัฒนาของเทคโนโลยีดาวน์โหลดที่ไล่มาอย่างกระชั้นชิด
"เมื่อมาดูตลาดเอเชียในปัจจุบันนั้น การบริโภคเพลงโดยผ่านซีดีนั้นมีความแตกต่างกัน ในญี่ปุ่นการขายซีดีอยู่ในระดับที่พอตัวไม่ตกลง การดาวน์โหลดก็สูง เดินไปพร้อมกัน ส่วนเกาหลี ยอดขายซีดีหดลงเรื่อยๆ แพ้การดาวน์โหลดอย่างราบคาบ เพราะว่าเกาหลีไปถึงเทคโนโลยีทรีจีแล้ว มีความพร้อมทางเทคโนโลยีมาก แข็งแกร่งทั้งอินเทอร์เน็ตและโมบาย เพลงก็เลยเสพทางผ่านทางนั้น สำหรับไต้หวัน อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาแล้ว แต่ฮ่องกงยังเสพซีดีอยู่ ซึ่งน่าแปลกใจมาก เพราะเอชเอ็มวี ร้านมิวสิค เมกะสโตร์ ที่ขายซีดีจะเปิดเพิ่มอีกสาขาหนึ่งแล้ว มีการขยายตัวในการเสพซีดีมากขึ้น
"สำหรับเมืองไทย ในต่างจังหวัดแมสน้อยลง (Mass - ตลาดเพลงวงกว้าง) แต่กรุงเทพฯ นิชใหญ่ขึ้น (Niche - ตลาดเพลงเฉพาะกลุ่ม) ร้านขายซีดีที่ขายดนตรีเฉพาะกลุ่มจะเปิดมากขึ้น ผมไม่แน่ใจ ถ้าจะให้ตอบคำถามว่า ซีดีมีโอกาสถึงวันตายไหม ผมกำลังถามตัวเองมากกว่าว่า เราได้ซีดีมา เราฟังแล้วชอบ เก็บซีดีไว้ฟังในรถ และเก็บเพลงไว้ในคลังฮาร์ดไดรฟ์ แล้วก็ถ่ายไปเอ็มพีทรีหรือไอพ็อด แต่จะมีวันหนึ่งที่ไอพอดสามารถใช้แบบซีดีได้ ชีวิตคนฟังเพลงจะเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง"
เมื่อโยนคำถามถึงการป้องกันการก๊อบปี้ซีดีด้วยวิธีการต่างๆ ของค่ายเพลงที่พยายามคิดค้นกันมา แต่ผลสุดท้ายก็ต้องถูกแก้โดยผู้บริโภคที่ชำนาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาไม่นาน มิหนำซ้ำล่าสุดยังเกิดกรณีฟ้องร้องค่ายเพลงที่ทำโปรแกรมป้องกันการก๊อบปี้ แต่ดันเป็นที่หลบซ่อนของไวรัสทำให้คอมพิวเตอร์เสียหาย นัดดา ขอความเห็นใจว่า ต้องเข้าใจหัวอกของค่ายเพลงด้วย
"เหตุผลตรงนั้นที่พยายามคิดค้นโปรแกรมขึ้นมาไม่ให้ซีดีถูกก๊อบปี้ อย่างที่บอกเพราะเห็นกันอยู่คาตา เมื่อก่อนพอเพลงดัง ก็มีคนซื้อกันคนละแผ่น ยอดขายซีดีพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ตอนนี้พอเพลงดังยอดขายไม่กระเตื้อง พอจะกระเตื้องบ้างก็ต้องเชื่อมโยงกับการนำวงดนตรีไปโชว์เพื่อกระตุ้นยอดขาย ในฐานะศิลปินหรือเจ้าของค่ายเพลงก็ต้องใจหายเป็นธรรมดา ก็ต้องเริ่มหาทางที่จะทำให้การก๊อบปี้นั้นมีความยากขึ้น ดิจิตอลเทคโนโลยีนั้น แม้มีการทำโปรแกรมห้าม แป๊บเดียวก็สามารถแก้กันได้ โปรแกรมที่ทำขึ้นมาป้องกันก็เพียงเพื่อแสดงให้คนที่ใช้คอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำทุกวันมีชีวิตที่ลำบากมากขึ้นในการก๊อบปี้แผ่น
"ถามว่าผิดหรือเปล่า ต้องมี 2 สถานะ ในฐานะศิลปินกับเจ้าของค่ายต้องการให้ซื้อแผ่นซีดี ส่วนคนซื้อก็ต้องการอัดแจกเพื่อนแจกแฟน มีหลายวิธีคิด อย่างยูนิเวอร์ซัลก็เคยที่จะทำซอฟต์แวร์ออกมาอนุญาตให้ก๊อบปี้ได้ 2 ครั้ง เพื่อให้พบกันครึ่งทาง ก็ไม่สำเร็จ แต่คงต้องทำกันต่อไป ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใครก็ต้องรักของของตัวเอง เรื่องอะไรจะไปแจกฟรี"
แม้มีผลการวิจัยของอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกว่า ความต้องการในการเสพฟังดนตรีไม่ได้ตกลงไป เพียงแต่กระจายไปอยู่ในช่องทางอื่นๆ เสียส่วนมาก ไม่รวมศูนย์อยู่ที่การฟังด้วยซีดี นัดดา ยอมรับว่า ยอดขายซีดีก็คงหดตัวลง
"แต่จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตก็พยากรณ์ไม่ได้ แต่ค่ายเพลงต้องปรับตัวในการทำตลาดแบบแบบสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น หรือรีเลชันชิป มาร์เก็ตติ้งกันอย่างมหาศาล เทคโนโลยีที่พัฒนาไปเหมือนกับอยู่ไกล แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ใกล้ ทางค่ายเพลงในประเทศซึ่งพัฒนาแล้ว อย่างในยุโรปด้วย จะค่อนข้างทำเกี่ยวกับแฟนมาร์เกตติ้งได้เหนือกว่าประเทศในย่านเอเชียไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวศิลปินกับแฟนเพลงกันอยู่ตลอด ทำให้ความรู้สึกที่ต้องอุดหนุนมีมากกว่าประเทศทางเอเชีย"
ในอีกทาง การที่ซีดีจะอยู่รอดนั้น มีวี่แววอยู่ที่ตลาดนิช (เฉพาะกลุ่ม) ที่กำลังขยายตัว ตลาดเพลงป็อปในวงกว้างนั้นหดตัวลงเรื่อยๆ ดูจากยอดขายของซีดี
"มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในแง่วิวัฒนาการ ก็คือ แมสเล็กลง นิชใหญ่ขึ้น ซึ่งสวนทางกัน ปีนี้เพลงสากลในไทยจะเห็นการเติบโตของเพลงแจ๊ซ กับคลาสสิคอล โตขึ้นประมาณเกือบ 2 เท่า ขยายตัวขึ้น แม้ไม่เยอะเพื่อจะไปช่วยอุ้มตลาดแมสได้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แสดงให้เห็นว่าการศึกษาทำให้คนมีรสนิยมที่แตกต่างกันมากขึ้น รวมถึงทางเลือกในตัวสินค้า" นัดดาทิ้งท้าย
การฟังเพลงของซีดีที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1982 (2525) ปัจจุบันผ่านไป 24 ปี ก็กำลังอยู่ในขั้วต่อของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้ง เหตุการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นในยุคที่แผ่นเสียงถูกเทปคาสเซ็ทต์รุกคืบในการช่วงชิงในการเป็นทางผ่านของการเสพฟังเสียงเพลง รวมถึงคาสเสตก็ถูกซีดีทำให้เป็นของตกสมัย ในวันนี้ซีดีกำลังถูกเทคโนโลยีการดาวน์โหลดเพลงเข้ามาแทนที่ รวมถึงปัญหาจากการก๊อบปี้แผ่นที่ง่ายดาย ทำให้เดินทางมาถึงยุคสุดท้าย
ว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถึงจะฟังผ่านเครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไรก็แล้วแต่เสียงเพลงและดนตรีไม่มีทางสูญหายจากโลกนี้ไปแน่อน
****
* รูปแบบของผลิตภัณฑ์ซีดีเพลงในปัจจุบัน (Music Formats)
1. CD : คอมแพกต์ดิสก์ แผ่นออปติคอลเก็บข้อมูลดิจิตอลต่าง ๆ ซึ่งเดิมพัฒนาสำหรับเก็บเสียงดิจิตอล สามารถบรรจุข้อมูลมีความยาว 74 นาทีในการฟัง เป็นที่รู้จักกันในปี 1982 (2525) ปัจจุบันซีดีเป็นรูปแบบในการบันทึกเสียงเพื่อวางจำหน่ายที่ธรรมดาที่สุดในอุตสาหกรรมดนตรี
2. CD Single : คอมแพกต์ดิสก์ในแบบการใช้ฟังซึ่งมีราคาถูกกว่าในด้านราคา แต่มีเวลาที่สั้นกว่า มีเฉพาะซิงเกิลแทร็กที่ตัดมาแค่เพลงเดียวกับเพลงที่รีมิกซ์หรือเพลงพิเศษไซด์บี
3. Copy Protected : ซีดีที่มีส่วนสำคัญของเทคโนโลยีการต่อต้านการก๊อบปี้ ซึ่งไม่สามารถใช้เล่นในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ สามารถเล่นได้เฉพาะเครื่องเล่นซีดีเท่านั้น
4. Gold CD : ออดิโอไฟล์คุณภาพสูงที่บันทึกเสียงโดยการนำมาถ่ายเสียงใหม่อีกครั้งจากมาสเตอร์เทปดั้งเดิม แผ่นดิสก์จะผลิตโดยมีชั้นฉาบของข้อมูลด้วยทองคำ 24 กะรัต และมีราคาแพงกว่าซีดีมาตรฐานปกติทั่วไป
5. SACD : ซูเปอร์ ออดิโอ คอมแพกต์ดิสก์ เป็นพัฒนการระบบดิจิตอลของซีดี มีรูปแบบของการใช้งานและคุณภาพที่สูงกว่าในเรื่องของคุณภาพเสียงสเตอริโอ และมีความสามารถที่เล่นได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้กับเครื่องเล่น SACD หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
6. Hybrid SACD : ซูเปอร์ ออดิโอ คอมแพกต์ดิสก์ ที่ตั้งชื่อใหม่เป็น "Hybrid" ซึ่งใช้เล่นในเครื่องเล่นซีดีแบบปกติได้ แต่ไม่มีคุณภาพความกว้างของเสียงเต็มที่อย่าง ซูเปอร์ ออดิโอ ซึ่งเครื่องเล่น SACD จะให้ได้ในมิติที่มากกว่า
7. Dual Disc : ดิสท์แบบ 2 ด้าน เป็นซีดีที่ใช้ฟัง 1 ด้าน และดีวีดีที่ใช้ฟังร่วมกับข้อมูลอื่นๆ อีก 1 ด้าน อาทิ มิวสิกวิดีโอ, สารคดี, ฟุตเตจ, เว็บลิงก์ และเนื้อหามัลติมีเดียอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมี DVD Audio กับ DVD Single ในตลาดเพลงปัจจุบันด้วย ซึ่งให้คุณภาพเสียงในมิติเสียงแบบรอบด้านหรือเซอร์ราวนด์
*ถอดความจากเว็บไซต์ http://music.barnesandnoble.com
เรื่อง - พรเทพ เฮง