xs
xsm
sm
md
lg

อาภรณ์แห่งศรัทธา งดงามแบบมุสลิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการทำงานในอารียา เวดดิ้งแอนด์สตูดิโอ ของฮัจยีซอและห์
เมื่อครั้งมีโอกาสได้ไปเยือนปัตตานี ท่ามกลางบรรยากาศหวั่นเกรงต่อสวัสดิภาพชีวิตนั้น แม้จะกริ่งเกรงอยู่ในที แต่กลิ่นอายวัฒนธรรมมลายูซึ่งแนบแน่นกับวิถีชีวิตมุสลิม-ภาษา เสียงดนตรี อาหาร การแต่งกาย... ก็ยังสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจได้มากมาย และจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงนำมาสู่เรื่องราวต่อไปนี้

นึกถึงพี่น้องมุสลิมภาพที่ปรากฏในความนึกคิดคือ ถ้าเป็นชายก็มักใส่เสื้อแขนยาว นุ่งโสร่ง และมีหมวกกาปิเยาะห์สีขาวสวมบนศีรษะ ส่วนผู้หญิงก็จะใส่เสื้อแขนยาว กระโปรงหรือกางเกงยาวคลุมถึงเท้า มีผ้าคลุมศีรษะและไหล่ที่เรียกว่า การคลุมฮิญาบ แล้วสามัญสำนึกก็จะทำให้เราเห็นแต่เครื่องแต่งกายสีทึมๆ ไม่ฉูดฉาดเอาเสียเลย

ไม่ใช่, อย่างที่มีใครบางคนกล่าวเอาไว้ บางทีเราอาจรู้จักกันน้อยเกินไป

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์จะอย่างไรก็ฝักใฝ่ความงดงาม ไม่ว่าชายหรือหญิง พี่น้องมุสลิมย่อมไม่ต่างกัน แม้จะมีกฎเกณฑ์ทางศาสนากำกับ แต่มนุษย์ก็ยังสร้างสรรค์ความงามได้ตามที่คิดฝัน ตราบใดที่การสร้างสรรค์นั้นไม่ล่วงเลยขอบเขตของศาสนา

ถ้าว่ากันด้วยเรื่องแฟชั่น เครื่องแต่งกายของชาวมุสลิมก็ต้องนับว่ามีความหลากหลายอยู่ในตัวเอง ยิ่งถ้าเป็นการแต่งกายในพิธีสำคัญๆ อย่างการแต่งงาน เราก็จะยิ่งได้พบเห็นการแต่งกายแบบเต็มที่ของชาวมุสลิม ทั้งในเรื่องการออกแบบและสีสัน นอกจากนั้น ปัจจุบันยังมีสตูดิโอถ่ายรูปแต่งงานสำหรับมุสลิมโดยเฉพาะกระจายอยู่ตามแหล่งที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น

และหากมองในแง่มุมเศรษฐกิจจะยิ่งพบว่า ขนาดตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมยังมีพื้นที่อีกมากให้เข้าไปแข่งขัน เพราะอย่างที่รับทราบกันว่าชาวมุสลิมทั่วโลกมีมากกว่า 1 พันล้านคน ขณะเดียวกับที่รัฐบาลก็ดูจะขมีขมันอยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแฟชั่น แต่ในความเป็นจริงก็คือภาครัฐยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับธุรกิจเครื่องแต่งกายมุสลิมเท่าที่ควร

1. อาภรณ์แห่งศรัทธา

เป็นที่รับรู้กันว่าผู้นับถือศาสนามุสลิมคือผู้ที่มีความศรัทธาคงมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า วิถีทางศาสนาสนิทเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม ไม่เว้นแม้แต่เครื่องแต่งกาย ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเข้าใจเป็นอันดับแรกคือ ข้อบัญญัติทางศาสนาอันเกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกาย

วัลลภา นีละไพจิตร บรรณาธิการแฟชั่นนิตยสารนิสา นิตยสารวาไรตี้ของชาวมุสลิม กล่าวว่า "เกี่ยวกับการแต่งกายของสตรีมุสลิมจะแต่งกายปกคลุมทั่วร่าง ยกเว้นหน้ากับมือเท่านั้น ไม่ว่าจะแต่งแบบไหนขอให้เรียบร้อย ไม่รัดรึงจนเกินไป ผ้าไม่บาง ไม่เน้นส่วนสัด ก็จะเป็นการแต่งกายที่เหมาะสม สตรีมุสลิมเราภูมิใจมากเพราะการที่เราแต่งกายแบบนี้มันจะทำให้อาชญากรรมทางเพศลดน้อยลง การคลุมฮิญาบซึ่งปกปิดผมนั้นเราจะมองเห็นว่าทุกคนก็สวยได้ในแบบที่เรียบร้อย มีความสุขที่จะปฏิบัติตามหลักศาสนา

"ส่วนการแต่งกายที่เราจะมาเน้นความหรูหรา ก็เฉพาะในชุดแต่งงานซึ่งเป็นวันแห่งความสุขของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นพ่อเป็นแม่หรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาว เราจะไปเน้นตรงนั้นมากกว่า

"สำหรับผู้ชายจะเหมือนกันกับผู้หญิงตรงที่ว่า เราจะไม่แต่งกายในลักษณะที่ผิดเพศ ให้เห็นว่าผู้ชายคือผู้ชาย ผู้หญิงคือผู้หญิง และผู้ชายเรายังห้ามไม่ให้ใส่ทองคำและผ้าไหมด้วย เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยแล้ว มันยังใกล้กับการเป็นผู้หญิงเพราะผ้าไหมมันสวยงามเหมาะกับผู้หญิงมากกว่า และการแต่งกายของผู้ชายอย่างน้อยต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า"

วัลลภายังเสริมด้วยว่า การแต่งฮิญาบถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้หญิงสาวมุสลิมป้องกันตัวเองจากสถานที่ที่ไม่ควร

"การแต่งแบบนี้มันทำให้เขารู้สึกว่าสถานที่ตรงไหนที่เขาเหมาะสมที่จะไป เพราะบางทีการที่เราไม่ได้คลุมฮิญาบเพื่อนชวนไปไหนเราไปได้ตลอด เราไม่มีข้ออ้างจะบอกกับเพื่อนแต่พอเราคลุมฮิญาบเราสามารถบอกได้ว่าที่ตรงนั้นไม่เหมาะกับการเป็นมุสลิมของเรา ตรงนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กของเราปกป้องตัวเองได้"

2. ความหลากหลายของเครื่องแต่งกาย

อย่างที่ทราบแม้เครื่องแต่งกายของชาวมุสลิมจะมีกฎเกณฑ์ทางศาสนากำกับอยู่ แต่ในกฎเกณฑ์ที่ว่านั้น ก็มีความหลากหลายของรูปแบบเครื่องแต่งกาย

วศิน อารียเดช เจ้าของร้านซารีนาซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายมุสลิม บอกกับเราว่าเครื่องแต่งกายมุสลิมมีอยู่หลายแบบ ตามแต่วัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคซึ่งไม่ว่าจะมีรูปแบบเช่นใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือยึดถือกฎเกณฑ์ตามหลักมุสลิมอย่างเคร่งครัด

"คอนเซ็ปต์ของมุสลิมเป็นการแต่งกายที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางศาสนา การแต่งกายของมุสลิมจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็แล้วแต่จึงแสดงถึงความศรัทธา ความอ่อนน้อม"

เขาอธิบายการแต่งกายของมุสลิมในประเทศไทยจะแตกต่างไปตามเชื้อสาย อย่างเช่นการนุ่งโสร่งก็จะเป็นชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายมลายู ขณะที่มุสลิมฮ่อซึ่งอาศัยอยู่แถบภาคเหนือของประเทศก็จะมีการแต่งตัวตามแบบปกติทั่วๆ ไป ถึงอย่างนั้นในไทยเองก็รับการแต่งกายแบบมุสลิมจากหลายๆ แห่ง เช่น ชุดยาวของผู้ชายที่เรียกว่าโต้ป ชุดยาวแบบปากีสถานที่เป็นของผู้หญิง หรือชุดแบบอินเดียที่จะออกแนวหรูหรา เป็นต้น

ด้านการคลุมฮิญาบนั้นก็มีหลักการเพียงแค่ไม่ให้เห็นไรผม ส่วนเรื่องเนื้อผ้าและวิธีในการคลุมนั้นไม่จำกัด มีได้หลายรูปแบบตามแต่จะคิดสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับที่เป็นเข็มกลัดอีกสารพัดแบบไว้สำหรับตกแต่งเพิ่มความสวยงาม

บุษบา อารีย์ เจ้าของร้านซารีนาบอกว่า "ที่นี่เราเป็นผู้ออกแบบและผลิตผ้าคลุมผมของมุสลิมด้วย เราจะไม่จำกัดสี ไม่จำกัดแบบ คุณจะติดยังไงก็ได้ ได้ทุกสไตล์ ส่วนเรื่องราคาก็ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าและการตัดเย็บ เช่นถ้าเป็นผ้าเนื้อดี มีการติดเลื่อมราคาก็จะสูงกว่าผ้าเปล่าๆ"

วศินกล่าวถึงธุรกิจของเขาว่า "เรามีทางเลือกให้ลูกค้าได้เลือกสินค้าที่เราผลิต เพราะกรณีร้านเสื้อผ้าทั่วไปเขาจะไม่โชว์ชุด แต่ว่าของเราจะออกแบบให้ลูกค้าได้เลือก แบบไหนชอบลองใส่ดู จำนวนลูกค้าก็พอสมควร แต่ลูกค้าจะมี 2 ลักษณะคือต้องการใส่เสื้อผ้าเพื่อจะออกงาน กับลูกค้าที่ต้องการเสื้อผ้าเพื่อไปออกบูท อย่างเช่น เคยมีโรงแรมมาหาเรา เขาจะทำเทศกาลอาหารมาเลย์ เขาก็จะมาให้เราทำเสื้อผ้าแบบมาเลย์ไปให้พนักงานของเขาใส่ อย่างกรณีผ้าที่เป็นของมาเลเซียหรือของอินโดนีเซียซึ่งมีลวดลายสวยงาม บางทีเขาก็ซื้อไปตัดในสไตล์ของเขาก็มี"

เขายังได้กล่าวถึงนโยบายกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นไว้ด้วยว่า "สินค้าของเรารองรับตลาดมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ช่วงที่จะดีคือเป็นช่วงเทศกาล ถ้าเป็นช่วงปกติก็จะประปรายแต่มันก็อยู่ได้ อย่างทางภาครัฐต้องการให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแฟชั่น วันนี้เรากำลังตามแฟชั่นของตะวันตก ในโลกเรามีชาวมุสลิมพันกว่าล้านคนแต่ทำไมเราจึงไม่ส่งเสริมเรื่องเสื้อผ้าของมุสลิม

"ขณะที่เราทำส่งตลาดมุสลิมในประเทศ เพราะกำลังผลิตเราไม่เพียงพอ แต่ถ้ารัฐสนับสนุนเราก็สามารถทำได้ อีกอย่างคือ เราไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับส่งออก ทั้งที่สินค้าของเราทางมาเลเซียมีความต้องการ เพียงแต่เราไม่มีความสามารถที่จะเอาสินค้าตัวนี้ไปแสดงให้เขาเห็น

3. Wedding Studio แบบมุสลิม

ความนิยมการถ่ายรูปแต่งงานที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจสตูดิโอถ่ายรูปแต่งงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าชาวมุสลิมเองก็มีความต้องการบริการรูปแบบนี้ แต่เมื่อเทียบกับสตูดิโอถ่ายรูปแต่งงานโดยทั่วไปยังนับว่ามีจำนวนน้อยมาก

จุดนี้ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งไปใช้บริการถ่ายรูปแต่งงานกับสตูดิโอทั่วไป และบางครั้งก็เกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมมุสลิมของทางสตูดิโอ

ขณะเดียวกันก็มีชาวมุสลิมบางคนมองเห็นช่องว่างทางการตลาดตรงนี้อยู่ และหันมาประกอบธุรกิจในส่วนนี้เพื่อรองรับความต้องการของชาวมุสลิม ซึ่งสตูดิโอเหล่านี้มีความเข้าใจวัฒนธรรมมุสลิมเป็นอย่างดีถึงข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่างๆ

ฮัจยีซอและห์ หมัดสะอิ๊ด เจ้าของอารียาเวดดิ้งและสตูดิโอ เป็นสตูดิโอถ่ายรูปแต่งงานมุสลิมโดยเฉพาะที่เปิดทำการมาได้ประมาณ 9 เดือน เขาบอกว่า

"สตูดิโอที่รับถ่ายรูปแต่งงานมุสลิมโดยเฉพาะ ในกรุงเทพฯมีไม่เยอะ รู้สึกจะมีอยู่เจ้าสองเจ้าเท่านั้นเอง เรื่องรายได้นี่... คือมุสลิมจะเอากำไรแต่พอประมาณ ไม่เอากำไรมาก ตรงนี้เราถือว่าราคาถูกกว่าสตูดิโอทั่วไปเยอะ ถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง ที่นี่ถูกสุด 2,900 บาทสำหรับใส่กรอบหลุยส์โชว์หน้างาน ถ้าแพงสุดก็หมื่นกว่าบาทมีชุดให้วันงานเสร็จเรียบร้อย จริงๆ เราก็ไม่กำหนดราคาตายตัว บางคนไม่มีเงินแต่อยากถ่ายผมก็ไปถ่ายให้ มาคุยกัน"

เขาเสริมว่าชุดแต่งงานของชาวมุสลิมจะออกแบบให้เลิศหรูยังไงก็ได้ เพียงแต่ต้องยึดตามหลักการทางศาสนา

"การแต่งกายมุสลิมจะเน้นที่การปกปิดร่างกาย ผู้หญิงมุสลิมจะเปิดเพียงใบหน้ากับฝ่ามือเท่านั้นตามหลักศาสนา จะไม่มีเกาะอก สายเดี่ยว เราก็ต้องหาชุดที่แขนยาว กระโปรงยาวคลุมถึงฝ่าเท้า มีผ้าคลุมฮิญาบ ตรงนี้ก็ถือว่าถูกต้องตามหลักศาสนาแล้ว แต่การออกแบบนั้นอาจจะประยุกต์มาจากอินโดนีเซีย จากมาเลเซียบ้าง ส่วนใหญ่ชุดในร้านจะแขนยาวหมด จะไม่มีโชว์แขน"

ดังนั้น ชุดที่ใช้จึงมีได้หลายแบบ บางทีก็เป็นชุดแต่งงานธรรมดาทั่วไปที่เราพบเจอได้ปกติ

"ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯชุดที่เราใช้ถ่ายก็เป็นชุดวิวาห์ตามแบบชาวพุทธทั่วไป แต่เรามาประยุกต์ติดลูกไม้เข้าไปกับต่อแขนให้ยาวขึ้นเท่านั้นเอง และมีผ้าคลุมหัวก็ใช้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้เยอะ แต่ที่มาแปลกๆ คือเขาไปเห็นในอินเดียว่ามันสวยดี แล้วมุสลิมก็แต่งได้ เห็นมาเลย์ อินโดฯ สวยและแต่งได้ เขาก็เอามาเลียนแบบใช้ คือมุสลิมมันกว้าง มันมีทั่วโลก แล้วแต่วัฒนธรรมประจำชาติเขาจะแต่งตัวแบบไหน อย่างแบบอินโดฯกับมาเลย์จะใกล้เคียงกันดูเรียบง่าย ส่วนอินเดียจะเป็นอะไรที่หรูหรามาก

"มีคนเขาเล่าให้ฟังมาอีกทีว่า สุลต่านทางมาเลย์ เวลาเขาแต่งงานเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจะแต่งโทนสีเดียวกัน แล้วทางคนไทยก็เอามาประยุกต์แต่งให้กับเจ้าบ่าว-เจ้าสาว คือเจ้าบ่าวจะใส่เสื้อกุรงสีเดียวกับกางเกง มีหมวกผ้าพันบนศีรษะ มีผ้าคาดเอว มีกริชหนึ่งด้ามเหน็บไว้ที่เอวด้านขวามือ ส่วนเจ้าสาวจะเป็นชุดสีเดียวกับเจ้าบ่าว เป็นชุดสไตล์มาเลย์ ทั้งเสื้อ กระโปรง ผ้าคลุมหัวจะเป็นสีเดียวกัน"

ใช่ว่าจะมีแต่ชาวมุสลิมเท่านั้นที่มาใช้บริการถ่ายรูปที่นี่ คู่บ่าว-สาวที่ไม่ใช่มุสลิมก็มีมาใช้บริการบ้างประปราย เพราะรู้สึกว่าเครื่องแต่งกายเหล่านี้ก็ดูเป็นแฟชั่นที่แปลกตาและงดงามไปอีกแบบ

"จากที่เปิดร้านมา คนที่ไม่ใช่มุสลิมมาใช้บริการอยู่ประมาณรายสองราย คือเขาไม่ใช่มุสลิมแต่อยากจะแต่งตัวแบบมุสลิมเขาก็มาถ่าย เขาอยากใส่ชุดคลุมหัว ชุดฮิญาบ มันดูเป็นแฟชั่นไปอีกแบบหนึ่ง เขาก็จะมาถ่าย ซึ่งศาสนาไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ หรือบางคู่เขาอยากแต่งชุดแบบอินเดีย เขาก็มาหาเรา"

นอกจากเรื่องเครื่องแต่งกายแล้ว อีกเรื่องที่มีความสำคัญและค่อนข้างเป็นเรื่องที่เคร่งครัดในศาสนามุสลิมก็คือ การแตะเนื้อต้องตัวระหว่างชาย-หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใส่อกใส่ใจพอสมควรถ้าใครคิดจะเปิดสตูดิโอถ่ายภาพแต่งงานของชาวมุสลิม

ฮัจยีซอและห์ บอกว่า "ถ้าบางคู่ที่แต่งงานมาแล้ว แล้วมาถ่ายถึงจะจับเนื้อต้องตัวกันได้ แต่ถ้าคู่ไหนยังไม่ได้ผ่านการแต่งงาน การวางท่าก็จะวางท่าสบายๆ จะไม่สวีตมาก จับมือถือแขนได้นิดหน่อย จะไม่มีการเอาแก้มมาชิดกัน แค่พิงๆ กัน ซ้อนกันนิดหนึ่ง ช่างภาพผู้ชายก็จะไม่แตะเนื้อต้องตัวเจ้าสาว จะมีพี่ผู้หญิงอีกคนเป็นคนคอยจัดท่าให้ผู้หญิง แต่ถ้าเราเป็นช่างภาพถ่ายคนเดียวก็ต้องขออนุญาตเจ้าบ่าวก่อน ซึ่งเราก็ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวเขา เราจะจับที่เสื้อผ้าเท่านั้นเอง

"ส่วนเจ้าบ่าวพี่ผู้หญิงเขาก็แตะไม่ได้เหมือนกัน เวลาแต่งหน้าก็อาจจะเอาซับๆ ให้บ้าง ส่วนใหญ่เราจะให้เจ้าสาวแต่งให้ คือผู้หญิงก็จะดูแลฝ่ายเจ้าสาว ช่างภาพก็จะดูฝ่ายเจ้าบ่าว"

4 ช่องทางเติบโต

คนใหญ่คนโตในรัฐบาลตั้งใจนักหนาว่า จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ธุรกิจแฟชั่นในภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2550 และหวังไว้ไกลว่าจะเป็นศูนย์กลางแฟชั่นแห่งหนึ่งของโลกภายในปี 2555 ภาคเอกชนนั้นก็เตรียมตัวกันอย่างเต็มที่เพื่อการนี้ แต่กลับพบว่าภาครัฐเฉื่อยเนือยกว่าที่นึกคิด

ขณะที่ธุรกิจเครื่องแต่งกายมุสลิมกลับได้รับการพูดถึงน้อยถึงน้อยที่สุด แม้ว่าจะมีขนาดตลาดใหญ่โตและมีช่องทางอีกมากมาย

อนิรุทธิ์ สมุทรโคจร นายกสมาคมนักธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย-มุสลิม พูดถึงสภาพทั่วไปว่า "เรื่องธุรกิจตรงนี้มันก็ยังคงที่อยู่ ไม่ได้ซบเซาลงไป กำลังซื้อก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายผู้หญิงกับเด็กจะสำคัญมาก คือผมต้องให้ข้อมูลนิดหนึ่ง ในส่วนตะวันออกกลางผู้ชายส่วนใหญ่ใส่โต้ปที่ตัดภายในประเทศ ไม่อิมพอร์ต แต่เขาก็ยังใส่สูททั่วไป เด็กรุ่นใหม่ก็ใส่ปกติ ส่วนหญิงกับเด็กก็ใส่ชุดทั่วไป ผู้หญิงเขาก็คลุมหน้าแต่ข้างในเป็นชุดแฟชั่น แล้วเขาจะคลุมเสื้อสีดำ

"ในส่วนแอฟริกาเสื้อผ้าเด็กยังเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะเป็นสินค้าราคาถูกเป็นหลัก ตะวันออกกลางสินค้าที่เป็นแบรนด์เนมมากกว่า เพราะมีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อ"

อนิรุทธ์บอกว่า ความจริงการแต่งกายของชาวมุสลิมในแต่ละภูมิภาคก็ไม่ได้ผิดแผกจากที่อื่นๆ ผู้ชายก็ใส่สูทหรือชุดสากลตามปกติทั่วไป ส่วนผู้หญิงถึงภายนอกจะแต่งตัวตามหลักศาสนา แต่ก็ยังใส่ชุดตามแฟชั่นปกติไว้ภายใน ดังนั้น ตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมจึงไม่ได้ตีกรอบเพียงแค่ชุดตามหลักศาสนาเท่านั้น

เขาแนะนำว่าประเทศไทยควรจะประยุกต์สิ่งที่เรามีและส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้แพร่หลาย "อย่างเสื้อคลุมผู้หญิงเราสามารถเอาผ้าไหมมาทำได้ ให้มันสีมืดๆ หน่อย มันก็เป็นอะไรใหม่ๆ ได้ ผมคิดว่ามันมีคนทำ อาจจะมีผลิตจากอินโดฯ มาเลย์ ไทย จีนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นส่วนใหญ่จะตัดกันภายในประเทศเขา

"สินค้าหลายประเภทอย่างเสื้อผ้า ปกติมันก็เป็นสิ่งเขาก็ใส่กัน เพียงแต่ว่าเราต้องโปรโมตของเราออกไปให้ชัดเจน เราควรจะแสดงให้เขาเห็นด้วย อย่างโต้ปถ้าเราสามารถตัดโต้ปผู้ชายด้วยผ้าไทยของเรา ผมก็คิดว่าน่าจะโปรโมตตรงนี้ได้เหมือนกัน

"ตลาดตรงนี้เป็นตลาดที่ใหญ่ มูลค่าเสื้อผ้าในตลาดตะวันออกกลางเยอะ โดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลศีลอด เขาจะจับจ่ายกันเยอะ ฉะนั้น ยอดการซื้อขายยังมีอีกเยอะ แต่เรายังให้ความสำคัญน้อย"

เขาย้ำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำตลาดตรงนี้เพียงแต่ต้องหาจุดเด่นจากสิ่งที่เรามี เพื่อสร้างจุดแข็งในการตีตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญและหลงลืมไม่ได้คือ นักธุรกิจจะต้องเข้าใจในหลักการและวัฒนธรรมมุสลิม

"แม้ว่าตรงนี้จะเป็นตลาดที่ใหญ่ แต่ภาครัฐก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในธุรกิจตรงนี้นัก ผมว่าภาคเอกชนน่าจะให้ความสำคัญมากกว่า อย่างผ้ามัดหมี่หรือผ้าคลุมผมผู้หญิงสามารถตัดเป็นชุดนั่นชุดนี่ได้อยู่แล้ว ถ้าเราสามารถตัดให้อยู่ในหลักการของศาสนาก็สามารถโปรโมตได้ ไหมไทยคนก็รู้จักทั่วโลก เราดัดแปลงให้เข้ากับสังคมมุสลิม ตลาดเสื้อผ้าของผู้หญิงและเด็ก ก็สามารถทำเป็นแบรนด์เนมได้ ทั้งยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างกว้างในตะวันออกลางและแอฟริกา ลองศึกษาขนบธรรมเนียมของเขา และประยุกต์สิ่งที่เรามีเข้าไป"

สุดท้ายเขาฝากบอกว่า หากนักธุรกิจคนไหนสนใจทำการค้าที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม ทางสมาคมนักธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย-มุสลิม ยินดีให้คำปรึกษา

ถึงที่สุดการพัฒนาธุรกิจเครื่องแต่งกายมุสลิมจะดำเนินไปในทิศทางไหน ย่อมขึ้นอยู่กับความใส่อกใส่ใจของภาครัฐและภาคเอกชน

แต่ที่มากไปกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ ....ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างน้อยในบางส่วนเสี้ยวเราก็ได้รู้จักกันมากขึ้น


*********************************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ชุดยาวแบบตะวันออกกลางสำหรับสตรีมุสลิม
ชุดละหมาดสำหรับสตรีมุสลิม
นี่ก็อีกแบบของเครื่องแต่งกายสตรีมุสลิม
เข็มกลัดรูปแบบต่างๆ ใช้สำหรับคลุมฮิญาบ
บุษบา หรือซารีนา อารีย์ เจ้าของร้านซารีนา
กำลังโหลดความคิดเห็น