xs
xsm
sm
md
lg

นาฏกรรมที่ลำน้ำปาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแม่น้ำปายขยายทางเดินจนกัดเซาะตลิ่งและรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ริมน้ำพังทลายไปหลายหลัง
หาก "หลวงพระบาง" คือ "ยูโทเปีย" ดินแดนแห่งอุดมคติสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ เหลียวข้ามมามองอีกฝั่งน้ำโขง อำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งของแม่ฮ่องสอน ดินแดนแห่งหมอกสามฤดู มีเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา มีสายน้ำไหลพาดผ่านเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนในชุมชนมาช้านาน ลำน้ำสายนั้นได้กลายมาเป็นชื่อที่ตั้งของเมืองแห่งนี้…อำเภอปาย

นับตั้งแต่ฝรั่งตาน้ำข้าวคนหนึ่งได้เช่ามอเตอร์ไซค์วิบากจากจังหวัดเชียงใหม่ ลัดเลาะเทือกเขานับพันโค้งมายังดินแดนปิดที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักในเวลานั้น เขาตกหลุมรักเมืองเล็กๆ แห่งนี้เข้าอย่างจัง ความประทับใจนั้นทำให้เขาต้องกลับมาเยือนที่นี่อีกหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลไปเขียนหนังสือ จากนั้นชื่ออำเภอเล็กๆ ของแม่ฮ่องสอนอย่าง "ปาย" ก็ติดปากติดหูนักเดินทางค่อนโลก จากคำแนะนำถึงเมืองเล็กๆ ที่มีเสน่ห์ของไกด์บุ๊คชื่อดัง "Lonely Planet"

วันนี้…ปายยังคงรุดหน้าตามวันเวลาที่ผันผ่าน เช่นเดียวกับสายน้ำปายที่ไม่อาจไหลย้อนกลับทวนสู่ต้นน้ำได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกระทบกับคนหลายคนมากมาย เป็นดั่งนาฏกรรมแห่งชีวิตของผู้คนที่โลดแล่นอยู่ที่นี่โดยมีสายน้ำปายเป็นฉากร่วมรับรู้

ยูโทเปีย – ยูทูปาย

หลังจากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักปายได้ไม่นาน คนไทยก็เริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวที่ปายเพิ่มขึ้น คนกลุ่มแรกๆ เป็นนักเดินทางที่ใฝ่ฝันถึงธรรมชาติและอยากสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบล้านนาที่แทบหาจากเชียงใหม่ไม่ได้แล้วในเวลานั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าปายและแม่ฮ่องสอน คือดินแดนในอุดมคติของนักเดินทางทั้งไทยและเทศ จนมีคำกล่าวว่าที่นี่คือ "ยูโทเปีย" ของเมืองไทย

แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุด คือช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานจากเมืองหลวง ได้มุ่งหน้ามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ จากเดือนเป็นปี จากกลุ่มคนไม่กี่คนกลายเป็นจำนวนหลายสิบ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในแวดวงโฆษณาและศิลปินที่หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของที่นี่ ด้วยประทับใจในบรรยากาศอันเงียบสงบและอัธยาศัยไมตรีของผู้คนในเมืองเล็กๆ แห่งนี้

ส่งผลให้ต่อมาปายกลายเป็นเมืองศิลปะและชุมชนศิลปินย่อยๆ แห่งหนึ่ง นักเดินทางที่มีโอกาสไปเยือนปายต่างกลับมาเล่าขานถึงบรรยากาศที่ผสมผสานระหว่างวิถีชีวิตท้องถิ่นกับกลิ่นอายศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ภาพแกลลอรี่ศิลปะที่แทรกตัวอยู่ระหว่างร้านกาแฟเล็กๆ ในหมู่เรือนแถวไม้เก่าแก่ของชุมชน, ร้านหนังสือที่มีภาษาต่างประเทศครบเกือบหมดทุกภาษา ตั้งอยู่ใกล้ๆ วัดที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ ตลอดจนสตูดิโอปั้นเซรามิกและทำเครื่องเงินที่ซ่อนตัวอยู่ในทิวไม้ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่แต่งแต้มให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีสีสันยิ่งขึ้น

วันเพ็ญ สังขมี เจ้าของร้านมิตรไทย หนึ่งในผู้ประกอบการจากกรุงเทพฯ กลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกรากและเปิดกิจการที่ อ.ปาย เล่าว่าเธอและคนรักก็เหมือนกับคนเมืองกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งรกรากที่นี่ คือโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนต้องออกจากงานโฆษณา จึงนำฝีมือทางศิลปะที่ทั้งคู่มีติดตัวมาเปิดร้านขายโปสการ์ดและของที่ระลึกขึ้นที่ปาย

เมื่อพูดคุยกับวันเพ็ญจึงได้ทราบว่าวลีฮิต "ยูโทเปีย-ยูทูปายย" (Utopia-You to Pai) นั้นเป็นผลงานความคิดของพวกเธอเอง เกือบ 10 ปีที่อยู่ที่นี่วันเพ็ญรู้สึกผูกพันกับผู้คนทั้งชาวบ้านและเพื่อนศิลปินที่มาตั้งรกรากที่นี่ ขณะเดียวกันเธอก็เบื่อการตั้งคำถามของนักท่องเที่ยวที่มักจะถามว่า เธอเป็นคนที่ไหน... ครั้นทราบว่าเธอเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ทำหน้าผิดหวัง วันเพ็ญไม่เข้าใจว่านั่นคือสาระสำคัญอะไรในชีวิต เพราะยังไงทุกคนก็เป็นมนุษย์บนโลกนี้เหมือนกัน จะแบ่งว่าเป็นคนปาย หรือคนที่อื่นไปเพื่อให้เกิดความขัดแย้งทำไม
ปายเป็นเมืองที่มีทั้งชาวไทยใหญ่ ชาวเขาเผ่าต่างๆ คนไทยพุทธ ไทยมุสลิมและชาวต่างชาติ ซึ่งทุกคนอยู่อย่างเคารพซึ่งกันและกัน วันเพ็ญจึงดีใจและมีความสุขมากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

ด้าน สุวัฒน์ อาวุธ ศิลปินเจ้าของร้าน "ตากู อาร์ต บาร์" ที่ได้ชื่อว่าเป็นร้านที่เล่นดนตรีสดได้ดีแห่งหนึ่งในปาย บางค่ำคืนก็อาจจะมีนักดนตรีพเนจรหิ้วกีตาร์บ้าง แซกโซโฟนบ้าง มานั่งเล่นดนตรีเปิดหมวกสดๆ หน้าร้าน สุวัฒน์เคยเป็นอาจารย์พิเศษที่มช. ก่อนหลงเสน่ห์ปายอีกคนจนมาอยู่ที่นี่กว่า 3 ปีแล้ว

เขาบอกว่า เสน่ห์ของปายนอกจากธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ผู้คนที่นี่ยังมีความหลากหลาย ทั้งนักเดินทางจากทุกมุมโลกที่มาใช้ชีวิตช่วงท้ายๆ หลังจากตะลอนเที่ยวมาทั่วเมืองไทย ด้วยติดใจในค่าครองชีพที่ต่ำ ที่พักราคาแค่ 80-300 บาท บางคนมีแค่กล้วยหนึ่งหวี น้ำขวดก็อยู่ได้หลายวัน บ้างก็เช่าบ้านจากชาวบ้านอยู่เป็นเดือนๆ บางคนก็มีครอบครัวและทำกิจการอยู่ที่นี่ และหลายคนถือว่าปายเป็นบ้านหลังที่สองที่ต้องกลับมาทุกปี มาทีไรก็เจอเพื่อนฝูงและได้มิตรใหม่เพราะความที่เมืองมันเล็ก จึงเจอหน้ากันแทบทุกวัน จนรู้จักและสนิทสนมกันในที่สุด

แต่ในช่วงประมาณ 3 ปีหลังมานี้ สุวัฒน์สังเกตว่าเริ่มมีบูติคโฮเต็ลและรีสอร์ทหรูๆ ระดับติดดาวมาเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่อยากจะมาสัมผัสความเป็นปายอย่างบรรดาแบ็กแพ๊คเกอร์บ้าง

"เราไม่มีอำนาจไปหยุดเขาได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะรักษาอะไรได้ขนาดไหน ถ้าพูดกันแฟร์ๆ ก็ถือเป็นตัวเลือกให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น ถ้าคุณมีเงินมากก็ไปอยู่โรงแรม ถ้ามีเงินน้อยก็ไปอยู่เกสต์เฮาส์ถูกๆ ทีนี้อยู่ที่ผังเมืองมากกว่าว่าเขาจะจัดการผังเมืองยังไงให้มันเรียบร้อยดูดี เพราะไม่งั้นชาวบ้านเองเขามีบ้านไม้เก่าๆ หลังหนึ่งให้เช่าเดือนละ 3,000 แต่พอเขารื้อออกทำเป็นตึกแถว เขาก็ได้ 4 ห้อง ห้องละ 2-3,000 เขาก็ได้เป็นตั้ง 3 เท่า แต่เราไม่สามารถไปบอกไปห้ามเขาได้ เราจะทำยังไงเพื่อไปปลูกจิตสำนึกให้เขารู้ว่าอันนี้คือความงาม" สุวัฒน์สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของปายที่เห็นส่วนหนึ่งให้ฟัง

ชีวิตหลังสายน้ำ

13 สิงหาคม 2548 หลังจากฝนตกหนักมาตลอดทั้งวันทั้งคืน น้ำจากลำห้วยและแม่น้ำปายได้ไหลบ่า พัดพาโคลน ก้อนหินและต้นไม้ลงมาจากภูเขาเข้าท่วมตลาดและบ้านเรือนในตัวอำเภอปาย โดยเฉพาะเกสต์เฮาส์ริมน้ำหลายแห่งที่เพิ่งฟื้นจากน้ำท่วมคราวก่อนนั้น ถูกน้ำท่วมคราวนี้เสียหายไปเป็นจำนวนมาก

สุวัฒน์กล่าวว่าหลังน้ำท่วมส่งผลให้สูญเสียที่พักไปกว่า 500 ห้อง ทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาพักอยู่ที่ปายเป็นเวลานานๆ ลดน้อยลง เนื่องจากที่พักที่เหลือส่วนใหญ่มีราคาแพง หรือไม่ก็ปรับราคาขึ้น ทว่าท่ามกลางวิกฤตก็ยังเห็นน้ำใจจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ที่ต่างพากันจับจอบพลั่วออกมาตามบ้านช่องท้องถนนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อช่วยฟื้นฟูเมืองหลังน้ำท่วม บ้างก็บริจาคเป็นสิ่งของเงินทองเพื่อช่วยชาวบ้านที่ประสบภัย

"พอหลังน้ำท่วม นักท่องเที่ยวก็หายไป ทุกอย่างก็หยุดหมด ไม่มีรายได้เข้า ทำยังไง ร้านอาหารที่เช่าอยู่ขายไม่ได้ก็ย้ายออกไป ก็เลยเกิดกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมมาร่วมมือกันเพราะรอความช่วยเหลือจากรัฐไม่ได้ เราจะรอให้มันพร้อมก่อนค่อยมาจัดงานไม่ไหว เราฟื้นฟูโดยมองไปข้างหน้า อย่างน้อยถ้ามีงานนี้เกิดขึ้นคนมาแน่"

เมื่อปายประสบภัยน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ เขาก็เป็นโต้โผในการจัดงานมหกรรมศิลปะและดนตรีเพื่อฟื้นฟูเมืองปายขึ้นร่วมกับศิลปินมากมาย ผลปรากฏว่า นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมานับหมื่นจนต้องกางเต๊นท์นอน (เพราะที่พักริมน้ำส่วนใหญ่สูญไปกับสายน้ำด้วย) เขาเชื่อว่าในห้วงยามที่หลายคนท้อแท้หลังจากสูญเสียทรัพย์สินไปกับสายน้ำเช่นนี้ มีเพียงการจัดงานเช่นนี้เท่านั้นจึงจะช่วยฟื้นฟูความหวังและกำลังใจกลับคืนมาได้ อีกทั้งยังเป็นการนำเงินรายได้กลับมาสะพัดในเมืองปายอีกครั้ง อย่างน้อยภาพที่ออกไปก็เป็นการยืนยันว่าปายพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

พ่อจันทร์ อินทสาร ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีแห่งบ้านศรีดอนชัย ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน วัย 74 ปีกล่าวว่า ตั้งแต่จำความได้ยังไม่เคยเห็นน้ำท่วมปายรุนแรงเท่าคราวนี้มาก่อน หลังจากนั้นทางองค์การปกครองท้องถิ่นและทางภาครัฐได้จัดประชุมถึงภัยพิบัติดังกล่าวขึ้นร่วมกับกลุ่มชาวบ้านในอ.ปาย ซึ่งก็สรุปได้ว่า วิกฤตน้ำท่วมคราวนี้เป็นเพราะชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า และผู้มีอิทธิพลเบียดบังเอาร่องน้ำทางเดิน และลำน้ำสาขาของลำห้วย แม่น้ำสาธารณะ

"ทางที่ดินบอกว่าตามระเบียบกฎหมายแล้ว ห้ามออกโฉนดที่ดินริมฝั่งน้ำ ที่ตลิ่งชัน ที่ทางเดินเกาะแก่ง สรุปความแล้วว่า ต่อไปกรมเจ้าท่า สิทธิมนุษยชนและผังเมือง จะมากันที่ออกจากฝั่งน้ำปายไป 10 เมตร เป็นที่สาธารณะ แม้แต่ร่องน้ำลำห้วยก็เหมือนกัน กันไว้ 2.50 เมตร ทีนี้นายอำเภอจะไม่รับรองที่ที่ไปปลูกสร้างอาคารสถานที่ใกล้ฝั่งน้ำ"

พ่อจันทร์บอกว่ามีคนปายจริงๆ นั้นทำธุรกิจที่พักแบบเกสต์เฮาส์แก่นักท่องเที่ยวน้อยมาก ที่เหลือเป็นคนต่างถิ่น หลายปีก่อนหน้านี้มีเจ้าของกิจการบางรายใช้เรื่องยาเสพติดเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยว จัดปาร์ตี้บนเขานอกตัวเมือง พ่อจันทร์กล่าวว่าขณะนี้เป็นห่วงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติของปายเป็นอย่างมาก

"บางครั้งเราโดนเสียดทานจากผู้มีอิทธิพลเยอะ หาว่าเราเป็นเอ็นจีโอ เราไม่ใช่เอ็นจีโอ เราเป็นชาวบ้านที่ต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ"

พ่อจันทร์ยอมรับว่า วัฒนธรรมในชุมชนเมืองปายเปลี่ยนแปลงไปเยอะจากการท่องเที่ยว อย่างที่ละแวกวัดป่าขามก็เป็นเหมือนถนนข้าวสารเข้าไปทุกทีแล้ว ชาวบ้านบางคนมีบ้านอยู่แถวนั้นก็เปิดชั้นล่างให้เช่า ส่วนตัวเองกับครอบครัวไปอาศัยอยู่รวมกันชั้นบนแทน

"พูดถึงคนเมืองปายเขาจะไม่ค่อยชอบเรื่องการท่องเที่ยว คือการท่องเที่ยวมันมีสิ่งที่ดีน้อย สิ่งแปลกปลอมมันมีมาก ยกตัวอย่างนักท่องเที่ยวบางคนก็มาเพื่อหาประโยชน์ส่วนตน มาเสาะหาสิ่งที่ไม่ดียกตัวอย่างเช่นพวกยา ของดีมีที่ไหน แต่บางคนก็ดีมาเพื่อศึกษาภูมิประเทศ ศึกษาธรรมชาติ แล้วก็มีบางคนเอาสิ่งที่ไม่ค่อยดีเข้ามาพร้อมกับการท่องเที่ยว"

ปาย สายน้ำกับความเปลี่ยนแปลง

บ่ายวันหนึ่งขณะอยู่บนรถมุ่งหน้าสู่แม่ฮ่องสอน เรามีโอกาสพูดคุยกับพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ จ.แม่ฮ่องสอน ท่ามกลางร่องรอยเสียหายของน้ำท่วมและดินถล่มปรากฏให้เห็นเป็นระยะตลอดสองข้างทาง

พงษ์พิพัฒน์เกิดและทำงานในพื้นที่มาหลายปี เขาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเมืองปายเท่าที่สังเกตเห็นว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของปายสมัยก่อนจะเป็นชุมชนท้องถิ่นแบบชนบท คนเมืองปายจะมีความเชื่อดั้งเดิม เพราะจะมีชนเผ่าอาศัยอยู่รอบๆ มากมาย แม้แต่คนในเมืองเองก็ยังมีความเชื่อเก่าๆ ที่สืบทอดกันมา มีประเพณีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการอนุรักษ์จัดการทรัพยากร เช่น ภูมิปัญญาเรื่อง "ขึด" ที่จะไม่สร้างบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ

แต่การเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวของคนนอก ทำให้วิถีของชาวบ้านเปลี่ยนไป พงษ์พิพัฒน์บอกว่า ถ้าไปเช็คดูตอนนี้จะพบว่า ที่ดินที่ปายมีทั้งที่ดินที่ถูกเช่าระยะยาว ที่เหลือเป็นที่ดินของกลุ่มธุรกิจภายนอกเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงนักการเมืองระดับใหญ่ บางครั้งคนปายเองก็ต้องเช่าที่ดินจากคนนอกเหล่านี้อยู่อาศัยและทำการเกษตรด้วย

"คนเมืองปายไม่มีวิถีในเรื่องทำธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะวิถีดั้งเดิมไม่มีอย่างนี้ แต่เมื่อเศรษฐกิจภายนอกเข้ามาบีบคั้นทำให้ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ต้องส่งลูกเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง ทุกอย่างมันต้องใช้เงิน อย่างเคยทำนาได้ผลผลิตไม่ดี เมื่อมีคนภายนอกเข้ามาซื้อเข้ามาเช่าที่ดิน ก็จำเป็นต้องพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้เพราะว่าตัวเองไม่มีศักยภาพพอที่จะทำธุรกิจแบบนี้ได้ ไม่มีเงินทุนที่จะลงทุน ทำเกสต์เฮาส์ก็ไม่เป็น พอมีหนี้มีสิน สุดท้ายที่ดินก็หลุดมือ ต้องปล่อยที่ดินไป แล้วตัวเองก็ต้องกลายมาเป็นคนรับจ้างตามเกสต์เฮาส์ มาเป็นหมอนวดแผนโบราณอยู่ในบ้านของตัวเอง"

เมื่อตัวเมืองเปลี่ยนไปจากการท่องเที่ยว เหตุการณ์น้ำท่วมที่เป็นเรื่องปกติจึงกลับกลายเป็นหายนะที่รุนแรง

"ถ้าเป็นน้ำท่วมคนเมื่อก่อนถือว่าธรรมดา พอฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆ วัน ปริมาณน้ำในแม่น้ำจะขึ้น แต่หลังจากฝนหยุดแล้วน้ำในแม่น้ำก็จะลดเนื่องจากน้ำจะไหลคืนสู่ร่องน้ำเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว ถึงจะท่วมก็ท่วมแค่ที่นา ที่ดินที่ทำการเกษตรซึ่งสามารถฟื้นฟูได้ แต่ในช่วงหลังที่มีการส่งเสริม มีการโปรโมตการท่องเที่ยว จะเห็นว่าไม่มีการวางแผนหรือมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นน้อยมาก หลังจากนั้นจะเห็นได้ว่าที่เมืองปายจากเดิมที่เคยเป็นชุมชน ทุ่งนาที่เคยเป็นเกษตรกรรมกลายเป็นเกสต์เฮาส์ กลายเป็นวัสดุก่อสร้าง ถมทั้งที่นา ถมทั้งทางน้ำ ตัดถนนผ่านทางน้ำโดยที่ไม่มีการวางระบบที่ดีพอ แม้แต่น้ำปายก็แคบลง ลำห้วยก็ถูกปิดถูกทับถมเกือบทั้งหมด แล้วพอน้ำมาปุ๊บมันก็ทำให้เกิดผลกระทบจากน้ำแรง จากเดิมที่มันเคยมาเป็นร่อง พอมันมาไม่เห็นร่อง มันก็ต้องเข้าทางบ้าน ไปตามถนนที่มันพอไปได้ นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากผลกระทบจากการเจริญเติบโตของเมืองที่ขาดการวางแผน"

ทั้งนี้ทั้งนั้น พงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า เขาไม่อยากให้มีการกล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นผู้ผิด แต่ควรจะมองที่ต้นเหตุของปัญหาและสร้างความร่วมมือให้เกิดพันธมิตรจากเหตุการณ์หายนะที่เกิดขึ้น มากกว่าจะมาตอกย้ำให้เกิดความขัดแย้ง เช่น ในตอนที่น้ำท่วมปายครั้งแรก ชาวเขาก็ตกเป็น "จำเลย" ไปฝ่ายเดียวเต็มๆ ว่าตัดไม้ทำลายป่า โดยที่ไม่มีใครมองว่าไม้ที่ตัดไปอยู่ที่ไหน

"เราไม่ได้บอกว่าการท่องเที่ยวมันไม่ดี ถ้ามีการจัดการที่ดี แต่ถ้าการจัดการไม่ดี เละ จะเห็นได้ว่าอย่างเมื่อก่อนประมาณปี 41 เกสต์เฮาส์นี่นับได้เลยมีไม่เกิน 5 แห่ง แต่ในปัจจุบันนี้มีเกิน 30 แห่ง แล้ววัสดุที่ใช้ในการสร้างเกสต์เฮาส์เกิน 90% เป็นวัสดุธรรมชาติ อย่างไม้ไผ่ แม้แต่ว่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการพานักท่องเที่ยวไปล่องแพก็ใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ โดยที่ขาดการดูแล จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนท้องถิ่นเขาไม่มีความคิดที่จะทำธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างนี้หรอก มันมาจากข้างนอก โดยที่ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนท้องถิ่นมันเป็นยังไง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นยังไง มีวัฒนธรรมยังไง มีความเชื่ออะไรบ้าง เขาไม่ได้เห็นตรงนี้ไง"

พงษ์พิพัฒน์ยกตัวอย่างลำห้วยน้ำฮูที่ทางน้ำเดิมนั้นเคยไหลทะลุผ่านตลาดแสงทองในอ.ปาย แต่ต่อมาถูกถมทับเพื่อสร้างเป็นตลาด เมื่อน้ำปายไหลบ่ามาในปลายปีที่แล้วจึงเข้าท่วมอย่างรุนแรงจนตลาดพังทลายลง

"คนปายไม่เคยเห็นน้ำมาแรงอย่างนี้มานานแล้ว ถ้าเป็นความเชื่อของพี่น้องปกากญอหรือว่าคนในท้องถิ่น น้ำมันไม่ได้มาหนักทุกปี มันเป็นแค่บางปี 10-20 ปีมันมีครั้ง คือถ้าไม่ได้ศึกษาระบบชุมชนที่ตั้งขึ้นให้ดี อันนี้คือผลกระทบที่ตามมา พอไปสร้างอะไรที่มันกีดขวางทางน้ำ พอน้ำมาปุ๊บมันก็ทำให้ผลกระทบความเสียหายมันมากขึ้น จากเดิมที่มันแค่ผ่านถนน แต่มันต้องมากระแทกกับคอนกรีต มันก็ทำให้แรงความดันของน้ำ รวมทั้งโคลนด้วยมันเพิ่มขึ้น"

พงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการจัดการจะต้องมองทั้งระบบ ทั้งที่ดิน น้ำ ป่าซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่มองกันเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง

"ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวที่ทำมาไม่ค่อยมองถึงทรัพยากรธรรมชาติสักเท่าไร ทั้งที่เมื่อมองดีๆ แล้วมันเชื่อมโยงกับดินน้ำป่าเหมือนกัน ถามว่าน้ำท่วมเพราะป่าถูกทำลายไหม เราก็ยอมรับว่าป่าถูกทำลาย แต่อย่าไปมองที่ปลายเหตุว่าเดี๋ยวจะเอางบประมาณลงมาสร้างฝายแม้ว อันนั้นมันแค่ปลายเหตุ เราจะต้องมองดูที่ต้นเหตุว่าป่าถูกทำลาย แล้วใครเป็นคนทำลาย ทุกวันนี้ชาวบ้านเป็นแค่เครื่องมือในการอ้างเหตุผลว่า ป่าถูกทำลายเพราะชาวเขาทำลายป่า อ้างอย่างนั้นมันจะชัดเจนเพราะชาวบ้านเขาอยู่กับป่ามาก่อน แต่ไม่ได้มองว่าคนที่อยู่กับป่าแล้วทำไมป่ามันยังอยู่ ประเด็นนี้สำคัญมากกว่า แล้วทำไมคนที่อยู่ในเมืองเต็มไปหมดถึงไม่มีป่า เมื่อก่อนมันก็มีป่าแล้วป่าหายไปไหน" คำถามของพงษ์พิพัฒน์แผ่วหายไปกับสายลมที่อื้ออึงอยู่นอกหน้าต่างรถ

สุดท้าย ชายหนุ่มหวังให้ทางภาครัฐเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนนโยบายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

"หากอีก 20 ปีข้างหน้าเกิดน้ำมันมาแบบนี้อีกจะทำยังไง ถามว่าจะตั้งรับกับเหตุการณ์แบบนี้ยังไง ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้หรอก แต่บางทีการพัฒนาที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจมากเกินไป มันก็เลยขาดการที่จะให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการจัดการร่วมกัน ต้องถามว่าพี่น้องปายคิดยังไงกับการท่องเที่ยวหรืออยากมีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยวยังไง ไม่ใช่ว่านักท่องเที่ยวมาจนเยอะกว่าคนเมืองปาย คนปายแทบจะไม่อยากอยู่ในเมือง ต้องหนีมาอยู่ข้างนอก เพราะว่ากลายเป็นถิ่นฝรั่ง กลายเป็นถิ่นมั่วสุม มีปัญหาไม่ต่างจากภูเก็ต พัทยาสมัยก่อน"

ถึงวันนี้ วันที่ปายกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนานารูปแบบ เราคงต้องยอมรับว่าไม่มีใครอาจหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ หากแต่การเรียนรู้จากอดีตและสิ่งที่กำลังเกิดในปัจจุบัน อาจช่วยให้มองเห็นแนวทางในอนาคตของเมืองปาย "ยูโทเปีย" ของใครหลายคน ที่อาจเป็นเพียงภาพมายาหนึ่ง ก่อนจะกลายเป็น "ซาก" ยูโทเปียอย่างอีกหลายเมืองท่องเที่ยวของโลก

เรื่อง รัชตวดี จิตดี
ภาพ รัชตวดี/บัณฑิต ภิญโญวัฒนชีพ
แม่น้ำปายในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว
สะพานไม้ไผ่ เอกลักษณ์ของเมืองปาย (ภาพจากพันทิปดอทคอม)
สะพานไม้ไผ่ เอกลักษณ์ของเมืองปาย ที่ต้องสูญสลายไปพร้อมกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ (ภาพจากพันทิปดอทคอม)
ชาวเมืองปายรุ่นเก่าจะทำเกษตรริมน้ำ ไม่นิยมตั้งบ้านเรือนใกล้ทางน้ำเพราะรู้ดีว่าน้ำจะท่วมทุกปีในฤดูน้ำหลาก
ทุ่งกระเทียม พืชเศรษฐกิจหลักของคนปาย
มุมมองจากเกสต์เฮาส์ริมน้ำปายที่จะเคยมองเห็นทุ่งกระเทียมของชาวบ้านอยู่ฝั่งตรงข้าม ในปัจจุบันกลายเป็นทางน้ำ และบางส่วนมีดินทรายและก้อนหินที่แม่น้ำพัดมาทับถมอยู่จนไม่สามารถเพาะปลูกต่อไปได้
ร้านมิตรไทย หนึ่งในร้านของอดีตคนโฆษณาจากกรุงเทพฯ ที่ไปลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ที่ปาย
ลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลลงแม่น้ำปาย
มุมสงบแบบนี้ยังหาได้ทั่วไปบริเวณนอกเมืองปาย

เกสต์เฮาส์ราคาย่อมเยามี่ฉาบไล้ด้วยแสงสีส้มของอาทิตย์อัสดง
กำลังโหลดความคิดเห็น