xs
xsm
sm
md
lg

'ฮาร์พ' เครื่องสายสุดคลาสสิก ณ ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเรียนฮารพ์ ที่ ‘ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม’
หากจะกล่าวถึง 'ฮาร์พ' เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอาจเป็นสิ่งแปลกใหม่ในสายตาของหลายๆคน แต่จริงๆแล้ว 'ฮาร์พ' ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และปัจจุบันคนไทยก็นิยมเล่นฮาร์พกันมากขึ้น โดย'ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมเป็นโรงเรียนดนตรีแห่งแรกที่เปิดสอนดนตรีประเภทนี้

*ฮาร์พตัวแรกของไทย

ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม เปิดดำเนินการเมื่อเดือน ก.ย. 2545 ซึ่งเหตุที่จัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาก็เนื่องจากตำหนักแห่งนี้มีฮาร์พที่ตกทอดมาจากสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสองค์ที่ 8 ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง) ซึ่งเป็นทูลหม่อมตาของ ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร ผู้อำนวยการศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม มาเป็นเวลาถึง 70 ปีแล้ว โดยในช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษท่านได้ทรงหัดเล่นฮาร์พ และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ทรงนำฮาร์พตัวนี้กลับมายังประเทศไทย เมื่อปี 2459 ซึ่งถือเป็นฮาร์พตัวแรกที่นำเข้ามาในประเทศไทย

บรรดาเพื่อนๆของ ม.ร.ว.สุนิดาจึงแนะนำว่าในเมื่อมีฮาร์พที่ทรงคุณค่าเช่นนี้ อีกทั้ง ม.ร.ว.สุนิดายังมีความผูกพันกับฮาร์พของทูลหม่อมตาเป็นอย่างมาก ก็น่าจะตั้งโรงเรียนสอนเล่นฮาร์พเสียเลย เพราะขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนสอนดนตรีประเภทนี้ และเป็นเรื่องบังเอิญที่ในช่วงที่ ม.ร.ว.สุนิดาส่งฮาร์พของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯไปซ่อมที่โรงงานของตระกูลมอร์ลี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตฮาร์พดังกล่าว ที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้รู้จักนักดนตรีฮาร์พที่มีฝีมือหลายคน ทำให้สามารถติดต่อว่าจ้างนักเล่นฮาร์พที่มีคุณภาพมาเป็นอาจารย์สอนที่ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมได้

*ฮาร์พไม่แพงอย่างที่คิด

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกยังไม่มีนักเรียนมาเรียนที่ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมมากนักเนื่องจากแต่ก่อนคนไม่นิยมให้ลูกหลานเรียนฮาร์พเพราะมองว่าเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงและมีราคาแพง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เช่นนั้น ฮาร์พมีหลายเกรด หลายราคา ตั้งแต่ราคา 2-3 หมื่นบาท จนถึงราคาหลักล้าน ดังนั้นคนทั่วไปก็สามารถซื้อเครื่องดนตรีฮาร์พมาเล่นได้

ม.ร.ว.สุนิดา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "สมัยก่อนตอนเปียโนเข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆทั่วไปก็มองว่าเปียโนมีราคาแพงและไม่อยากให้ลูกหลานเรียนเปียโนเช่นกัน แต่ต่อมาคนก็ยอมรับ จนปัจจุบันเปียโนเป็นดนตรีที่เด็กๆนิยมเรียนกันมาก จริงๆแล้วฮาร์พราคาเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์ แต่เสียงเพราะกว่ามาก(หัวเราะ) ใครๆก็ซื้อหามาเล่นได้ ในช่วง 3 ปีกว่าที่เปิดโรงเรียนสอนฮาร์พมาเสียงตอบรับดีมาก เราได้เห็นเด็กๆที่มีพรสวรรค์ด้านนี้ และช่วงหลังก็มีเด็กๆสนใจมาเรียนมากขึ้น

ตอนที่เปิดโรงเรียนใหม่ๆ นักเรียน 10 คนแรกที่มาเรียนนี่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด(หัวเราะ) และส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนดนตรีมาก่อน แต่บางคนไปได้เร็วมาก ล่าสุดตอนเราไปเปิดโชวรูมฮาร์พตรงหน้าปากซอยสุขุมวิท 43 ก็มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 62 แล้ว ชื่อคุณเดือน น่ารักมาก แกมาแอบเรียน แกบอกว่าจะไม่เข้าห้องเรียนหรอก ขอมาเรียนคนเดียว เรียนแล้วก็ชอบมาก แกซื้อฮาร์พเป็นของตัวเองเลย แกบอกว่าจะเล่นทุกคืนก่อนนอน แทนการนั่งสมาธิ เพราะทำให้หลับดี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่สำคัญเราทำแล้วมีความสุข เพราะเราเห็นคนที่เรียนมีความสุข"

*มารู้จัก'ฮาร์พ'

ฮาร์พเป็นเครื่องดนตรีที่มีมาแต่โบราณ มีต้นกำเนิดมาจากคันธนู และถือเป็นเครื่องดนตรีสำคัญในราชสำนักของฟาโรห์ ซึ่งเดิมฮาร์พมีสายเพียง 5 สายเท่านั้น และได้มีพัฒนาการมาเรื่อยๆทั้งรูปแบบและจำนวนสายที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันฮาร์พ มี 3 ขนาด ขนาดใหญ่ เรียกว่า แกรนด์คอนเซ็ปต์ฮาร์พ มี 47 สาย ขนาดกลาง มี 36 สาย และ ขนาดเล็ก มี 25-27 สาย

ฮาร์พจัดเป็นเครื่องสายที่มีขนาดใหญ่ ผู้บรรเลงจะนั่งแล้วใช้นิ้วดีดหรือดึงสาย ซึ่งประกอบด้วยสายใหญ่ เล็ก ยาว สั้น แตกต่างกัน สายฮาร์พส่วนใหญ่ทำด้วยไนลอนหรือลวดทองเหลือง ขึงกับหมุดเรียงลำดับเสียงสูง-ต่ำ มีประมาณ 6-7 Octave มี Pedal 7 อัน และใช้เท้าเหยียบเพื่อตั้งเสียงให้เป็นไปตามบันไดเสียงต่างๆ

เดิมเพลงที่ใช้บรรเลงในการเล่นฮาร์พส่วนใหญ่จะเป็นเพลงพื้นเมือง แต่ปัจจุบันมักเป็นเพลงบัลลาดหรือคลาสสิกที่ให้ความรู้สึกสง่างาม ซึ่งเป็นเพลงชนิดเดียวกับที่นิยมเล่นในวงออเคสตรา แต่ทั้งนี้ก็มีผู้นิยมนำเพลงลักษณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ป็อป ร็อก หรือแม้แต่เพลงไทยเดิม มาใช้บรรเลงในการเล่นฮาร์พ เพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานในการเล่นดนตรีประเภทนี้

*เตรียมส่งเด็กไทยไปแข่งระดับโลก

ผู้ที่หัดเล่นฮาร์พส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าฮาร์พเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถหัดเล่นได้ไม่ยากนัก ใช้เวลาเพียงแค่ 1-2 ปี ก็สามารถเล่นได้ในระดับดี สำหรับการเรียนฮาร์พที่ตำหนักประถมฮาร์พนั้น นอกจากการสอบเพื่อประเมินระดับความสามารถแล้ว ทางโรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมให้นักเรียนโชว์ความสามารถในการเล่นฮาร์พเป็นประจำทุกเทอม เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนขยันฝึกซ้อมมากขึ้น ซึ่งจากเทคนิคการสอนดังกล่าวทำให้ฝีมือในการเล่นฮาร์พของนักเรียนที่ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมนั้นพัฒนาไปเร็วมาก

ล่าสุดศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมกำลังเตรียมที่จะส่งนักเรียนไปแข่งขันในการประกวดฮาร์พระดับโลก ในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ประเทศเวลส์ ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ในเดือนเมษายน 2549 ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้หาประสบการณ์ทางดนตรีอันจะส่งผลให้เกิดพัฒนาฝีมือในการเล่นฮาร์พต่อไปในอนาคต

ม.ร.ว.สุนิดา กล่าวตบท้ายว่า "เป็นเรื่องบังเอิญที่ในปีนี้ฮาร์พของหม่อมตา (สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ) จะมีอายุครบ 90 ปีพอดี ซึ่งนอกจากเราจะจัดงานเฉลิมฉลองแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่เราจะจัดกิจกรรมหลายๆอย่างเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเล่นฮาร์พของเด็กไทย ซึ่งการส่งเด็กไปแข่งขันฮาร์พระดับโลกก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งตรงนี้

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องรางวัล เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆแล้วเด็กของเรายังมีประสบการณ์น้อยมาก เนื่องจากศูนย์ฮาร์พตำหนักประถมตั้งมาได้แค่ 3 ปี แต่เราอยากให้เด็กได้ไปหาประสบการณ์ ได้ไปเห็นว่านักฮาร์พจากประเทศต่างๆเขามีเทคนิคการเล่นอย่างไร ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กๆ และทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาฝีมือต่อไป"

แม้ว่า 'ฮาร์พ' จะเป็นเครื่องดนตรีที่ยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย แต่เชื่อว่าจากความตั้งใจจริงของผู้ก่อตั้ง 'ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม' คงจะทำให้ประเทศไทยมีนักเล่นฮาร์พฝีมือดีเกิดขึ้นอีกหลายคน

////////////////////////////

เปิดใจนักดนตรีตัวน้อย

นักเรียนฮาร์พที่ 'ศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม'นั้นมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากหลากหลายสาขาอาชีพ อีกทั้งมีนักดนตรีที่มีฝีมือหลายคน แต่ที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้คือ 2 หนูน้อยวัยเพียง 10 ขวบต้นๆ ที่มีฝีมือบรรเลงฮาร์พฉกาจฉกรรจ์จนได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมแข่งขันฮาร์พระดับโลก ในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศเวลส์ ในเดือนเมษายน 2549

คนแรกคือ 'น้องทับทิม' ด.ญ.ตรรกมล ดวงสวัสดิ์ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เธอหัดเล่นฮาร์พมาได้ 3 ปีแล้ว แม้จะมีอายุเพียง 10 ขวบ แต่เธอพกพาความมั่นใจมาเต็มร้อย

"หนูอยากมาเรียนฮาร์พเพราะแม่เคยพาไปดูคอนเสิร์ตแล้วชอบ เสียงเพราะดี ก็เลยอยากหัดเล่นบ้าง ตอนแรกที่มาเรียนก็รู้สึกว่ายากเหมือนกัน แต่พอเรียนๆไปก็คล่อง รู้สึกว่าง่าย หนูว่าการเล่นฮาร์พมีประโยชน์มากเพราะนอกจากจะสนุกแล้วยังช่วยให้มีสมาธิดีด้วย ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นเพราะต้องมาซ้อมทุกวัน หนูเรียนฮาร์พได้ 3 ปีแล้ว ตอนนี้อยู่เกรด 3 กำลังเตรียมตัวจะไปแข่งเดี่ยวฮาร์พที่เวลส์ ก็ตื่นเต้นนิดหน่อย แต่หนูเคยเล่นโชว์หลายครั้งแล้วเลยคิดว่าน่าจะทำได้ "

ขณะที่ 'น้องกิฟ' ด.ช.อุกฤษ พวงเรือนแก้ว อายุ 11 ปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนวัดธาตุทอง เด็กชายตัวน้อยที่ถูกบังคับให้เล่นฮาร์พ แต่เจ้าตัวอยากไปวิ่งเล่นมากกว่า ไปๆ มาๆ น้องกิฟกลับรู้สึกชอบฮาร์พเป็นชีวิตจิตใจถึงขั้นที่เลิกเรียนเมื่อไรต้องรีบบึ่งมาซ้อมฮาร์พทันที

"ตอนแรกๆปิดเทอมอยู่ยังไม่มีอะไรทำ แล้วพี่สาวก็เล่นฮาร์พอยู่แล้ว แม่เลยให้ผมมาเรียนฮาร์พด้วย ตอนแรกก็ยากเหมือนกัน ตอนหลังๆก็เริ่มง่ายขึ้น ผมเรียนฮาร์พมาได้ปีเดียว คิดว่ายังไม่ค่อยเก่งเท่าไร จะได้ไปแข่งที่เวลส์ก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน คิดว่าแค่ได้เข้ารอบ 2 ก็พอแล้ว (หัวเราะ)"

/////////////////////////////////

เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์

ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร ผู้อำนวยการศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม
‘น้องทับทิม’ ด.ญ.ตรรกมล ดวงสวัสดิ์ นักฮาร์พวัย 10 ปี
‘น้องกิฟ’ ด.ช.อุกฤษ พวงเรือนแก้ว
ฮาร์พมีหลายขนาด หลายราคา
สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ผู้นำฮาร์พตัวแรกเข้ามาในประเทศไทย
ฮาร์พตัวนี้ราคาเป็นล้าน
ฮาร์พตัวเล็กสำหรับเด็ก
ฮาร์พของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯซึ่งอยู่ระหว่างการทำสีใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น